แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1397

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๘


ธรรมสังคณีปกรณ์ สังโยชนโคจฉกะ ข้อ ๗๑๙ และ ข้อ ๙๑๙ แสดงสังโยชน์ ๑๐ คือ

กามราคสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

ปฏิฆสังโยชน์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

มานสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

ทิฏฐิสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

วิจิกิจฉาสังโยชน์ เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์

สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

ภวราคสังโยชน์ เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

อิสสาสังโยชน์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

มัจฉริยสังโยชน์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

อวิชชาสังโยชน์ เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง

นี่เป็นเพียงการทบทวน เพราะท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า โลภมูลจิตมีเจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ประเภทเพราะเหตุใด และโทสมูลจิตมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ประเภทเพราะเหตุใด เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงการทบทวนให้เห็นว่า ธรรมย่อมเป็นธรรม เปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมนั้นๆ ไม่ได้

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค แสดงสังโยชน์ ๑๐ โดยนัยต่างกับใน ธรรมสังคณีปกรณ์ คือ โอรัมภาคิยสูตร ข้อ ๓๔๙ แสดงสังโยชน์อันเป็นส่วน เบื้องต่ำ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑

และ อุทธัมภาคิยสูตรที่ ๑ ข้อ ๓๕๑ แสดงสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ คือ รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑

ส่วนใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สังโยชนสูตรที่ ๘ และปหานสูตร ที่ ๙ แสดงสังโยชน์ ๗ คือ ความยินดี ๑ ความยินร้าย ๑ ความเห็นผิด ๑ ความสงสัย ๑ มานะ ๑ ความยินดีในภพ ๑ อวิชชา ๑

และใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มัจฉริยสูตรที่ ๑๐ แสดงสังโยชน์ ๗ คือ ความยินดี ๑ ความยินร้าย ๑ ความเห็นผิด ๑ ความสงสัย ๑ มานะ ๑ ความริษยา ๑ ความตระหนี่ ๑

ไม่น่าสงสัย หรือน่าสงสัย ก็แล้วแต่จะแสดง ซึ่งก็คือสังโยชน์ จะแสดงโดยเป็นสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำก็ได้สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลและพระอนาคามีบุคคลละ แสดงโดยเป็นสังโยชน์เบื้องสูงก็ได้ คือ เป็นธรรมที่พระอรหันต์ละ

อกุศลธรรมจำพวกที่ ๙ คือ กิเลส ๑๐

ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ กิเลสโคจฉกะ ข้อ ๗๙๑ และ ๘๐๑ มีข้อความว่า

ธรรมเป็นกิเลสเป็นไฉน

กิเลสวัตถุ ๑๐ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ

ธรรมที่เป็นกิเลสเป็นธรรมที่เศร้าหมอง แต่สภาพธรรมที่เป็นกิเลสต้องเกิดร่วมกับสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรมที่เป็นกิเลส ๑๐ เป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ส่วนอกุศลธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยนั้น เศร้าหมองเพราะกิเลส เหมือนปลาร้ากับใบคา อะไรที่มีกลิ่นเหม็น และอะไรเหม็นเพราะกลิ่นนั้น เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมที่เป็นกิเลส ๑๐ เป็นธรรมที่เศร้าหมอง ส่วนอกุศลธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยนั้น เศร้าหมองเพราะกิเลสที่เกิดร่วมกัน

. ทำไมถีนะเป็นกิเลส แต่มิทธะไม่เป็นกิเลส ทั้งๆ ที่เป็นนิวรณ์ก็คู่กัน

สุ. เพราะว่ากิเลสได้แก่สภาพธรรมที่เศร้าหมอง ตนเองเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง และทำให้สภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วยเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ถีนะเป็นกิเลส เป็นสภาพที่เศร้าหมอง ส่วนมิทธะเศร้าหมองเพราะกิเลสที่ตนเกิดร่วมด้วย

ธรรมที่เศร้าหมองเป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหม

ธรรมอะไรที่เศร้าหมองที่เป็นอารมณ์ของกิเลส ก็คือ อกุศลจิต สภาพธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเศร้าหมอง และเป็นอารมณ์ของสังกิเลส

ธรรมที่ไม่เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหม ได้ คือ กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก กามาวจรกิริยา รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา และรูปทั้งหมด สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมไม่เศร้าหมอง แต่เป็นอารมณ์ของสังกิเลส กิเลสพอใจในกิเลสและในสิ่งที่ไม่ใช่กิเลส

อยากเป็นรูปพรหมไหม อยากเป็นเทวดาไหม อยากมีกุศลจิตไหม

สำหรับการลำดับอกุศลธรรม ๙ จำพวก บางท่านก็ถามว่า อะไรเป็นจำพวก ที่ ๑ ที่ ๒ หรือว่าจำพวกที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่สงสัย สงสัยว่าอะไรเป็นจำพวกที่ ๕

ซึ่งลำดับของการเทศนาไม่เป็นปัญหาเลย ไม่ว่าจะกล่าวถึงธรรมหมวดใด เพราะว่า ก็เป็นอกุศลธรรมแต่ละจำพวกๆ นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ในพระสูตรก็ดี ในพระอภิธรรมก็ดี การลำดับอกุศลธรรม ๙ กอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกครั้ง เช่น ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ถ้าจะกล่าว ถึงสูตรต่างๆ อาสวสูตร แสดงอาสวะ ๓ คือ กามาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ เป็นข้อ ๓๑๕ โอฆสูตร แสดงโอฆะ ๔ เป็นข้อ ๓๓๓

ข้อ ๓๓๕ เป็น โยคสูตร แสดงโยคะ ๔

ข้อ ๓๓๗ อุปาทานสูตร แสดงอุปทาน ๔

ข้อ ๓๓๙ คันถสูตร แสดงคันถะ ๔

ข้อ ๓๔๑ อนุสยสูตร แสดงอนุสัย ๗

ข้อ ๓๔๕ นิวรณสูตร แสดงนิวรณ์ ๕

ข้อ ๓๔๙ โอรัมภาคิยสูตร แสดงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕

ข้อ ๓๕๑ อุทธัมภาคิยสูตร แสดงสังโยชน์เบื้องสูง ๕

แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องลำดับเหมือนๆ กันกับที่อื่นๆ

สำหรับใน ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ แสดงอาสวโคจฉกะก่อน คือ ๑. อาสวโคจฉกะ ๒. สังโยชนโคจฉกะ ๓. คันถโคจฉกะ ๔. โอฆโคจฉกะ ๕. โยคโคจฉกะ ๖. นิวรณโคจฉกะ ๗. อุปาทานโคจฉกะ ๘. กิเลสโคจฉกะ

ธรรมสังคณีปกรณ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก ไม่มีอนุสัย แต่แสดงอนุสัยโดยละเอียดมากใน คัมภีร์ยมกปกรณ์ คือ อนุสยยมก

เพราะฉะนั้น ประมวลได้ว่า อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จำแนกออกเป็นอกุศลธรรม ๙ จำพวก แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงไว้ครบ เพราะว่าบางครั้งแสดงเพียง ๘ ก็มี เช่น ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มี อาสวสูตร โอฆสูตร โยคสูตร อุปาทานสูตร คันถสูตร อนุสยสูตร นิวรณสูตร โอรัมภาคิยสูตร อุทธัมภาคิยสูตร แต่ไม่มีเรื่องของกิเลส ๑๐

สำหรับใน ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ มี อาสวโคจฉกะ สังโยชนโคจฉกะ คันถโคจฉกะ โอฆโคจฉกะ โยคโคจฉกะ นิวรณโคจฉกะ อุปาทานโคจฉกะ กิเลสโคจฉกะ ไม่มีอนุสัยใน ธรรมสังคณีปกรณ์ แต่มีใน ยมกปกรณ์

ท่านผู้ฟังอาจจะสอบทานเรื่องของอกุศลเจตสิกกับอกุศลจิตด้วยตัวของท่านเองว่า เจตสิกดวงนี้จะเกิดกับอกุศลจิตดวงไหนได้บ้าง เช่น กามาสวะ ได้แก่ โลภเจตสิก เกิดกับจิตกี่ดวง ทบทวนซ้ำที่ได้กล่าวถึงแล้ว

กามาสวะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดกับโลภมูลจิตกี่ดวง เว้นดวงไหนบ้างหรือเปล่า ขณะที่มีความเห็นผิด พอใจในรูปที่เห็นผิด ในเสียง ในกลิ่น ในรสได้ไหม เพราะฉะนั้น โลภเจตสิกที่เป็นกามาสวะเกิดกับโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง

ภวาสวะ ได้แก่ โลภมูลจิตที่พอใจในภพ ในขันธ์ ไม่ใช่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เป็นความยินดีพอใจในขันธ์ ในภพ เพราะฉะนั้น ภวาสวะ คือ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ขณะที่ไม่ได้เป็นไปกับความเห็นผิดใดๆ เลย ขณะนั้นยังมีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีความเห็นผิด ใดๆ ที่จะเกิดกับพระโสดาบันบุคคล แต่พระโสดาบันบุคคลยังมีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลยังมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

ทิฏฐาสวะ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

อวิชชาสวะ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง

อกุศลธรรมจำพวกต่อไป คือ สังโยชน์ ๑๐

กามราคสังโยชน์ ได้แก่ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้ายังไม่ได้ดับหมดไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องย้อนกลับมาสู่ความยินดีพอใจในกามภูมิ คือ ต้องเกิดในกามภูมิด้วยความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

ทิฏฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง

สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ถ้าเป็นความเห็นผิด ไม่ว่าจะในข้อปฏิบัติหรือในเรื่องความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ต้องได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวงเท่านั้น

ภวราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวงเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

อิสสาสังโยชน์ ได้แก่ อิสสาเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

มัจฉริยสังโยชน์ ได้แก่ มัจฉริยเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง

สำหรับคันถะ ๔ ได้แก่

อภิชฌากายคันถะ ความยินดีพอใจในกามและในภพ

พยาปาทกายคันถะ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจต่าง ๆ

สีลัพพตปรามาสกายคันถะ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด

อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ความเห็นผิดอื่นทั้งหมด เว้นสีลัพพตปรามาส

เพราะฉะนั้น อภิชฌากายคันธะ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง เพราะว่าไม่ได้แยกเป็นกามกับภพ ถ้าไม่แยกเป็นกามกับภพ ต้องเกิดกับ โลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง

พยาปาทกายคันถะ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

ถ้าเป็นทิฏฐิ จะเกิดกับจิตอื่นไม่ได้เลย นอกจากโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวงเท่านั้นเท่านั้น

นิวรณ์ ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

นิวรณ์ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาปาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจนิวรณ์ ๑ กุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ อวิชชานิวรณ์ ๑

กามฉันทนิวรณ์ เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

พยาปาทนิวรณ์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

ถีนมิทธนิวรณ์ เกิดกับอกุศลจิต ๕ ดวง

อุทธัจจนิวรณ์ เกิดกับโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์

กุกกุจจนิวรณ์ เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

วิจิกิจฉานิวรณ์ เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์

อวิชชานิวรณ์ เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง

อุปาทาน ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

กามุปาทาน ต้องเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง

ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เกิดในโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

สำหรับกิเลส ๑๐

โลภกิเลสเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสกิเลสเกิดในโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหกิเลสเกิดในอกุศลจิตทุกดวง มานเจตสิกเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ทิฏฐิกิเลสเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง วิจิกิจฉากิเลสเกิดในโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง ถีนกิเลสเกิดในอกุศลสสังขาริก อุทธัจจเจตสิกเกิดใน อกุศลจิตทุกดวง สำหรับกิเลส อุทธัจจเจตสิกเกิดในอกุศลจิตทุกดวง อหิริกเจตสิก เกิดในอกุศลจิตทุกดวง อโนตตัปปเจตสิกเกิดในอกุศลจิตทุกดวง

ยมกปกรณ์ อนุสยยมก อนุสยวาระ มีข้อความแสดงว่า อนุสัย ๗ นอนเนื่องอยู่ในสภาพธรรมใดบ้าง คือ

กามราคานุสัย ย่อมนอนเนื่องในเวทนา ๒ ในกามธาตุ

โลภมูลจิตมีเวทนา ๒ คือ โสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา

ปฏิฆานุสัย ย่อมนอนเนื่องในทุกขเวทนา

มานานุสัย ย่อมนอนเนื่องในเวทนา ๒ ในกามธาตุ ในรูปธาตุ ในอรูปธาตุ

ทิฏฐานุสัย ย่อมนอนเนื่องในธรรมที่นับเนื่องในกายของตนทั้งหมด

วิจิกิจฉานุสัย ย่อมนอนเนื่องในธรรมที่นับเนื่องในกายของตนทั้งหมด

ภวราคานุสัย ย่อมนอนเนื่องในรูปธาตุ ในอรูปธาตุ

อวิชชานุสัย ย่อมนอนเนื่องในธรรมที่นับเนื่องในกายของตนทั้งหมด

ที่แสดงอย่างนี้ คือ ตามขั้นของบุคคล ซึ่งเป็นปุถุชนและพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565