แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1370

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๗


สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สัจจวิภังคนิทเทส วิเคราะห์ศัพท์ทุกขะ มีข้อความว่า

ก็สัจจะแรก คือ ทุกขสัจจ์นี้ ชื่อว่าเป็นสิ่งน่าเกลียด เพราะเป็นที่ตั้งของอุปัทวะมิใช่น้อย ชื่อว่าว่างเปล่า เพราะเว้นจากความเป็นของยั่งยืน เป็นของงาม เป็นสุข และเป็นอัตตาที่ชนพาลกำหนดกัน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ทุกขะ เพราะเป็นของน่าเกลียด และเป็นสิ่งว่างเปล่า

ที่ว่าน่าเกลียด เพราะเป็นสภาพที่ไม่เป็นที่พอใจ หรือว่าไม่น่าพอใจ และเป็นสภาพที่ว่างเปล่า เพราะเป็นสภาพที่ไม่ยั่งยืน

เป็นสิ่งน่าเกลียด เพราะเป็นที่ตั้งของอุปัทวะมิใช่น้อยเลย จะเห็นได้จากอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้น และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ กายที่เป็นแผลเปื่อยเน่า มีหนอนไต่ตอม เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า เป็นสิ่งที่น่าเกลียด เพราะเป็นที่ตั้งของอุปัทวะมิใช่น้อย

ทุกขสัจจ์มีความเบียดเบียนเป็นลักษณะ มีความให้เร่าร้อนเป็นรสะ มีความเป็นไปทั่วเป็นปัจจุปัฏฐาน

เป็นไปทั่ว คือ ไม่เว้นเลย ถ้าจะกล่าวเทียบโดยบุคคลก็ไม่เว้นใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนฉลาดหรือไม่ฉลาด แม้ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่า เป็นพาลบุคคล ทุกขสัจจ์มีความเป็นไปทั่วเป็นปัจจุปัฏฐาน เพราะเป็นสภาพซึ่งเกิดขึ้นและดับไปเหมือนกันหมดทุกคน

(เสียงอ๊อดดัง...ยาว)

โทสมูลจิตหรือเปล่า ชั่วขณะนิดเดียวที่ผ่านไป มีเสียงที่ไม่น่าพอใจ ลืมไปแล้ว แต่ตามความเป็นจริงถ้าสติจะระลึก เสียงเมื่อกี้ยาวพอสมควรที่สติจะระลึก รู้สภาพของจิตในขณะนั้นว่า ชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ แต่เมื่อผ่านไปแล้ว ก็กลับคืนมาไม่ได้ มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นที่สติจะระลึกได้ในขณะนี้ ทางตากำลังเห็น ย้อนมาอีก ทางหูกำลังได้ยิน ทางกายกำลังกระทบสัมผัส ทางใจกำลังคิดนึก

สัจธรรมเป็นสภาพที่จริงแท้ ไม่วิปริต ซึ่งผู้พิจารณาด้วยปัญญาย่อมเห็นสภาพที่ไม่เป็นภาวะวิปริตดังมายากล ไม่เป็นภาวะคลาดเคลื่อนดังพยับแดด ดังที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่า นี้ทุกข์ นั่นเป็นของแท้จริง ไม่ผิด มิใช่เป็นประการอื่น อีกอย่างหนึ่ง เพราะทุกข์ที่เป็นตัวไม่เบียดเบียนหามีไม่ ตัวเบียดเบียนที่อื่นจากทุกข์ก็หามีไม่ ฉะนั้น ทุกข์นี้ จึงตรัสให้ชื่อว่าสัจจะ โดยทรงกำหนดลักษณะที่เป็นตัวเบียดเบียน ทุกข์ย่อมไม่มีแต่เหตุอื่นเว้นจากตัณหา แล้วทุกข์นั้นจะไม่มีแต่ตัณหานั้นก็หาไม่ เหตุนั้นตัณหาตัวซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ จึงชื่อว่าสัจจะ โดยกำหนดลักษณะที่เป็นเหตุแห่งทุกข์

วันหนึ่งๆ โลภะเกิดขึ้นในอารมณ์ต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้เลย ทั้งทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส กำลัง ซัดส่ายไปหาทุกข์แท้ๆ ถ้ารู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของทุกข์ ให้ทราบว่า ในขณะใดที่กำลังแสวงหาสุข ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นกำลังซัดส่ายไปหาทุกข์ เพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

เพราะฉะนั้น ถ้ามีสิ่งที่พอใจเกิดขึ้นขณะใด ให้ทราบว่า เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตใดๆ ก็ตาม ถ้าพลัดพรากจาก สิ่งนั้น ขณะนั้นย่อมเป็นทุกข์ เพราะถ้ามีความพอใจแสวงหาอารมณ์นั้น ก็ไม่ต้องการที่จะให้อารมณ์นั้นพลัดพรากจากไป แต่ให้ระลึกว่า เมื่อความพอใจมีอยู่ในที่ใด ย่อม มีทุกข์ซึ่งจะเกิดเพราะสิ่งนั้นในภายหลัง

สำหรับทุกขอริยสัจจะ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะเป็นสภาพแท้จริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ธารณสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๖๙๒ เมื่อ พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุเหล่านั้นทรงจำอริยสัจจ์ ๔ ที่พระองค์ทรงแสดงได้หรือไม่ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจจะเป็นข้อที่ ๑ ที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้ไม่ใช่ทุกขอริยสัจจะข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิก ทุกขอริยสัจจะข้อที่ ๑ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจจะข้อที่ ๑ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ

มีใครจะเปลี่ยนแปลงไหม ทุกขอริยสัจจะ ซึ่งได้แก่สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นและดับไป แม้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้ไม่ใช่ ทุกขอริยสัจจะข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขอริยสัจจะข้อที่ ๑ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจจะข้อที่ ๑ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ท่านผู้ฟังทรงจำทุกขอริยสัจจะข้อที่ ๑ ได้ ใช่ไหม ถ้าเพียงแต่ได้ทราบว่า อริยสัจจ์มี ๔ คือ ทุกขอริยสัจจะเป็นสัจจะที่ ๑ จำได้ไม่ลืม แต่จำได้มากน้อยพอเพียงแค่ไหน ถ้าหลงลืมสติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อประจักษ์ความเกิดดับ ก็ย่อมลืมว่า ทุกขอริยสัจจะเป็นอริยสัจจะข้อที่ ๑

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ทรงจำอริยสัจจ์ ๔ ที่พระองค์ทรงแสดงได้หรือเปล่า ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถาม ถ้าจะตอบ ก็ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า จำได้ขั้นไหน จำได้ขั้นที่เพียงรู้ว่า อริยสัจธรรมมี ๔ หรือจำได้จนกระทั่งสติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะประจักษ์ในลักษณะที่เป็นทุกขสัจจ์จริงๆ

การศึกษาแม้พระสูตร ถ้าได้พิจารณาถึงบุคคลที่ฟังธรรมแต่ละท่านในกาล ที่ต่างกัน ย่อมจะเห็นได้ว่า แม้เพียงในเรื่องของอริยสัจจ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสถาม และบุคคลที่กล่าวตอบ ก็กล่าวตอบ แต่การทรงจำแม้ในเรื่องของอริยสัจจ์ของแต่ละบุคคลนั้นก็ต่างกัน ผู้ที่เพียงทรงจำหัวข้อ กับผู้ที่ทรงจำและสติระลึกจนกระทั่งปัญญาแทงตลอดในทุกขสัจจ์ ก็ต้องเป็นบุคคลที่สะสมการฟังพระธรรมและการประพฤติธรรมต่างๆ กันด้วย

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สัจจวิภังคนิทเทส ได้กล่าวถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยลำดับว่า

ก็ในอริยสัจจ์ ๔ นั้น ทุกขสัจจะเป็นสัจจะที่รู้ง่าย เพราะเป็นของหยาบและสาธารณะแก่สัตว์ทั้งปวง ฉะนั้น จึงตรัสเป็นลำดับแรก

ถ้ากล่าวทั่วๆ ไป เผินๆ คนที่ไม่รู้จักทุกข์ ไม่มี แต่จะมีผู้กล่าวว่า มีทุกข์มากมายจริงๆ ทุกข์ของเด็ก ทุกข์ของผู้ใหญ่ ทุกข์ของพ่อบ้านแม่เรือน ทุกข์ของผู้บริหารประเทศ จะเห็นได้ว่า แต่ละคนมีทุกข์มาก เพราะฉะนั้น ที่ทรงลำดับ ทุกขสัจจะ เพราะเป็นสัจจะที่รู้ง่าย เป็นของหยาบ และสาธารณะแก่สัตว์ทั้งปวง ฉะนั้น จึงตรัสเป็นลำดับแรก

และในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เวลาที่พวกอัญญเดียรถีย์ได้ถามพวกภิกษุทั้งหลายว่า บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเพื่ออะไร ท่านเหล่านั้นก็ยังตอบว่า เพื่อรู้ทุกข์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกข์มีหลายขั้น ขั้นที่รู้ไม่ยากก็มี และขั้นที่ต้องถึงการแทงตลอดจึงจะประจักษ์แจ้งในทุกข์ก็มี

เมื่อกล่าวถึงอริยสัจธรรมโดยกิจแห่งญาณในสัจจญาณ

มี ๒ อย่าง คือ รู้โดยรู้ตาม ๑ และรู้โดยแทงตลอด ๑ ความรู้โดยรู้ตาม เป็นโลกียะ ซึ่งย่อมเป็นไปในนิโรธและมรรคได้ด้วยอำนาจการฟังตามกันมาเป็นต้น ความรู้โดยแทงตลอดเป็นโลกุตตระ เพราะทำนิโรธเป็นอารมณ์แล้วย่อมแทงตลอดสัจจะแม้ทั้ง ๔ โดยกิจ

แสดงให้เห็นว่า การรู้ทุกข์มี ๒ อย่าง รู้โดยรู้ตาม ๑ และรู้โดยแทงตลอด ๑ โดยรู้ตาม คือ ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ขณะที่เห็นกำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนั้นจะไม่มีเสียงปรากฏในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย และในขณะที่เสียงปรากฏ ทางหู ขณะนั้นจะไม่มีสีสันวัณณะใดๆ อยู่ในเสียงที่ปรากฏทางหูเลย

เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นต้องดับก่อน จึงจะเป็นขณะที่ได้ยินเกิดขึ้น หรือขณะที่ได้ยินต้องดับก่อน ขณะที่เห็นจึงเกิดขึ้น นี่เป็นการรู้โดยรู้ตาม แต่ต้องให้ถึงการรู้ โดยแทงตลอดด้วย

ข้อความต่อไป กล่าวถึงทุกข์โดยนัยต่างๆ คือ

ทุกข์ทั้งหมดชื่อว่ามีเพียงอย่างเดียว โดยความเป็นไป

เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย นี่คือความเป็นไปของทุกข์ ลักษณะของทุกข์

มีใครจะให้สิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับและไม่เปลี่ยนได้บ้าง ถ้าไม่รู้อาจจะคิดว่า ไม่ได้ดับไปเลยสักขณะเดียว แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ เข้าใจจริงๆ ประพฤติปฏิบัติตามจริงๆ ย่อมสามารถสังเกตได้ว่า ไม่มีใครยับยั้งสภาพธรรมที่เกิดให้คงอยู่ต่อไปได้ เพราะเกิดแล้วดับ เกิดขึ้นเพื่อความเป็นไปอยู่ตลอดเวลา

ทุกข์ชื่อว่ามี ๒ อย่าง โดยนามและรูป

นามก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป ต้องเป็นนามที่เป็นสังขารธรรมด้วยที่เกิดขึ้นและดับไป รูปก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป

ทุกข์ชื่อว่ามี ๓ อย่าง โดยความต่างแห่งอุปัติภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

แสดงว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทั้งสิ้น ทั้งในกามภพนี้ ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่ เกิดดับเป็นไปอยู่ทุกขณะฉันใด ในรูปภพ คือ ในรูปพรหมภูมิ ก็ฉันนั้น ใน อรูปพรหมภูมิ ก็ฉันนั้น ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งสภาพธรรมใดก็ตามที่เป็นสังขารธรรม เกิดแล้วจะไม่ดับ

ทุกข์ชื่อว่ามี ๔ อย่าง โดยความต่างแห่งอาหาร ๔

คือ กพฬีการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร

ทุกข์ชื่อว่ามี ๕ อย่าง โดยความต่างแห่งอุปาทานขันธ์ ๕

ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดดับเท่านั้นเอง แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงทุกข์โดยประการทั้งปวงเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงให้ได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นทุกขสัจจ์นั้น เพราะเหตุอย่างนั้นๆ

และทุกข์ ๗ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ทุกขเวทนาทั้งที่เป็นไปทางกายและทางใจ ชื่อว่าทุกข์เพราะทน ได้ยาก เพราะเป็นสิ่งที่ทนได้ยากทั้งโดยสภาพและโดยชื่อ

เวลาที่ไม่แยกทุกข์กายกับทุกข์ใจ ถ้ากล่าวรวมว่า ทุกข์ สภาพความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ก็หมายความถึงทั้งทุกขเวทนาทางกายและทางใจด้วย ชื่อว่าทุกข์เพราะทน ได้ยาก เวลาทุกข์กายเกิดขึ้น ทนไม่ไหว ใช่ไหม ปวดหัวตัวร้อน เป็นไข้ ทุกข์ใจเกิดขึ้นก็ทนไม่ไหวอีกเหมือนกัน มีการร้องไห้ เศร้าโศก คร่ำครวญต่างๆ เพราะ ทุกข์นั้นเป็นสภาพที่ทนได้ยาก

ประการที่ ๒ สุขเวทนาชื่อว่าทุกข์ เพราะแปรปรวนไป เพราะเป็นเหตุ อุบัติทุกข์โดยความแปรปรวน

แสดงให้เห็นว่า แม้แต่สุขเวทนาที่ทุกคนแสวงหาก็เป็นทุกข์ด้วย เพราะ สุขเวทนานั้นไม่ยั่งยืน เป็นทุกข์ เพราะแปรปรวนไป เพราะเป็นเหตุอุบัติทุกข์ โดยความแปรปรวน เวลาสุขหมดไป อะไรเกิดขึ้น ทุกข์เกิดขึ้น ถ้าทุกข์เกิดก็แสดงว่า สุขที่เกิดแล้วนั้นหมดไป ทุกข์จึงเกิดได้

ประการที่ ๓ อุเบกขาเวทนาและสังขารธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ ชื่อว่า ทุกข์แห่งสังขาร เพราะเป็นสิ่งที่ถูกความเกิดความดับบีบคั้น

ไม่ได้กล่าวเฉพาะทุกขเวทนาและสุขเวทนา แต่แม้อุเบกขาเวทนาและ สังขารธรรมอื่นๆ ทั้งหมดที่เป็นไปในภูมิ ๓ คือ ในกามภูมิ ในรูปภูมิ ในอรูปภูมิ ชื่อว่าทุกข์แห่งสังขาร เพราะเป็นสิ่งที่ถูกความเกิดความดับบีบคั้น อย่างที่เคยได้ยินว่า สังขารทุกข์ ได้แก่ ทุกข์แห่งสังขารทั้งหลาย

ประการที่ ๔ ความป่วยไข้ทางกายและทางใจ มีโรคลมเสียดหู โรคปวดฟัน และความเร่าร้อนเกิดแต่ราคะ ความเร่าร้อนเกิดแต่โทสะ เป็นต้น ชื่อว่าทุกข์ที่ปกปิด เพราะเป็นทุกข์ที่ต้องถามจึงจะรู้ และเพราะความพยายามไม่ปรากฏ

ขณะนี้อาจจะมีบางท่านมีลมเสียดหู ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ใครจะรู้ หรือว่าท่านที่ไปหาหมอฟัน ทุกคนก็นั่งอยู่ที่ร้านของหมอฟัน ดูเป็นปกติ อ่านหนังสือบ้าง สนทนากันบ้าง แต่ความจริงกำลังปวดฟัน เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ความป่วยไข้ทางกายและใจอย่างที่ไม่ปรากฏออกมาให้คนอื่นรู้นอกจากจะต้องถามว่า เป็นอะไร ซึ่งขณะนั้นก็จะตอบว่า เป็นอะไรที่ท้อง ที่ฟัน ที่ศีรษะ หรือที่อะไรต่างๆ นั่นแสดงว่า เป็นทุกข์ที่ปกปิด คือ เป็นทุกข์ที่ไม่ปรากฏ หรือแม้ความเร่าร้อนที่เกิดแต่ราคะ หรือความเร่าร้อนที่เกิดแต่โทสะ ก็ชื่อว่าเป็นทุกข์ที่ปกปิด

กำลังอยากได้อะไร แต่ไม่บอกคนอื่น อาจจะอยากรับประทานอาหารรสนั้น รสนี้ แต่คนอื่นไม่สามารถทราบได้ ขณะที่มีความปรารถนา ความอยาก ความต้องการเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นความเร่าร้อนซึ่งเกิดเพราะความต้องการหรือความปรารถนา หรือในขณะที่ไม่พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่อดทนอดกลั้นไว้ ซึ่งขณะนั้นผู้อื่น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ก็เป็นความเร่าร้อนที่เกิดแต่โทสะ แต่เมื่อไม่ปรากฏ จึงเป็นทุกข์ที่ปกปิด เพราะต้องถามจึงจะรู้ และเพราะความพยายามไม่ปรากฏ

ประการที่ ๕ ความป่วยไข้ที่มีกรรมกรณ์ ๓๒ ประการเป็นต้น เป็นสมุฏฐาน (กรรมกรณ์ คือ การได้รับโทษทัณฑ์ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ) ชื่อว่าทุกข์ที่ไม่ปกปิด เพราะเป็นทุกข์ที่ปรากฏ เป็นทุกข์ที่ไม่ต้องถามก็รู้ และเพราะความพยายามปรากฏ

ประการที่ ๖ ทุกข์ที่มีชาติเป็นต้น เว้นทุกข์เพราะทนได้ยาก (คือ เว้นทุกขเวทนาและโทมนัสเวทนา) ชื่อว่าทุกข์โดยอ้อม เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์นั้นๆ

ประการที่ ๗ ทุกข์เพราะทนได้ยาก ชื่อว่าทุกข์โดยตรง

เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งทุกข์โดยตรง ทุกข์โดยอ้อม ทุกข์ที่ไม่ปรากฏ คือ เป็นทุกข์ที่ปกปิด ทุกข์ที่ปรากฏ คือ เป็นทุกข์ที่ไม่ปกปิด และมีทุกข์ของสังขารธรรม มีทุกข์ของสุขเวทนาที่แปรปรวนไป และมีทุกขทุกข์ คือ ทุกข์ที่ทนได้ยากทั้งโดยสภาพ และโดยชื่อ

เปิด  266
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565