แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1453
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๘
อัฏฐสาลีนี รูปกัณฑ์ อธิบายสัททายตนนิทเทส ข้อ ๖๒๐ แสดง วิเสสลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะของสัททรูป มีข้อความว่า
สัพโพ เจโส โสตปฏิหนนลักขโณ สัทโท เสียงทั้งหมดมีการกระทบกับโสตะ เป็นลักษณะ
โสตวิญญาณัสสะ วิสยภาวรโส มีความเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณเป็นรส
ตัสเสว โคจรปัจจุปัฏฐาโน มีความเป็นโคจรของโสตวิญญาณนั้นนั่นแหละเป็นปัจจุปัฏฐาน
มีมหาภูตรูป ๔ เป็นปทัฏฐาน
ถ้าไม่มีมหาภูตรูป ๔ เสียงก็มีไม่ได้
… (เสียงออด)
มีใครรู้ เสียงที่ได้ยินเมื่อกี้ปรากฏเพราะมีโสตปสาทรูปเป็นปัจจัย และมีสภาพของเสียงนั้นเองเป็นปัจจัยด้วย เพราะถ้ามีแต่โสตปสาทรูป ไม่มีเสียงกระทบ การได้ยินก็เกิดไม่ได้ เสียงปรากฏไม่ได้ หรือถ้ามีแต่เสียง โสตปสาทรูปไม่มี การได้ยินก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น ความเป็นปัจจัยของธาตุแต่ละอย่างซึ่งประชุมรวมกัน ทำให้สภาพรู้เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวและดับไป เวลานี้ไม่มีเสียงนั้นแล้ว โสตปสาทรูปก็ดับ ไปแล้ว เสียงก็ดับไปแล้ว
สำหรับปัจจัยที่ ๓ ที่ทำให้เกิดการได้ยิน คือ อากาศธาตุ ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลีนี รูปกัณฑ์ แสดงหูเปรียบเหมือนจระเข้ มีข้อความว่า
แม้โสตนี้ก็เหมือนกัน พอใจสิ่งที่เป็นโพรง อาศัยอากาศ ชอบใจในโพรงช่องหูเท่านั้น อากาศในช่องหูเท่านั้นเป็นปัจจัยในการได้ยินเสียง แม้อัชฎากาศ คือ อากาศที่โล่งตลอดอย่างท้องฟ้าเป็นต้น ก็ควรเป็นปัจจัยเหมือนกัน ด้วยว่าเมื่อบุคคลสวดหรือสาธยายภายในถ้ำ เสียงก็หาเจาะถ้ำหรือพังฝาถ้ำออกไปข้างนอกไม่ แต่ก็ออกไปตามช่องประตูหน้าต่าง เมื่อกระทบกันโดยสืบต่อๆ กันแห่งธาตุ ย่อมกระทบโสตปสาท ในลำดับแห่งการกระทบ คนที่นั่งอยู่บนหลังถ้ำย่อมรู้ว่า คนชื่อโน้นกำลังสวด หรือว่ากำลังสาธยาย เมื่อเป็นเช่นนี้ โสตก็นับว่ามีอารมณ์เป็นสัมปัตตะ (คือมีอารมณ์ที่มาถึงตน)
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าใครพูดเรื่องอะไรในห้องที่ปิดประตูหน้าต่างหมด คนข้างนอกก็ได้ยินไม่ได้ ถึงแม้จะมีโสตปสาท และมีเสียงอยู่ภายในห้องซึ่งปิดประตูหน้าต่างหมด ถ้ามีช่องของอากาศ จะเป็นช่องประตูหรือหน้าต่างก็ตาม เมื่อกระทบสืบต่อกันแห่งธาตุ คือ เสียงนั้น ย่อมกระทบโสตปสาทในลำดับแห่งการกระทบ คนที่อยู่ข้างนอก หรือคนที่อยู่หลังถ้ำก็สามารถรู้ได้ว่า คนชื่อโน้นๆ กำลังพูด หรือว่ากำลังสวด หรือว่ากำลังสาธยาย
ข้อความต่อไป
ถามว่า ก็โสตนี้มีอารมณ์เป็นสัมปัตตะหรือ
คือ อารมณ์แยกเป็น ๒ อย่าง ได้แก่ สัมปัตตะ กับอสัมปัตตะ
ตอบว่า ถูกแล้ว โสตมีอารมณ์ที่มาถึงตน
แต่ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าถึงในที่นี้ว่า ถึงโดยอาศัยช่องว่างคืออากาศ
ถามว่า ถ้าเช่นนั้น กลองเป็นต้นดังในที่ไกล ก็จะไม่รู้เสียงในที่ไกล ใช่ไหม
พิสูจน์ธรรมตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
ตอบว่า ไม่พึงรู้ก็ไม่ใช่ เพราะเมื่อเสียงกระทบโสตปสาทแล้ว ย่อมมีการรู้โดยประการนั้นๆ ว่า เสียงไกล เสียงใกล้ เสียงข้างโน้น เสียงข้างนี้ เสียงข้างนอก เสียงข้างใน ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดา
ก็ธรรมดานี้เป็นเช่นไร ก็ธรรมดาช่องหูมีอยู่ในที่ใด การได้ยินก็มีอยู่ในที่นั้น ฉะนั้น โสตปสาทนี้จึงมีอารมณ์เป็นอสัมปัตตะ คือ ไม่มาถึงตนโดยแท้ แต่ว่ามาถึงโดยอาศัยช่องว่าง คือ อากาศ
ถ้าเอาอะไรอุดหู เสียงดังสักเท่าไรก็ไม่ได้ยินถ้าปิดสนิท แต่ถ้ามีช่องว่างของอากาศเมื่อไร เมื่อนั้นก็ทำให้มีการได้ยินเกิดขึ้น
สำหรับอากาศธาตุ ควรจะได้ทราบว่า มี ๔ อย่าง คือ
๑. อัชฎากาศ ได้แก่ อากาศที่ว่างในท้องฟ้าทั่วๆ ไป
๒. ปริจฉินนากาศ ได้แก่ อากาศตามช่องว่างต่างๆ เฉพาะในส่วนหรือในเขต เช่น อากาศตามช่องว่างในขวด ในหม้อ ประตู หน้าต่าง เป็นต้น
๓. กสิณุคฆาฏิมากาศ ได้แก่ อากาศเพิกกสิณ เป็นอารมณ์ของฌานจิต
๔. ปริจเฉทากาศ ได้แก่ อากาศรูปในระหว่างกลาป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะ กรรมบ้าง เพราะจิตบ้าง เพราะอุตุบ้าง เพราะอาหารบ้าง
เวลาที่กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ไม่ได้มีแต่กลาปเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมีหลายกลาป อากาศธาตุซึ่งคั่นระหว่างนั้นก็แล้วแต่ว่าเกิดขึ้นเพราะกรรม หรือเกิดขึ้นเพราะจิต หรือเกิดขึ้นเพราะอุตุ หรือเกิดขึ้นเพราะอาหาร
สำหรับรูปปรมัตถ์ทั้งหมดมี ๒๘ รูป ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว จำแนกออกเป็น ส่วนใหญ่ คือ รูปปรมัตถ์ ๑๘ รูป เป็นสภาวรูป หมายถึงเป็นรูปที่มีสภาพของตนปรากฏจริงๆ ส่วนอีก ๑๐ รูปนอกเหนือไปจากนั้นเป็นอสภาวรูป ไม่ใช่มีลักษณะสภาพเฉพาะของตนจริงๆ
สำหรับรูป ๑๘ รูปซึ่งเป็นสภาวรูปนั้น เป็นสลักขณรูป เป็นนิปผันนรูป เป็นรูปรูป เป็นสัมมสนรูป
๑๘ รูปนั้น เป็นสภาวรูป คือ มีสภาพของตนเองจริงๆ ปรากฏ ซึ่งคงจะทราบแล้วว่าได้แก่รูปอะไรบ้าง
เป็นสลักขณรูป คือ เป็นรูปที่มีลักษณะของตนที่เป็นไตรลักษณะ คือ เกิดขึ้นและดับไป
เป็นนิปผันนรูป คือ เป็นรูปที่สำเร็จด้วยสภาวะของตน โดยไม่อิงอาศัยรูปอื่นเป็นไป
เป็นรูปรูป คือ แตกดับด้วยความเย็นร้อนตามวิสัยของรูปทั้งหลาย
เป็นสัมมสนรูป คือ เป็นรูปที่ควรพิจารณาให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้น อีก ๑๐ รูปที่เหลือนั้น เป็นอนิปผันนรูป คือ รูปที่อิงอาศัยรูปอื่นเป็นไป เป็นอสภาวรูป คือ ไม่มีภาวะลักษณะของตนปรากฏ เป็น อสลักขณรูป คือ ไม่ใช่รูปที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นไตรลักษณะที่มีการเกิดขึ้นและดับไป
สำหรับอนิปผันนรูป ๑๐ คือ
วิการรูป ๓ ได้แก่ รูปัสสลหุตารูป ๑ รูปัสสมุทุตารูป ๑ รูปัสสกัมมัญญตารูป ๑ รูปที่มีลักษณะวิการ คือ เบา อ่อน ควรแก่การงานของมหาภูตรูป
วิญญัตติรูป ๒ ได้แก่ กายวิญญัตติรูป ๑ วจีวิญญัตติรูป ๑
กายวิญญัตติรูป เป็นรูปซึ่งแสดงความหมายให้รู้ได้ทางกาย คือ อาศัยกาย แสดงความหมายตามความต้องการของจิตที่จะให้รูปนั้นมีความหมายอย่างไร สำหรับวจีวิญญัตติก็เป็นรูปที่ทำให้เกิดเสียง ในขณะนี้ถ้ามีใครพูด แสดงว่าต้องมี วจีวิญญัตติรูป มิฉะนั้นเสียงเกิดไม่ได้ คำพูดเกิดไม่ได้
ลักขณรูป ๔ ได้แก่ อุปจยะ สันตติ ชราตา อนิจจตา
และปริจเฉทรูป ๑
รวมเป็นอนิปผันนรูป ๑๐
ขณะนี้ทุกคนมีรูปธรรมและนามธรรมตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทุกอย่าง แล้วแต่ว่าจะมีความเข้าใจในเรื่องของรูปธรรมและนามธรรมนั้นมากเพียงไร
สำหรับเสียง มี ๒ อย่าง คือ เสียงที่เกิดเพราะอุตุ ไม่ได้เกิดเพราะจิต เป็นอวิญญาณกะ กับเสียงที่เกิดเพราะจิต
เพราะฉะนั้น เสียงซึ่งเกิดเพราะจิตกับเสียงที่เกิดเพราะอุตุ จะต่างกันหรือเหมือนกัน ก็ต้องต่างกัน
เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นก็ต่างกัน แม้แต่กลาปหรือกลุ่มของรูปของเสียงที่เกิดขึ้นก็ต่างกันด้วย ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เวลาที่เสียงปรากฏกระทบหู เพราะว่ามองไม่เห็นเสียง เพราะฉะนั้น ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเสียงนั้นเกิดจากสมุฏฐานอะไร แต่ถ้าเป็นคำพูดนี่รู้ได้เพราะมีความหมาย เพราะเข้าใจ ก็รู้ได้ว่า กลุ่มของรูปที่เป็นเสียงที่เกิดเพราะจิตต้องไม่ใช่กลุ่มเดียวกับรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน
นี่คือการเข้าใจ แม้แต่ลักษณะของเสียงซึ่งต่างกันเป็นเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน กับเสียงที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน สัญญาความจำในเรื่องเสียง สามารถรู้ความต่างกันของเสียงที่เกิดเพราะอุตุและเสียงที่เกิดเพราะจิต
ถ้าเปิดวิทยุ เปิดโทรทัศน์ และเกิดมีเสียงเกิดขึ้น เสียงนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร มีจิตในวิทยุกับในโทรทัศน์หรือเปล่า ก็น่าจะคิดได้ ฟังดูเหมือนเสียงคน สัญญาจำได้ด้วยว่าเป็นเสียงใคร แต่ควรคิดดูว่า มีจิตในโทรทัศน์หรือในวิทยุที่ทำให้เสียงนั้นเกิดหรือเปล่า เมื่อไม่มี ก็ต้องเป็นเสียงที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน ด้วยเหตุนี้ จึงควรทราบเรื่องของรูปโดยละเอียดจริงๆ ว่า แม้ว่ารูปจะเกิดร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เล็กที่สุด สักเท่าไรก็ตาม กลุ่มเล็กที่สุดของรูปก็มีจำนวนของรูปต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัยด้วย
ถ้าเสียงไม่ปรากฏ ไม่มีการได้ยิน แต่กลุ่มของรูปที่ปรากฏที่กายสามารถทำให้เข้าใจจิตใจและความรู้สึกนึกคิดได้ เพราะว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะจักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือไม่ได้มีแต่เฉพาะภาวรูปที่ให้ทรงจำว่านี่เป็นหญิงหรือนี่เป็นชาย แต่ยังมีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิต ที่เคลื่อนไหวทำให้มีความหมายที่เข้าใจได้ด้วย
แม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังสามารถเข้าใจความหมายของอาการของรูป เช่น ถ้ามีคนเงื้อไม้จะตี สัตว์นั้นก็รู้ได้ในกิริยาอาการอย่างนั้น ก็จะวิ่งหนี หรือจะกัด หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น แม้ว่าไม่มีเสียง แต่ก็ยังมีรูปที่สามารถแสดงทางกายให้เข้าใจความหมายได้
ขอกล่าวถึงเรื่องกลาปหรือกลุ่มของรูปต่างๆ ว่า แต่ละกลุ่มๆ มีรูปอะไรเกิดขึ้นบ้าง และการเกิดขึ้นของกลุ่มต่างๆ เหล่านั้น ทำให้มีสัญญา ความจำต่างๆ กัน ได้อย่างไร
สำหรับกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด มีรูปรวมกันไม่น้อยกว่า ๘ รูป ไม่ว่าจะเล็กที่สุดที่มีอากาศธาตุคั่นซึ่งแยกออกไปอีกไม่ได้ก็จะต้องมีรูปรวมกัน ๘ รูป เรียกว่า สุทธัฏฐกกลาป
รูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ เป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปอีก ๔ คือ สี ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โอชา ๑ รวม ๘ รูป ไม่มีรูปอื่นเจือปนอีกเลย จึงเป็นสุทธัฏฐกกลาป
สุทธัฏฐกกลาป กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ๘ รูปนี้ บางกลาปเกิดขึ้นเพราะจิต บางกลาปเกิดขึ้นเพราะอุตุ และบางกลาปเกิดขึ้นเพราะอาหาร เป็นสมุฏฐาน
สำหรับสมุฏฐานที่จะให้เกิดรูป มีเพียง ๔ เท่านั้น คือ กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิด รูปได้ จิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ อุตุเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ อาหารเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ แต่สุทธัฏฐกกลาปซึ่งมีรูปรวมกัน ๘ รูปนี้ เกิดจากสมุฏฐาน ๓ เท่านั้น ได้แก่ บางกลุ่มหรือบางกลาปเกิดจากจิต บางกลุ่มหรือบางกลาปเกิดจากอุตุ บางกลุ่มหรือบางกลาปเกิดจากอาหาร เพราะถ้าเป็นรูปที่เกิดจากกรรม จะมีรูปมากกว่า ๘ รูปเสมอ คือ จะต้องเพิ่มชีวิตินทริยรูป
เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรม อย่างน้อยที่สุดต้องมี ๙ รูป ชื่อว่า ชีวิตนวกกลาป เพราะว่าเพิ่มชีวิตรูปอีก ๑ รูป
สำหรับสุทธัฏฐกกลาป ถ้ากล่าวอย่างนี้ก็ทราบว่า เป็นกลุ่มของรูปซึ่งมีรูปเพียง ๘ รูป สมุฏฐานยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ ถ้ากล่าวเพียงว่า สุทธัฏฐกกลาป เป็นกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๘ รูป เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี
ถ้าเกิดจากจิต ตัวอย่างได้แก่ ลมหายใจ น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก นี่เป็นกลุ่มของรูปเพียง ๘ รูป ซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
สำหรับน้ำตา หรือเหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก นอกจากเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานแล้ว ยังเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานได้ด้วย บางครั้งรู้สึกโทมนัสเสียใจ ร้องไห้ แต่เวลานี้ น้ำตาไม่มี เพราะว่าความรู้สึกโทมนัสไม่มี จิตขณะนี้ไม่เป็นปัจจัยทำให้น้ำตาเกิดขึ้น แต่เวลาที่โทสมูลจิตเกิด มีความรู้สึกโทมนัสอย่างมาก ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้กลุ่มของรูป คือ สุทธัฏฐกกลาปที่เป็นน้ำตาเกิดขึ้น ประกอบด้วยรูปเพียง ๘ รูป เหงื่อก็มีรูปเพียง ๘ รูปเกิดขึ้นเพราะจิต เวลาตกใจมากบางคนอาจจะเหงื่อออกมากก็ได้ หรือว่าน้ำลาย บางคนอาจจะมีน้ำลายออกบางครั้งบางคราวเพราะจิตในขณะนั้นเป็นสมุฏฐานเป็นปัจจัยให้น้ำลายเกิดขึ้น เป็นกลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยรูป ๘ รูป น้ำมูกก็เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน หรืออุตุเป็นสมุฏฐาน
แต่สำหรับปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำหนอง น้ำมูก เกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่มีใครไปแปรเปลี่ยนสภาพของอาหารที่ล่วงลำคอเข้าไปเป็นอาหารใหม่ และจะกลายเป็นอาหารเก่า และส่วนเกินก็อาจจะเป็นน้ำหนอง น้ำมูตร เป็นปัสสาวะ เป็นเรื่องของอุตุทั้งนั้น ที่จะเป็นสมุฏฐานให้รูปเหล่านี้เกิดขึ้น
สำหรับอาหารที่รับประทานเข้าไป ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดกลุ่มของรูป ๘ รูป เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งหมดนอกจากนี้ ก็เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน
ฉะนั้น ถ้าจำแนกแยกรูปต่างๆ เหล่านั้นออกให้ละเอียดที่สุด จะมีรูปเพียง ๘ รูปเท่านั้น ชื่อว่าสุทธัฏฐกกลาป เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐานบ้าง เกิดขึ้นเพราะ อุตุเป็นสมุฏฐานบ้าง เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานบ้าง
แต่ถ้ากลุ่มของรูปใดเกิดเพราะกรรม ต้องมีรูปมากกว่า ๘ รูป เพราะต้องมี ชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย ทำให้กลุ่มของรูปนั้นมีรูป ๙ รูป ชื่อว่านวกกลาป และ เพราะว่ามีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย จึงชื่อว่า ชีวิตนวกกลาป
ถ. สุทธัฏฐกกลาป กลุ่มของรูป ๘ รูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และสี กลิ่น รส โอชา สุทธัฏฐกกลาป เป็นกลุ่มรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ใช่ไหม
สุ. ทั้ง ๓ เนื่องจากกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะกรรมต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิด ร่วมด้วย ต้องเป็น ๙ รูป รูปที่เกิดจากกรรมไม่ได้มีเพียง ๘ รูป เพราะต้องมี ชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้น ต้นไม้ใบหญ้าที่มองดูสด ก็เพราะ ธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆ กันไป ทำให้มีการเจริญเติบโตขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ามีชีวิตินทริยรูปที่จะทำให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิตหรือทรงชีวิตเหมือนอย่างรูปของสิ่งที่มีชีวิต เช่น คนและสัตว์
ถ. สุทธัฏฐกกลาปล้วนๆ มีสมุฏฐาน ๓ เท่านั้นเอง
สุ. เท่านั้น เพราะว่ารูปใดก็ตามที่เกิดขึ้นเพราะกรรม จะขาดชีวิตินทริยรูปไม่ได้ กลาปนั้นจะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย