แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1403

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘


อีกอย่างหนึ่ง บุคคลเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด มีมารยา เป็นผู้กระด้าง ถือตัวจัด มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด มีความถือทิฏฐิของตน มีความถือรั้น มีความสละคืนยาก บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นที่รังเกียจ

คนอื่นไม่รังเกียจ รังเกียจตัวเองได้ไหม หรือต้องให้คนอื่นรังเกียจก่อน จึงพิจารณาตนเองว่าตนเองเป็นที่รังเกียจอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด ไม่ต้องรอให้ คนอื่นรังเกียจ แต่สามารถพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจของตนเพื่อละสิ่งที่ น่ารังเกียจนั้น

ส่วนผู้ที่ไม่เป็นที่รังเกียจก็ตรงกันข้าม คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วย อาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ

ซึ่งย่อมจะเป็นผู้ไม่มีกุกกุจจะด้วย

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มีความแค้นเคืองมาก แม้อันใครๆ ว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่มุ่งร้าย ไม่ปองร้าย ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความไม่ยินดีให้ปรากฏ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ

แทนที่จะใช้คำอื่น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นโดยใช้คำว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ แสดงให้เห็นว่า ทุกคนย่อมรังเกียจอกุศลธรรม แต่ไม่รังเกียจกุศลธรรม

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลเป็นผู้ไม่ถือโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่มีความเห็นผิด ไม่ถือทิฏฐิของตน ไม่มีความถือรั้น มีความสละคืนง่าย บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ

อริยบุคคลทั้งหมดรวมทั้งกัลยาณปุถุชนเรียกว่า ผู้ไม่เป็นที่รังเกียจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ไม่คะนอง ไม่เป็นที่รังเกียจ

แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่เป็นผู้ที่โกรธ ลบหลู่ ตีเสมอ แม้ตัวเองภายหลังก็เกิดกุกกุจจะความรำคาญใจได้ว่า ตนเองได้กระทำกายวาจาอย่างนั้นๆ ที่ไม่สมควร

แม้ในเรื่องของการโอ้อวด หรือการถือตัวก็เช่นเดียวกัน เวลาที่มีกิริยาอาการที่แสดงการโอ้อวดหรือการถือตัวแล้ว ภายหลังก็ทำให้เกิดกุกกุจจะ ความรำคาญใจได้

เรื่องของกุกกุจจะควรพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ มีบ้างไหม ถ้ามีก็เพราะ อกุศลทั้งนั้น

กุกกุจจะเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับโทสมูลจิต ถ้าโทสะไม่เกิดกุกกุจจะ เกิดไม่ได้ ซึ่งการละกุกกุจจะและการละโทสะเป็นเรื่องยาก แต่สามารถอบรมให้ เบาบางลงได้

สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส นิวรณบรรพ แสดงการละโทสะ มีข้อความว่า

ก็พยาบาทเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิต ในคำเหล่านั้น แม้ปฏิฆะ ก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต แม้อารมณ์ในปฏิฆะก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต อโยนิโสมนสิการมีลักษณะอย่างเดียวกันในที่ทั้งปวงนั่นแหละ เมื่อยังมนสิการนิมิตนั้นให้เป็นไปมากในปฏิฆนิมิตนั้น พยาปาทะย่อมเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้พยาปาทะะที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อให้ พยาปาทะที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลย์มากขึ้น ดังนี้

เหมือนกันทั้งกุกกุจจะและพยาปาทะ ความโกรธและความรำคาญใจย่อมเกิดจากอโยนิโสมนสิการ

อนึ่ง พยาปาทะนั้นละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ ในคำเหล่านั้น อัปปนาก็ดี อุปจาระก็ดี ย่อมควรในคำที่ท่านกล่าวว่า เมตตา แต่คำว่า เจโตวิมุตติ ได้แก่ อัปปนาเท่านั้น โยนิโสมนสิการมีลักษณะตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ เมื่อยังมนสิการเป็นไปให้มากในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น ย่อมละพยาบาทได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง โยนิโสมนสิการในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

พยาบาทละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ อัปปนาเท่านั้น ซึ่งหมายความถึงเฉพาะฌานจิต

. ฌานจิต คือ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ใช่ไหม

สุ. ใช่ ถ้าใช้คำว่า เจโตวิมุตติ ก็หมายความถึงฌานจิต คือ อัปปนาสมาธิ

. ปฏิฆนิมิต หมายความว่าอย่างไร

สุ. อารมณ์ที่ทำให้เกิดปฏิฆะชื่อว่าปฏิฆนิมิต หรือแม้แต่โทสะนั่นเองก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต ถ้าในที่อื่น ปฏิฆนิมิตหมายความถึงอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าเป็นสิ่งที่กระทบกับปสาทได้

ทางตาที่กำลังเห็นเป็นปฏิฆนิมิต เพราะว่ากระทบกับจักขุปสาท ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็เป็นปฏิฆนิมิต เพราะว่ากระทบกับโสตปสาท เพราะฉะนั้น เวลาที่อารมณ์ต่างๆ ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเพลิน ความพอใจ แต่ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดี ก็ย่อมทำให้เกิดปฏิฆะ คือ การกระทบกระทั่ง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็น คือ ความขุ่นใจ ความเคืองใจ แม้ลักษณะของปฏิฆะซึ่งเป็นโทสะก็กระทบใจ ทำให้ปรากฏสภาพที่รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของโทสเจตสิก เป็นลักษณะของความขุ่นเคือง แม้ปฏิฆะก็เป็นปฏิฆนิมิต เพราะว่าเป็นลักษณะที่ปรากฏให้รู้ถึงความกระทบใจได้

เรื่องของธรรมมีคำหลายคำ ซึ่งจะต้องเข้าใจเป็นตอนๆ เช่น ในที่อื่น ปฏิฆนิมิตหมายความถึงอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าเป็นเรื่องของ โทสะ ปฏิฆะ ได้แก่ โทสะ เพราะว่าเมื่อกระทบแล้วทำให้ปรากฏลักษณะของความ ขุ่นเคือง เพราะฉะนั้น ลักษณะของโทสะก็เป็นปฏิฆนิมิต และแม้อารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปฏิฆนิมิตด้วย

ข้อความที่ว่า พยาบาทนั้นละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ

สงสัยไหมที่ว่า เจโตวิมุตติ ได้แก่ อัปปนาเท่านั้น คือ สมาธิที่มั่นคงถึงขั้น ฌานจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ แต่ว่า ในคำเหล่านั้น อัปปนาก็ดี อุปจาระ (สมาธิที่ยังไม่ถึงอัปปนา) ก็ดี ย่อมควรในคำที่ท่านกล่าวว่า เมตตา

ในวันหนึ่งๆ ขณะใดที่เกิดโทสะ ขณะนั้นรู้ได้ว่าขาดเมตตาแล้ว เพราะฉะนั้น การละโทสะ คือ มีเมตตาในขณะนั้นทันที แต่ยังไม่ชื่อว่าละ เพียงแต่ว่าระลึกถึงเพื่อให้คลายความโกรธเคืองในบุคคลนั้น

และพิจารณาดูในชีวิตตามความเป็นจริงว่า ต้องคิดนานไหม ต้องระลึกนานไหม ต้องเมตตากันอย่างมากไหม คือ ต้องคิดหลายเรื่องเพื่อที่จะให้เกิดเมตตาขณะนั้น จึงจะค่อยๆ คลายโทสะลงได้

บางคนบอกว่า โกรธลูกมาก รีบไปเอาหนังสือเมตตามาอ่าน ดูเหมือนกับว่า ทันทีที่โทสะเกิดก็จะไปหาน้ำมาดับไฟ คือ หยิบหนังสือเรื่องเมตตามาอ่าน ซึ่งใน ขณะนั้นก็รู้ว่าไม่หายโกรธ เพราะว่ามีปัจจัยพร้อมที่จะเกิด โทสะก็เกิด และปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิดก็น้อยกว่าโทสะมาก เพราะฉะนั้น การอ่านหนังสือเรื่องเมตตาเพื่อไม่ให้เกิดโทสะในขณะนั้น ไม่สามารถจะเป็นไปได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยของโทสะมีมากกว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเมตตา

ผู้ที่ไม่อยากจะมีโทสะหรือกุกกุจจะ ไม่ใช่เป็นผู้ที่คอยให้เกิดและไปอ่านตอนนั้นตอนนี้ แต่ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลด้วยประการทั้งปวง และพยายามอบรม ในการที่จะมีเมตตาในวันหนึ่งๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่โกรธคนอื่น หรือนึกถึงคนอื่นในทางที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นโทสะ ไม่เป็นเมตตา เพราะฉะนั้น ด้วยการที่สติระลึกอย่างนั้น จะเปลี่ยนการระลึกถึงบุคคลอื่นในทางที่จะให้เกิดโทสะ เป็นระลึกในทางที่จะให้เกิดเมตตาแทน ค่อยๆ เป็นไปทีละน้อยในวันหนึ่งๆ แต่ไม่ใช่รอให้โกรธก่อน และหาหนังสือเรื่องเมตตามาอ่าน

และวันหนึ่งๆ ถ้าเมตตายังไม่มากจริงๆ แม้จะระลึกถึงเมตตาบ้าง หรือว่าคิดถึงคนอื่นในทางที่ดี ก็ยังมีเหตุที่จะทำให้โทสะความขุ่นเคืองใจเกิดได้ ไม่ได้ปราศจากโทสะเลย เพราะว่าเชื้อปัจจัยที่จะให้เกิดโทสะยังมีอยู่มาก แต่สามารถพิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ มีเมตตาเกิดเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้ายังไม่มีเมตตาเพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยของโทสะเพิ่มขึ้น ต่อไปข้างหน้าก็ยังคงต้องมีโทสะมาก จนกว่าจะค่อยๆ อบรมเจริญเมตตา ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ใจคิดนึก ก็ย่อมประกอบด้วยเมตตาได้

ถ้าเมตตาไม่มีในวันนี้ จะให้มีเมตตาถึงอุปจาระและอัปปนาสมาธิได้ไหม

ท่านที่คิดว่าจะเจริญเมตตาให้ถึงอัปปนาสมาธิหรือฌานจิต ควรพิจารณาว่า วันนี้คิดถึงใคร ลองคิดถึงคนที่โกรธ เป็นการพิสูจน์การอบรมเจริญเมตตา คิดถึงคนที่เคยโกรธ และวันนี้ขณะที่กำลังคิดถึงจิตเป็นอย่างไร ถ้ายังโกรธเท่าเดิมแสดงว่า เมตตายังน้อยมาก แต่ถ้าระลึกถึงคุณความดี ถึงธรรมต่างๆ ด้วยประการทั้งปวงที่จะให้โกรธคนนั้นน้อยลง และระลึกบ่อยๆ ทุกวัน ถ้าความโกรธนั้นน้อยลงก็แสดงว่าเมตตาในคนนั้นเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องเป็นผู้ที่มีสติระลึกได้ด้วยว่า แม้คนที่ไม่เคยโกรธ ก็อาจจะเกิดโกรธขึ้นมาเมื่อไรก็ได้อีกเหมือนกัน เพราะว่าความโกรธหรือโทสะนั้น ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

. พระโสดาบันท่านละกุกกุจจะได้เป็นสมุจเฉท ใช่ไหม

สุ. ข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า พระโสดาบันละกุกกุจจะ แต่ใน สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส แสดงว่า อนาคามิมรรคละกุกกุจจะ

เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลละกุกกุจจะตามระดับขั้นของพระโสดาบัน เช่นเดียวกับพระสกทาคามีที่ละความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหยาบ แต่ไม่ได้หมายความว่าดับหมดอย่างพระอนาคามี สำหรับส่วนที่หยาบ พระสกทาคามีท่านละได้ฉันใด พระโสดาบันบุคคลก็ละกุกกุจจะตามระดับขั้นของ ท่านได้ฉันนั้น

. เจตสิกที่เกิดร่วมกับโทสะ ก็มีอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ

สุ. แต่ไม่เกิดพร้อมกัน เวลาที่โทสะเกิด อาจจะไม่มีอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะเกิดด้วยเลย หรืออาจจะมีกุกกุจจะเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีอิสสาและมัจฉริยะเกิดร่วมด้วย หรืออาจจะมีมัจฉริยะเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีอิสสาและกุกกุจจะเกิดร่วมด้วย

. เมื่อทั้งสองแห่งขัดแย้งกัน เราจะถืออะไรเป็นที่ถูกต้อง

สุ. ต้องถือข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า พระอริยบุคคลละอกุศลธรรมที่เกิดร่วมกันโดยฐานะนั้นๆ สำหรับอิสสาและมัจฉริยะไม่มีปัญหาเพราะว่าข้อความตรงกันทุกแห่ง ข้อความที่ไม่ตรงกันมีเฉพาะกุกกุจจะเท่านั้น ซึ่งจะต้องละตามฐานะหรือตามระดับขั้นของพระอริยบุคคล

การคิดถึงคนที่เคยโกรธเป็นสิ่งที่ดี เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความโกรธนั้นลดน้อยลงหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการก็ตรงกันข้าม คือ ยิ่งคิดยิ่งโกรธ ถ้าเป็น โยนิโสมนสิการจะเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์เลยในการที่จะให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้นอีก

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อการละพยาบาท คือ

๑. การเรียนเมตตานิมิต

๒. การประกอบเนืองๆ ในเมตตาภาวนา

๓. การพิจารณากัมมัสสกตา

๔. การกระทำการใคร่ครวญให้มาก

๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร

๖. สัปปายกถา

ท่านที่ไม่ชอบความโกรธ ควรพิจารณาธรรมที่เป็นไปเพื่อละความโกรธ เพราะถ้าไม่ชอบความโกรธและไม่รู้ว่าจะละอย่างไร ย่อมไม่สามารถที่จะละได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อยากโกรธจริงๆ จะต้องสนใจในธรรม ๖ ประการ ซึ่งเป็นไปเพื่อการละพยาบาท

จริงอยู่ แม้เมื่อเรียนเมตตาด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปสู่ทิศโดยเจาะจงและ ไม่เจาะจง อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมละพยาบาทได้

. แผ่อย่างไร ที่ว่าเจาะจงไปทิศต่างๆ และไม่เจาะจงในทิศต่างๆ

สุ. เวลาที่คิดถึงใคร อาจจะคิดถึงคนโน้นคนนี้คนนั้นแต่ละสารทิศได้ไหม และเวลาคิดถึงแล้ว โกรธไหม เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดถึงบุคคลต่างๆ อย่าคิดถึงเพียงคนเดียวซึ่งเราไม่โกรธ โดยเจาะจงหรือไม่เจาะจง หมายความถึงในขั้นที่เมื่อเรียนเรื่องเมตตาแล้วก็ควรทดสอบการเจริญเมตตาของตนเองว่า ได้เจริญเมตตาจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเรียนเฉยๆ รู้ว่าเมตตาเป็นธรรมที่ละพยาบาท เป็นธรรมฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น นั่นไม่พอ แต่การที่จะไม่โกรธ ต้องด้วยการมีเมตตา เพราะฉะนั้น ในวันนี้โกรธใคร วันก่อนโกรธใคร ยังโกรธอยู่หรือเปล่า

เมื่อเรียนเมตตาด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปสู่ทิศโดยเจาะจงและไม่เจาะจง อย่างใดอย่างหนึ่ง

นี่เพียงในขั้นของการเรียน ยังไม่ถึงขั้นการมีเมตตาเจโตวิมุตติ คือ ถึงขั้น อัปปนาสมาธิที่จะแผ่ไปได้จริงๆ แต่เพียงในขั้นเริ่มต้นก่อน คือ การระลึกถึงบุคคล นั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง ในทิศต่างๆ อาจจะคิดถึงคนที่อยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ ก็ได้ เพื่อนฝูงที่อยู่ไกลก็ได้ อาจจะเคยโกรธเคืองมาก แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร เพราะว่าจดหมายฉบับหนึ่งอาจจะทำให้โกรธได้ไหม ได้ ไม่เห็นหน้าเลย เพียงแต่อ่านจดหมายก็โกรธ

เพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาว่า เป็นผู้ที่เจริญเมตตา เข้าใจเรื่องเมตตา และปฏิบัติจริงๆ คือ คิดดูว่าโกรธใครบ้าง และความโกรธลดลงไหม

แม้เมื่อเรียนเมตตาด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปสู่ทิศโดยเจาะจงและไม่เจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมละพยาบาทได้

ท่านที่ต้องการจะเจริญเมตตา วันนี้ก็พิสูจน์ได้ ยังโกรธใครบ้างหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เป็นสหายธรรม อาจจะขุ่นเคืองใจบ้างก็ได้ เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ลืมหรือยัง ถ้ายังไม่ลืม ที่เรียนเรื่องเมตตา อยู่ที่ไหน และที่จะแผ่ อยู่ที่ไหน

แม้เมื่อเจริญเมตตาด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปสู่ทิศที่เจาะจงและไม่เจาะจง ก็ย่อมละพยาบาทได้

แม้เมื่อพิจารณากัมมัสสกตาของตนและของผู้อื่นอย่างนี้ว่า ท่านโกรธเขา แล้วจะทำอะไรเขาได้ จักอาจเพื่อยังคุณมีศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศไปได้หรือ เขามาด้วยกรรมของเขา เขาก็จักไปด้วยกรรมของเขานั่นแหละมิใช่หรือ ขึ้นชื่อว่าความโกรธผู้อื่น ย่อมเป็นเช่นกับผู้ต้องการจับถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว จับซี่เหล็กอันร้อนและคูถเป็นต้น แล้วประหารผู้อื่น

แม้บุคคลอื่นโกรธเราแล้วจักทำอะไรเราได้ จักอาจเพื่อยังคุณมีศีลเป็นต้นของเราให้พินาศไปได้หรือ เรามาด้วยกรรมของเรา แล้วก็จักไปด้วยกรรมของเราเท่านั้น ความโกรธนี้จักตกไปเบื้องบนเขาแน่นอน เหมือนกับของที่บุคคลไม่ยอมรับ และเหมือนกับกำธุลีซัดไปทวนลม ดังนี้ ก็ย่อมละความโกรธได้

เป็นการพิจารณาถึงความที่ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน และถ้าคิดอย่างนี้ จริงๆ ยังจะโกรธต่อไปไหม คนไหนโกรธ คนนั้นเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่โกรธ ไม่มีคนอื่นจะทำให้เดือดร้อนได้เลย

เปิด  244
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565