แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1383

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๗


๒. โภคพยสนะ พยสนะ คือ ความพินาศซึ่งเกิดแต่โภคทรัพย์ คือ ความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ด้วยอำนาจของราชภัย หรือโจรภัย เป็นต้น

เวลาที่ยังไม่เกิดกับแต่ละบุคคล ก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทรัพย์สมบัติ เสื่อมไปบ้าง สูญไปบ้าง หายไปบ้าง ถ้าเป็นสมบัตินิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยจะโศกเศร้าหรือเดือดร้อนเท่าไร แต่ถ้าทรัพย์สมบัตินั้นมาก ความรู้สึก จะหวั่นไหว แต่ขอให้พิจารณาว่า ขณะใดก็ตามที่มีการเสื่อมทรัพย์แม้ว่าเป็น จำนวนมาก ก็เป็นเพียงเสมือนการทดลองการจาก ซึ่งจะต้องมีการจากที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก คือ จากทรัพย์ทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแต่ส่วนเดียวหรือส่วนใหญ่ โดยการสิ้นชีวิต

เพราะฉะนั้น เวลาที่ยังไม่สิ้นชีวิต ถ้ามีการเสื่อมทรัพย์ จะมากน้อยประการใดก็ตาม ก็เหมือนกับเป็นการทดลองหรือการพิสูจน์ความความเศร้าโศกเสียใจซึ่งจะเกิดจากทรัพย์นั้นว่า ยังน้อยกว่าการสูญสิ้นชีวิตที่จะต้องจากทรัพย์และบุคคลทั้งหมดไป เพราะฉะนั้น เป็นเพียงบททดลอง ถ้าจะมีการเกิดขึ้น ก็ขอให้ทราบว่า เป็นสิ่งที่จรมาเพื่อพิสูจน์ความหวั่นไหวของจิตใจว่าจะมากน้อยเพียงใด หรือว่าจะมีความมั่นคงขึ้น หรือว่าพร้อมที่จะจากทุกสิ่งไป เพราะทุกคนต้องจากไป แต่จะจากโดยการพร้อมหรือว่าไม่พร้อม

ถ้าไม่พร้อม ก็เต็มไปด้วยความโศกเศร้า อาลัยอาวรณ์ เสียดาย แต่ถ้าพร้อม ก็คือรู้ว่า ยังมีการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก ไม่ใช่เพียงแต่ทรัพย์สมบัติบางส่วนเท่านั้น

๓. โรคพยสนะ ความพินาศซึ่งเกิดแต่โรค เพราะเหตุว่าโรคย่อมทำความไม่มีโรคให้พินาศ คือ ทำความไม่มีโรคให้สิ้นไป

ตราบใดที่ยังไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงจะเห็นได้ว่า ทำให้เกิดทุกข์โทมนัสได้มากตามควรแก่โรคนั้นๆ ซึ่งหนีไม่พ้นเหมือนกัน ใช่ไหม ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า ต่อไปข้างหน้าจะมีโรคร้ายแรงขนาดไหน ก็แล้วแต่เหตุที่ได้กระทำไว้

๔. สีลพยสนะ ความพินาศซึ่งเกิดแต่ศีล คือ ความทุศีลย่อมทำให้ศีลสิ้นไป

เวลาที่มีทุจริตกรรม คือ การล่วงศีลเกิดขึ้น ย่อมได้รับทุกข์ด้วยประการต่างๆ ตั้งแต่เสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่มีใครคบหาสมาคม และยังได้รับผลของอกุศลกรรมใน การล่วงศีลนั้นๆ ตามควรแก่กาลเวลา และความหนักเบาของทุจริตกรรมนั้นด้วย

๕. ทิฏฐิพยสนะ ความเสื่อมหรือความพินาศซึ่งเกิดจากความเห็นผิด

นี่เป็นอันตรายมาก เพราะไม่สามารถทำให้เกิดการคิด การพิจารณาที่ถูกต้องในเหตุผลของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ย่อมนำโทษภัยอย่าง ใหญ่หลวงมาให้ตลอดในสังสารวัฏฏ์ เพราะตราบใดที่ยังไม่พ้นจากความเห็นผิด สังสารวัฏฏ์ก็ไม่สามารถจบสิ้นได้

ต่อไปก็ถึงทุกข์ใหญ่ คือ ทุกข์ของมรณะ จบสิ้นทุกข์เล็กทุกข์น้อยที่มีในชีวิตประจำวัน มาจนกระทั่งถึงทุกข์ที่ใหญ่ที่สุด คือ ทุกข์ของมรณะ

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สัจจวิภังคนิทเทส มีข้อความว่า

แม้มรณะนี้ ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทุกข์ โดยเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ ความจริงเวทนาอันมีในสรีระซึ่งแม้เกิดในที่สุดความตาย จะเผาสรีระ ดุจคบหญ้าติดไฟที่ถือไว้ทวนลม ในคราวที่นิมิตแห่งนรกเป็นต้นปรากฏ ก็จะเกิดโทมนัสอย่างรุนแรงขึ้น พึงทราบมรณะว่า เป็นทุกข์ โดยเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒ นี้ ด้วยประการฉะนี้

ผู้ที่ศึกษาปรมัตถธรรมทราบว่า ความตาย จิตขณะเดียวเกิดขึ้นและดับไป เป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ทำให้เคลื่อนหรือพรากจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่มีการกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลย สูญสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ในสังสารวัฏฏ์ ในชาติก่อนๆ ที่แล้วมาเคยเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร ในชาตินี้ก็สิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนั้นแล้ว และกำลังมีสภาพของความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งสภาพความเป็นบุคคลนี้จะเป็นบุคคลอย่างไหน ประเภทใดตามที่ทรงแสดงไว้ในบุคคลบัญญัติก็ตาม ก็ต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เมื่อจุติจิต คือ จิตดวงสุดท้าย เกิดขึ้นและดับไป

เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดและดับ จะเป็นทุกข์ไหม ชั่วขณะจิตเดียว แต่ทุกข์เกิดก่อนนั้น เพราะ แม้มรณะนี้ ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทุกข์ โดยเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ คือ เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ ๒ อย่าง ได้แก่ ทุกข์กายและทุกข์ใจ เพราะเวทนาที่เกิดก่อนจุติอุปมาว่า เผาสรีระดุจคบหญ้าติดไฟที่ถือไว้ทวนลม นี่กล่าวโดยทั่วๆ ไป แต่สำหรับบางท่านไม่ต้องเป็นห่วงเลย ง่ายมาก เพียงแต่หลังจากเห็น จักขุทวารวิถีจิตดับ จุติจิตเกิดได้ หรือหลังจากที่ภวังคจิตเกิด ต่อจากจักขุทวารวิถี หรือโสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี จุติจิตก็เกิดได้

เพราะฉะนั้น เป็นปกติเหมือนอย่างนี้ เพียงแต่คล้ายหลับตาและลืมตา ก็ยังช้าไปสำหรับการเปลี่ยนภพชาติ เพราะการที่รูปจะไหวไปได้ต้องอาศัยชวนจิต ๗ ขณะ และไม่ใช่เพียง ๗ ขณะถ้าเป็นกิริยาอาการที่เคลื่อนไหวมากๆ แต่สำหรับ จุติจิต น้อยที่สุด คือ เท่ากับขณะปฏิสนธิเท่านั้นเอง คือ เพียงชั่วขณะจิตเดียว จะเร็วสักแค่ไหน ซึ่งบางท่านก็ไม่มีเวทนาอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องของกรรมที่แต่ละท่านได้กระทำมา ทางกายจะได้ประสบกับเวทนาอย่างไร เป็นจิตประเภทวิบาก ก็ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

ถ้าเป็นผู้ที่พร้อมจริงๆ ไม่น่าจะกลัวเลย เพราะทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิด ถ้ายังมีกิเลส ยังไม่หมดความปรารถนาที่จะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดในสังสารวัฏฏ์ต่อไปอีก จะต้องมีการเกิดแน่นอนหลังจากที่จุติจิตดับแล้ว เพราะฉะนั้น ทันทีที่จุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที ควรจะกลัวไหม ควรจะเสียดายไหม ภพนี้ ชาตินี้

นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลซึ่งยังอยากจะอยู่ต่อไปอีกแน่ๆ เพราะเมื่อมีขันธ์เกิดขึ้นปรากฏ ที่จะไม่ยินดีพอใจยึดมั่นในขันธ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ถึงจุติจิต ย่อมมีความยินดีพอใจในชีวิต ในภพ ในขันธ์ เมื่อมีความยินดีพอใจ ถ้ากำลังจะจากไป มรณะหรือความตายนั้นก็เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ ๒ อย่าง คือ ทุกข์กาย ๑ และทุกข์ใจ ๑

อีกประการหนึ่ง เพราะความตายนี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทางใจ ซึ่งมีแก่คนกำลังจะตาย เป็นคนบาป ผู้กำลังเห็นนิมิตมีกรรมชั่วเป็นต้นอยู่โดยลำดับ สำหรับ คนดี ผู้ไม่ข่มความพลัดพรากอันมีสัตว์และสังขารที่รักเป็นอารมณ์อยู่ และแม้แห่งทุกข์อันเกิดในสรีระมีโรคลมอันตัดที่ต่อและเครื่องผูกเป็นต้นข่มไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ซึ่งมีแก่สัตว์ทั้งปวงผู้กำลังถูกโรคเสียดแทงเป็นธรรมดา โดยไม่แปลกกันเช่นนี้ ฉะนั้น มรณะนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นทุกข์เหมือนกันแล

ถ้าคนชั่วจะตาย ก็เป็นทุกข์ เพราะคิดถึงกรรมชั่วที่ได้ทำแล้ว และอาจจะเห็นนิมิตของกรรมชั่ว คือ ภพภูมิที่จะเกิดต่อไป ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น หรือสำหรับคนดี แต่ยังไม่สามารถข่มความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักทั้งสัตว์และสังขารที่กำลังเป็นอารมณ์ ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ได้เช่นเดียวกัน

มีท่านผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ท่านอยู่ใกล้บุคคลที่ใกล้จะตายคนหนึ่งซึ่งใส่แหวน ท่านก็ลองใจ รู้ว่ากำลังจะตาย ก็ลองจับแหวนและขยับดูเพื่อจะถอด คนที่กำลังจะตายนั้นก็กำไว้แน่น แสดงให้เห็นว่า ความติด ความยึดในวัตถุสังขารซึ่งเป็นที่รักมากมายสักแค่ไหน ไม่ยอมที่จะจากพรากไป

แสดงให้เห็นถึงความเหนียวแน่นจริงๆ ของกิเลสซึ่งละยาก แม้ว่าใกล้ต่อการจากไปก็ยังไม่ยอมให้จากไป

สำหรับความโศกเศร้าเสียใจต่างๆ อันเนื่องมาจากความตาย หรือการพลัดพรากจากผู้ที่เป็นที่รัก ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ อธิบายว่า

บทว่า โสโก แปลว่า ความโศกด้วยอำนาจความเศร้า

ความเศร้า คือ ความเสียใจซึ่งเกิดจากความพินาศอย่างหนึ่งอย่างใดใน พยสนะ ๕

บทว่า โสจนา แปลว่า อาการคือความเศร้า

บทว่า โสจิตตัตตัง แปลว่า ภาวะที่เศร้า

บทว่า อันโต โสโก แปลว่า ความแห้งภายใน

ไม่มีลักษณะที่น่าพอใจสักอย่างเดียวในเรื่องของความโศก

ที่จริง ความโศกนั้นย่อมเกิดขึ้นทำภายในให้แห้ง ให้ผาก เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อันโต โสโก ความแห้งภายใน อันโต ปริโสโก ความแห้งผากภายใน

ทุกคนคงจะรู้ลักษณะของความโศก แม้จะไม่กล่าวถึงโดยบทต่างๆ เหล่านี้

ความโศกเมื่อเกิดขึ้นย่อมเผาจิตใจ คือ ไหม้จิตใจอย่างยิ่ง ได้แก่ ทำให้บ่นว่า จิตใจของเราไหม้แล้ว เราไม่มีอะไรๆ แจ่มใส

บางท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังคนที่กำลังเป็นทุกข์ ซึ่งมีคำพูดที่แสดงถึงความทุกข์ต่างๆ แสดงว่าขณะนั้นเป็นอาการของโทสมูลจิตที่ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา

ก็โสกะนี้นั้น ถึงแม้ว่าโดยเนื้อความจะเป็นโทมนัสเวทนาอย่างเดียวก็จริง แม้เช่นนั้นก็มีการไหม้ข้างในเป็นลักษณะ มีการเผารนใจเป็นรสะ มีความเศร้าโดยลำดับ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

หน้าตาของคนที่กำลังเสียใจก็เป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะมองเห็นได้ว่า ขณะนี้ต้องไม่สบายใจแน่ๆ หรือว่าต้องมีความทุกข์อย่างมากทีเดียว

โสกะนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทุกข์ เพราะเป็นสภาวทุกข์ และเพราะเป็นวัตถุที่ตั้งของทุกข์

ถามว่า ของทุกข์ไหน

แก้ว่า ของทุกข์ทางกาย และทุกข์คือโทมนัสในชวนขณะ

โดยการศึกษาทราบว่า ทางกาย ได้แก่ ทุกขกายวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่โทสมูลจิตหรือโทมนัสเวทนาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่วิบาก แต่เป็นอกุศลจิต

จริงอยู่ ด้วยกำลังความโศก ฝีหัวใหญ่ย่อมตั้งขึ้นที่หัวใจ สุกงอมแล้วย่อมแตกโลหิตเป็นสีดำย่อมไหลออกทางปาก เกิดทุกข์ทางกายอย่างแรงขึ้นได้ และเมื่อคิดอยู่ว่า พวกญาติของเราเท่านี้ถึงความสิ้นไป โภคะของเราเท่านี้ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ย่อมเกิดโทมนัสอย่างรุนแรงขึ้นได้ ก็โสกะพึงทราบว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ ๒ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

ถ้ามีความเสียใจอย่างรุนแรงจะเห็นได้ว่า ถึงกับทำให้ โลหิตสีดำย่อมไหลออกทางปาก แต่คงจะมีน้อยคนที่จะมีความโศกถึงอย่างนี้

อีกประการหนึ่ง เพราะความโศกย่อมเสียดแทงหทัยของเหล่าสัตว์ดุจลูกศร ย่อมเผาหทัยของเหล่าสัตว์อย่างแรงกล้าอีก ดังศรเหล็กเครื่องสังหารมนุษย์อันร้อน ด้วยไฟ และย่อมนำมาพร้อมแม้ซึ่งทุกข์ชนิดต่างๆ อันต่างโดยพยาธิ ชรา และมรณะ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ทุกข์แล

ความโศกเศร้าเสียใจของแต่ละคน ย่อมเกิดจากสาเหตุต่างๆ กัน ตามเหตุการณ์ของแต่ละคน ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต วรรคที่ ๑ สูตรที่ ๓ มีเรื่องเล่าว่า

ดังได้สดับมา พี่น้อง ๒ คนนั้นฆ่าแม่โคตัวหนึ่ง แล้วก็แบ่งเนื้อออกเป็น ๒ ส่วน ต่อแต่นั้นน้องชายก็ได้กล่าวกับพี่ชายว่า ทารกของเรามีมาก ท่านจงให้ไส้ใหญ่แก่ เราเถิด ครั้งนั้นพี่ชายจึงกล่าวกับเขาว่า เนื้อทั้งหมดเราแบ่งกันแล้วเป็น ๒ ส่วน เจ้าต้องการอะไรอีก ดังนี้ จึงประหารน้องชายให้ถึงการสิ้นชีวิตแล้ว ก็เมื่อพี่ชายกลับไปแลดูเห็นน้องชายตายแล้วจึงยังจิตให้เกิดขึ้นว่า เรากระทำกรรมอันหนักแล้ว ครั้งนั้นความเศร้าโศกอันมีกำลังเกิดขึ้นแล้วแก่เขา เขาระลึกถึงกรรมนั้นนั่นเทียว ในที่อันตนยืนแล้วบ้าง ในที่อันตนนั่งแล้วบ้าง ไม่ได้ความสบายใจเลย โอชะที่เขาลิ้ม ดื่ม เคี้ยว กิน ไม่แผ่ไปในสรีระของเขา สรีระมีเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น

และเมื่ออุบาสกนั้นตายไป ผลของกรรมนั้นทำให้เกิดในนรก

ความโศกเศร้าเสียใจก่อนจะตายก็ทำให้เป็นผู้ที่มีแต่หนังหุ้มกระดูกได้ ด้วยกำลังของความเศร้าโศก เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมที่ทำแล้ว เวลาที่ระลึกขึ้นมา ทำให้ไม่สบายเลย ในที่ที่ยืนแล้วบ้าง ในที่นั่งแล้วบ้าง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด ลักษณะของโทสมูลจิต นอกจากจะทำให้เกิดความเสียใจ หรือความเศร้าโศก เมื่อมีกำลังขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดปริเทวะ ซึ่งข้อความใน สัมโมหวิโนทนี แสดงความหมายของปริเทวะว่า

ที่ชื่อว่าอาเทวะ เหตุร่ำไห้ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุครวญ คือ ร้องไห้ อ้างถึง อ้างถึงอย่างนี้ว่า ธิดาของฉัน บุตรของฉัน ดังนี้ ของคนทั้งหลาย

ที่ชื่อว่าปริเทวะ เหตุคร่ำครวญ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุครวญ ประกาศคุณของธิดาและบุตรนั้นๆ

ชื่อว่าเพ้อ การเพ้ออย่างผิดรูปด้วยอำนาจพูดครึ่งๆ กลางๆ และพูดอย่างอื่นเป็นต้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าวิปปลาปะ การเพ้อผิดๆ

บทว่า ลาลโป แปลว่า การพูดซ้ำซากๆ อาการแห่งการพูดซ้ำซาก ชื่อว่าลาลปนา

ปริเทวะนั้น มีการพูดซ้ำซากเป็นลักษณะ มีการประกาศคุณและโทษเป็นรสะ มีความหมุนไปพร้อมเป็นปัจจุปัฏฐาน

นี่คืออาการของโทสมูลจิต เวลาที่มีการร้องไห้เสียใจ คร่ำครวญบ่นเพ้อต่างๆ

จริงอยู่ ผู้ที่กำลังคร่ำครวญ ย่อมเอากำปั้นทุบลำตัวของตนได้ เอามือทั้งสอง ตีอก ขยี้อกได้ เอาหัวชนกับฝาได้ เพราะเหตุนั้นจึงเกิดทุกข์ทางกายอย่างรุนแรงขึ้น แก่ผู้นั้น เพราะย่อมคิดเป็นต้นว่า ญาติของเราเท่านั้นได้ถึงความสิ้นไป เสื่อมไป ตั้งอยู่ไม่ได้อย่างยิ่งแล้ว เพราะเหตุนั้นจึงเกิดโทมนัสอย่างรุนแรงขึ้นแก่เขา พึงทราบว่า ปริเทวะ เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้งสองนี้ ด้วยประการฉะนี้

เวลาร้องไห้คร่ำครวญเสียใจจะมีทุกข์ทางกายเกิดได้ไหม ถ้ายังไม่เคยกระทำ ถึงอย่างนั้นอาจจะไม่ทราบว่า จะทำให้เกิดทุกข์ทางกายได้อย่างไร แต่ผู้ที่ร้องไห้ คร่ำครวญมากๆ ย่อมรู้ว่า จะมีทุกข์กายอย่างไรบ้าง

ข้อความต่อไปมีว่า

บุคคลผู้ถูกลูกศรคือความโศกกำจัดวิเศษแล้ว คือ ถูกความโศกกำจัดยิ่งแล้ว คร่ำครวญอยู่ ย่อมประสบทันทีซึ่งทุกข์ใด อันเกิดแต่ความแห้งที่คอ ริมฝีปาก และพื้นเพดานที่ทนไม่ได้อย่างเหลือประมาณโดยยิ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัส ปริเทวะ ความคร่ำครวญว่า เป็นทุกข์ โดยทุกข์นั้นแล

เปิด  216
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565