แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1395
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๘
ข้อความในพระไตรปิฎก ไม่ได้แสดงแต่ผลมากอานิสงส์มากของอานาปานสติ ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อนุรุทธสังยุต รโหคตวรรคที่ ๑ ข้อ ๑๒๕๓ – ๑๒๙๙ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นข้อความก่อนอานาปานสังยุต แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่รอบคอบ เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติระลึกที่ลมหายใจ ปัญญาต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงจะมีอานิสงส์มาก มีผลมากได้
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจาะจงทำอานาปานสติสมาธิ แต่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดอยู่ตลอดเวลาที่จะสังเกตพิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นสัมมาสติหรือเปล่า เพราะตามที่มีท่านผู้ฟังถามว่า ก่อนนอนควรจะเจริญสติไหม หรือว่าเมื่อตื่นนอนควรจะเจริญสติไหม ถ้าไม่ลืมข้อความที่ว่า ควรมีสติทุกเมื่อ จะไม่มีข้อสงสัยเลยว่าก่อนนอนควรจะเจริญสติไหม หรือว่าตื่นนอนแล้วควรจะเจริญสติไหม เพราะท่านผู้นั้นคงจะคิดว่า ควรที่จะให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเอง แต่ขอให้ทราบว่า ในตอนเริ่มแรกที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ความเป็นตัวตน ความเป็นสัตว์บุคคลยังมีมาก เพราะฉะนั้น แม้ว่าในขณะนั้นเป็นสติที่เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ความเป็นตัวตนยังมีอยู่จึงดูเสมือนว่า เราทำสติ หรือว่าเราเจริญสติ จนกว่าปัญญาจะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏค่อยๆ เพิ่มขึ้น และค่อยๆ ละคลายความเป็นเราที่กำลังเจริญสติออก จึงจะเป็นสติเจริญขึ้น
นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องสังเกตอยู่ตลอดเวลาว่า ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ย่อมทำกิจละ แต่ถ้าปัญญานั้นยังไม่พอ ก็ต้องอบรมเจริญสติ โดยการระลึกอยู่เสมอว่า ควรมีสติทุกเมื่อ
ถ้าระลึกถึงพระธรรมที่ว่า ควรมีสติทุกเมื่อ ก็จะเป็นผู้ที่สะสมสติ โดยที่ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด จะหยิบหนังสือ จะบริโภคอาหาร หรือจะทำอะไรก็ตาม สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งแต่ก่อนนี้สติคงจะไม่เกิดถ้าไม่รู้ว่าสติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แม้ว่าปัญญายังรู้ไม่ชัด จะไปฝืนให้ปัญญารู้ชัดทันทีก็ไม่ได้ แต่จะรู้ว่าที่ปัญญาจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ก็ในขณะที่ สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ทางตาเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางจมูกอาจจะมีกลิ่นปรากฏหรือไม่มี ทางลิ้น ทางกายกระทบสิ่งที่สัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทางใจกำลังคิดนึก ควรมีสติทุกเมื่อ ขณะนี้อาจจะเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ปัญญายังไม่รู้ชัด เป็นเรื่องของปัญญาซึ่งจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น อย่ากังวล และควรจะรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดชั่วขณะหนึ่งและสติก็ต้องดับ สติจะระลึกที่สิ่งที่อ่อน หรือที่แข็ง หรือที่เย็น หรือระลึกที่ริมฝีปากที่กำลังกระทบกัน หรือที่เสียง หรือที่สภาพรู้ อะไรๆ ก็ได้ ระลึกก่อน แม้ว่าปัญญายังไม่รู้ชัด แต่ให้เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นขณะที่สติเกิด และการศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ต้องเจริญขึ้นทีละน้อยในขณะที่สติระลึก คือ เพิ่มการรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือสิ่งที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออก ตลอดไปในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกี่ชาติก็ตาม จนกว่าลักษณะของนามธรรมจะปรากฏทางมโนทวาร ลักษณะของรูปธรรมจะปรากฏทางมโนทวาร โดยจะต้องสังเกตว่า ต้องมีการละคลายด้วย อย่ามีการจดจ้องต้องการที่จะทำอยู่ตลอดเวลา
นี่คือสิ่งซึ่งละเอียดที่จะต้องพิจารณา เพราะบางคนถามว่า ถ้าหาปัจจัยให้สติเกิด เช่น สนทนาธรรมกับสหายธรรมในเรื่องของอภิธรรมบ้าง ในเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐานบ้าง ก็รู้ว่าขณะนั้นย่อมเป็นปัจจัยให้ปัญญาเจริญขึ้น เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรม จะโดยขั้นการฟังหรือว่าโดยขั้นการคิด หรือจะโดยขั้นที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็แล้วแต่ จะมิใช่เหมือนกับเป็นการจงใจหรือ นี่เป็นความคิดซึ่งคิดว่าจะมีความจงใจแอบแฝงอยู่ จะไม่เป็นสัมมาสติ
แต่ต้องพิจารณาว่า ใครก็ตามที่จะอ่านพระไตรปิฎก หยิบหนังสือขึ้นมาและ คิดว่าเพื่อให้สติเกิดในขณะที่กำลังอ่าน ขณะนั้นผิด แต่ถ้าอ่านเพื่อที่จะเข้าใจและรู้ว่าจะเป็นปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิด สติอาจจะเกิดหลังจากที่อ่านจบปิดหนังสือและเอาหนังสือไปเก็บ หรืออาจจะหลังจากนั้นอีกนานก็ได้ หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังอ่านนั้นเองก็อาจจะระลึกได้ว่า ทางตาที่กำลังเห็น ต่างกับทางใจที่กำลังคิดคำที่กำลังอ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจุดประสงค์จงใจที่จะให้สติเกิดในขณะนั้นในขณะนี้ ย่อมเป็นสัมมาสติ แต่ถ้าอ่านเพราะคิดว่าเพื่อให้สติเกิดในขณะที่กำลังอ่าน ขณะนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะว่ามีความต้องการ มีความจงใจ มีความตั้งใจ ไม่เห็นว่า สติเป็นอนัตตา
แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้เหตุปัจจัยว่าปัญญาจะเจริญได้อย่างไร และรู้ว่าสติจะเกิดในขณะไหนก็ย่อมได้ ก็จะเป็นผู้ที่ระลึกได้ว่า ควรมีสติทุกเมื่อ แม้ว่าในระหว่างที่สติ ยังไม่เจริญจนกระทั่งปัญญารู้ชัด ขณะนั้นก็ยังเห็นว่า ขณะที่มีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติ
เพราะฉะนั้น คงจะไม่มีปัญหาต่อไปว่า ขณะนั้นควรจะเจริญสติไหม ขณะนี้ควรจะเจริญสติไหม เพราะว่าควรมีสติทุกเมื่อ แต่ต้องระวังความจงใจหรือความต้องการ หรือโลภะซึ่งแฝงอยู่ ที่อยากจะให้มีสติตอนที่อยู่ตามลำพังคนเดียวบ้าง หรือในขณะที่กำลังสนทนาธรรม หรือในขณะที่กำลังอ่านธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้นจะต้องสังเกตและต้องคลายการที่มีความต้องการอย่างนั้น มิฉะนั้น ความต้องการอย่างนั้น จะทำให้เป็นผู้ที่มุ่ง และจงใจ และพากเพียร และจดจ้อง ซึ่งแสนเหนื่อย โดยที่ ผลน้อยจริงๆ เพราะว่ามีความพากเพียรพยายามทำ จนกระทั่งเหมือนกับเป็นการฝืนให้ปัญญาเกิด โดยที่เหตุยังไม่สมควรแก่ผล
อวิชชา ความไม่รู้ เป็นอาสวะ โลภะ ความต้องการ เป็นทั้งกามาสวะ และภวาสวะ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ซึ่งปัญญายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทเป็นทิฏฐาสวะ เพราะฉะนั้น เมื่อกิเลสเป็นสิ่งที่ละเอียดและละยาก ข้อปฏิบัติก็ต้องละเอียด และต้องเป็นผู้ที่รอบคอบจริงๆ มิฉะนั้น จะทำให้การปฏิบัติผิดได้
ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดคิดว่า อยากจะไปปฏิบัติธรรม ทำอย่างไรถึงจะละความอยากในขณะนั้นได้ หรือว่าจะตามความอยากนั้นไปเลย
นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องระลึกได้สังเกตได้แล้วว่า ขณะที่คิดอยากจะไปปฏิบัติธรรม ทำไมสติไม่เกิดขึ้นปฏิบัติธรรมทันที โดยระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ้าใครอยากจะไปปฏิบัติธรรม และก็ไป ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะพิจารณาว่า ตอนที่กำลังอยากจะปฏิบัติธรรมในขณะนั้น ทำอย่างไรจึงจะละความอยากไปปฏิบัติธรรมในขณะนั้นได้ หรือว่าไม่มีหนทางเลย
แต่หนทางมี คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกสภาพของความต้องการในขณะนั้นทันที ระลึกลักษณะของเห็นในขณะนั้นทันที ระลึกลักษณะของเสียง ในขณะนั้นทันที ระลึกลักษณะของการคิดนึก หรือว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนาต่างๆ ในขณะนั้นทันที มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่จะไปละความต้องการที่คิดว่าอยากไปปฏิบัติธรรม ซึ่งขณะนั้นที่อยาก ต้องเป็นสิ่งที่ปัญญาต้องละด้วย
ใน สัมโมหวิโนทนี ปฏิจจสมุปปาท วิภังคนิทเทส พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุปาทาน ๔ โดยลำดับของเทศนา คือ ทรงเทศนากามุปาทานก่อน เพราะว่า มีอารมณ์มากและเพราะปรากฏ
ไม่มีใครไม่รู้ตัวว่า ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแค่ไหน ทุกคนรู้ดี วันหนึ่งๆ เต็มไปด้วยความต้องการรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนากามุปาทานก่อน เพราะว่ามีอารมณ์มากและเพราะปรากฏ
นอกจากนั้น กามุปาทานยังเกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง อุปาทานอื่นนอกจากนี้มีอารมณ์น้อย และเกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวงเท่านั้น เพราะว่าเป็น ทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเป็นอัตตวาทุปาทาน ทิฏฐุปาทาน และสีลัพพตุปาทาน
เวลาที่ทุกคนขยันทำงานทุกวันๆ เคยระลึกบ้างหรือเปล่าว่า เป็นกามุปาทาน หรือรู้แต่ชื่อ เวลาที่บอกชื่อก็ทราบว่า ความยินดี พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นความติดอย่างมาก แต่เวลาที่ขยันทำงาน มุ่งที่จะทำงาน ทุกคนต้องทำงานทุกวัน แต่ขณะนั้นพิจารณาหรือเปล่าว่า นั่นคือลักษณะของกามุปาทาน ความติดในงาน ซึ่งไม่พ้นไปจากความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
ผู้ที่มีกามุปาทาน ย่อมเป็นผู้ที่มากไปด้วยการถือมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เพื่อบรรลุวัตถุกามทั้งหลาย
ถ้าเป็นผู้ที่ทำธุรกิจการค้า อาจจะแสวงหาวัตถุมงคลเพื่อให้กิจการค้านั้นเจริญ ก็เป็นมงคลตื่นข่าว เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กายที่จะกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดีๆ ต้องเป็นกุศลวิบาก คือ เป็นผลของกุศลกรรมของตนเอง ไม่ใช่วัตถุอื่นที่สามารถเป็นปัจจัยทำให้ตาเห็นสิ่งที่ดี หูได้ยินเสียงที่ดี จมูกได้กลิ่นที่ดี ลิ้นได้รสที่ดี กายได้รับกระทบสัมผัสที่ดี แต่ผู้ที่มีกามุปาทาน เมื่อมีการติดยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมเป็นผู้ที่ยังคงติดยึดถือมงคล ตื่นข่าวเพื่อที่จะได้บรรลุวัตถุกามเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาทิฏฐุปาทานเป็นลำดับต่อจากกามุปาทาน
ถ้าใครยังถือมงคลตื่นข่าว ควรที่จะระลึกได้ทันทีว่า เป็นผู้ที่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมาก และขณะนั้นเป็นทิฏฐุปาทาน เป็นความเห็นผิด เพราะว่าไม่ได้เข้าใจเรื่องของกรรม คือ กัมมัสสกตาญาณ จริง ๆ
สำหรับอุปาทานอีก ๒ อย่าง คือ สีลัพพตุปาทานและอัตตวาทุปาทาน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสีลัพพตุปาทานก่อน เพราะหยาบ โดยเหตุที่เพียงเห็นกิริยาที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผลก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นสีลัพพตุปาทาน คือ การยึดมั่นในศีล ในพรต ในข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุผล และพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอัตตวาทุปาทานเป็นอันดับสุดท้าย เพราะว่าละเอียดกว่าสีลัพพตุปาทาน
สำหรับอุปาทานโดยนัยของปฏิจจสมุปปาท มีตัณหาเป็นเหตุใกล้ ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ปฏิจจสมุปปาท วิภังคนิทเทส แสดงลักษณะของตัณหา และอุปาทาน มีข้อความว่า
ลักษณะของตัณหา คือ
เหตุลักขณา มีเหตุเป็นลักษณะ
อภินันทนรสา มีความเพลินยิ่งเป็นรส คือ เป็นกิจ
อติตติภาวปัจจุปัฏฐานา มีความไม่อิ่มในอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
เวทนาปทัฏฐานา มีเวทนาเป็นปทัฏฐาน
ลักษณะของอุปาทาน คือ
คหณลักขณัง มีความยึดถือเป็นลักษณะ
อมุญจนรสัง มีความไม่ปล่อยเป็นรส
ตัณหาทัฬหัตตทิฏฐิปัจจุปัฏฐานา มีความยึดมั่นด้วยตัณหา คือ กามุปาทาน และทิฏฐิ คือ อุปาทานที่เหลือ เป็นปัจจุปัฏฐาน
ตัณหาปทัฏฐานัง มีตัณหาเป็นปทัฏฐาน
ลักษณะที่ต่างกันของตัณหาและอุปาทาน โดยอุปมาก็เหมือนกับผู้ที่เหยียดมือออกไปรับขณะที่มีความต้องการสิ่งต่างๆ นั่นเป็นลักษณะของตัณหา และเมื่อรับอารมณ์ที่มาถึงแล้วก็จับไว้ไม่ปล่อย นั่นคือลักษณะของอุปาทาน
ขณะที่มีความต้องการอยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่เคยพอเลย คิดถึงมือที่ยื่นออกไปตลอดเวลาที่จะรับทุกขณะ ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และลักษณะของอุปาทาน คือ ขณะใดที่ได้อารมณ์ใดแล้วก็จับไว้ไม่ปล่อย นั่นคือลักษณะของการยึดถือ
สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวงที่ได้กล่าวถึงแล้ว โดยนัยที่เป็นอกุศลธรรม อกุศลเจตสิก ๓ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ เป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ
อกุศลเจตสิก ๒ ดวง คือ โลภเจตสิกและทิฏฐิเจตสิก เป็นอุปาทาน
สำหรับโลภเจตสิก ในอกุศลธรรม ๙ จำพวก คือ อาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน คันถะ นิวรณ์ อนุสัย สังโยชน์ และกิเลส โลภเจตสิกเป็นทุกอย่าง คือ เป็นทั้งอาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน และยังเป็นอกุศลธรรมจำพวกต่อไป คือ เป็นคันถะ เป็นนิวรณ์ เป็นอนุสัย เป็นสังโยชน์ เป็นกิเลส ไม่เว้นเลย
สำหรับทิฏฐิเจตสิก เป็นอกุศลธรรม ๘ จำพวก คือ เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน คันถะ อนุสัย สังโยชน์ และกิเลส แต่ไม่เป็นนิวรณ์ เว้นเฉพาะนิวรณ์
สำหรับโมหเจตสิก เป็นอกุศลธรรม ๗ จำพวก คือ เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ นิวรณ์ อนุสัย สังโยชน์ และกิเลส แต่ไม่เป็นอุปาทานและคันถะ
แสดงให้เห็นว่า โลภะมากที่สุด คือ ทั้ง ๙ จำพวก