แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1412

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๘


. เมื่อมีกรุณาเจตสิกเกิดขึ้นกับจิตใดนั้น ต้องมีเมตตาก่อนทุกครั้ง หรือว่าเมตตาและกรุณาต้องเกิดร่วมกัน

สุ. เหตุใกล้ให้เกิดต่างกัน เหตุใกล้ให้เกิดกรุณา ได้แก่ บุคคลที่กำลังประสบทุกข์ ถ้าคนนั้นกำลังสนุกสนานรื่นเริง ก็ไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดกรุณา แต่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดเมตตาได้

. เมื่อเจอบุคคลที่กำลังประสบความทุกข์ เมื่อเกิดกรุณา ต้องมีเมตตาแน่นอน ใช่ไหม

สุ. กรุณาเป็นโสภณเจตสิกหนึ่งดวง และเมตตา ได้แก่ อโทสเจตสิก ก็เป็นโสภณเจตสิกอีกหนึ่งดวง ไม่ใช่ดวงเดียวกัน แต่อกุศลและกุศลยังเกิดสลับกันได้ฉันใด กุศลจิตแต่ละประเภทก็ย่อมเกิดสลับกันได้ ไม่ควรจะมีกฎเกณฑ์ เพียงแต่เป็น ผู้สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแต่ละขณะก็จะรู้ได้ว่า ขณะใด เป็นกรุณา และขณะใดเป็นเมตตา

. ต่างกัน สังเกตเห็นได้ชัด แต่ผมเปรียบเทียบว่า หิริกับโอตตัปปะต้องเกิดร่วมกัน ฉะนั้น เมตตากับกรุณาก็น่าจะเกิดร่วมกัน

สุ. โดยการเกิดต้องเกิดพร้อมกัน เพราะว่าอโทสเจตสิกต้องเกิดกับ โสภณเจตสิกทุกดวง แต่กรุณาเจตสิกไม่จำเป็นต้องเกิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีบุคคลซึ่งกำลังได้รับความทุกข์หรือเปล่า ถ้าขณะนั้นไม่มีใครที่ได้รับความทุกข์ กุศลจิตเกิดโดยมีอโทสเจตสิกเกิดได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีกรุณาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เวลาที่ กรุณาเจตสิกเกิด ขณะนั้นต้องมีอโทสเจตสิกเกิด เพราะว่าอโทสเจตสิก อโลภเจตสิก ต้องเกิดกับโสภณเจตสิกทุกดวง เป็นโสภณสาธารณเจตสิก

ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้เห็นภัยของอวิชชา เพื่อจะให้ละอวิชชา

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มหาวรรคที่ ๗ อุปยสูตร ข้อ ๒๗๖ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมหาสมุทรน้ำขึ้น ย่อมทำให้แม่น้ำใหญ่น้ำขึ้น เมื่อแม่น้ำใหญ่น้ำขึ้น ย่อมทำให้แม่น้ำน้อยน้ำขึ้น เมื่อแม่น้ำน้อยน้ำขึ้น ย่อมทำให้ บึงใหญ่น้ำขึ้น เมื่อบึงใหญ่น้ำขึ้น ย่อมทำให้บึงน้อยน้ำขึ้น ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออวิชชาเกิด ย่อมทำให้สังขารเกิด เมื่อสังขารเกิด ย่อมทำให้วิญญาณเกิด เมื่อวิญญาณเกิด ย่อมทำให้นามรูปเกิด เมื่อนามรูปเกิด ย่อมทำให้สฬายตนะเกิด เมื่อสฬายตนะเกิด ย่อมทำให้ผัสสะเกิด เมื่อผัสสะเกิด ย่อมทำให้เวทนาเกิด เมื่อเวทนาเกิด ย่อมทำให้ตัณหาเกิด เมื่อตัณหาเกิด ย่อมทำให้อุปาทานเกิด เมื่ออุปาทานเกิด ย่อมทำให้ภพเกิด เมื่อภพเกิด ย่อมทำให้ชาติเกิด เมื่อชาติเกิด ย่อมทำให้ชราและมรณะเกิด ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

นี่เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะผ่านไปก็ง่าย แต่ถ้าพิจารณา จะเห็นเหตุปัจจัยของสภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยโดยไม่สิ้นสุดตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงชี้โทษของอวิชชา เพื่อให้ทุกท่านเห็นโทษของอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ และอบรมเจริญความรู้เพื่อละอวิชชา แทนที่จะไม่ต้องการจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ต้องการอย่างอื่น นี่เป็นสิ่งที่เตือนผู้ที่ไม่รู้เพื่อให้เห็นว่า กุศลใดๆ ก็ไม่สามารถดับภพชาติได้ นอกจากการอบรมเจริญปัญญา

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมหาสมุทรน้ำลง ย่อมทำให้แม่น้ำใหญ่ลดลง เมื่อแม่น้ำใหญ่ลดลง ย่อมทำให้แม่น้ำน้อยลดลง เมื่อแม่น้ำน้อยลดลง ย่อมทำให้บึงใหญ่ลดลง เมื่อบึงใหญ่ลดลง ย่อมทำให้บึงน้อยลดลง ฉันใด เมื่ออวิชชาไม่เกิด ย่อมทำให้สังขารไม่เกิด เมื่อสังขารไม่เกิด ย่อมทำให้วิญญาณไม่เกิด เมื่อวิญญาณไม่เกิด ย่อมทำให้นามรูปไม่เกิด เมื่อนามรูปไม่เกิด ย่อมทำให้สฬายตนะไม่เกิด เมื่อ สฬายตนะไม่เกิด ย่อมทำให้ผัสสะไม่เกิด เมื่อผัสสะไม่เกิด ย่อมทำให้เวทนาไม่เกิด เมื่อเวทนาไม่เกิด ย่อมทำให้ตัณหาไม่เกิด เมื่อตัณหาไม่เกิด ย่อมทำให้อุปาทาน ไม่เกิด เมื่ออุปาทานไม่เกิด ย่อมทำให้ภพไม่เกิด เมื่อภพไม่เกิด ย่อมทำให้ชาติ ไม่เกิด เมื่อชาติไม่เกิด ย่อมทำให้ชราและมรณะไม่เกิด ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

จบ สูตรที่ ๙

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรงที่จะพิจารณาเสมอว่า จะรู้หรือจะไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ หรืออยากจะสงบ อยากจะอยู่เฉยๆ อยากจะสบายๆ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะดับสังสารวัฏฏ์เลย

การเป็นผู้รอบคอบ การเป็นผู้ละเอียด การเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของ สภาพธรรม จะทำให้สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้ายังมีความไม่ตรงอยู่แม้เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถเจริญหนทางข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลสได้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า แต่ละท่านยังเป็นผู้มีความ ไม่ตรงอยู่ในเรื่องอะไรบ้างหรือเปล่า เช่น ในเรื่องของเจ้ากรรมนายเวร ขอกล่าวอีก ครั้งหนึ่ง เพื่อที่ท่านผู้ฟังจะได้เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม

ทุกคนทราบจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน และทุกคนเป็นทายาทของกรรม คือ เป็นผู้ที่รับผลของกรรม ซึ่งถ้าพิจารณา จริงๆ จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า เจ้ากรรมนายเวรไม่มี

หรือท่านผู้ใดเมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ตัวท่านเองเป็นทายาทของกรรม คือ เป็นผู้รับผลของกรรม แต่ยังคิดว่า มีเจ้ากรรมนายเวรอยู่

ต้องเป็นผู้ตรง ถ้ายังไม่สามารถตรงแม้ในสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวัน จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้อย่างไร ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างนี้ และเมื่อเข้าใจว่าไม่มีเจ้ากรรมนายเวร แต่ยังอุทิศกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร เป็นผู้ตรงหรือเปล่า

ความเป็นผู้ตรง ต้องตรงจริงๆ และตรงโดยตลอด ถ้ารู้ว่าไม่มีเจ้ากรรมนายเวร แต่อุทิศให้ ต้องไม่ตรงกับเหตุผล เพราะฉะนั้น ควรอุทิศให้ใคร อุทิศให้ทุกคนที่สามารถรู้ในกุศลที่ท่านทำจะสบายใจกว่าไหม จะตรงกับเหตุผลไหม จะต้องเป็นผู้ตรงต่อเหตุผลยิ่งขึ้น

ทุกเรื่องในชีวิตประวันวัน การเข้าใจสภาพธรรมได้ต้องเป็นผู้ตรง ถ้าท่านอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร แสดงว่าท่านต้องโกรธใครไม่ได้เลย ใช่ไหม หรืออุทิศส่วนกุศลให้ก็ยังโกรธอยู่ ในเมื่อในแต่ละภพแต่ละชาติเท่าที่ได้ฟังประวัติของ ท่านพระมหากัสสปะ หรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็มีสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานมาก และต่างคนต่างก็กระทำกรรมซึ่งดีบ้างไม่ดีบ้างต่อกันมามากมายจนจำไม่ได้ ในขณะนี้ไม่มีใครจำชาติก่อนๆ ได้ว่า เคยทำกรรมดี กรรมไม่ดีกับใครมาบ้าง แต่ถ้าอุทิศ ส่วนกุศลให้ แสดงว่าท่านต้องโกรธใครไม่ได้ เพราะว่าเมื่อท่านอุทิศส่วนกุศลให้แล้ว จะยังโกรธคนอื่นได้อย่างไร ในเมื่อทุกคนต้องเคยทำกรรมทั้งดีบ้างและไม่ดีบ้างต่อกันมาแล้วทั้งนั้น

ข้อสำคัญ คือ ในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความที่ให้อุทิศส่วนกุศลแก่เจ้ากรรม นายเวรเลย ไม่ทราบมีท่านผู้ใดที่เคยผ่านข้อความในพระไตรปิฎกว่า มีการอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรบ้าง มีไหม

นี่คือความเป็นผู้ตรง เรื่องของอวิชชาเป็นเรื่องใหญ่ สามารถปิดบังความจริง สามารถปิดบังเหตุและผลของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันต้องเป็น ผู้ละเอียด ต้องเป็นผู้พิจารณา และต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม

สำหรับโมหมูลจิต มี ๒ ดวง คือ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง ๑ ดวง และอุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง ๑ ดวง

ถ้าจะกล่าวถึงเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิต ๒ ดวงว่า โมหมูลจิตดวงที่ ๑ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง อะไรบ้าง โมหมูลจิตดวงที่ ๒ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง มีอะไรบ้าง แต่ไม่เห็นโทษของอวิชชา จะมีประโยชน์ไหม

การศึกษาพระธรรมต้องรู้ว่า เพื่อประโยชน์อะไร ถ้าศึกษาเรื่องของอวิชชา เพื่อเห็นโทษ และเมื่อเห็นโทษของอวิชชาแล้ว จะได้หาทางอบรมเจริญปัญญา ความรู้ เพื่อละความไม่รู้ และการรู้สภาพธรรมที่ละเอียดขึ้นควรรู้ประโยชน์ว่า เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

แม้แต่การรู้ว่า โมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๕ ดวง คือ มีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดมี ๑๓ ดวง แต่เกิดกับโมหมูลจิตได้เพียง ๑๐ ดวง คือ เว้นฉันทเจตสิก ปีติเจตสิก อธิโมกขเจตสิก และมีอกุศลสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง คือ โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก อุทธัจจเจตสิก และมีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีก ๑ ดวง จึงรวมเป็นอกุศลเจตสิก ๑๕ ดวง ที่เกิดกับโมหมูลจิต ที่เป็นอุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง

สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ถ้าเกิดกับกุศลก็เป็นกุศลด้วย ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลด้วย

สำหรับลักษณะของวิจิกิจฉา ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โธตกมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๒๑๗ มีข้อความว่า

วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในทุกขสมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ความสงสัยในอริยสัจ ๔)

ความสงสัยในเงื่อนเบื้องต้น (อดีต) ความสงสัยในเงื่อนเบื้องปลาย (อนาคต) ความสงสัยทั้งในเงื่อนเบื้องต้นและเงื่อนเบื้องปลาย (ทั้งอดีตและอนาคต) ความสงสัยในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือ ความที่สังขาราทิธรรมนี้เป็นปัจจัยแห่งกันและกัน ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ความเป็นผู้สงสัย ความเคลือบแคลง ความไม่ตกลง ความเป็นสองแง่ ความเป็นสองทาง ความลังเล ความไม่ถือเอาโดยส่วนเดียว ความระแวง ความระแวงโดยรอบ ความตัดสินไม่ลง ความที่จิตครั่นคร้าม ใจสนเท่ห์ เรียกว่า กถังกถา

ขณะนี้มีหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ ขณะนี้ถ้าไม่มี ก็ยังไม่ได้ดับหมดสิ้นไป เพราะว่ายังไม่ใช่พระอริยบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

เพราะฉะนั้น ที่ว่าความสงสัยในทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ คือ ความสงสัยในลักษณะของธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปอย่างไร เช่น ทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ผู้ที่ไม่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม ย่อมมีความสงสัยในอริยสัจ ๔ ทุกคน ไม่ว่าใน ครั้งอดีต หรือในครั้งปัจจุบัน หรือในอนาคต คงไม่มีใครหลอกตัวเองว่า หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ยังต้องมีความสงสัยอยู่

ข้อความต่อไป

ในครั้งนั้นโธตกพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระสักกะ ขอพระองค์จงปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายความว่า ขอพระองค์จงปลดเปลื้อง จงปล่อย จงถอนขึ้น จงฉุดชัก จงให้ข้าพระองค์ออกไปจากลูกศร คือ ความสงสัย

ความสงสัยก็เป็นลูกศรอันหนึ่ง ซึ่งทำให้กระสับกระส่าย ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร ข้อไหนเป็นข้อที่ถูก ข้อไหนเป็นข้อที่ผิด

ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้เป็นเทพ ผู้ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เที่ยวอยู่ในมนุษยโลก ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระสมันตจักษุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น ข้าแต่พระสักกะ ขอพระองค์จงปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลาย

ไม่มีใครจะปลดเปลื้องความสงสัยได้ นอกจากผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร โธตกะ เราไม่อาจปลดเปลื้องใครๆ ที่มีความสงสัยในโลกได้ ก็แต่ท่านเมื่อมารู้ธรรมอันประเสริฐ พึงข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยความมารู้อย่างนี้

ต้องเป็นความรู้ของตัวเอง ไม่ใช่ว่าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้มาปลดเปลื้องให้ตัวท่านหมดความสงสัยในความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้ แต่ต้องเป็นปัญญาของผู้ที่รู้อย่างนั้นจริงๆ จึงสามารถดับความสงสัยของตนเองได้

ข้อ ๒๑๙ มีข้อความอธิบายว่า

คำว่า เราไม่อาจปลดเปลื้อง ความว่า เราไม่อาจปลด เปลื้อง แก้ ปล่อย ถอนขึ้น ฉุดชักท่านให้ออกจากลูกศร คือ ความสงสัยได้ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าเราไม่อาจปลดเปลื้อง

อีกอย่างหนึ่ง เราไม่อาจ ไม่สามารถ ไม่อุตสาหะ ไม่พยายาม ไม่กระทำความหมั่น ไม่กระทำความเป็นผู้มีความหมั่น ไม่กระทำเรี่ยวแรง ไม่ทำความทรงจำ ไม่ทำความเพียร ไม่ยังฉันทะให้เกิด ให้เกิดพร้อม ให้บังเกิด ให้บังเกิดเฉพาะ เพื่อจะแสดงธรรมกับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรเลว ไม่ปฏิบัติตาม แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าเราไม่อาจปลดเปลื้อง

นี่เป็นความจริงซึ่งทุกท่านจะพิจารณาได้ว่า ถ้าแสดงธรรมกับผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าผู้นั้นจะไม่มีความเพียร ความพยายามที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้ว่าพระธรรมวินัยจะเป็นสัจธรรม เป็นความจริง ทุกประการ แต่ถ้าผู้ฟังไม่มีศรัทธา ไม่มีความสนใจที่จะฟัง ก็ไม่มีใครสามารถที่จะดับความสงสัยของผู้ไม่ฟังหรือผู้ที่ไม่สนใจได้

ข้อความต่อไป

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าบุคคลเหล่านั้นพึงปลดเปลื้องได้ ก็ไม่ต้องมีใครๆ อื่น ช่วยปลดเปลื้อง บุคคลทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันชอบ ปฏิปทาสมควร ปฏิปทาอันเป็นไปตามประโยชน์ ปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม ด้วยเรี่ยวแรง กำลัง ความเพียร ความบากบั่นของตน ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ อันเป็นส่วนของตนเอง พึงปลดเปลื้องได้ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าเราไม่อาจปลดเปลื้อง

ได้ฟังอย่างนี้แล้วจะเพียรไหวไหม ต้องทำเอง ต้องอบรมเจริญปัญญาเอง เพราะว่าแม้พระผู้มีพระภาคก็ไม่อาจจะปลดเปลื้องผู้ที่ไม่อบรมเจริญปัญญาได้

ความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องเป็นความเพียรอย่างยิ่ง จากความไม่รู้ ไม่เคยรู้เลยเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จากการไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เข้าใจ จนกระทั่งเมื่อได้ยินได้ฟัง และเพิ่มความสนใจขึ้น เพิ่มความเพียรที่จะฟังให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นปัจจัยให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และแม้สติจะระลึกแล้ว ก็ยังต้องเพียรอย่างยิ่งต่อไป เพื่อประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่กำลังเกิดดับจริงๆ

เพราะฉะนั้น ไม่มีความเพียรอื่นที่จะยิ่งใหญ่กว่าความเพียรอย่างนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเพียร เพราะว่าสภาพธรรมเป็นสัจธรรม ทางตาต้องดับ ทางหูจึงเกิดขึ้นได้ยินเสียง ทางหูต้องดับ ทางใจจึงคิดนึกสิ่งที่กำลังเป็นเรื่องราวต่างๆ ในขณะนี้ได้ เป็นสิ่งที่มี จริงๆ และสามารถอบรมเจริญปัญญาได้

เปิด  233
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566