แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1378

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


. ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งนอนหลับไป การระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นโทสะ เป็นโลภะ เกิดอกุศลจิต โดยไม่มีตัวไม่มีตน เป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม

สุ. ใช่

. ถ้าระลึกรู้ว่า ขณะนั้นจิตเกิดอกุศล แต่ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ เรายังโกรธ เรายังโลภ เรายังหลงอยู่ สติที่ระลึกรู้นั้น ถือว่าเป็นสติไหม

สุ. ขณะที่โกรธ เป็นขณะที่เป็นอกุศล แต่ขณะที่ระลึกลักษณะที่โกรธ และพิจารณาอาการโกรธว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่มีอะไรปรากฏในขณะนั้นนอกจากอาการโกรธ ถ้าสติระลึกที่ลักษณะขณะที่โกรธจริงๆ แต่เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก รวมทั้งสติที่เกิดขึ้นก็ดับไปอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นเป็นขณะที่หลงลืมสติก็ได้ หรือเป็นขณะที่คิดนึกเรื่องของความโกรธก็ได้ เพราะฉะนั้น มีกุศลหลายขั้น คือ ขั้นคิด ขั้นพิจารณา แต่ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ กับขั้นที่ปรุงแต่งเป็นสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเห็นในสภาพที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องสลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ จะมีแต่สติปัฏฐานอย่างเดียวโดยตลอด ต้องเป็นสติพละ เพราะได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมามาก พอที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ตลอดทั้ง ๖ ทวาร

. การเจริญกุศลในชีวิตประจำวันให้มากขึ้นๆ จะเป็นปัจจัยทำให้ สติปัฏฐานเกิดขึ้น ใช่ไหม

สุ. การฟังพระธรรม และเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง

. เนื่องจากผมยังไม่ได้เรียนพระอภิธรรม เพียงแต่ทราบว่า โทสมูลจิต คือ ความขุ่นข้อง ความโศกเศร้า ความไม่สบายใจ ความหงุดหงิด ส่วนโลภะ คือความอยาก ความต้องการ การที่ผมรู้แค่นี้ โดยไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด ถือว่าเป็นการเข้าใจถูกไหม

สุ. พระอภิธรรม คือ ธรรมส่วนละเอียด ซึ่งไม่พ้นจากนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา คือ การศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่สติระลึก ถ้าเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ต้องขยายไปถึงพระอภิธรรมให้ละเอียดขึ้นไปอีก เพราะในขั้นต้นของการปฏิบัติที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น จะต้องระลึกและศึกษาลักษณะของนามธรรมว่า ต่างกับลักษณะของรูปธรรม ยังไม่ต้องไปถึงความละเอียดใดๆ ยิ่งขึ้นในพระอภิธรรม

. ในขั้นต้นผมทราบอย่างคร่าวๆ ว่า สีเป็นรูป จากการอ่านหนังสือ หรือสภาพที่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสี คือ นามธรรม หรือความรู้สึกโกรธ เป็นนามธรรม จากความเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ เพียงพอที่จะน้อมใจมาพิจารณาเรื่องโลภะ โทสะ หรือเรื่องนามธรรม รูปธรรม ได้ไหม

สุ. ถ้าเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมดีจริงๆ พยายามให้ซึ้งลงไปว่า นามธรรมที่เป็นธาตุรู้อาการรู้คืออย่างไร เพียงแต่สนใจจริงๆ ในลักษณะที่เป็นนามธรรม และหมั่นระลึกถึงธรรมในเรื่องของนามธรรมที่ได้ฟัง ในเรื่องของรูปธรรม ที่ได้ฟัง เช่น ในขณะที่เห็นในขณะนี้ ถ้าสติสามารถระลึกและศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือ การที่จะรู้อภิธรรมซึ่งจะละเอียดขึ้น เพราะลักษณะของนามธรรมมีหลายอย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว

ทางตา นามธรรมมี รูปธรรมปรากฏ คือ สีสันวัณณะต่างๆ ทางหู นามธรรมได้ยิน ทางใจ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น แม้ความรู้สึก ถ้าขณะนี้ยืนอยู่ และมีศพตั้งอยู่ ศพไม่โกรธ ใช่ไหม แต่ลักษณะโกรธที่กำลังโกรธเป็นลักษณะสภาพของนามธรรม เพราะศพมีรูป แต่ไม่มีนาม แต่ไม่จำเป็นต้องเทียบเคียงถึงอย่างนั้น

ถ้ายังนึกไม่ออกจริงๆ ว่า นามธรรมเป็นอย่างไร ก็ค่อยๆ คิดไป พิจารณาไป จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งต่างจากรูป นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นต้น

ความโกรธ คนที่ตายแล้วไม่มี ศพไม่มี หิว ศพไม่มี เพราะฉะนั้น ลักษณะใดที่ศพไม่มี ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม โดยที่ไม่มีรูปร่างเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่นามธรรมชนิดใดชนิดหนึ่งกำลังมี ก็น้อมไปศึกษาลักษณะที่กำลังมีนั้นว่า เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้

. ขณะที่เข้าใจสภาพรู้ใหม่ๆ เราต้องน้อมใจตามไปไหมว่า กำลังมีความรู้สึกอย่างไร เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

สุ. ถ้าโดยชื่อไม่ยาก ใช่ไหม บอกได้หมดเลยทุกทวารว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม นั่นโดยชื่อ

ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า การเข้าใจสภาพธรรมโดยชื่อ ไม่พอ แต่การเข้าใจสภาพธรรมโดยชื่อ คือ โดยการศึกษา จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามที่เคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ อย่างเรื่องเห็น หรือเรื่องได้ยิน ได้ยินบ่อยๆ ไม่พอ โดยชื่อ ต้องในขณะนี้ที่สติจะระลึกและศึกษาลักษณะของนามธรรมที่เห็น นามธรรมที่ได้ยิน นั่นคือสติระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

ค่อยๆ อบรมไปจริงๆ เพราะการรู้แล้วกับการที่ยังอบรมอยู่ต้องต่างกัน ใช่ไหม

แต่ส่วนมากจะข้องใจ เพราะคิดถึงลักษณะของปัญญาที่รู้แล้ว เนื่องจาก ผู้ที่รู้แล้วเป็นผู้ที่ทรงแสดงสภาพธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม แต่ผู้ที่ยังไม่รู้ ก็ข้องใจนักหนาจริงๆ ว่า ผู้ที่รู้แล้วจะรู้ลักษณะของนามธรรมได้อย่างไร จะรู้ลักษณะของรูปธรรมได้อย่างไร เช่น ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่วัตถุใดๆ เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏกับผู้ที่มีจักขุปสาทเท่านั้นเอง

ก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ และระลึกได้บ่อยๆ ในขณะที่ระลึกได้ ก็น้อมไปที่จะเข้าใจให้ตรงในลักษณะอาการของสภาพรู้ ธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ เป็นหนทางเดียว ไม่มีหนทางอื่น

บางท่านซึ่งไม่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาเลย ท่านคิดว่า ทำวิธีไหนก็ได้ ทำสมาธิก่อนและปัญญาจะเกิดขึ้นเอง รู้แจ่มแจ้งขึ้นมาเอง หรือเมื่อทำสมาธิแล้ว ก็จะยกขึ้นสู่การรู้แจ้งสิ่งที่ปัญญารู้ ซึ่งถ้ากล่าวอย่างนั้น แสดงว่า ไม่รู้เลยว่าปัญญา รู้อะไร

ปัญญารู้เห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามความเป็นจริง ปัญญารู้ได้ยินที่กำลังได้ยินในขณะนี้ตามความเป็นจริง ถ้าสติไม่ระลึกก่อน และปัญญาไม่น้อมไปศึกษาพิจารณาจนค่อยๆ รู้ขึ้น เมื่อไรจึงจะรู้

การทำสมาธิ โดยที่ไม่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และหวังว่าจะรู้เห็นที่กำลังเห็นได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

การที่จะรู้สภาพธรรมของเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ได้ ต้องเมื่อสติระลึกขณะที่กำลังเห็นตามปกติ เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยตามควร

การสะสมของปัจจัย เป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ เหมือนอย่างผู้ที่ สติระลึกแล้ว ผลยังไม่เกิดสักทีหนึ่ง คือ ยังไม่ประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งท่านผู้นั้นลืมคิดไปว่า ถ้าท่านเห็นด้ามมีดที่ยังไม่สึก และทำอย่างไรด้ามมีดนั้นจะสึก ถ้าจับเพียงครั้งเดียว สองครั้ง ด้ามมีดก็ไม่สึกไปได้ ก็เหมือนกับการที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ปัญญาประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเพียงประการเดียว ที่จะต้องเข้าใจให้ตรง และสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นสัจธรรม

. อาจารย์กล่าวว่า การอบรมเจริญปัญญา ให้สติระลึกรู้ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ และให้พิจารณาว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำว่า ควรจะระลึกอย่างไร หรือพิจารณาอย่างไรในขณะที่เห็น จึงจะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

สุ. ศพไม่เห็นนั่นแหละ ซากศพไม่เห็น แต่เห็นมี เพราะฉะนั้น เห็นในขณะนี้ ...

. ศพไม่เห็นแน่ๆ แต่ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานก็มีเห็น ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ต้องการที่จะรู้ว่า พิจารณาอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

สุ. ซากศพมีรูป แต่ไม่มีเห็น เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ต่างจากรูป

. โดยการศึกษาเห็นด้วย เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ขณะที่สติเกิดขึ้น พิจารณาอย่างไรจึงจะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

สุ. ก็อย่างนี้แหละ สภาพรู้มี นี่คือความต่างกันของซากศพ กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

. การเจริญสติที่ระลึกนามรูป เช่น หิว ความรู้สึกว่าหิวคงจะเป็นนาม แต่สิ่งที่ทำให้หิวคงจะเป็นรูป เรียนถามว่า สิ่งที่ทำให้หิว เป็นรูปปรมัตถ์อะไร

สุ. เวลาหิว และสติเกิด จะระลึกลักษณะของรูป ได้ไหม

. ผมคิดว่า หิวเกิดจากมหาภูตรูปต่างๆ เกิดขาดแคลนขึ้น ก็ส่งผลไปกระทบให้หิว ความรู้สึกก็เข้าไปจับ ...

สุ. นั่นเป็นเรื่อง

. เป็นความรู้สึก ความรู้สึกนี้ ก็ใช้ไม่ได้

สุ. นั่นเป็นเรื่องที่ว่า ความหิวเกิดจากอะไร แต่เวลาสติระลึกจริงๆ เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังละคลายความเป็นตัวตนโดยไม่ต้องนึกถึงเรื่อง เพราะถ้ามี เรื่องหนึ่งเรื่องใดแทรกจะเป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น การที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ถ้าขณะนั้นไม่มีเรื่องใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะนั้นจะศึกษาเฉพาะลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ความหิว ทุกคนมี ในขณะที่เกิดหิว สติปัฏฐานระลึกลักษณะของนาม ได้ไหม สติปัฏฐานระลึกลักษณะของรูปได้ไหม ทางไหน ทางตาก็ได้ ขณะที่หิวก็เห็น ทางหูก็ได้ ขณะที่หิวก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้ ถ้าขณะนั้นมีกลิ่นปรากฏ ทางลิ้น กำลังหิวและบริโภคอาหารรสก็ปรากฏได้ ทางกายกระทบสัมผัสได้ ทางใจคิดนึกได้ เพราะฉะนั้น อย่าเจาะจงรูป หรืออย่าคิดเรื่องรูป ถ้ามีความคิดเรื่องรูป จะมีความสำคัญหมายในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะนึกถึงรูปที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน สิ่งที่เคยมีปรากฏที่ประชุมรวมกันให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะไม่เหลือเลย จะเหลือแต่ลักษณะของรูปๆ เดียวที่กำลังปรากฏ มีลักษณะอย่างเดียว อย่างหนึ่งอย่างใด จน ไม่สามารถจะยึดถือได้ว่าเป็นเรา

แข็งนิดเดียวปรากฏ ลืมคนในห้องนี้ทั้งหมด ลืมศีรษะตลอดเท้าทั้งหมด เพราะมีแต่แข็งที่ปรากฏ

ตราบใดที่ยังไม่เพิกอิริยาบถ ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต้องมี และทุกคนยังเพิกอิริยาบถยังไม่ได้ ถ้าสติปัฏฐานไม่มั่นคงจริงๆ โดยไม่หวั่นไหวว่า เฉพาะแข็งปรากฏ อย่างอื่นไม่มีเลย

เพราะฉะนั้น รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วอย่างรวดเร็ว มีแต่ความทรงจำ อย่างที่ดิฉันเคยเรียนถามว่า มีฟันไหม ท่านผู้ฟังมีฟันไหม มีหรือไม่มี

มีเมื่อไร จำไว้ว่ามี เป็นความจำตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีคิ้ว มีตา มีจมูก มีแขน มีขา มีสมอง มีหัวใจ มีตับ มีปอด มีม้าม นี่เป็นเรื่องของความทรงจำ แต่ ไม่มีลักษณะใดๆ ปรากฏ

เพราะฉะนั้น เรา มี มีความเป็นตัวตน มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จนกว่าแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ ฟันอยู่ที่ไหน ท้องไส้แขนขาอยู่ที่ไหน จำไว้ ใช่ไหม ก็ยังไม่เพิกอิริยาบถ

การที่จะเห็นทุกขลักษณะ อนิจจลักษณะ อนัตตลักษณะได้ จะต้องเห็นสภาพความเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้ายังมีความทรงจำว่า เรายังมีฟันอยู่ คิดดูดีๆ ว่า มีเมื่อไร ไม่ปรากฏเลยถ้าไม่กระทบสัมผัส ถ้ากระทบสัมผัสอะไรปรากฏ แข็งปรากฏ แต่ยังจำไว้ว่าเป็นฟัน ใช่ไหม ลักษณะที่แข็งนั้นเมื่อปัญญาเจริญแล้ว จะประจักษ์การเกิดดับทันทีของแข็งที่กำลังปรากฏ และมีแต่แข็งเท่านั้น ไม่ใช่ฟัน ไม่ใช่ผม ไม่ใช่เล็บ ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลย เป็นแต่เพียงลักษณะที่ปรากฏและดับไป จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ต้องถามตัวเองอยู่เสมอ มีอะไรบ้าง ถ้ายังมีอยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็หมายความว่า ยังมีความทรงจำว่า มี แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ลองพิสูจน์ดู

. เวลาเราอ่านหนังสือมากๆ จะรู้สึกปวดหัว ถ้าเราระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงนามธรรม สภาพความปวดหัวจะหายไปไหม

สุ. ต้องการให้หายหรืออย่างไร

. ถ้ากำลังของสติมีมาก ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงนามธรรมอย่างหนึ่ง สุ. ขอทราบจุดประสงค์ว่า ต้องการอะไร

. ต้องการรักษาให้หาย

สุ. นี่คือจุดประสงค์ที่ถาม แต่การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เพื่อให้หาย แต่เพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้ามีปัจจัยที่จะให้ความปวดนั้นเกิดขึ้น ความปวดนั้นก็ต้องเกิด จะไปยับยั้งไม่ได้ แต่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทำวิปัสสนาหรือว่าอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้หายปวดหัว ถ้าทำอย่างนั้นไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดเลย เพราะว่าพอใจที่จะหายปวดหัว ไม่ใช่ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

. หมายความว่า ถ้ามีเหตุปัจจัย ก็จะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่

สุ. แน่นอน

. ให้เราเรียนรู้ในขณะนั้นว่า เป็นลักษณะแบบไหน และปล่อยวาง

สุ. เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง อย่าหวังผลอย่างอื่น โดยมากมักจะหวัง ผลพลอยได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าสติระลึกจริงๆ อย่าลืมว่าไม่มีอะไร อย่าให้อย่างอื่นมาปะปนกับลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็นการอบรม เจริญสติปัฏฐาน เพราะมีลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏแต่ละอย่าง และเพียงเล็กน้อยนิดเดียว

เปิด  237
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565