แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1368

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๗


ถ. ส่วนใหญ่โทสะมีผลเป็นโทษทั้งสิ้น มีผลเป็นความดีบ้างไหม

สุ. ไม่มี

ถ. ในกรณีที่บุคคลทำหน้าที่ป้องกันประเทศ มีการต่อสู้ข้าศึก ต้องมีการฆ่าการฟันแทงกัน จากระดับขั้นของความโกรธ ก็มีการจับไม้ การเงื้อ การฟันกัน ให้แหลก ถ้าเช่นนั้นพวกทหารจะมีความโกรธเป็นพื้นของจิตใจไหม

สุ. ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความพยาบาท หน้าที่ของทหาร คือ ป้องกันประเทศชาติเพื่อให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุขสงบ เพราะฉะนั้น ถ้ามีจุดประสงค์อย่างนี้ และทำทุกอย่างเพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะตามมาจากสงคราม หรือความเบียดเบียนกันของอกุศลต่างๆ เท่ากับว่ากำจัดไฟตั้งแต่ต้นลมก็ได้ และทหารเอง ถ้าเข้าใจธรรม ทหารผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ผูกโกรธ หรือไม่มีความอาฆาตพยาบาท แต่จะกระทำตามหน้าที่ เพราะทุกคนมีหน้าที่

ถ. เพราะฉะนั้น หน้าที่เป็นเครื่องชี้ว่า เราจะทำอะไรก็ได้ ใช่ไหม

สุ. ทหารก็ต้องทำสิ่งที่ควร ไม่ใช่ไปเที่ยวยิงฆ่าฟันคนอื่นโดยไร้เหตุผล

ถ. ฉะนั้น ถือว่าไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นความโกรธ

สุ. ต้องเป็นผู้ที่ตรง ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังไม่ใช่พระอนาคามี เป็นทหาร ก็ต้องมีโทสมูลจิต แต่ไม่ถึงขั้นพยาบาท เพราะไม่มีความโกรธเป็นส่วนตัว หรือคิดที่จะปองร้ายเป็นส่วนตัว แต่ทุกคนมีหน้าที่ที่จะกระทำ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าบุคคลที่เกิดมายังไม่เป็นพระอริยบุคคลจะมีการสะสมที่จะทำหน้าที่ใด อาจจะทำหน้าที่เป็นทหาร อาจจะทำหน้าที่เป็นตำรวจ อาจจะทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ หรือเป็นหมอก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่ายังมีอกุศลอยู่ และทางที่จะดับอกุศลได้ คือ โดยการเจริญปัญญา ก็อบรมเจริญปัญญา

ถ. ทหารฆ่าศัตรู และศัตรูนั้นตายไป ไม่ต้องรับวิบากหรือ

สุ. ปาณาติบาตเกิดขึ้นแล้ว เป็นเหตุ เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น วิบากต้องเกิด ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ อกุศลกรรมใดๆ ที่ได้กระทำแล้วมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นให้ผล ก็เกิดขึ้นให้ผล ต่อเมื่อใดปรินิพพานแล้ว กรรมใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดวิบากอีกต่อไปได้ หลังจากจุติจิตของพระอรหันต์

ถ. แสดงว่าต้องได้รับผล ใช่ไหม

สุ. แน่นอน ช่วยไม่ได้ ใช่ไหม และคนที่ฆ่าสัตว์ ฆ่าปลา ฆ่าหมู ก็เหมือนกัน ต้องได้รับอกุศลวิบาก ฆ่าปลา ฆ่าหมู กับทำหน้าที่ช่วยประเทศชาติ เพื่อคนอื่น ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์และยังไม่จุติ ก็ต้องมีปัจจัยที่จะให้ได้รับผลของ อดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

โดยมากคิดถึงทหาร มด และยุงล่ะ ก็ลืม เป็นเรื่องที่จะต้องงดเว้นทั้งนั้น และเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญกุศลกรรม เช่น เมตตา เพิ่มขึ้น

ทุกคนมีโทสมูลจิต วันนี้กี่ครั้ง เป็นสิ่งที่ไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่จะพิจารณาได้ว่า ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม สติควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น โทสมูลจิต ซึ่งไม่ใช่เป็นแต่เพียงลักษณะโกรธ แต่มีลักษณะขุ่นมัว ไม่แจ่มใส เกิดขึ้นขณะใด ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ร้อน ความเดือดร้อน ความกังวล ความเป็นห่วง ความ เศร้าโศก ความเสียใจ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ ทั้งหมดนั้น เป็นลักษณะของโทสเจตสิก

เรื่องของโทสะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะทุกคนปรารถนาแต่สุข ไม่มีใครปรารถนาทุกข์ โทมนัส หรือโทสะเลย

คนที่กำลังมีความทุกข์ ก็ปรารถนาที่จะให้ทุกข์นั้นหมดไปเร็วๆ ส่วนคนที่มีความสุขอยู่แล้ว หรือว่ากำลังมีความสุขอยู่ ก็ปรารถนาที่จะสุขยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น เรื่องของความสุขเป็นเรื่องที่ทุกคนปรารถนา แต่เรื่องของความทุกข์ ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนหนีไม่พ้น หรือบางท่านอาจจะเข้าใจว่า ตัวท่านตั้งแต่เกิดมาไม่มีทุกข์เลย หรือเป็นผู้ที่มีความทุกข์น้อยกว่าคนอื่นมากจนกระทั่งรู้สึกเหมือนกับว่า ท่านไม่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรเลย เกิดมาก็เกือบจะกล่าวได้ว่า สบายตลอดทั้งชาติ แต่ความจริงนั้นไม่ทราบเลยว่า เป็นทุกข์อยู่ทุกขณะ

เพราะฉะนั้น แม้แต่ผู้ที่เป็นทุกข์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะความทุกข์หรือสภาพที่เป็นทุกข์นั้นมีหลายขั้น ตั้งแต่ทุกข์ที่ปรากฏ เป็นทุกข์อย่างหยาบๆ ไปจนกระทั่งถึงทุกข์ที่มองไม่เห็น คือ ทุกข์ของสังขารธรรม ขณะนี้ที่ชื่อว่าสังขารธรรม เป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นและดับไป

ความทุกข์ที่มองไม่เห็น แต่ว่าเกิดอยู่ทุกขณะ คือ สภาพธรรมที่เป็น สังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดขึ้นและดับไป ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ กำลังได้ยินอย่างนี้ กำลังคิดนึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ทุกข์ ต้องเป็นปัญญาที่ละเอียดขึ้นจึงจะสามารถพิจารณาเห็นสภาพที่เป็นทุกข์ของสังขารธรรม หรือของขันธ์ หรือของสิ่งที่ทุกท่านยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา หรือว่าเป็นของเราได้

ถ้าจะกล่าวโดยประเภท ทุกข์ที่มีอยู่ทั่วๆ ไป มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ทุกข์กาย ๑ กับทุกข์ใจ ๑

ทุกข์ทางกาย ได้แก่ อกุศลวิบากจิต ๑ ดวงเท่านั้น ซึ่งเป็นอเหตุกจิต คือ ทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง ถ้าเป็นเรื่องของทุกข์กาย ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นฝี เป็นทุกข์ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บประการใดทั้งสิ้น

ขณะที่ลักษณะอาการของทุกข์ทางกายเกิดขึ้นปรากฏ ในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยกายปสาทเป็นทวาร คือ เป็นทางที่รู้รูปที่กำลังกระทบสัมผัสกายซึ่งไม่น่าพอใจ เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว

เพราะฉะนั้น บางท่านขณะใดที่มีทุกข์ทางกายเกิดขึ้น พิจารณารู้ลักษณะสภาพของนามธรรมที่กำลังประกอบด้วยความรู้สึกไม่สบายทางกาย ในขณะนั้นจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงชั่วขณะที่ต่างกับเห็น ต่างกับได้ยิน ต่างกับคิดนึก บางท่านแม้ว่ากายเป็นทุกข์จริง แต่ใจไม่ได้เป็นทุกข์ด้วย ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัญญาจริงๆ จึงสามารถมีความแช่มชื่นได้ แม้ในขณะที่กายเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ต้องแยกระหว่างทุกขเวทนาทางกายกับโทมนัสเวทนาทางใจ แต่โดยวิสัยของผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ใจที่จะไม่เดือดร้อน กระสับกระส่ายเป็นทุกข์กระวนกระวายด้วย ย่อมไม่มี

จะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์กันว่า ขณะใดที่ทุกขเวทนาทางกายเกิด จะให้ใจ เป็นสุข นี่ยาก นอกจากเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ก็จะสังเกตได้ว่า บางครั้งทุกข์ทางกายนั้นก็พอทนได้ อาจจะเพียงเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เป็นทุกข์ นิดๆ หน่อยๆ ไม่มาก แต่ถ้าความทุกข์นั้นเพิ่มมากขึ้น ทวีขึ้น เช่น การปวดศีรษะอย่างรุนแรง ก็อาจจะทำให้ความรู้สึกที่แช่มชื่นหมดไป กลายเป็นทุกข์กังวล เดือดร้อน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ตามทุกขเวทนาที่เกิด ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สามารถรู้ลักษณะที่แยกขาดจากกันระหว่างทุกขเวทนาทางกายกับโทมนัสเวทนาทางใจ

สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมและได้ทราบว่า ขณะใดที่โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็ไม่ควรที่จะให้มีมากๆ บ่อยๆ เพราะอกุศลทั้งหลายเป็นสิ่งที่ควรละ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ทุกข์กายเกิด ก็ต้องหวั่นไหว

บางท่านบอกว่า เวลาที่ไม่สบาย รู้สึกหงุดหงิด

จะเห็นได้ว่า เวลาที่เป็นคนที่มีร่างกายปกติดี ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิด โทมนัสเวทนา ความไม่แช่มชื่น หรือความไม่พอใจ แต่ถ้าเกิดความทุกข์ทางกายขึ้น เช่น ป่วยไข้ได้เจ็บ นอกจากกายจะเป็นทุกข์แล้ว จิตใจก็ยังพลอยโทมนัส หงุดหงิดด้วย

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ทุกข์ต้องมี จะมากหรือน้อยแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ถ้ายังแข็งแรงดีอยู่ ก็ยังไม่ค่อยจะรู้สึกว่ากายเป็นทุกข์เท่าไร แต่ว่าทางใจเดือดร้อนมากหรือเปล่า แม้ว่าทางกายไม่ได้เป็นทุกข์ และในระหว่างทุกข์กายกับ ทุกข์ใจ แต่ละท่านสามารถจะทนอย่างไหนได้มากกว่ากัน

บางคนอาจจะเป็นคนแข็งแรง ทุกข์กายทนได้ แต่เวลาถึงเรื่องทุกข์ใจ ทนไม่ได้เลย ก็ย่อมเป็นไปได้ หรือสำหรับบางคน เป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ค่อยจะหวั่นไหวเรื่องของทางใจ แต่ทางกาย เป็นผู้ที่ทนไม่ได้เลยต่อการเจ็บป่วยก็ได้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะสะสมมาอย่างไร

สำหรับทุกข์ทางกาย ได้แก่ อกุศลวิบากจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิตดวงเดียวเท่านั้น คือ ทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง แม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดก่อนปรินิพพาน เพราะทุกคนได้กระทำกรรมมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นโอกาส หรือเป็นกาล หรือพร้อมด้วยปัจจัยที่กรรมใดจะให้ผล แม้พระอรหันต์ทั้งหลายก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น แต่สำหรับทุกข์ ทางใจนั้น เกิดขึ้นเพราะกิเลส ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรม และผู้ที่จะดับทุกข์ทางใจ คือ ไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกเลย ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล จึงจะดับโทมนัสเวทนาและโทสมูลจิตได้เป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น การที่จะพ้นทุกข์ของสังสารวัฏฏ์ จะต้องพ้นทั้งทุกข์กายและ ทุกข์ใจ โดยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมจนถึงขั้นที่จะไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย มิฉะนั้นแล้ว ถ้ามีการเกิดขึ้น ที่จะพ้นจากทุกข์กาย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกข์กายเกิดขึ้นจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ส่วนที่จะพ้นจากทุกข์ใจนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงจะไม่มี โทสมูลจิตเกิดขึ้นอีกเลย

ถ. เจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้ มีโทสเจตสิก และอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ใช่ไหม

สุ. ใช่

ถ. โดยทั่วไปมักเข้าใจว่า มัจฉริยะเกิดกับโลภะ เพราะเป็นความตระหนี่หวงแหน แต่ทำไมถึงเกิดกับโทสมูลจิต

สุ. ตระหนี่หวงแหนเฉพาะกับบุคคลที่ไม่ชอบ ถ้าเป็นคนที่ชอบ มีเท่าไรก็ให้ ไม่ตระหนี่หวงแหนเลย เพราะฉะนั้น เครื่องวัดว่าผู้ใดเป็นที่รัก สังเกตได้จากมัจฉริยะ ถ้าเป็นที่รักจริงๆ ไม่มีมัจฉริยะ

ถ. แต่ขณะที่ไม่ชอบ กับขณะที่ตระหนี่ ก็คนละขณะ อาจจะเป็นโทสะขณะหนึ่ง และโลภะอีกขณะหนึ่ง

สุ. ความหวงของ ไม่ต้องการให้ของของตนสาธารณะทั่วไปแก่บุคคลอื่น แต่พิจารณาดูว่า หวงใคร ไม่ต้องการให้ใคร ก็ไม่ต้องการให้ผู้ที่ไม่ชอบ ถ้าเป็นผู้ที่ชอบหรือเป็นที่รักแล้วให้ได้ เพราะฉะนั้น มัจฉริยเจตสิกเป็นการหวงกันสมบัติของตนไม่ให้สาธารณะทั่วไปกับผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก

ถ. กับผู้ที่เฉยๆ คือ ทั้งไม่ใช่รักหรือไม่รัก แต่ก็ไม่อยากจะให้ หรือตระหนี่ ไม่จำเป็นว่าต้องสำหรับผู้ไม่เป็นที่รักเสมอไป

สุ. เรื่องของความตระหนี่ ต้องเป็นเรื่องของเหตุผล คือ ไม่ใช่มีทุกสิ่ง ทุกอย่างสำหรับทุกๆ คน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ไม่ได้เป็นไปเพราะอคติ ในการที่จะให้หรือในการที่จะไม่ให้ นั่นจึงจะเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นโลภะ ไม่ตระหนี่ เพราะฉะนั้น มัจฉริยเจตสิกไม่เกิดกับโลภมูลจิต

ถ. ในการที่จะไม่ให้ แต่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ จะเป็นอกุศลหรือเปล่า

สุ. ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ไม่ได้หมายความว่า ท่านต้องให้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ท่านไม่ได้ให้เพราะอคติ สิ่งที่ควรให้ก็ให้ ไม่ว่าจะเป็นที่รักหรือไม่รักก็ตามแต่ เมื่อสมควรแก่การที่จะให้ เป็นการเกื้อกูล ท่านก็ให้ได้

เพราะฉะนั้น วันนี้ยังไม่ถึงเรื่องของมัจฉริยะ กำลังกล่าวถึงเรื่องของโทสะ โดยทั่วๆ ไปก่อน ภายหลังจึงจะกล่าวถึงว่าจะมีเจตสิกอะไรที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตบ้าง แต่ควรที่จะทราบว่า มัจฉริยะ ซึ่งเป็นความตระหนี่ เป็นความหวงแหนนั้น ต้องมีเหตุผล เป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ไม่ใช่ว่าจะต้องสละให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ. อย่างเวลาปวดหัว และเราระลึกรู้ลักษณะ ความจริงแล้วไม่มีตัวตน ใช่ไหม ถ้าระลึกได้ ก็จะหายไปเอง ใช่ไหม

สุ. สภาพธรรมทุกอย่าง เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่สั้นนิดเดียว และก็ดับไป

ถ. ถ้าเราเกิดรู้ชัด ก็จะ...

สุ. รู้หรือไม่รู้ ก็เกิดขึ้นและดับไป แต่ก็เกิดขึ้นอีกได้เมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าดับไปแล้วจะไม่เกิดอีก ย่อมแล้วแต่ปัจจัยว่า มีปัจจัยจะเกิดอีกหรือเปล่า ถ้ามีปัจจัยจะเกิดอีกก็เกิด และก็ดับ เกิดและก็ดับ

เปิด  235
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565