แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1438

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๘


ที่ทรงแสดงเรื่องของทารกในครรภ์ของมารดา เพื่อให้เห็นว่า ขณะใด อาหารชรูปคือรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานเกิด และเมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว รูปที่เกิดเพราะกรรมมีอยู่ทุกขณะ ทุกวันๆ นี้ ถ้าไม่พิจารณาจะไม่รู้ว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปนี้เกิดโดยที่คนอื่นไม่สามารถทำได้เลย ไม่มีใครทำให้จักขุปสาทเกิดได้ ไม่มีใครทำให้โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท หรือวัตถุทสกะ เกิดได้

เพราะฉะนั้น กรรมก็เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินที่มอบอสรพิษ คือ มหาภูตรูปให้ ๔ ตัว สำหรับผู้ที่ยังมีสังสารวัฏฏ์อยู่ จะต้องเลี้ยงดูบำรุงรักษางูพิษทั้ง ๔ ตัวนั้น ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องประดับ

ทุกคนลองคิดถึงมหาภูตรูปของตัวเองซึ่งมีมาตั้งแต่เกิด เคยคิดไหมว่า เป็นเครื่องประดับ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย พยายามที่จะให้มหาภูตรูปสวยงาม และพร้อมกันนั้นก็ทั้งรักใคร่หวงแหนเป็นที่สุด นี่คือความเข้าใจผิดในมหาภูตรูปทั้ง ๔

และเมื่อมีร่างกายเจริญเติบโตขึ้นแล้วจะมีผลอย่างไร และผลนั้นจะเป็น ประการใด สุข ทุกข์ ไม่เที่ยงอย่างไรบ้าง เพราะถ้ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แต่ไม่กระทบอารมณ์ จะมีประโยชน์อะไรไหมกับก้อนเนื้อซึ่งค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น

แต่เมื่อก้อนเนื้อนั้นเจริญเติบโตขึ้น มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ที่จะกระทบอารมณ์ ซึ่งถ้าไม่กระทบอารมณ์เลย จะไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวายใดๆ ปรากฏทั้งสิ้น แต่ว่าการรับผลของกรรมนั้นจะปราศจาก รูปไม่ได้เลย

เมื่อมีรูปร่างกายแล้ว การรับผลของกรรมไม่ยากเลย ใช่ไหม เพียงแต่ถือ มีดปอกผลไม้ก็รับผลของกรรมได้แล้ว มีดบาด นี่ก็เป็นทางที่จะเห็นได้ว่า การรับผลของกรรมปราศจากรูปไม่ได้

โดยนัยของปฏิจจสมุปปาท ซึ่งทุกคนก็ทราบว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ความไม่รู้เป็นปัจจัยให้เกิดกรรม ซึ่งได้แก่เจตนาที่เป็นกุศลและอกุศล สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เมื่อมีกรรมซึ่งเป็นเหตุก็ทำให้เกิดวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ วิญญาณที่เกิดเป็นปัจจัยแก่นามและรูป คือ ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดด้วย เพราะว่ากรรมเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิด

นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ

ในขณะนี้ทุกคนกำลังมีทั้งอวิชชา สังขาร ซึ่งจะทำให้เกิดวิญญาณข้างหน้า พร้อมกับนามธรรมได้แก่เจตสิก และรูป ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็จะเป็นอายตนะ คือ เป็นทางที่จะทำให้รับผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งบางแห่งใช้คำว่า สฬายตนะ หมายความถึงอายตนะ ๖ ได้แก่ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑

ถ้าเป็นภาษาบาลีก็คือ จักขายตนะ ได้แก่ ตา โสตายตนะ ได้แก่ หู ฆานายตนะ ได้แก่ จมูก ชิวหายตนะ ได้แก่ ลิ้น กายายตนะ ได้แก่ กาย มนายตนะ ได้แก่ ใจ และบางแห่งใช้อายตนะ ๑๒ เพราะหมายถึงอารมณ์ที่กระทบกับอายตนะ ๖ นั้นด้วย

สภาพธรรมทั้งหมด มีนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรม คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ เพราะฉะนั้น อายตนะคืออะไร

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ อายตนวิภังคนิเทศ มีคำอธิบายว่า

ชื่อว่าอายตนะ ด้วยอรรถว่า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นถิ่นที่เกิด เป็นเหตุ

นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ ได้แก่ อายตนะ ๖ สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ สำหรับอรูปพรหมนั้น นามเท่านั้นเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ เพราะว่าอรูปพรหมไม่มีรูป อรูปพรหมมีแต่จิตซึ่งเป็นมนายตนะ โดยอาศัยเจตสิกคือนามธรรมเท่านั้น ไม่ได้อาศัยรูปเลย เพราะฉะนั้น อรูปพรหมภูมิ นามเท่านั้นเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ ๖ อย่างเดียว

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อธิบายว่า เหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงตรัส อายตนะ ๑๒ ซึ่งคำตอบคือ พระผู้มีพระภาคตรัสอายตนะ ๑๒ โดยความเป็น ทวาร ๖ และโดยความเป็นอารมณ์แห่งวิญญาณ ๖ รวมเป็น ๑๒

โดยความเป็นทวาร ๖ คือ จักขายตนะ ๑ โสตายตนะ ๑ ฆานายตนะ ๑ ชิวหายตนะ ๑ กายายตนะ ๑ มนายตนะ ๑

โดยความเป็นอารมณ์แห่งวิญญาณ ๖ คือ รูปายตนะ ๑ สัททายตนะ ๑ คันธายตนะ ๑ รสายตนะ ๑ โผฏฐัพพายตนะ ๑ ธัมมายตนะ ๑

นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าไม่รู้จะไม่ทราบเลยว่า ในตัวทั้งหมดนี้มีรูปอะไรบ้าง กี่กลุ่ม และแต่ละรูปนั้น รูปใดเป็นอายตนะบ้าง

ข้อความต่อไป แสดงเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอายตนะโดยลำดับ เพราะว่าในอายตนะ ๖ นั้น

จักขวายตนะปรากฏ เพราะมีสนิทัสสนรูปและสัปปฏิฆรูปเป็นอารมณ์ จึงทรงแสดงเป็นลำดับแรก

สนิทัสสนรูป คือ รูปที่เห็นได้ สัปปฏิฆรูป คือ รูปที่กระทบได้

ในรูปทั้งหมด ๒๘ รูป อ่อนหรือแข็ง ไม่ปรากฏทางตา แต่ปรากฏเมื่อ กระทบสัมผัส เสียงก็ไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะว่ารูปอื่นทั้งหมด ๒๗ รูปนั้น เป็นอนิทัสสนรูป ไม่ใช่รูปที่มองเห็นได้ เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงจักขวายตนะหรือ จักขายตนะก่อน ก็เพราะว่าจักขวายตนะนั้นมีสนิทัสสนรูปและสัปปฏิฆรูปคือรูปที่สามารถปรากฏทางตาและกระทบกับตาได้เป็นอารมณ์ จึงได้ทรงแสดงเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นทรงแสดงโสตายตนะเป็นต้น ซึ่งมีอนิทัสสนรูปและสัปปฏิฆรูปเป็นอารมณ์

. พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ตัณหาเป็นทุกขสมุทยสัจจะ แต่อวิชชาก็เป็นปัจจัยแก่สังขาร และสังขารทั้งหลายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำไมอวิชชา ไม่เป็นทุกขสมุทยสัจจะด้วย

สุ. เป็นด้วย จะกล่าวว่าตัณหาและอวิชชาเป็นสมุทัยก็ได้ แต่ที่ทรงยกตัณหาเพราะว่าเมื่อมีอวิชชาแล้วยังมีตัณหาซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไป ไม่ใช่แต่เฉพาะความไม่รู้อย่างเดียว เมื่อไม่รู้ก็ทำให้เกิดความต้องการ และเมื่อมีความต้องการ ก็มีการขวนขวายเพื่อที่จะให้สังสารวัฏฏ์เป็นไป

. ทำไมทรงเน้นตัณหามาก

สุ. เพราะว่าตัณหาและอวิชชาไม่แยกกัน แต่ตัณหาเห็นได้ชัดว่า เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง พอใจ ต้องการ ปรารถนา จะไม่อยู่เฉยๆ เลย แต่อวิชชานั้นเป็นเพียงสภาพที่ไม่รู้ ซึ่งเป็นพื้นของอกุศลทั้งหลาย

. อสัญญสัตตาพรหมและอรูปพรหม อย่างเดียวกัน ใช่ไหม

สุ. อสัญญสัตตาพรหม เป็นพรหมซึ่งมีแต่เพียงรูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิเลย อรูปพรหมมีแต่นามปฏิสนธิ ไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น

การเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหม เป็นผลของรูปปัญจมฌาน ซึ่งหน่าย คลายความติดข้องในนามธรรม ไม่ปรารถนาที่จะให้นามธรรมเกิด เพราะฉะนั้น ด้วยกำลังของปัญจมฌานที่หน่ายในสัญญาหรือจิตเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม ทำให้มีแต่รูปปฏิสนธิ แต่สำหรับอรูปพรหมภูมินั้น โดยขั้นของฌานคือปัญจมฌานนั่นเอง แต่มีอรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิ จึงทำให้เกิดในภูมิซึ่งมีแต่นามปฏิสนธิ ไม่มีรูปเกิดร่วมด้วย

. เมื่อไม่มีรูปแล้ว นามนั้นจะอาศัยอะไรอยู่

สุ. ไม่ต้องอาศัยอะไรเลย นามธรรมเป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น มีเจตสิกซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรม

. ไม่ต้องไปเกาะอยู่ที่ไหนหรือ

สุ. ไม่ต้อง นามธรรมเป็นธาตุรู้

. ในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ นามธรรมอาศัยรูปอยู่ ใช่ไหม

สุ. ต้องต่างอาศัยซึ่งกันและกัน แต่โดยวิปปยุตตปัจจัย

ถ. แต่อรูปพรหม ไปแขวนอยู่ที่ไหน

สุ. ไม่ต้องแขวน ถ้าแขวนก็คิดถึงรูปว่าต้องแขวน แต่นามธรรมเป็นธาตุรู้ จึงไม่ต้องแขวน

. ธาตุรู้ไม่ต้องมีที่อาศัยหรือ

สุ. ถ้าพูดถึงแขวน ก็ต้องคิดถึงรูป ใช่ไหม จึงต้องแขวน แต่เมื่อไม่ใช่รูป เป็นธาตุรู้ ก็ไม่ต้องแขวน

. ผมว่าพ้นวิสัยที่ปุถุชนจะรู้ได้

สุ. ให้รู้ว่านามธรรมไม่ใช่รูป แยกขาดจากกัน เป็นคนละเรื่อง เป็น สภาพธรรมต่างชนิดกัน

. ลักษณะของสติ หมายถึงระลึกรู้สิ่งที่เป็นจริง ใช่ไหม

สุ. สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ ไม่หลงลืม แล้วแต่ว่าจะระลึกเป็นไปในทาน หรือระลึกเป็นไปในศีล ระลึกรู้สภาพที่เป็นอกุศลและเห็นว่าเป็นโทษ ก็เจริญกุศล โดยสมถะ หรือโดยวิปัสสนาและสติปัฏฐาน มีสติหลายขั้น

. สติขั้นทาน กับสติขั้นศีล ลักษณะเป็นอย่างไร

สุ. ขณะใดที่ให้ทาน เป็นเราให้หรือเปล่า

. แท้ที่จริงไม่มีเราให้ แต่ยังยึดว่าเป็นเรา

สุ. ขณะนั้นเป็นจิตและเจตสิก ใช่ไหม และเป็นโสภณเจตสิกด้วย ถ้าสติ ไม่ระลึกเป็นไปในการให้ การให้ก็เกิดขึ้นไม่ได้

มีของอยู่ในบ้าน ซื้อมาหลายวันแล้วเป็นอาหาร ก็ไม่ได้ให้ใครสักคนหนึ่ง ทิ้งไว้อย่างนั้นเพราะอะไร ในเมื่อมีคนที่จะให้ได้ เช่น คนในบ้าน แต่ก็ไม่ให้

. ถ้าอย่างนั้น ลักษณะก็ไม่แตกต่างกับเจตนาหรือเอกัคคตา

สุ. เจตนาเป็นสภาพจงใจ ตั้งใจ สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ ไม่หลงลืม เกิดร่วมกัน เวลาไม่ให้มีเจตนาเจตสิกไหม

. มี

สุ. เพราะฉะนั้น เวลาให้ต่างกับเวลาที่ไม่ให้ ใช่ไหม ซึ่งเจตนาเกิดทั้ง ในขณะที่ให้และไม่ให้ แต่ในขณะที่ให้ซึ่งเป็นกุศล เพราะสติที่เป็นโสภณธรรมเกิด จึงระลึกในการที่จะให้

. ถ้าอย่างนั้น สติขั้นทานต้องคนละตัวกับสติที่เป็นสติปัฏฐาน

สุ. แน่นอน สติปัฏฐานเป็นการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่ไม่ใช่โลกุตตระ ยังเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ทางทวารต่างๆ แล้วแต่ว่าจะระลึกทางตา หรือว่าระลึกทางหู ระลึกทางจมูก ระลึกทางลิ้น ระลึกทางกาย ระลึกทางใจ ระลึกในพระพุทธคุณ หรือในพระธรรมคุณ หรือในพระสังฆคุณ

. ในโสภณเจตสิก สติมีอย่างเดียว ถ้ามีสติขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นที่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ผมยังไม่เข้าใจว่าจะแตกต่างกันอย่างไร แยกออกมาอย่างไร

สุ. ในขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนหรือเปล่า

, เปล่า

สุ. ขณะนั้นก็เป็นสติที่เป็นไปในทาน

. ถ้าอย่างนี้ก็เข้าใจ แต่ยังแยกไม่ออกว่าจะเป็น ๒ อย่างได้อย่างไร เพราะเข้าใจว่ามีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ สติเจตสิก

สุ. สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ และสติดับ และสติสามารถระลึกถึงอะไรก็ได้ทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นสติปัฏฐานได้ถ้าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าสติปัฏฐานเป็นสติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

ส่วนมากเวลาให้ทานเป็นเราให้ เพราะฉะนั้น ไม่ได้รู้ว่าในขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสติที่เกิดระลึกเป็นไปในทาน แล้วแต่ว่าจะให้อะไร ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสติที่กำลังระลึกที่จะให้ขณะหนึ่ง และถ้าในขณะที่กำลังให้ทานสติปัฏฐานเกิด รู้ว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เราที่กำลังให้ทาน ก็สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังให้ทานไม่ใช่เรา เป็นสตินั่นเอง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

. ขณะที่ปฏิสนธิเกิดขึ้นในครรภ์ กลละจะเกิดขึ้นทันทีหรือเปล่า

สุ. กลละเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตจะมีกลุ่มของรูป ๓ กลุ่ม เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน

. เกิดขึ้นในช่วงไหนของสตรี หมายความว่าหลังจากที่ปฏิสนธิ

สุ. พร้อมกันกับปฏิสนธิจิต ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมี ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ กัมมชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต แสดงว่าทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด กัมมชรูปก็เกิดพร้อมกัน เพราะว่า ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องเกิดที่วัตถุทสกรูป ต้องอาศัยรูปเกิดขึ้น จะเกิดต่างหากแยกจากรูปไม่ได้ นี่เป็นเหตุที่เวลานี้จิตของทุกคนต้องอาศัยรูปในร่างกาย แต่ละรูปเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นขณะเห็น หรือขณะได้ยิน ขณะคิดนึก

สำหรับอายตนะภายในทรงแสดงจักขายตนะและโสตายตนะก่อน เพราะว่า มีอุปการะมาก โดยที่เป็นเหตุแห่งทัสสนานุตตริยะและสวนานุตตริยะ ได้แก่ การเห็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม และการฟังสิ่งที่ยอดเยี่ยม

ต่อจากนั้นทรงแสดงอายตนะ ๓ คือ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ และทรงแสดงมนายตนะในอันดับสุดท้าย เพราะว่าใจมีอารมณ์ของอายตนะทั้ง ๕ เป็นต้น เป็นอารมณ์ เพราะไม่ว่าทางตาจะมีการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรับรู้สีต่อจากทางจักขุทวาร หรือทางหู โสตทวารวิถีจิต เกิดขึ้นมีเสียงเป็นอารมณ์ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้เสียงต่อจากทางโสตทวารวิถี ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงมนายตนะในอันดับสุดท้าย เพราะว่าใจมีอารมณ์ของอายตนะทั้ง ๕ เป็นต้น เป็นอารมณ์

สำหรับการพิจารณาชีวิตประจำวัน วิบากจิตที่เกิดขึ้นรับผลของกรรมที่ ทรงแสดงไว้อันดับแรก คือ ทางตา ลักษณะของจักขุปสาทซึ่งเป็นจักขายตนะ คือ

จักขุ มีปสาทอันเป็นที่ควรกระทบของรูปเป็นลักษณะ

เป็นการแสดงลักษณะของสิ่งที่มีอยู่ในตัวนี้เอง ซึ่งชี้ชัดถึงลักษณะที่ต่างกันของแต่ละรูปว่า สำหรับรูปซึ่งเป็นจักขุปสาทนั้น มีปสาทอันเป็นที่ควรกระทบของรูป เป็นลักษณะ

หรือ มีปสาทอันเป็นสภาพธรรมที่มีกรรมอันเกิดแต่เหตุคือความเป็นผู้ใคร่ จะเห็นเป็นสมุฏฐาน เป็นลักษณะ

ตราบใดที่ทุกคนยังต้องการเห็นอยู่ และมีการกระทำทางกาย ไม่ว่าจะเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมซึ่งยังสืบเนื่องกับการที่ต้องการจะเห็น ยังไม่ใช่กรรมที่ทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ก็จะต้องมีปสาท อันเป็นสภาพธรรมที่มีกรรมอันเกิดแต่เหตุ คือความเป็นผู้ใคร่จะเห็นเป็นสมุฏฐาน เป็นลักษณะ

มีการชักวิญญาณมาที่รูปทั้งหลายเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

คือ เป็นปัจจัยให้จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ ในขณะนี้เอง เป็นกิจของ จักขุปสาท

มีความเป็นที่รองรับจักขุวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

คือ เป็นที่เกิดของจิตเห็น ฉะนั้น รู้ได้เลยว่าจิตเห็นเกิดที่ไหน ไม่ใช่ข้างหลัง ไม่ใช่บนศีรษะ ไม่ใช่ข้างล่าง แต่ที่จักขุปสาทนี่เอง

มีภูตเกิดแต่กรรม อันเกิดแต่เหตุคือความเป็นผู้ใคร่จะเห็นเป็นปทัฏฐาน

นี่คือ ลักษณะของจักขุปสาท

เปิด  216
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565