แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1365

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๗


ทุกคนเคยโกรธมาแล้วทั้งนั้น ก็พอที่จะเปรียบเทียบได้ว่า ขณะที่โกรธต่างกับขณะที่ไม่โกรธ เวลาที่ไม่โกรธ รู้สึกสบายดี ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นปกติดี แต่เวลาที่เกิดโทสะขึ้น ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า มีความดุร้ายเป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี เปลี่ยนสภาพจากปกติแล้วในขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขุ่นเคืองเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นแต่เพียงความหงุดหงิด ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ จนกระทั่งถึงความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ เดือดร้อนใจ เป็นทุกข์โศกเศร้า ในขณะนั้นให้เห็นลักษณะสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ซึ่งต่างกับขณะที่โทมนัสเวทนาไม่เกิด นั่นคือลักษณะของโทสะซึ่งดุร้ายราวกับอสรพิษที่ถูกตี

มีใครที่โกรธแล้วไม่รู้สึกอย่างนี้บ้างไหม รู้สึกหยาบกระด้างดุร้ายขึ้นมาทันที ผิดปกติจากที่เคยเป็น

สำหรับรสะ กิจการงานของโทสะ คือ วิสัปปนรโส มีความกระสับกระส่ายเป็นรสะ ราวกับถูกวางยาพิษ ด้วยพิษของโทสะ ถ้าเป็นพิษอื่นซึ่งกระทบกระทั่งกาย อาจจะถูกสัตว์ร้ายหรือถูกต้นไม้ที่มีพิษทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้น แต่ขณะนั้นก็ไม่เหมือนกับโทมนัสเวทนาซึ่งเกิดทางใจ เพราะเวลาที่จิตใจกระสับกระส่ายเดือดร้อน ในขณะนั้นสิ่งอื่นจะทำให้ไม่ได้เลย ที่ว่าราวกับถูกวางยาพิษ เพราะทำให้จิตใจ ในขณะนั้นเต็มไปด้วยพิษของโทสะ ซึ่งสภาพธรรมอื่นทำกิจนั้นไม่ได้เลย นอกจาก โทสเจตสิกเท่านั้นที่กระทำกิจนั้นได้

เพราะฉะนั้น ถ้าสติสามารถระลึกทันทีที่โทสมูลจิตเกิด จะรู้สึกได้ว่า กำลังได้รับพิษของโทสะ เหมือนกับถูกวางยาพิษในขณะนั้นทีเดียว

หรือมิฉะนั้น กิจอีกอย่างหนึ่งของโทสะ คือ อัตตโน นิสสยทหนรโส มีการเผาที่อาศัยของตนเป็นรสะ ราวกับไฟไหม้ป่า

ขณะที่เป็นทุกข์เดือดร้อนไม่สงบเลย ขณะนั้นรู้สึกอย่างไร เหมือนถูกเผาไหม เพราะฉะนั้น ลักษณะของโทสะย่อมเหมือนอย่างไฟไหม้ป่า คือ โทสะนั้นย่อมเผาจิตใจซึ่งเป็นที่อาศัย โทสะไม่เกิดที่อื่นเลยนอกจากเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นสภาพของโทสะเหมือนไฟเผาป่า คือ เป็นสภาพที่ทำให้วัตถุที่อาศัยรุ่มร้อน เดือดร้อน เป็นทุกข์ แม้แต่วัตถุ คือ รูปกายซึ่งเป็นที่อาศัยของจิต ก็พลอยหมองไหม้เป็นทุกข์ไปด้วย และอาจจะทำให้ถึงกับเป็นโรคภัยต่างๆ ด้วยกำลังของโทสะ

สำหรับอาการที่ปรากฏ คือ ทุสสนปัจจุปัฏฐาโน มีการประทุษร้ายเป็น ปัจจุปัฏฐาน ราวกับข้าศึกศัตรูที่ได้โอกาส

ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่าคนอื่นเป็นศัตรู คิดผิด ไม่มีใครเป็นศัตรูของท่านได้เลยจริงๆ นอกจากอกุศลธรรมของท่านเอง โดยเฉพาะเมื่อโทสะเกิดขึ้นขณะใด ประทุษร้ายขณะนั้น ศัตรูมาแล้ว แต่เป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ที่สุด ที่สามารถเข้ามาประทุษร้ายได้ ทุกโอกาส โดยที่ไม่มีเครื่องกั้นเลย

มีใครสามารถกั้นโทสะไม่ให้เกิดได้ไหม ไม่ได้เลย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่โทสะจะเกิด โทสะก็เกิด ถ้าสติจะเกิดภายหลัง ก็เพียงแต่ขับไล่หรือระงับโทสะที่จะเกิด เพิ่มมากขึ้นให้คลายลง ถ้ายังไม่เป็นผู้ที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท มีปัจจัยของโทสะที่จะเกิดขณะใด ขณะนั้นโทสะก็ต้องเกิด ตามเหตุตามปัจจัย

โทสะไม่ใช่เพียงแต่ความโกรธ แต่ความรู้สึกไม่สบายใจทั้งหมดในวันหนึ่งๆ เป็นสภาพของโทสเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นประทุษร้ายจิต และต้องเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา ในขณะนั้น

บางครั้งจะได้ยินคำว่า พยาปาทะ ก็เป็นลักษณะของโทสะนั่นเอง แต่ที่ชื่อว่า พยาปาทะ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้ถึงความพินาศ คือ เข้าถึงความเสียแห่งจิต ด้วยอรรถว่า ยังวินัย อาจาระ (คือ ความประพฤติต่างๆ ) รูปสมบัติ รวมทั้งประโยชน์สุขเป็นต้น ให้ถึงความพินาศด้วยกำลังของโทสเจตสิก

แต่โดยใจความ พยาปาทะ ก็คือโทสะนั่นเอง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะใช้คำว่า โทสะ หรือปฏิฆะ หรือพยาปาทะ ก็คือสภาพของโทสเจตสิก

สำหรับเหตุใกล้ที่จะให้เกิดโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความไม่สบายใจ คือ อาฆาตวัตถุปทัฏฐาโน มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตเป็นปทัฏฐาน

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อากังขวรรคที่ ๓ อาฆาตวัตถุสูตร ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการ เป็นไฉน คือ บุคคลย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑

ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑

ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑

ย่อมโกรธในที่ไม่ควร ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้แล ฯ

จบ สูตรที่ ๙

ความโกรธที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ลองพิจารณาถึงสาเหตุว่า มาจากเหตุอะไรที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ความโกรธที่เกิดนั้นย่อมเป็นไปในบุคคลอื่นทั้งสิ้น เพราะทุกคนย่อมมีทั้งผู้ที่เป็นที่รักบ้าง ย่อมมีทั้งผู้ที่ไม่เป็นที่รักบ้าง

ประการแรก คือ เมื่อบุคคลใดกระทำสิ่งที่ไม่ดีต่อตัวท่านแล้ว เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ท่านเกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธขึ้น เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เวลาที่คนอื่นทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจ มีใครไม่โกรธบ้าง ถ้ามี ต้องเป็นบุคคลที่หายาก ซึ่งบุคคลที่ไม่โกรธได้จริงๆ ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้น พระอนาคามีบุคคล

ความขุ่นใจสักเล็กน้อยมีไหม ถ้าผู้อื่นประพฤติสิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่ ไม่ดีไม่ควรต่อท่านแล้ว หรือกำลังทำสิ่งซึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน หรือจะกระทำ สิ่งซึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน ยังไม่ได้ทำ เพียงแต่รู้ว่าจะทำ ขณะนั้นก็เป็นปัจจัย ที่จะให้เกิดโทมนัสเวทนาหรือโทสมูลจิต

นอกจากตัวท่านเอง ยังไปถึงบุคคลซึ่งเป็นที่รักอีกว่า ใครทำสิ่งที่ไม่ดีไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นที่รักแล้วบ้าง ถ้าเขาทำแล้วก็โกรธ หรือเขากำลังทำอยู่ก็โกรธ หรือว่าเขาจะทำก็โกรธ

นอกจากนั้นยังเลยไปถึงผู้ซึ่งไม่เป็นที่รักอีกด้วย ดูลักษณะของความโกรธซึ่ง จะเกิดขึ้น ถ้าใครไม่เป็นที่รักที่พอใจ และคนอื่นทำดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนนั้น บางคนคงจะโกรธ เพราะคนนั้นทำสิ่งที่ดีกับคนที่ท่านไม่ชอบแล้ว ๑ หรือกำลังทำดี ทำประโยชน์กับผู้ที่ท่านไม่ชอบ ๑ หรือจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ท่าน ไม่ชอบ ๑

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาความโกรธของตนเองว่า ความโกรธในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไรใน ๑๐ ประการนี้ และควรจะพิจารณาถึงการกระทำของท่านเองด้วย ไม่ใช่เพียงแต่พิจารณาถึงการกระทำของคนอื่น

ถ้าเกิดโกรธ ส่วนใหญ่แล้วจะมองคนอื่น หรือเห็นโทษของคนอื่น แต่ลืมย้อนกลับมาพิจารณาตนเองว่า ตนเองได้กระทำผิดอะไรบ้างหรือไม่แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าตัวท่านเองเป็นผู้ผิด เป็นเหตุให้คนอื่นกระทำกายวาจาอย่างนั้น ถ้าพิจารณาโทษของคนอื่นแล้วโกรธ ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับพิจารณาความผิดของตนเองว่า มีความผิดอะไรหรือเปล่า เมื่อเห็นความผิดของตนเอง ย่อมสามารถแก้ความผิดนั้น และไม่โกรธคนอื่นด้วย

ถ้าเป็นความผิดของท่าน ท่านก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพื่อที่จะได้ไม่ทำอีก แต่ถ้าเป็นความผิดของคนอื่นโดยที่ท่านเองไม่ได้เป็นผู้ผิด การโกรธเคืองผู้ทำผิดก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน เพราะถ้าท่านโกรธคนอื่นที่ทำผิด ขณะที่โกรธนั้น เป็นความผิดของท่านเองอีกแล้วที่โกรธคนอื่น

เพราะฉะนั้น การพิจารณาโทษของตนเอง หรือการไม่สนใจในโทษของ บุคคลอื่น ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะไม่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองหรือความอาฆาตขึ้น

การที่จะคิดถึงการกระทำของคนอื่น หรือพิจารณาการกระทำของคนอื่น ถ้าเป็นไปในทางที่จะให้กุศลจิตเกิด ย่อมเป็นประโยชน์กว่าที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด เพราะทุกคนมีจิตใจต่างๆ กัน มีความประพฤติทางกายทางวาจา ต่างๆ กัน บางท่านอาจจะชอบความประพฤติทางกายทางวาจาอย่างหนึ่ง ขณะที่คนอื่นอาจจะชอบอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะให้ทุกคนชอบ ทุกอย่างเหมือนกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น บางท่านอาจจะชอบคนพูดน้อย แต่ บางท่านไม่ชอบคนพูดน้อย ชอบคนพูดมาก เพราะคนพูดน้อยไม่มีเรื่องที่จะคุยด้วย แต่ถ้าคนพูดมาก ก็มีเรื่องสนุกๆ หลายเรื่อง

ถ้าคนพูดน้อยได้พบปะกับคนพูดมาก อาจเกิดความไม่พอใจ หรือความ ไม่สบายใจ แสดงให้เห็นว่า ถ้าพิจารณาคนอื่นในทางที่จะทำให้เกิดอกุศล ย่อมเป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย แต่ถ้าเปลี่ยนการพิจารณาคนอื่นให้เป็นในทาง ที่เป็นกุศล ก็ย่อมมีทางที่จะพิจารณาได้ เช่น คนพูดน้อยก็ดี คือ ไม่มีวจีทุจริตมาก เพราะจะไม่มีมุสาวาทด้วยความพลั้งเผลอหรือด้วยความตั้งใจ หรือไม่มีสัมผัปปลาปวาจา หรือไม่มีปิสุณาวาจาก็ได้ ก็แล้วแต่ แต่ต้องลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีกว่า แม้ไม่มีปรากฏออกมาทางวาจา ใจมีไหม จะต้องพิจารณาหยั่งลงไปถึงใจ และถ้าไม่พูด ไม่พูดด้วยมานะ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ถ้าพูด พูดด้วยความเมตตาเกื้อกูลหวังประโยชน์สุขแก่คนอื่น เป็นอามิสปฏิสันถาร หรือธรรมปฏิสันถาร ก็เป็นกุศลได้

เพราะฉะนั้น การพิจารณา สามารถพิจารณาได้ตรงตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่สังเกต โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสามารถที่จะรู้ได้ว่า การพูด พูดด้วยกุศลก็ได้ การไม่พูด ไม่พูดด้วยอกุศลก็ได้ ข้อสำคัญที่สุด ควรเห็นข้าศึกภายใน คือ ความโกรธของตนเอง แทนที่จะคิดว่าท่านมีศัตรูหลายคน หรือ มีคนที่ไม่ชอบท่าน ทำสิ่งที่ไม่ดีกับท่านหลายคน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ข้าศึกที่แท้จริงอยู่ภายใน คือ ความโกรธของท่านเอง

วันนี้โทสมูลจิตอาจจะยังไม่เกิด เป็นได้ไหม หรือเกิดบ้างแล้วแต่ไม่ได้สังเกต เพราะไม่มาก ไม่รุนแรง เป็นแต่เพียงความไม่สบายใจ ไม่ชอบใจนิดๆ หน่อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง

. วิธีแก้ คือ ละสิ่งที่อาจารย์บอกมาที่ว่า ไม่คิดถึงคนที่ทำให้เราไม่พอใจ คือ มีสติรู้ทันโทสะ ขณะนั้นเราละ ใช่ไหม คือ ขณะนั้นเรานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน นึกถึงสาเหตุว่าทำไมเกิดโทสะขึ้น และก็ละสาเหตุนั้น ใช่ไหม จึงจะหายได้

สุ. ผู้ที่ศึกษาปรมัตถธรรมทราบว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน นี่เป็นของที่แน่นอนโดยขั้นของการฟัง โดยขั้นของการคิด แต่จะต้องพร้อมกับสติ ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นแต่เพียงขั้นความเข้าใจที่ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่เมื่อไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอะไร

ถ. ต้องรู้ชัดเลยว่าขณะนั้นเป็นอะไร

สุ. ใช่ ถ้าขณะนั้นเป็นสภาพที่ประทุษร้าย คือ ไม่พอใจ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนอื่นใดทั้งสิ้น แม้ในขณะนั้นที่จะยึดถือว่าเป็นเราก็ไม่มี แต่ว่ามีลักษณะของสภาพที่ประทุษร้ายเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สภาพนั้นเองเป็นข้าศึกภายใน ไม่ใช่ศัตรูภายนอกอย่างที่เข้าใจว่า คนโน้น คนนี้ คนนั้นเป็นศัตรู หรือคนโน้น คนนี้ คนนั้นทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อน แต่ตามความจริงคนอื่นทำอะไรไม่ได้ นอกจาก โทสเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจนั้น

ถ. ขณะที่เรารู้ชัดว่า นั่นเป็นโทสะ ถ้าปัญญาเกิดขณะนั้นจะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ใช่ไหม คือ รู้ชัดแล้วว่า นี่คือโทสะแน่ๆ จึงเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นไม่มีตัวตน

สุ. ใช่ จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อนด้วยการกระทำของคนอื่น และเป็นผู้ที่รู้หนทางที่จะละคลายกิเลสของตนเองเพราะรู้แน่ว่า กิเลสของตนเองไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ไม่ใช่คนอื่นนำมาให้

สำหรับความโกรธ ความไม่พอใจในสิ่งที่ไม่ใช่ฐานะ ได้แก่ สภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาทั้งหมด เช่น ฝนตก น้ำท่วม อากาศร้อน

ฟ้าร้อง ตกใจไหม ไม่โกรธ แต่ขณะนั้นที่ไม่สบายใจเป็นลักษณะสภาพของ โทสมูลจิต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะสิ่งที่มีวิญญาณเท่านั้นที่เป็นอาฆาตวัตถุ ที่จะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น แม้สิ่งซึ่งไม่ใช่ฐานะ เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเพราะเหตุปัจจัย ก็อาจทำให้ผู้ที่ไม่ได้พิจารณาเกิดความไม่พอใจ ความขุ่นเคือง หรือความโกรธได้ ซึ่งความจริงควรระลึกถึงกรรมของตนเองที่ทำให้ทางตาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ทางหูได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ โดยไม่ได้อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาของใครเลย

เปิด  256
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566