แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1382

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๗


ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส สารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ข้อ ๙๗๔ มีว่า

ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติ ชอบใจ พึงทำลายความเป็น ผู้กระด้างในสพรหมจารีทั้งหลาย พึงกล่าววาจาอันเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจา เกินขอบเขต ไม่พึงคิดเพื่อธรรมคือการว่ากล่าวซึ่งชน

ชีวิตประจำวันไม่มีใครอยากจะติคนอื่นเลย เพราะรู้ว่าถ้าติแล้วก็โกรธ หรือ ไม่พอใจ แต่ผู้ที่ถูกติควรจะเห็นคุณของผู้ที่ติว่า ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของผู้นั้นแล้ว จะเตือนหรือจะติไหม เพราะการติหรือการเตือนไม่ใช่ง่ายอย่างกับการชมหรือสรรเสริญ และต้องเป็นผู้ที่รู้จักบุคคลนั้นพอที่จะรู้ว่า จะสงเคราะห์ด้วยการติหรือการเตือนได้ไหม ถ้าสงเคราะห์ไม่ได้ จะไม่มีการติหรือการเตือนเลย เพราะไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับผู้ที่ถูกติ ขอให้ทุกคนพิจารณาด้วยตัวเองว่า ถ้ามีใครติหรือใครเตือน ความรู้สึกของท่านในขณะนั้นเป็นอย่างไร และข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในเรื่องของการถูกติ หรือการถูกตักเตือนนั้นเป็นอย่างไร

ข้อความต่อไปมีว่า

ข้อ ๙๗๕

คำว่า ถูกตักเตือน ในคำว่า ภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจาพึงเป็นผู้มีสติชอบใจ ความว่า พระอุปัชฌายะ พระอาจารย์ พระเถระปูนอุปัชฌายะ พระเถระปูนอาจารย์ มิตรผู้ที่เคยเห็นกัน ผู้ที่เคยคบกันมา หรือสหาย ตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุ กรรมนี้ ไม่ควรแก่ท่าน กรรมนี้ยังไม่ถึงแก่ท่าน กรรมนี้ไม่เหมาะแก่ท่าน กรรมนี้ไม่งดงามแก่ท่าน ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้น พึงเข้าไปตั้งสติ ยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ซึ่งความตักเตือนนั้น

เหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นสาวเป็นหนุ่ม กำลังเจริญ ชอบแต่งตัว อาบน้ำ ดำเกล้าแล้ว ได้พวงมาลัยดอกบัวก็ดี พวงมาลัยดอกมะลิก็ดี พวงมาลัยดอกลำดวน ก็ดี รับด้วยมือทั้งสองแล้วเอาวางไว้บนศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสูงสุด พึงยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ฉันใด ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้น พึงเข้าไปตั้งสติ ยินดี ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ซึ่งความตักเตือนนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

บุคคลเห็นผู้ใด ผู้แสดงโทษ กล่าวข่มขี่ มีปัญญาว่า เป็นเหมือนบุคคล ผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบหาบุคคลเช่นนั้นผู้เป็นบัณฑิต เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้นมีแต่คุณอันประเสริฐไม่มีโทษลามกเลย บุคคลพึงกล่าวสอน พึงพร่ำสอน และพึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ บุคคลนั้นเป็นที่รักของพวกสัตบุรุษเท่านั้น เป็นที่ชังของพวก อสัตบุรุษ ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าภิกษุถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติ ชอบใจ

ถ้าใครเป็นอย่างนี้น่าตักเตือนไหม แต่ลองพิจารณาโทสมูลจิตในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จริงๆ ว่า ประโยชน์อยู่ที่ไหน และถ้ามีผู้ที่ตักเตือนหรือว่าหวังดีก็ควรที่จะอนุโมทนา อยากได้ ประสงค์ ปรารถนา รักใคร่ ติดใจ ซึ่งความตักเตือนนั้น แต่ไม่ทราบว่า จะมีอย่างนี้สักกี่ท่าน

และตัวท่านเองเป็นผู้ตัดสินได้ว่า ท่านเป็นบุคคลแบบไหน จะเป็นผู้ยินดีในความตักเตือนของบุคคลอื่น หรือไม่เป็นผู้ยินดีในความตักเตือนของบุคคลอื่น

พระธรรมมีไว้สำหรับให้พิจารณา ใคร่ครวญ และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ตามความสามารถ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ฟังและผ่านไป

เรื่องของโทสมูลจิต เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ใครมีโทสมูลจิตมาก คนนั้นมีกิริยาอาการอย่างไร พอที่จะรู้ได้ไหม

ผู้ฟัง สีหน้าอาการจะขุ่นเคืองหรือเปล่าไม่ทราบ

สุ. ไม่แช่มชื่นเบิกบานอย่างนั้นหรือ

ผู้ฟัง ไม่แช่มชื่น แล้วแต่ความโกรธว่าจะมีมากน้อยขนาดไหน ถ้ามีมาก อาการก็รุนแรงมาก

สุ. สามารถปรากฏลักษณะเป็นอาการของคนดุได้ ใช่ไหม นั่นคือลักษณะของผู้ที่มีโทสมูลจิตเกิดบ่อยๆ ตรงกันข้ามกับคนที่สงบเสงี่ยม ลองพิจารณาดูตัวเองและผู้ใกล้เคียงก็พอที่จะรู้ได้ว่า ใครเป็นผู้ที่มีกิริยาอาการอย่างไร

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คามณิสังยุต จัณฑสูตร ข้อ ๕๘๖ มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล นายจัณฑคามณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ถึงความนับว่า เป็นคนดุ เป็นคนดุ ก็อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ถึงความนับว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนสงบเสงี่ยม

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร นายคามณี คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ละราคะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละราคะไม่ได้ คนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ

ข้อความต่อไป ทรงแสดงถึงคนที่ยังละโทสะไม่ได้ คนที่ยังละโมหะไม่ได้ โดยนัยเดียวกัน ส่วนผู้ที่ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว ก็ตรงกันข้าม คือ เป็นผู้ สงบเสงี่ยม คือ คนอื่นไม่สามารถยั่วให้โกรธได้ เพราะเป็นผู้ที่มีราคะ โทสะ โมหะน้อย

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายจัณฑคามณีได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกหนทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบ สูตรที่ ๑

. ญาติพี่น้องมาต่อว่า ถ้าขณะนั้นเราคิดว่า เขาเป็นญาติพี่น้องเรา เราไม่โกรธ จะถือว่าระงับได้ไหม คือ เขาเป็นพี่น้องเรา เราจึงไม่กล้าแสดงอะไรออกมา

สุ. ถ้าเป็นคนอื่นก็โกรธ

. เป็นคนอื่นก็จะไม่โกรธ ส่วนใหญ่

สุ. ยกเว้นหรือไม่ยกเว้น

. ไม่ยกเว้น แต่ว่า

สุ. ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือไม่ใช่ ก็ไม่โกรธ

. นอกจากจะรุนแรงมากจริงๆ ก็มีบ้างนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับแสดงอาการออกมา

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดได้คิดว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิตอย่างนายจัณฑคามณีซึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ก็ต้องเห็นโทษของอกุศล และอบรมเจริญปัญญาที่จะดับอกุศลนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เห็นโทษเท่านั้น

. อย่างเมื่อกี้อาจารย์พูดเรื่องความมัวเมา ยิ่งใหญ่ ยิ่งมีมาก มีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีความรู้มาก ทำให้มีความถือตัว ผมคิดว่าเป็นดาบสองคมจริงๆ

สุ. ถ้าพิจารณาความขุ่นใจของตนเองในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า มาจากอะไรบ้าง

. คงจะมีบ่อยมาก

สุ. มาจากความโลภ ความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือมาจากมานะ ความสำคัญตน ความมัวเมาต่างๆ

. ขณะที่เราคิดจะช่วยเหลือคนอื่นก็ไม่เป็นมานะ ใช่ไหม แต่ถ้าเราคิดเพื่อตัวเอง เป็นมานะ ใช่ไหม เช่น ขณะที่ผมดูหนังสือคิดว่าจะทำเพื่อคนอื่น ก็ไม่เกิดความขุ่นเคือง แต่ขณะที่จะทำเพื่อตัวเอง รู้สึกจะขุ่นเคือง เป็นโทสะ

สุ. ขณะใดที่มีความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต

ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นข้อความซ้ำในพระไตรปิฎก แม้นายจัณฑคามณีก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ถึงความนับว่า เป็นคนดุ เป็นคนดุ หรือแม้การที่แสดงความโสมนัสยินดีต่างๆ ที่ได้ฟังพระธรรมที่แจ่มแจ้ง รู้สึกเหมือนกับว่า พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคนั้น เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกหนทางให้แก่คนหลงทาง เป็นต้น

ข้อความที่มีซ้ำๆ ในพระไตรปิฎก ต้องมีเหตุที่จะทำให้เกิดการกล่าวคำซ้ำๆ นั้นด้วย ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต วรรคที่ ๒ สูตรที่ ๖ อธิบาย อภิกกันตะ ศัพท์ ว่า

ผู้รู้ พึงทำการพูดซ้ำในความกลัว ความโกรธ การสรรเสริญ ในความรีบด่วน ในความโกลาหล ในความอัศจรรย์ ในความรื่นเริง ในความโศกเศร้า และในความเลื่อมใส ดังนี้

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน อาจจะพูดซ้ำๆ เมื่อสติเกิดระลึกได้ก็รู้ว่า ในขณะนั้นกลัว หรือขณะนั้นโกรธ หรือขณะนั้นเศร้าโศก หรือขณะนั้นเป็น ความโกลาหล หรือขณะนั้นเป็นการสรรเสริญ หรือขณะนั้นเป็นการรีบด่วน หรือ เป็นการรื่นเริง หรือเป็นเพราะความเลื่อมใส

ทุกขณะในชีวิตที่เป็นของจริง เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติสามารถระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมที่เล็กน้อยสักเพียงใด และไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิไหน จะเป็นโทสมูลจิตซึ่งเป็นความทุกข์อย่างเบาบางเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นโทสมูลจิตซึ่งเป็นความทุกข์ เป็นโทมนัสเวทนาอย่างรุนแรง สติ ก็สามารถระลึกได้

สำหรับในกามภูมิ สุขกับทุกข์ก็เจือกัน แต่ในบางภูมิ สุขย่อมมากกว่าทุกข์ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะปราศซึ่งทุกข์เสียเลย เช่น ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๓ สังขารสูตร แสดงทุกข์ของพวกเทพ มีข้อความว่า

บทว่า โวกิณณสุขทุกขัง ความว่า ความสุขและความทุกข์อันเจือกัน

สองบทว่า เสยยถาปิ มนุสสา ความว่า ความสุขย่อมมีแก่มนุษย์ทั้งหลายโดยกาล ความทุกข์ย่อมมีแก่มนุษย์ทั้งหลายโดยกาล

สองบทว่า เอกัจเจ จ เทวา ความว่า เทวดาชั้นกามาวจร ความสุขย่อมมีแก่เทพดาเหล่านั้นโดยกาล ความทุกข์ย่อมมีโดยกาล เทพดาเหล่านั้นผู้ต่ำกว่า เห็นเทพดาผู้มีศักดิ์ใหญ่กว่าแล้ว จำต้องลุกจากอาสนะ ต้องหลีกออกไปจากทาง พึงนำออกซึ่งผ้าคลุม พึงกระทำอัญชลีกรรม สิ่งนั้นทั้งหมด ชื่อว่าเป็นความทุกข์

ดูเหมือนไม่ใช่ทุกข์ ใช่ไหม แต่ใจใครจะรู้ว่า มีความขุ่นเคืองใจ มีความ ไม่พอใจ มีความน้อยใจในขณะที่เห็นเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่กว่า และจำต้องลุกจากอาสนะ ต้องหลีกออกไปจากทาง พึงกระทำอัญชลีกรรม

บางคนอาจจะไม่อยากไหว้คนอื่น เพราะคิดว่าคนอื่นควรจะไหว้เขา เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนที่จะต้องกระทำอัญชลีกรรม ก็อาจจะทำให้ขุ่นเคืองใจ หรือว่าเป็นทุกข์อย่างบางเบาเล็กน้อย ซึ่งขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นความไม่สบายใจแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของแม้ความขุ่นใจ ซึ่งต้องรู้ ถ้าไม่รู้ในขณะนั้น ความขุ่นใจนั้นก็เป็นเรา เป็นตัวตน ไม่สามารถดับการยึดถือลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

มีใครคิดว่า จะละกิเลสได้โดยไม่ต้องรู้ความขุ่นใจ เป็นไปได้ไหม

เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะความขุ่นใจมีจริงๆ เมื่อความขุ่นใจมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและเคยยึดถือว่าเป็นเรา ปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือ และรู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นเพียงสภาพนามธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

ขุททกนิกาย มหานิทเทส สารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ข้อ ๙๔๕ มีข้อความแสดงว่า

ภิกษุควรรู้ความขุ่นใจ

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็เป็นภิกษุด้วย เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความขุ่นใจด้วย

ในคำว่า เมื่อใด ภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ

คำว่า ใจ คือ จิต ใจ มนัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ อันเกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น

ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ทำไมต้องใช้คำมากหลายคำ ก็เข้าใจอยู่แล้วว่าใจคือจิต แต่ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะระลึกตรึกในลักษณะของ มนัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ หรือ วิญญาณขันธ์ แล้วแต่ว่าจะเข้าใจสภาพของ จิตโดยสภาพใด คือ โดยสภาพที่เป็นมนะ หรือมนายตนะ หรือมนินทรีย์ หรือวิญญาณ หรือวิญญาณขันธ์ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ลองพิจารณาว่า

จิตเป็นธรรมชาติขุ่นมัว เศร้าหมอง ยุ่ง วุ่น หวั่นไหว หมุนไป ไม่สงบ เพราะกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งหลาย ทุจริตทั้งหลาย ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง

คำว่า เมื่อใดภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ ความว่า ภิกษุพึงรู้ รู้ทั่ว รู้วิเศษ รู้วิเศษเฉพาะ แทงตลอดความที่จิตขุ่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อใดภิกษุพึงรู้ความขุ่นใจ

นี่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

นอกจากความขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ ยังมีโทสมูลจิตที่เป็นไปในชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเป็นทุกข์ใหญ่ที่เห็นได้ชัด ทำให้ปราศจากสุขและกำจัดเสียซึ่งประโยชน์เกื้อกูล

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สัจจวิภังคนิทเทส นิทเทสแห่งโสกะ มีข้อความเรื่อง พยสนะ คือ ความพินาศ ๕ ประการ ได้แก่ ญาติพยสนะ ๑ โภคพยสนะ ๑ โรคพยสนะ ๑ สีลพยสนะ ๑ ทิฏฐิพยสนะ ๑ ซึ่งทุกคนจะต้องมีความเศร้าโศกจากพยสนะเหล่านี้ ไม่พ้นไปได้เลย

๑. ญาติพยสนะ ความสิ้นไปแห่งญาติ หรือความพินาศแห่งญาติด้วยโจรภัย และโรคภัยเป็นต้น

ญาติเป็นที่รัก ทุกข์ทั้งหมดต้องมาจากโลภะ ถ้ามีความยินดี มีความพอใจ ในสัตว์ ในบุคคล ในวัตถุสิ่งใด ย่อมมีทุกข์ซึ่งเกิดเพราะสิ่งนั้น

เวลาที่มีความสิ้นไปของญาติ ทุกคนเข้าใจดี ใช่ไหม จะต้องมีความโศกเศร้า มีความเสียใจ หรือแม้แต่ความพินาศของญาติ โดยที่ญาติถูกโจรภัย หรือโรคภัย เป็นต้น ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยก็มีความทุกข์ความโทมนัส ถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะมีความสงสาร มีความเห็นอกเห็นใจ แต่ไม่ถึงกับโศกเศร้าเสียใจ

เปิด  218
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565