แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1406

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘


ขอกล่าวถึงข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๔ ซึ่งได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง เรื่องมหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใส และก็มีกุกกุจจะ คือ ความเดือดร้อนใจในกุศลที่ได้กระทำ

เรื่องมีว่า

เมื่อประชาชนทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตยาคูและขนมที่ปรุงด้วยน้ำหวานแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็ได้พากันตกแต่งยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวายแต่เช้า ทำให้พระภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหารในโรงอาหารไม่ได้ตามที่คาดหมาย

คราวนั้น มหาอำมาตย์คนหนึ่งผู้เริ่มเลื่อมใส ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มี พระผู้มีพระภาคเป็นประมุขเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น และได้จัดขาทนียโภชนียาหารอันประณีต เตรียมสำรับอาหารประกอบด้วยเนื้อ คือ สำรับมังสะ ๑,๒๕๐ ที่ เพื่อถวายแก่ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป รูปละสำรับ

ขณะที่มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสกำลังอังคาสภิกษุทั้งหลายในโรงอาหารที่บ้านของท่าน ภิกษุทั้งหลายก็บอกให้ถวายแต่น้อย ซึ่งมหาอำมาตย์กราบเรียนว่า อย่ารับแต่น้อยเพราะคิดว่าท่านเป็นผู้เริ่มเลื่อมใสเลย ท่านจัดเตรียมอาหารไว้มาก ขอให้ภิกษุทั้งหลายรับให้พอเถอะ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็บอกว่า ที่พวกท่านขอรับแต่น้อยไม่ใช่เพราะเหตุนี้ แต่เพราะเหตุว่าได้รับถวายยาคูที่แข้นและขนมปรุงด้วยน้ำหวานแต่เช้า

เมื่อได้ฟังอย่างนั้นแล้วแทนที่จะเป็นโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอย่างแยบคาย มหาอำมาตย์ผู้นั้นก็กลับพิจารณาอย่างไม่แยบคาย คือ

มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น โกรธ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา (กล่าวดังๆ) ว่า ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย อันกระผมนิมนต์แล้วจึงได้ฉันยาคูที่แข้นของผู้อื่นเล่า

นอกจากนั้น ท่านยังเอาอาหารที่ได้จัดเตรียมไว้ใส่ในบาตรของภิกษุทั้งหลาย จนเต็ม และกล่าวว่า

ท่านจะฉันก็ได้ จะนำกลับไปก็ได้

คือ กระทำด้วยความโกรธ เมื่อได้จัดเตรียมอาหารแล้วต้องถวาย แล้วแต่ว่าพระภิกษุจะฉันหรือว่าจะนำกลับไปก็ได้

ต่อจากนั้นท่านได้อังคาสพระผู้มีพระภาคด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จแล้ว และพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงแก่มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้น ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่ทันนาน มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นได้บังเกิดความรำคาญและความเดือดร้อนใจว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราโกรธ ไม่พอใจ เพ่งจะหาโทษให้ ได้บรรจุบาตรของภิกษุทั้งหลายเต็ม พลางกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะฉันก็ได้ นำไปก็ได้ อะไรหนอแลเราสร้างสมมาก คือ บุญหรือบาป

เมื่อท่านเกิดความเดือดร้อนใจอย่างนี้ ท่านก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ และกราบทูลถามข้อสงสัยของท่าน ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า

อาวุโส ท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ด้วยทานอันเลิศใด ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มากเพราะทานอันเลิศนั้น เมล็ดข้าวสุกเมล็ดหนึ่งๆ ของท่าน อันภิกษุรูปหนึ่งๆ ผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันใด รับไปแล้ว ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มากเพราะภิกษุผู้เลิศด้วยคุณสมบัติอันนั้น สวรรค์เป็นอันท่านปรารภไว้แล้ว

ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใสนั้นได้ทราบว่า เป็นลาภของตน ตนได้ดีแล้ว บุญมากอันตนสร้างสมไว้แล้ว สวรรค์อันตนปรารภไว้แล้ว ก็ร่าเริง ดีใจ ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ กลับไป

เพราะฉะนั้น เวลาที่จะทำกุศลแต่ละครั้ง และมีปัจจัยให้เกิดความกังวล แม้ในเรื่องของกุศลนั้นๆ ก็ควรทราบว่า กุศลที่ได้ทำแล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะว่าสามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แม้จะมีอกุศลเกิดคั่นบ้าง แทรกบ้าง แต่เมื่อเทียบกับกุศลแล้ว กุศลย่อมมีมากกว่า แม้แต่ข้าวสุกเมล็ดหนึ่งๆ ที่ถวาย ก็เป็นปัจจัยทำให้ได้รับผลมาก

. เรื่องกล่าวโทษหรือพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่น กระผมรู้สึกว่าตนเองเป็นบ่อย และเสียใจอยู่บ่อยๆ แต่ก็อดไม่ได้ คือ มักจะพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่นว่า คนนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ คนนี้ควรจะเป็นอย่างนั้น สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่า กระผมเองฟังอาจารย์ รู้สึกว่ายากจริงๆ กว่าจะเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์จริงๆ จึงอยากให้คนอื่นซึ่งเขายังหลง ยังเข้าใจผิดอยู่ ได้เข้าใจบ้าง ความในใจมีอยู่แค่นี้ แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรกันได้ ก็มักจะพูดพาดพิงถึงเขาอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ ผมเห็นโทษว่าเป็นของไม่ดี ฉะนั้น มีวิธีการอย่างไรที่จะขจัดปัดเป่าความคิดเช่นนี้ให้เบาบางลงไปบ้าง

สุ. ทางเดียว คือ สติเกิดขึ้นพิจารณาลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น แต่การพูดถึงบุคคลอื่น ไม่จำเป็นต้องเป็นอกุศลเสมอไป พูดถึงเพื่อหาทางเกื้อกูลบุคคลนั้นก็ได้ แต่ถ้ามุ่งที่จะติเตียนอย่างเดียว ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

ถ้าพูดถึงอกุศลของใครแม้ของตนเองเพื่อที่จะให้ระลึกได้ และหาทางเกื้อกูลบุคคลอื่น หรือแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น ย่อมเป็นกุศล ไม่ใช่ว่าการพูดถึงบุคคลอื่นต้องเป็นอกุศลเสมอไป แล้วแต่จิตในขณะนั้น

ผู้ฟัง พระไตรปิฎก อภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓๖ แสดงไว้ว่า ถ้าเราติบุคคลที่ควรติ สรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ พระพุทธเจ้าบอกว่าทำได้

สุ. ถ้าติบุคคลที่ควรติด้วยกุศลจิตเพื่อที่จะให้เขารู้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้น ไม่ถูกต้อง ขณะนั้นควรติ ด้วยกุศลจิตที่ต้องการให้เขารู้

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าจะติ ก็ควรติด้วยจิตที่เป็นกุศล และเพื่อให้เขาเข้าใจธรรมได้ดีขึ้น

สุ. ข้อสำคัญที่สุด ต้องเป็นผู้ตรง เพราะว่าแต่ละคนอาจจะไม่เห็นอกุศลของตนเอง แต่เห็นอกุศลของคนอื่นง่ายกว่า เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ตรง คือ ไม่ว่าจะเป็นเราหรือเป็นเขา อกุศลต้องเป็นอกุศล ถ้าเขาฟังเรื่องของอกุศลธรรมและพิจารณารู้ว่า แม้เขาเองก็มีอกุศลธรรมนั้น เขาก็ควรที่จะระลึกได้ว่า เขาควรจะแก้ไข ไม่ใช่ว่า ไม่ควรพูดเลย แต่ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ หรือในทางที่ทำให้เกิดกุศล เกื้อกูลให้เขารู้จักตนเองเพื่อจะได้แก้ไข

ข้อที่ควรพิจารณา คือ ปลิโพธ หรือความกังวลต่างๆ ไม่ใช่กุกกุจจะ แต่เป็นลักษณะของโทสมูลจิต

กุกกุจจะ คือ ความเดือดร้อนใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว หรือในกุศลที่ยังไม่ได้กระทำ แต่ถ้าจะกระทำกุศลและกังวลเรื่องของกุศล ขณะนั้นเป็นสภาพลักษณะของ โทสมูลจิต ไม่ใช่กุกกุจจะ

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มีข้อความว่า

ความเดือดร้อนใจของบุคคลผู้มีความดีอันตนมิได้กระทำแล้ว และความชั่วอันตนกระทำแล้ว เพราะความเดือดร้อนนั้น ชื่อว่ากุกกุจจะ

เพราะฉะนั้น เมื่อคิดจะทำบุญ ไม่ใช่ไม่ทำ แต่อดกังวลใจไม่ได้ ขณะที่กังวลใจเป็นโทสมูลจิต ซึ่งไม่ได้ประกอบด้วยกุกกุจจะ

สำหรับปลิโพธ ๑๐ คือ ความกังวล ๑๐ ซึ่งไม่ใช่กุกกุจจะ คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลในที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะซ่อมแซมบ้าน หรือทำความสะอาดบ้านต่างๆ ขณะนั้นเป็นลักษณะของโทสมูลจิต ถ้าเป็นความรู้สึก ไม่สบายใจ

๒. กุลปลิโพธ ความกังวลในเรื่องของวงศ์ตระกูล ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุกกุจจะ

๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลในลาภ คือ ปัจจัย ๔ ก็ไม่ใช่กุกกุจจะ

๔. คณปลิโพธ ความกังวลในหมู่คณะ ในพวก ที่ศึกษาร่วมกัน ในการเรียน ในการสอน เป็นต้น ก็ไม่ใช่กุกกุจจะ

๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลในการงาน ทุกคนที่ทำงานก็ย่อมห่วงกังวลว่า อะไรทำแล้ว อะไรยังไม่ได้ทำ ซึ่งจะต้องรู้ว่า อะไรต้องทำก่อน อะไรต้องทำหลัง และต้องบอกคนอื่นว่าอย่างไร ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่กุกกุจจะ

๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลในการเดินทางไกล ซึ่งชื่อว่าจิตคิดจะไป ย่อมบรรเทาได้ยาก นี่เป็นความกังวลในชีวิตของแต่ละบุคคล ถ้าพิจารณาดูชีวิตของเด็กๆ จนกระทั่งคนที่สูงอายุ อาจมีความคิดที่จะออกจากบ้านโดยเหตุหนึ่งเหตุใด ก็ตาม สำหรับปัญหาของเด็กๆ ถ้าเป็นครอบครัวซึ่งอาจจะไม่มีแม่ หรือมีความยุ่งยากลำบากในบ้าน ก็ย่อมคิดจะออกจากบ้านบ่อยๆ นั่นก็เป็นการเดินทางไกล ได้เหมือนกัน หรือผู้ที่สูงอายุมีปัญหาในเรื่องของบ้าน ก็อาจคิดที่จะออกจากบ้านหรือเดินทางไกลไป นั่นก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่กุกกุจจะ

๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติ เช่น อาจมีญาติป่วยไข้ที่จะต้องดูแลรักษา หรือหน้าที่ของบุตรก็จะต้องปรนนิบัติรับใช้มารดาบิดา ทำทุกสิ่งทุกประการที่ท่านต้องการ แม้ว่ามารดาบิดาจะตั้งอยู่ในฐานะแห่งความเป็นพระราชา ถ้ามารดาบิดายังปรารถนาการบำรุงจากบุตร บุตรก็ควรทำ หรือในเรื่องของ วงศาคณาญาติที่จะต้องเกื้อกูลกันในเรื่องเงินทองทรัพย์สมบัติต่างๆ ก็จะต้องเกื้อกูลโดยการให้ยืม ซึ่งข้อความที่ควรจะเกื้อกูลญาติที่แสดงไว้ คือ ถ้าภายหลังได้คืน ก็พึงรับ แต่ถ้าไม่ได้คืน ก็ไม่พึงทวง นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเกื้อกูลญาติ

๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลในเรื่องของโรคภัย ซึ่งไม่ใช่กุกกุจจะ แต่เป็น โทสมูลจิต บางคนก็กังวลล่วงหน้าว่า พรุ่งนี้จะนอนไม่หลับ หรือว่าคืนนี้จะนอน ไม่หลับ จะต้องเดินทาง ถ้านอนไม่หลับร่างกายคงจะอ่อนเพลีย หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความกังวล ซึ่งเป็นอาพาธปลิโพธ

ถ้าไม่หลับ ก็เจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ตื่นด้วยปัญญา อย่างที่ข้อความบางตอนแสดงว่า แม้ว่าเลือดเนื้อกระดูกจะเหือดแห้งไป ก็ควรสะสมอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม นั่นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ที่ทำไม่ได้ก็เพราะหลับ ถ้าไม่หลับก็ทำ เพราะฉะนั้น ไม่น่าวิตกกังวลเลย แต่ก็ยังมีอาพาธปลิโพธ กังวลแม้แต่ในการนอน ไม่หลับ และกังวลล่วงหน้าด้วย ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่กุกกุจจะ แต่เป็นโทสมูลจิต

๙. คันถปลิโพธ กังวลในการศึกษาปริยัติ ซึ่งบางคนถามว่า ศึกษาเท่าไรจึงจะเริ่มเจริญสติปัฏฐานได้ คือ คิดว่าเท่าที่ได้รับฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่พอ จะต้องศึกษาให้จบปริจเฉทต่างๆ หรือคัมภีร์ต่างๆ ก่อน นี่เป็นคันถปลิโพธ คือ เป็นความกังวลซึ่งกั้นปัญญาที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและศึกษาจนกว่าจะรู้ ไม่ต้องรออะไรเลย ไม่ต้องกังวลอะไรเลย แต่แม้กระนั้นความกังวลในสิ่งต่างๆ แม้แต่ในเรื่องของการศึกษาก็ยังมีได้ ทำให้กั้นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเข้าใจผิดว่า จะต้องจบถึงปริจเฉทสูงๆ หรือต้องศึกษาคัมภีร์ต่างๆ ให้จบก่อนซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้น

การศึกษาทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อ สติระลึกและปัญญาน้อมศึกษาจนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ตามธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เพราะว่าธรรมทั้งหมดไม่พ้น สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพียงระลึก อย่างนี้จะทำให้ศึกษาว่า ทางตาที่กำลังเห็นเป็นอนัตตาอย่างไร และการศึกษาคัมภีร์ต่างๆ ก็เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอนัตตาอย่างไร

๑๐. อิทธิปลิโพธ เป็นความกังวลในการเจริญอิทธิต่างๆ ซึ่งอิทธิปลิโพธ อย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นเครื่องกั้นการเจริญวิปัสสนา แต่ปลิโพธอื่น ๙ อย่างนั้น เป็นเครื่องกั้นการเจริญสมถะ

ทั้งหมดที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดก็ตาม ทั้ง โลภมูลจิต โทสมูลจิต ซึ่งเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิกทั้งหลายนั้น เพราะความไม่รู้ เป็นเหตุทำให้สงสัยว่า ธรรมใดเป็นเหตุ ธรรมใดเป็นผล แม้ในการที่จะทำกุศล ก็เป็นไปด้วยความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงแต่อกุศลเท่านั้นที่เกิดขึ้นเพราะมีอวิชชาหรือความไม่รู้เป็นปัจจัย แต่กุศลใดๆ ที่ทำ ผู้ที่ได้ฟังเรื่องของ สติปัฏฐานย่อมรู้ว่า แม้กุศลนั้นๆ ก็ย่อมกระทำโดยที่ยังไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เช่น การให้ทาน การรักษาศีล ไม่ใช่ว่าในขณะนั้นจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงในความเป็นอนัตตา หรือรู้เหตุรู้ผลของกุศลนั้นๆ เช่น มหาอำมาตย์ผู้เริ่มเลื่อมใส แม้ได้ทำกุศลแล้วก็ยังเกิดความสงสัยว่า กุศลที่ทำนั้นจะให้ผลเป็นกุศลหรือไม่ เพราะว่าท่านทำไปด้วยความโกรธในขณะที่ใส่อาหารในบาตร และได้กล่าววาจาที่ไม่สมควร

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ จะเห็นอวิชชาหรือความไม่รู้ซึ่งเป็นเหตุของอกุศลในวันหนึ่งๆ ได้ เช่น บางคนอาจจะรู้สึกไม่สบายใจ หรือเจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อเห็นคนอื่นไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีเมตตา เป็นไปได้ไหม

คือ ในเรื่องของการกุศลมีหลายอย่าง เวลาที่เห็นคนอื่นทำกุศลก็ดีใจอนุโมทนาด้วย เป็นกุศลในขณะนั้น แต่เวลาที่เห็นอกุศลของคนอื่น เช่น ความไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การไม่สงเคราะห์คนอื่น หรือแม้การไม่ปฏิสันถาร ก็มีความรู้สึกเจ็บหรือว่าช้ำใจ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่อกุศลของตนเอง เป็นอกุศลของคนอื่น แต่ทำไมมีความรู้สึกอย่างนั้น เป็นการขาดการระลึกรู้ลักษณะสภาพจิตจึงไม่รู้ว่า แม้ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล

ผู้ที่ปกติมีเมตตา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีปกติปฏิสันถาร ลองคิดถึงจิตใจของคนนั้นว่า เวลาที่เห็นคนอื่นไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ปฏิสันถาร ขณะนั้นใจของคนที่ปกติ มีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะรู้สึกอย่างไร

บางคนก็ดี คือ ไม่หวั่นไหว แต่บางคนรู้สึกเหมือนกับเจ็บหรือช้ำใจที่ทำไม คนอื่นไม่สามารถจะเมตตา หรือไม่สามารถเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือไม่สามารถปฏิสันถารได้ ขณะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่กำลังรู้สึกเหมือนเจ็บหรือ ช้ำใจจะรู้ได้ว่า เป็นเพราะอวิชชา ความไม่รู้ของตนเองว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลอย่าง บางเบาแล้ว ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครเลยทั้งกาย วาจา เพียงแต่เกิดความรู้สึกเจ็บหรือช้ำใจ ไม่สบายใจที่เห็นคนอื่นเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอกุศล

เปิด  218
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565