แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1446

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘


เวลาที่จักขุปสาทรูปเกิดขึ้น ทราบได้แล้วใช่ไหมว่า ในกลุ่มของรูปที่มี จักขุปสาทรูปนั้น มีรูปกี่รูป

ก็ต้องมี ๑๐ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และอีก ๔ รูปซึ่งแยกออกจากมหาภูตรูป ๔ ไม่ได้ คือ สี กลิ่น รส โอชา และจักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรม และต้องมีชีวิตินทริยรูปรวมอยู่ด้วยอีกหนึ่งรูป จึงรวมเป็น ๑๐ รูป ชื่อว่าจักขุทสกกลาป

ขณะที่ได้ยินเสียง จักขุทสกกลาปก็เกิดและดับเพราะกรรมเป็นปัจจัย โดยที่ ไม่รู้เลย เพราะว่าขณะนั้นกำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ถ้าทางตาเห็นก็ไม่รู้เรื่องของทางหู เวลาที่ทางหูได้ยินก็ไม่รู้เรื่องของตาที่เห็น เพราะว่าสภาพของจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั้น รู้ได้อารมณ์เดียวทางทวารหนึ่งๆ ไม่ใช่ปะปนกัน

เพราะฉะนั้น การเข้าใจเรื่องของรูป จะทำให้สติเกิดและระลึกลักษณะของ รูปนั้น เช่น ถ้ารู้ว่าในขณะที่เสียงปรากฏ จักขุปสาทรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมก็ดับไปแล้วและไม่ปรากฏ เพราะว่าในขณะนั้นกำลังได้ยิน ถ้ารู้อย่างนี้ สติจะระลึกที่เสียง หรือระลึกที่สภาพที่กำลังได้ยินคือรู้เสียง จะไม่สนใจในรูปอื่น ทำให้การมีเราที่กำลังได้ยิน หรือมีตัวตนทั้งแท่งของเราที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้และได้ยิน จะหมดไป

แต่การหมดไปนี่ช้ามาก เพราะความทรงจำว่ามีเรา หรือตัวเราที่กำลังนั่ง หรือกำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน เป็นสัญญาความจำที่เป็นอัตตสัญญา ยังจำไว้ว่ามี แม้ว่าในขณะนั้นรูปนั้นเกิดและดับไป เกิดและดับไป โดยไม่ปรากฏเลย

จริงๆ แล้ว เฉพาะรูปใดที่ปรากฏ รูปนั้นยังไม่ดับ แต่รูปอื่นก็เกิดดับโดยที่ ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้น จะทำให้ถ่ายถอนการจดจำ ทรงจำไว้ว่าเป็นเรากำลังนั่งและได้ยินออก ให้ไม่มีเราที่นั่ง จึงจะเป็นการเพิกอิริยาบถ มีแต่ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ และมีเสียงที่กำลังปรากฏเท่านั้น และหมดไป แล้วแต่ว่าสติจะระลึกสภาพที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

เพียงชั่วขณะนิดเดียวเท่านั้นเอง สิ่งที่ผ่านไปก็หมดแล้ว หมดจริงๆ ไม่ต้องคิดถึงอีกเลย ถ้าเป็นไปได้ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม คือ เฉพาะที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่มีสภาพธรรมอื่นมาทรงจำไว้เลย ความเป็นตัวตนจะค่อยๆ หายไปได้ แต่ถ้าไม่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพร้อมสติที่ระลึกทีละลักษณะ ความทรงจำว่ายังมีสิ่งนั้นอยู่สิ่งนี้อยู่ ก็ย่อมจะเป็นอัตตสัญญา

อย่างที่ดิฉันเคยเรียนถามเสมอว่า ขณะนี้ฟันมีไหม ขณะที่กำลังเห็น ฟันมีไหม ถ้าบอกว่ายังมีอยู่ อัตตสัญญาก็ทรงจำไว้ว่ายังมี แต่จริงๆ แล้ว ในขณะที่กำลังเห็น ฟันอยู่ที่ไหน ถ้าไม่คิดถึงจะมีไหม เท้าอยู่ที่ไหน แขนอยู่ที่ไหน มืออยู่ที่ไหน ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงเท่านั้นที่ปรากฏ อย่างอื่นไม่มี

สำหรับกลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรม ที่ทำให้รูปของบุคคลที่มีชีวิตต่างกับรูปที่ ไม่มีชีวิตนั้น นอกจากกลุ่มของจักขุปสาทรูป ๑๐ รูป คือ จักขุทสกะ กลุ่มของ โสตปสาทรูป ๑๐ รูป คือ โสตทสกะ กลุ่มของฆานปสาทรูป ๑๐ รูป คือ ฆานทสกะ กลุ่มของชิวหาปสาทรูป ๑๐ รูป คือ ชิวหาทสกะ กลุ่มของกายปสาทรูป ๑๐ รูป คือ กายทสกะ กลุ่มของหทยะซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ๑๐ รูป คือ หทยทสกะ นอกจาก ๖ กลุ่มนี้แล้ว ยังมีกลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมที่ทำให้ปรากฏสภาพที่เป็นหญิงและสภาพที่เป็นชาย คือ อิตถีภาวรูป ๑ และปุริสภาวรูป ๑

เฉพาะจักขุปสาทเท่านั้น จะปรากฏว่าเป็นหญิงเป็นชายไม่ได้ ทุกคนทั้งหญิงและชายมีจักขุปสาทรูปเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้ามีเพียงจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป สภาพความเป็นหญิงชายจะปรากฏไม่ได้ เพราะว่าจักขุผู้ชายก็มี แต่อิตถีภาวะ ผู้ชายไม่มี จักขุผู้หญิงก็มี แต่ปุริสภาวะ ผู้หญิงไม่มี

เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรม นอกจากกลุ่มของรูปที่เป็นจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป หทยรูป ยังต้องมี ภาวรูปอีก ๒ คือ อิตถีภาวรูป ๑ และปุริสภาวรูป ๑ ซึ่งในบุคคลหนึ่งจะมีเฉพาะ อิตถีภาวะหรือปุริสภาวะเท่านั้น คือ ถ้าเป็นหญิง ก็มีอิตถีภาวรูปที่เกิดจากกรรม ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัวทำให้ปรากฏรูปร่างสัณฐานที่ทำให้รู้ได้ว่าเป็นอาการของอิตถีภาวรูป ถ้าเป็นปุริสภาวรูป ก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วตัวที่ทำให้ปรากฏเป็นลักษณะของเพศชาย หรือปรากฏความเป็นชาย

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ พระบาลีอิตถินทริยนิทเทส ข้อ ๖๓๒ มีข้อความว่า

คำว่าทรวดทรง ได้แก่ สัณฐาน ด้วยว่าสัณฐานแห่งอวัยวะ มีมือ เท้า คอ และอกเป็นต้นของหญิง ไม่เหมือนอย่างของชาย เพราะกายท่อนล่างของหญิงทั้งหลายล่ำสัน กายท่อนบนไม่ล่ำสัน มือเท้าก็เล็ก ปากก็เล็ก

คำว่า เครื่องหมายรู้ คือ เป็นเหตุให้รู้ได้ ด้วยว่าเนื้ออกของหญิงทั้งหลาย ไม่ล่ำสัน ปากก็ไม่มีหนวดเครา แม้การผูกผ้ารัดผมก็ไม่เหมือนของชาย

ถ้าหลับตาจะไม่เห็นเลยว่าหญิงหรือชาย แต่เพราะอิตถีภาวรูปซึมซาบอยู่ ทั่วทั้งตัวเป็นเหตุให้มีทรวดทรงสัณฐานปรากฏทำให้รู้อิตถีภาวะได้ ว่าเป็นเพศหญิง ไม่ใช่เพศชาย

คำว่า กิริยา คือ ธรรมชาติที่พึงกระทำ ด้วยว่าหญิงทั้งหลายเวลาเป็นเด็กชอบเล่นกระด้งเล็กๆ และสากเล็กๆ ชอบเล่นตุ๊กตางามๆ เอาดินเหนียว และปอมากรอเป็นเส้นด้ายเล็กๆ

คำว่า อาการ ได้แก่ อาการเดินเป็นต้น ด้วยว่าหญิงทั้งหลายเมื่อเดิน ก็เดินไม่อาจหาญ เมื่อยืน นอน นั่ง เคี้ยว กิน ก็ยืน นอน นั่ง เคี้ยว กิน ไม่อาจหาญ

จริงอยู่ คนทั้งหลายเห็นแม้ชายไม่อาจหาญก็ยังพูดว่า เดิน ยืน นอน นั่ง เคี้ยว กิน เหมือนมาตุคาม คือ เหมือนหญิง

คำว่า สภาพหญิง ภาวะหญิง ทั้ง ๒ มีความหมายอย่างเดียวกัน ความว่า ได้แก่ สภาวะหญิง สภาวะของหญิงนี้เกิดแต่กรรมตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาล ส่วนทรวดทรงหญิงเป็นต้น อาศัยอิตถินทรีย์ตั้งขึ้นในปวัตติกาล

ในขณะปฏิสนธิมีกลุ่มของรูป ๓ กลุ่ม สำหรับผู้ที่เกิดในครรภ์มารดา คือ หทยทสกะ เป็นรูปที่เกิดของปฏิสนธิจิต ๑ กลุ่ม กายทสกะ คือ ส่วนที่เป็น กายปสาทรูป ๑ กลุ่ม และภาวทสกะ ๑ กลุ่ม ทั้ง ๓ กลุ่มนี้เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต แต่ขณะนั้นทรวดทรงหญิงยังไม่มี แต่อิตถีภาวรูป คือ ภาวทสกะเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตแล้ว

เพราะฉะนั้น ในปวัตติกาล เมื่อเจริญเติบโตขึ้น จึงปรากฏทรวดทรงหรืออาการของหญิง เพราะอิตถีภาวรูปซึมซาบอยู่ตลอดทั้งตัว ไม่ว่าจะดูส่วนไหน ถ้าให้ดูแขน ก็รู้ว่านี่แขนหญิงหรือแขนชายเป็นต้น เพราะอิตถีภาวรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว

การที่อิตถีภาวรูปเกิดพร้อมปฏิสนธิ แต่ว่าทรวดทรงยังไม่ปรากฏนั้น มีข้อความอุปมาว่า

อุปมาเหมือนอย่างว่า เมื่อพืชมีอยู่ ต้นไม้ได้อาศัยพืช เพราะพืชเป็นปัจจัยจึงเติบโตสมบูรณ์ด้วยกิ่งและคาคบตั้งอยู่เต็มอากาศ ฉันใด เมื่ออิตถินทรีย์ กล่าวคือภาวะหญิงมีอยู่ ย่อมปรากฏทรวดทรงแห่งหญิงเป็นต้น เหมือนฉันนั้น

เวลามีเมล็ดพืช ยังไม่เห็นกิ่งก้านของต้นพืชนั้นเลย แต่อาศัยพืชที่มีอยู่ ก็เจริญเติบโตขึ้นโดยมีพืชเป็นปัจจัย จึงมีกิ่งและใบดอกตั้งอยู่เต็มอากาศ ฉันใด เมื่ออิตถินทรีย์กล่าวคือภาวะหญิงมีอยู่ ย่อมปรากฏทรวดทรงแห่งหญิงเป็นต้น เหมือนฉันนั้น ในปวัตติกาลหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ต้องมีการเจริญเติบโตขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็อิตถินทรีย์เปรียบเหมือนพืช อาศัยอิตถินทรีย์ทรวดทรงหญิงเป็นต้นจึงตั้งขึ้นในปวัตติกาล เปรียบเหมือนอาศัยพืชต้นไม้จึงเติบโตตั้งอยู่เต็มอากาศ

ในบรรดาธรรมชาติเหล่านั้น อิตถินทรีย์ไม่ใช่เป็นสิ่งอันจักขุจะพึงรู้ได้ อัน มโนพึงรู้ได้อย่างเดียว ทรวดทรงหญิงเป็นต้นแม้อันจักขุก็พึงรู้ได้ แม้อันมโนก็พึงรู้ได้

ไม่มีใครสามารถเห็นอิตถีภาวรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วตัวได้ แต่ว่ามโน คือ จิต ที่เกิดขึ้นนึกคิดทางใจ สามารถรู้ในอาการและทรวดทรงที่ปรากฏได้ว่า นี่เป็นลักษณะของอิตถีภาวรูป

อิตถีภาวรูปไม่ใช่รูปหยาบ เป็นรูปละเอียด ไม่ใช่รูปใกล้ เป็นรูปไกล เพราะว่าแทงตลอดหรือประจักษ์ได้โดยยาก ใครว่าอิตถีภาวรูปหรือปุริสภาวรูปรู้ง่ายบ้าง

เคยเห็นตุ๊กตาผู้หญิง ตุ๊กตาผู้ชาย รู้ง่ายไหม แต่นั่นไม่ใช่อิตถีภาวรูป เพราะว่าตุ๊กตาหญิง ตุ๊กตาชายไม่มีภาวรูป ไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่เมื่อเห็น ทุกคนก็รู้ว่านี่ตุ๊กตาหญิงหรือตุ๊กตาชาย ตุ๊กตาเด็กๆ ก็ยังรู้ว่านี่เป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย โดยที่ไม่มีภาวรูปเลย แสดงให้เห็นว่า ภาวรูปจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้ง่าย เพราะว่าไม่ใช่รูปหยาบ แต่สัญญาความจำในสิ่งซึ่งเป็นทรวดทรงของอิตถีภาวรูปหรือ ปุริสภาวรูปมี จึงทำให้จำแม้จนกระทั่งไม่ใช่อิตถีภาวรูปเลย เป็นแต่เพียงตุ๊กตาเท่านั้นก็ยังเห็นว่าเป็นตุ๊กตาหญิงหรือว่าตุ๊กตาชาย โดยทรวดทรง ลักษณะ อาการ หรืออาจจะเป็นเครื่องแต่งตัวก็ได้

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ พระบาลีปุริสินทริยนิทเทส ข้อ ๖๓๓ แสดงลักษณะของเพศชาย คือ ปุริสินทรีย์ ข้อความมีว่า

แม้ในปุริสินทรีย์ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน ส่วนทรวดทรงชายเป็นต้น พึงทราบโดยตรงกันข้ามกับทรวดทรงหญิงเป็นต้น เพราะสัณฐานแห่งอวัยวะมีมือ เท้า และอก เป็นต้นของชายไม่เหมือนของหญิง ด้วยว่ากายท่อนบนของชายทั้งหลายล่ำสัน อกผายไหล่พึ่ง กายท่อนล่างไม่ล่ำสัน มือเท้าก็ใหญ่ ปากก็ใหญ่ เนื้ออกก็ล่ำสัน หนวดเคราก็เกิดขึ้น การใช้ผ้ารัดผมก็ไม่เหมือนของหญิง เวลาเป็นเด็กชอบเล่นรถ และไถเป็นต้น ชอบทำขอบคันด้วยทราย ขุดบ่อ การเดินเป็นต้นก็อาจหาญ คนทั้งหลายเห็นแม้หญิงทำการเดินเป็นต้นอาจหาญย่อมพูดคำเป็นต้นว่า แม่คนนี้เดินเหมือนผู้ชาย ดังนี้

ผู้หญิงบางคนเดินเหมือนนายทหารก็มี เคยเห็นไหม เดินอย่างกล้าหาญ ดูลักษณะเหมือนนายทหารจริงๆ ถ้าไม่สังเกตอาจจะไม่รู้ คือ ถ้าดูแต่เพียงหน้าตา ก็เป็นคนสวย แต่เวลาเดินจริงๆ องอาจเหมือนกับนายทหาร ถ้าสังเกตดู ลักษณะที่ ต่างๆ กัน

ลักษณะเป็นต้นของอิตถินทรีย์ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

อิตถีภาวลักขณัง มีอิตถีภาวะเป็นลักษณะ

อิตถีติ ปกาสนรสัง มีการประกาศว่าเป็นหญิงเป็นรสะ

อิตถีลิงคนิมิตตกุตตากัปปานัง กรณภาวปัจจุปัฏฐานัง มีความเป็นเหตุ หรือสัณฐานแห่งทรวดทรงเครื่องหมายรู้ กิริยาและอาการของหญิงเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ เลย เป็นแต่เพียงภาวรูป ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นก็มีกิจเฉพาะของตน เช่น ถ้าเป็นอิตถีภาวะก็มีลักษณะของหญิง จะฝืนให้เป็นอย่างอื่น ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อภาวรูปอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น ก็ต้องมีอาการอย่างนั้น คือ มีการประกาศว่าเป็นหญิงเป็นรสะ เป็นกิจ และ มีความเป็นเหตุหรือสัณฐานแห่งทรวดทรงเครื่องหมายรู้ กิริยาและอาการของหญิงเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

สำหรับลักษณะของปุริสินทรีย์ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

ปุริสภาวลักขณัง มีปุริสภาวะเป็นลักษณะ

ปุริโสติ ปกาสนรสัง มีการประกาศว่าเป็นชายเป็นรสะ

ปุริสลิงคนิมิตตกุตตากัปปานัง กรณภาวปัจจุปัฏฐานัง มีทรวดทรงสัณฐาน หรือเครื่องหมายรู้ กิริยาและอาการของชายเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

ก็อินทรีย์ทั้ง ๒ นี้ สำหรับคนครั้งปฐมกัปตั้งขึ้นในปวัตติกาล ในภายหลังต่อมาจึงตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาล แม้ที่ตั้งขึ้นในปฏิสนธิกาล ก็ย่อมหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงได้ ในปวัตติกาล

ในสมัยปฐมกัป คือ ตอนที่โลกเพิ่งเกิดใหม่ๆ ผู้ที่เกิดในพรหมโลกเมื่อจุติจากพรหมโลกแล้วก็ปฏิสนธิในโลกมนุษย์ ในครั้งที่เป็นปฐมกัปที่โลกเพิ่งเกิดขึ้นนั้น ไม่มีเพศหญิงและเพศชาย แต่เมื่อทั้ง ๒ บุคคลมีความคุ้นเคย มีความสนิทสนม มีความ พึงพอใจ มีความยินดี มีฉันทราคะเพิ่มขึ้น ก็ทำให้มีภาวรูปของหญิงและภาวรูป ของชายเกิดขึ้นในปวัตติกาล และหลังจากนั้นเป็นต้นมาภาวรูปทั้ง ๒ นี้ก็เกิด ในปฏิสนธิกาล คือ พร้อมกับปฏิสนธิขณะ แล้วแต่ว่ากรรมใดจะทำให้ภาวรูปใดเกิดขึ้น ถึงอย่างนั้น แม้ว่าภาวรูปจะเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในปฏิสนธิกาล ก็ย่อมหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงได้ในปวัตติกาล ดังพระบาลีที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า

ก็สมัยนั้นแล เพศหญิงปรากฏแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ก็สมัยนั้นแล เพศชายปรากฏแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง

เป็นเรื่องธรรมดา แล้วแต่กรรมที่จะทำให้ภาวรูปเปลี่ยนจากอิตถีภาวรูปเป็น ปุริสภาวรูป หรือเปลี่ยนจากปุริสภาวรูปเป็นอิตถีภาวรูป

เปิด  240
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565