แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1409
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
ถ. เคยได้ยินเกี่ยวกับรสปรากฏ ผมก็ใส่ใจในรสและรู้ว่า ลักษณะของรส มีจริง และรสก็ปรากฏจริง รู้ว่าเป็นรสแน่ๆ แต่ไม่ได้เจาะจงหรือไม่ได้อะไรทั้งสิ้น รู้ว่านี่คือรส เพราะว่ามีการใส่ใจพิจารณาในขณะที่รสปรากฏเป็นประจำ
สุ. ก็เป็นสติที่กำลังระลึกลักษณะของรูปที่ปรากฏทางลิ้น ข้อสำคัญที่สุด ปัญญาจะเพิ่มขึ้นโดยลักษณะไหน เพราะว่ามีการระลึกบ้างแล้ว แต่สังเกตตอนไหนว่าเป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้น
ถ. ก็พิจารณาว่า รสทำไมปรากฏเฉพาะตรงลิ้นเท่านั้น ที่อื่นไม่ปรากฏ ทางริมฝีปากหรือทางอื่นรสไม่ปรากฏเลย ปรากฏเฉพาะที่ชิวหาปสาทส่วนนั้น ส่วนเดียวเท่านั้นเอง รู้รสก็สภาพหนึ่ง สภาพที่รู้รสแตกต่างกับรส
สุ. การสังเกตว่าปัญญาเจริญขึ้น คือ ในขณะที่รสปรากฏ รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หมายความว่าสิ่งนั้นมีจริง กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นสิ่งนั้น เช่น ไม่คิดว่า รสมะม่วง รสขนุน รสทุเรียน หรือรสข้าว รสอาหาร รสกับแกงต่างๆ รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือปัญญาที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และถ้าเป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้นจะสังเกตได้ว่า ขณะนั้นไม่มีอย่างอื่นเลย ไม่มีแม้ความทรงจำว่า เรากำลังนั่งรับประทานอาหารและรสปรากฏที่ส่วนนั้นส่วนนี้ เพราะว่าต้องทิ้งสัญญาความจำที่ยังมีตัวตน เช่น อัตตสัญญา เพื่อน้อมไปสู่อนัตตสัญญา
ในขณะที่รสปรากฏพิจารณาว่า มีอะไรอื่นปรากฏอีกบ้าง มีไหม ในขณะที่รสปรากฏ
ถ. มี ความแตกต่าง ...
สุ. ถ้ามี หมายความว่ายังเป็นเราที่กำลังคิดถึงเรื่องรสว่า รสกำลังปรากฏ ที่ลิ้น นี่คือลักษณะเยื่อใยของอัตตสัญญา และต้องพิจารณาอีกว่า ในขณะที่รสปรากฏ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ปรากฏเลย ถูกไหม
ถ. ไม่ใส่ใจอารมณ์อื่น
สุ. ไม่ใช่ไม่ใส่ใจ ไม่ปรากฏด้วย มีแต่รสเท่านั้นที่ปรากฏกับความจำว่า มีเรา เพราะฉะนั้น จะต้องเอาความจำว่ามีเราคืออัตตสัญญาออก ไม่ให้เหลืออะไรเลย นอกจากรสอย่างเดียวที่กำลังปรากฏ ทุกทวาร
ทางหูก็เหมือนกัน ในขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าปัญญายังไม่เจริญก็มีอย่างอื่น เช่น มีความคิดนึก มีความตรึก มีความเป็นตัวตนรวมอยู่ในขณะที่เสียงปรากฏ
ถ้าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชัดเจน และปัญญาเจริญขึ้น เฉพาะเสียงและรู้เสียงเท่านั้นที่มีในขณะนั้น อัตตสัญญาไม่มีเลย ความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตนของเราในขณะนั้นจะไม่มี แต่ที่ยังมีอยู่เพราะยังละอัตตสัญญาไม่ได้ จึงมีเรากำลังคิดเรื่องรส และมีเราที่กำลังรับประทานอาหารอยู่แล้วรสปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องเพิกอารมณ์อื่นทั้งหมด ให้มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือการที่สติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏเพิ่มขึ้น
ถ. การละอัตตสัญญา เวลาที่เจริญสติปัฏฐาน โดยใช้อานาปานสติบ้าง หรือธรรมประกอบที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา แต่บางครั้งเกิดความหิว ก็คิดว่า วันนี้ลืมยังไม่ได้รับประทานอาหาร ก็พยายามหาอาหารเบาๆ ทานเพื่อทำลายความหิว จะเป็นการช่วยทำลายอัตตสัญญาได้บ้างไหม
สุ. ไม่มีทางอื่น นอกจากสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และรู้ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม
ถ. การที่เราพยายามทำลายอัตตสัญญา บางครั้งเรารู้สึกเพลีย ก็พยายามใช้สติกำหนดอานาปานสติเพื่อให้เข้าถึงสติปัฏฐานเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม คิดว่า นี่เป็นความกังวล เป็นปลิโพธ พยายามปล่อยวางความกังวล พยายามมุ่งเจริญ อานาปานสติและสติปัฏฐานร่วมไปอย่างนี้ จะเกิดผลดีอย่างไร
สุ. ทำไมไม่เจริญสติปัฏฐานโดยที่รู้ว่า ขณะที่มีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติเท่านั้นเอง แม้แต่ขณะที่กำลังจงใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรม อย่างหนึ่ง คือ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นลักษณะที่ตั้งใจ จงใจ เกิดขึ้นและดับไป
ถ. กระผมพยายามตัดความกังวล ตัดอัตตสัญญา โดยระลึกถึงธรรมที่ควรภาวนา เพื่อให้เกิดสมถภาวนาประกอบกับวิปัสสนาภาวนา
สุ. ถ้าจะทำสมถภาวนา หมายความว่าขณะนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานโดยเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่จิตสงบเป็นกุศลขณะนั้นก็รู้ว่า เป็นจิตชนิดหนึ่ง ถึงแม้ว่าไม่จงใจ ไม่ตั้งใจ ก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น
กุศลจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตนที่จะให้เป็นกุศล อกุศลก็เกิดเพราะ เหตุปัจจัย ขณะใดที่มีสติจึงระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏทั้งกุศลและอกุศล รู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพื่อให้หมดตัวตน แต่ถ้ายังมีความจงใจ ความตั้งใจอยู่ ก็ยังมีตัวตนเพิ่มเข้าไปอีกเรื่อยๆ
ถ. เราจะตัดความกังวลใจ โดยพยายามคิดว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นการทำลายอัตตสัญญา แบบนี้จะเป็นการช่วยได้ไหม
สุ. เป็นแต่เพียงขั้นคิด แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ถ. ที่อาจารย์บรรยายว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เรียนถามว่า ถ้าคิดเลยไปว่า เป็นเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม จะเป็นอย่างไร
สุ. เมื่อเปรี้ยวปรากฏต้องบอกไหมว่าเปรี้ยวแค่ไหน ถึงจะพรรณนาสักเท่าไรคนอื่นก็ไม่สามารถรู้ความเปรี้ยวมากเปรี้ยวน้อยนั้นได้ จนกว่าผู้นั้นจะลิ้มรส คือ ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น จึงรู้ว่ารสเปรี้ยวนั้นเปรี้ยวแค่ไหน โดยไม่ต้องเอ่ย ไม่ต้องบอก ไม่ต้องพรรณนา แต่ว่าลิ้มรสนั้น และรสนั้นก็ปรากฏ
ถ. เวลาที่เราซื้อสับปะรดก็ต้องถามว่า หวานไหม ฉ่ำไหม
สุ. ถูกต้อง เขาบอกว่าหวาน เราจะรู้ว่าหวานก็จนกว่าจะลิ้ม
ถ. เราคิดนึกได้ไหม คือ เราได้ลิ้มรสแล้วทางชิวหาปสาท แต่เราคิดนึกไปว่า อันนี้เปรี้ยว อันนี้หวาน ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด
สุ. ไม่บอกก็เปรี้ยว ใช่ไหม ขณะที่กำลังลิ้มรสเปรี้ยว
ถ. ใช่
สุ. ก็จบแล้ว ไม่ต้องบอก ทำไมต้องบอกอีก
ถ. แต่การจะแยกออกไปว่า มันเปรี้ยวหรือมันหวาน
สุ. ที่จะรู้ว่าหวานหรือเปรี้ยว เมื่อชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรสหวาน ขณะนั้นต้องเป็นรสหวานที่ปรากฏแก่ชิวหาวิญญาณ ขณะที่ชิวหาวิญญาณลิ้มรสเปรี้ยว เปรี้ยวนั้นปรากฏแก่ชิวหาวิญญาณ ไม่ต้องมีใครบอกอีก บอกเท่าไรก็ไม่รู้จนกว่าจะลิ้ม
ถ. เข้าใจว่า ต้องคิดเองว่าเปรี้ยว หรือหวาน หรือเค็ม ผิดหรือถูก
สุ. ผิด สิ่งที่หวาน คิดให้เค็มได้ไหม
ถ. เป็นไปไม่ได้
สุ. เพราะฉะนั้น หวานคือหวาน รู้ได้โดยชิวหาวิญญาณเท่านั้น จักขุวิญญาณไม่สามารถรู้รสหวานได้ โสตวิญญาณไม่สามารถรู้รสหวานได้ ต้อง ชิวหาวิญญาณเท่านั้นที่ทำกิจลิ้มรส
สำหรับอวิชชาหรือโมหเจตสิกนั้น เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง โลภเจตสิกและโทสเจตสิกไม่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต ฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่ วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต ขณะนั้นโมหเจตสิกเกิดกับจิต ทำให้เป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่งโดยที่ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นเพียง โมหมูลจิตเท่านั้น เพราะว่าไม่มีโลภเจตสิกและโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย
โมหมูลจิตมี ๒ ดวง คือ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง ๑ ดวง และ อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง ๑ ดวง
อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง คือ โมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนาและเกิดร่วมกับวิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความเคลือบแคลง ความที่ไม่สามารถตัดสินอารมณ์นั้นได้
อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง ได้แก่ โมหมูลจิตซึ่งเกิดกับอุเบกขาเวทนา และเกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิก โดยไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
สำหรับการเกิดขึ้นของโมหมูลจิต ๒ ดวง แสดงให้เห็นว่า อวิชชา คือ ความ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงนั้น มีมากมายแค่ไหน เพราะว่าในวันหนึ่งๆ นั้น ขณะใดที่ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต จะต้องเป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด คือ เป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตเป็นส่วนใหญ่ เท่าที่แต่ละคนสามารถสังเกตได้ เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เกิดความพอใจบ้าง หรือ ไม่พอใจบ้าง
และถึงแม้ว่าโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตจะไม่เกิด แต่โมหเจตสิกก็ทำให้จิต เป็นอกุศลประเภทโมหมูลจิต แสดงให้เห็นว่า อกุศลในวันหนึ่งๆ ไม่ว่างเว้นเลย นอกจากขณะที่เป็นวิบากทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส และขณะที่เป็นกิริยาจิต ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีเพียง ๒ ดวง
ซึ่งวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่ได้สังเกตอีกว่า เป็นอกุศลประเภทไหน แต่สามารถรู้ได้จากลักษณะของความรู้สึกซึ่งเกิดกับจิต ถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ แม้เพียงเล็กน้อยนิดเดียว ขณะนั้นรู้ได้ว่าเป็นอกุศลจิตประเภทโทสมูลจิต แต่ถ้าไม่ใช่ความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกไม่เดือดร้อนใจ มีความพอใจชอบใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต แต่ไม่ได้สังเกตเลยว่า แม้ขณะที่โลภมูลจิต ไม่เกิด โทสมูลจิตไม่เกิด ก็ยังมีอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่งคือโมหมูลจิต เกิด
โมหมูลจิต ๒ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาและ เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเป็น อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง ๑ ดวง และอีกดวงหนึ่งไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นโมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยอุทธัจจเจตสิก ซึ่งตามความเป็นจริงอุทธัจจเจตสิกเป็นอกุศลสาธารณะต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท แต่เนื่องจากจิตดวงนี้ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีมานะ ไม่มีอิสสา ไม่มีมัจฉริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ลักษณะของอุทธัจจะสามารถปรากฏได้ จึงเป็นโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยอุทธัจจะเป็น อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง
ใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นโทษของโมหะซึ่งเป็นพื้นฐานของจิต ทำให้ไม่ว่างเว้นที่จะเกิดอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติตถิยสูตร ข้อ ๕๐๘ พระผู้มีพระภาคตรัสความต่างกันของธรรม ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มีข้อความว่า
ราคะ คือ โลภะนั้น มีโทษน้อย คลายช้า โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว โมหะมีโทษมาก คลายช้า
เพราะฉะนั้น โทษที่มากที่สุดของอกุศล ๓ อย่างนี้ ต้องเป็นโมหะ เพราะว่าราคะมีโทษน้อย คลายช้า โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว โมหะมีโทษมาก คลายช้า
ส่วนมากทุกคนจะเห็นโทษของโทสะ มากกว่าที่จะเห็นโทษของโลภะและโมหะ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเวลาที่โทสเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ต้องเกิดร่วมกับโทสนัสเวทนา ความรู้สึกที่ไม่สบายใจทุกครั้ง ซึ่งทุกคนไม่อยากมีความสึกไม่สบายใจ ในวันหนึ่งๆ ขอให้มีโสมนัสเวทนา หรือสุขเวทนา หรือถ้าไม่สามารถมีโสมนัสเวทนาและสุขเวทนา ก็ยังอยากจะมีแม้อุเบกขาเวทนา แต่ไม่มีใครอยากมีทุกขเวทนาและโทมนัสเวทนา
เพราะฉะนั้น โดยมากเวลาที่โทสมูลจิตเกิด ประทุษร้ายจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกโทมนัส ขุ่นเคือง ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ทุกคนเห็นโทษของโทสะ และอยากจะไม่มีโทสะ แต่ไม่เห็นโทษของโลภะ และไม่เห็นโทษของโมหะ
เช่น บางท่านไปสู่สถานที่ที่คิดว่า เมื่อไปแล้วจะได้สิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ อาจจะเป็นแก้วแหวนเงินทองต่างๆ แต่ผู้ที่ไปสู่สถานที่นั้นจะเฉลียวใจและคิดถึงสิ่งที่มีประโยชน์กว่านั้นโดยคิดที่จะกราบเรียนผู้ที่ท่านไปหานั้นว่า โลภะของท่านมากมายแล้ว มีหนทางใดบ้างที่จะทำให้โลภะของท่านลดคลายลงไป แทนที่จะให้แก้วแหวนเงินทอง ซึ่งถ้าได้มาท่านก็เกิดความติดความยินดีความพอใจ โลภะไม่ได้เบาบางเลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะต้องการสิ่งอื่นซึ่งจะทำให้โลภะเพิ่มขึ้น เคยคิดบ้างไหมที่จะไปกราบเรียนท่านผู้นั้นว่า มีหนทางใด มีธรรมข้อใดที่ทำให้โลภะซึ่งท่านมีอยู่มาก ลดคลายลงไปบ้าง
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เป็นการยากสำหรับผู้ที่มีอวิชชาหนาแน่น ที่จะเห็นโทษของความไม่รู้และโลภะ เพราะไม่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แม้ในการประพฤติปฏิบัติซึ่งท่านคิดว่าท่านต้องการจะดับกิเลส แต่แม้กระนั้นก็ตามก็ยังคล้อยตามโลภะไปว่า มีหนทางใดที่จะทำให้โลภะหรือกิเลสทั้งหลายดับได้โดยรวดเร็ว
แสดงให้เห็นว่า ลืมข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โมหะมีโทษมาก คลายช้า ราคะมีโทษน้อย คลายช้า ถ้าคิดถึงคำว่า คลายช้า และพิจารณาพระธรรมจริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นความจริงที่ว่า โลภะมีโทษน้อย คลายช้า โทสะมีโทษมาก คลายเร็ว โมหะมี โทษมาก คลายช้า เมื่อมีโทษมาก คลายช้า ท่านจะแสวงหาทางที่ตรงกันข้าม คือ พยายามให้ดับได้โดยรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งซึ่งขาดเหตุผล
เพราะฉะนั้น แม้ว่าเป็นข้อความสั้นๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ต้องพิจารณาโดยลึกซึ้งจริงๆ ว่า เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มิฉะนั้นแล้วจะอาศัยอวิชชาและโลภะนั่นเอง เพิ่มอวิชชาและโลภะขึ้น แทนที่จะเป็นหนทางละคลายอวิชชาและ โลภะ