แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1380

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๗


. ผมเคยระลึกถึงพระคุณ น้ำตาไม่ไหล แต่คิดว่าจะช่วยเหลือเขา น้ำตาจึงไหล

­สุ. ก็แล้วแต่ขณะจิต ซึ่งไม่ต้องฝืน แต่ถ้าน้ำตาจะไม่ไหล จะดีกว่าไหม เพราะฉะนั้น อย่าพยายามให้น้ำตาไหล อย่าคิดว่าต้องน้ำตาไหล

. น้ำตาไหลออกมาเอง

สุ. ถูก แต่บางคนไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอยากน้ำตาไหล อย่างที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนบอกว่า ถ้าทำกุศลปลื้มมากจะปีติจนน้ำตาไหล แต่ท่านผู้นั้นคงไม่ได้สอบถามความละเอียดว่า คิดถึงเรื่องอื่นด้วยหรือเปล่าในขณะที่ปีติ เพราะเป็นขณะที่สลับกับอกุศลจิตอื่นๆ ได้ ถ้าไม่คิดถึงเลย ก็จะมีแต่ลักษณะของความเอิบอิ่ม ความอิ่มอกอิ่มใจ หน้าตาก็ชื่นบานแจ่มใส แต่ถ้าคิดถึงเรื่องที่จะทำให้น้ำตาไหล ก็สลับกันไป

. หมายความว่า จิตมี ๒ ขณะ คือ ขณะเอิบอิ่มกับขณะที่น้ำตาไหล ซึ่งรวดเร็วมากจนแยกไม่ออกว่า ความรู้สึกไหนเกิดก่อนกัน

สุ. ใช่ เพราะฉะนั้น สติต้องระลึกลักษณะของเวทนา ความรู้สึก จึงจะทราบว่า ความรู้สึกขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แม้ว่าจะเกิดสลับกันอย่างรวดเร็ว ก็สามารถรู้ได้ และรู้ได้แม้การเสแสร้งหรือมารยา ซึ่งอาจจะมีแทรกอยู่ในขณะนั้น

บางคนอาจจะเป็นอุปนิสัยหรือเป็นนิสัยจริงๆ ที่ทำจนชิน และไม่รู้ว่า เพราะอะไร ใช่ไหม แต่ถ้ารู้ ก็จะเลิก จะละได้ และจะรู้ว่า อกุศลทั้งหลายเป็นสิ่งที่ ไม่ควรให้เกิดบ่อยๆ ลักษณะของความโศกเศร้า ความเสียใจ เป็นอกุศลธรรมที่เป็น โทสมูลจิต ซึ่งไม่ควรจะเกิดบ่อยๆ

ทุกอย่างจะรู้ได้ชัดเจน เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพของจิตในขณะนั้น ตามความเป็นจริง จะเป็นผู้ที่ไม่หลอกตัวเอง และไม่คิดว่าจำเป็นต้องมีน้ำตาไหลในขณะที่ปีติ เพราะถ้าเป็นปีติที่มีกำลังขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญภาวนา ปีติจะไม่ถึงขั้นที่เมื่อมีกำลังแล้วจะทำให้ปัสสัทธิ ๒ อย่าง คือ กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิบริบูรณ์ จะเพิ่มความสงบของจิตด้วยกำลังของปีติขึ้น

เพราะฉะนั้น ปีติที่ชาวโลกมี และยิ้มแย้มแจ่มใสทุกๆ วัน นั่นไม่ใช่ปีติในขณะที่จิตสงบ เพราะถ้าเป็นปีติที่มีกำลังและจิตสงบ จะทำให้กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิบริบูรณ์ และเมื่อปัสสัทธิทั้ง ๒ มีกำลังถึงความแก่รอบ ย่อมยังสุข ๒ อย่าง คือกายิกสุขและเจตสิกสุขให้บริบูรณ์

ความสุขซึ่งมีอยู่จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะเทียบไม่ได้กับความสุขซึ่งเกิดพร้อมกับปีติซึ่งเป็นความสงบขึ้น และเอิบอิ่มขึ้น ในขณะนั้นทั้งกายและใจ ทั้งกายิกสุขและเจตสิกสุขบริบูรณ์ขึ้น

ความสุขเมื่อมีกำลังแก่รอบย่อมยังสมาธิ ๓ อย่าง คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิให้บริบูรณ์

แสดงถึงการที่ปีติมีกำลังขึ้น และความสงบก็มีกำลังขึ้น ความสุขก็มีกำลังขึ้น จากขณิกสมาธิ จนถึงอุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ แต่เมื่อปีติและสุขอย่างนั้น ยังไม่เกิด สติปัฏฐานก็ระลึกลักษณะของปีติที่กำลังมี กำลังเป็น ตามความเป็นจริง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมในขณะนั้น

บางท่านก็บอกว่า เวลาที่ท่านกำลังดูโทรทัศน์ เป็นเรื่องละครโศกเศร้า น้ำตาก็จะไหล แต่ว่าสติเกิด ก็เลยเฉยๆ จะทำอย่างไร

ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้น้ำตาไหลอีกเหมือนกัน คือ ไม่จำเป็นต้องอยากให้ น้ำตาไหลอีก เพราะสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าอยากจะให้น้ำตาไหล และให้สติระลึกลักษณะของจิตที่กำลังมีน้ำตาไหล ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น สภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น สติพร้อมที่จะระลึกเมื่อไร ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่

ท่านผู้นั้นคงจะชอบเรื่องโศกเศร้า ท่านก็บอกว่า เมื่อสติระลึก ก็เลยเฉยๆ ไม่ร้องไห้ ก็ถามท่านว่า และเป็นอย่างไร ไม่ร้องก็ธรรมดา สติก็ระลึกลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น ท่านก็บอกว่า ก็ไม่สนุก

คือ คงจะเป็นผู้ที่ชอบเพลิดเพลินไปกับเรื่องโศกเศร้าต่างๆ เวลาที่สติเกิด ไม่ร้องไห้ ก็กลายเป็นไม่สนุก แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างที่ปรากฏ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยชั่วขณะเพียงเล็กน้อยและดับอย่างรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปกติ ไม่ใช่เปลี่ยนจากปกติด้วยความต้องการ

สำหรับลักษณะของปีติและสุขซึ่งเกิดร่วมกัน ปีติเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ เป็นปกิณณกเจตสิก เกิดได้ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต แต่สำหรับสุขเวทนานั้น เป็นความรู้สึกที่เป็นสุข ต่างกับลักษณะของปีติซึ่งเป็นความปลาบปลื้ม ความเอิบอิ่ม

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายความหมายของคำว่า สุข มีข้อความว่า

สุขยตีติ สุขัง ธรรมที่ชื่อว่าสุข เพราะอรรถว่า สบาย อธิบายว่า ความสุขย่อมเกิดแก่ผู้ใด ก็ทำบุคคลนั้นให้ถึงความสุข ความสบาย

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมขุด (ทำลาย) อาพาธทางกายทางใจ เพราะเหตุนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสุข สุขนี้เป็นชื่อของโสมนัสเวทนา

การแยกลักษณะของปีติและสุข ก็เพื่อให้เห็นสภาพของความรู้สึกว่า เป็นอย่างหนึ่ง และความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจนั้น เป็นอีกอย่างหนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง สุขมีการยินดีเป็นลักษณะ (สาตลักขณัง) มีการยังสัมปยุตตธรรมทั้งหลายให้เจริญเป็นรสะ (สัมปยุตตานัง อุปัพรูหนรสัง) มีการอนุเคราะห์เป็น ปัจจุปัฏฐานะ (อนุคคหณปัจจุปัฏฐานัง)

ความยินดีในการได้อิฏฐารมณ์เป็นปีติ การเสวยรสอารมณ์ที่ได้แล้วเป็นสุข ปีติมีในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น สุขมีในที่ใด ในที่นั้นไม่แน่ว่ามีปีติ

ตามธรรมดาในกามาวจรจิตทั้งหมด ปีติเจตสิกกับสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนาจะเกิดร่วมกัน แต่ว่า สุขมีในที่ใด ในที่นั้นไม่แน่ว่ามีปีติ คือ ในจตุตถฌาน ฌานที่ ๔ ประกอบด้วยสุขเวทนาซึ่งละปีติเจตสิกแล้ว

แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของสภาพจิตว่า ปีติเป็นสภาพที่ปลาบปลื้ม อิ่มเอิบใจ แต่โสมนัสเวทนาเป็นสภาพที่มีความรู้สึกเป็นสุข เพราะฉะนั้น ความละเอียดของโสมนัสเวทนาจะเพิ่มขึ้น ถ้าโสมนัสเวทนานั้นปราศจากซึ่งปีติ แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาได้ปฐมฌานฌานที่ ๑ ซึ่งประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และเห็นโทษของวิตกเจตสิก ละวิตกเจตสิกได้ จึงจะถึงทุติยฌาน ซึ่งไม่ประกอบด้วยวิตกเจตสิก แต่ประกอบด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และพิจารณาเห็นว่า ถ้ายังมีวิจารอยู่ก็ยังไม่สงบขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ละวิจาร และถึง ตติยฌานซึ่งประกอบด้วยปีติ สุข เอกัคคตา และยังพิจารณาเห็นว่า ถ้ายังประกอบด้วยปีติ ก็ไม่ละเอียดเท่ากับโสมนัสเวทนาซึ่งไม่ประกอบด้วยปีติ เพราะฉะนั้น จึงละปีติ จึงถึงจตุตถฌาน ซึ่งประกอบด้วยสุขเวทนาและเอกัคคตา และยังเห็นว่า สุขเวทนาก็ยังไม่ประณีตเท่ากับความรู้สึกซึ่งเป็นอทุกขมสุขเวทนาหรืออุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น จึงละสุข เมื่อละสุขแล้ว ก็ต้องประกอบด้วยอุเบกขาเวทนากับ เอกัคคตา จึงเป็นปัญจมฌาน

จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงฌานจิต ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ ที่สามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุขเวทนา และเอกัคคตาเจตสิกแล้ว ก็ไม่สามารถบรรลุถึงความสงบที่เป็นฌานจิตจริงๆ ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น จึงสามารถละแต่ละองค์ของฌานทั้ง ๕ ได้

เช่น ขณะนี้ วิตก วิจาร กำลังเกิด สติสัมปชัญญะสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันไหม เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาโดยละเอียด พร้อมทั้งพิจารณาสภาพของจิตจริงๆ จึงจะรู้ว่า ความสงบในชีวิตประจำวันซึ่งมีปีติเจตสิกเกิดร่วมกับ โสมนัสเวทนาบ้างนั้น ยังไม่ใช่ขั้นไหนเลย ไม่ใช่เรื่องของการถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่สามารถรู้จักตัวเองได้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดว่า นั่งสักครู่หนึ่งก็จะถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌานได้

เป็นการยากที่จะแยกลักษณะของปีติกับสุขก็จริง แต่สามารถรู้ได้โดยการอุปมาว่า ปีติย่อมมีในเวลาที่บุคคลเหน็ดเหนื่อยในทางกันดาร ได้เห็นหรือได้ยินน้ำในป่า สุขย่อมมีในเวลาที่บุคคลนั้นเข้าไปสู่ร่มเงาในป่าและใช้สอยน้ำ ฉะนั้น ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ได้ขยายความต่อไปอีก เพื่อที่จะให้พิจารณาจนกระทั่งสามารถรู้ความต่างกันของปีติและสุขว่า

เหมือนอย่างว่า บุรุษเดินทางไกล กันดารมาก มีเหงื่อโทรมตัว มีความอยากกระหาย เวลาที่เห็นบุรุษอื่นเดินทางสวนมา ก็ถามว่า มีน้ำดื่มที่ไหนบ้าง ซึ่งบุรุษนั้นก็ตอบว่า ผ่านดงไปแล้วมีสระธรรมชาติและป่าสูง พอเขาได้ฟัง ย่อมจะมีจิตร่าเริงยินดี และเมื่อเดินต่อไปก็เห็นกลีบ ก้าน ใบ ดอกอุบล เป็นต้น ตกเกลื่อนที่แผ่นดิน ก็เป็นผู้มีจิตร่าเริงอย่างดี เพราะใกล้เข้าไปแล้ว และเมื่อต่อไปอีก ก็เห็นบุรุษมีผ้าเปียก ผมเปียก และได้ยินเสียงไก่ป่าและนกยูงป่าเป็นต้น เห็นแนวป่าเขียวเช่นกับข่าย แก้วมณีเกิดในที่เขตสระธรรมชาติ เห็นดอกอุบลและดอกโกมุทเป็นต้นซึ่งเกิดในสระ เห็นน้ำใสสะอาด

ลองคิดถึงความรู้สึกในขณะนั้น ยังไม่ได้บริโภคใช้สอยน้ำนั้นเลย แต่ในขณะที่เห็นนั้น รู้สึกยินดีร่าเริงสักแค่ไหน

เขาก้าวลงสู่สระ อาบดื่มตามชอบใจ ระงับความกระวนกระวายแล้ว เคี้ยวกินเหง้ารากใบบัวเป็นต้น ประดับดอกอุบลเขียวเป็นต้น เอารากบัวขาวพาดที่บ่า ขึ้นจากสระ นุ่งผ้า ตากผ้าที่แดด นอนอยู่ใต้ร่มเงาอันเย็น เมื่อลมอ่อนๆ โชยมาก็กล่าวว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้

คำอุปมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ พึงเห็นอย่างนี้ว่า ก็ปีติมีอาการร่าเริงยินดีในอารมณ์อันเป็นส่วนเบื้องต้น พึงเห็นเหมือนเวลาที่ร่าเริงยินดี นับตั้งแต่เวลาที่บุรุษนั้นได้ยินว่า มีสระธรรมชาติและแนวป่า จนกระทั่งถึงการเห็นน้ำ

ส่วนสุข ดำรงอยู่ด้วยการเสวยรสอารมณ์ที่ถึงแล้ว พึงเห็นเหมือนบุคคลอาบน้ำ ดื่มแล้ว จนกระทั่งถึงนอนรำพึงว่า สุขหนอ สุขหนอ ที่ร่มเงาไม้อันเย็น เมื่อลม อ่อนๆ โชยมากระทบ

เป็นการแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นไม่ได้มีความโศกเศร้าเสียใจหรือ โทมนัสเวทนาแทรกเลย เป็นความรู้สึกที่ปลาบปลื้มยินดีเป็นสุขจริงๆ แต่ทุกอย่างก็ชั่วขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสุขเวทนาที่เกิดร่วมกับปีติ ต่อไปขณะอื่นก็ต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นตามเหตุตามปัจจัย เพราะแม้เวทนาที่เป็นสุขก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนเป็นอุเบกขา และเปลี่ยนเป็นทุกข์หรือโทมนัสเวทนาได้

แม้บุรุษนั้นก็จะอยู่ที่นั่นตลอดไปไม่ได้ จะต้องเดินทางต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งสุขก็จะต้องสลับกับทุกข์ไปจนกว่าจะถึงมรณะ คือ ความตาย สิ้นสุดความเป็นบุคคลในชาติหนึ่งๆ แต่กว่าจะถึงวันตาย โทสมูลจิตคงจะเกิดขึ้นอีกมากมายใน วันหนึ่งๆ ซึ่งก็จะสั่งสมสืบต่อไปจนถึงชาติต่อๆ ไปอีก ถ้ายังไม่อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

อกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งแต่ละขณะแม้จะดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตขณะต่อๆ ไปเป็นอนุสัยกิเลส คือ เป็นกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น จะทำให้เกิดกิเลสนั้นๆ อีก แม้แต่โทสมูลจิตซึ่งเป็นความขุ่นใจแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่งๆ อย่างเช่น การรับโทรศัพท์ และเสียงโทรศัพท์ก็ฟังไม่ค่อยจะชัดเจน ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน นิดเดียว เล็กน้อย เป็นความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้วอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นโทสมูลจิต ความขุ่นใจ ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้วและดับไป และสะสมสืบต่อเป็นเชื้อนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน เป็นปัจจัยทำให้ โทสมูลจิตข้างหน้าเกิดอีกต่อๆ ไป

เพราะฉะนั้น แม้ความขุ่นใจเพียงเล็กน้อย ก็ต้องสังเกตพิจารณาและเห็นว่าเป็นโทษด้วย เพราะถ้าไม่ใช่ความขุ่นใจเพียงเล็กน้อย แต่เป็นความโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งความโกรธนั้นก็เป็นความโกรธที่ไม่ลืมและยังไม่ได้ลดน้อยลงเลย จะทำให้เป็นความผูกโกรธ เป็นชีวิตของแต่ละท่านซึ่งพระธรรมจะอนุเคราะห์ให้พิจารณา เห็นโทษ ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องของโลภะ ในเรื่องของโทสะ เพราะถ้าไม่เห็นโทษ จะไม่มีการละคลายและไม่มีการขัดเกลาเลย แต่ถ้าเห็นโทษจริงๆ และพิจารณาชีวิต ในวันหนึ่งๆ ให้ละเอียดขึ้นว่า ท่านยังมีลักษณะอาการของความโกรธตามที่ได้ทรงแสดงไว้มากน้อยแค่ไหน และมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาละคลายความโกรธนั้นหรือยัง แต่ต้องเห็นโทษและเห็นความละเอียดก่อน ซึ่งลักษณะของความโกรธต่างๆ แม้ความผูกโกรธ ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส ได้อธิบายลักษณะของความผูกโกรธว่า

บุคคลใดย่อมผูกโกรธไว้ในกาลก่อน ภายหลังความโกรธเกิดขึ้นอีก ดังนี้ ก็ชื่อว่าอุปนาหะ ความผูกโกรธ

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะพิจารณา โกรธใครแล้วไม่หมด และก็เกิดอีก และก็ยังโกรธบุคคลนั้นต่อไปอีก นั่นเป็นความผูกโกรธ

คำว่า อัฏฐปนา (ความตั้งไว้) ได้แก่ การตั้งความโกรธไว้ติดต่อกัน ของความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก

โกรธไม่จบ โกรธครั้งแรกอย่างไรก็ยังตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันกับความโกรธ อันเกิดขึ้นครั้งแรก

การตั้งความโกรธไว้ตามปกติ เรียกว่า การทรงไว้ซึ่งความโกรธ การตั้งความโกรธบ่อยๆ โดยส่วนทั้งปวง เรียกว่า ความดำรงความโกรธไว้ การไม่แสดงความแตกต่างกันแห่งความโกรธหลังกับความโกรธอันเกิดขึ้นก่อน แล้วทำไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน ชื่อว่าการสั่งสมความโกรธไว้

คือ ไม่ลดลงเลย ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปนานสักเท่าไร

ความสืบต่อความโกรธครั้งหลังกับด้วยความโกรธครั้งแรก ชื่อว่าความผูกพันความโกรธไว้

คำว่า ความยึดมั่นความโกรธ ได้แก่ การทำความโกรธให้มั่นคง

ผูกไว้แล้ว ทำให้มั่นคงด้วย

คำว่า อยัง วุจจติ ความว่า ลักษณะนี้ มีความผูกโกรธเป็นลักษณะ มีความไม่สละคืนซึ่งเวรเป็นรสะ พระผู้มีพระภาคตรัสลักษณะนี้ว่า อุปนาหะ ความผูกโกรธ ดังนี้ อธิบายว่า บุคคลผู้ประกอบความโกรธด้วยลักษณะใด ย่อมไม่อาจเพื่อสละเวร ชื่อเห็นปานนี้ บุคคลนี้ย่อมติดตามซึ่งความโกรธอื่นๆ อีก ด้วยลักษณะว่า บุคคลนี้ไม่สมควรพูดกับเราอย่างนี้ ดังนี้ ความโกรธของเขาย่อมลุกโพลงทีเดียวราวกับไม้สน อันไฟติดทั่วแล้ว ความโกรธนั้นไม่สะอาด เป็นราวกะหนังหมีอันบุคคลทำความสะอาดอยู่ และเป็นราวกะผ้าเก่าอันเปื้อนด้วยไขมัน

ทรงแสดงด้วยพยัญชนะต่างๆ เพื่อให้พิจารณาเห็นจริงๆ ว่า ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า

บางท่านอาจจะคิดว่า ทำไมต้องทรงแสดงไว้มาก ฟังแล้วรู้สึกซ้ำไปซ้ำมา หรือว่าคล้ายกันจนเกือบจะแยกไม่ออก แต่เทศนาที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมวิจิตรด้วยประการต่างๆ พร้อมด้วยคุณประโยชน์สำหรับอัธยาศัยของผู้ฟังต่างๆ กัน ถ้าพูดครั้งเดียวเท่านั้น ใครสามารถจะระลึกได้ ใครสามารถจะพิจารณาได้

เพราะฉะนั้น คำอุปมาเทศนาของพระผู้มีพระภาค ซึ่งวิจิตรด้วยพระคุณต่างๆ นั้น เหมือนกับการที่ให้เด็กทารกอาบน้ำ แต่งตัว ประพรมด้วยของหอม แป้งฝุ่น และยังเจิมหน้าด้วย ซึ่งเป็นการประดับที่เพิ่มเติมขึ้น แต่แม้กระนั้นการเจิมเพียง จุดเดียวก็ยังไม่พอ จึงต้องเจิมอีกหลายๆ จุด เพื่อส่งเสริมจุดที่เจิมไว้ให้เด่น หรือ ให้งามพร้อมขึ้น ฉันใด การที่ทรงแสดงข้อความโดยละเอียดทั้งหมดซึ่งฟังดูคล้ายๆ กัน แต่ความจริงก็เพื่อพิจารณาให้เห็นว่า ความโกรธที่เป็นความผูกพันไว้ก็มี

ทุกคนไม่อยากจะโกรธ เพราะโกรธแล้วเป็นทุกข์ เวลาไม่สบายใจก็เป็นทุกข์ เวลาโศกเศร้า เสียใจ ขุ่นเคืองใจก็เป็นทุกข์ ทุกคนไม่อยากจะมีความทุกข์ แต่ที่จะไม่มีความทุกข์ได้ ต้องพิจารณาให้ละเอียดถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าทุกข์นั้นจะเป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ หรือว่าทุกข์ใหญ่ ก็ต้องเกิดจากสาเหตุของทุกข์นั้น ซึ่งเหตุของ ความทุกข์ย่อมมาจากความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

ผู้ที่ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแล้ว จะ ดับโทสมูลจิตได้ แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ย่อมหนีทุกข์ไม่พ้น เพราะความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุทำให้โทสมูลจิตเกิดถ้าไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา

แต่เรื่องของโลภะเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะนอกจากจะเป็นสภาพที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามปกติในชีวิตประจำวันแลัว ยังมี อกุศลธรรมที่เกิดกับโลภะ เช่น ทิฏฐิเจตสิกและมานะเจตสิก เพราะฉะนั้น ทุกข์ย่อมเพิ่มขึ้นจากการยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้ามานะของคนนั้นแรงขึ้น ซึ่งก็ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ทุกข์หรือโทสมูลจิตเกิดเพิ่มขึ้นอีก เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

เปิด  235
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566