แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1421

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๘


มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๒ ในพระสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๖ มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาสภาพธรรมโดยละเอียด แม้แต่ในเรื่องของภวังคจิต

ข้อความมีว่า

ข้อว่า ปุถุชนไม่ฟังแล้วซึ่งภวังคจิตนั้น ความว่า ปุถุชนเว้นแล้วจากการฟังภวังคจิตนั้นๆ ในข้อนั้น บุคคลนั้นไม่ฟังแล้วเพราะไม่มีอาคมและอธิคม

อาคม คือ การศึกษาหรือคัมภีร์ปกรณ์ต่างๆ ถ้าไม่มีคัมภีร์ปกรณ์ต่างๆ ที่พระเถระทั้งหลายท่านทรงจำสืบทอดต่อๆ มา จะไม่มีใครรู้เรื่องของภวังคจิตในขณะนี้เลย แต่เพราะว่ามีปกรณ์ คือ อาคม คือ การศึกษา และอธิคม คือ การบรรลุ แต่ผู้ใดก็ตาม

ไม่ฟังแล้ว เพราะไม่มีอาคมและอธิคม เพราะไม่ศึกษาและไม่น้อมปฏิบัติ เป็นผู้พึงรู้ได้

คือ พึงรู้ได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องภวังคจิตเลย

มีใครสามารถพูดเรื่องของภวังคจิตโดยไม่ศึกษาปกรณ์ต่างๆ ได้บ้าง อาจจะ รู้เรื่องเห็น รู้เรื่องได้ยิน รู้เรื่องสุข รู้เรื่องทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าภวังคจิตเกิดคั่นในขณะไหน

ข้อความต่อไปมีว่า

จริงอยู่ บุคคลใดใคร่ครวญอยู่ซึ่งพระสูตรนี้จำเดิมแต่ต้นด้วยสามารถ แห่งอรรถ ย่อมไม่ทราบนั่นเทียวด้วยสามารถแห่งอาคม ย่อมไม่ทราบด้วยสามารถอธิคมว่า ชื่อว่าภวังคจิตนี้บริสุทธิ์แล้วตามปกติ เข้าไปเศร้าหมองแล้วเพราะอุปกิเลสทั้งหลายมีความโลภเป็นต้น อันเกิดขึ้นแล้วในขณะแห่งชวนะ ดังนี้

เป็นข้อความที่อธิบายว่า ผู้ที่เพียงใคร่ครวญซึ่งพระสูตรนี้ คือ ด้วยตำรา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ภวังคจิตต่างกับชวนจิต ซึ่งโดยการศึกษาทราบว่า ภวังคจิตไม่ใช่ชวนจิต ภวังคจิตเป็นวิบากจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติต่อจากปฏิสนธิจิต

ในขณะที่เป็นภวังค์ ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย โลภเจตสิกไม่ได้เกิดกับภวังคจิต โทสเจตสิกไม่ได้เกิดกับภวังคจิต โมหเจตสิกไม่ได้เกิดกับภวังคจิต อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ทั้งหมดไม่ได้เกิดกับภวังคจิต แต่ถ้าเพียงศึกษาอย่างนี้ ย่อมไม่ทราบด้วยสามารถแห่งอาคม ย่อมไม่ทราบด้วยสามารถอธิคม

ในขณะนี้ภวังคจิตของทุกคนบริสุทธิ์ ที่ใช้คำว่า บริสุทธิ์ คือ ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่เป็นกุศล ไม่ใช่ในขณะที่เป็นภวังค์ แต่เป็นชวนะ ในขณะที่เป็นอกุศลก็ไม่ใช่ในขณะที่เป็นภวังค์ แต่เป็นชวนะ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่สติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม และปัญญายังไม่สามารถประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะไม่รู้ความต่างกันของขณะที่เป็นภวังคจิตและขณะที่เป็นชวนวิถี

ภวังคจิต ไม่มีกุศลเจตสิกหรืออกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าภวังคจิตเป็นวิบากจิต ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีสติเกิดร่วมด้วย แต่เป็นชาติวิบาก ไม่ใช่กุศล นี่คือความต่างกันของจิตที่เป็นภวังค์ กับจิตที่เป็นวิถีจิต

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็อาคม (คือ ปริยัติหรือปกรณ์คัมภีร์ต่างๆ) อันแทงตลอดซึ่งยถาภูตญาณของบุคคลใดไม่มี เพราะเว้นจากการเรียนและการสอบสวนในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจยาการ และสติปัฏฐานเป็นต้น อธิคมย่อมไม่มี เพราะความที่ธรรมอันบุคคลพึงถึงด้วยการปฏิบัติอันตนไม่บรรลุแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ฟังแล้ว เพราะความไม่มีอาคมและอธิคม บุคคลนี้ใดเป็นปุถุชน

การฟังเรื่องของภวังค์ ต้องมีการศึกษาเรื่องของภวังค์ คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ขณะนี้มีภวังคจิต ขณะที่เป็นภวังค์ไม่ใช่กุศลจิต หรืออกุศลจิต เมื่อยังไม่หมดความสงสัยก็เป็นปุถุชน เมื่อเป็นปุถุชนผู้ไม่ฟังภวังคจิต และไม่ประจักษ์ลักษณะของภวังคจิต ก็ทำให้กิเลสเกิดมาก เป็นผู้หนาด้วยกิเลส เพราะความที่ตนน้อมเข้าไปในการเกิดในกิเลสหนานั้น

เมื่อเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ใจไปทางไหน

สำหรับใจที่หนาด้วยกิเลส วันหนึ่งๆ ก็ต้องน้อมไปในการเกิดกิเลสที่หนานั้น แต่ถ้าเห็นว่า ความพอใจในรูป และมีสติเกิดว่า นี่คือลักษณะของความพอใจ เป็นอกุศล เวลาที่มีความพอใจในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเกิดขึ้น ก็รู้ว่า นั่นเป็นลักษณะของอกุศล ในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ซึ่งก่อนที่สามารถจะละกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ตามข้อความที่ว่า

จริงอยู่ บุคคลนั้นชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุทั้งหลาย มีการเกิดขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลายอันหนาอันมีประการต่าง ๆ สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

ชนผู้หนาด้วยกิเลสทั้งหลาย ย่อมยังกิเลสทั้งหลายให้เกิดขึ้น เหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่าปุถุชน

ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้ก็หมายความว่า สติยังไม่ได้ระลึกในขณะที่มีความพอใจทางตา หรือมีความพอใจทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังไม่ได้ระลึก ในขณะที่มีความขุ่นเคืองใจทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือว่าสติยังไม่ได้ระลึกในขณะที่เป็นโมหมูลจิต ประกอบด้วยความสงสัย หรือประกอบด้วยอุทธัจจะ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ ต้องเป็นผู้ที่สติระลึก เมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ โดยการรู้ก่อนว่ายังเป็นปุถุชน คือ ผู้ที่หนาด้วยกิเลส ซึ่งก็ย่อมน้อมไปสู่กิเลสที่หนาอยู่เรื่อยๆ วันนี้อยากจะสนุกอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่พอใจในชีวิตที่เกิดมาเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังเพิ่มขึ้นถึงขั้นความสนุก ความติด ความเพลิน เป็นกิเลสที่หนา เมื่อทราบแล้วจะได้มีเครื่องวัดความหนาของกิเลสตัวเองว่า ที่ว่าหนา หนาจริงๆ ทางตา ขณะใดที่ยังไม่รู้ ก็ต้องหนามาก ทางหูก็หนามาก และทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น แสดงถึงความไกลกันของปุถุชนกับพระอริยบุคคล ถ้าคิดถึงคุณธรรมที่พระอริยบุคคลท่านได้อบรมเจริญมาในแสนกัป จนสามารถเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงเพียงสั้นๆ กับผู้ที่เป็นปุถุชน ซึ่งในภพหนึ่งชาติหนึ่งสติปัฏฐานเกิดขึ้นกี่ครั้ง บางคนอาจจะไม่เกิดเลย ตามประเภทของปุถุชน ๒ จำพวก คือ อันธปุถุชน ปุถุชน ผู้มืดบอดด้วยกิเลส ๑ และกัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนผู้เป็นกัลยาณชน ๑ ฉะนั้น ในระหว่างที่ยังเป็นปุถุชน ก็มีโอกาสอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นกัลยาณปุถุชน ซึ่งจะต้องอบรมเจริญต่อไปอีก จนกว่าจะดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้

ชนเหล่าใดผู้มีสักกายทิฏฐิ อันตนไม่เว้นขาดแล้วมาก เหตุนั้นชนเหล่านั้น ชื่อว่าปุถุชน

ชนเหล่าใดเป็นผู้มองดูหน้าของศาสดาทั้งหลายมาก เหตุนั้นชนเหล่านั้น ชื่อว่าปุถุชน

คือ ไม่สามารถตัดสินได้ว่า ธรรมใดถูกต้องตามเหตุผล ตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ เมื่อฟังแล้วยังสามารถพิจารณาได้ว่า ธรรมใดเป็นเหตุเป็นผล แม้ว่าจะยาก แต่เป็นเหตุเป็นผลที่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อเหตุถูก ย่อมสามารถทำให้ผลที่ถูกเกิดได้

ชนเหล่าใดไม่ออกไปแล้วจากคติทั้งปวงทั้งหลายมาก เหตุนั้นชนเหล่านั้น ชื่อว่าปุถุชน

ยังต้องเกิดในคติ ทั้งที่เป็นสุคติและทุคติ ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ อีกมากมาย ในสังสารวัฏฏ์ ย้อนถอยหลังไปก็มากมาย เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ยังต้องมีคติที่จะต้องไปอีกมากในอนาคต

ชนเหล่าใดย่อมปรุงแต่งด้วยอภิสังขาร คือ ธรรมอันปรุงแต่ง อันมีประการ ต่างๆ มาก เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่าปุถุชน

วันนี้ถ้าไม่พิจารณา อาจจะไม่ทราบว่าปรุงแต่งมากแค่ไหน ซึ่งแล้วแต่ความชำนาญของแต่ละท่านว่าท่านปรุงเก่งทางไหน มีทั้งทางที่เป็นกุศล ทางที่เป็นอกุศล ทางที่เป็นสุจริต ทางที่เป็นทุจริต เป็นเรื่องเฉพาะตนจริงๆ คนอื่นไม่สามารถรู้จัก ตัวท่านได้อย่างละเอียด อาจจะรู้เพียงแค่เห็นอากัปกิริยาอาการบางอย่างนิดเดียว ก็พอที่จะหยั่งลงไปถึงจิตได้ว่า ขณะนั้นเป็นมายา หรือเป็นกุศล หรือเป็นเมตตา หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่ใจของคนนั้นเองรู้มากกว่านั้น แม้แต่กำลังคิดปรุงแต่งเรื่องต่างๆ ซึ่งคนอื่นไม่มีทางรู้ได้เลย

ชนเหล่าใดอันห้วงน้ำ คือ โอฆะทั้งหลาย ย่อมพัดไปมาก เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่าปุถุชน

ชนเหล่าใดย่อมเร่าร้อนด้วยเครื่องเร่าร้อนทั้งหลายมาก เหตุนั้นชนเหล่านั้น ชื่อว่าปุถุชน

บางทีเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่ากลุ้มใจเลย แต่ปุถุชนก็กลุ้มใจอยู่บ่อยๆ เรื่อยๆ เร่าร้อน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น และสิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง คือ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการสิ้นสุด แต่ปุถุชนทั้งหลาย ชนเหล่าใดย่อมเร่าร้อนด้วยเครื่อง เร่าร้อนทั้งหลายมาก เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่าปุถุชน

นี่เป็นเครื่องวัดความเป็นปุถุชนทั้งนั้น ถ้าวันนี้เดือดร้อนมาก เร่าร้อนมาก ก็เห็นความเป็นปุถุชนของตัวเองว่ามากแค่ไหน

ชนเหล่าใดอันความกระวนกระวายทั้งหลายย่อมแผดเผามาก เหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่าปุถุชน

ชนเหล่าใดยินดีแล้ว โลภแล้ว พอใจแล้ว เกี่ยวข้องแล้ว ถึงทับแล้ว ข้องแล้ว ติดแล้ว กังวลแล้วในกามคุณ ๕ ทั้งหลายมาก เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่าปุถุชน

เอาออกทิ้งบ้างได้ไหม กามคุณ ๕ รูปอย่าติดมากนัก เสียงอย่าติดมากนัก กลิ่นอย่าติดมากนัก รสอย่าติดมากนัก โผฏฐัพพะอย่าติดมากนัก เป็นประโยชน์ จริงๆ ถ้าสามารถคลายบ้างแม้นิดเดียว หรือถ้ายังไม่คลาย ก็คิดที่จะคลายสักนิด สักหน่อย เพื่อว่าชาติต่อไปจะได้คิดที่จะคลายอีก จนกว่าความคิดนั้นจะมีกำลังถึงขั้นที่จะคลายได้จริงๆ คือ ไม่ใช่เพียงขั้นคิดว่าถ้าคลายได้ก็ดี แต่ต้องค่อยๆ คลายไปจนกว่าจะถึงดีจริงๆ คือ สามารถคลายได้ และต้องอาศัยปัญญา เพราะ ไม่สามารถขอใครได้ว่า ให้ลดคลายกามคุณประเภทใดลงไปบ้าง

ชนเหล่าใดอันนิวรณธรรมทั้ง ๕ รึงรัดแล้ว ร้อยรัดแล้ว ปิดบังแล้ว ครอบงำแล้ว ปกปิดแล้ว ปิดงำมากแล้ว เหตุนั้นชนเหล่านั้นชื่อว่าปุถุชน

ปุถุชนย่อมไม่รู้ตามสภาพที่เป็นจริงว่า ก็ภวังคจิตนี้ ชื่อว่าอันอุปกิเลสทั้งหลายอันจรมาอย่างนี้เข้าไปเศร้าหมองแล้ว ภวังคจิตนั้น ชื่อว่าไม่ปราศจากกิเลสแล้ว อย่างนี้

ต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นภวังคจิต และขณะใดเศร้าหมองเพราะกิเลสที่ชวนจิต

ในขณะที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรืออารมณ์ทางใจยังไม่ปรากฏ ขณะนั้นเศร้าหมองไหม คิดดู ช่วงคั่นระหว่างรูปที่ปรากฏทางตากับเสียงที่ปรากฏ ทางหู

ถ้ามีความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา และมีความยินดีพอใจในเสียงที่ปรากฏทางหู ช่วงคั่นระหว่างความยินดีพอใจทางตากับความยินดีพอใจทางหู ในขณะนั้นซึ่งเป็นภวังคจิต ไม่มีอุปกิเลส ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย

นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ความต่างกัน เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่ายังมีกิเลสมากแค่ไหน ทั้งๆ ที่ขณะที่เป็นภวังคจิตไม่ปรากฏเลย ก็คือ เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ถ้ายังมีความพอใจหรือขุ่นเคืองใจในสิ่งที่ปรากฏ แสดงว่าภวังค์นั้นยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ แม้ว่าอกุศลเจตสิกจะไม่เกิดกับภวังค์ก็ตาม

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๕ ในพระสูตรที่ ๙ มีข้อความที่แสดงสภาพของภวังคจิตว่า

บทว่า ปภัสสรัง ความว่า ขาว คือ บริสุทธิ์ บทว่า จิตตัง คือ ภวังคจิต

ถามว่า ก็ชื่อว่าวรรณะ คือ สี แห่งภวังคจิตมีอยู่หรือ ตอบว่า ไม่มี

จริงอยู่ จิตจะมีสีหนึ่งสีใดในบรรดาสีเขียวเป็นต้นหรือสีทอง ไม่มี

จิตชนิดใดชนิดหนึ่ง คือ ภวังคจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง คือ ภวังคจิตที่เป็น กุศลวิบาก หรือภวังคจิตที่เป็นอกุศลวิบาก หรือภวังคจิตที่เป็นกามภูมิ หรือภวังคจิตที่เป็นรูปภูมิ หรือภวังคจิตที่เป็นอรูปภูมิ ท่านกล่าวว่า ประภัสสร

ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากขั้นกามภูมิ ขั้นรูปภูมิ ขั้นอรูปภูมิก็ตาม ท่านกล่าวว่า ประภัสสร เพราะอรรถว่า บริสุทธิ์ คือ ไม่เกิดร่วมกับอุปกิเลส แต่ภวังคจิตนั้นท่านกล่าวว่า เศร้าหมองแล้วเพราะอุปกิเลสที่เกิดกับชวนจิตที่เกิดในภายหลัง เพราะแสดงให้เห็นว่า ภวังค์นั้นยังไม่ได้ดับกิเลส จึงมีกิเลสเกิดที่ชวนจิตได้

ข้อความในอรรถกถาอุปมาภวังคจิต ดุจมารดา บิดา อาจารย์ และอุปัชฌาย์ทั้งหลายผู้ถึงแล้วด้วยความประพฤติ เพราะว่าในขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิด ร่วมด้วย แต่เมื่อชวนจิตซึ่งเป็นดุจบุตรเกิดขึ้นเป็นอกุศล ประกอบด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ก็ย่อมทำให้มารดา บิดา อาจารย์ และอุปัชฌาย์เศร้าหมอง เสื่อมเกียรติ เพราะได้รับการตำหนิว่า ไม่ตักเตือน ไม่สอน

เปิด  242
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565