แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1388

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๗


แม้แต่กุลมัจฉริยะสำหรับพระภิกษุ ถ้าเป็นบุคคลลามก และไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลนั้นเข้าไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากเป็นต้น อย่างนั้นไม่ชื่อว่าหวงแหน เพราะว่าจะไปทำลายศรัทธาของตระกูลอุปัฏฐากนั้น คือ ต้องคิดถึงประโยชน์ว่า ถ้าเป็นคนไม่ดี จะทำให้เสื่อมศรัทธา การไม่อยากให้บุคคลนั้นเข้าไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากก็ไม่ใช่ กุลมัจฉริยะ ถ้าเป็นภิกษุดีเป็นผู้ที่สามารถรักษาความเลื่อมใสได้ แต่ท่านไม่ปรารถนาให้บุคคลนั้นไปสู่ตระกูลอุปัฏฐาก นั่นแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่เป็น กุลมัจฉริยะ

ผลของกุลมัจฉริยะ คือ

ด้วยความตระหนี่ตระกูล เมื่อตระกูลนั้นทำทานและนับถือคนเหล่าอื่นก็คิดว่าตระกูลของเรานี้แตกไปแล้ว แม้โลหิตก็จะพุ่งขึ้นจากปาก จะต้องใช้แม้ยาถ่ายท้อง แม้ไส้ก็จะออกมาเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่

ถ้าเป็นคนที่ตระหนี่มากและเห็นว่า คนอื่นสนิทสนมคุ้นเคยกับตระกูลที่ท่านเคยคุ้นเคยด้วย และจะทำให้ความคุ้นเคยของท่านนั้นลดน้อยลงไป ก็จะเกิดโทสมูลจิตจนกระทั่งถึงกับทำให้โลหิตพุ่งขึ้นจากปากได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีนิครนถ์นาฏบุตร เป็นผู้ที่ตระหนี่ตระกูล เพราะฉะนั้น เวลาที่สาวกของท่านไปเฝ้าฟังพระธรรมของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็มีความโทมนัส เกิดโทสมูลจิตที่มีกำลังมากจนกระทั่งมีโลหิตออกจากปาก

อีกนัยหนึ่ง ด้วยความตระหนี่ตระกูล จะเป็นผู้มีลาภน้อย

เพราะว่าไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย ในเมื่อเป็นผู้ที่ขาดการปฏิสันถารกับคนอื่น

มัจฉริยะต่อไป คือ

๓. ลาภมัจฉริยะ

คำว่า ลาภ ได้แก่ ลาภ คือ ปัจจัย ๔ นั่นเอง ในเมื่อภิกษุอื่นผู้มีศีลนั่นเทียวได้ลาภนั้น เมื่อคิดอยู่ว่า จงอย่าได้เลย ดังนี้ ย่อมเป็นลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) แต่ภิกษุใดย่อมยังของที่เขาถวายด้วยศรัทธาให้ตกเสียไป ย่อมให้เสียหายด้วยอำนาจไม่ยอมใช้สอย และใช้สอยไม่ดีเป็นต้น เมื่อเห็นภิกษุนั้นแล้วคิดว่า ถ้าท่านรูปนี้จะ ไม่พึงได้ของนั้น ภิกษุอื่นผู้มีศีลพึงได้เถิด พึงใช้สอยเถิด ดังนี้ ชื่อว่ามัจฉริยะ ย่อมไม่มี

ต้องพิจารณาถึงบุคคล ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ควรได้และคิดว่า ท่านผู้นี้ไม่ควรได้ ท่านผู้มีศีลควรได้ ควรใช้สอยสิ่งนั้น เพราะว่าผู้ที่ไม่ควรได้และได้ไป ก็จะไม่ใช้สอยบ้าง หรือว่าใช้สอยไม่ดีบ้าง ทำให้ผู้ที่ถวายหรือว่ามอบให้นั้นไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่ลาภมัจฉริยะ แต่ถ้าเป็นคนดีและได้ลาภ คนที่มีลาภมัจฉริยะก็ทนไม่ได้ และคิดว่าคนนั้นไม่ควรจะได้ หรือว่าอย่าให้ได้เลย ขณะนั้นก็เป็น ลาภมัจฉริยะ

ก็เป็นเรื่องภายในใจของแต่ละคน ซึ่งบุคคลภายนอกไม่สามารถรู้ได้เลย เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ลาภ และมีบุคคลอื่นอยู่ร่วมในที่นั้น จะเป็นกี่คนก็ตาม ย่อมไม่มีใครสามารถรู้ใจของแต่ละบุคคลในขณะนั้นได้ว่า ขณะจิตของบุคคลใดเป็นมุทิตา ยินดีด้วย หรือจิตใครจะคิดว่า คนนี้ไม่น่าจะได้ หรือไม่ควรจะได้ หรือไม่อยากให้ได้ นั่นก็เป็นจิตที่สะสมมาต่างๆ กัน

และถ้าเกิดมีขึ้น ต้องรีบเปลี่ยนเป็นมุทิตา พลอยยินดีด้วยกับบุคคลอื่นที่ได้ลาภ เพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลแล้ว สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้ทุกอย่าง แม้ลาภมัจฉริยะเกิดขึ้น สติก็ยังจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งควรจะละคลาย

. อาชีพค้าขายก็ต้องหวงลูกค้า ถ้าลูกค้าจะตีจากไปจากเรา เคยซื้อของร้านเรา ก็ไปซื้อร้านอื่น เราก็ต้องหาวิธีการที่จะผูกใจลูกค้า ที่จะจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการของร้านเรา จะถือว่าเป็นกุลมัจฉริยะไหม

สุ. ไม่ใช่หมายความว่า ทนไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นเขามีลูกค้ามากๆ อย่างเรา ใช่ไหม ลูกค้ามีมาก แบ่งกันได้ไหม

. แบ่งกันได้จริง แต่บางรายต้องรักษาไว้ ต้องเก็บไว้

สุ. ลูกค้าเองมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนร้านค้าไปสู่ที่อื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ย้ายกันไปย้ายกันมาก็ได้

. ก็ใช่ เงินเป็นของลูกค้าจะจับจ่ายใช้สอยร้านไหนก็ได้ แต่ความรู้สึก ลึกๆ ลงไป ต้องการจะรักษาลูกค้าไว้

สุ. การที่ต้องการจะรักษาลูกค้าไว้เป็นโลภะ แต่ไม่ใช่การทนไม่ได้ที่ร้านอื่นจะมีลูกค้าด้วย ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม เรื่องของโลภะกับเรื่องของมัจฉริยะต้องแยกกัน

โลภะ เป็นความติด ความอยากได้ ความพอใจ แต่มัจฉริยะ เป็นความ ทนไม่ได้ที่คนอื่นจะเหมือนเรา แม้ในเรื่องของลาภ ถ้าเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า ซึ่งฉลาด มีความสามารถ มีลูกค้ามาก และมีอีกร้านหนึ่งซึ่งค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นจนกระทั่งมีลูกค้ามากขึ้น ก็สังเกตจิตใจของตนเองที่เป็นพ่อค้าซึ่งเคยมีลูกค้ามากว่า รู้สึกอย่างไร

ถ้ารู้สึกมีมุทิตาจิต ก็ยินดีด้วยในลาภของคนอื่น เราได้มากแล้ว เราทำมาก่อนเขานาน และลูกค้าเราก็มั่นคง หรือต่อไปก็อาจจะมีเพิ่มขึ้นตามความสามารถของเรา สำหรับร้านอื่นเมื่อมีลูกค้ามากขึ้นก็ดี อย่าให้มีแต่เราคนเดียว

ข้อสำคัญที่สุดของมัจฉริยะ คือ ไม่มีการเอื้อเฟื้อ และทนไม่ได้จริงๆ ถ้าคนอื่นจะมีฐานะหรือมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนตน

. ลาภมัจฉริยะ เห็นคนอื่นเขาได้ ทนไม่ได้ เป็นริษยาด้วยหรือเปล่า

สุ. ต้องพิจารณาว่า ลักษณะของริษยานั้น มีสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน แต่มัจฉริยะมีสมบัติของตนเป็นปทัฏฐาน ข้อความของมัจฉริยะกับอิสสาดูคล้ายกัน ต้องเพ่งเล็งถึงปทัฏฐานที่เกิดว่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด

ถ้าคนอื่นยังไม่ได้ลาภ ยศ สักการะใดๆ ท่านอาจจะมีความรู้สึกสงสาร เพราะว่าท่านได้แล้ว ท่านมีมากแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่คนอื่นยังไม่ได้ ก็สงสาร แต่ถ้าคนนั้นเกิดได้อย่างดี ให้พิจารณาดูจิตใจว่า สงสารเหมือนที่เคย หรือไม่ค่อยจะพอใจแล้ว เขาเกิดจะดีขึ้นๆ จนกระทั่งอาจจะดีกว่า ซึ่งท่านเคยดีเป็นที่นิยมนับถืออยู่ เป็นผู้ที่ได้ลาภสักการะมาก เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาว่า มีสมบัติของตนเอง หรือว่ามีสมบัติของคนอื่นเป็นปทัฏฐาน เพราะว่าลักษณะคล้ายกันมาก

คนที่ยังมีอิสสาและมัจฉริยะ คือ ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วดับทั้งอิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก และกุกกุจจเจตสิก แต่ยังมีโทสเจตสิกเกิด ห้ามไม่ได้ที่จะไม่พอใจเมื่อประสบกับอนิฏฐารมณ์ แต่ไม่มีกิเลสบริวารซึ่งเป็นอิสสา เป็นมัจฉริยะ หรือเป็นกุกกุจจะ

ขอกล่าวถึงลักษณะของอิสสาและมัจฉริยะเพื่อเทียบเคียงกัน

ที่ชื่อว่าอิสสา ด้วยอรรถว่า ริษยา อิสสานั้นมีการริษยาสมบัติของผู้อื่น เป็นลักษณะ (ปรสัมปัตตีนัง อุสสุยนลักขณา)

ภาวะแห่งความตระหนี่ ชื่อว่ามัจฉริยะ มัจฉริยะนั้นมีการซ่อนหรือปกปิดสมบัติของตนที่ได้แล้วหรือที่ควรจะได้เป็นลักษณะ (ลัทธานัง วา ลภิตัพพานัง วา อัตตโน สัมปัตตีนัง นิคูหณลักขณัง)

คิดถึงแต่สมบัติของตน เวลาที่มีสมบัติและไม่ต้องการให้คนอื่นได้ร่วมใช้สอยบริโภค หรือมีเหมือนกับตน ขณะนั้นเป็นลักษณะของมัจฉริยะ

เพราะฉะนั้น บางขณะนั้นเป็นมัจฉริยะ บางขณะนั้นเป็นริษยาได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะคิดถึงสมบัติของตนหรือว่าคิดถึงสมบัติของคนอื่น เพราะมีความรักตนมาก สังเกตดูจากคนที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนที่มีความหวงแหนทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้ตนเอง ผู้เดียวเท่านั้นดีเด่นด้วยประการต่างๆ จะมีลักษณะอาการของริษยาและมัจฉริยะปรากฏให้เห็นได้ เมื่อมีความรักตนมาก ก็ไม่อยากจะให้คนอื่นเหมือนตน และมีความสำคัญตนด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่คนอื่นมี ก็เกิดความเดือดร้อนใจ กระสับกระส่าย นั่นคือลักษณะของริษยา แต่ก่อนที่คนนั้นจะมี เมื่อคิดถึงแต่สมบัติของตน ขณะนั้นก็เป็นอาการของมัจฉริยะ

ตัตเถว อนภิรติรสา ริษยามีความไม่ยินดีในสมบัติของผู้อื่นนั้นนั่นแหละ เป็นรสะ

ตาสังเยว ปเรหิ สาธารณภาวะ อักขมนรสัง มัจฉริยะมีความไม่พอใจความที่สมบัติของตนเหล่านั้นแหละเป็นของสาธารณะด้วยคนเหล่าอื่นเป็นรสะ

อย่างคนที่หวงรถ ชอบที่จะใช้สอยตามลำพังคนเดียว ไม่ให้คนอื่นได้ร่วมโดยสารไปด้วย และถ้าคนอื่นจะมีรถใหญ่สวยหรูเขาก็ไม่เดือดร้อน เขาเดือดร้อนเฉพาะกรณีที่คนอื่นจะมาใช้สิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นของเขา ขณะนั้นเป็นมัจฉริยะ ใครอื่นจะมีดีกว่าอย่างไรก็ตามแต่เขาไม่เดือดร้อน ขณะนั้นก็ไม่มีริษยา

ตโต วิมุขภาวปัจจุปัฏฐานา อิสสามีความเบือนหน้าจากสมบัติของผู้อื่นนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน

ไม่สามารถชื่นชมยินดีด้วยเลยกับสมบัติของคนอื่น อาการคือไม่อยากเห็น ไม่อยากดู อาการที่เบือนหน้าจากสมบัติของคนอื่นเป็นปัจจุปัฏฐานของอิสสา

สังโกจนปัจจุปัฏฐาน มัจฉริยะมีความสยิ้วหน้าเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความ ขี้เหนียวเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

สยิ้วหน้า คือ ใครจะมาแตะต้องสักนิดหนึ่ง อาการของหน้าก็ปรากฏลักษณะที่ไม่พอใจ เพียงแต่จะมาแตะต้องสิ่งของของตน ยังไม่ทันจะใช้เลย จับก็ไม่ได้ นั่นคือลักษณะของมัจฉริยะ หรือมีความขี้เหนียวเป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการที่ปรากฏ

ปรสัมปัตติปทัฏฐานา อิสสามีสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน

อัตตโน สัมปัตติปทัฏฐานัง มัจฉริยะมีสมบัติของตนเป็นปทัฏฐาน

ขณะที่ไม่สบายใจ จะเป็นเพราะริษยาบ้าง จะเป็นเพราะมัจฉริยะบ้าง ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับโลภมูลจิตเลย เพราะว่าขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ เป็นความเดือดร้อนใจ

ถ้าเป็นโลภมูลจิต ต้องเป็นขณะที่กำลังร่าเริงสนุกสนาน ยินดี ชอบใจ พอใจในวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่สิ่งของของตนเองก็อาจจะดูด้วยความชื่นชมยินดีหลายครั้งไม่จบ ดูแล้วดูอีก เก็บไปแล้วก็เอาออกมาดูอีก นั่นคือลักษณะของความชื่นชมยินดีซึ่งเป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่ริษยา ไม่ใช่อิสสา และไม่ใช่มัจฉริยะ แต่เป็นโลภเจตสิก

เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาตัวเอง โลภะมีแน่ๆ และอิสสามีมากไหม มัจฉริยะมีบ้างหรือเปล่า และเป็นไปในมัจฉริยะอย่างไร แต่ทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่ควรจะ ต้องละ โดยเฉพาะอิสสาและมัจฉริยะเป็นสิ่งซึ่งพระโสดาบันบุคคลดับได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ควรจะต้องเห็นโทษของธรรมซึ่งพระโสดาบันดับได้ว่า ต้องเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายและน่ารังเกียจ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้ายจิตใจของ ผู้ริษยาและผู้ตระหนี่เอง

สำหรับผลของลาภมัจฉริยะ คือ

ด้วยความตระหนี่ลาภ ในลาภอันเป็นของสงฆ์หรือของคณะก็ตระหนี่แล้ว ใช้สอยเหมือนดังใช้สอยส่วนบุคคล

คือ ของส่วนกลางก็ยึดถือเป็นของตน ใช้เฉพาะตน ไม่ให้ผู้อื่นร่วมใช้สอยด้วย

ก็จะบังเกิดเป็นยักษ์บ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นงูเหลือมใหญ่บ้าง อีกนัยหนึ่ง ด้วยความตระหนี่ลาภ จะบังเกิดในนรกคูถ

ไม่มีใครเห็นนรกพวกนี้ แต่ก็มี แล้วแต่เหตุ คือ กรรมที่จะทำให้เกิดในที่นั้นๆ

มัจฉริยะต่อไป คือ

๔. วรรณมัจฉริยะ

ที่ชื่อว่าวรรณะ ได้แก่ ผิวพรรณแห่งสรีระบ้าง การสรรเสริญความดีบ้าง ในวรรณะทั้งสองนั้น บุคคลผู้ตระหนี่ผิวพรรณแห่งสรีระ เมื่อเขาพูดว่า คนอื่น น่าเลื่อมใส มีรูปงาม ดังนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ปรารถนาจะกล่าวถึงผิวพรรณแห่งสรีระนั้น ผู้ที่ตระหนี่ในการสรรเสริญความดี ย่อมไม่เป็นผู้ประสงค์จะกล่าวสรรเสริญ โดยศีลคุณ โดยธุดงค์คุณ โดยปฏิปทาคุณ โดยอาจารคุณ

นี่คือการตระหนี่วรรณะ ซึ่งมี ๒ อย่าง ได้แก่ ผิวพรรณแห่งสรีระ คือ ความสวยงาม บางคนหวงความสวย กลัวว่าคนอื่นจะสวยกว่า ซึ่งแน่นอนที่สุด ไม่มีใครสวยที่สุดคนเดียวในโลก ต้องมีความสวยหลายๆ แบบ หลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้น คนที่มีความตระหนี่ในความสวยงามของตน ไม่อยากที่จะให้คนอื่นสวย ก็เป็นผู้ที่มีวรรณมัจฉริยะ แม้แต่ความสวยงามซึ่งเป็นรูปกายภายนอกก็ยังหวง ต้องการที่จะให้เป็นของตนผู้เดียว เวลาที่คนสวยอื่นเดินผ่านไปหรือมีใครชม ผู้นั้น ทนไม่ได้จริงๆ ไม่สามารถที่จะเอ่ยปากแม้จะชม หรือว่าชื่นชมยินดีด้วยกับความงามแห่งสรีระของคนอื่น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นสภาพของจิตมีมัจฉริยะถึงขั้นนั้น คือ ไม่สามารถแม้แต่จะชมเพียงความสวยงามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้

อีกความหมายหนึ่งของวรรณะ คือ การสรรเสริญคุณความดี บางคน ตระหนี่ในการสรรเสริญความดี ไม่เป็นผู้ประสงค์จะกล่าวสรรเสริญโดยศีลคุณ โดยธุดงค์คุณ โดยปฏิปทาคุณ โดยอาจารคุณ

อาจาระ เป็นกิริยาอาการความประพฤติที่ควรจะชม หรือกล่าวสรรเสริญ แต่ ผู้นั้นก็ไม่สามารถจริงๆ ที่จะกล่าวชมคนอื่นได้ คนอื่นผิดหมด ขณะนั้นเป็นอย่างไร มัจฉริยะตัวใหญ่ไหม ถ้าถูกคนเดียว คนอื่นผิดทั้งนั้น

การที่คนหนึ่งคนใดจะมีความเห็นถูกบ้าง เห็นผิดบ้าง ก็เป็นไปตามการสะสม ซึ่งคนอื่นไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่สามารถเกื้อกูลได้ โดยการอ้างเหตุผลอธิบายเหตุผล ชี้แจงเหตุผล ไม่ใช่ตนเองเท่านั้นที่คนอื่นควรจะชมว่าเป็นคนเก่ง หรือเป็นคนดีต่างๆ แต่คนอื่นก็ควรที่จะมีคุณความดีอย่างนั้นเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สามารถจะกล่าวสรรเสริญคุณความดีของบุคคลอื่นได้ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ขณะใดที่ไม่สามารถแม้จะกล่าวชมความดีของคนอื่นได้ หรือสรรเสริญความดีของคนอื่นได้ ขณะนั้นถ้าสติเกิดขึ้นทันทีจะรู้ลักษณะของมัจฉริยะว่า เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถกล่าวชมคุณความดีของคนอื่นได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของวรรณมัจฉริยะ คือ ย่อมทนไม่ได้เมื่อคนอื่นมีคุณที่คนอื่นสรรเสริญ

เปิด  227
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565