แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1377

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


นอกจากนั้น สามารถพิจารณา ด้วยสามารถธรรมดารูป คือ

ในรูปที่เนื่องด้วยอนินทรีย์ อันเป็นไปอยู่ในระยะกำหนดเป็นอันมาก มีหน่อแห่งต้นอโศกเป็นต้น รูปที่เป็นไปในระยะกำหนดนั้นๆ ไม่ถึงระยะกำหนดอื่นๆ ย่อมดับไปในระยะกำหนดนั้นๆ นั่นแล เพราะเหตุนั้น จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ท่านที่ชอบต้นไม้และพิจารณาดูการเจริญเติบโตของต้นไม้บ่อยๆ จะเห็นการเจริญเติบโตตั้งแต่เป็นหน่อจนกระทั่งเป็นลำต้น เป็นกิ่ง ก้าน ใบ ดอก ขณะนั้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับบ้างหรือเปล่า แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ควรพิจารณาความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้นและดับไปแม้ของรูปซึ่งไม่มีใจครอง เช่น รูปของต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ก็ไม่สามารถคงทนอยู่ได้ ต้องมีการเกิดดับเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ

เมื่อได้พิจารณาด้วยดี อบรมเจริญปัญญาด้วยดี ผล คือ

พิจารณาด้วยสามารถถอนทิฏฐิ ย่อมเห็นด้วยอำนาจการถอนเสียซึ่งทิฏฐิ เพราะมองไม่เห็นอัตตา ด้วยอำนาจอนัตตานุปัสสนา

การพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ สติเริ่มระลึก ปัญญาที่เจริญขึ้นจะต้องมีผล คือ สามารถถอนความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นอัตตา เพราะมองไม่เห็นอัตตาในสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏ ด้วยอำนาจอนัตตานุปัสสนา

พิจารณาด้วยสามารถเพิกเสียด้วยดีซึ่งมานะ ย่อมเห็นด้วยอำนาจการเพิกเสียด้วยดีซึ่งมานะ เพราะมองไม่เห็นความสูงส่งซึ่งมีมานะอยู่ ด้วยอำนาจ อนิจจานุปัสสนา

กิเลสทั้งหลายแม้แต่มานะ เวลาที่สภาพธรรมปรากฏโดยความไม่เที่ยงเลย ก็จะทำให้สามารถ เพิกเสียด้วยดีซึ่งมานะ ได้

พิจารณาด้วยสามารถระงับความใคร่ ย่อมเห็นด้วยอำนาจระงับความใคร่ เพราะมองไม่เห็นวัตถุที่ตนพึงปรารถนา ด้วยอำนาจทุกขานุปัสสนา

ถ้าประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป ยังจะปรารถนา สภาพธรรมอะไรอีกในขณะที่ประจักษ์ความจริงนั้น เพราะสิ่งที่เกิดและดับไปไม่ใช่ วัตถุที่น่าปรารถนา แต่เป็นการยากจริงๆ ที่จะเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งทั้งหลายซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้

นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาละเอียด เพราะถ้าถือว่าเราเห็น หรือว่าวิปัสสนาของเรา ดังนี้ ขึ้นชื่อว่าการถอนเสียด้วยดีซึ่งทิฏฐิยังไม่มี

เพราะฉะนั้น เพียงแต่สติระลึกลักษณะของนามธรรมรูปธรรมบ้างเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่สามารถถ่ายถอนกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกิเลสจะติดตามไปละเอียดขึ้นๆ แม้แต่ในขณะที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ใช่การรู้แจ้งพระนิพพานที่สามารถดับกิเลสได้ ขณะนั้นก็ยังเป็นเราเห็น เป็นวิปัสสนาของเรา ฉะนั้น จึงยังไม่ได้ดับซึ่งทิฏฐิเป็นสมุจเฉท แต่เพราะถือว่า สังขารเท่านั้นย่อมเห็นสังขาร ดังนี้ ชื่อว่าการถอนเสียด้วยดีซึ่งทิฏฐิย่อมมี

ในขณะนี้ไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่ละขันธ์ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งไม่เหมือนกันเลยในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสังขารขันธ์ของใครก็ตาม การคิดนึกของ แต่ละคนในขณะนี้ ย่อมเป็นไปตามการปรุงแต่งของการสะสมของแต่ละบุคคล

ถ้าท่านผู้ฟังเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่เกิดและดับไป และพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดจิตขณะนั้นขึ้นได้ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ปัจจัยนั้นช่างวิจิตรที่สามารถปรุงแต่งให้จิตนั้นเกิดขึ้นขณะหนึ่งและดับไป เพราะสิ่งอื่นไม่สามารถทำให้จิตเกิดได้เลยนอกจากปัจจัยที่ทำให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ

ผู้ที่ถือว่า เราเห็นด้วยดี เราเห็นด้วยใจ ดังนี้ ยังชื่อว่าเพิกถอนมานะไม่ได้ แต่เพราะถือว่า สังขารเท่านั้นย่อมเห็นสังขาร ดังนี้ การเพิกถอนมานะย่อมมี

ผู้ที่ยังชื่นชมวิปัสสนาอยู่ว่า เราสามารถเห็น ดังนี้ ชื่อว่ายังระงับความใคร่ไม่ได้ แต่เพราะถือว่า สังขารเท่านั้นย่อมเห็นสังขาร ดังนี้ ชื่อว่าระงับความใคร่ไว้ได้

เรื่องที่จะละ คลาย ระงับ ดับกิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ แม้ปัญญาจะเกิดขึ้นบ้างเพียงเล็กน้อยแล้ว ก็ยังมีความสำคัญตน หรือว่ายังมีความพอใจในการที่ปัญญาขั้นนั้นๆ เกิด ซึ่งเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้การดับกิเลสเนิ่นช้าต่อไปอีก

สำหรับเรื่องของทุกข์ ตั้งแต่การเกิดจนกระทั่งเจริญเติบโตถึงวัยต่างๆ แม้การพิจารณาขณะที่แล ขณะที่เหลียว ขณะที่ก้าว ขณะที่คู้ ขณะที่เหยียด ขณะที่หิว ขณะที่อิ่ม ขณะที่ร้อน ขณะที่หนาว ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ก็ยังต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า แม้โทสมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลธรรมก็เกิดขึ้นเพราะโลภะหรือราคะเป็นมูลเป็นปัจจัย คือ ตราบใดที่ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์หรือโทมนัสขึ้นได้ในวันหนึ่งๆ

ท่านที่เคยบอกว่าวันหนึ่งๆ ท่านมีโลภะน้อย แต่เมื่อได้พิจารณาเรื่องของโลภะแล้วก็เห็นว่า วันหนึ่งๆ หลีกเลี่ยงโลภะไม่ได้เลย เต็มไปด้วยโลภะมากมายจริงๆ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ก็ควรพิจารณาเรื่องของโทสมูลจิตต่อไปอีกเพื่อจะได้ทราบว่า ที่ท่านเคยเข้าใจว่าไม่ค่อยจะมีโทสะเท่าไร หรือว่าโทสะของท่านวันหนึ่งๆ ไม่มากนัก เป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่

ท่านที่ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ปกติวันหนึ่งๆ ที่ตื่นขึ้น ทันทีที่ตื่นและเห็น หรือว่าคิดนึก ก็เป็นไปด้วยโลภะ เป็นของธรรมดาก็จริง แต่ในบางวัน เวลาที่ตื่นขึ้น ความหมกมุ่น ความกังวล ความห่วงใย ความเดือดร้อนใจหรือว่าความขุ่นข้องหมองใจซึ่งมีอยู่ เพราะเหตุการณ์ในชีวิตอาจจะทำให้ตื่นขึ้นมาด้วยความกังวลในขณะนั้นก็ย่อมเป็นไปได้ เนื่องจากว่า ผู้ที่ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จะไม่พ้นไปจากโทสะ ซึ่งเป็นลักษณะของความกังวล

และการที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นโทสมูลจิต ขณะใดเป็นโลภมูลจิต บางทีการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วทำให้ยากที่จะบอกได้ว่า ขณะใดเป็นโลภมูลจิต ขณะใดเป็น โทสมูลจิต แต่ถ้าสังเกตความรู้สึกคือเวทนาจะรู้ได้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด

ขณะที่ตื่นมาแล้วขุ่นข้องหมองใจ เดือดร้อน กังวล ความรู้สึกเป็นอย่างไร ไม่สบาย เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ไม่ต้องถามใคร หรือไม่ต้องให้ใครบอกว่า นี่เป็น โลภมูลจิต หรือนี่โทสมูลจิต แต่สามารถพิจารณาจากความรู้สึกซึ่งเป็นเวทนาเจตสิกได้ คือ ถ้าขณะใดไม่สบายใจ ไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต

เวลาที่ตื่นและต้องบริหารร่างกาย ดูแลความสะอาด ตั้งแต่เข้าห้องน้ำ ด้วยโลภมูลจิต แต่โทสมูลจิตติดตามไปบ้างหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่พิจารณาเห็นได้

ถ้าจะบอกว่าไม่ค่อยมีโทสะ แต่ขอให้พิจารณาจริงๆ แม้แต่ในการที่จะดูแลบริหารร่างกายในวันหนึ่งๆ ว่า มีโทสมูลจิตบ้างไหม ตั้งแต่เข้าห้องน้ำ

ถ้ากระจกไม่ใส น้ำไม่ไหล ท้องไส้ไม่สะดวก เริ่มแล้วใช่ไหม โทสมูลจิตหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ต้องรู้จริงๆ ว่า ไม่พ้นไปจากโลภะบ้าง โทสะบ้าง

ถึงเวลาแต่งตัว เสร็จธุระเรื่องห้องน้ำแล้ว โลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะบางท่านเสื้อดีๆ ก็ถูกไฟไหม้ ที่ปกบ้าง ที่แขนบ้าง ขณะนั้นทันทีที่เห็นความรู้สึกเป็นอย่างไร อาจจะไม่ถึงกับโกรธมาก เพราะเป็นผู้ที่อบรมเจริญธรรม แต่ความไม่พอใจมีหรือเปล่า ขณะใดที่มีความไม่พอใจหรือความรู้สึกไม่สบายแม้เพียงเล็กน้อย สังเกตได้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลจิต และยังจะเรื่องของหน้าตาผมเผ้า ผมสั้นไป ยาวไป ก็เป็นเรื่องของโลภะบ้าง โทสะบ้าง สลับกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าสังเกตจะรู้ว่าขณะใดที่ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ แม้เพียงฝุ่นนิดเดียว ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้โทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่พอใจและโทสมูลจิตเกิดแล้ว ไม่ต้องถึงกับต้องมีความโกรธอย่างรุนแรง เพียงแต่เริ่มที่จะเห็นความไม่สบายใจ หรือว่าลักษณะของโทสมูลจิตแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ความขุ่นใจต่างๆ

เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร มีโทสมูลจิตไหม หรือจะมีแต่เฉพาะโลภมูลจิต อาหารร้อนไปมีไหม เย็นไปมีไหม เผ็ดไป เค็มไป เปรี้ยวไป จานบิ่น ช้อนหัก ตู้เย็นไม่สะอาด โทรศัพท์ขัดข้อง

ขอให้พิจารณาความรู้สึกในขณะนั้นจริงๆ ว่า เริ่มรู้จักลักษณะของโทสมูลจิตละเอียดขึ้นแล้วหรือยัง ตลอดจนกระทั่งกว่าจะถึงที่ทำงาน สำหรับท่านที่ยังทำธุรกิจอยู่ ตั้งแต่ออกจากบ้านไป รถติด ขยะ สุนัขถูกรถทับ หรือเมื่อถึงที่ทำงานแล้ว เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องอัดเทปขัดข้องต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นผู้รู้ลักษณะของจิตว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะไม่ให้เกิดความขุ่นใจเมื่อประสบกับอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจต่างๆ ก็ไม่ได้

มีท่านผู้หนึ่ง ท่านเคยคิดว่า ท่านฟังเทปธรรมในขณะที่ขับรถไม่ได้ ถ้าจะฟังธรรมก็อยากฟังเวลาที่สะดวกใจจริงๆ ไม่ใช่เวลาที่ขับรถอยู่ในท้องถนน เพราะการฟังธรรมของท่านนั้น ท่านต้องตั้งใจฟัง ท่านคิดว่าประโยชน์จะมีเฉพาะในขณะที่ตั้งใจฟัง

แต่ความจริงแล้ว แม้จะขับรถก็ฟังธรรมได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ เพราะแทนที่จะรับฟังเสียงอื่น เช่น อาจจะฟังข่าว หรือว่าฟังเพลง หรืออาจจะได้ยินเสียงรถข้างนอก เพียงเสียงที่ไม่น่าพอใจนิดเดียว โทสมูลจิตก็เกิดแล้วโดยยับยั้งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะให้จิตเป็นไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ ถ้าในขณะนั้นหูได้ยินเสียงของธรรมจะทำให้เกิดประโยชน์ เพราะในขณะนั้นจิตเป็นกุศล อาจจะทำให้ ไม่โกรธเคืองผู้อื่นซึ่งขับรถไม่เป็นไปตามกฎจราจรก็ได้ หรือว่าอาจจะไม่สนใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งคนอื่นคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะโกรธหรือว่าควรจะสนใจ เพราะขณะที่ฟังพระธรรม และพิจารณาบ้าง ได้ยินบ้าง แม้จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่เหมือนใน เวลาอื่น แต่ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล สามารถสงบระงับได้ ถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้น

เหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ตาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจบ้าง หูได้ยินเสียงอื่นบ้าง แทนที่จะใส่ใจสนใจในเรื่องอื่นๆ อย่างมาก ก็เปลี่ยนอารมณ์มาที่เสียงที่มากระทบทางหูซึ่งเป็นธรรม ก็จะทำให้กุศลจิตเกิด

นี่คือการอบรมเจริญกุศลในชีวิตประจำวันที่จะระงับโทสะ คือ ความขุ่นเคืองใจ ด้วยการอบรมเจริญเมตตา หรือความไม่โกรธ เพราะการที่จะให้จิตสงบระงับถึงขั้นสมถภาวนาที่เป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต จะต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ไม่คิดนึกอารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบทางใจ โดยที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่รับรู้อารมณ์อื่นใดทั้งสิ้น

แต่ทุกคน ชีวิตจริงๆ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต้องคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้กลิ่น สิ่งที่ลิ้มรส สิ่งที่กระทบสัมผัสอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หลีกเลี่ยงชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วขณะ โดยไม่อบรมเจริญความสงบ หรือไม่อบรมเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะทุกคนยังต้องเห็นอยู่เรื่อยๆ ทุกชาติไป ไม่มีทางที่จะดับการเห็นได้ ไม่ว่าจะไปสู่ภพภูมิไหนก็ตาม ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เมื่อยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการเกิด มีชีวิตอยู่ในกามภูมิ

เป็นเรื่องที่ควรอบรมการที่จะไม่โกรธในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในเพศของบรรพชิตหรือว่าในเพศของคฤหัสถ์ เพราะชีวิตของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตย่อมเหมือนกัน ต้องมีการบริหารร่างกายเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตก็เกิดได้ ไม่ว่าจะในวัดหรือนอกวัด ในวัดก็ต้องมีการเช็ดปัดกวาดถู ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยไม่สกปรก สะอาดดี จะต้องเช็ดไหม จะต้องปัด จะต้องกวาด จะต้องถูไหม

และขณะใดที่จะเช็ด ก่อนจะเช็ด จิตเป็นอะไร ในขณะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจที่จะต้องเช็ด เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความขุ่นเคืองเล็กน้อย ถ้าผู้ใดรู้ก็จะเห็นโทษ และอบรมกุศลเพื่อขัดเกลาแม้อกุศลเพียงเล็กๆ น้อยๆ

สำหรับนอกวัด พระภิกษุก็เช่นเดียวกับคฤหัสถ์ที่จะต้องเห็นอนิฏฐารมณ์ต่างๆ แม้ว่าท่านเป็นผู้ที่สละเพศฆราวาสแล้ว เช่น ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต พรรณนาอภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร แสดงถึงการละคลายความสำคัญตนของภิกษุเมื่อสละเพศฆราวาสแล้ว มีข้อความว่า

คำว่า ปรปฏิพัทธา เม ชีวิกา ความว่า บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ความว่า ก็เมื่อบรรพชิตพิจารณาอย่างนี้ว่า การเลี้ยงชีวิตด้วยปัจจัย ๔ ของเราเนื่องในผู้อื่นทั้งหลาย เพราะต้องเนื่องด้วยผู้อื่น ดังนี้ อิริยาบถย่อมสมควรแก่สมณะ การเลี้ยงชีพย่อมบริสุทธิ์ และเป็นผู้บิณฑบาต อันบุคคลถวายด้วยความเคารพ ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าบริโภคโดยมิได้พิจารณาใน ปัจจัย ๔

ชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ พิจารณาแม้อิริยาบถที่สมควร ชีวิตที่ต่างกันของคฤหัสถ์กับบรรพชิต คฤหัสถ์แม้แต่อากัปกิริยาอาการอิริยาบถต่างๆ ก็เป็นไปตามกำลังของโลภะ โทสะ จะแสดงอาการของโลภะอย่างไรก็ได้ จะแสดงอาการของโทสะอย่างไรก็ได้ แต่สำหรับบรรพชิตที่ท่านพิจารณาอย่างนี้ว่า การเลี้ยงชีวิตด้วยปัจจัย ๔ ของเราเนื่องในผู้อื่นทั้งหลาย เพราะต้องเนื่องด้วยผู้อื่น ดังนี้ อิริยาบถย่อมสมควรแก่สมณะ ต้องเป็นผู้ที่กุศลจิตเกิด เป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาแม้อิริยาบถของตน เพราะแม้ชีวิตของท่านก็ต้องอาศัยผู้อื่น เพราะฉะนั้น อิริยาบถจะต้องสมควรแก่ ความเลื่อมใสด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า อัญโญ เม อากัปโป กรณีโย แปลว่า อากัปกิริยาอย่างอื่นที่เราควรทำ มีอยู่ ความว่า บุคคลใดนำเอาความรู้สึกในอกของความเป็นคฤหัสถ์มาแล้วเชิดคอไว้ เป็นผู้ย่างก้าวไปโดยไม่มีที่กำหนด ด้วยท่วงท่าที่สง่างาม ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีอากัปปะในการเดิน อากัปปะอื่นจากอากัปปะนั่นแหละที่เรา (บรรพชิต) ควรทำ คือ ควรพิจารณาว่า เราพึงเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ มีตาทอดลงมองดูเพียงชั่วแอก เดินไป เหมือนอย่างการย่างก้าวไปของนายนันทมิตรผู้ขับเกวียนบรรทุกน้ำ เดินไปบนพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ ฉะนั้น

นี่คือความต่างกันของผู้ที่เพียรที่จะอบรม หรือว่าขัดเกลา เจริญกุศล และอากัปกิริยาการเดินของบรรพชิตก็ต่างกับคฤหัสถ์ เพราะว่า บุคคลใดนำเอาความรู้สึกในอกของความเป็นคฤหัสถ์มาแล้วเชิดคอไว้ เป็นผู้ย่างก้าวไปโดยไม่มีที่กำหนด ด้วยท่วงท่าที่สง่างาม ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีอากัปปะในการเดิน นี่คือท่าเดินของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นที่พอใจของคฤหัสถ์ แต่สำหรับบรรพชิตแล้ว อากัปปะอื่นจากอากัปปะนั่นแหละ ที่เรา (บรรพชิต) ควรทำ คือ เป็นผู้สงบเสงี่ยมในการเดิน และเป็นผู้ที่ระมัดระวังใน การเดิน จะเดินเชิดคอให้งามสง่าอย่างคฤหัสถ์ก็ไม่ได้ ไม่ใช่อากัปกิริยาของบรรพชิต

แต่แม้กระนั้นชีวิตของบรรพชิตที่สงบอย่างนี้ ก็ยังได้รับอนิฏฐารมณ์ต่างๆ เพราะบางคนก็ด่า บริภาษ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด และบางคนก็เรียกท่านว่า คนถ่อยบ้าง หรือสมณะโล้นบ้าง

เพราะฉะนั้น การเกิดโทสมูลจิตของผู้ที่มีความเห็นผิด แม้เห็นอากัปกิริยาที่เหมาะสม แต่เมื่อสะสมความโกรธก็ไม่พอใจในอากัปกิริยาอาการอย่างนั้นได้ หรือสำหรับผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตเอง แม้ว่าจะเป็นผู้ที่สงบเสงี่ยมด้วยกาย ด้วยวาจา ละเพศของคฤหัสถ์แล้ว แต่ยังได้รับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับท่านว่า จะสามารถ ระงับความไม่พอใจ ความรู้สึกไม่สบายใจในขณะนั้นได้หรือไม่ เพราะท่านเป็นผู้ที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา

แสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ว่าจะมีกายวาจาอย่างไร ก็ต้องมีการประสบกับอนิฏฐารมณ์ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่พอใจได้ ฉะนั้น ควรพิจารณาว่า เป็นผู้ที่โกรธ มากไหมในวันหนึ่งๆ เหมือนกับที่ว่าเป็นผู้ที่โลภบ่อยไหมในวันหนึ่งๆ

เปิด  221
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565