แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1392

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๗


. ยอมรับว่า บางคราวก็หลงลืม ไม่ค่อยใส่ใจระลึกรู้ว่า อะไรมากระทบทางกาย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจบ้าง บางครั้งก่อนจะนอน ถ้าระลึกรู้ได้ ผมก็จะพยายามใส่ใจที่จะระลึกรู้ แต่บางคราวก็ลืม

สุ. ขณะนั้นเป็นสติ แต่ความเป็นตัวตนยังมีจึงทำให้ดูเหมือนว่า เรากำลังใส่ใจ

. ลักษณะนี้ควรจะเลิก หรืออย่างไร

สุ. ควรหรือไม่ควร เป็นเรื่องของอัตตาแล้ว ไม่ต้องคิดว่า ควรหรือ ไม่ควร แล้วแต่สติจะเกิด ซึ่งสตินั่นเองระลึก ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีสภาพธรรมใดจะไประลึกได้ และขณะไหนก็ได้

. ยอมรับว่า เมื่อเริ่มจะระลึกรู้ ก็อยากให้เกิดอย่างนั้นอีก

สุ. เป็นของธรรมดา โลภะติดตามไปโดยตลอด และละเอียดขึ้นด้วย อย่างพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านพอใจในการนั่งมาก ท่านบอกว่า อิริยาบถนั่งทำให้สติเกิดมาก

สติเกิดมากจากอิริยาบถนั่งได้ แต่ไม่ควรติดว่า ต้องนั่งและสติจะเกิด ควรเฉลียวใจว่า ทำอย่างไรให้ความพอใจที่จะนั่งนั้นหมดไปได้ ควรจะเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม เพราะในขณะที่นั่งและสติเกิดมาก ย่อมมีโลภะเกิดติดตามไปได้ว่า เป็นเพราะนั่งสติจึงเกิดมาก แต่ทำไมไม่เฉลียวใจว่า เวลานี้ความพอใจที่จะนั่งยังไม่หมดเลย มีแต่ความต้องการที่จะนั่ง เพราะนั่งแล้วรู้สึกว่าสติเกิดมาก แต่ทำอย่างไรจึงจะละความพอใจในการนั่งได้ ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ โลภะจะแฝงอยู่ที่อิริยาบถนั่งไม่ได้

เพราะฉะนั้น จะมีสติทั่วไปหมด ไม่ว่าในขณะที่ยืน ในขณะที่เดิน ในขณะที่นอน และไม่มีการติดในการที่จะนั่ง มิฉะนั้นจะนั่งอยู่เรื่อย เพราะเห็นว่าสติเกิดมาก แต่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นโลภะแฝงอยู่แล้วที่จะนั่ง

ปัญญาเป็นเรื่องของการละ เพราะฉะนั้น เมื่อโลภะละเอียดขึ้น ปัญญาต้องละเอียดตามที่จะรู้ว่า ยังติดอะไรอยู่ที่ไหน ขณะใดก็ตามที่สติเกิดมาก ต้องเฉลียวใจทันทีที่จะรู้ว่า จะละความพอใจในขณะนั้นได้อย่างไร

บางท่านขณะที่สวดมนต์ สติปัฏฐานเกิดเป็นปกติ ก็เป็นอุปนิสัยที่ได้สะสมมา เพราะว่าในอดีตอนันตชาติ ใครจะเคยเป็นภิกษุ ภิกษุณี เคยสวดมนต์ เคยฟัง พระธรรมจากพระโอษฐ์มานานสักเท่าไร ก็ย่อมเป็นได้ที่จะมีปัจจัยทำให้เกิดสติปัฏฐานในขณะนั้นๆ แต่แม้กระนั้นก็ต้องรู้ว่า ไม่ควรมีความพอใจที่จะพยายามทำอย่างนั้น บ่อยๆ เพื่อให้สติเกิด แต่ต้องมีการละโดยรู้ว่า แม้ขณะอื่น สติปัฏฐานก็ควรรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นโลภะอย่างแรง หรือโทสะที่มีกำลัง ในขณะนั้น สติปัฏฐานจะต้องรู้ชัดจริงๆ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ไม่ยึดถือสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้นว่าเป็นตัวตน

ถ้ายังมีเวลานั้น เวลานี้ มีสถานที่นั้น สถานที่นี้ อิริยาบถนั้น อิริยาบถนี้ และขณะอื่นล่ะ เมื่อไรปัญญาจะรู้ชัดได้ว่าไม่ใช่ตัวตนด้วย และสติก็จะต้องระลึกด้วย

เรื่องของการละ การดับกิเลส ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ จนหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

ถ้าไม่ใช่เป็นฝาตู้ แต่เป็นสิ่งอื่น ปัญญาสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ไหม โดยไม่ต้องตกใจ และไม่ต้องสงสัย

ขณะที่หลับตา กับขณะที่ลืมตาในขณะนี้ มีอะไรปรากฏบ้างไหม

สิ่งที่ปรากฏ มี แต่ไม่เหมือนกันก็ได้ ถ้ายืนกลางแดดและหลับตา สีปรากฏ เป็นแสงสว่าง เป็นสีต่างๆ ก็ได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะสลับไปเป็นสีอะไรบ้าง สติปัฏฐานก็เกิด เพราะขณะนั้นไม่มีตัวตน ทุกขณะต้องเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ พ้นจากนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้ ถ้าสติระลึกจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นสภาพใดเป็นสภาพรู้ ขณะใดเป็นรูปธรรม ไม่อย่างนั้นหลับตาก็สงสัยอีกว่า ที่กำลังปรากฏนี้อะไร แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐานดับความสงสัย ที่เกิดขึ้นเพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

. ขณะที่เรานึกภาพเหตุการณ์ ภาพนั้นปรากฏ เป็นสัญญาหรือเปล่า

สุ. สัญญาเกิดกับจิตทุกขณะ

. ที่เป็นภาพ เป็นเรื่องราว เป็นสัญญาด้วยใช่ไหม

สุ. ไม่มีขณะไหนเลยที่จะปราศจากสัญญาเจตสิก สัญญาจำไว้หมด

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอกุศลธรรมที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท จากข้อความใน อัฏฐสาลินี ทุกนิกเขปกถา ข้อ ๑๑๗๖ แสดงนิวรณ์ตามลำดับกิเลสและตามลำดับมรรค

ว่าตามลำดับกิเลส

กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ อันอนาคามิมรรคย่อมละได้ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจนิวรณ์ อันอรหัตตมรรคย่อมละได้ กุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ อัน โสตาปัตติมรรคย่อมละได้ อวิชชานิวรณ์ อันอรหัตตมรรคย่อมละได้

ถ้าว่าตามลำดับมรรค

โสตาปัตติมรรคละกุกกุจจะและวิจิกิจฉา อนาคามิมรรคละกามฉันทะ และพยาปาทะ อรหัตตมรรคละถีนมิทธะ อุทธัจจะ และอวิชชา

นี่เป็นข้อความใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ทุกนิกเขปกถา ข้อ ๑๑๗๖ แต่ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังค์ นิวรณบรรพ และใน วิสุทธิมรรค ญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส มีข้อความว่า

กามฉันทนิวรณ์ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค พยาปาทนิวรณ์ไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค ถีนมิทธนิวรณ์ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค อุทธัจจะไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค กุกกุจจะไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค วิจิกิจฉาไม่เกิดต่อไปด้วย โสตาปัตติมรรค

การศึกษาพระธรรม จะต้องศึกษาโดยตลอด สำหรับเรื่องของการดับกิเลส มีข้อที่ต่างกัน คือ กุกกุจจนิวรณ์ใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า โสตาปัตติมรรคละกุกกุจจะและวิจิกิจฉา แต่ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังค์ นิวรณบรรพ และใน วิสุทธิมรรค แสดงว่า กุกกุจจะไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค

นี่เป็นข้อความที่ต่างกันของ อัฏฐสาลินี และ สติปัฏฐานวิภังค์ ซึ่งต้องพิจารณาในเหตุผล

แม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่จำแนกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก คือ

๑. อาสวะ ๔

๒. โอฆะ ๔

๓. โยคะ ๔

๔. อุปาทาน ๔

๕. กายคันถะ ๔

๖. นิวรณ์ ๕

๗. อนุสัย ๗

๘. สังโยชน์ ๑๐

๙. กิเลส ๑๐

สำหรับอาสวะ ๔ ธรรมอื่นนอกจากอาสวะ ๔ นี้ ไม่ใช่อาสวะ ซึ่งข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ จตุกกนิทเทส ข้อ ๙๖๑ แสดงอาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ ทิฏฐาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายอาสวโคจฉกะ มีข้อความว่า

ธรรมชื่อว่าอาสวะ โดยอรรถว่า ไหลไปทั่ว ไหลไป คือ หลากไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าอาสวะ เพราะเมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้กระทั่งถึงโคตรภู เมื่อว่าโดยโอกาส ก็ไหลไปได้กระทั่งถึงภวัคคพรหม คือ อรูปพรหม

ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นสภาพที่หมักดองเอาไว้นาน อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อาสวะ เพราะอรรถว่า พอกพูน คือ ก่อสังสารทุกข์อันยืดยาว ธรรมอื่นนอกจาก อาสวะ ๔ นี้ ไม่ชื่อว่าอาสวะธรรม

ถึงแม้ว่าอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แต่โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นกามาสวะ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง เป็นภวาสวะ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ได้แก่ โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง รวมเป็นโลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นอาสวะ ๔

แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่อกุศลเจตสิกทุกประเภทเป็นอาสวะ แต่เฉพาะโลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก เป็นอาสวะ

สำหรับอาสวะ ๔ นั้น กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งไหลไป คล้อยไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทุกขณะ ผู้ที่จะดับกามาสวะได้ คือ อนาคามิมรรคจิต ต้องบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามี จึงดับกามสวะได้

ภวาสวะ คือ ความพอใจในรูปภพ อรูปภพ ความติดใจในฌาน ซึ่งอรหัตตมรรคจิตดับได้ ความพอใจอันเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ อันโสตาปัตติมรรคดับได้

ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งปวง โสตาปัตติมรรคจิตดับได้

อวิชชาสวะ คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง อรหัตตมรรคละได้

เรื่องของอาสวะ ๔ ไม่มีปัญหา เพราะมีข้อความที่ชัดเจนว่า มรรคจิตใดดับ อาสวะใด

สำหรับพระสูตรบางแห่ง ไม่มีทิฏฐาสวะ มีแต่กามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ ที่เป็นอย่างนี้สำหรับผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ซึ่งจะอบรมเจริญปัญญา เพื่อดับอาสวะขั้นต่อไป

การดับกิเลสตามข้อความในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๑๒ มีว่า

คำว่า อาสวา ความว่า อาสวะเหล่านั้นเป็นไฉน

อาสวะเหล่านั้น คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ฯ

อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไป ณ ที่ไหน ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคนี้

กามาสวะส่วนหยาบ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้นย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งสกทาคามิมรรคนี้

กามาสวะทั้งสิ้น ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอนาคามิมรรคนี้

ภวาสวะ อวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้ ฯ

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อกล่าวถึงการดับไปของกุกกุจจะของพระโสดาบันใน อัฏฐสาลินี ย่อมหมายถึงกุกกุจจะส่วนที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ เพราะว่าข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า ทิฏฐาสวะทั้งสิ้น (คือ ทุกประเภท) กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วย โสดาปัตติมรรค

โสตาปัตติมรรคจิตดับทิฏฐาสวะทั้งสิ้น ไม่เหลือเลย และดับกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ได้ดับกามาสวะ ภวาสวะ หรืออวิชชาสวะเลย แต่นอกจากจะดับทิฏฐาสวะทั้งสิ้นแล้ว ยังดับกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันเป็นเหตุให้ไปสู่อบายด้วย

สำหรับสกทาคามิมรรค กามาสวะส่วนหยาบ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค

แสดงว่าพระสกทาคามีบุคคล ดับกามาสวะส่วนหยาบ และดับภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับกามาสวะนั้นด้วย

สำหรับพระอนาคามีบุคคล ดับกามาสวะทั้งสิ้น ไม่เกิดอีกเลย ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ อันตั้งอยู่ร่วมกันกับ กามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค

และอีก ๒ อาสวะ คือ ภวาสวะและอวิชชาสวะทั้งสิ้น ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้

แสดงให้เห็นถึงกิเลสทั้งหลายซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำ ย่อมดับไปพร้อมกับมรรคจิต ตามควรแก่ฐานะของอกุศลนั้นๆ

โดยนัยของอกุศลธรรม ๙ กอง กุกกุจจะเป็นอกุศลธรรมประเภทนิวรณ์ ประเภทเดียว ไม่เป็นอาสวะ ไม่เป็นโอฆะ ไม่เป็นโยคะ ไม่เป็นอุปาทาน ไม่เป็น กายคันถะ ไม่เป็นอนุสัย ไม่เป็นสังโยชน์ และไม่เป็นกิเลส ๑๐

และที่จะพิจารณาลักษณะของกุกกุจจะในชีวิตประจำวัน ผู้ที่ยังมีกุกกุจจะอยู่ ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๓๘๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคุณธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีเรื่องลักษณะของ กุกกุจจะ ข้อความมีว่า

ชื่อว่าความรำคาญ ในคำว่า ผู้ไม่มีความรำคาญ

พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่โอ้อวด และไม่มีความรำคาญ เพราะฉะนั้น ข้อความตอนนี้แสดงลักษณะของผู้ไม่มีความรำคาญ

ชื่อว่าความรำคาญ ในคำว่า ผู้ไม่มีความรำคาญ ได้แก่ ความรำคาญมือบ้าง ความรำคาญเท้าบ้าง ความรำคาญทั้งมือและเท้าบ้าง ความสำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งควรว่าไม่ควร ความสำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความเป็น ผู้รำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความรำคาญ

ขณะนี้กำลังมีอยู่หรือเปล่า เวลาที่ศึกษาพระธรรมต้องย้อนกลับมาที่ขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

อีกอย่างหนึ่ง ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะกระทำและเพราะไม่กระทำ

ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำและเพราะไม่กระทำอย่างไร

ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นว่า เราทำแต่ กายทุจริต เราไม่ได้ทำกายสุจริต เราทำแต่วจีทุจริต เราไม่ได้ทำวจีสุจริต เราทำแต่ มโนทุจริต เราไม่ได้ทำมโนสุจริต เราทำแต่ปาณาติบาต เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากปาณาติบาต เราทำแต่อทินนาทาน เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากอทินนาทาน เราทำแต่กาเมสุมิจฉาจาร เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เราทำแต่มุสาวาท เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากมุสาวาท เราทำแต่ปิสุณาวาจา เราไม่ได้ทำการงดเว้นจาก ปิสุณาวาจา เราทำแต่ผรุสวาจา เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากผรุสวาจา เราทำแต่ สัมผัปปลาปะ เราไม่ได้ทำการงดเว้นจากสัมผัปปลาปวาจา เราทำแต่อภิชฌา เราไม่ได้ทำอนภิชฌา เราทำแต่พยาปาท เราไม่ได้ทำอัพยาปาท เราทำแต่มิจฉาทิฏฐิ เราไม่ได้ทำสัมมาทิฏฐิ

ความรำคาญ ความเดือดร้อนจิต ความกลุ้มใจ ย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำและเพราะไม่กระทำอย่างนี้

เปิด  237
ปรับปรุง  5 พ.ย. 2566