แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1401

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๘


สำหรับกตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น ชื่อว่าหาได้ยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำไว้

อวิชชาทำให้ไม่รู้คุณของผู้ที่มีอุปการคุณ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่กตัญญูกตเวที ก็เพราะมีอวิชชา ไม่เห็นคุณของผู้มีคุณ จึงไม่รู้คุณ และไม่ประกาศ ไม่กตัญญูกตเวทีต่อผู้นั้น

. ที่อาจารย์แสดงว่า อวิชชาทำให้คนขาดความกตัญญู ผมว่ากว้างไปไหม อวิชชาคลุมไปหมด นอกจากอวิชชา สิ่งที่ใกล้กว่าอวิชชาที่ทำให้คนเราไม่กตัญญู...

สุ. กิเลสที่เป็นต้นตอ คือ อวิชชา นอกจากนั้น กิเลสอื่นๆ ก็อยู่ในจำพวกอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง

. ผู้ที่มีกตัญญูกตเวที ถ้าเขาไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน สั่งสมแต่กตัญญูกตเวทีอย่างเดียว จะมีได้ไหม

สุ. ในทางโลก ได้

. ในทางธรรม เขาจะต้องกตัญญูอย่างไรบ้าง

สุ. ศึกษาธรรมโดยละเอียด โดยรอบคอบ โดยไม่ให้ผิดพระพุทธพจน์

. กตัญญูต่อพระพุทธเจ้า

สุ. มิฉะนั้น ไม่ได้แสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นของตนเอง

ข้อที่ควรระลึก คือ ข้อความต่อไปใน อรรถกถา ปุคคลบัญญัติ ซึ่งมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้เมตตารักใคร่โดยไม่มีเหตุ ชื่อว่าบุพพการี บุคคลผู้เมตตารักใคร่โดยมีเหตุ ชื่อว่ากตัญญูกตเวที

พิจารณาได้ถึงความเมตตารักใคร่ของมารดาบิดา ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ทุกอย่างแก่บุตรโดยไม่มีเหตุ ไม่มีการบังคับว่าต้องให้ แต่ท่านเป็นบุพพการี เป็นผู้ที่มีเมตตารักใคร่โดยไม่มีเหตุจริงๆ สำหรับบุตร ส่วนบุตรทั้งหลายผู้เมตตารักใคร่โดยมีเหตุ ชื่อว่า กตัญญูกตเวที

โดยมีเหตุ คือ โดยรู้ว่าท่านเป็นผู้ที่มีอุปการคุณต่อตน เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่มีกตเวทีต่อท่าน นั่นเป็นเหตุที่ทำให้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดาเป็นต้นโดยมีเหตุ ซึ่งต่างกับมารดาบิดาที่เมตตารักใคร่โดยไม่มีเหตุ

เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกัน ความรัก ความเมตตาของมารดา กับความ กตัญญูกตเวทีของบุตร มีความต่างกันมาก ใครที่เมตตารักใคร่อย่างแท้จริง คือ ผู้ที่มีเมตตารักใคร่โดยไม่มีเหตุ เพราะฉะนั้น บุตรทั้งหลายควรกระทำทุกอย่างเป็นการ กตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่มีคุณ เช่น มารดาบิดา เป็นต้น

ข้อต่อไปมีว่า

บุคคลผู้กระทำประโยชน์โดยไม่เพ่งเล็งถึงเหตุเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้นี้จักกระทำอุปการะแก่เรา ชื่อว่าบุพพการี

ผู้ที่อุปการะโดยไม่หวังให้บุคคลอื่นตอบแทน นั่นคือบุพพการี

บุคคลผู้กระทำประโยชน์โดยเพ่งเล็งถึงสาเหตุเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้นี้กระทำอุปการะแก่เรา ชื่อว่ากตัญญูกตเวที

นี่ระหว่างผู้ที่อุปการะโดยไม่เพ่งเล็งถึงเหตุเป็นบุพพการี และผู้อุปการะโดยเพ่งเล็งถึงเหตุว่าผู้นั้นกระทำอุปการะแก่ตน ผู้นั้นเป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล

บุคคลต่อไป คือ

ผู้มืดมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่าบุพพการี

ผู้สว่างมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่ากตัญญูกตเวที

ผู้แสดงธรรม ชื่อว่าบุพพการี ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่ากตัญญูกตเวที

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าบุพพการีในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก พระอริยสาวก ชื่อว่ากตัญญูกตเวที

ถ้าปฏิบัติผิด ไม่ใช่กตัญญูกตเวที เพราะฉะนั้น ต้องระวังจริงๆ ต้องเข้าใจ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างถูกต้อง และประพฤติปฏิบัติตามอย่างถูกต้องด้วย

ส่วนใน คัมภีร์อรรถกถาแห่งทุกนิบาต ท่านกล่าวคำมีประมาณเท่านี้ว่า

ผู้กระทำอุปการะก่อน ชื่อว่าบุพพการี ผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วกระทำตอบในภายหลัง ชื่อว่ากตเวที

บรรดาบุคคลทั้ง ๒ พวกนั้น บุพพการีบุคคลย่อมกระทำความสำคัญว่า เราให้หนี้ บุคคลผู้กระทำตอบแทนในภายหลังย่อมทำความสำคัญว่า เราใช้หนี้

ผู้มืดมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่าบุพพการี ผู้สว่างมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่า กตัญญูกตเวที

. สว่างไปข้างหน้า หมายความว่าอย่างไร

สุ. ผู้มืดมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่าบุพพการี ผู้สว่างมาสว่างไปข้างหน้า ชื่อว่ากตัญญูกตเวที ผู้ที่แสวงหาทางกว่าที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องเป็นผู้ที่มืดมาและสว่างไปข้างหน้า คือ ผู้ที่แสวงหาหนทางข้อปฏิบัติที่สามารถดับกิเลสได้ แสวงหาแม้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติสืบต่อๆ กันไปด้วย

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ที่แสวงหาทาง พิจารณาธรรมเพื่อได้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็เป็นผู้ที่มืดมา สว่างไปข้างหน้า ชื่อว่าบุพพการี

ส่วนผู้สว่างมาสว่างไปข้างหน้า ไม่ต้องแสวงหา เป็นผู้ที่ได้รับฟังสิ่งซึ่งบุคคลอื่นได้แสวงหาพบแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นกตัญญูกตเวที โดยต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติถูกจริงๆ

ซึ่งพุทธบริษัทจะชื่อว่าเป็นกตเวทีบุคคล ก็ต่อเมื่อศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ให้เข้าใจจริงๆ ปฏิบัติถูกจริงๆ จึงสามารถดับทิฏฐิได้ เพราะว่าทิฏฐิและข้อปฏิบัติ ที่ผิดเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด มิฉะนั้นจะยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิดนั้นได้

เรื่องของกุกกุจจะ ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สีหนาทวรรคที่ ๒ วุฏฐิสูตร ข้อที่ ๒๑๕ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อโทสะเกิดขึ้น ถ้าไม่รีบแก้ไขจะทำให้เกิดความรำคาญใจ ซึ่งเป็นกุกกุจจเจตสิก

ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถีแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะหลีกจาริกไปในชนบท

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร เธอจงสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

ครั้งนั้น เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้วไม่ขอโทษ หลีกจาริกไป

ซึ่งใน มโนรถปูรณี อรรถกถา แสดงว่า

ชายจีวรของท่านพระสารีบุตรผู้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วลุกขึ้นนั้น ไปกระทบตัวของภิกษุนั้น แต่บางอาจารย์กล่าวว่า ลมพัดไปกระทบบ้าง ซึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ถ้าท่านตรัสกับภิกษุรูปนั้นว่า ดูกร ภิกษุ สารีบุตรมิได้จงใจจะกระทบหรือประหารเธอ ภิกษุนั้นก็จะทูลว่า พระผู้มีพระภาคเป็นฝ่ายท่าน พระสารีบุตร เมื่อภิกษุคิดและพูดอย่างนั้น จะทำให้เกิดในอบายภูมิ

นี่คือความไม่เข้าใจเหตุการณ์ และไม่เข้าใจบุคคล จึงทำให้เกิดความคิดต่างๆ แม้แต่ชายจีวรของท่านพระสารีบุตรที่กระทบตัวก็เข้าใจว่า เป็นการจงใจและไม่ขอโทษ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า

ดูกร ภิกษุ เธอจงมานี่ จงไปเรียกสารีบุตรตามคำของเราว่า ดูกร อาวุโส สารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน

ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกร ท่านอาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน

ท่านพระสารีบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ก็สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระอานนท์ถือลูกดานเที่ยวประกาศไปตามวิหารว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงรีบออกมาเถิดๆ บัดนี้ท่านพระสารีบุตรจะบันลือสีหนาทเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาค ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่าน พระสารีบุตรว่า

ดูกร สารีบุตร เพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้กล่าวหาเธอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้วไม่ขอโทษ หลีกจาริกไปแล้ว ฯ

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ ไม่ขอโทษแล้ว พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่ อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยแผ่นดินอันไพบูลย์ ...

ข้อความต่อไป ท่านพระสารีบุตรเปรียบเทียบว่า

ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้างลงในน้ำ น้ำก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วย สิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยน้ำอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ...

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ไฟย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยไฟอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ...

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลมย่อมพัดไปซึ่งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็เหมือนกันฉันนั้นแล มีใจเสมอด้วยลมอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ …

ต่อจากนั้นท่านก็กราบทูลพระผู้มีพระภาค เปรียบท่านเองเหมือนกับผ้าสำหรับเช็ดธุลีซึ่ง

ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง

และท่านก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จิตของท่านเปรียบเหมือนใจของ

กุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาล ถือตะกร้า นุ่งผ้าเก่าๆ เข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ...

นอกจากนั้นท่านก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า สำหรับตัวของท่านนั้นเหมือน

โคเขาขาด สงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

และท่านกราบทูลพระผู้มีพระภาค เปรียบเทียบจิตของท่านว่า

สตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาว เป็นคนชอบประดับตบแต่ง พึงอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยซากศพงู หรือซากศพสุนัขที่เขาผูกไว้ที่คอ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

ต่อไปท่านกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านเปรียบเหมือน

คนประคองภาชนะมันข้น มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ไหลเข้าไหลออกอยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมบริหารกายนี้มีรูทะลุเป็นช่องเล็ก ช่องใหญ่ไหลเข้าไหลออกอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกไปเป็นแน่ ฯ

แต่สำหรับท่านไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าท่านเป็นผู้เจริญกายคตาสติด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

ลำดับนั้นแล ภิกษุรูปนั้นลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาดอย่างไร ที่ข้าพระองค์ได้กล่าวตู่ท่านพระสารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาดอย่างไร ที่เธอได้กล่าวตู่สารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษของเธอนั้น

ดูกร ภิกษุ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกร สารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้นเพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้จักแตก ๗ เสี่ยง ฯ

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษต่อท่านผู้มีอายุนั้น ถ้าผู้มีอายุนั้นกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านผู้มีอายุนั้นจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วย ฯ

จบ สูตรที่ ๑

การที่จะหมดกุกกุจจะได้เมื่อรู้ว่า สิ่งใดควรทำและรีบทำ จะทำให้ในขณะนั้นพ้นจากความรำคาญใจได้ ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

ถามว่า การขอขมานี้ ชื่อว่าเป็นความเจริญในพุทธศาสนาอย่างไร

ตอบว่า การขอขมานี้ ชื่อว่าเป็นการเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม แล้วถึงความสำรวมระวังต่อไป

เพราะฉะนั้น เรื่องของกุกกุจจะเป็นเรื่องที่เตือนให้สังวรระวังกาย วาจา ไม่ว่าจะกระทำต่อท่านผู้มีคุณที่เป็นมารดาบิดา หรือว่าครูอาจารย์ก็ตาม

เปิด  233
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565