แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1405

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๘


ในการสนทนาธรรมกัน ถ้าไม่มุ่งที่เหตุผล แต่มุ่งที่จะชนะ หรือมุ่งที่จะได้รับความสรรเสริญ เมื่อผู้รู้ซึ่งเป็นผู้ที่เอ็นดูชี้แจงให้เห็นว่า ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง ข้อความที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ก็ทำให้ผู้ที่กล่าวผิดมีความรู้สึกเก้อเขิน เพราะว่าเป็นผู้ที่ต้องการ คำสรรเสริญจึงได้กล่าวคำอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น ภายหลังย่อมเกิดกุกกุจจะได้

เมื่อผู้รู้ได้แสดงเหตุผลแล้ว ผู้ที่มุ่งหวังคำสรรเสริญก็เกิดความขัดเคืองได้ที่ถูก ติเตียน ซึ่ง ข้อ ๒๘๒ มีข้อความว่า

คำว่า ย่อมขัดเคืองเพราะความติเตียน ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทางแก้ตัว มีความว่า เพราะความติเตียน คือ เพราะความนินทา ครหา ไม่ชมเชย ไม่สรรเสริญคุณ คำว่า ย่อมขัดเคือง คือ ขัดเคือง ขัดใจ หมายแก้แค้น ย่อมทำความโกรธ ความเคือง ความไม่ยินดีให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมขัดเคืองเพราะความติเตียน

คำว่า ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทางแก้ตัว คือ ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทาง แก้ตัว แสวงหาความผิด ความพลั้ง ความพลาด ความเผลอ และช่องทาง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมขัดเคืองเพราะความติเตียน ย่อมเป็นผู้แสวงหาช่องทาง แก้ตัว

เท่านั้นยังไม่พอ เวลาที่เก้อเขินแล้ว เมื่อเป็นผู้ที่มุ่งหวังแต่คำชมหรือ คำสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับคำชมคำสรรเสริญ ผู้นั้นก็

ย่อมรำพันเศร้าโศก เป็นผู้มีการพูดเพ้อ บ่นเพ้อ พร่ำเพ้อ อาการพร่ำเพ้อ ความเป็นแห่งอาการพร่ำเพ้อเห็นปานนี้ว่า เหตุการณ์อื่น เรานึกคิดพิจารณาใคร่ครวญแล้ว เรามีพวกมาก มีบริษัทมาก มีบริวารมาก ก็บริษัทนี้เป็นพวกแต่ ไม่พร้อมเพรียงกัน การเจรจาปราศรัยจงมีเพื่อความพร้อมเพรียง เราจักทำลายเขาอีก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมรำพัน

นี่เป็นอกุศลธรรม มีมากก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล ก็ย่อมคิดหาทางแก้ตัวด้วยอกุศล ที่เพิ่มขึ้น คือ คิดว่า เราจักทำลายเขาอีก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมรำพัน

คำว่า ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ รำพัน ตบอก คร่ำครวญถึงความหลงใหลว่า เขามีชัย เราปราชัย เขามีลาภ เราเสื่อมลาภ เขามียศ เราเสื่อมยศ เขาได้ความสรรเสริญ เราได้ความนินทา เขามีสุข เรามีทุกข์ เขาได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เราไม่ได้รับสักการะเคารพนับถือบูชายำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมรำพัน เศร้าโศก

คำว่า มีวาทะเสื่อมไปแล้ว คือ มีวาทะเสื่อมไปแล้ว มีวาทะเลวทราม มี วาทะเสื่อมรอบ มีวาทะอันเขาให้เสื่อมรอบ มีวาทะไม่บริบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าชนนั้นมีวาทะเสื่อมไปแล้ว ย่อมรำพันเศร้าโศก

เคยเห็นอาการอย่างนี้บ้างไหม โดยมากอาจจะไม่เห็น เพราะว่าเป็นกิริยาอาการที่ทำในที่ที่ไม่เปิดเผย คงไม่มีใครต้องการคำสรรเสริญจนกระทั่งแสดงกิริยาอาการอย่างนี้ในที่ทั่วๆ ไป แต่ในที่ที่ไม่มีบุคคลอื่น ก็พิจารณาดูว่า จะมีกิริยาอาการอย่างนี้ไหม สำหรับผู้ที่หวังได้สิ่งใดแล้วก็ไม่ได้สิ่งนั้น ซึ่งข้อความใน ข้อ ๒๘๗ อธิบายละเอียดต่อไปว่า

คำว่า ทอดถอนใจอยู่

นี่คืออาการของความทุกข์ ความโศก ความพยาบาท ความขุ่นเคืองใจ ซึ่งจะละได้ด้วยการรู้ว่า กุศลคืออะไร และอกุศลคืออะไร

คำว่า ทอดถอนใจอยู่ว่า เขาล่วงเลยเราแล้ว มีความว่า ทอดถอนใจอยู่ว่า เขาล่วง ล้ำ เกิน เลย ล่วงเลยซึ่งวาทะเราด้วยวาทะเขา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเขาล่วงเลยเราไปแล้ว แม้ด้วยประการอย่างนี้

อีกอย่างหนึ่ง ทอดถอนใจอยู่ว่า เขากดขี่ครอบงำย่ำยีวาทะเราด้วยวาทะเขาแล้ว ย่อมประพฤติอยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ หมุนไป รักษา เป็นไป ยังอัตภาพให้เป็นไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเขาล่วงเลยเราไปแล้ว แม้ด้วยประการอย่างนี้

การพูดเพ้อ การบ่นเพ้อ การพร่ำเพ้อ อาการพร่ำเพ้อ ความเป็นแห่งอาการพร่ำเพ้อ เรียกว่าทอดถอนใจอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทอดถอนใจอยู่ว่า เขาล่วงเลยเราแล้ว

ในวันหนึ่งๆ เคยทะเลาะกับใครบ้างหรือเปล่า อาจจะบ่อย เวลาทะเลาะ ทราบจุดประสงค์ของการทะเลาะไหมว่าคืออะไร หรือทะเลาะโดยไม่รู้จุดประสงค์เลย โมโหจริง แต่ที่ทะเลาะ จุดประสงค์ที่แน่นอนคืออะไร

ข้อความต่อไป ข้อ ๒๙๐ มีว่า

คำว่า ความยินดีและความยินร้าย ย่อมมีในเพราะความวิวาทเหล่านั้น มีความว่า ย่อมมีความชนะและความแพ้

เพราะฉะนั้น เวลาที่วิวาทหรือทะเลาะกับใคร ไม่ว่าในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ต้องพิจารณาว่า ในขณะนั้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้เกิดความเห็นถูก หรือเป็นไปเพื่อต้องการเป็นฝ่ายชนะ เพื่อจะได้รับความสรรเสริญ ซึ่งถ้าเป็นไปในประการหลัง ก็เป็นอกุศล เพราะว่าการวิวาทหรือการทะเลาะนั้น

ย่อมมีความชนะและความแพ้ ลาภและความเสื่อมลาภ ยศและความเสื่อมยศ นินทาและความสรรเสริญ โสมนัสและโทมนัส อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ความปลอดโปร่งและความกระทบกระทั่ง ความยินดีและความยินร้าย ความดีใจและความเสียใจ คือ จิตยินดีเพราะความชนะ จิตยินร้ายเพราะความแพ้ จิตยินดีเพราะลาภ จิตยินร้ายเพราะความเสื่อมลาภ จิตยินดีเพราะยศ จิตยินร้ายเพราะความ เสื่อมยศ จิตยินดีเพราะสรรเสริญ จิตยินร้ายเพราะนินทา จิตยินดีเพราะสุข จิตยินร้ายเพราะทุกข์ จิตยินดีเพราะโสมนัส จิตยินร้ายเพราะโทมนัส จิตยินดีเพราะเฟื่องฟูขึ้น จิตยินร้ายเพราะตกอับ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าความยินดีและความยินร้ายย่อมมีในเพราะความวิวาทเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการวิวาททุกอย่าง ไม่ควรมีเลย เพราะว่าทำให้เกิดอกุศลทั้งนั้น ไม่ว่าความยินดีหรือความยินร้าย ถ้าเป็นผู้ชนะ ความยินดีเกิดขึ้นอาจทำให้เกิดอกุศลโดยความทะนงตน และมีกิริยาอาการกระด้างเพราะความเป็นผู้ชนะได้

มีผู้ชนะที่อ่อนโยน และพยายามให้ผู้แพ้เกิดกุศลบ้างไหม หรือว่ายิ่งแพ้เท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะทำให้ตนเองเป็นผู้ที่ชนะอย่างสมบูรณ์ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา

ข้อ ๒๙๒ มีข้อความว่า

คำว่า เพราะประโยชน์อื่นจากการได้ความสรรเสริญ ย่อมไม่มี

เวลาที่ได้สรรเสริญ ให้รู้ว่าผล คือ ได้เพียงสรรเสริญจริงๆ แต่ประโยชน์อื่นนอกจากนั้นไม่มี

มีความว่า ไม่มีประโยชน์อื่นจากการได้ความสรรเสริญ คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ประโยชน์มีในชาตินี้ ประโยชน์มีในชาติหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับ ประโยชน์ที่ปิดบัง ประโยชน์ที่ควรนำไป ประโยชน์ที่นำไปแล้ว ประโยชน์ไม่มีโทษ ประโยชน์ปราศจากกิเลส ประโยชน์อันบริสุทธิ์ ประโยชน์อย่างยิ่ง ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะประโยชน์อื่นจากการได้ความสรรเสริญ ย่อมไม่มี

ใครที่คิดจะชนะใคร หรือจะทะเลาะกับใครเพื่อจะได้ความสรรเสริญ ควรพิจารณาว่า ประโยชน์อื่นไม่มีเลยจริงๆ เพราะว่า

บุคคลนั้นย่อมหัวเราะ และเฟื่องฟูขึ้นด้วยประโยชน์ในความชนะนั้น ความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ยินดี หัวเราะ ร่าเริง ชอบใจ มีความดำริบริบูรณ์ ด้วยประโยชน์ในความชนะนั้น

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลนั้นหัวเราะจนเห็นฟัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลนั้นย่อมหัวเราะ

คำว่า และเฟื่องฟูขึ้นด้วยประโยชน์ในความชนะนั้น คือ บุคคลนั้นเป็นผู้ เฟื่องฟูขึ้น คือ เห่อเหิมเป็นดุจธงชัย ยกย่องตนขึ้น ความที่จิตเป็นผู้ใคร่ยกไว้ดัง ธงยอด ด้วยประโยชน์ในความชนะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลนั้นย่อมหัวเราะ และเฟื่องฟูขึ้นด้วยประโยชน์ในความชนะนั้น

ไม่มีอะไรเลยจากการชนะ นอกจากการหัวเราะจนเห็นฟันด้วยความดีใจ และผลที่ติดตามมา คือ ความเฟื่องฟูเห่อเหิม เป็นดุจธงชัยที่ยกย่องตนขึ้นด้วยประโยชน์ในความชนะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลนั้นย่อมหัวเราะและเฟื่องฟูขึ้นด้วยประโยชน์ในความชนะนั้น

คำว่า ความเฟื่องฟู เป็นพื้นย่ำยีแห่งบุคคลนั้น ความว่า ความเฟื่องฟู คือ ความเหิมเห่อ ความเป็นดุจธงชัย ความยกย่องตนขึ้น ความที่จิตเป็นผู้ใคร่ยกไว้ดัง ธงยอดได้ ความเฟื่องฟูนั้นเป็นพื้นย่ำยี คือ เป็นพื้นตัดรอน เป็นพื้นเบียดเบียน เป็นพื้นบีบคั้น เป็นพื้นอันตราย เป็นพื้นอุปสรรคแห่งบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความเฟื่องฟูเป็นพื้นย่ำยีแห่งบุคคลนั้น

ถ้าต้องการคำสรรเสริญ พยายามทุกทางที่จะวิวาทจนชนะ ผล คือ เกิด ความเหิมเห่อเป็นดุจธงชัย คือ ความยกย่องตนขึ้น แต่ประโยชน์ที่ได้นอกจากความสรรเสริญไม่มีเลย และสรรเสริญเฉพาะในขณะที่ชนะเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว กิริยาอาการอื่นๆ ย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญ ถ้าเป็นผู้ที่กระด้างและเห่อเหิมเฟื่องฟู

การศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่ได้เข้าใจ ต้องอบรมเจริญตามความเป็นจริง เพราะว่าทุกคนมีกิเลสและใคร่ที่จะละกิเลส แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาโทษของอกุศลธรรมแต่ละชนิด ย่อมไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรละ ต่อเมื่อได้เข้าใจเรื่องของ อกุศลธรรมและเห็นโทษจึงใคร่ที่จะละ ซึ่งการที่จะละต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป พร้อมกับการเจริญกุศลขั้นอื่นๆ ด้วย

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันเมื่อเห็นโทษของโทสะและกุกกุจจะ และยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล จะต้องรู้ว่าการละกิเลสนั้นมี ๓ ขั้น คือ ขั้นตทังคปหาน ขั้นวิกขัมภนปหาน และขั้นสมุจเฉทปหาน

ขั้นตทังคปหาน คือ สามารถละกิเลสได้ชั่วขณะ ขั้นวิกขัมภนปหาน คือ สามารถอบรมกุศลจิตจนสงบเพิ่มขึ้นถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งในระหว่างนั้นไม่มีอกุศล ใดๆ เกิดเลย ชั่วขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นขั้นวิกขัมภนะ ส่วนขั้นสมุจเฉท คือ ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะเป็นพระอริยบุคคล

ฉะนั้น ชีวิตตามความเป็นจริง เมื่อเห็นโทษของโทสะและกุกกุจจะต้องรู้ว่า ยังไม่ถึงขั้นที่จะดับเป็นสมุจเฉท หรือแม้เพียงระงับไว้ในขั้นของวิกขัมภนะ เพราะยังไม่ได้อบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต เพราะฉะนั้น การที่จะละ ก็เป็นได้ในขั้นของตทังคปหาน คือ สามารถละโทสะและ กุกกุจจะได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า การที่โทสะจะเกิด แต่ละครั้งนั้น เป็นเพราะยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้ามีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมาก ก็มีปัจจัยทำให้เกิดโทสมูลจิตได้บ่อย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละคลายความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยให้เกิดโทสะ หรืออิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะ ก็จะเป็นไปอย่างอ่อนๆ ไม่ได้มีกำลังกล้าถึงกับล่วงเป็นทุจริตกรรมจนกระทั่งเป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิได้

สำหรับกุกกุจจะ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดในการพิจารณาชีวิต ย่อมสามารถทำให้ กุกกุจจะเกิดน้อยกว่าการขาดการพิจารณา เพราะไม่ว่าจะประสบกับอิฏฐารมณ์ซึ่งมีความยินดีพอใจ อยากได้ อยากสนุกสนานรื่นเริง หรือจะประสบกับอนิฏฐารมณ์ซึ่ง ทำให้ขุ่นเคืองใจ อยากหลีกไปให้พ้น ถ้าในขณะนั้นเป็นผู้ที่ระลึกถึงหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ของตน ย่อมไม่เป็นเหตุให้เกิดกุกกุจจะในภายหลัง เพราะว่ากุกกุจจะเป็น สภาพธรรมที่เดือดร้อนใจในอกุศลธรรมที่ได้ทำแล้ว หรือในกุศลที่ยังไม่ได้ทำ

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดและพิจารณาหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงความยินดี ที่เป็นโลภะสำหรับตนเอง หรือความยินร้าย ความไม่พอใจในอนิฏฐารมณ์ที่กำลังปรากฏ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี จะทำให้กุกกุจจะเกิดน้อย

เช่น ถ้าเป็นลูก หน้าที่ของลูกที่ต้องปฏิบัติต่อมารดาบิดาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แทนที่จะคิดถึงความพอใจของตนเอง ความสนุกสนานของตนเอง หรือความ ไม่พอใจในมารดาบิดาซึ่งเป็นคนแก่ หรือคนป่วย หรือคนยากไร้ ก็ทำหน้าที่ของบุตรให้เต็มที่ จะทำให้ไม่เกิดกุกกุจจะในภายหลัง แต่ระหว่างที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรอาจจะลืมคิดว่า การปฏิบัติต่อท่านสมควรต่อหน้าที่ของบุตรหรือไม่ ทั้งทางกายและทางวาจาด้วย เพราะว่าบางครั้งอาจมีโทสะเกิดขึ้น กายวาจาก็ไม่เคารพ นอบน้อมท่าน ซึ่งภายหลังก็เกิดกุกกุจจะ แม้แต่หน้าที่ที่มีต่อพี่น้องวงศาคณาญาติ หรือมิตรสหายทั้งในทางโลกและทางธรรม ฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอุปนิสัยต่างๆ กัน มิฉะนั้นจะทำให้เกิดกายวาจาที่ไม่สมควร ทำให้เกิดกุกกุจจะภายหลังได้

เรื่องของกุกกุจจะ มีตั้งแต่อย่างแรงจนกระทั่งถึงอย่างละเอียด เช่น ในวงสนทนา พูดคุยกันเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม อาจจะเป็นการติบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลส ซึ่งอาจจะเผลอ ติไปด้วย วิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย โดยไม่ทันได้พิจารณาให้รอบคอบ และภายหลังก็เกิดกุกกุจจะว่า ไม่ควรที่จะกล่าววาจาอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ละเอียดก็จะไม่เห็นว่า เป็นการไม่สมควร เพราะฉะนั้น ในคราวต่อๆ ไปก็ทำอีก คือ ร่วมติหรือร่วมวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่เป็นอกุศล โดยไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ

เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของกุกกุจจะ ขึ้นอยู่กับการเป็นผู้ที่รู้หน้าที่และปฏิบัติตามหน้าที่ และเห็นโทษของการกล่าวถึงบุคคลอื่นในทางที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนใจในภายหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากอวิชชาและอโยนิโสมนสิการ เพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ไม่เห็นอกุศลทั้งหลายว่าเป็นอกุศลธรรม จึงทำให้มีความประพฤติทางกายทางวาจาโดยขาดการพิจารณาว่า อะไรถูก อะไรควร นอกจากนั้น ต้องละเอียดขึ้นอีกในการที่จะรู้อัธยาศัยของตนเองว่า จะมีอกุศลประเภทใดเกิดขึ้นในขณะใดบ้าง

เช่น แม่ชีท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะทำบุญคืนหนึ่ง คืนนั้นอกุศลเกิดมาก เป็นห่วงเป็นใย เป็นกังวลไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งพิจารณาว่าในเวลาที่ทำบุญ ไม่รู้ว่าอกุศลจะมากกว่ากุศลหรือเปล่า ซึ่งปกติก็เป็นอย่างนั้นทุกครั้งที่จะ ทำกุศล นี่ก็เป็นผู้ที่สังเกตและเทียบเคียงว่า ในการทำกุศลย่อมจะมีอกุศลเกิดได้ หรือแม้ก่อนทำกุศล อกุศลก็เกิดได้ โดยที่กังวลขณะใดขณะนั้นก็เป็นอกุศล ขณะใดที่เป็นมหากุศล จะไม่มีความกังวล จะไม่มีความเดือดร้อน แต่จะระลึกถึงสิ่งทำด้วยความปีติโสมนัสและก็ทำ

เปิด  206
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565