แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1413

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๘


ข้อความต่อไปมีว่า

สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

ดูกร จุนทะ บุคคลนั้นหนอเป็นผู้ติดหล่มอยู่ด้วยตน จักถอนขึ้นซึ่งบุคคลอื่น ผู้ติดหล่มได้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

ดูกร จุนทะ บุคคลนั้นหนอไม่ได้ฝึก ไม่ได้ถูกแนะนำ ไม่ดับรอบแล้วด้วยตนเอง จักฝึก จักแนะนำให้บุคคลอื่นให้ดับรอบได้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่าเราไม่อาจปลดเปลื้องได้

การฟังพระธรรมต้องละเอียดที่จะรู้ว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ เพราะว่าผู้ที่สามารถรู้ได้ย่อมแสดง ข้อปฏิบัติที่ถูกที่ทำให้รู้ได้ แต่ผู้ที่ไม่รู้ก็กล่าวว่า ไม่มีทางที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นหนทางที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดปัญญาสามารถประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้

ข้อความต่อไป

สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

กรรมชั่วอันบุคคลทำด้วยตนเองแล้ว จักเศร้าหมองด้วยตนเอง กรรมชั่วอันบุคคลไม่ทำด้วยตนเองแล้ว ย่อมบริสุทธิ์ด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เฉพาะตน ผู้อื่นจะช่วยชำระผู้อื่นให้บริสุทธิ์หาได้ไม่ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่า เราไม่อาจปลดเปลื้อง

สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

ดูกร พราหมณ์ นิพพานก็ตั้งอยู่อย่างนั้นแหละ หนทางนิพพานก็ตั้งอยู่ เราผู้แนะนำก็ตั้งอยู่ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ สาวกทั้งหลายของเรา เราก็ตักเตือนอย่างนี้ พร่ำสอนอย่างนี้ บางพวกบรรลุนิพพานอันมีความสำเร็จส่วนเดียว บางพวกก็ไม่บรรลุ

ดูกร พราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ดูกร พราหมณ์ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง ใครถามทางแล้วก็บอกให้ บุคคลทั้งหลายปฏิบัติอยู่ด้วยตน พึงพ้นได้เอง แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่าเราไม่อาจปลดเปลื้อง

ข้อ ๒๒๓

โธตกพราหมณ์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาตรัสสอนธรรมอันสงัดที่ข้าพระองค์พึงรู้ได้ ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ เป็นผู้สงบอยู่ในที่นี้นี่แหละ ไม่อาศัยแล้วพึงเที่ยวไป

คือ ใคร่จะได้ฟังสัจธรรมที่ทำให้ท่านเป็นผู้ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ และเป็น ผู้สงบอยู่ในที่นี้นี่แหละ คือ ไม่จำเป็นต้องไปที่ไหน สามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมแม้ในขณะที่กำลังฟังอยู่นั่นเอง

คำอธิบายใน ข้อ ๒๒๖ มีว่า

คำว่า ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ

นั่นคือลักษณะของผู้รู้ คือ ผู้มีปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสัจธรรม

ความว่า ข้าพระองค์ไม่ขัดข้อง คือ ไม่ติด ไม่พัวพัน เหมือนอากาศอันไม่ขัดข้อง คือ ไม่ติด ไม่พัวพัน ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หลง ไม่มัวหมอง เหมือนอากาศที่ ใครๆ ย้อมด้วยน้ำครั่ง น้ำขมิ้น น้ำสีเขียว น้ำสีฝาดไม่ได้ ฉะนั้น แม้ด้วยเหตุนี้ ไม่โกรธ ไม่ขัดเคือง ไม่หดหู่ ไม่กระทบกระทั่ง เหมือนอากาศ

แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นความปรารถนาของผู้ที่มีปัญญาที่มีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอย่างแยบคาย เห็นโทษของกิเลสทั้งปวงก่อน และจึงจะปรารถนาอย่างนี้จริงๆ เพราะถ้าเพียงแต่คิดว่า เป็นการดีที่จะไม่ติด ไม่พัวพัน ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หลง ไม่มัวหมอง ให้เหมือนกับอากาศที่ใครๆ ย้อมด้วยน้ำครั่ง น้ำขมิ้น น้ำสีเขียว น้ำสีฝาดไม่ได้ ก็ดูเป็นการง่ายที่จะคิดปรารถนาอย่างนี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นการดี แต่พิจารณาจิตใจจริงๆ ของตัวเองว่า มีความปรารถนาจริงๆ อย่างนี้หรือเปล่า ที่จะไม่ติด ไม่พัวพัน ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หลง เพราะว่าธรรมดาทุกคนมีความรัก มีความติด มีความพัวพัน มีความชอบ มีความพอใจในทุกสิ่งที่ปรากฏ ทั้งสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวเอง และเป็นวัตถุอื่น สัตว์อื่น บุคคลอื่น

นี่คือความจริงของทุกคนในชีวิตประจำวัน คือ มีที่รัก นอกจากจะเป็นผู้มีที่รักแล้ว ยังปรารถนาให้ตนเองเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ หรือเป็นที่นับถือยกย่องของคนอื่นด้วย และถ้ายังเป็นอย่างนี้ จะเหมือนกับที่โธตกมาณพกราบทูลพระผู้มีพระภาคไหมว่า ท่านปรารถนาจะเป็นผู้ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ คือ ไม่ติด ไม่พัวพัน ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หลง

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะคิดว่าท่านปรารถนาอย่างนี้ ควรพิจารณาชีวิตประจำวันของท่านว่า ท่านพร้อมที่จะปรารถนาอย่างนี้ หรือยังไม่พร้อม ยังต้องการสิ่งซึ่งเป็น ที่รัก และยังต้องการให้ตัวท่านเป็นที่รักของคนอื่นด้วย ฉะนั้น ยังอีกไกลมากกว่าจะเป็นผู้ที่ปรารถนาอย่างนั้นจริง ๆ เพราะว่าการเป็นผู้ที่ปรารถนาอย่างนั้นได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่รังเกียจอกุศล ไม่ใช่ไม่ชอบอกุศล

ลักษณะของการไม่ชอบอกุศล กับลักษณะของการรังเกียจอกุศลนี่ผิดกัน เวลาที่ท่านไม่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น ไม่อยากจะเป็นอย่างนี้ ก็เพราะรู้สึกว่าลำบาก เดือดร้อน แต่ในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านรังเกียจในอกุศล

ถ้ามีใครรักใคร่พอใจท่าน ท่านรังเกียจในความรักใคร่ ในความพอใจของคนนั้นหรือเปล่า หรือดีใจที่เขารัก

ยากแสนยากที่จะมองเห็นอกุศล หรือแม้แต่ท่านรักใคร่พอใจใครก็ตาม มีความรังเกียจในความรู้สึกอันนั้นไหมว่า นี่เป็นอกุศล เปล่าเลย ใช่ไหม พอใจที่จะรักคนนั้นต่อไป

เพราะฉะนั้น คนที่มีโยนิโสมนสิการ คือ คนที่พิจารณาเห็นอกุศลเป็นอกุศล และรู้สึกรังเกียจ

ถ้ามีใครที่รังเกียจอกุศล คนอื่นจะชอบไหม หรือไม่ชอบ เพราะว่าคนนี้รังเกียจอกุศล แต่ถ้าเป็นคนที่มีโยนิโสมนสิการ และเห็นใครรังเกียจอกุศล คนนั้นจะชื่นชมในความรังเกียจอกุศล เพราะว่าใครก็ตามที่สามารถรังเกียจอกุศลได้ แสดงว่าเริ่มคลายความติด ความพอใจในอกุศลทั้งหลายทีละเล็กทีละน้อย แม้ว่าไม่สามารถจะดับอกุศลได้ทันทีทันใด เพียงแต่เห็นโทษเล็กๆ น้อยๆ หรือเริ่มมีความรังเกียจบ้าง ก็จะเป็นการสะสมธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่ทำให้สามารถดับอกุศลได้ในวันหนึ่ง แต่ต้องเริ่มจากการรู้สึกรังเกียจในอกุศล ไม่ใช่ว่าเพียงไม่ชอบ แต่ต้องรังเกียจจริงๆ

และสำหรับวันหนึ่งๆ หลายท่านก็มุ่งที่จะเจริญสติปัฏฐาน ลืมพิจารณาชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า ในขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด มีการสะสมอดีตสติปัฏฐานพอที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคายในชีวิตตามความเป็นจริงของท่านเรื่อยๆ หรือเปล่า เพราะว่าทุกคนไม่ได้คิดเรื่องธรรมตลอดเวลา ไม่ได้คิดเรื่องสติปัฏฐานตลอดเวลา แต่ชีวิตจริงๆ มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านประสบพบเห็น และจำเป็นต้องดำริหรือตรึกหรือพิจารณาในเรื่องนั้นๆ ก็ควรจะพิจารณาว่า การคิดนึกของท่านนั้น เป็นโยนิโสมนสิการหรือว่าเป็นอโยนิโสมนสิการในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการสะสมสติปัฏฐานในอดีตได้ ถ้าเป็นผู้ที่สะสมสติปัฏฐานในอดีต สติจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะให้เกิดโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าในเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ เพื่อจะได้เจริญกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ได้คิดแต่เพียงว่า จะเจริญสติปัฏฐาน แต่ความคิดนึกในวันหนึ่งๆ จะถูก จะผิดอย่างไรไม่สนใจเลย ซึ่งผู้ที่พิจารณาโดยรอบคอบทุกอย่าง ย่อมเกื้อกูลให้สติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องด้วย

โลภะเป็นสิ่งที่ละยาก เพราะฉะนั้น คงจะยังไม่ปรารถนาเป็นผู้ที่ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ คือ ไม่ติด ไม่พัวพัน ไม่รัก ไม่ชัง ไม่หลงได้

ขอกล่าวถึงข้อความในชาดกบางชาดก เพื่อแสดงถึงโยนิโสมนสิการและ อโยนิโสมนสิการของผู้ที่สะสมอบรมปัญญาสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในภายหลังว่า ควรพิจารณาเรื่องของโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการในชีวิตประจำวันจริงๆ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจความมุ่งหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชาดก เพราะว่า ในพระไตรปิฎก มีไหมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแต่เฉพาะเรื่องของสติปัฏฐานเท่านั้น

เมื่อเป็นผู้ที่ทรงรู้แจ้งการสะสมของจิตตามความเป็นจริง ก็รู้ว่าชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน ไม่ใช่มีแต่การเจริญสติปัฏฐาน แต่มีทุกเรื่องที่ควรจะได้สะสมกุศลโดยการพิจารณาอย่างแยบคาย

อรรถกถาชาดก เอกนิบาต อรรถกถา มุทุลักขณชาดกที่ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงเมื่อครั้งพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ข้อความมีว่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์มีสมบัติมากตระกูลหนึ่งในแคว้นกาสี เมื่อท่านเรียนจบศิลปะทุกประเภทแล้วได้ออกบวชเป็นฤๅษี อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นผู้ที่ได้อภิญญาสมาบัติ

กาลครั้งหนึ่ง ท่านออกจากป่าหิมพานต์ เพื่อบริโภคโภชนะที่มีรสเปรี้ยวบ้าง เค็มบ้าง และได้ท่องเที่ยวภิกษาจารอยู่ในกรุงพาราณสีถึงประตูพระราชวัง พระราชาทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน ก็รับสั่งให้นิมนต์มา ได้อาราธนาให้พักอยู่ที่ พระราชอุทยาน และให้ฉันในพระราชวัง ซึ่งท่านก็ได้ถวายโอวาทพวกราชสกุล และ ได้อยู่ในพระราชอุทยานนั้น ๑๖ ปี

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออกไปปราบปรามกบฏชายแดนซึ่งกำเริบ และได้ตรัสให้พระมเหสีพระนามว่า มุทุลักขณา ปรนนิบัติฤๅษีโพธิสัตว์ ซึ่งพระนางก็ทรงเตรียมอาหารถวายพระโพธิสัตว์ตามที่พระราชาทรงสั่งไว้

อยู่มาวันหนึ่ง พระนางมุทุลักขณาทรงเตรียมอาหารสำหรับพระโพธิสัตว์เสร็จแล้ว ทรงดำริว่า วันนี้พระคุณเจ้าคงช้า จึงได้ทรงสรงสนานด้วยเครื่องหอม และทรงตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ให้ลาดพระยี่ภู่น้อย ณ พื้นท้องพระโรง ประทับเอนพระวรกายรอพระโพธิสัตว์จะมา ซึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์กำหนดเวลาของตนแล้ว ก็ได้ออกจากฌานเหาะไปสู่พระราชวังทันที พระนางมุทุลักขณาทรงสดับเสียง ผ้าเปลือกไม้ก็รับสั่งว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแล้ว และรีบเสด็จลุกขึ้น ผ้าที่ทรงเป็นผ้าเนื้อเกลี้ยงก็หลุดลง พอดีพระโพธิสัตว์เข้าทางช่องพระแกล เมื่อพระโพธิสัตว์เห็น ก็ตะลึงดูความงามของพระวรกายของพระนาง กิเลสที่อยู่ภายในของท่านก็กำเริบเป็นเหมือนต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีด

ทุกคนที่กำลังมีโลภะเกิดขึ้น ขอให้ระลึกว่า แต่ละขณะที่โลภะเกิดขึ้น โลภะสะสมอยู่ในจิตจนชุ่มเหมือนกับต้นไม้มียางที่ถูกมีดกรีดทุกขณะ แต่ไม่เคยมีใครรู้สึกอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าไม่ได้ฟังคำอุปมาที่เปรียบเทียบให้เห็นจริงๆ ว่า ลักษณะของโลภะนั้นชุ่มอย่างนั้นจริงๆ

ทันใดนั้นเองฌานของท่านก็เสื่อม เป็นเหมือนกาปีกหักเสียแล้ว ท่านยืนตะลึง รับอาหารแล้วก็ไม่ได้บริโภค ลงจากปราสาทเดินไปพระราชอุทยาน เข้าไปในบรรณศาลา วางอาหารไว้ไม่บริโภค นอนซมบนกระดานที่นอนถึง ๗ วัน

นี่คือพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอุทาหรณ์ที่เตือนทุกคนในเรื่องความไม่ประมาท แม้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้ แต่เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ กิเลสที่สะสมมาก็จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยได้ทุกอย่าง

ในวันที่ ๗ พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้ว เสด็จกลับมา ยังไม่ได้เสด็จไปพระราชนิเวศน์ ด้วยทรงพระดำริว่า จะพบพระฤๅษีก่อน พระราชาจึงเสด็จเลยไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีนอนอยู่ก็ทรงดำริว่า ฤๅษีคงจะไม่สบาย พระราชาจึงรับสั่งให้ทำความสะอาดบรรณศาลา พลางทรงนวดเท้าทั้งสองของฤๅษีแล้วตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่สบายไปหรือ ซึ่งพระฤๅษีก็ทูลว่า ท่านต้องการพระนางมุทุลักขณา พระราชาก็รับสั่งว่า พระองค์ทรงยินดีถวายพระนางมุทุลักขณาแก่พระฤๅษี และทรงพาพระฤๅษีเข้าไปในพระราชวัง ให้พระนางมุทุลักขณาประดับพระองค์งามพร้อมแล้วพระราชทานแก่ฤๅษี แต่เมื่อจะพระราชทานนั้น พระองค์ได้ทรงให้สัญญาลับแก่พระนางมุทุลักขณาว่า ให้พระนางพยายามรักษาพระองค์ให้พ้นจากฤๅษี ซึ่งพระนางก็ทรงรับสัญญานั้น

เมื่อฤๅษีพาพระนางลงจากพระราชวัง กำลังจะออกประตูใหญ่ พระนางก็ตรัสกับพระฤๅษีว่า ท่านเจ้าคะ เราควรจะได้เรือน แล้วก็ให้ฤๅษีไปกราบทูลขอพระราชทานเรือนสักหลังหนึ่ง พระราชาก็ได้พระราชทานเรือนร้างให้หลังหนึ่ง ซึ่งเรือนร้างนั้นมนุษย์ใช้เป็นที่ถ่ายทุกข์ ฤๅษีพาพระนางไปที่เรือนนั้น แต่พระนางไม่ทรงประสงค์จะเข้าไป พระฤๅษีก็ทูลถามว่า เหตุไรจึงไม่เสด็จเข้าไป พระนางก็รับสั่งว่า เพราะเรือนสกปรก ฤๅษีก็ทูลถามว่า บัดนี้เราควรจะทำอย่างไร พระนางก็รับสั่งว่า ต้องทำความสะอาดเรือนนั้น แล้วก็ให้ฤๅษีไปสู่ราชสำนัก เอาจอบและตะกร้ามา ให้โกยสิ่งสกปรกและขยะไปทิ้ง ให้ขนเอาโคมัยสดมาฉาบไว้ ให้ขนเตียงตั่งมา ทีละอย่าง แกล้งใช้ให้ตักน้ำจนเต็มตุ่ม เตรียมน้ำอาบ ปูที่นอน และทรงจับฤๅษีผู้กำลังนั่งร่วมกันบนที่นอนฉุดให้ก้มลงมาตรงหน้าพลางตรัสว่า ท่านไม่รู้ตัวว่า เป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์เลยหรือเจ้าคะ ฤๅษีก็กลับได้สติในเวลานั้นเอง แต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นท่านไม่รู้ตัวเอาเสียเลย

นี่คือผู้ที่ได้สะสมปัญญามา เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ระลึกได้ ก็ระลึกได้ และให้เห็นกำลังของกิเลสว่า

ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย กระทำความไม่รู้ตัวได้ถึงอย่างนี้

นี่คือลักษณะของโมหเจตสิก ซึ่งเกิดกับอกุศลธรรมทุกประเภท ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นโลภะ หรือโทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ย่อมทำให้ไม่รู้ตัว ทำให้มืด

เมื่อฤๅษีกลับได้สติก็คิดว่า ตัณหานี้เมื่อเจริญขึ้น จักไม่ให้เรายกศีรษะขึ้นได้จากอบายทั้ง ๔ เราควรถวายคืนพระเทวีนี้แด่พระราชา แล้วท่านก็กลับเข้าสู่ป่า หิมวันต์ในวันนี้ทีเดียว

เมื่อท่านถวายคืนพระเทวีแด่พระราชานั้น ท่านกล่าวคาถานี้ ความว่า

ครั้งเรายังไม่ได้พระนางมุทุลักขณาเทวี เกิดความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้พระนางมุทุลักขณาผู้มีดวงตางามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่างๆ ขึ้นอีก

ตอนแรกที่ไม่ได้พระนางมุทุลักขณา ก็มีแต่ความอยากได้เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้แล้ว โดยที่พระราชาพระราชทานให้ ท่านก็ต้องปรารถนาเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น ปรารถนาเรือน ปรารถนาเครื่องอุปกรณ์ ปรารถนาเครื่องอุปโภค และต่อๆ ไป ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งทุกคนที่มีความปรารถนาอย่างนี้ก็รู้ว่า เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาอื่นต่อๆ ไปอีก

และทันใดนั้นเอง ฤๅษีก็ทำฌานที่เสื่อมให้บังเกิดขึ้น นั่งในอากาศ แสดงธรรม ถวายโอวาทแด่พระราชา แล้วไปสู่ป่าหิมพานต์ทางอากาศทันที ไม่มาสู่ประเทศที่ ชื่อว่าเป็นถิ่นของมนุษย์อีกเลย แต่เจริญพรหมวิหาร ไม่เสื่อมจากฌาน บังเกิดในพรหมโลกแล้ว

พระผู้มีพระภาคครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจจะ ภิกษุผู้เป็นเหตุให้ตรัสชาดกนี้บรรลุพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ มุทุลักขณาได้มาเป็นอุบลวรรณา ส่วนฤๅษีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

จบ อรรถกถามุทุลักขณชาดกที่ ๖

เปิด  252
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565