แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1398
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๘
ขอกล่าวทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ฟังชินกับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ซึ่งจำแนกเป็นอกุศลธรรม ๙ กองว่า อกุศลเจตสิกประเภทใดเป็นอกุศลธรรมจำพวกไหน จะได้เห็นสภาพธรรมของตัวท่านเองตามความเป็นจริง
สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง โลภเจตสิก ๑ ดวง เป็นอกุศลธรรมทั้ง ๙ จำพวกฉะนั้น ควรจะระลึกว่า ความพอใจ ความติดใจ ความต้องการ ความยินดี ความเพลิดเพลินในอารมณ์ เป็นอกุศลธรรมล้วน และดับยาก เพราะถ้าจะดับโลภะจนกระทั่งหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ต้องเป็นปัญญาขั้นอรหัตตมรรคจึงละได้
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องละโลภมูลจิต ซึ่งในชีวิตประจำวันไม่ขาดโลภะเลย เพราะว่าโลภเจตสิกเป็นอาสวะ ๒ อย่าง คือ กามาสวะและภวาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นกามาสวะ ความพอใจในภพ ในขันธ์ เป็นภวาสวะ
เมื่อเป็นอาสวะก็เป็นโอฆะด้วย คือ กามโอฆะและภวโอฆะ เป็นโยคะด้วย คือ กามโยคะและภวโยคะ นอกจากนั้นยังทำให้ยึดมั่น ติด เป็นอุปาทาน คือ กามุปาทาน เป็นคันถะด้วย คือ อภิชฌากายคันถะ เป็นนิวรณ์ คือ กามฉันทนิวรณ์ เป็นอนุสัย ๒ คือ กามราคานุสัยและภวราคานุสัย เป็นสังโยชน์ ๒ คือ กามราคสังโยชน์และภวราคสังโยชน์ และเป็นกิเลส คือ โลภกิเลส
เจตสิกที่เป็นอกุศลธรรมได้ ๘ จำพวก คือ ทิฏฐิเจตสิก เป็นอาสวะ คือ ทิฏฐาสวะ เป็นโอฆะ คือ ทิฏฐิโอฆะ เป็นโยคะ คือ ทิฏฐิโยคะ เป็นอุปาทาน ๓ คือ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เป็นคันถะ ๒ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอิทังสัจจาภิเวสกายคันถะ เป็นอนุสัย คือ ทิฏฐานุสัย เป็นสังโยชน์ ๒ คือ ทิฏฐิสังโยชน์ และสีลัพพตปรามาสสังโยชน์ เป็นกิเลส คือ ทิฏฐิกิเลส
ถ้าจำอกุศลธรรม ๙ จำพวก ได้ยินชื่อของเจตสิกเหล่านี้จะรู้ได้ทันที เช่น ถ้าจำอาสวะได้ ก็รู้ว่าทิฏฐิเป็นอาสวะ คือ ทิฏฐาสวะ เมื่อเป็นทิฏฐาสวะก็ต้องเป็น ทิฏฐิโอฆะ เป็นทิฏฐิโยคะ สำหรับอุปาทาน ทิฏฐิเป็นอุปาทานถึง ๓ อย่าง คือ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน
เรื่องของความเห็นผิดเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก โดยเฉพาะเมื่อเห็นลักษณะของทิฏฐิเจตสิกที่เป็นอกุศลธรรม ๘ จำพวก และเป็นสภาพธรรมที่พระโสดาบันบุคคลดับด้วยโสตาปัตติมรรคจิต
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล จะต้องมีทิฏฐาสวะ ทิฏฐิโอฆะ ทิฏฐิโยคะ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน สีลัพพตปรามาสกายคันถะ หรืออิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ มีทิฏฐานุสัย ทิฏฐิสังโยชน์ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ และมีทิฏฐิกิเลส ฉะนั้น กว่าจะดับได้ ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมอย่างละเอียดให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพของธรรมด้วย
ขอกล่าวถึงข้อควรพิจารณา บางท่านไม่ได้ฟังพระธรรมจากผู้ที่ตนเลื่อมใส แต่ยังเลื่อมใสในบุคคลนั้นโดยที่ไม่ได้ฟังพระธรรมใดๆ จากบุคคลนั้นเลย เช่น เลื่อมใสในความเป็นผู้อยู่ง่ายกินง่ายของบุคคลนั้น แม้ว่าบุคคลนั้นจะใช้คำพูดที่เป็นคำหยาบคาย ก็เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่มีทิฏฐิมานะมาก สมควรที่ผู้ที่ตนเลื่อมใสนั้นจะใช้คำหยาบคาย เป็นการทรมานทิฏฐิกิเลสของตน
นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าธรรมเป็นของจริง เป็นสัจธรรม ไม่ต้องใช้คำหยาบคายใดๆ ก็สามารถทำให้ผู้ฟังน้อมพิจารณาสภาพธรรมนั้น เกิดความเข้าใจถูก และเห็นจริงถูกต้องตามลักษณะของธรรมนั้นๆ ได้
ขอกล่าวถึงข้อความใน คัมภีร์สุโพธาลังการ ซึ่งรจนาโดยท่านพระ สังฆรักขิตมหาสามิ ซึ่งมีทั้งหมด ๕ ปริจเฉท
ในปริเฉทที่ ๔ ข้อ ๒๘๖ มีข้อความว่า
ข้าแต่พระจอมมุนี พระดำรัสของพระองค์ แข็งก็หามิได้ กระด้างหรือเล่า ก็หามิได้ แม้เช่นนั้นก็ขุดได้อย่างหนักหน่วงซึ่งความเบาของกลุ่มชนจนหมดรากเหง้า
ความเบา คือ ความเขลาของบุคคล โดยที่ไม่ต้องใช้คำหยาบคายใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเลื่อมใสในบุคคลใด ควรพิจารณาว่า ก่อนที่จะเลื่อมใส ได้ฟัง พระธรรมจากบุคคลนั้นแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ฟังเลย ก็ชื่อว่ายังไม่ได้เลื่อมใสใน พระธรรมจริงๆ เพียงแต่มีความเลื่อมใสในชีวิตความเป็นอยู่ของบางบุคคลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นเข้าใจพระธรรมถูกต้อง ถ้ายังไม่ได้แสดงพระธรรม โดยถูกต้อง
บางท่านไม่ชอบอ่านพระสูตร คิดว่าควรศึกษาแต่เฉพาะพระอภิธรรมอย่างเดียว แต่น่าจะพิจารณาความละเอียด ความซาบซึ้งของพระธรรมซึ่งเป็นของจริง ไม่ว่าจะปรากฏในคัมภีร์หรือว่าในคำประพันธ์ใดๆ ก็ตาม
ข้อความใน คัมภีร์สุโพธาลังการ แสดงลักษณะของการประพันธ์ หรือการแต่งคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาว่าต้องละเอียดรอบคอบอย่างยิ่งเพียงใด เพียงแต่การประพันธ์เท่านั้นยังมีแง่คิดที่แสดงให้เห็นว่า ต้องละเอียด ต้องรอบคอบ แม้เรื่องของการอุปมา ก็ต้องอุปมาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะเป็นการอุปมาที่ไม่สมควร
คัมภีร์สุโพธาลังการ มี ๕ ปริจเฉท คือ
ปริจเฉทที่ ๑ การเรียนรู้โทษของการแต่ง คือ การประพันธ์
ผู้ที่จะเขียนคำประพันธ์ ต้องเข้าใจว่า โทษของการประพันธ์คืออะไรบ้าง
ปริจเฉทที่ ๒ การเรียนรู้วิธีหลีกโทษ
เมื่อรู้ว่ามีโทษประการใด ยังต้องรู้ว่า จะหลีกโทษนั้นๆ อย่างไร
ปริจเฉทที่ ๓ เรื่องการหยั่งรู้คุณของธรรมที่จะกล่าว
ปริจเฉทที่ ๔ การหยั่งอัตถาลังการ
คือ การประดับตกแต่ง แสดงคุณนั้นให้งามซาบซึ้ง
ปริจเฉทที่ ๕ การแถลงภาวะและรสะของสภาพธรรม
ในข้อ ๘ เรื่องการแต่ง มีข้อความว่า
การแสดงออกให้เกิดความหมาย มี ๓ ประเภท คือ
มุขฺยพฺยาปาร แสดงออกเป็นคำพูด โดยการใช้เสียง
ลกฺขณพฺยาปาร แสดงออกเป็นอาการและเครื่องหมายลักษณะ เช่น โดยลักษณะท่าทาง
พยญฺชนพฺยาปาร แสดงออกเป็นลายลักษณ์อักษรโดยตัวหนังสือ
นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าไม่คิดถึงเรื่องของการประพันธ์ ก็ให้เห็นความวิจิตรของโลภะบ้าง โทสะบ้าง ซึ่งออกมาในรูปลักษณะต่างๆ แม้แต่การแสดงออกให้เกิดความหมาย ซึ่งมี ๓ ประเภท แสดงออกเป็นคำพูด โดยการใช้เสียง ก็ต้องใช้เสียงให้ถูกต้อง ถ้าใช้เสียงผิดความหมายก็ผิด โดยเฉพาะภาษาไทยมีตัว ร ตัว ล และมี เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี ซึ่งจะทำให้ความหมายผิดได้ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดแม้ในชีวิตประจำวัน
ในข้อ ๑๐ การประพันธ์ต้องตกแต่งคำและความ มีคำอธิบายว่า
ใบหน้าแม้จะปราศจากโทษ คือ ไม่มีไฝฝ้าราคีอยู่แล้ว ก็ยังต้องตกแต่งด้วยการผัดหน้าทาแป้ง และด้วยเครื่องประดับมีต่างหูเป็นต้น หญิงสาวแม้จะหาที่ติมิได้ มีทรวดทรงสัณฐานผิวพรรณผุดผ่อง ก็ยังต้องตกแต่งด้วยอาภรณ์จึงจะงดงามเพริศพริ้ง หากไม่ได้ตกแต่งแล้วก็ดูไม่งาม ฉันใด พันธะคือการประพันธ์นั้น แม้ปราศจากอลังการ คือ สัททาลังการ การแต่งคำ และอัตถาลังการ การแต่งความ จะงดงามควรเป็นที่ตั้งแห่งความชื่นชมยินดีได้ไฉน
เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นตามความเป็นจริงในทุกเรื่อง แม้แต่ในเรื่องของธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่จะต้องมีคำและมีความที่อธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจน ซึ่งในการแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง ส่วนมากก็เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น การประพันธ์นั้นต้องตกแต่งคำและความ จึงจะทำให้น่าอ่านและชวนให้เข้าใจได้ แม้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา
ทุกท่านอาจจะเริ่มพิจารณาความละเอียดตั้งแต่การอ่านหนังสือธรรม ทุกประเภทเพื่อให้เข้าใจได้จริงๆ โดยพิจารณาจากข้อความบางข้อใน สุโพธาลังการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการที่จะเห็นความละเอียดของธรรม
ข้อ ๑๑ แสดงโทษของคนพาล ผู้ไม่รู้จริง แต่ยังเขียนตำรับตำราต่างๆ
มีข้อความว่า
คนพาลเว้นเสียจากคำชี้แจงของครู ต้องการจะประดับตกแต่ง เขาจะไม่น่าถึงความที่เหล่าวิญญูชนต้องเย้ยหยันได้อย่างไรเล่า
นี่เป็นความจริง ในเรื่องของการแต่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การแต่งดอกไม้ การแต่งอาหาร การแต่งบ้าน การแต่งสวน การแต่งทุกอย่าง ถ้าแต่งไม่เป็น คนอื่นเห็นอาจจะกล่าวติได้
เพราะฉะนั้น สำหรับพระธรรม คนเขลาที่ไม่เข้าใจพระธรรม ก็จะไม่พ้นจากการถูกติจากหมู่ผู้รู้ เพียงแต่เครื่องประดับ และมีความปรารถนาจะประดับเท่านั้น ยังไม่พอ ต้องอาศัยคำแนะนำจากครูเป็นหลักสำคัญอีกด้วย คือ ต้องเข้าใจพระธรรมให้ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่ว่าเมื่อใครอยากจะเขียนก็เขียนไป ซึ่งจะทำให้คนอื่นเข้าใจผิดหรืออาจจะมีเครื่องประดับตกแต่งมากมายที่คิดว่าจะทำให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจผิด หรือความเข้าใจคลาดเคลื่อน ผู้รู้ย่อมติ
มีบางท่านเขียนเรื่องพระนิพพานหลายหน้ากระดาษ อ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ แสดงให้เห็นได้ว่า ไม่มีความเข้าใจในเรื่องพระนิพพาน
ข้อ ๑๔ แสดงความละเอียดของการประพันธ์ ซึ่งประกอบด้วยอลังการ คือ การตบแต่งแล้วนั้น แม้ว่ายังเจือปนด้วยโทษ ก็ยังไม่สมควรที่วิญญูชนจะพึงสรรเสริญ
กว่าจะพิจารณาความเห็นที่ผิด และค่อยๆ เห็นถูกขึ้นทีละน้อย ต้องเป็น ผู้ละเอียด แม้แต่เรื่องของการประพันธ์ซึ่งได้ตกแต่งไว้อย่างดีแล้ว แต่ยังเจือปนด้วยโทษ ยังมีสิ่งซึ่งบกพร่องอยู่บ้าง ก็ยังไม่สมควรที่วิญญูชนจะพึงสรรเสริญ เหมือนหญิงสาวนั้นประดับกายด้วยอลังการ คือ เครื่องประดับตกแต่งอันเหมาะสมแล้ว แต่ยังมีข้อที่น่ารังเกียจอยู่ เป็นไปได้ไหม พิจารณาดูว่าอะไรจะเป็นข้อที่น่ารังเกียจ เช่น หน้างอ เป็นต้น ก็ยังไม่น่าชมเชยเช่นเดียวกัน
เป็นเรื่องที่เพียงแต่จะให้ท่านผู้ฟังพิจารณาธรรมโดยละเอียด ตั้งแต่การประพันธ์ไปจนถึงเนื้อหาสาระของธรรม เพื่อจะได้เข้าใจถูกจริงๆ ว่า ธรรมใดผิด ธรรมใดถูก
ข้อ ๑๖ สำหรับคำจริงที่ถูกต้อง ไม่มีโทษ และประกอบด้วยคุณประโยชน์นั้น แม้ว่าจะปราศจากอลังการ คือ การประดับตกแต่ง ก็ยังเป็นธรรมที่จูงใจได้ ดุจ หญิงสาวที่ปราศจากโทษ แล้วประกอบด้วยคุณสมบัติ ยังจูงใจบุรุษได้ ฉะนั้น
นี่คือเรื่องจริง ถ้าเข้าใจจริงๆ แม้ไม่มีคำตกแต่งให้ซาบซึ้งมากมาย แต่ก็ยังเป็นประโยชน์
ข้อ ๒๗ เตือนให้พิจารณาบุคคลว่า คนดีและคนไม่ดีทั้งปวง เป็นผู้ต่างกันแม้โดยคุณธรรมก็จริง ย่อมไม่ถึงความแตกต่างกันได้ในสำนักของผู้ไม่รู้แจกแจง เช่น พระอัครสาวกทั้งคู่ไปสู่สำนักท่านพระเทวทัต ท่านพระเทวทัตก็เห็นเหมือนกับบริวารของตนไป
ทั้งๆ ที่พระอัครสาวกต่างจากบริวารของท่านพระเทวทัตมาก ต่างกันโดยคุณธรรมก็จริง แต่จะไม่ต่างกันเลยในสำนักของผู้ไม่รู้แจกแจง คือ ผู้ที่ไม่มีปัญญาย่อมไม่รู้ พิจารณาไม่ได้ถึงความต่างกันของคนดีและคนไม่ดี
เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่สามารถพิจารณารู้ความต่างกันของบุคคลที่เกี่ยวข้อง คบหาสมาคม หรือเลื่อมใส ย่อมไม่สามารถที่จะดับทิฏฐิได้ เพราะว่าย่อมจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เห็นผิด หลงผิดตามไป
ข้อ ๒๘ เตือนให้ระวังผลของกรรมว่า กุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งปวงจะมีกำลังเพิ่มหรือไม่มีกำลังเพิ่มก็ตาม ยังไม่ถึงความเป็นอโหสิกรรมแล้ว พึงเป็นกรรมอำนวยสุขและทุกข์ให้อยู่นั่น
แสดงให้เห็นว่า บางท่านมีความประพฤติดีในวันหนึ่งๆ ไม่ได้ประพฤติทุจริตอะไรเลยก็จริง แต่ไม่ควรประมาทอกุศลกรรมและกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ กรรมทั้งหลายเหล่านั้นก็ยังให้ผลอยู่
ข้อ ๖๑ มีข้อความสั้นๆ แต่ก็สะกิดเตือนใจได้ เช่น ข้อความว่า
ธรรมดาการยกย่องตนเอง คนดีไม่เคยบำเพ็ญกันมาแล้ว
เพียงสั้นๆ แค่นี้ก็เตือนได้แล้วใช่ไหมว่า บางท่านอาจจะบอกว่า วันนี้สติเกิดมาก รู้รูปนั้นรูปนี้ได้ เป็นการสมควรหรือไม่สมควร มีความจำเป็นหรือไม่จำเป็นที่จะกล่าวว่าสติระลึกลักษณะของรูปนั้น ระลึกลักษณะของนามนี้ เพราะการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แล้วแต่สติจริงๆ จะเห็นความเป็นอนัตตาของสติ ซึ่งแต่ละท่านก็อบรมอุปนิสัยที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมมาต่างๆ กัน แม้ว่าสติของใครจะระลึกที่ลมหายใจ จะประจักษ์ความเกิดดับของรูปลมหายใจ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะกล่าวบอกคนอื่นว่า ท่านเป็นผู้ที่สามารถประจักษ์แจ้งความเกิดดับของลมหายใจได้ เพราะฉะนั้น ข้อความบางตอนก็เป็นคำเตือนโดยอ้อม แม้จะไม่ใช่คำเตือนโดยตรง
ข้อ ๑๐๔ แสดงถึงผู้ที่กล่าวคุณในตน แต่ไม่มีโทษ
เมื่อแสดงถึงเรื่องที่พ้นจากความรู้ของสามัญชน เช่น การแสดงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งแม้ว่าจะอธิบายอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะรู้จริงได้จนกว่าจะกระทบสัมผัส เช่น ความแข็งหรือความอ่อน ความร้อนหรือความเย็น แต่ละอย่างก็มีความแข็งต่างกัน มีความอ่อนต่างกัน มีความร้อนต่างกัน มีความเย็นต่างกัน ไม่ว่าใครจะพยายามอธิบายเรื่องรสของอาหาร ของผลไม้ ของผักนานาชนิด แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้จริงๆ เพราะว่าสภาพธรรมเหล่านี้ที่จะเย็นแค่ไหน ร้อนแค่ไหน หวานแค่ไหน เค็ม แค่ไหน เปรี้ยวแค่ไหนนั้น อยู่ที่ซึ้งใจ คือ ขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะเอ่ยปากพรรณนาหรือบอกแล้วคนนั้นจะสามารถรู้ได้ แต่ถ้าชิมโดยที่ไม่ต้องอธิบายหรือบอกก็จะสามารถรู้รสนั้นได้ เพราะกระทบสัมผัสด้วยนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์
พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นการแสดงคุณที่มีอยู่ในตนโดยไม่มีโทษ เพราะว่าเป็นการแสดงเรื่องที่พ้นจากความรู้ของสามัญชน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรมต้องคิดถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพระธรรมจริงๆ คือ สามารถเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง