แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1411

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๘


มีจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเขียนมาถึงคุณดวงเดือน มีข้อความว่า

เลขที่ ๒๙/๑ บางคล้า แปลงยาว อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

๑ มีนาคม ๒๕๒๘

เรียน คุณดวงเดือน บารมีธรรม

ผมได้ติดตามศึกษาพระพุทธศาสนาจากคำบรรยายของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มานานพอควร มีความรู้ความเข้าใจในคำแนะแนวการเจริญ สติปัฏฐาน และฝึกหัดทำตาม จนบัดนี้เริ่มมีสติเกิดขึ้น สามารถระลึกรู้ลักษณะของรูป ของนามที่เกิดอยู่ตามปกติประจำได้บ้างเป็นบางขณะ แต่ยังหลงลืมสติอยู่เกือบเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามการมีสติเกิดขึ้นได้บ้างอย่างนี้แม้น้อย ผมก็รู้สึกดีใจมาก ที่เรียนรู้มาถูกทางแล้ว รู้สึกสำนึกในพระคุณของอาจารย์สุจินต์ที่ท่านมีความรู้แล้ว ได้ประโยชน์จากความรู้แล้ว ยังมีเมตตากรุณาเผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ทั่วกันด้วย ผมอยากจะเขียนจดหมายคุยกับท่าน แต่นึกเกรงใจว่าจะเป็นการรบกวนท่าน วันนี้จึงเขียนมาคุยให้คุณรับฟังแทนท่าน และพร้อมจดหมายนี้ ผมได้ส่งเงินมาให้คุณทางธนาณัติ เป็นเงิน ๕๐๐ บาท เพื่อร่วมกุศลในการเผยแพร่พระธรรมทางวิทยุ บริจาคในนามของคุณจุมพล คุณสมหวัง เขียวขจี

ขออำนาจของพระรัตนตรัยได้โปรดคุ้มครองอาจารย์สุจินต์ และคุณดวงเดือน ให้ประสบแต่ความสุขความเจริญทุกประการ มีอายุยิ่งยืนนาน เพื่อประโยชน์สุขแก่ ชนทั้งหลายไม่มีมีประมาณ

โดยความเคารพและนับถืออย่างยิ่ง

สุ. ท่านฟังและได้อบรม จนบัดนี้เริ่มมีสติเกิดขึ้น สามารถระลึกรู้ลักษณะของรูปของนามที่เกิดอยู่ตามปกติประจำได้บ้างเป็นบางขณะ

นี่เป็นการถูกต้องจริงๆ คือ จะให้สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้อย่างมากๆ ติดต่อกันได้ไหม ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจริงๆ แต่ถ้าเป็นเพียง ผู้เริ่ม สติจะระลึกลักษณะของรูปธรรมบ้าง หรือนามธรรมบ้างเพียงบางขณะ นี่เป็น สิ่งที่ถูกต้อง

แต่ยังหลงลืมสติอยู่เกือบเหมือนเดิม

นี่ก็เป็นความจริง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรง การอบรมเจริญปัญญาที่จะละอวิชชาต้องเป็นความรู้ และรู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่ออวิชชามีมากในสังสารวัฏฏ์ การได้ฟัง ได้เข้าใจหนทางข้อปฏิบัติ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกได้บ้าง

เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้นี้ ท่านรู้ตามความเป็นจริงว่า การที่จะละความไม่รู้นั้น ไม่ใช่ละได้รวดเร็ว ท่านจึงเขียนมามีข้อความว่า

ผมก็รู้สึกดีใจมากที่เรียนรู้มาถูกทางแล้ว แม้ว่าสติจะเกิดบ้างบางขณะ แต่ยังหลงลืมสติอยู่เกือบเหมือนเดิม

เป็นผู้ที่เห็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เพราะว่าสติเกิดบ้างแล้ว นี่เป็นการเริ่มต้นจริงๆ ถ้าเข้าใจถูกอย่างนี้จะไม่มีทางหลงผิดไปแสวงหาทางอื่นที่คิดว่าเป็นทางลัดหรือเป็นทางที่ง่าย เป็นทางที่จะดับกิเลสได้เร็ว เพราะว่าต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดยังคิดว่าจะมีหนทางอื่น ก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้องพิจารณาจริงๆ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว จะละอวิชชาได้ไหม

การทำกุศลอื่นๆ ซึ่งในชีวิตประจำวันขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด บางขณะก็เป็นอกุศล บางขณะก็เป็นกุศล แม้ว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐานก็เป็นกุศลที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง หรือเป็นไปในขณะที่ระลึกถึงประโยชน์ของความสงบ แทนที่จะให้เป็นอกุศล คือ โทสะ ความผูกโกรธหรือความขุ่นเคืองใจ หรือโลภะอย่างแรง ขณะนั้นย่อมเป็นกุศลที่วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยังไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาเพื่อละอวิชชา

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

จิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าวัฏฏะ

ภูมิ ๓ ได้แก่ กามภูมิ ๑ รูปภูมิ ๑ อรูปภูมิ ๑

กามภูมิ คือ ขณะใดที่จิตเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึกในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ นั่นเอง ในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็เป็นจิตที่เป็นไปในกามภูมิ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันของทุกคน น้อยนักซึ่งจิตจะเป็นไปในรูปภูมิหรืออรูปภูมิ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญความสงบ คือ กุศลจิตที่มั่นคงขึ้นจนกระทั่งเป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ เป็นรูปภูมิ และในขณะที่ความสงบนั้นมั่นคงขึ้นจนกระทั่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จิตในขณะนั้นก็เป็นอรูปภูมิ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าวัฏฏะ

กรรมที่เป็นไปเพื่อการได้วัฏฏะ ชื่อว่าวัฏฏปาท โลกุตตรธรรม ๙ ประการ ชื่อว่าวิวัฏฏะ ส่วนกรรมอันเป็นไปเพื่อการได้วิวัฏฏะนั้น ชื่อว่าวิวัฏฏปาท

เป็นชีวิตตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การกิเลสได้ในวันหนึ่งๆ จะต้องอบรมอย่างอดทนจริงๆ พากเพียรจริงๆ เพราะสติจะเกิดได้วันหนึ่งๆ ก็เป็นเพียงบางขณะ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาถึงลักษณะของจิตที่บังเกิดขึ้นที่เป็นไปในวัฏฏะว่า

จิตย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศมาก ความว่า จิตใดเมื่อให้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในมารและพรหมก็ดี เมื่อให้ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความเศร้าโศก การปริเทวนา ความทุกข์ ความโทมนัส ความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ และขันธ์ ธาตุ อายตนะ และวัฏฏะในปฏิจจสมุปปาท ชื่อว่าย่อมให้กองทุกข์ทั้งสิ้น

เห็นโทษของจิตหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นจิตในภูมิไหนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นไปในการเห็นชั่วนิดเดียว เปลี่ยนเป็นจิตที่ได้ยินแล้ว เปลี่ยนเป็นจิตที่คิดนึกแล้ว จิตที่เกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตนั้นจะให้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ ให้ความเป็นใหญ่ในมารและพรหมก็ดี แต่เมื่อจิตนั้นให้ชาติ ให้ชรา ให้พยาธิ ให้มรณะ ให้ความเศร้าโศก ให้การปริเทวนา ให้ความทุกข์ ความโทมนัส ความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ และขันธ์ ธาตุ อายตนะ และวัฏฏะในปฏิจจสมุปปาท ชื่อว่า ย่อมให้กองทุกข์ทั้งสิ้น

เพราะเหตุนั้น จิตนั้นชื่อว่าย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์อันใหญ่

เห็นโทษของจิตในวันหนึ่งๆ ไหมว่านำมาซึ่งอะไร นอกจากความทุกข์ตั้งแต่ชาติ จนกระทั่งถึงความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ กถาขยายความเรื่องวิบากใน อัพยากตบท ข้อ ๕๐๕ มีข้อความว่า

กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ คือ ในกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ย่อมก่อวัฏฏะ ทำให้วัฏฏะเจริญด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ฉะนั้น ในกุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ นั้น จึงตรัสไว้ว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว ส่วนวิบากฝ่ายโลกุตตระ แม้ถูกกุศลฝ่ายโลกุตตระนั้นสั่งสมไว้แล้ว ก็ย่อมคลายสะสม ทั้งตนเองก็ไม่ก่อด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ด้วยเหตุนี้ในวิบากฝ่ายโลกุตตระจึงมิได้ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว แต่ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้เจริญไว้แล้ว

นี่คือความต่างกันของขณะจิต คือ จิตที่เป็นเหตุดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้ วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิด ไม่มีทางที่จะสิ้นสุดเลยในสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศล หรือว่าเป็นผลของอกุศล สังสารวัฏฏ์จะยังมีต่อไปอีกมากถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหตุในอดีตก็ได้กระทำไว้แล้วมากที่จะทำให้เกิดวิบากจิตแต่ละขณะในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไป นอกจากนั้น ในปัจจุบันชาตินี้ ยังมีเหตุปัจจุบันทำให้เกิดวิบากคือผลในอนาคตโดยไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ ย่อมก่อวัฏฏะ ทำให้วัฏฏะเจริญด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ฉะนั้น กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ นั้น จึงตรัสไว้ว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว

ทุกท่านที่มีความสุขในปัจจุบันชาตินี้ ระลึกถึงอดีตกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วไม่ได้ก็จริง แต่ขณะใดที่เป็นกุศลวิบาก มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ดี ขณะนั้นสามารถพิจารณาได้ว่า ต้องเป็นผลของกุศลเหตุที่ได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว คือ ไม่สูญหาย เมื่อเหตุได้กระทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว ก็เป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้น

ส่วนวิบากฝ่ายโลกุตตระ คือ ผลของมรรคจิตซึ่งรู้แจ้งนิพพาน เมื่อดับไปแล้ว โลกุตตรวิบาก คือ ผลจิต ไม่ทำกิจปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ไม่เป็นเหตุให้เกิดวัฏฏะ ทั้งตนเองก็ไม่ก่อด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ ด้วยเหตุนี้ ในวิบากฝ่ายโลกุตตระ พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว แต่ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้เจริญไว้แล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็สั่งสมกรรม แต่ในขณะใดที่ สติปัฏฐานเกิด เจริญเหตุที่จะให้พ้นจากการสะสม แล้วแต่ว่าสังสารวัฏฏ์ของใครจะยังอยู่อีกมาก หรือยาวสั้นมากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับการสั่งสมที่ได้สะสมไว้ หรือการเจริญเหตุที่จะดับละคลายการสะสมนั้นๆ

. สวดมนต์ตอนเช้า มรณัง ปิ ทุกขัง ท่านหมายถึงอะไร

สุ. ความตายเป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นวัตถุเป็นที่ตั้งของความโศก ไม่มีใครต้องการที่จะตาย

ใน สัมโมหวิโนทนี แสดงว่า

ที่ว่า ความตายเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเป็นวัตถุแห่งทุกข์ เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งของทุกข์

มีใครที่อยากตาย มีใครชอบความตายบ่อยๆ

เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนไม่อยากตาย และรู้สึกว่าเป็นทุกข์จริงๆ ที่จะต้องตาย บางคนถามว่า ทำไมต้องตาย คำถามนี้แสดงว่า ไม่อยากตาย เมื่อไม่อยากตายก็หมายความว่า ความตายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ แม้เพียงคิดถึง เพียงแต่คิดว่าจะตายเท่านั้นก็เป็นทุกข์เสียแล้ว แม้ว่าความตายเป็นเพียงจิตขณะเดียวซึ่งเกิดขึ้นกระทำ จุติกิจ คือ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ แต่ก่อนที่จะตาย ไม่อยากตาย และเป็นทุกข์จริงๆ เวลาคิดถึงว่าจะต้องตาย

. จากการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ขณะที่สติเกิดมักจะมีนิมิต หรือภาพ หรือมีความคิดติดตามมา กระผมสังเกตว่า ขณะที่มีความคิดตามมากับขณะที่พิจารณาจริงๆ นั้น เป็นคนละขณะจิต และเป็นเรื่องของการคิดนึกเป็นส่วนมาก เรียนถามว่า การคิดนึกนั้นเป็นการเพ่งเล็งในนิมิตและอนุพยัญชนะ ใช่ไหม

สุ. ถ้าไม่ใช้คำว่า นิมิตและอนุพยัญชนะ หมายความว่าอะไร

. ก็เพราะคำว่า นิมิต ตรงกับประสบการณ์ของผมที่เมื่อสติเกิดพิจารณาธรรมที่ปรากฏทางกายทวารมักจะเป็นภาพ ทำให้แลเห็นสิ่งที่กระทบกับกายนั้น ก็น่าจะตรงกับคำว่า นิมิต

­สุ. ทางตาเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่คิดถึงรูปร่างก็จะไม่มีสัณฐาน ใดๆ เลย คือ ไม่มีนิมิต ถูกไหม เพราะฉะนั้น ทางตา นิมิตทางตา หมายความถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ทางหูมีนิมิตไหม

นิมิตอนุพยัญชนะมีทุกทวาร ไม่ใช่แต่เฉพาะทางตาทางเดียว และควรทราบว่า นิมิตและอนุพยัญชนะแต่ละทวารนั้นคืออย่างไร

อย่างทางตาที่เห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เปลี่ยน อย่าไปพยายามเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏ มีลักษณะที่สามารถแสดงสัณฐานโดยสีสันวัณณะ ที่ต่างกัน จึงทำให้ปรากฏเป็นการตรึกถึงนิมิตรูปร่างทางตา ส่วนอนุพยัญชนะ คือ ส่วนละเอียดยิ่งกว่าลักษณะของรูปร่าง

สำหรับทางหู เสียงปรากฏ เสียงไม่ได้มีเสียงเดียว ทางตามีสีสันที่ปรากฏต่างกันฉันใด ทางหูก็มีเสียงหลายๆ เสียง ไม่ใช่เสียงเดียว ทำให้เกิดนิมิต คือ ความหมาย รู้ในลักษณะของเสียงนั้น และถ้าเป็นผู้ที่ชำนาญจริงๆ จะสามารถรู้ถึง อนุพยัญชนะของเสียงนั้นด้วย เพราะว่าบางคนเสียงคล้ายกัน เวลาที่ได้ยินอาจจะคิดว่าเป็นคนนั้นพูด แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความละเอียดที่จดจำในอนุพยัญชนะของเสียง จึงสามารถรู้ในความละเอียดของเสียงที่ปรากฏได้

ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น ทางใจ นิมิตและ อนุพยัญชนะเป็นอย่างไร ที่เล่ามาเมื่อกี้หมายความว่า เวลาที่กระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด หลับตาอยู่ ใช่ไหม

. ลืมตาด้วย กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งที่ลืมตา อาจจะเห็นเป็นภาพที่ปรากฏเกิดขึ้น

สุ. ลืมตาก็ต้องเห็น

. ขณะนั้นอาจจะเป็นมโนทวารวิถีก็ได้

สุ. ลืมตาและเห็น

. ลืมตาก็นึกภาพออกว่า เวลาที่เท้าเหยียบ

สุ. โดยไม่เห็น หรือเห็น

. ไม่เห็น แต่เป็นภาพที่คิดว่าเป็นอย่างนั้นๆ

สุ. หมายความว่า ในขณะที่ทางตาเห็น ไม่ได้ใส่ใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา แต่ใส่ใจในสิ่งที่กำลังกระทบทางกาย และนึกถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทางกาย โดยที่ไม่ได้ดูทางตาเลย คำถามว่าอย่างไร

. คำถาม คือ สภาพการคิดนึกนั้นอาจารย์ได้กล่าวว่า ขณะใดที่ความคิดติดตามมา ขณะนั้นเราไม่ได้พิจารณาทวารนั้น

เช่น ผมพิจารณาทางกายทวาร แทนที่จะพิจารณาความแข็งหรือความอ่อน ความร้อนหรือความเย็น แต่กลับคิดว่านั่นอะไร ความคิดนั้นเป็นนิมิตและอนุพยัญชนะ ใช่ไหม

สุ. ต้องแยกออกเป็นทวารๆ ถ้าทางกาย กระทบสัมผัส และคิดถึงนิมิตและอนุพยัญชนะ ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปร่าง แต่เป็นลักษณะอ่อนหรือแข็งที่เป็นลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏนั่นเองได้ ใช่ไหม

ลองหลับตา และสัมผัสกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐานที่เป็นสีสันวัณณะเลย แต่กำลังระลึกถึงความอ่อนหรือความแข็ง ขณะนั้นคือมีนิมิตของความอ่อนหรือความแข็งเป็นอารมณ์ เพราะว่าในขณะนั้นไม่ได้พิจารณาลักษณะที่เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่กำลังใส่ใจในความอ่อนหรือความแข็งที่กระทบ ถ้าลองกระทบหลายๆ สิ่งซึ่งอ่อนและแข็งต่างๆ กัน จะสังเกตได้ว่า ในขณะที่กำลังกระทบ สิ่งต่างๆ ซึ่งอ่อนแข็งต่างกัน จะใส่ใจในนิมิต คือ ในลักษณะที่อ่อนหรือแข็งต่างๆ กันนั่นเอง แต่ไม่ได้ความว่าคิดถึงรูปร่างสัณฐาน นั่นคือนิมิตและอนุพยัญชนะทางกาย ฉะนั้น จะต้องแยกนิมิตและอนุพยัญชนะออกแต่ละทวาร

. แต่เราไม่สนใจนิมิตและอนุพยัญชนะ ใช่ไหม

สุ. ไม่อยากให้ใช้เพียงคำ แต่อยากให้เข้าใจถึงขณะที่กำลังเกิดอย่างนั้นว่า กำลังพิจารณาทางทวารไหน เพราะต้องเข้าใจถึงนิมิตอนุพยัญชนะทางกายว่า คือขณะไหน

ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการทำอาหาร เวลาที่กระทบสัมผัสสิ่งที่ปรุงแล้ว อย่างเช่น แป้งที่นวดแล้ว จะรู้ว่าเหมาะควรแก่การที่จะทำอาหารชนิดนั้นแล้ว หรือยัง หรือต้องนวดต่อไปอีก นั่นคือการรู้ในนิมิตของสิ่งที่ปรากฏทางกาย ถ้าเป็นความละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็รู้ส่วนที่ละเอียดไปอีก ซึ่งนั่นคืออนุพยัญชนะของสิ่งที่ปรากฏทางกาย

เพราะฉะนั้น นิมิตและอนุพยัญชนะแต่ละทาง ต้องรู้ด้วยว่า ในขณะนั้นเป็นนิมิตอนุพยัญชนะทางไหน ไม่ใช่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และนิมิตอนุพยัญชนะเฉพาะทางใจ แต่ทางตาก็มีนิมิตอนุพยัญชนะ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจก็มีนิมิตอนุพยัญชนะด้วย

เพราะฉะนั้น นิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ใช่หมายเฉพาะทางใจทางเดียว ต้องแต่ละทวาร ซึ่งโดยมากจะคิดถึงเฉพาะทางใจ เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ใช่ไหม

. ใช่

สุ. นั่นคือคิดถึงเฉพาะนิมิตอนุพยัญชนะทางตา

เปิด  224
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565