แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1356

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๗


สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส มีข้อความที่แสดงตัวอย่างของ ผู้เลิศซึ่งมีมานะ มีความสำคัญตนว่าเลิศกว่าคนอื่น แสดงตัวอย่างของพระราชา และบรรพชิต

สำหรับพระราชานั้น ก็มีความสำคัญตนว่าเลิศกว่าคนอื่นๆ โดยแว่นแคว้น โดยสมบัติ เป็นต้น และแม้บรรพชิตซึ่งเป็นบรรพชิตแล้ว แต่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็มีความสำคัญตนว่าเลิศโดยศีลก็ได้ โดยธุดงค์ก็ได้ โดยความเป็น พหูสูตก็ได้ โดยความเป็นธรรมกถึกผู้แสดงธรรมก็ได้ หรือโดยลาภสักการะก็ได้ นี่ เป็นเหตุทำให้มีมานะ โดยสำคัญตนว่าเลิศกว่าโดยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง

สำหรับผู้ที่เลิศ ก็ยังมีความสำคัญตนว่าเสมอกับบุคคลอื่นโดยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ตัวอย่างเช่น พระราชาที่เปรียบเทียบพระองค์เองกับพระราชาแว่นแคว้นอื่นๆ ว่าเสมอกันหรือต่างกัน หรือบรรพชิตก็เปรียบเทียบตัวเองกับภิกษุรูปอื่นๆ ในขณะนั้นก็เป็นผู้เลิศ ซึ่งสำคัญตนว่าเสมอกับบุคคลอื่นที่เลิศ

สำหรับผู้ที่เลิศ ยังมีสำคัญตนว่าด้อยกว่าหรือต่ำกว่าได้ เช่น พระราชาเมื่อเทียบเคียงสมบัติของพระองค์ หรือแว่นแคว้นของพระองค์กับพระราชาองค์อื่นๆ ก็เห็นว่า พระราชาองค์อื่นๆ นั้นมีแว่นแคว้นใหญ่โต มีสมบัติมาก หรือแว่นแคว้นสมบูรณ์กว่าแว่นแคว้นของพระองค์ หรือแม้แต่บรรพชิตที่เป็นธรรมกถึก เป็นพหูสูต แม้ว่าจะเป็นผู้ที่เลิศก็ยังสำคัญตนว่าด้อยกว่าบรรพชิตรูปอื่น โดยบรรพชิตรูปอื่นมี ลาภมากกว่า มีสักการะมากกว่าก็ได้

แสดงให้เห็นว่า การที่จะเปรียบเทียบและมีความสำคัญตน ทะนงตนอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งเลิศกว่า เสมอกัน หรือด้อยกว่า ก็มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน หรือถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พระราชา ไม่ใช่บรรพชิต เป็นผู้ที่เสมอๆ กัน ก็ยังมีมานะได้ เช่น อำมาตย์ราชบุรุษคิดว่าตนเองดีกว่าอำมาตย์ราชบุรุษคนอื่นๆ คือ เปรียบเทียบกับผู้ที่เสมอกัน ก็ยังเห็นว่าตนเองนั้นดีกว่า หรือคิดว่าเสมอกันก็ได้ หรือคิดว่าด้อยกว่าบุคคลอื่น เช่น ถึงแม้ว่าเป็นอำมาตย์ราชบุรุษเหมือนกันก็จริง แต่อำมาตย์ราชบุรุษคนอื่นสามารถที่จะบริโภคอาหารรสเลิศต่างๆ ได้มากกว่าตน นี่ก็เป็นเหตุให้เกิดมานะได้ แม้แต่ในการบริโภคอาหาร เพียงการรับประทานอาหารก็ยังเป็นเหตุให้เกิดมานะได้

หรือแม้แต่ผู้ที่ต่ำ เช่น พวกทาสกรรมกรทั้งหลาย ก็ยังมีมานะสำคัญตนว่า เลิศกว่าทาสกรรมกรอื่นๆ ด้วยกันก็ได้ หรือว่าเหมือนกันเท่าๆ กัน เสมอกันก็ได้ หรือว่าต่ำกว่า ก็เป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากนั้น ข้อความที่แสดงถึงความสำคัญตนซึ่งเป็นลักษณะของมานะอาการอื่นๆ ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา มีว่า

อติมานะ คือ ความดูหมิ่นบุคคลอื่นด้วยความสำคัญตนในชาติสกุล เป็นต้น

ผู้ที่เกิดในสกุลสูง หรือมีทรัพย์สมบัติมาก หรือมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ความจริงก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว แต่แม้กระนั้นก็ยังมีความสำคัญตนที่ ยกตนสูงขึ้นไปอีกโดยการที่ดูหมิ่นคนอื่นก็ได้ หรือเห็นว่าคนอื่นไม่มีชาติสกุล สมบัติ รูปร่างหน้าตา ความรู้ หรือฐานะการงานเท่ากับตน ซึ่งความจริงแล้วถ้าเป็นผู้ที่ ขัดเกลากิเลสจริงๆ ย่อมเห็นว่า สภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมในขณะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะ เหมือนความบ้า คือ ไปยึด ไปติด หรือไปสำคัญ แม้ว่าจะเป็นผู้ได้รับผลของกุศล เป็นผู้ที่สูงด้วยสกุลหรือฐานะสมบัติก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะมีความสำคัญตน ที่จะทำให้ตนเองที่สูง ยกสูงขึ้นไปอีกด้วยมานะ

มานะลักษณะอื่น คือ

มานาติมานะ เป็นผู้ที่มีความเห็นว่า บุคคลใดเป็นผู้เช่นกับเรา แต่มาบัดนี้เราประเสริฐกว่า

เป็นการเทียบตัวเองกับบุคคลอื่นในกาลก่อน คือ ในการกาลก่อนเป็นผู้ที่ เสมอกันจริง แต่ว่าในภายหลังตนเองดีกว่า เพราะฉะนั้น บุคคลที่เทียบอย่างนี้และ มีมานะอย่างนี้ บุคคลนี้ย่อมเป็นราวกับบุคคลมีภาระหนักยิ่งกว่าภาระหนัก เพราะว่าเทียบทั้งอดีตที่ผ่านไปแล้ว รวมทั้งมานะในปัจจุบันด้วย

ดีไหม อยากจะให้คนอื่นเขาส่งเสริมให้เรามีมานะมากๆ ไหม ถ้าขณะใดที่ ไม่เห็นโทษของมานะ ให้เห็นกำลังของอหิริกะและอโนตตัปปะ ความไม่รังเกียจ ความไม่ละอาย ความไม่เห็นภัยของกิเลส แม้ความสำคัญตน ซึ่งทุกคนเคยเป็น ทุกอย่างมาแล้วในอดีต และต่อไปข้างหน้าในภพชาติต่อๆ ไป ก็จะเป็นทุกอย่าง

นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ถึงความยาวนานของสังสารวัฏฏ์ และเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบากและอกุศลวิบากในภพชาติต่างๆ ซึ่งทุกคนสะสมทั้ง กุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเคยเป็นทุกอย่างมาแล้ว ทั้งต่ำที่สุดและสูงที่สุด และข้างหน้าก็ต้องเป็นทั้งต่ำที่สุดและสูงที่สุดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละครั้งๆ ก็ไม่ควรมีความสำคัญตน และ เมื่อมีความสำคัญตนเกิดขึ้นขณะใด ก็มีมานะโดยประการต่างๆ

สำหรับมานะที่ถือว่าด้อยกว่าหรือต่ำกว่า คือ

โอมานะ ผู้มีความสำคัญว่าเราเป็นคนเลว หรือว่าเราเป็นคนต่ำต้อย หรือว่าเราเป็นคนด้อย

ก็ยังเทียบให้ตนเลว ต่ำ ด้อยลงไปอีก

บางท่านอาจจะดูถูกดูหมิ่นบุคคลอื่นซึ่งเป็นคนที่ต่ำว่า

ท่านมีชาติ แต่ชาติของท่านเหมือนชาติของกา ท่านมีโคตร แต่โคตรของท่านเหมือนโคตรของคนจัณฑาล เสียงของท่านมีอยู่ แต่เสียงของท่านเหมือนเสียงของกา

ดูมานะว่าเป็นไปได้ทุกอย่าง เวลาที่มานะเกิดก็เทียบทั้งชาติ เทียบทั้งโคตร เทียบทั้งเสียง แม้แต่เสียงก็เป็นวัตถุที่จะให้เกิดมานะได้ เพราะลักษณะของเสียงที่แสดงไว้มี ๓ อย่าง คือ เสียงพรหม ๑ เสียงแมว ๑ เสียงกา ๑ เพราะฉะนั้น เสียงของใครจะเข้าข่ายในเขตของเสียงใดก็แล้วแต่ ก็ไม่ควรให้เกิดมานะขึ้นจนกระทั่งสามารถ ดูหมิ่นบุคคลอื่น และก็เทียบไปตั้งแต่ชาติ ตั้งแต่โคตร จนกระทั่งเสียง

นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาพของอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเวลาที่มีความสำคัญตน

ถ. ในการที่เราสำคัญตนผิดคิดว่าดีกว่าคนอื่นก็เป็นมานะ ใช่ไหม เช่น เดินไปเห็นคนขอทาน ก็คิดว่า เรามีปัญญาพอที่จะประกอบอาชีพได้ดีกว่าเขา จึงหยิบเงินและบริจาคทาน จัดว่าเป็นมานะ ใช่ไหม

สุ. เวลาเห็นขอทาน สงสารไหม อยากจะให้เขามีความสุข ให้พ้นทุกข์ หรือต้องมีการเปรียบเทียบก่อนว่าเราดีกว่าเขา จึงจะให้

ถ. ยอมรับว่า เปรียบเทียบก่อน

สุ. ขณะที่เปรียบเทียบ ขณะนั้นเป็นมานะ แต่ถ้าเห็นแล้วสงสารจริงๆ เขากำลังมีทุกข์เดือดร้อน ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่มาขอ คิดที่จะให้เขาพ้นทุกข์ ก็ให้ไป โดยไม่มีการคิดถึงว่าเราเป็นใคร ดีกว่าไหม

ถ. ทุกครั้งที่ทำทานมักจะคิดเสมอว่า ตนเองมีความสุขสบายมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคยา ทรัพย์สิน หรือเสื้อผ้า มักจะคิดก่อนว่า ตนเองมีมากกว่า สบายกว่า จึงให้

สุ. ไม่คิดได้ไหม สงสาร เห็นใจ มีเมตตา ใคร่ที่จะเกื้อกูลให้เป็นประโยชน์แก่เขา ก็ให้

ถ. ปกติตนเองมีนิสัยเป็นอย่างนี้ มักจะเปรียบเทียบก่อนแล้วจึงให้

สุ. ต่อไปไม่เปรียบเทียบได้ไหม ลองดู จะได้พิจารณาความต่างกันของจิตที่เกิดเปรียบเทียบก่อน กับจิตซึ่งไม่ได้เปรียบเทียบ แต่มีความเอ็นดูใคร่ที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลให้บุคคลนั้น

ถ. ถ้าเป็นกุศลจิตที่แท้จริง ไม่ควรจะเปรียบเทียบก่อน ใช่ไหม

สุ. เรื่องของการเปรียบเทียบ หรือเรื่องของมานะ เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้เลย เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม แต่สติสามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล ลักษณะที่สำคัญตน

ถ. ในคราวต่อไปไม่ควรเปรียบเทียบ ควรมีจิตคิดสงสารก่อนแล้วจึงบริจาค ใช่ไหม

สุ. ให้เห็นความต่างกันว่า มีเมตตาจิตคิดเกื้อกูลโดยไม่เปรียบเทียบก็ได้ ซึ่งทุกคนก็มีอกุศลทุกประการ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล

นอกจากนั้น ยังมี อธิมานะ ซึ่งข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า

ผู้ที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษ แต่สำคัญว่าได้บรรลุ ธรรมวิเศษ หรือว่าได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ลองพิจารณาดูว่า ในขณะนั้นเป็นมานะหรือเปล่า มีความเห็นผิด พร้อมกันนั้นก็มีมานะ มีความสำคัญตนด้วย แม้จะเกิดต่างขณะกัน

สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า

ถามว่า ก็ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษนี้ ย่อมเกิดแก่ใคร ย่อมไม่เกิดแก่ใคร

ตอบว่า ย่อมไม่เกิดกับพระอริยสาวกก่อน

คือ พระอริยสาวกจะไม่มีความสำคัญตนผิด

จริงอยู่ พระอริยสาวกนั้นมีโสมนัส ความพอใจอันเกิดขึ้นดีแล้วในขณะแห่งการพิจารณามรรคจิต ผลจิต นิพพาน กิเลสที่ท่านละแล้ว และกิเลสที่ยังไม่ได้ละทีเดียว ไม่มีการสงสัยในการแทงตลอด คือ ในปฏิเวธซึ่งเป็นอริยคุณ เพราะฉะนั้น ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ ย่อมไม่เกิดแก่พระโสดาบันเป็นต้น โดยอำนาจแห่งความสำคัญว่าเราเป็นพระสกทาคามี

คือ ผู้ที่เป็นพระโสดาบันรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ไม่มีความสำคัญผิด ไม่มีความเข้าใจผิดว่า ท่านเป็นพระสกทาคามี แต่ผู้ที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ตนเองเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับการสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ พระอริยบุคคลก่อน

สำหรับความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้กับบุคคลผู้ทุศีล

ท่านผู้ฟังลองถามชาวโลกตามถนนหนทาง หรือญาติมิตรสหายก็ได้ว่า อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไหม เขาจะตอบว่าอย่างไร ไม่เอาแน่ๆ เขายังอยากมีชีวิตอยู่ อยากเกิด ดีๆ มีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ สมบัติทั้งหลายเพียบพร้อม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับคนที่ทุศีลหรือคนไม่มีศีล ย่อมเป็นผู้ที่หมดหวังหรือสิ้นหวังในเรื่องที่ตนเองจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม นั่นประเภทหนึ่ง ถ้าไม่กล่าวถึงคนทั่วๆ ไป ซึ่งไม่สนใจในเรื่องของการดับกิเลส เพราะเข้าใจว่าตนเองไม่มีกิเลส หรืออาจจะคิดว่ากิเลสมีน้อย หรืออาจจะคิดว่าถึงกิเลสมีก็ไม่ได้เป็นโทษเป็นภัยอะไร เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่ไม่สำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะตนเองไม่ปรารถนาที่จะบรรลุธรรมวิเศษ หรือถ้าเป็นผู้ที่ทุศีล ก็ย่อมหมดหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

จริงอยู่ บุคคลผู้ทุศีลนั้น ไม่มีความปรารถนาในการบรรลุอริยคุณเลย ความสำคัญตนย่อมไม่เกิดขึ้น แม้แต่บุคคลผู้มีศีล ผู้มีกัมมัฏฐานอันสละแล้ว ผู้ประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ยินดีในการนอน เป็นต้น

ผู้ที่มีศีล และเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่เป็นผู้ที่ไม่ได้ขวนขวายในการเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น ก็รู้ตัวเองว่าตามสบาย มีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม และก็แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เป็นผู้ที่ ประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ยินดีในการนอน ในความสนุก ในการรื่นเริงต่างๆ ดังนั้น ผู้นั้นย่อมไม่ได้สำคัญตนว่าได้บรรลุคุณวิเศษ เพราะเหตุยังไม่สมควรแก่ผล

เพราะฉะนั้น ใครที่จะสำคัญตนว่าเป็นผู้ที่บรรลุคุณวิเศษ ที่จะมีมานะ มีความสำคัญตนว่าบรรลุคุณวิเศษโดยที่ไม่ได้บรรลุ

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี มีว่า

ก็แต่ว่า ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษนั้น ย่อมเกิดแก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ไม่ประมาทในกัมมัฏฐาน ผู้กำหนดนามรูป

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ละเอียดรอบคอบจริงๆ อาจจะเข้าใจผิด สำคัญตนผิดว่าเป็นผู้ที่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว ซึ่งได้เคยกล่าวถึงพระเถระในอดีตในอรรถกถาแล้วว่า ท่านเป็นผู้ที่เข้าใจผิด สำคัญตนผิดว่า รู้แจ้งอริยสัจธรรม จนกระทั่งลูกศิษย์ของท่านได้มาเกื้อกูลทำให้ท่านรู้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส

ท่านผู้ฟังคงจะผ่านข้อความว่า อัสมิมานะ บ่อยๆ

อัสมิมานะ คือ ความสำคัญว่าเราในนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลาย

มีไหม บ่อยๆ ไหม เรา ไม่ใช่เราที่อื่น แต่เราที่นามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายที่ยึดถือว่าเป็นเรา

มิจฉามานะ คือ ความคิดเกี่ยวกับลาภ สักการะ และชื่อเสียง หรือแม้ความคิดที่ไม่อยากให้ใครดูหมิ่น โดยคิดว่า ขอให้ใครๆ ไม่พึงดูหมิ่นเรา ไม่กล่าวร้ายเรา ไม่พึงพูดเบียดเบียนเรา

ถ้าทำอะไรที่ผิดหรือไม่ถูกต้องตามกาลเทศะก็ตามแต่ เคยคิดอย่างนี้บ้างไหมว่า ขอให้ใครๆ ไม่พึงดูหมิ่นเรา ไม่กล่าวร้ายเรา ไม่พึงพูดเบียดเบียนเรา นี่คือลักษณะของมานะ

ขอกล่าวถึงมานะต่างๆ ใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ เพื่อที่จะให้พิจารณาโดยละเอียด ซึ่งมานะจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในชีวิตประจำวันตามควรแก่เหตุการณ์

ข้อ ๘๒๙ มีข้อความว่า

ชื่อว่ามานะ ในคำว่า พึงกำหนดรู้มานะ คือ มานะอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความฟูขึ้นแห่งจิต

คือ ความสำคัญตน

มานะ ๒ อย่าง ได้แก่ มานะในความยกตน ๑ มานะในความข่มผู้อื่น ๑

บางคนข่มผู้อื่นง่ายๆ บ่อยๆ และบางคนก็ยกตนง่ายๆ บ่อยๆ อีกเหมือนกัน เป็นปกติ ที่เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำจนชิน และยังคงจะทำต่อๆ ไป ถ้าปัญญา ไม่เกิดขึ้นเห็นโทษ

มานะ ๓ อย่าง ได้แก่ มานะว่าเราดีกว่าเขา ๑ มานะว่าเราเสมอเขา ๑ มานะว่าเราเลวกว่าเขา ๑

เปิด  214
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566