แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1396

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๘


อกุศลธรรมจำพวกที่ ๕ คือ คันถะ

ข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คันถสูตร ข้อ ๓๓๙ แสดงว่า

ธรรมเป็นคันถะเป็นไฉน

คือ คันถะ ๔ อย่าง ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑

ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย อยู่ที่ทุกคนที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพียงแต่ไม่รู้ลักษณะของอกุศลเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งเกิดขึ้นว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลธรรมจำพวกไหน

อัฏฐสาลินี ทุกนิกเขปกถา คันถโคจฉกะ พระบาลีแสดงคันถะ ข้อ ๑๑๔๐ และ ๗๓๖ มีข้อความว่า

ธรรมที่ชื่อว่ากายคันถะ ด้วยอรรถว่า ร้อยรัดนามกาย คือ สืบต่อไว้ในวัฏฏะด้วยสามารถแห่งจุติและปฏิสนธิ

เวลาที่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ ไม่หยุด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นทั้งอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ จนกระทั่งจับติดยึดแน่นเป็นอุปาทาน เมื่อจับติดยึดแน่น ก็เหมือนปมซึ่งรั้งหรือดึงไว้ไม่ให้ไปสู่ที่อื่น โลภะจึงเป็น อภิชฌากายคันถะ ซึ่งดับได้ด้วยอรหัตตมรรค ฉะนั้น ใครที่คิดว่าจะดับอภิชฌากายคันถะหรือโลภะ ให้ทราบว่า ละยากจริงๆ

สำหรับโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในกามอารมณ์ ๕ นั้น ละได้ด้วยอนาคามิมรรค แต่ถ้าพูดถึงอภิชฌากายคันถะซึ่งไม่ได้แยกความยินดีพอใจในกามและในภพ อรหัตตมรรคจึงละอภิชฌากายคันถะได้

เพราะฉะนั้น อย่าแสวงหาวิธีอื่นที่จะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

สำหรับโทสเจตสิกเป็น พยาปาทกายคันถะ ดับได้ด้วยอนาคามิมรรค

เวลาโกรธ จะทำความดีได้ไหม บางทีคิดที่จะให้อภัย แต่ให้อภัยได้ไหมในขณะที่กำลังโกรธ หรือบางคนแม้แต่จะแผ่เมตตาหรืออุทิศส่วนกุศลให้ ขณะที่กำลังโกรธก็อาจจะเลือกบุคคล อุทิศให้ผู้นั้นผู้นี้ แต่เมื่อนึกถึงผู้ที่ทำให้มีความขุ่นเคืองใจ ก็ลองพิจารณาดูว่า สามารถที่จะแม้อุทิศส่วนกุศลให้ได้ไหม ไม่ได้ทำอะไรที่มากกว่านั้นเลย ทำกุศลแล้ว ซึ่งกุศลนั้นสามารถอุทิศให้กับผู้อื่นได้อนุโมทนาได้ แต่ก็ลองพิจารณาดูว่า ถ้าเกิดโทสมูลจิต พยาปาทกายคันถะ ย่อมดึงรั้งไว้ไม่ให้ไปสู่กุศลธรรมทั้งหลาย

สำหรับสีลัพพตปรามาสกายคันถะใน นิกเขปกัณฑ์ คันถโคจฉกะ ข้อ ๗๓๙ มีข้อความว่า

สีลัพพตปรามาสกายคันถะเป็นไฉน

ความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลพรตของ สมณพราหมณ์ในภายนอกแต่ศาสนานี้ ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ เครื่องผูกคือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้อันใด นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

ข้อปฏิบัติที่ผิดทั้งหมด ด้วยศีลพรตของสมณพราหมณ์ในภายนอกแต่ศาสนานี้เป็น สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

สำหรับ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ใน ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ คันถโคจฉกะ ข้อ ๗๔๐ แสดงว่า

อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะเป็นไฉน

มิจฉาทิฏฐิแม้ทุกอย่าง เว้นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ จัดเป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

สำหรับกายคันถะ เพิ่มอกุศลเจตสิก ๑ ดวง คือ โทสเจตสิก เพราะว่าอาสวะ โอฆะ โยคะ อุปาทาน ได้แก่ โลภเจตสิก โมหเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก แต่กายคันถะ นอกจากโลภเจตสิก โมหเจตสิก และทิฏฐิเจตสิกแล้ว ก็เพิ่มโทสเจตสิกที่เกิดกับ โทสมูลจิต ๒ ดวง

ในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องของปรามาสไว้มาก ถ้าเป็นการเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ แม้แต่ในเรื่องของกุศลขั้นต่างๆ ตั้งแต่กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศลก็ตาม ถ้าเข้าใจว่าเป็นการเจริญที่จะทำให้ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือดับกิเลสได้ นั่นเป็นปรามาสหรือปรามาสะ คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เพราะว่า ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ แม้แต่เพียงความผันแปรไปที่ไม่ตรงจริงๆ ก็เป็นสีลัพพตปรามาส

. คันถะ อาจารย์บอกว่าเป็นเครื่องร้อยรัด รัดรึง รัดแน่น แต่โยคะ โอฆะ ก็ร้อยรัดเหมือนกัน วัดกันที่ตรงไหน

สุ. โยคะ ประกอบไว้ อาสวะก็หมักดองและไหลไปเรื่อยๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อเป็นขณะอย่างนั้น ก็เหมือนกับการจมลงสู่โอฆะ ลักษณะของกิเลส ถ้าใครมีอกุศลธรรมในวันหนึ่งเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีทางที่จะออกไปจากมหาสมุทรของสังสารวัฏฏ์ได้เลย เพราะไม่สามารถพ้นจากอกุศลธรรมด้วยอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น อาสวะนั่นเองเป็นโอฆะ คือ เหมือนกับห้วงน้ำมหาสมุทรที่ทำให้สัตว์จมลงทุกขณะ และโยคะ คือ เมื่อจมอยู่ในมหาสมุทรย่อมประกอบด้วยน้ำล้อมรอบ คนที่จมน้ำ เบื้องบนก็น้ำ ข้างใต้ก็น้ำ ข้างขวาก็น้ำ ข้างซ้ายก็น้ำ ล้อมรอบด้วยน้ำ นั่นคือโยคะ

เพราะฉะนั้น อาสวะก็ดี โอฆะก็ดี โยคะก็ดี ได้แก่ธรรมประเภทเดียวกัน แต่แสดงลักษณะของการที่อกุศลเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง หมักดองมากจนกระทั่งไหลท่วมท้นออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอาสวะ และเมื่อเป็นอย่างนั้นก็จมลงทุกที ไม่มีทางที่จะขึ้นจากมหาสมุทรของวัฏฏะ เพราะว่าประกอบไว้ด้วยน้ำทั้งข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา

ถ. ขณะนี้เราก็อยู่ตรงนั้น ใช่ไหม

สุ. ให้รู้ตามความเป็นจริง ชีวิตตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อุปมาจะไม่ทราบเลยว่า กำลังจมอยู่ในมหาสมุทรของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งไม่มีทางที่จะพ้นไปได้ ถ้าข้อปฏิบัติไม่ถูก ก็ยังจม จมไปเรื่อยๆ แต่ละครั้งแต่ละขณะที่โลภะเกิด อวิชชาเกิด ทิฏฐิเกิด

สำหรับคันถะก็เพิ่มพยาปาท เพราะฉะนั้น ให้เห็นสภาพที่ต่างกันของกายคันถะว่า เมื่อเป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ เป็นอุปาทานที่ทำให้ติด เมื่อทำให้ติดก็เหมือนกับปมซึ่งทำให้ดึงหรือรั้งไว้ สิ่งที่ยึดติดแน่นแล้วก็เป็นกายคันถะด้วย แต่ กายคันถะนั้น เพิ่มเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือ โทสเจตสิก ซึ่งเกิดกับโทสมูลจิตเป็น พยาปาทกายคันถะ

อกุศลธรรมจำพวกที่ ๖ คือ นิวรณ์

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นิวรณสูตร ข้อ ๓๔๕ แสดงนิวรณ์ ๕ คือ

กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาบาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑

อกุศลธรรมที่ชื่อว่านิวรณ์ ด้วยอรรถว่า เพราะกางกั้น คือ รัดรึงจิตไว้

ล้วนแต่รัดรึงไว้ แต่ก็เพิ่มกำลังหรือลักษณะอาการขึ้น เช่น นอกจากจะรัดรึงติดแน่นแล้ว ยังกางกั้นไว้อีกด้วย นั่นคือลักษณะของนิวรณธรรม

ธรรมสังคณีปกรณ์ อภิธรรมปิฎก นิวรณโคจฉกะ ข้อ ๙๓๑ แสดงนิวรณ์ ๖ คือ

กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง

พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

ถีนมิทธนิวรณ์ ได้แก่ ถีนเจตสิก มิทธเจตสิก ที่เกิดกับอกุศลสสังขาริก ๕ ดวง

อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก กุกกุจจเจตสิก ซึ่งอุทธัจจเจตสิกที่เป็นนิวรณ์เกิดกับโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ และกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ กุกกุจจเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์

อวิชชานิวรณ์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง

นี่ก็เพิ่มเจตสิกขึ้นจากกายคันถะ คือ มีทั้งโลภเจตสิก โทสเจตสิก ถีนเจตสิก มิทธเจตสิก อุทธัจจเจตสิก กุกกุจจเจตสิก วิจิกิจฉาเจตสิก และโมหเจตสิก

กุกกุจจเจตสิกจะเห็นได้ว่า ไม่เป็นอกุศลธรรมจำพวกอื่นเลย นอกจากเป็นนิวรณ์จำพวกเดียวเท่านั้น

. ทำไมบางครั้งทรงแสดงนิวรณ์ ๕ และบางครั้งทรงแสดงนิวรณ์ ๖

สุ. สำหรับการอบรมเจริญสมถภาวนาซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับนิวรณ์ ๕ เพราะฉะนั้น โดยมากจะแสดงนิวรณ์ ๕ เพื่อให้เห็นว่า ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นปฏิปักษ์กับธรรม ๕ ประการซึ่งเป็นองค์ฌาน ๕

แต่การเจริญปัญญา มีอวิชชานิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้นด้วย เพราะถ้าเป็นผู้ที่ ไม่รู้อะไรเลย จะอบรมเจริญปัญญาได้อย่างไร และไม่รู้ด้วยว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ยิ่งซ้ำซ้อนเข้าไปอีก เมื่อเป็นผู้ที่ไม่รู้ และไม่รู้ว่าไม่รู้ จึงเป็นนิวรณ์ที่กั้นการอบรมเจริญข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔

ส่วนใหญ่จะมีผู้ที่ไม่รู้ และไม่รู้ว่าไม่รู้ ทำอะไรกันหลายอย่าง แต่ถ้าถามถึงเหตุผล หรือถามถึงปัญญาว่า ทำอย่างนั้นแล้วปัญญารู้อะไร ก็ตอบไม่ได้สัก อย่างเดียว ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ตรง ในขณะนั้นผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่รู้เลยว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้นั้นปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้น สำหรับการอบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา นิวรณธรรม ๕ เป็นธรรมที่ตรงกับข้ามกับองค์ของฌาน ๕

อกุศลธรรมจำพวกที่ ๗ คือ อนุสัย ๗

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อนุสยสูตร ข้อ ๓๔๑ แสดงว่า อนุสัยมี ๗

อนุสัย ๗ คือ กามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ มานะ ๑ ภวราคะ ๑ อวิชชา ๑

อนุสัยเป็นกิเลสที่ละเอียด และเมื่อเกิดขึ้นก็นอนเนื่องอยู่ในจิต เพราะไม่ได้มีปัญญาที่จะดับกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น กิเลสก็ยังคงนอนเนื่องอยู่ในจิตต่อๆ ไปได้

สำหรับกามราคะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดขึ้นขณะใด ไม่สูญ นอนเนื่องอยู่ต่อไปอีก ฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะมากสักแค่ไหน ซึ่งผู้ที่จะดับกามราคานุสัยได้ คือ อนาคามิมรรคจิต

ถ้าเป็นปุถุชน อย่าได้ทำวิธีอื่นที่จะละความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นอกจากเจริญปัญญาที่ถูกต้องจนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และเมื่อเป็นพระอนาคามี จึงจะดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

สำหรับปฏิฆานุสัย คือ ขณะใดที่โทสมูลจิตเกิด โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตก็เป็นปฏิฆานุสัย นอนเนื่องอยู่สืบต่อไปอีก ซึ่งจะดับได้ด้วยอนาคามิมรรค

เพราะฉะนั้น คนที่รู้สึกว่าเวลาโกรธแล้วไม่มีความสุขเลย ไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ ก็อยากที่จะไม่โกรธและมักจะถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ ดูเสมือนว่า จะเทียบพระธรรมเท่ากับยาแก้ปวดศีรษะเม็ดหนึ่ง คือ คิดว่าจะมีวิธีอะไรที่จะทำให้หายปวดศีรษะได้ หายไม่สบายใจได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ปฏิฆะหรือความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความไม่สบายใจต่างๆ ผู้ที่จะดับได้ต้องเป็น พระอนาคามีบุคคล

ถ้าเป็นผู้ที่รู้ความละเอียดของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะไม่มีการคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ เพราะว่าทำไม่ได้ นอกจากอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล และอย่าคิดว่า จะมีพระธรรมข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจะมีคุณค่าเปรียบได้เท่ากับยาเม็ดเดียว เพราะว่าพระธรรมสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ระงับชั่วคราวเหมือนกับยาทั้งหลายและก็มีโรคภัยอื่นๆ เกิดต่อไปอีก

สำหรับทิฏฐานุสัย ดับได้ด้วยโสตาปัตติมรรค วิจิกิจฉานุสัยดับได้ด้วย โสตาปัตติมรรค มานานุสัยดับได้ด้วยอรหัตตมรรค ภวราคานุสัยดับได้ด้วยอรหัตตมรรค อวิชชานุสัยดับได้ด้วยอรหัตตมรรค

. คำว่า นอนเนื่อง ในเมื่อจิตเกิดดับอยู่ทุกขณะ อกุศลธรรมจะไปนอนเนื่องอยู่ตรงไหน

สุ. สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น โลภะ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีโลภะในอดีตซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทเป็นปัจจัยทำให้โลภะในขณะนี้เกิดขึ้น และโลภะที่เกิดในขณะนี้แม้ ดับไปแล้วก็จริง แต่ปัญญายังไม่ได้ดับโลภะนั้น โลภะเป็นเพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น โลภะนั้นก็เกิดและดับ และนอนเนื่อง คือ มีเชื้อที่จะเกิดต่อไปอีกได้

อกุศลธรรมจำพวกที่ ๘ คือ สังโยชน์

สังโยชน์เหมือนกับเชือกซึ่งผูกดึงให้กลับมาสู่ภพภูมินั้นๆ เช่น ถึงแม้ว่าจะสามารถระงับกิเลสได้ด้วยการอบรมเจริญสมถภาวนา ซึ่งยากมากกว่าที่จะบรรลุถึงฌานจิต และถ้าฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต ทำให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ เป็นรูปพรหมบุคคล แต่เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นผู้ที่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอีก

เปิด  258
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566