แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1424

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๘


เรื่องของการดับกิเลส เป็นเรื่องยากมากจริงๆ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้อบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ควรจะพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ในชีวิตประจำวันเพื่อให้กุศลจิตเกิดเพิ่มขึ้น แทนที่จะคำนึงถึงเฉพาะจะให้บรรลุถึงการดับกิเลส เพราะว่าไม่มีใครสามารถดับกิเลสทั้งหมดได้ โดยปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยในขณะนี้

เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงปัญญาขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรม ควรอบรมเจริญกุศล หรือเจริญโยนิโสมนสิการในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ได้สังเกตเลยว่า ในวันหนึ่งๆ โยนิโสมนสิการเกิดมาก หรืออโยนิโสมนสิการเกิดมาก

ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ซึ่งไม่ต้องการรู้แต่เฉพาะว่าโยนิโสมนสิการมีลักษณะอย่างไร แต่ต้องการอบรมเจริญโยนิโสมนสิการด้วย ก็จะพิจารณาว่า ทุกคนล้วนมีกิเลส ควรใส่ใจในกิเลสของคนอื่น หรือว่าเห็นกิเลสของตนเอง

นี่เป็นโยนิโสมนสิการ เพราะบางท่านกล่าวว่า ท่านที่เข้าวัดฟังธรรมแล้ว ทำไมยังมีกิเลสมาก จะได้ยินได้ฟังบ่อย และในระหว่างผู้ที่เข้าวัดด้วยกัน ก็ยังเห็นกิเลสของคนอื่นซึ่งมาวัดด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในวัดหรือนอกวัด ก็มักจะเห็นกิเลสของคนอื่น ใส่ใจในกิเลสของคนอื่นในวันหนึ่งๆ โดยไม่ได้ใส่ใจในกิเลสของตนเอง หรือไม่ได้เห็นกิเลสของตนเองเลย

ประโยชน์จากการใส่ใจในกิเลสของคนอื่น มีไหม พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเริ่มที่จะให้มีโยนิโสมนสิการแม้ในชีวิตประจำวัน ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า การใส่ใจในกิเลสของคนอื่น มีประโยชน์ไหม

วันหนึ่งๆ พิจารณาว่า เห็นกิเลสของคนอื่น หรือว่าเห็นกิเลสของตัวเอง

อาจจะไม่เคยคิดมาก่อน แต่ขณะนี้คิดได้แล้ว นึกถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า วันนี้เห็นกิเลสของคนอื่น หรือว่าเห็นกิเลสของตัวเอง เป็นนิสัยที่สะสมอบรมมา แต่มีประโยชน์อะไรหรือเปล่า เมื่อเห็นกิเลสของคนอื่น โยนิโสมนสิการเกิดได้ไหม อโยนิโสมนสิการเกิดได้ไหม

ตามปกติผู้ที่ใส่ใจในกิเลสของคนอื่น ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะมีอโยนิโสมนสิการ ด้วยการเห็นโทษ เพ่งโทษ ขุ่นเคือง ไม่อภัย หวังร้าย ซ้ำเติม ลองคิดถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งเป็นที่ไม่พอใจ ในขณะที่คิดนั้น เป็นโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ

โดยมากมักจะถามว่า โยนิโสมนสิการเป็นอย่างไร แต่ความแจ่มแจ้งของ โยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการอยู่ที่ ในขณะที่คิดถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด พิจารณาลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เวลาที่เห็นกิเลสของคนอื่น ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ ตรงกันข้าม ให้อภัย คิดช่วยเหลือเกื้อกูล หรืออดทน คอยกาลเวลาที่จะตักเตือนเกื้อกูลโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่ท้อถอยที่จะช่วยแก้ไขในกิเลสหรืออกุศลของคนอื่น

นี่คือโยนิโสมนสิการ คู่กันไปกับการเจริญสติปัฏฐาน ได้ไหม ไม่ใช่มุ่งหวังแต่จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ลืมเรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น อโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ควรคู่กันไปกับการเจริญกุศล ทุกประการ ทั้งในขั้นของทาน ซึ่งรวมวัตถุทานและอภัยทานด้วย ในขั้นของศีล ซึ่งรวมการเว้นกายวาจาที่เป็นอกุศล และการประพฤติกายวาจาที่เป็นกุศล ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลบุคคลอื่น และในขั้นของภาวนา คือ การอบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศล และการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เป็นกุศลขั้นสำคัญที่สุด ที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย เพราะถึงแม้จะทำบุญกุศลทางทาน ทางศีลมากสักเพียงใด ก็ไม่สามารถละคลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

บางคนสะสมกุศลทางวัตถุทานมาก แต่สะสมกุศลในทางเจริญสติปัฏฐานน้อย จึงต้องอาศัยวิริยกถา ได้แก่ ธรรมกถา ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเพียรในการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าความเพียรที่จะฝืนกระแสกิเลสนั้นยาก แม้เพียงที่จะฟัง บางท่านก็ยาก ไม่มีความเพียรที่จะฟังซึ่งเป็นขั้นต้นของการทำให้สติปัฏฐานเจริญขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตของแต่ละบุคคล ที่ทำให้ไม่เกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ควรท้อถอย ควรสะสมการฟัง และการอบรมเจริญสติปัฏฐานไปทุกชาติ เพราะแม้ในปัจจุบันชาตินี้แต่ละท่านก็ย่อมรู้ด้วยตัวของท่านเองว่า สติเกิดได้มากน้อยเท่าไรในวันหนึ่งๆ และกุศลจิต คือ โยนิโสมนสิการ เกิดมากน้อยเท่าไรในวันหนึ่งๆ

สำหรับเจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ดวง ที่กล่าวถึงเจตสิกในวันนี้เพื่อให้เห็นว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเป็นสัมปยุตตธรรมเกิดร่วมด้วยตามควรแก่ลักษณะของจิตนั้นๆ เป็นการเข้าใจจิตของแต่ละบุคคล ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา

เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ดวง หรือ ๕๒ ประเภท แบ่งเป็น ๓ จำพวก คือ เป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง และโสภณเจตสิก ๒๕ ดวง

ถ้านับตามจำนวนแล้ว อกุศลเจตสิกก็ไม่มาก มีจำนวนเพียง ๑๔ ดวง หรือ ๑๔ ประเภทเท่านั้น แต่เกิดง่ายและบ่อยกว่าโสภณเจตสิกซึ่งมีถึง ๒๕ ดวง

สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับสัมปยุตต์ธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือ ถ้าเกิดกับอกุศลจิต อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็ เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับกุศล อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับวิบาก อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยา อัญญสมานาเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกิริยา

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง ได้แก่ สัพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง คือ ผัสสะ ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ เจตนา ๑ เอกัคคตา ๑ ชีวิตินทรีย์ ๑ มนสิการ ๑ และปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ อธิโมกข์ ๑ วิริยะ ๑ ปีติ ๑ ฉันทะ ๑ เจตสิกเหล่านี้เมื่อเกิดกับกุศลก็เป็นกุศล เมื่อเกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับวิบากก็เป็นวิบาก เมื่อเกิดกับกิริยาก็เป็นกิริยา

เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกดวงเดียว เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี หรือแม้เจตนาที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี และเวทนา สัญญา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ทั้งหมดเป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี วิบาก ก็มี กิริยาก็มี รวมทั้งวิตก วิจาร วิริยะ ปีติ ฉันทะ อธิโมกข์ เหล่านี้ ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี เพราะว่าเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวงนี้ เป็นอัญญสมานาเจตสิก เกิดกับจิตได้ทุกประเภท

ถ้าท่านผู้ใดอยากจะรู้ว่า จิตดวงไหนมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย ก็สามารถจะพิจารณาและเข้าใจได้ด้วยตนเอง เช่น โลภมูลจิต เป็นอกุศลจิต ต้องมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยจิตนั้นจึงเป็นอกุศล ฉะนั้น เป็นสิ่งที่สามารถพิจารณาและเข้าใจได้ด้วยตนเอง

สำหรับอกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมด ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ มานเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ ถีนเจตสิก ๑ มิทธเจตสิก ๑ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑

ที่กล่าวถึงอกุศลเจตสิก ก็เพื่อทบทวนให้พิจารณาลักษณะของอกุศลเจตสิกไม่ให้ลืมว่า ทุกคนมี ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล อกุศลเหล่านี้ก็เต็ม ทั้ง ๑๔ ประเภท

ใครลืมไปแล้วบ้างว่ามีอกุศลเจตสิกเหล่านี้

วันหนึ่งๆ เคยคิด เคยพิจารณาลักษณะของอกุศลธรรมเหล่านี้ไหม ทั้งๆ ที่มีอยู่มาก ในวันหนึ่งๆ จะขาดโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นอกุศลสาธารณเจตสิก นอกจากนั้นยังมีโลภเจตสิกเป็นประจำ ทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น ขณะใดที่มีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติ มีความต้องการผลอย่างรวดเร็ว หรือต้องการทำโดยไม่อบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นเป็นทิฏฐิเจตสิก หรือขณะใดที่ไม่มีความเห็นผิด แต่มีความสำคัญตน ซึ่งทุกคนยังมีอยู่ ผู้ที่ไม่มีมานะเจตสิกต้องเป็น พระอรหันต์เท่านั้น ขณะนั้นจะระลึกได้ไหมว่า เป็นลักษณะของอกุศลธรรม ซึ่งยังมีอยู่

การกล่าวถึงอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เป็นการทบทวนให้ไม่ลืมว่า อกุศลจิต ๑๒ ดวง ประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง คือ โมหมูลเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก และอุทธัจจเจตสิก ต้องเกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง จะขาด อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวงนี้ไม่ได้ และถ้าเป็นโลภมูลจิต นอกจากจะประกอบด้วยอัญญสมานาเจตสิกแล้ว ต้องประกอบด้วยอกุศลเจตสิกที่เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง และโลภเจตสิกด้วย ซึ่งในบางครั้งจะประกอบกับทิฏฐิเจตสิก และในบางครั้ง ก็ประกอบกับมานะเจตสิก

สำหรับโทสมูลจิต ต้องมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามควร และต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวงแล้ว ต้องประกอบด้วยโทสเจตสิก ซึ่งในบางครั้งประกอบด้วยอิสสาเจตสิก บางครั้งประกอบด้วยมัจฉริยเจตสิก และบางครั้งก็ประกอบด้วยกุกกุจจเจตสิก

สำหรับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ ต้องประกอบด้วยอัญญสมานาเจตสิกและ อกุศลเจตสิก คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ และวิจิกิจฉา แต่ถ้าเป็น โมหมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นอกุศลจิตที่มีกำลังอ่อนที่สุดนั้น ก็มีเพียงอัญญสมานาเจตสิกและอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะเท่านั้น

ข้อที่ควรจำเกี่ยวกับเรื่องจิตประเภทไหนมีเจตสิกประเภทไหนเกิดร่วมด้วย คือ จะต้องเข้าใจว่า จิตทุกดวงต้องเกิดกับอัญญสมานาเจตสิกซึ่งมากน้อยตามควรแก่ประเภทของจิตนั้น เจตสิกประเภทอื่น เช่น อกุศลเจตสิก และโสภณเจตสิกนั้น อกุศลเจตสิกจะเกิดได้เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น

ถ้ามีผู้ใดถามถึงเรื่องของเจตสิกและจิตที่เกิดขึ้น ถ้าจำประเภทของเจตสิกได้ ก็จะรู้ว่า ในขณะนั้นจิตดวงนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไร แม้จะจำจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ แต่ก็รู้ได้ว่าต้องมีอัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และถ้าเป็นอกุศลก็ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นกุศลก็ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นวิบากและกิริยาก็ต้องแล้วแต่ว่าเป็นอเหตุกะหรือสเหตุกะ ถ้าเป็นอเหตุกะจะไม่มี โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นสเหตุกะเป็นจิตประเภทที่ดีงาม ต้องมี โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ฟังอย่างนี้ ดูเป็นสิ่งซึ่งไม่น่าจะรู้ ไม่น่าจะต้องจำหรือคิด แต่ถ้ารู้ว่า นี่คือชีวิตประจำวัน จะสนใจขึ้นไหมว่า ขณะหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจิตอะไรบ้าง และ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะว่าจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นได้นั้น ต้องมี สภาพธรรมซึ่งปรุงแต่งเป็นสังขารธรรมเกิดร่วมกันทำให้จิตนั้นๆ เป็นสภาพอย่างนั้น

เช่น ในขณะนี้ ผัสสเจตสิกกำลังกระทำกิจกระทบอารมณ์อย่างรวดเร็วและ ดับไปตลอดเวลา ไม่หยุดเลย ตั้งแต่อดีตอนันตชาติจนถึงในขณะนี้ และตลอดไปจนถึงอนาคต ฉะนั้น เป็นสิ่งซึ่งน่าสนใจที่จะพิจารณารู้ว่า ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ เพราะถ้าผัสสะไม่กระทบอารมณ์ ไม่เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งแล้ว จิตเกิดไม่ได้ จิตจะเห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ มากมายไม่ได้

ผัสสะเกิดและดับอย่างรวดเร็ว ไม่หยุดเลย ไม่ว่าจะตื่นหรือจะหลับ ไม่ว่าชาติก่อนๆ หรือชาตินี้ หรือชาติหน้า ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงควรที่จะพิจารณาแม้ลักษณะของผัสสะ ซึ่งเป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง เป็นอกุศลก็อีกอย่างหนึ่ง เป็นวิบากก็อย่างหนึ่ง เป็นกิริยาก็อีกอย่างหนึ่ง นี่คือลักษณะของผัสสะที่กระทบอารมณ์

บางครั้งผัสสะก็กระทบอารมณ์ด้วยโลภะ ขณะที่กำลังมีความต้องการ มีความสนุก ถ้าผัสสะไม่กระทบอารมณ์นั้น โลภะจะเกิดยินดีพอใจในอารมณ์นั้นไม่ได้ ในขณะที่กำลังยินดีพอใจในอารมณ์ใด ก็เพราะผัสสะกระทบอารมณ์นั้นด้วย ความต้องการ ด้วยความยินดี ด้วยความเพลิดเพลิน

แต่บางครั้งผัสสะก็กระทบอารมณ์ด้วยโทสะ ด้วยความขุ่นเคือง ด้วยความ ไม่พอใจ และบางครั้งผัสสะก็กระทบอารมณ์ด้วยโมหะ คือ แม้ว่าอารมณ์จะปรากฏ แต่เมื่อผัสสะกระทบด้วยโมหะ ก็เป็นความเคลือบแคลง ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของอารมณ์นั้น แต่บางครั้งผัสสะก็กระทบอารมณ์ด้วยโสภณเจตสิก เป็นกุศล

เปิด  206
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566