แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1425

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘


ขอทบทวนอกุศลจิต ๑๒ ดวง สืบต่อกับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เพื่อให้เข้าใจเหตุและผลสืบเนื่องกันในชีวิตประจำวันของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เรื่องของจิต เป็นเรื่องที่ดูเหมือนเป็นจำนวน แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันจริงๆ ทั้งอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๑๗ ดวง

อเหตุกจิตมี ๑๘ ดวงจริง แต่ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันนั้น มีเพียง ๑๗ ดวง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และสำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ก็เกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้น จะได้ทราบถึงเหตุผลที่สืบเนื่องกันของอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิตในชีวิตประจำวัน

เช่น ผัสสเจตสิก เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์และเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ แม้ในชาติก่อนๆ และในชาติต่อไปด้วย เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีการเห็น มีการได้ยิน มีการคิดนึก แต่ถ้าไม่รู้เรื่องของเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตนั้น จะไม่รู้ว่า ขณะหนึ่งๆ ที่จิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะต้องมีสภาพธรรมอะไรเกิดร่วมด้วย เป็นสังขารธรรม หรือเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง

สำหรับเจตสิกทั้งหลายที่เกิดกับจิตประเภทใด ก็เสมอกับจิตประเภทนั้น เช่น ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิตก็เป็นวิบากด้วย ที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลด้วย ที่เกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศลด้วย ที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยาด้วย เพราะฉะนั้น แม้แต่การกระทบอารมณ์ในวันหนึ่งๆ บางขณะผัสสเจตสิกก็เป็นวิบาก บางขณะผัสสเจตสิกก็เป็นกิริยา บางขณะผัสสเจตสิกก็เป็นกุศล และบางขณะผัสสเจตสิกก็เป็นอกุศล

แม้แต่เพียงการกระทบอารมณ์ จะเห็นได้ว่า แต่ละขณะ กระทบไม่เหมือนกัน บางขณะกระทบด้วยโลภะ ต้องการ พอใจ เพลิดเพลิน บางขณะก็กระทบด้วยโทสะ บางขณะก็กระทบด้วยโมหะ บางขณะก็กระทบด้วยกุศล แต่ส่วนใหญ่ในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากจิตและกิริยาจิต ผัสสเจตสิกจะเกิดร่วมกับอกุศลจิตมากกว่า กุศลจิต

ขณะใดที่ผัสสะเกิดร่วมกับอกุศล ขณะนั้นผัสสเจตสิกและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันกับอกุศลจิต ต้องประกอบด้วยอกุศลเหตุซึ่งมี ๓ คือ โลภเหตุ ๑ โทสเหตุ ๑ โมหเหตุ ๑ แต่อกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุทั้ง ๓ ไม่ได้เกิดพร้อมกัน เพราะว่าเหตุทั้ง ๓ เกิดพร้อมกันไม่ได้ จะเกิดพร้อมกันได้เพียงเหตุเดียวหรือสองเหตุเท่านั้น คือ โมหเหตุและโลภเหตุ หรือโมหเหตุและโทสเหตุ และบางขณะที่ไม่มีโลภเหตุและโทสเหตุเกิด ร่วมด้วย จะมีเพียงโมหเหตุเหตุเดียวเท่านั้น ซึ่งจิตที่เกิดร่วมกับโมหเหตุเหตุเดียว เป็นสเหตุกะ ที่เป็นเอกเหตุกะ

ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิต เป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ

เป็นสเหตุกะ เพราะว่าจิตหรือเจตสิกใดซึ่งเกิดร่วมกับเหตุ จิตหรือเจตสิกนั้นเป็นสเหตุกะ จิตหรือเจตสิกใดที่ไม่เกิดร่วมกับเหตุ จิตหรือเจตสิกนั้นเป็นอเหตุกะ

เพราะฉะนั้น พิจารณาอกุศลจิตทีละดวงได้ เริ่มตั้งแต่โมหมูลจิต เป็นสเหตุกะหรืออเหตุกะ เป็นสเหตุกะ

โมหมูลจิตมีเหตุร่วมด้วยกี่เหตุ เหตุเดียว ก็เป็นเอกเหตุกะ

ถ้าพิจารณาถึงอกุศลจิตโดยเหตุ จะเห็นได้ว่า โมหมูลจิตและเจตสิกทั้งหลาย ซึ่งเกิดกับโมหเจตสิก เป็นเอกเหตุกะ เพราะว่าเกิดร่วมกับโมหเหตุเหตุเดียว

แต่ถ้าคิดละเอียด โมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิต มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมกับโมหเจตสิกนั้นหรือเปล่า มีไหม ไม่มี เพราะว่าโมหมูลจิตมีเหตุเดียว เพราะฉะนั้น ตัวจิตเกิดร่วมกับโมหเหตุ เจตสิกอื่นๆ ก็เกิดร่วมกับโมหเหตุ แต่ถ้ากล่าวถึงโมหเจตสิกในโมหมูลจิต ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยเพราะตัวเองเป็นเหตุ

โลภมูลจิตมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ จึงเป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ จึงเป็นทวิเหตุกะ หรือทุเหตุกะ คือ มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑ และโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑ จึงเป็น ๒ เหตุ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดกับโลภมูลจิตทั้งหมด เป็นทวิเหตุกะ เว้นโมหเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตเป็นเอกเหตุกะ เพราะว่ามีโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมกับโมหเหตุ เหตุเดียว แต่ถ้ากล่าวถึงจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เหตุ ก็เป็นทวิเหตุกะ

โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ก็มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว คือ มีโมหเหตุเกิดร่วมกับโลภเจตสิก ฉะนั้น โลภเจตสิกในโลภมูลจิตเป็นเอกเหตุกะ แต่เจตสิกอื่นและจิต เป็นทวิเหตุกะ

. ในขณะที่โมหเจตสิกเกิดกับโลภะ หรือเกิดกับโทสะ โมหเจตสิกนี้ก็เป็นเอกเหตุกะ

สุ. ตัวโมหะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น โมหเหตุในโลภมูลจิตเป็นสเหตุกะ คือ ประกอบด้วยโลภเหตุ เหตุเดียว

แต่เพราะตัวเองเป็นเหตุอยู่แล้ว จะมีโมหเจตสิกเกิดกับโมหเจตสิกในโมหมูลจิตไม่ได้ โมหเจตสิกเกิดกับจิตทำให้จิตนั้นเป็นโมหมูลจิต มีโมหเจตสิกดวงเดียว เพราะฉะนั้น โมหเจตสิกดวงนั้น ไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วยในโมหมูลจิต

ถ. เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับโมหเจตสิกนี้ จะถือว่าเจตสิกเหล่านั้นมี เหตุด้วยหรือเปล่า

สุ. มีเหตุเกิดร่วมด้วย คือ เกิดร่วมกับโมหเจตสิก เป็นเอกเหตุกะ

สำหรับโทสมูลจิต มี ๒ เหตุ เป็นสเหตุกจิตซึ่งเป็นทวิเหตุกะ หรือทุเหตุกะ เพราะว่ามีโมหเจตสิกและโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็น ๒ เหตุ เจตสิกอื่นๆ นอกจากเจตสิกที่เป็นเหตุ ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ เช่น ผัสสะ มีโทสเจตสิกและ โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวทนาก็มี ๒ เหตุ คือ มีโมหเจตสิกและโทสเจตสิกเกิด ร่วมด้วย สัญญา เจตนา เหล่านี้ ก็มีโมหเจตสิกและโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้ากล่าวถึงตัวเหตุ คือ โมหเจตสิกในโทสมูลจิต จะมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว หรือถ้ากล่าวถึงโทสเจตสิกในโทสมูลจิต จะมีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว

บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่น่าสนใจ แต่เป็นการพยายามเป็นผู้มีเหตุผลและรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไรจริงๆ จะไม่มีความคลาดเคลื่อนเลย ไม่ว่าจะกล่าวเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิกใดๆ โดยนัยใดๆ ก็ตาม จะต้องประกอบด้วยเหตุผลทั้งนั้น คือ ทุกๆ ขณะนี้เอง ถ้าศึกษาก็จะทราบได้ว่า เป็นเรื่องของขณะนี้

. ธรรมฝ่ายเหตุ มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ทั้ง ๖ นี้เป็นเหตุ แต่เจตสิกอื่นก็มีความสำคัญไม่น้อยเหมือนกัน ทำไมไม่จัดเป็นเหตุ

สุ. เพราะว่าไม่ใช่รากที่มั่นคง ที่จะทำให้สภาพธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น เช่น ผัสสะ มีหน้าที่กระทบเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะหลับ จะตื่น จิตเกิดขึ้นขณะใด ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบ และจบ เสร็จแล้ว ใช่ไหม

ถ้ามีการเห็น ผัสสะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่มีความต้องการสิ่งที่ปรากฏทางตา จะมีการขวนขวาย จะมีการประกอบกิจการงาน จะมีการสร้างสรรค์ จะมีการเจริญทางวัตถุทางโลกอะไรได้ไหม แม้แต่การประกอบกิจการงานเพื่อเลี้ยงชีพก็ทำไม่ได้ แต่ด้วยเหตุที่ว่า มีเหตุ คือ โลภะ เกิดขึ้นเป็นความต้องการ ก็ทำให้มีการขวนขวาย ทำให้ชีวิตแต่ละขณะดำรงไป เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของเหตุที่เกิด ร่วมด้วย ถ้ามีแต่เฉพาะอัญญสมานาเจตสิก ซึ่งได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิกและ ปกิณณกเจตสิก เช่น ผัสสะกระทบเมื่อไร เวทนาก็เกิดเมื่อนั้น แต่ไม่มีความต้องการ ก็เป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นและหมดไป

. แต่ถ้าเป็นมานะ หรืออิสสา ก็เป็นเจตสิกที่มีความสำคัญไม่น้อยที่จะพาให้อะไรๆ ติดตามมาอีกไม่น้อยเหมือนกัน

สุ. เพราะมีโลภเหตุ เกิดโดยลำพังไม่ได้เลย มานะเกิดโดยลำพังไม่ได้ ต้องเกิดกับโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เพิ่มมานะ ความสำคัญตนขึ้น ความฟูขึ้นอีก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น อกุศลใดๆ ที่มองเห็นว่า เป็นสิ่งซึ่งเห็นชัด และทำให้เกิดอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจาได้ ต้องอาศัยเหตุจึงได้เกิดได้ แม้แต่มานะ ถ้าไม่มี โลภะ ไม่มีความต้องการในตัวตน ในความเป็นเรา มานะก็ไม่มี แต่ด้วยเหตุว่ายังมีความต้องการอยู่ แม้แต่ในชื่อ บางคนก็ชอบ ชื่ออะไรก็น่าจะได้ แต่ไม่ได้ ชื่อก็มีความสำคัญ เพียงชื่อยังทำให้ติดข้องและมีความมานะได้ ถ้าเป็นชื่อที่ไพเราะ น่าฟัง มีความหมาย ก็มีความสำคัญขึ้น เพราะฉะนั้น แม้มานะก็ต้องเกิดกับ โลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ถ้าดับโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ มานะก็เกิดไม่ได้

. อิสสาก็เหมือนกัน ต้องเกิดกับโทสะ บางครั้งในชีวิตประจำวันรู้สึกเหมือนจะเกิดอิสสาอย่างเดียว ในขณะนั้นไม่น่ามีโทสะที่จะสังเกตให้เห็นได้

สุ. เวลาที่ที่อิสสาเกิด ใจสบาย หรือไม่สบาย

. คงจะมีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย

สุ. กระวนกระวาย เดือดร้อน กระสับกระส่าย ดิ้นรน ด้วยความริษยา ในขณะนั้นลักษณะของความรู้สึกที่ไม่สบายนั้น เป็นลักษณะของโทสมูลจิต ลักษณะของความรู้สึกที่ไม่ดีเป็นโทมนัสเวทนา เกิดขึ้นได้เฉพาะกับโทสมูลจิตเท่านั้น โทมนัสเวทนาเกิดกับจิตอื่นไม่ได้เลย เกิดกับโลภะไม่ได้ เกิดกับโมหะไม่ได้ ต้องเกิดกับเฉพาะจิตซึ่งเป็นโทมนัสเวทนาเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เวลาที่ความรู้สึกริษยาเกิดขึ้น ให้สังเกตที่เวทนาจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นความขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่น และต้องอาศัยเหตุ คือ โทสะ

โลกหมุนไปตลอดด้วยความต้องการและเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอกุศลเหตุ คือ ด้วยโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ ในอดีตอนันตชาติ ในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ สะสมเหตุต่างๆ เหล่านี้ขึ้น จะทำให้ปัญญาเจริญ จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

บางคนกล่าวว่า การศึกษาธรรมต้องใช้เวลานานมาก แต่ลืมว่า ก่อนจะโตขึ้นมามีความรู้อย่างนี้ได้ต้องใช้เวลามากเหมือนกัน ๑๐ ปี ๒๐ ปี สำหรับวิชาการอย่างหนึ่งๆ ทำไมยังเรียนได้ ฉะนั้น การศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพื่อละโมหะ โลภะ โทสะ ถ้าเริ่มทำตั้งแต่ ๑๐ ปีก่อน ๒๐ ปีก่อน ปัญญาย่อมสามารถเจริญขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ที่อ้างกาลเวลาว่า การศึกษาธรรมต้องใช้เวลานาน ก็ควรคิดว่า วิชาทุกอย่างต้องใช้เวลานาน แต่วิชาไหนจะเป็นประโยชน์ วิชาที่เกิดขึ้นเพราะโลภะ เทียบกับวิชาที่เกิดเพราะอโลภะ อโทสะ อโมหะ วิชาที่จะทำลายกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ย่อมดีกว่า มิฉะนั้นไม่มีวันจบ

โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามกำลังของความต้องการซึ่งเป็นโลภเหตุ โลกยุคนี้ เป็นอย่างนี้ ยุคต่อไปก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกำลังของโลภะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดการที่สภาพธรรมจะต้องเกิดขึ้นและดับไปเรื่อยๆ

. เมตตา องค์ธรรม ได้แก่ อโทสเจตสิก ขณะที่มีเมตตา แสดงความเป็นมิตรหวังดีต่อผู้อื่นนั้น ถ้ากล่าวว่า ขณะนั้นจิตประกอบด้วยอโทสะ รู้สึกจะห่างไกลจากลักษณะที่มีเมตตาจริงๆ อโทสะมักจะเปรียบว่าตรงกันข้ามกับโทสะ แต่เมื่อกล่าวถึงเมตตา รู้สึกจะต่างกับอโทสะ

สุ. เมตตาตรงกันข้ามกับโทสะไหม

. เมตตาตรงกันข้ามกับโทสะ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นอโทสะ

สุ. ถ้าไม่โกรธจะไม่รู้สึก แต่เวลาโกรธและระลึกได้ ก็รู้ว่า ขณะนั้นขาดเมตตา จึงจะรู้ลักษณะของเมตตาว่า ตรงกันข้ามกับโทสะ เพราะฉะนั้น เป็นลักษณะของอโทสะ

. ถ้าเปรียบอย่างนั้นคงจะเห็นชัดว่า ขณะที่เราโกรธใคร ขณะนั้นขาดเมตตาต่อผู้นั้น เป็นอย่างนั้นใช่ไหม

สุ. ถ้ายังมีเมตตาอยู่ตราบใด โทสมูลจิตเกิดไม่ได้ ถ้าโจรเลื่อยอวัยวะ น้อยใหญ่ ขณะนั้นจะรู้ได้ไหมว่ามีเมตตา หรือว่าไม่มีเมตตาในโจร โดยที่ว่า มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้ามีความรู้สึกขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ขาดเมตตา เพราะว่าเมตตาเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับโทสะ และควรจะเมตตาโจรไหม กำลังกระทำอกุศลกรรม ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก ส่วนผู้ที่ถูกเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้าไม่มีกรรมของตนเองเป็นเหตุ จะไม่มีใครสามารถทำให้ทุกขเวทนา กายวิญญาณเกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าทุกคนมีชีวิตอยู่ตามกรรม แล้วแต่ว่าขณะใด กรรมใดจะให้ผล กุศลกรรมให้ผล หรืออกุศลกรรมให้ผล

ถ้าเป็นหมอ กำลังผ่าตัดอวัยวะน้อยใหญ่ แต่เมื่อเป็นโจร ทำไมโกรธ หมอก็ ทำคล้ายๆ กัน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมให้ถูกต้องตามความเป็นจริง กุศลจิตย่อมเจริญ รู้ว่าเป็นโจร ก็ยังมีเมตตาได้ เพราะว่าเขากำลังทำกรรมที่เป็นอกุศล ซึ่งจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น

นี่เป็นบทฝึกหัดสำหรับภพหนึ่งชาติหนึ่ง ที่จะเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลจริงๆ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเกิดอกุศลแม้ประเภทหนึ่งประเภทใดเลย ทรงแสดงโทษของอกุศลทั้งปวง เพื่อให้พุทธบริษัทได้พิจารณาและ น้อมประพฤติปฏิบัติตามกำลังของปัญญา แต่ถ้าผู้ใดระลึกได้ สติเกิด ขณะนั้นก็เป็นกุศลแทนอกุศล

เปิด  223
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565