แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1445

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘


ข้อสำคัญ คือ แม้ว่ากลุ่มของรูปแต่ละกลุ่มที่ตัวของแต่ละคนจะทยอยกันเกิด และทยอยกันดับไปทุกๆ ๑๗ ขณะของจิต ก็ไม่มีใครรู้เลย เพราะว่าการเกิดขึ้นและ ดับไปของรูปนั้นๆ ไม่ปรากฏ ขณะนี้ที่ตัว มีใครรู้ไหมว่า กลุ่มรูปกลุ่มไหนกำลังเกิด และหลังจากนั้น ๑๗ ขณะจิตก็ดับไป

นี่เป็นความจริง และไม่รู้ด้วยว่า ต่อไปรูปกลุ่มอื่นจะเกิดเมื่อไร และจะดับไป อีกเมื่อไร เพราะว่าการเกิดดับของรูปเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นไปโดยไม่ขาดสาย ตั้งแต่เกิด คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ กลุ่มของรูปก็ทยอยกันเกิดทยอยกันดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ดับไปเลย

ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ปรากฏว่าดับ และขณะไหนๆ ซึ่งสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็จะไม่ปรากฏว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ดับ ทั้งๆ ที่มีอายุ ที่สั้นมากเพียงแค่การเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ

เพราะฉะนั้น จะอาศัยเพียงความเปลี่ยนแปลงสภาพของรูปนั้นๆ เท่านั้น ที่จะทำให้พอปรากฏให้รู้ได้ว่ารูปนั้นเปลี่ยนไปคือดับไป ก็เป็นเพียงการคิด หรือ การคาดคะเน แต่ไม่ใช่เป็นการประจักษ์การเกิดดับจริงๆ ของรูป

เมื่อรูปกำลังปรากฏ โดยเฉพาะทางตาในขณะนี้ แต่เมื่อมีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดในรูปที่กำลังปรากฏ ก็ควรที่จะศึกษาเรื่องรูปที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ จึงจะเข้าใจลักษณะที่แท้จริงของรูปแต่ละรูป และสามารถอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์ในสภาพธรรมของรูปทั้งหลายที่เป็นอนัตตาจริงๆ คือ ไม่ใช่สิ่งใดเลยนอกจากสภาพของรูป ซึ่งแต่ละรูปไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป มิฉะนั้นแล้วรูปที่กำลังปรากฏอยู่ทางตาแท้ๆ ในขณะนี้ จะไม่ประจักษ์เลยว่า เป็นอนัตตา ก็ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตาบ่อยๆ เนืองๆ

ในบรรดารูปทั้งหมดที่มีใจครองและรูปที่ไม่มีใจครองนั้น ความยึดมั่นผูกพัน ในรูปที่มีใจครอง ย่อมเหนียวแน่นกว่าในรูปที่ไม่มีใจครอง และความยึดมั่นในรูปที่มี ใจครองที่เป็นภายใน คือ ที่เป็นของตน ย่อมมีมากกว่ารูปภายนอกอื่นๆ ทั้งสิ้น

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ยมกวรรคที่ ๒ อรรถกถาสัมโพธสูตรที่ ๑ และสัมโพธสูตรที่ ๒ แสดงเหตุที่จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมโน เป็นอายตนะภายใน ข้อความมีว่า

บทว่า อัชฌัตติกานัง ได้แก่ ชื่อว่าอัชฌัตติกะ โดยที่เป็นภายใน

ภายใน คือ อัชฌัตติกะ ภายนอก คือ พหิทธะ เพราะฉะนั้น มีทั้งรูปที่ เป็นภายนอก เป็นพหิทธรูป และเป็นอัชฌัตติกรูป คือ รูปภายในที่ใจครอง ที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา

ก็ความที่อายตนะเหล่านั้นเป็นภายใน

จักขุที่ทุกคนมีในขณะที่เห็น โสตะที่ทุกคนมีในขณะที่ได้ยินเสียง เป็นภายใน

ก็ความที่อายตนะเหล่านั้นเป็นภายใน พึงทราบได้ก็เพราะฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจมีกำลังเกินประมาณ

นี่คือการพิจารณาเทียบเคียงรูป ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอก ให้รู้ว่าแม้แต่รูปที่มีจริงทั้งภายในภายนอก แต่ความสำคัญความยึดถือในรูปแต่ละรูปก็ยังต่างกัน โดยการที่ยึดถือรูปภายใน ผูกพันรูปภายใน เพราะฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจมีกำลังเกินประมาณ

นี่เป็นความจริง ใช่ไหม ทุกคนรักรูปไหนมาก มีรูปกันทุกคน รักรูปไหน ก็ รักรูปภายในที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความรักความพอใจ ในตา ในหู ในจมูก ในลิ้น ในกาย ถ้าไม่กล่าวถึงก็ไม่รู้สึกตัวเลยว่ามากมายสัก แค่ไหนที่มีความพอใจในรูปที่ยึดครองว่าเป็นของเรา ไม่อยากจะให้รูปหนึ่งรูปใดสูญเสียขาดไปเลย หรือแม้แต่จะพิการสักเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย ทั้งหมด นี่คือความกำหนัด หรือฉันทราคะ พอใจในรูปภายใน มีกำลังมาก จึงชื่อว่ารูปภายใน

ข้อความต่อไป อุปมาว่า

จริงอยู่ อายตนะภายในเหมือนภายในเรือนของพวกมนุษย์ อายตนะภายนอก เหมือนอุปจารใกล้ๆ เรือน

ทุกคนมีบ้าน ทำไมต้องมีบ้าน เมื่อมีบ้านแล้ว รักบ้านแค่ไหน ในบ้านมีสมบัติทุกชิ้นที่หวงแหน ของที่หวงจะไม่อยู่นอกบ้าน ทุกอย่างที่หวงแหนต้องเก็บไว้ในบ้าน เช่น บุตร ภรรยา ทรัพย์ ข้าวเปลือก และเมื่อเป็นบ้านของแต่ละคนก็จะไม่ยอมให้ คนอื่นเข้าไปในบ้านของเรา นี่คือความพอใจอย่างยิ่งในสมบัติภายใน อาจจะให้เข้าไปในบางส่วนของบ้าน แต่คงจะไม่ให้เข้าไปถึงในห้องเก็บสมบัติเป็นต้น เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ความรัก ความหวงแหน ความพอใจมีมากในรูปซึ่งเป็นภายใน ซึ่ง ถ้าจะเปรียบเทียบกับสมบัติในบ้านแล้ว หวงแม้เสียงถ้วยชามช้อนส้อมกระทบกัน ไม่อยากให้ใครได้ยิน ไม่อยากให้ใครเอาไปใช้ เพราะว่าเวลาเอาไปใช้ ช้อนส้อมก็ต้องกระทบกันถ้าใช้

นี่คือความหวงแหนแม้แต่สิ่งที่อยู่ในบ้านซึ่งเป็นสมบัติภายนอก ก็ยังหวงอย่างนี้ คือ หวงมากกว่าสิ่งอื่นที่อยู่นอกบ้าน เพราะฉะนั้น อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะหวงแหน จะผูกพันสักแค่ไหน ไม่มีใครบอกได้ ใช่ไหม เพราะว่าชินกับความหวงในอายตนะเหล่านี้

ฉันทราคะมีกำลังเกินประมาณในอายตนะภายใน ๖ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อายตนะเหล่านั้นท่านเรียกว่า ภายใน เพราะฉันทราคะมีกำลังด้วยประการฉะนี้ แต่ในอุปจาระใกล้ๆ เรือน ไม่มีกำลังอย่างนั้น

มนุษย์ก็ดี สัตว์สี่เท้าก็ดี ที่เที่ยวไปในที่นั้น

คือ บริเวณใกล้บ้าน หรือบริเวณรอบๆ บ้าน ไม่ใช่ในบ้านจริงๆ

ไม่มีใครห้ามเลย แม้จะไม่ห้ามก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่อไม่ปรารถนา ก็ไม่ให้จับแม้เพียงตะกร้าขนดิน

เทียบส่วนของความติดความพอใจในรูปว่า ห่างออกไปหน่อยแล้ว คือ ข้างนอกบ้าน ไม่ใช่ข้างในบ้าน ไม่หวงเท่ากับของในบ้านแน่ เพราะเอาไว้นอกบ้านได้ แต่ถึงกระนั้น ถ้าไม่ชอบ ก็ย่อมไม่ให้ใครจับแม้เพียงตะกร้าขนดินที่อยู่ข้างนอกบ้าน

เป็นชีวิตประจำวันที่จะเทียบเคียงให้เห็นความยึดมั่นความติดในรูปที่เกิดดับว่าเป็นของเรา ซึ่งมีกำลังมาก คือ ที่อายตนะภายใน ส่วนรูปอื่นๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นสมบัติภายนอกต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมีความพอใจหวงแหนมาก สักเท่าไร ก็ยังเทียบไม่ได้กับความยึดมั่นในอายตนะภายใน

ยังหวงรูปอยู่ ทั้งภายนอกและภายใน ใช่ไหม เป็นของธรรมดา เมื่อไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่จะให้ไม่รู้สึกยึดมั่นหวงแหนย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต่อเมื่อใดเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น และสามารถอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเป็นขั้นๆ ความพอใจ หวงแหนในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะลดคลายลง จนกระทั่งดับได้เป็นสมุจเฉท

สำหรับรูปภายในที่ทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ เป็นตัวตนของเรา เป็นรูปที่มีชีวิต ซึ่งต่างกับรูปที่ไม่มีชีวิต แม้ว่ารูปก็คือรูปนั่นเอง แต่มีสมุฏฐานที่เกิดต่างๆ กัน จึงทำให้เป็นรูปที่ปรากฏลักษณะที่ต่างกันด้วย

ถ้าเป็นเพียงรูปที่เกิดจากอุตุที่เป็นสมุฏฐานภายนอก จะไม่ใช่รูปที่มีชีวิต แต่รูปภายในของแต่ละคนที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น เป็นรูปที่มีชีวิต ซึ่งต่างกับรูปที่ไม่มีชีวิต เพราะว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายต้องเกิดจากกรรม

มีหลายคนที่กำลังมีความทุกข์และบอกว่า ไม่อยากจะเกิดเป็นคนอีก ไม่อยากจะมีจิต เกิดเป็นต้นไม้ใบหญ้าก็ดีจะได้พ้นทุกข์ แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าธาตุรู้ สภาพรู้ เมื่อเกิดแล้วย่อมดับตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครยับยั้ง ไม่ให้จิตที่ดับไปแล้วนั้นเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดอีกได้

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเบื่อด้วยความทุกข์ต่างๆ ในชีวิต ในโลกก็จริง แต่ก็ ไม่สามารถดับความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ จะไปเกิดเป็นต้นไม้ใบหญ้า เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายต้องเกิดจากกรรม จึงทำให้ปรากฏว่า เป็นรูปที่มีชีวิต

. สัณฐานของวัตถุที่ปรากฏทางตา เป็นรูปารมณ์หรือเปล่า

สุ. จำกัดความได้อย่างนี้ว่า สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อเรียกเลย ก็เป็นสิ่งที่มีจริง แต่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำว่า รูปารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา

. เวลาสีปรากฏ จิตจะรวมสีที่ปรากฏนั้นเป็นสัณฐาน และบัญญัติสัณฐานนั้นว่า กลม หรือแบน ขณะที่สัณฐานปรากฏ ขณะนั้นรูปดับไปหรือยัง หรือว่าดับไปแล้ว เพราะว่าเลย ๑๗ ขณะ

สุ. ถ้าคิดถึง ๑๗ ขณะ จะเห็นว่าเร็วมาก เพราะการที่สัณฐานจะปรากฏ ให้รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องทางมโนทวารซึ่งสืบเนื่องกับทางจักขุทวาร ถ้าทางตา ไม่เห็นเลย ที่จะเห็นเป็นสัณฐานและรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อทางตาเห็นแล้ว สัญญาความจำรูปร่างสัณฐานเกิดขึ้นจึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็เกิน ๑๗ ขณะ

. เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้สัณฐาน แต่ยังไม่ได้บัญญัติสัณฐานว่าเป็นอะไร ขณะนั้นก็ไม่ใช่จักขุวิญญาณแล้ว เพราะจักขุวิญญาณรู้ได้แต่สีอย่างเดียว

สุ. จักขุวิญญาณเห็น ที่กำลังได้ยินเสียงนี่ก็ไม่ใช่จักขุวิญญาณ เป็น โสตวิญญาณ ทั้งๆ ที่ทางตาก็ดูเหมือนไม่ได้ดับเลย เพราะฉะนั้น ๑๗ ขณะรวดเร็ว แค่ไหนกว่าจะปรากฏสัณฐานเป็นคน และยังมีการเคลื่อนไหวต่างๆ ขอให้คิดดูว่า ความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตและรูปนี่มาก

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติในขณะที่มีการเห็น ซึ่งจะต้องระลึกเพื่อรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาแท้ๆ จริงๆ เป็นอนัตตานั้น คือ ไม่ใช่สิ่งใดเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งกระทบจักขุปสาทได้ และต้องไม่คิดถึงเรื่องราวทั้งหมด

สิ่งที่มีชีวิต ต้องเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน บางคนอาจจะบอกว่า ต้นไม้ เป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่ใครรู้ว่า ต้นไม้เกิดจากกรรมอะไร เมื่อไม่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน จะมีชีวิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงรูปที่เกิดจากอุตุเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีอุตุและ เหตุปัจจัยที่เหมาะสม ต้นไม้ก็เจริญเติบโตไม่ได้ แต่สำหรับสิ่งที่มีชีวิต มีรูปหลายรูปที่เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ทำให้ปรากฏเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย ทางตา

การที่จะปรากฏให้เห็นว่ารูปใดมีชีวิตและรูปใดไม่มีชีวิตนั้น ก็เพราะมีรูปๆ หนึ่ง คือ ชีวิตรูป หรือชีวิตินทริยรูป ซึ่งเป็นอินทรีย์ เป็นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานทำให้ กลุ่มของรูปที่มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยเป็นสภาพของรูปที่มีชีวิต มิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีความต่างกันเลยระหว่างรูปที่มีชีวิตกับรูปที่ไม่มีชีวิต เพราะต่างก็เป็น มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๔ ด้วยกัน แต่กลุ่มของมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๔ คือ อวินิพโภครูป ๘ ที่ไม่มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยนั้น ต่างกับอวินิพโภครูป ๘ ที่มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น ชีวิตินทริยรูป เป็นรูปหนึ่งในรูป ๒๘ รูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ซึ่งทำให้มองเห็นได้โดยมีสัญญาความจำจากสีสันวัณณะที่ปรากฏรู้ว่า รูปใดมีชีวิต รูปใดไม่มีชีวิต ถ้ารูปใดที่ขาดชีวิตินทริยรูป รูปนั้นจะเป็นรูปที่ไม่มีชีวิต

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ พระบาลีชีวิตินทริยนิทเทส ข้อ ๖๓๔ มีข้อความว่า

รูปที่เรียกว่าชีวิตินทริยะนั้น เป็นไฉน คือ อายุ ความดำรงอยู่ ความเป็นไป กิริยาที่เป็นไปอยู่ อาการที่สืบเนื่องกันอยู่ ความประพฤติเป็นไปอยู่ ความหล่อเลี้ยงอยู่ ชีวิต อินทริยะคือชีวิตของรูปธรรมนั้นๆ อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า ชีวิตินทริยะ

แสดงให้เห็นว่า รูปที่มีชีวิตต้องเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้น รูปกลุ่มใดที่เกิดจากกรรม รูปนั้นต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยอีกรูปหนึ่ง เพิ่มจาก อวินิพโภครูป ๘

นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนมี และอาจจะรู้ว่า สิ่งนั้นมีชีวิต สิ่งนี้มีชีวิต แต่ไม่รู้ว่า ที่สิ่งนี้ มีชีวิตหรือปรากฏว่าเป็นรูปที่มีชีวิตนั้น เพราะอะไร แต่ถ้าศึกษาจะทราบได้ว่า เพราะในกลุ่มเล็กๆ แต่ละกลุ่มนั้นของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ มีชีวิตินทริยรูปรวมอยู่ใน กลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย

ลักษณะของชีวิตินทริยรูป คือ

สหชาตรูปานุปาลนลักขณัง มีการรักษารูปที่เกิดร่วมกันเป็นลักษณะ

เตสัง ปวัตตนรสัง มีความเป็นไปของรูปธรรมนั้นๆ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

เตสังเยว ฐปนปัจจุปัฏฐานัง มีความดำรงอยู่ของรูปธรรมนั้นๆ แหละ เป็นปัจจุปัฏฐาน

ยาปยิตัพพภูตปทัฏฐานัง มีภูตรูปอันจะพึงยังรูปธรรมนั้นๆ ให้ไปเป็นปทัฏฐานคือ ต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔ เกิด

รูปใดๆ ก็ตาม ที่นอกจากมหาภูตรูป ๔ ต้องเป็นอุปาทายรูป คือ ต้องอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป เมื่อมหาภูตรูปมี รูปนั้นๆ จึงมีได้ แม้ชีวิตินทริยรูปก็ต้องอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานที่ปรากฏอยู่ทั่วไปต้องเป็นมหาภูตรูป ๔ ส่วนรูปอื่นๆ นอกจากนั้น เป็นอุปาทายรูป

สำหรับอสัญญสัตตาพรหม ซึ่งเป็นพรหมที่มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ไม่เหมือนอย่างพวกมนุษย์ คือ ไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท เพราะถ้ามีจักขุปสาทต้องเป็นปัจจัยให้มีการเห็น ถ้ามีโสตปสาทต้องเป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยิน แต่เมื่ออสัญญสัตตาพรหมบุคคลเป็น รูปปฏิสนธิ ไม่มีจิตเจตสิก ไม่มีนามธรรมใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ในขณะปฏิสนธิ อสัญญสัตตาพรหมจะมีกลุ่มของรูปที่เป็นอวินิพโภครูป ๘ ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย รวมชีวิตินทริยรูปอีก ๑ รูป ชื่อว่าชีวิตนวกกลาป ซึ่งทำให้เป็นพรหมบุคคล ไม่ใช่ เป็นรูปที่เกิดจากอุตุเหมือนอย่างต้นไม้ใบหญ้า นี่คือความต่างกันที่จะแสดงให้เห็นว่า ลักษณะของชีวิตินทริยรูปเป็นอย่างไร คือ ทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่ต่างจากรูปอื่นที่ไม่ได้เกิดจากกรรม และดำรงอยู่โดยมีกรรมเป็นสมุฏฐาน แม้จะไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท

ดูสบายดีไหม ไม่เห็น ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะเห็น หรืออยากจะเห็น ไม่ต้องขวนขวายเพื่อที่จะเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ไม่ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ต้องคิดนึก แต่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา เพราะว่าอสัญญสัตตาพรหมไม่มี จิตเจตสิกเกิด

แต่ถ้าเป็นมนุษย์ มีตา และสามารถรู้ความจริงของตา ในขณะที่กำลังเห็น ก็รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ในขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ก็สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ เพราะฉะนั้น คนที่จะอบรมเจริญปัญญา จึงไม่ปรารถนาจะเป็นอสัญญสัตตาพรหม

เปิด  223
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565