แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1369

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๗


ลองพิจารณาเรื่องของทุกข์กาย หรือทุกข์ใจในวันหนึ่งๆ เพื่อที่จะได้พิจารณาว่า มีทุกข์กายหรือทุกข์ใจแค่ไหน

ทุกข์กาย ต้องเกิดขึ้นเมื่อกายปสาทกระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เช่น แข็งไป เย็นไป ร้อนไป ไม่สบายกาย เก้าอี้แข็งๆ หรือเย็นไป ร้อนไป แต่สิ่งที่แข็งที่กระทบสัมผัส ลองคิดดู ถ้าเป็นสิ่งที่ชอบก็ลืมว่าขณะนั้นเป็นทุกข์กาย เพราะ ขณะนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์ทางใจขึ้น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็ทำให้เกิดทั้ง ทุกข์กายและทุกข์ใจได้ เช่น เวลาที่เล่นกีฬา กับเวลาที่ทำงานบ้าน

ผู้ที่ทำงานบ้านไม่สนุกเท่ากับขณะที่เล่นกีฬาแน่นอน ไม่เพลิดเพลิน อาจจะรู้สึกรำคาญใจว่า ไม่มีใครช่วยทำกิจธุระในบ้าน ต้องทำเองเหนื่อยยากลำบากทุกอย่าง แต่ก็คือการที่กายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เหมือนกับขณะที่ไม่ได้ทำงานบ้านนั่นเอง หรือในขณะที่เล่นกีฬาสนุก ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้กระทบสัมผัสกับสิ่งที่แข็งที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นกีฬา และในขณะที่เพลิดเพลินยินดีก็ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงในขณะนั้นทางกายก็ได้กระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่กาย ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรื่องราวต่างๆ เช่น เรื่องความทุกข์ยากลำบากภายในบ้านเรือนหรืออะไรต่างๆ ก็จะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางกายเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะกำลังเล่นเกมส์กีฬาสนุกสนาน หรือว่ากำลังทำงานบ้านก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ จะกันทุกข์ใจ คือ ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจได้

แต่ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงกระทบ แข็งบ้าง อ่อนบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่คิดนึกต่างๆ ทำให้จิตใจหวั่นไหวเป็นทุกข์เดือดร้อน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ การนอนที่โคนไม้ในป่า หรือการนอน ในปราสาทราชวัง มีอะไรที่ต่างกันทางกาย

ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เช่น เวลากระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งในป่า ที่โคนไม้ กับในปราสาทราชวัง จะเหมือนกันหรือต่างกันขณะที่แข็งกำลังปรากฏเพราะฉะนั้น ผู้ที่ดับกิเลสได้ไม่เดือดร้อนเลย สามารถที่จะอยู่ในป่า ตามโคนไม้ เรือนว่างได้

บุคคลอื่นอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคบรรทมที่โคนไม้ในป่าคงจะไม่สะดวกสบายเท่ากับในปราสาทราชวัง แต่สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ไม่มีอะไรที่ต่างกัน

ความต่าง คือ ความหวั่นไหว ความไม่สม่ำเสมอด้วยกิเลส ด้วยสมมติ ด้วยบัญญัติ ด้วยเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่ด้วยสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ชั่วขณะหนึ่งๆ และดับหมดไปไม่กลับมาอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์ทางกาย หรือทางใจ สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เหมือนกันหมด คือ ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นและยังไม่ดับ แต่ขณะที่ดับแล้ว ย่อมจะไม่กลับมาอีกเลย

อาการของความทุกข์ใจที่แต่ละคนมี ย่อมแสดงให้รู้ถึงอาการของกิเลส ซึ่งแต่ละคนสะสมมาว่า มากน้อย หนาบาง หรือว่าหนักเบาประการใด บางท่านมีเรื่องยุ่งยากในเรื่องของงานบ้านหลายอย่างชั่วระยะหนึ่ง แต่จิตใจของท่านไม่เดือดร้อน เพราะท่านรู้ว่าเป็นอกุศลวิบาก เมื่อกุศลกรรมยังไม่ให้ผล ก็ต้องได้รับความไม่สะดวกสบายในบ้านต่างๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่จะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครจริงๆ

ทุกท่านพิสูจน์ได้ประการหนึ่งจากโทสมูลจิต ความไม่สบายใจว่า ในวันหนึ่งๆ มีมากน้อยแค่ไหน และท่านอดทนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเวลาที่ความไม่แช่มชื่นเกิดขึ้น ความไม่พอใจเกิดขึ้น ตอนแรกๆ พออดทนได้ แต่ควรที่จะได้รู้ว่า ถ้าอดทนไม่ได้ กายย่อมผิดปกติ และวาจาก็ย่อมเป็นวาจาทุจริตได้ตามกำลังของกิเลสที่มี กำลังขึ้น เมื่อกิเลสที่เป็นโทสมูลจิตมีกำลังกล้า จะเป็นเหตุให้กระทำกายทุจริตและ วจีทุจริต ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับปุณณกมาณพว่า หฤทัยของสัตว์อื่นทั้งหลายเปรียบเหมือนสถานที่บูชายัญของท่าน

เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ขอให้คิดถึงขณะที่จะประทุษร้ายเบียดเบียน ต้องการให้คนอื่นเดือดร้อน ต้องการจริงๆ ให้เขาเป็นทุกข์ให้เต็มที่ ขณะนั้นเท่ากับว่า หฤทัยของสัตว์อื่นทั้งหลาย เปรียบเหมือนสถานที่บูชายัญของท่าน คือ ต้องการทำให้บุคคลนั้นได้ประสบความทุกข์อย่างมาก

สำหรับโทสมูลจิต เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเพียงขณะหนึ่งๆ ซึ่งโดยกิจ กระทำชวนกิจ เวลาที่โทสมูลจิตเกิดขึ้นจะเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ จิตทุกประเภทโดยปกติเมื่อทำชวนกิจจะเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ซึ่ง ๗ ขณะนี้ เร็วมาก ถ้าเปรียบเทียบกับทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้กับทางหูที่ได้ยินดูเสมือนว่าพร้อมกัน แต่ความจริงทางตาที่เห็นขณะหนึ่งกับทางหูที่ได้ยินขณะหนึ่ง มีจิตเกิดดับสลับคั่นอยู่เกินกว่า ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ที่โทสชวนะเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะย่อม ไม่มาก แต่เมื่อมีปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ย่อมสามารถปรากฏให้เห็นว่า ความโกรธนั้นไม่หายไป

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อาสีวิสสูตร ข้อ ๑๑๐

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสรพิษ ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ อสรพิษ มีพิษแล่นแต่พิษไม่ร้ายจำพวก ๑ มีพิษร้ายแต่พิษไม่แล่นจำพวก ๑ มีพิษแล่นด้วย พิษร้ายด้วยจำพวก ๑ มีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้ายจำพวก ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสรพิษ ๔ จำพวกนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลเปรียบด้วยอสรพิษ ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลดุจอสรพิษมีพิษแล่นแต่พิษไม่ร้าย จำพวก ๑ ดุจอสรพิษมีพิษร้ายแต่พิษไม่แล่นจำพวก ๑ ดุจอสรพิษมีพิษแล่นด้วย พิษร้ายด้วยจำพวก ๑ ดุจอสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้ายจำพวก ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษแล่นแต่พิษไม่ร้ายอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมโกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่นาน บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษแล่นแต่พิษไม่ร้าย อย่างนี้แล

ทุกท่านจะพิจารณาได้ว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน เป็นประเภทที่พิษแล่น คือ โกรธบ่อยๆ โกรธง่ายๆ โกรธเนืองๆ แต่พิษไม่ร้าย คือ ความโกรธนั้น ไม่นอนเนืองอยู่นาน โกรธจริง แต่ก็หายไป ไม่ผูกโกรธ หรือไม่ได้คิดมุ่งร้ายพยาบาทเลย และจะห้ามความโกรธไม่ให้เกิดบ่อยๆ ก็ไม่ได้ เพราะเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะเป็นผู้ที่โกรธง่าย โกรธบ่อย เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ดุจอสรพิษมีพิษแล่นแต่พิษไม่ร้าย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษร้ายแต่พิษไม่แล่นอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่โกรธเนืองๆ ทีเดียว แต่ความโกรธของเขานั้น นอนเนื่องอยู่นาน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษร้ายแต่พิษไม่แล่น อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสรพิษมีพิษร้ายแต่พิษไม่แล่น แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น

บางคนสังเกตได้ว่า เป็นผู้ไม่โกรธง่าย ไม่โกรธบ่อย แต่ถ้าโกรธแล้วไม่ลืม เพราะฉะนั้น ความโกรธของบุคคลนั้นเหมือนกับอสรพิษที่มีพิษร้ายแต่พิษไม่แล่น ไม่แล่น คือ ไม่โกรธบ่อย มีพิษร้าย คือ ถ้าโกรธแล้วไม่ลืม ยังคงจำไว้นานมาก เพราะฉะนั้น เปรียบเทียบดูว่า ท่านเป็นบุคคลไหน

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษแล่นด้วย มีพิษร้ายด้วย อย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมโกรธเนืองๆ และความโกรธของเขานั้นนอนเนื่อง อยู่นาน บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษแล่นด้วย พิษร้ายด้วย อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสรพิษมีพิษแล่นด้วย พิษร้ายด้วย แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้ายอย่างไร

บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้นก็ไม่นอนเนื่องอยู่นาน บุคคลเป็นดุจอสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้าย อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสรพิษมีพิษไม่แล่นและพิษไม่ร้าย แม้ฉันใด เรากล่าว บุคคลนี้ เปรียบฉันนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยอสรพิษ ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ ในโลก ฯ

ขณะใดที่โกรธ เหมือนอสรพิษ แล้วแต่ว่าพิษแล่น หรือพิษร้าย ถ้าเป็นทั้ง พิษแล่นและพิษร้าย เมื่อได้เห็นโทษของความโกรธ ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ค่อยๆ คลายลง แม้จะยังดับความโกรธไม่ได้ แต่ก็ไม่โกรธอยู่นาน

ขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน หลายประเภท ถ้าสติระลึก ทางตากำลังเห็น เป็นจิตประเภทหนึ่งแล้ว ทางหูที่กำลังได้ยิน เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ระลึกทางใจก็อาจจะไม่ทราบว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิต ๗ ขณะซึ่งเร็วมาก และถ้ามีเสียงที่ ไม่น่าพอใจกระทบทางหู ทันทีที่เสียงนั้นกระทบและยังไม่ดับ โทสมูลจิต ความ ไม่พอใจในเสียงนั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างรวดเร็ว แต่สั้นมาก และเมื่อเสียงนั้นดับ โทสมูลจิตก็ดับ

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่พร้อมที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรทั้งสิ้น ขณะที่กำลังฟังเรื่องของโทสมูลจิต เสียง ก็มีปรากฏ ได้ยินก็มี สภาพธรรมที่กำลังรู้เรื่องของเสียงที่ปรากฏก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะก่อนก็ดับสิ้นหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย

ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏเท่านั้น ที่สติควรระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามที่ได้ศึกษา เพื่อให้การศึกษานั้นเป็นประโยชน์ โดยสามารถรู้สภาพที่แท้จริงของธรรมที่ได้ศึกษาแล้ว ซึ่งยาก ใช่ไหม ขณะนี้จะระลึกทางไหน

ถ. หมายความว่า ขณะที่ระลึก ขณะนั้นเรื่องราวจะไม่มีปรากฏเลย ใช่ไหม

สุ. ขณะที่กำลังพูดมีเรื่องราวไหม

ถ. มี

สุ. เมื่อพูดจบแล้ว มีไหม

ถ. ถ้ามีเหตุต่อ ก็ต้องมีต่อ

สุ. เรื่องราวมีในขณะที่จิตกำลังคิดเรื่องราวนั้นเท่านั้น ถ้าจิตไม่คิดเรื่องราวนั้น เรื่องราวนั้นก็ไม่มีเท่านั้นเอง และก็เห็น ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ก็หมดไปทุกขณะ ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ในขณะที่กำลังได้ยินได้ฟัง

อย่างเมื่อกี้ คงจะมีเสียงที่ไม่น่าพอใจ ชั่วขณะนั้นโทสมูลจิตเกิดตามปกติ ถ้าไม่พอใจในเสียงนั้น ถ้าถามหลังจากที่เสียงนั้นดับไปแล้วว่า ชอบเสียงนั้นไหม จะตอบว่าอย่างไร ไม่ชอบ แต่ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏและไม่ชอบ ขณะนั้น คือลักษณะของโทสมูลจิตซึ่งมีและก็เกิด และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดับอย่างรวดเร็ว ซึ่งการศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและปรากฏ เพื่อให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และประจักษ์การดับไปของสิ่งนั้น เพื่อจะได้ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

ถ. ขึ้นอยู่กับกำลังสติหรือเปล่าว่า จะทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นไหม

สุ. ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่ไม่ชอบแม้เล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตหรือทุกข์ ไม่ใช่มีเฉพาะความโกรธอย่างเดียว แต่ขณะที่ไม่ชอบแม้เล็กน้อยก็เป็นโทสมูลจิตด้วย โทสมูลจิตเป็นทุกข์ แต่ทุกข์ไม่ใช่เฉพาะโทสมูลจิต

ถ. ประหม่าตื่นเต้นเป็นโทสมูลจิตหรือเปล่า

สุ. ทุกอย่างที่ไม่ชอบ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิตหมด วิธีที่จะรู้ว่าเป็น โทสมูลจิตหรือเปล่า คือ ชอบไหม ถ้าไม่ชอบ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิตทั้งนั้น

ถ. ขณะนั้นถ้าระลึกได้ ระลึกรู้ว่าเป็นโทสะ เราก็ละ จะหมดไปเอง ใช่ไหม

สุ. ต้องอบรมเจริญปัญญา โทสะเกิดขึ้นและดับไป ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ แต่ไม่สามารถดับเหตุที่จะให้เกิดโทสะ ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าถึงขั้นที่จะดับเหตุของโทสะได้ โทสะจึงจะดับ

เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบว่า อะไรเป็นเหตุของโทสะ

ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นเหตุให้เกิดโทสะ เมื่อไม่ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่พอใจ

และผู้ที่จะดับโทสมูลจิตได้ คือ ผู้ที่ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งผู้นั้นต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ แม้กระนั้นก็ยังดับทุกข์อื่นไม่ได้ นอกจากทุกข์ใจ เพราะทุกข์มีทั้งที่เป็นทุกข์กายด้วยและทุกข์ใจด้วย

ถ้าได้ศึกษาสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม และรู้ว่าลักษณะของสังขารธรรม คือ สภาพที่เกิดขึ้นและดับไปนั้นเป็นทุกข์ จะเข้าใจความหมายที่ว่า ทุกข์เป็นของธรรมดา ซึ่งมีอยู่เป็นประจำทุกวัน เพราะสังขารธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ทุกข์เป็นของธรรมดา และเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ก็เป็นธรรมดาด้วย เพราะธรรมดาทุกคนพอใจใน โลภมูลจิต เมื่อมีความยินดีพอใจซึ่งเป็นโลภมูลจิตในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เพลิดเพลินไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ทุกข์ก็ต้องเป็นธรรมดาด้วย เพราะเหตุที่จะให้เกิดทุกข์เป็นธรรมดา

ธรรมดาหรือไม่ธรรมดา โลภะ ใครรู้สึกว่าโลภะไม่ธรรมดาบ้าง เกิดบ่อยที่สุดในวันหนึ่งๆ จนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ทุกข์ต้องเป็นธรรมดาเหมือนกัน เพราะถ้าเป็นปรมัตถธรรม ทุกข์ได้แก่สภาพของสังขารธรรมซึ่งเกิดดับ

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565