แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1455

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๘


. อกุศลจิตกับอกุศลกรรม หรือว่ากุศลจิตกับกุศลกรรม ต่างกันอย่างไร

สุ. อกุศลกรรม หมายความถึงเจตนาที่จะกระทำทุจริตกรรม ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางกาย ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ ทางวาจา ได้แก่ วจีทุจริต ๔ คือ มุสาวาท ๑ ผรุสวาท ๑ ปิสุณาวาจา ๑ สัมผัปปลาปวาจา ๑ ทางใจ ได้แก่ มโนกรรม ๓ คือ อภิชฌา ๑ พยาปาท ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑

นั่นเป็นอกุศลกรรม แต่ในชีวิตประจำวัน ก็มีความพอใจในรูปที่เห็นทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธรรมดาๆ โดยที่ไม่ใช่เป็นอกุศลกรรมบถ หนึ่งอกุศลกรรมบถใดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตซึ่งไม่ใช่อกุศลกรรมบถ

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะพิจารณาว่า อกุศลจิตขณะนั้นเป็นอกุศลกรรมหรือไม่ ก็โดยที่ทราบว่า ทางกายที่จะเป็นอกุศลกรรมมี ๓ ขณะที่ไม่พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ได้ประหัตประหาร ไม่ได้ประทุษร้าย ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปาณาติบาต ก็เป็น อกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรม แต่ขณะใดที่เกิดความไม่พอใจมาก ต้องการที่จะทำลายชีวิต หรือฆ่าบุคคลนั้น ขณะนั้นเป็นปาณาติบาต เป็นอกุศลกรรมบถ ถ้าครบองค์ของอกุศลกรรมบถข้อปาณาติบาต จะทำให้เกิดในอบายภูมิได้

หรือเวลาที่นึกชอบพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิต แต่ไม่ได้ทำทุจริตกรรม คือ ไม่ได้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตที่ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ

หรือขณะที่ไม่ได้ล่วงประพฤติผิดในกาม ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ความยินดีในสามีในภรรยา ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ แต่เมื่อเป็นทุจริต คือ ประพฤติผิดในกาม ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรมบถ

ทางวาจา เวลาที่ขุ่นเคือง ไม่พอใจ แต่ไม่ได้พูดคำหนึ่งคำใดออกไปเพื่อประทุษร้ายบุคคลอื่นให้เขาเดือดร้อนใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ไม่ใช่ผรุสวาจา

หรือขณะใดที่ไม่มีเจตนาให้ตนเองเป็นที่รัก ให้คนอื่นเป็นที่ชัง ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ขณะใดที่ไม่ได้พูดเรื่องที่ไม่จริงเพื่อหักรอนประโยชน์ของบุคคลอื่น ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ขณะใดที่ไม่ได้พูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เพื่ออกุศลกรรม ขณะนั้นก็ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ

ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย เพราะฉะนั้น น่าจะได้ศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะกำลังนั่ง กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิด กำลังทำกิจการงาน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายหรือทางวาจาก็ตาม ควรที่จะได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นให้ละเอียดขึ้นว่า แต่ละขณะนั้นมีรูปประเภทไหนเกิดจากจิตประเภทไหนบ้าง

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องกลุ่มของรูปที่เกิดจากจิตที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป คือ วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป คือ กลุ่มของรูปซึ่งมีเสียงเกิดร่วมกับวจีวิญญัตติรูป รวมกันเป็น ๑๐ รูป เพราะว่ากลุ่มของรูปทุกกลุ่มจะต้องมีรูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา แต่ขณะใดที่เป็นการพูดจา มีเสียงเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องมีสัททรูปเกิดร่วมกับวจีวิญญัตติรูป ซึ่งเป็นรูปที่ทำให้เกิดเสียงตามฐานที่ตั้งของเสียงนั้นๆ แต่ขณะที่กำลังพูด ขณะที่กำลังคุยกัน ไม่ได้ทราบเลยว่า การที่จะมีคำพูดเปล่งออกมาได้นั้น เป็นเพราะจิต ถ้าขณะนั้นไม่มีจิตที่คิดจะพูด คำพูดต่างๆ เสียงต่างๆ เหล่านี้ ก็มีไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในขณะที่พูดก็มีจิต มีวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกเป็นวจีสังขารปรุงแต่งเพื่อให้เกิดเสียงที่มีความหมายตามที่จิตเป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนั้น และในขณะที่พูด สามารถที่จะพิจารณารู้ได้ว่า ขณะนั้นที่พูด พูดด้วยกุศลจิตหรือ ด้วยอกุศลจิต เพราะว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ต้องเป็นจิตประเภทหนึ่งประเภทใด ซึ่งทุกวันๆ ก็พูดกันมาก ส่วนใหญ่วันหนึ่งๆ อาจจะไม่ได้กระทำกายทุจริตเลย คือ ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ประพฤติผิดในกาม ไม่ได้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ แต่พูด อดพูดไม่ได้เลย ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด หรือสติไม่เกิด ก็ไม่รู้ว่าในขณะที่กำลังพูดนั้น เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต การพูด ก็ยังคงพูดด้วยอกุศลจิตอย่างมากมาย ตามเรื่องที่พูดในแต่ละวัน

เพราะฉะนั้น การพูด จะทำให้เห็นสภาพของจิตได้ทางหนึ่ง คำพูดเป็นทางที่จะให้เห็นสภาพของจิตได้ว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น ที่คิดว่าไม่เป็นอกุศล ความจริงเป็นอกุศลมาก แล้วแต่ว่าจะพูดด้วยโลภมูลจิต หรือว่าโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต

ในขณะที่พูด มีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดจากจิตรวม ๑๐ รูป ทำให้เกิดการกระทบกันที่ฐานของเสียงซึ่งทำให้เกิดเสียงที่มีความหมายเป็นคำๆ ขึ้น และเวลาที่รูปแต่ละกลุ่มเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยสมุฏฐานใดก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน หรือเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน หรือเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ก็ตาม ถ้าเป็นนิปผันนรูป คือ รูปที่มีสภาวะลักษณะของตน จะมีอายุเท่ากับการ เกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ซึ่งเร็วมาก วิธีที่จะรู้ได้ว่าเร็วแค่ไหน คือ ในขณะที่ทางตากำลังเห็นและทางหูกำลังได้ยินด้วย จิตเกิดดับเกินกว่า ๑๗ ขณะ แต่ดูเสมือนว่าพร้อมกัน เพราะฉะนั้น กลุ่มของรูปที่ทำให้เกิดเสียง ๑๐ รูปที่เป็นวจีวิญญัตติสัทททสกกลาป ก็ต้องมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิตเหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่เสียงเกิดขึ้นก็ดับไป แต่เสียงนั้น ก็เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน สืบต่อ จนกว่าจะกระทบกับโสตปสาทและมีการได้ยินเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เสียง ซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานดับเร็วมาก แต่มีการสืบต่อจนกระทั่งกระทบโสตปสาท ทำให้มีการได้ยินเกิดขึ้น

นี่เป็นความต่างกันของรูปเสียงที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน และรูปเสียงซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เสียงอื่นทั้งหมด แม้แต่เสียงที่คนพูด เวลาที่เสียงซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานที่เป็นวจีวิญญัตติสัทททสกกลาปดับไปแล้ว ต้องเป็นเสียงซึ่งเกิดจากอุตุทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลงจากวิทยุ จากโทรทัศน์ จากแผ่นเสียง หรืออะไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นรูปเสียงซึ่งเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานทั้งสิ้น ไม่มีวจีวิญญัตติรูปเลย ถ้าเป็นวจีวิญญัตติรูป ต้องเป็นในขณะที่จิตเป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น กระทบกันที่ฐานของเสียงที่ทำให้เกิดกลุ่มของรูปนั้นๆ ซึ่งก็ดับไปอย่างเร็วมาก

. ธรรมดาเสียงถือว่ามีอยู่จริงๆ สัททรูปมีอยู่จริงๆ

สุ. เกิดขึ้นเมื่อไร ก็มีเมื่อนั้น กำลังได้ยินหรือเปล่า

. ได้ยิน

สุ. เสียงมีไหม

. มีจริงๆ และที่ว่าเป็นนิปผันนรูป เป็นรูปปรมัตถ์ใช่ไหม

สุ. แน่นอน

. เป็นรูปปรมัตถ์แท้ หรือปรมัตถ์เทียม

สุ. ปรมัตถ์เทียมเป็นอย่างไร

. ในปริจเฉทที่ ๖ ท่านเขียนไว้

สุ. หนังสือที่ไหนบอกว่า มีรูปปรมัตถ์เทียม

. มี ในปริจเฉท ๖

สุ. ดิฉันไม่เคยพบ

. อธิบายว่า รูปปรมัตถ์เทียม คือ รูปที่พิจารณาเป็นไตรลักษณ์ไม่ได้ ไม่มีสภาวะลักษณะเป็นของตัวเอง

สุ. เป็นอนิปผันนรูป

. ต้องอาศัยนิปผันนรูปเกิด ถือว่าเป็นปรมัตถ์แท้ก็แล้วกัน

สุ. ไม่มีศัพท์นี้ ปรมัตถ์แท้ ปรมัตถ์เทียม

. ถือว่ามีจริงๆ เป็นรูปปรมัตถ์ ผมสงสัยว่า รูปปรมัตถ์ เวลาเสียงระฆังเกิด เสียงระฆังเกิดอาจารย์ว่า มีอุตุเป็นสมุฏฐาน ใช่ไหม

สุ. แน่นอน

. เมื่อเสียงระฆังเกิด อุตุเป็นสมุฏฐาน กลุ่มของเสียงนี่เรียกว่า สัททนวกกลาป ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง

. เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เสียงกลุ่มนี้เป็นกลุ่มอิสระจากระฆัง ใช่ไหม

สุ. ไม่มีระฆัง มีแต่ ...

. ไม่เรียกระฆังก็ได้ กลุ่มของรูปในส่วนของระฆัง

สุ. มีอุตุเป็นสมุฏฐาน ให้รูปนั้นเกิดดับสืบๆ ต่อๆ กันไป

. เมื่อเกิดแล้ว ก็วิ่งเข้ามาในหูเรา ใช่ไหม

สุ. ไม่ได้วิ่ง พยายามเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

. ถ้าเกิดขึ้นเป็นกลุ่มกลาปแล้ว คงจะต้องมาถึงหูเรา

สุ. ๑๗ ขณะ ดับเร็วมาก และมีอุตุที่ทำให้เกิด …

. เราก็พูดว่า ดับเร็วมาก …

สุ. ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า อุตุทำให้เกิดเสียงได้อย่างไร แต่กลุ่มของ รูปใดก็ตามที่ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่ได้เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ได้เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน กลุ่มของรูปนั้นๆ ทั้งหมดต้องเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน

แสดงให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้า เมื่อไม่ได้เกิดจากกรรม เมื่อไม่ได้เกิดจากจิต เมื่อไม่ได้เกิดจากอาหาร ต้องเกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนที่พอเหมาะพอควร และต้นไม้นั่นเอง ขณะใดที่มีการกระทบสัมผัสกัน ก็มีเสียงเกิดขึ้น ขณะใดที่เสียงเกิดขึ้น ต้องมีรูปซึ่งเป็นที่ตั้งของเสียง ซึ่งจะปราศจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ไม่สามารถมีเสียงเปล่าๆ ลอยๆ แต่ต้องมีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ควรเข้าใจว่า อุตุสามารถทำให้เกิดรูปอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ว่ารูปทั้งหลายจะต้องเกิดจากกรรม หรือต้องเกิดจากจิต หรือต้องเกิดจากอาหาร แต่อุตุย่อมสามารถทำให้เกิดกลุ่มของรูปที่มีเสียงเกิดร่วมด้วย

. หมายความว่า เกิดจากอุตุ ผมยอมรับ เกิดกลุ่มเสียงนี้ขึ้น กลุ่มเสียงนี้ ผมอยากทราบว่า เวลามาถึงหูของเรา เราจะอธิบายได้อย่างไรว่า กลุ่มนี้เข้าถึงหูเรามาทั้งกลุ่ม หรืออย่างไร

สุ. ถ้าคิดนี้อย่างนี้ ไม่มีวันจะเข้าใจสภาพธรรมได้ การที่จะเข้าใจ สภาพธรรมได้ คือ ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป และเสียงต้องมีที่ตั้งของเสียง ซึ่งไม่ใช่จะมานั่งพิจารณาขณะที่เจริญสติปัฏฐาน แต่การศึกษา ปริยัติธรรมเพื่อให้เห็นสภาพธรรมที่มีตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจ ในสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเมื่อเป็นสังขารธรรม มีการเกิดขึ้น ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นด้วย เพื่อที่จะละคลายว่า มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดสร้างเสียง หรือเป็นเจ้าของเสียง หรือสามารถทำให้เสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าสภาพของนามธรรมและรูปธรรมไม่มี เสียงก็เกิดขึ้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปนั่งนึกอย่างนั้น แต่จะต้องพิจารณาลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน

. เมื่อเสียงเกิดขึ้นก็ตั้งอยู่ และดับไป

สุ. แน่นอน

. เราสั่นกระดิ่ง เสียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเวลาพอหรือที่จะเข้าหูเรา

สุ. ไม่ต้องคิดเลยว่าจะมีเวลาพอหรือไม่มีเวลาพอ เพราะขณะใดที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นสติสามารถรู้ว่าเสียงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง ไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตน

. ผมเพียงอยากจะไขว่า เมื่อเกิดขื้น เมื่อมีระยะทางไกล ถ้าไม่มีอากาศ …

สุ. เสียง แม้เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน จะดับเร็วสักแค่ไหน เพราะว่าขณะที่เห็นและขณะที่ได้ยิน เสียงดับแล้ว จะดับเร็วสักแค่ไหนก็ลองประมาณดู

. ขอบคุณ

การศึกษาธรรม จะต้องพิจารณาให้ตรงกับเหตุผล มิฉะนั้น คิดไปคิดมา ก็อาจจะเพิ่มความสงสัยขึ้น แทนที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยรู้ว่าเสียงไม่ใช่สภาพที่ได้ยิน นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาเพื่อที่จะรู้ว่า แม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏรวดเร็วสักเพียงใดก็ตามทั้งนามธรรมและรูปธรรม แต่เมื่อสภาพธรรมใดปรากฏ สติสามารถที่จะศึกษา พิจารณา สังเกต สำเหนียก จนกว่าจะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า สภาพใดเป็นนามธรรม สภาพใด เป็นรูปธรรม

นี่คือประโยชน์ของการที่จะเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลาย เพราะถ้าความรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมยังไม่ชัดเจน ก็ยังเป็นตัวเรา ที่สงสัยเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะหมดความสงสัยในทุกเรื่องได้ ก็โดยการรู้ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ ส่วนการศึกษาเรื่องปริยัติ ก็เพื่อประกอบความเข้าใจ เพื่อให้ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นปัญญาสามารถละความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ

กลุ่มของรูปที่เป็นวจีวิญญัตติสัทททสกกลาป ก็เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ คือ ดับไปเร็วมาก

สำหรับกลุ่มของรูปกลุ่มอื่นๆ ที่มีรูปเกิดรวมกันมากกว่า ๑๐ รูป ต้องเป็นรูปที่เกิดจากจิต จากอุตุ และจากอาหาร

กลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ ทุกขณะที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้เอง เพราะว่าทุกขณะนี้มีจิต มีอุตุ และมีอาหาร แต่เป็นรูปภายใน

กลาป คือ กลุ่มของรูป ที่มีรูปรวมกันเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๑๑ รูป ได้แก่ กลุ่มของรูปที่มีวิการรูป ๓ รวมอยู่ด้วยกับอวินิพโภครูป ๘ จึงเป็น ๑๑ รูป เรียกว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี

ธรรมดารูปกลุ่มที่เล็กที่สุดจะมีรูปเพียง ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ที่ผม ที่เล็บ มีรูปเพียง ๘ รูป คือ เมื่อกระทบสัมผัสก็มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ธาตุน้ำไม่ปรากฏในขณะที่กระทบ ซึ่งในกลุ่มนั้นก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือว่าทำอะไรได้เลย ถ้าเป็นรูปที่มีกลุ่มของรูปเพียง ๘ รูป

แต่สำหรับในสัตว์บุคคลที่มีชีวิต จะมีความต่างกันกับคนที่ตายแล้วหรือ สิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะว่ามีวิการรูป ๓ คือ ลหุตารูป รูปที่เบา มุทุตารูป รูปที่อ่อน กัมมัญญตารูป รูปที่ควรแก่การงาน ทำให้เมื่อกลุ่มของรูปเหล่านี้เกิดขึ้น จะสามารถ มีอิริยาบถต่างๆ มีการเคลื่อนไหว เหยียดคู้ ประกอบกิจการงานได้เพราะว่ามีวิการรูปรวมอยู่ในกลุ่มของรูป ซึ่งบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะจิต บางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอุตุ บางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอาหาร ตราบใดที่ยังมีการเคลื่อนไหว เหยียดคู้ มีการพูดต่างๆ ได้ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีวิการรูปรวมอยู่ในกลุ่มของรูปที่มีรูปเพียง ๘ รูป ที่เป็น สุทธัฏฐกกลาป

สุทธัฏฐกกลาป มีรูป ๘ รูป เมื่อเพิ่มวิการรูปอีก ๓ รูป จึงรวมเป็น ๑๑ รูป สำหรับวิการรูป ๓ ไม่แยกจากกันเลย ไม่ใช่ว่ามีแต่ลหุตารูปโดยไม่มีมุทุตารูป ไม่มีกัมมัญญตารูป แต่เมื่อใดที่มีลหุตารูป ต้องมีมุทุตารูป และกัมมัญญตารูปด้วย

ขณะที่กำลังนั่งอยู่นี่ ก็มีกลุ่มของรูป ๑๑ รูป ซึ่งเกิดเพราะจิตบ้าง เกิดเพราะ อุตุบ้าง เกิดเพราะอาหารบ้าง

ต่อไปเป็นกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกันมากขึ้นอีก คือ มีรูปรวมกัน ๑๒ รูป

สำหรับกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๒ รูป เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง

กลุ่มที่มีรูปรวมกัน ๑๒ รูป เกิดจากจิต ๑ กลาป คือ กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป มีรูป ๘ รูป ซึ่งเป็นอวินิพโภครูป และมีวิการรูปอีก ๓ และมี กายวิญญัตติรูปอีก ๑ จึงรวมกันเป็นกลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๒ รูป

สำหรับกลุ่มของรูปที่มี ๑๒ รูป ที่เกิดจากอุตุมี ๑ กลาป คือ สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ มีวิการรูป ๓ และมีสัททรูปอีก ๑

กลุ่มของรูปที่มี ๘ รูป เล็กที่สุด กลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป เพิ่มขึ้นอีกรูปเดียว ก็ต้องเล็กมาก กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๐ รูป เพิ่มขึ้นอีกเพียงรูปเดียว ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๑ รูป ก็เล็ก กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๒ รูป ก็เล็ก

สำหรับกลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๒ รูป ที่เกิดขึ้นเพราะจิต ชื่อว่ากายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป คือ กลุ่มของรูปที่มีวิการรูป ๓ และกายวิญญัตติรูปรวมกัน

ธรรมดาขณะที่นั่งเฉยๆ ไม่ต้องการให้เกิดความหมายอะไรขึ้น รูปกลุ่มนั้นจะ มีรูป ๘ รูป รวมกับวิการรูปอีก ๓ เป็น ๑๑ รูป แต่ขณะใดที่มีกลุ่มของรูป ๘ รูป รวมกับวิการรูป ๓ และต้องการให้มีกายวิญญัตติ คือ เป็นรูปที่แสดงความหมายขึ้น ขณะนั้นก็มีรูปเพิ่มขึ้นอีก ๑ รูป จึงเป็น ๑๒ รูป

เปิด  257
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566