แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1407

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘


เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงและละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะนั้นขาดปัญญาที่รู้กัมมัสสกตา คือ ทุกคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนสะสมมาต่างกันจริงๆ บางคนไม่มีปฏิสันถารเพราะสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ถ้าพิจารณาอย่างนั้น สติเกิดอย่างนั้น ระลึกได้อย่างนั้น รู้ในเรื่องกรรมอย่างนั้น ในเรื่องการสะสมอย่างนั้น ขณะนั้นจะบรรเทาความรู้สึกเจ็บหรือช้ำใจ แต่ถ้าระลึกไม่ได้ เมื่อเห็นความไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่เมตตาของคนอื่น อกุศลที่สะสมมาย่อมทำให้มีความรู้สึกไม่สบายใจได้

และเมื่อพิจารณาแล้วย่อมเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทไหนก็ตามที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดจากอวิชชาทั้งสิ้น

บางคนได้รับการขอร้องจากคนอื่นให้ทำกิจธุระเล็กๆ น้อยๆ ก็มีเมตตาทำให้ แต่คนอื่นที่เห็นบอกว่า ทำไมต้องทำให้ ให้เขาทำเอง

อโยนิโสมนสิการ กับโยนิโสมนสิการ ย่อมต่างกัน ใช่ไหม ผู้ที่มีโยนิโสมนสิการย่อมพร้อมที่จะช่วยคนอื่นได้บ่อยๆ เนืองๆ เป็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องปกติที่จะสงเคราะห์คนอื่น เพราะคนอื่นอาจจะมีธุระมาก ตนเองมีเวลาพอ แต่ถ้าเป็น อโยนิโสมนสิการ ทำไมไม่ให้เขาทำเอง ถ้าเขาต้องการจริงๆ เขาต้องทำได้ ทำไมต้องรอคนอื่นทำให้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า กาย วาจา ที่แต่ละคนทำ หรือกล่าว หรือคิด ย่อมเป็นไปตามโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ

ตอนที่ไปเชียงใหม่เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีผู้ถามว่า รู้สึกอย่างไรกับพระภิกษุที่ท่านใบ้หวย ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการจริงๆ ทุกคนที่ไม่รู้ย่อมทำไปตามความไม่รู้ ถ้ารู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรย่อมไม่ทำ แต่สิ่งใดที่ไม่ควรและทำก็เพราะว่าคนนั้นไม่รู้ เมื่อ เป็นผู้ที่ไม่รู้ก็ทำสิ่งที่ไม่รู้ ก็ไม่ควรเดือดร้อนกับความไม่รู้ที่ทำให้คนนั้นทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการ

ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใด หรือได้ยินสิ่งใดก็ตาม พิจารณาจิตว่า ขณะนั้นเป็น โยนิโสมนสิการหรือเปล่า พิจารณาด้วยความแยบคายจริงๆ ที่จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจ มีความคิดที่เป็นกุศลที่จะเกื้อกูลแทนที่จะเห็นแต่ความผิดว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ หรือไม่เหมาะสม เพราะว่าทุกคนย่อมกระทำสิ่งที่ไม่ควรและ ไม่เหมาะสมเพราะอวิชชาทั้งนั้น ถ้าเป็นวิชชาจะไม่ทำอย่างนั้นเลย เมื่อเป็นอวิชชาย่อมทำทุกอย่างที่ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ทางแก้ คือ ควรให้ทุกคนเกิดวิชชา มีความเข้าใจถูก เพื่อจะได้มีกายวาจาและใจที่ถูกต้อง แทนที่จะโกรธ เป็นโทสะ หรือกล่าวคำใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดกุกกุจจะในภายหลัง

ขุททกนิกาย วีสตินิบาตชาดก โสมนัสชาดก ข้อ ๒๑๗๕ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ควรพิจารณาก่อนทำ

ข้อความมีว่า

กรรมที่บุคคลใดไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วทำลงไป ผลชั่วร้ายย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความวิบัติแห่งยาแก้โรค ฉะนั้น ส่วนกรรมที่บุคคลใดพิจารณาถี่ถ้วนก่อนแล้วทำลงไป ผลอันเจริญก็ย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความถึงพร้อมแห่งยาแก้โรค ฉะนั้น

คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวม ไม่งาม พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำลงไป ไม่ดี บัณฑิตมีความโกรธเป็นเจ้าเรือนก็ไม่ดี

... กรรมที่ทำด้วยความรีบร้อนย่อมให้เดือดร้อน อนึ่ง ความตั้งตนไว้โดยชอบและประโยชน์ของนรชน ย่อมไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง

แท้จริง ชนเหล่าใดจำแนก แจกแจง (เลือกเฟ้น) แล้วกระทำกรรมทั้งหลายที่ ไม่ตามเดือดร้อนภายหลังในโลก กรรมของชนเหล่านั้น ท่านผู้รู้สรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไร

นี่เป็นการเตือนให้เป็นผู้ที่มีกายวาจาที่ต้องพิจารณาสภาพของจิตจริงๆ และ รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดควรก็กระทำ จะไม่กระทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร เพราะว่า กรรมใดก็ตามที่บุคคลใดไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วทำไป ผลชั่วร้ายย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความวิบัติแห่งยาแก้โรค

ยาไม่ได้รักษาโรคได้ทุกชนิด เพราะว่าบางชนิดก็ไม่ถูกกับโรค หรือว่าถ้าใช้ผิดก็เป็นโทษ เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ซึ่งอาจจะคิดว่าถูกต้องในขณะนั้น แต่ ถ้าพิจารณาให้ดีๆ คิดว่าไม่ถูกไม่ควรเพราะว่าเป็นการกระทำด้วยอกุศล ก็ไม่ทำสิ่งนั้น และทำสิ่งที่เป็นกุศล ก็ย่อมดีกว่า เช่น เข้าใจในความไม่รู้ของคนที่ทำผิด และเกื้อกูลโดยให้เขาเกิดปัญญา ดีกว่าจะไม่เกื้อกูลให้เกิดปัญญา แต่บอกว่าเป็นการกระทำที่ผิดและติเตียน

ส่วนกรรมที่บุคคลใดพิจารณาถี่ถ้วนก่อนแล้วทำลงไป ผลอันเจริญย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความถึงพร้อมแห่งยาแก้โรค ฉะนั้น

อกุศลธรรมที่ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมดมาจากอวิชชา ความไม่รู้ เป็น โมหเจตสิก ซึ่งในประเภทของอกุศลกรรม ๙ กอง โมหเจตสิกเป็นอกุศลธรรม ๗ ประเภท คือ เป็นอาสวะ โอฆะ โยคะ นิวรณ์ สังโยชน์ อนุสัย และกิเลส

มากทีเดียวเมื่อคิดถึงหน้าที่การงานของโมหเจตสิก หรืออวิชชา ซึ่งเป็น สภาพธรรมที่ไม่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม เพราะว่าอกุศลใดๆ ก็ตามที่จะปราศจากอวิชชาหรือโมหเจตสิก ไม่มีเลย

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ปฏิจจสมุปปาทวิภังคนิทเทส แสดงลักษณะของโมหะ คือ

อญาณลักขณา มีความไม่รู้เป็นลักษณะ

สัมโมหนรสา มีความหลงพร้อมเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

ฉาทนปัจจุปัฏฐานา มีการปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

อาสวปทัฏฐานา มีอาสวะเป็นปทัฏฐาน

อีกนัยหนึ่งที่ได้แสดงไว้ในที่อื่น ลักษณะของโมหะ คือ

อญาณลักขโณ มีการไม่รู้ คือ ไม่รู้อริยสัจเป็นลักษณะ

อารัมมณสภาวัจฉาทนรโส มีการปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

อันธการปัจจุปัฏฐาโน มีความมืดมนเป็นอาการปรากฏ

อโยนิโสมนสิการปทัฏฐาโน มีการไม่พิจารณาโดยแยบคายเป็นเหตุใกล้

อีกนัยหนึ่ง

อัฏฐสาลินี พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ แสดงลักษณะของโมหะ ดังนี้

จิตตัสสะ อันธภาวลักขโณ อัญญาณลักขโณ วา มีความมืดมนแห่งจิตเป็นลักษณะ หรือมีความไม่รู้เป็นลักษณะ

อสัมปฏิเวธรโส อารัมมณสภาวัจฉาทนรโส วา มีความไม่แทงตลอดเป็นรสะ หรือมีความปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์เป็นรสะ

อสัมมาปฏิปัตติปัจจุปัฏฐาโน อันธการปัจจุปัฏฐาโน วา มีความไม่ปฏิบัติชอบเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีอันธการ คือ มืดมน เป็นปัจจุปัฏฐาน

อโยนิโสมนสิการปทัฏฐาโน มีการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นปทัฏฐาน

พึงเห็นว่าเป็นมูลแห่งอกุศลทั้งปวง

ขณะนี้มีหรือเปล่า ข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องของอะไร จะต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้มีอวิชชาหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ย่อมยากที่จะรู้ลักษณะของอวิชชา อาจจะ รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล แต่ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ย่อมชื่อว่ายังมีอวิชชาอยู่

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค คิญชกาวสถสูตร ข้อ ๓๖๑ มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระตำหนักที่สร้างด้วยอิฐ ใกล้หมู่บ้านของ พระญาติ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

ข้อ ๓๖๓

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ ธาตุคืออวิชชานี้ เป็นธาตุใหญ่แล ดูกร กัจจานะ สัญญา ที่เลว ทิฏฐิที่เลว วิตกที่เลว เจตนาที่เลว ความปรารถนาที่เลว ความตั้งใจที่เลว บุคคลที่เลว วาจาที่เลว บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่เลว บุคคลที่เลวนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้น ซึ่งธรรมที่เลว เรากล่าวว่า อุปบัติของบุคคลที่เลวนั้น ย่อมเลว

ผู้ที่เลว คือ ผู้ที่มีอกุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้นในขณะใด เป็นผู้เลวในขณะนั้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ สัญญาที่ปานกลาง ทิฏฐิที่ปานกลาง วิตกที่ปานกลาง เจตนาที่ปานกลาง ความปรารถนาที่ปานกลาง ความตั้งใจที่ปานกลาง บุคคลที่ ปานกลาง วาจาที่ปานกลาง บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่ปานกลาง บุคคลที่ ปานกลางนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่ปานกลาง เรากล่าวว่า อุปบัติของบุคคลที่ ปานกลางนั้น เป็นปานกลาง

ธรรมที่เป็นธรรมปานกลางทั้งหมดซึ่งทำให้เป็นบุคคลที่ปานกลาง คือ โลกียกุศลทั้งหมด เป็นธรรมที่ปานกลาง

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร กัจจานะ สัญญาที่ประณีต ทิฏฐิที่ประณีต วิตกที่ประณีต เจตนาที่ประณีต ความปรารถนาที่ประณีต ความตั้งใจที่ประณีต บุคคลที่ประณีต วาจาที่ประณีต บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่ประณีต บุคคลที่ประณีตนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่ประณีต เรากล่าวว่า อุปบัติของบุคคลที่ประณีตนั้น ย่อมประณีต ฯ

บุคคลที่ประณีต ได้แก่ โลกุตตรธรรม โลกุตตรกุศล โลกุตตรวิบาก และนิพพาน เป็นธรรมที่ประณีต

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ย่อมแสดงตามธรรมว่า บุคคลใดจัดเป็นบุคคลเลว คือ บุคคลที่สัญญาที่เลว ทิฏฐิคือความเห็นที่เลว วิตกคือความตรึกหรือความดำริที่เลว เจตนาคือความจงใจหรือความตั้งใจที่เลว ความปรารถนาที่เลว บุคคลที่เลว วาจาที่เลว บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยธาตุที่เลว บุคคลที่เลวนั้นย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่เลว

ถ้าเป็นผู้ที่มีอกุศล มีความเห็นผิด มีข้อปฏิบัติที่ผิด ย่อมบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้นซึ่งธรรมที่เลว เพราะอวิชชา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร กัจจานะ ธาตุคืออวิชชานี้ เป็นธาตุใหญ่แล

ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ยากที่จะเข้าใจว่า อวิชชามากมายสักแค่ไหน ขณะที่กำลังเห็นและไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะว่าอวิชชาปิดบังลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ

อวิชชา ตรงกันข้ามกับปัญญา ไม่สามารถรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทซึ่งเล็กที่สุดที่อยู่กลางตา เมื่อกระทบแล้ว ก็ปรากฏเป็นโลกที่ กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยสัตว์บุคคลต่างๆ

นี่คือหน้าที่ของอวิชชา คือ ปกปิดลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่า ตามความเป็นจริง มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏเพียงเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ดูเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจดี เข้าใจตรง แต่ว่ารู้จริงๆ อย่างนี้หรือเปล่าว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงของจริงที่กระทบจักขุปสาทและปรากฏ และดับ

นี่คืออวิชชา เป็นธาตุที่ปกปิดลักษณะของสภาพธรรม ทำให้ไม่เห็น สภาพธรรมตามความเป็นจริง ส่วนวิชชาหรือปัญญานั้นตรงกันข้าม เมื่อใดที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเจริญขึ้น โดยน้อมพิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏโดยไม่เปลี่ยน สิ่งที่กำลังปรากฏก็กำลังปรากฏอย่างนี้เอง เพียงแต่ปัญญาเริ่มน้อมพิจารณาให้เข้าใจขึ้นจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท จนกระทั่งรู้ว่า เป็นสัจธรรม เป็นความจริง และระลึกบ่อยๆ จนละคลายความยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลที่เที่ยง เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับทวารอื่น เช่น หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขั้นของการศึกษา และพิจารณา จะทำให้เห็นลักษณะของอวิชชาได้ว่า มีความไม่รู้เป็นลักษณะ มีความมืดของจิตหรือความไม่รู้นั่นเองเป็นลักษณะ เมื่อไม่รู้ก็ต้องมืด เพราะว่าไม่สามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

สำหรับรสะ คือ กิจ ของอวิชชา ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ปฏิจจสมุปปาทวิภังคนิทเทส แสดงว่า มีความหลงพร้อมเป็นรสะ คือ เป็นกิจ แต่ใน อัฏฐสาลินี มีความไม่แทงตลอดเป็นรสะ หรือมีความปกปิดสภาวะของอารมณ์ เป็นรสะ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน คือ เมื่อไม่รู้ลักษณะของอารมณ์ เป็นสภาพที่ปกปิดลักษณะของอารมณ์ ไม่ให้เห็นลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นความหลงพร้อม ทุกวันๆ ที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางกาย

สำหรับปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ ใน อัฏฐสาลินี แสดงว่า อสัมมาปฏิปัตติปัจจุปัฏฐาโน อันธการปัจจุปัฏฐาโน วา มีความไม่ปฏิบัติชอบ เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีอันธการ คือ มืดมน เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการที่ปรากฏ

ความไม่ปฏิบัติชอบนี่ ต้องทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไม่ปฏิบัติชอบทางกายเกิดขึ้นขณะใด ให้หยั่งลงไปถึงความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแม้ที่เป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นกายทุจริตหรือว่าวจีทุจริตได้ ในขณะที่คิดไม่ดีเป็นอกุศล ขณะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ระลึกได้ย่อมรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565