แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1457

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๘


คนที่นอนหลับ อย่างเด็กๆ ก็แล้วแต่ว่าใครจะจับให้นอนท่าไหน ขณะที่เป็นภวังค์ ขณะนั้นไม่มีอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดเกิดขึ้น และไม่มีกายวิญญัตติ ไม่มีวจีวิญญัตติ เพราะฉะนั้น การที่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นในขณะที่ตื่น ต้องเป็นวิถีจิต และวิถีจิตอื่น เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุวิญญาณเหล่านี้ จะไม่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวใดๆ ได้ ต้องถึงชวนวิถีจิตรูปจึงจะเคลื่อนไหวได้ และสำหรับวาโยธาตุที่ตั้งขึ้นในชวนวิถีขณะที่ ๑ ย่อมสามารถค้ำจุนทรงไว้ซึ่งรูปกาย ที่เกิดพร้อมกับตน แต่ไม่สามารถจะให้เคลื่อนไหวไปมาได้

ชวนวิถีจิตมี ๗ ขณะ ขณะที่ต้องการจะเคลื่อนไหว จะก้าวไป หรือจะยกมือ จะคู้เข้า จะเหยียดออก เพียงชวนวิถีจิตขณะที่ ๑ รูปไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แม้ในชวนจิตขณะที่ ๒ ก็โดยนัยเดียวกัน

ดวงที่ ๑ ดวงที่ ๒ ดวงที่ ๓ ดวงที่ ๔ ดวงที่ ๕ ดวงที่ ๖ เพียงแต่สามารถ ค้ำจุนทรงไว้ซึ่งรูปกายที่เกิดพร้อมกับตน แต่ไม่สามารถที่จะให้เคลื่อนไหวไปมาได้

ส่วนวาโยธาตุที่ตั้งขึ้นด้วยชวนจิตดวงที่ ๗ ได้วาโยธาตุที่ตั้งขึ้นด้วยจิต ๖ ดวงเบื้องต้น (เพราะว่ารูปที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๑ จนถึงชวนจิตดวงที่ ๖ ยังไม่ดับ) เป็นปัจจัยสนับสนุนแล้ว ย่อมสามารถค้ำจุนทรงไว้ยังรูปกายที่เกิดร่วมกับตนให้เคลื่อนไหว ให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ถอยกลับ ให้แลดู ให้เหลียวดู ให้คู้เข้า ให้เหยียดออกได้ เพราะเหตุนั้นจึงเกิดการเดินไปเดินมา การเดินไปและการเดินมา กล่าวได้ว่า ไปได้โยชน์หนึ่ง ไปได้ ๑๐ โยชน์

ข้อความใน อัฏฐสาลีนี อุปมาว่า

เปรียบเหมือนนายเกวียนที่คู่โคจะพึงลากไปด้วยแอก ๗ แอก คู่โคที่เทียมอยู่ ที่แอกคู่ที่ ๑ ย่อมสามารถค้ำจุนทรงแอกไว้อยู่ได้ก่อน แต่จะให้ล้อหมุนไปหาได้ไม่

แม้ในคู่โคคู่ที่ ๒ เป็นต้น ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน แต่ในกาลใดนายสารถี ผู้ฉลาดเทียมคู่โคที่แอกคู่ที่ ๗ แล้วนั่งบนทูบเกวียน ถือเชือก เอาปลายปฏักกระตุ้น คู่โคตั้งแต่คู่โคหน้า คู่โคทั้งหมด ในกาลนั้น คู่โคทั้งหมดร่วมกำลังกันทรงทูบเกวียนและให้ล้อหมุนไปได้ กล่าวได้ว่า พาเกวียนไปได้ ๑๐ โยชน์ ไปได้ ๒๐ โยชน์ ฉันใด พึงทราบข้ออุปมัยนี้ ฉันนั้น

จะเห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้รูปเคลื่อนไหวไปได้ทุกๆ วันว่า ในขณะที่จะมีการเคลื่อนไหวก็เพราะชวนวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเคลื่อนไหวไปด้วยอกุศลจิตประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนไหวไปด้วยโลภมูลจิต หรือบางครั้ง บางขณะ ก็เป็นการเคลื่อนไหวไปด้วยโทสมูลจิต

สำหรับวิญญัตติรูป มีข้อความว่า

กายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่จัดเป็นวิญญัตติ

เพราะถ้าเป็นกลุ่มของรูปที่เป็นสุทธัฏฐกกลาปเพียง ๘ รูป ซึ่งเกิดเพราะจิต เป็นสมุฏฐาน ก็ไม่มีวิญญัตติรูปเกิดร่วมด้วย

ส่วนแห่งอาการที่แตกต่างออกไปอย่างหนึ่ง ที่สามารถเป็นปัจจัยค้ำจุนทรงไว้ ยังรูปกายที่เกิดร่วมกับวาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานให้เคลื่อนไหวได้ นี้ชื่อว่าวิญญัตติ

วิญญัตตินั้นมิใช่มีจิตเป็นสมุฏฐานเหมือนรูป ๘ อย่าง เพราะความที่รูปทั้งหลายซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐานจัดเป็นวิญญัตติ วิญญัตติแม้นั้นจึงชื่อว่ามีจิตเป็นสมุฏฐานฉันนั้น

เพราะว่ากายวิญญัตติรูปก็ดี วจีวิญญัตติรูปก็ดี เป็นรูปที่เกิดดับพร้อมกับจิต

สำหรับวิญญัตติรูป ข้อความใน อัฏฐสาลีนี มีต่อไปว่า

ก็วิญญัตตินั้นตรัสเรียกว่า วิญญัตติ เพราะเป็นเครื่องให้รู้ ให้รู้อะไร ให้รู้การกระทำทางกายอย่างหนึ่ง ความจริงบุคคลผู้ยืนอยู่ในที่พอจะเห็นได้ ย่อมยกมือหรือ ยกเท้า ย่อมสั่นศีรษะหรือยักคิ้ว อาการอวัยวะมีมือเป็นต้นนี้ พึงทราบด้วยจักษุ ฝ่ายวิญญัตติไม่พึงทราบได้จักษุ พึงทราบได้ด้วยใจอย่างเดียว เพราะว่าบุคคลย่อมเห็นเฉพาะรูปารมณ์ที่เคลื่อนไหวเป็นหัตถวิการเป็นต้นได้ด้วยจักษุ ส่วนบุคคลคิดถึงวิญญัตติด้วยจิตที่เป็นไปทางมโนทวารจึงทราบว่า ผู้นี้เห็นจะให้เราทำอย่างนี้และ อย่างนี้

เป็นการแยกกันระหว่างจักขุทวารวิถีกับมโนทวารวิถี เพราะว่าทางตาสามารถเห็นแจ้งเฉพาะรูปารมณ์ แต่การรู้ความหมายของวิญญัตติ ต้องรู้ทางมโนทวารวิถี

มีข้ออุปมาว่า เหมือนอย่างว่า พวกมนุษย์ช่วยกันผูกใบตาลเป็นต้นไว้บน ยอดไม้ ในสถานที่มีน้ำในป่าหน้าแล้ง ด้วยประสงค์ว่า ประชาชนจักรู้ว่าในที่นี้มีน้ำด้วยเครื่องหมายนี้ หรือช่วยกันยกธงขึ้นปักไว้ที่ประตูร้านสุรา หรือต้นไม้สูงถูกลมพัดให้ไหว หรือเมื่อปลาว่ายอยู่ภายในน้ำ ฟองน้ำผุดขึ้นเบื้องบน หรือมีเศษหญ้าและใบไม้ที่ถูกน้ำซัดขึ้นไปติดอยู่ริมห้วงน้ำใหญ่ บุคคลพบใบตาล ธง กิ่งไม้ไหว ฟองน้ำ เศษหญ้าและใบไม้ในที่นั้นแล้ว แม้จะไม่ได้เห็นด้วยตา แต่ทราบได้ด้วย มโนวิญญาณว่า ในที่นี้จักมีน้ำ จักมีสุรา ต้นไม้นี้จักถูกลมพัด ภายในน้ำจักมีปลา ห้วงน้ำจักไหลท่วมที่มีประมาณเท่านี้ไป ฉันใด ถึงวิญญัตติก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ แต่พึงรู้ได้ด้วยใจอย่างเดียว

ความจริง บุคคลย่อมเห็นเฉพาะรูปารมณ์ ซึ่งเคลื่อนไหวเป็นหัตถวิการเป็นต้น ด้วยจักษุ แต่คิดถึงวิญญัตติด้วยจิตที่เป็นไปทางมโนทวาร ย่อมทราบว่า ผู้นี้เห็นจะให้เราทำอย่างนี้และอย่างนี้

เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น เพราะข้อความต่อไปมีว่า

ก็วิญญัตตินี้ ชื่อว่าวิญญัตติ เพราะเป็นเครื่องให้รู้อย่างเดียวมิได้ แต่ชื่อว่า วิญญัตติ แม้เพราะจะพึงรู้ได้ เพราะว่าวิญญัตตินี้ย่อมมีปรากฏแก่ชนเหล่าอื่นโดยที่สุดแม้แก่พวกสัตว์เดรัจฉาน ความจริงพวกสัตว์เดรัจฉาน มีสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก กา และโค เป็นต้น ซึ่งรวมกันอยู่ในที่นั้นๆ เมื่อบุคคลจับท่อนไม้ หรือหยิบก้อนดิน แสดงอาการจะตีหรือขว้าง ก็รู้ได้ว่า ผู้นี้ต้องการจะตีหรือขว้างพวกเรา จึงพากันหนีไปคนละทิศละทาง แต่สำหรับผู้ที่อยู่ภายในกำแพงและฝาเรือนเป็นต้น กาลเวลาที่รูป ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏในขณะนั้นแม้ก็จริง ถึงกระนั้นก็ชื่อว่าวิญญัตตินั่นแหละ เพราะปรากฏแก่พวกที่อยู่เฉพาะหน้า

แสดงให้เห็นว่า ทางตาเห็นรูปารมณ์ ส่วนการรู้ความหมายรู้ได้เฉพาะทาง มโนทวาร

ข้อความต่อไปมีว่า

ถามว่า เมื่อกายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานไหว กายที่มีสมุฏฐาน ๓ จะไหวหรือไม่

เพราะว่าที่กายไม่ได้มีแต่รูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานเท่านั้น มีรูปที่เกิดเพราะกรรม มีรูปที่เกิดเพราะอุตุ และมีรูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานด้วย จึงมีคำถามว่า เมื่อกายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานไหว กายที่มีสมุฏฐาน ๓ จะไหวหรือไม่

ตอบว่า กายที่มีสมุฏฐาน ๓ แม้นั้นก็ไหวตามเหมือนกัน กายที่มีสมุฏฐาน ๓ นั้น ย่อมมีคติเหมือนกายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นไปตามกายที่มีจิต เป็นสมุฏฐานนั่นเอง เปรียบเหมือนเมื่อน้ำไหลอยู่ แม้ท่อนไม้แห้ง หญ้า และ ใบไม้แห้ง เป็นต้น ที่ตกไปในน้ำ ย่อมลอยไปตามน้ำนั่นเอง คือ เมื่อน้ำนั้นไหลไป ก็ไหลไปตาม เมื่อน้ำนิ่งอยู่ก็หยุดนิ่งอยู่ ฉันใด พึงทราบข้ออุปมัยนี้ ฉันนั้น

ได้ยินคำว่า กาย หลายครั้ง อาจจะคิดว่าเป็นคนละกาย แต่ความจริงกาย ก็คือสภาพที่ประชุมกันของรูป เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ทุกส่วนของร่างกายไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปๆ เดียว หรือกลุ่มของรูปซึ่งเป็นกลาปหนึ่งๆ เพียงกลุ่มเดียว หรือ กลาปเดียว แต่ต้องมีรูปเกิดร่วมกันหลายกลุ่ม

สัตว์ก็สามารถแสดงกายวิญญัตติได้ เช่น เวลาดีใจก็ตะกาย กระดิกหาง แสดงให้รู้ถึงสภาพของจิตในขณะนั้นได้ว่า เป็นขณะที่กำลังดีใจ

วันหนึ่งๆ กายวิญญัตติมาก หรือวจีวิญญัตติมาก ในชีวิตประจำวันมักจะชอบแสดงกิริยาอาการ สีหน้าท่าทาง หรือใช้วาจามากกว่า หรือประกอบกันทั้ง ๒ อย่าง ตามสภาพของจิตในขณะนั้น เพราะอย่างเดียวอาจไม่พอ แม้จะแสดงกายวิญญัตติแล้ว ก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้ ต้องใช้วจีวิญญัตติด้วยเพื่อให้รู้ความหมาย หรือความต้องการของจิตในขณะนั้น

อัฏฐสาลีนี พระบาลีวจีวิญญัตตินิทเทส ข้อ ๖๓๖ มีข้อความว่า

รูปที่เรียกว่าวจีวิญญัตตินั้น เป็นไฉน คือ การพูด การเปล่งวาจา การเจรจา การกล่าว การป่าวร้อง การโฆษณา วาจา วจีเภทแห่งบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล หรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากตอันใด นี้เรียกว่า วาจา

การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมายด้วยวาจานั้นอันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า วจีวิญญัตติ

วจีวิญญัตติไม่สามารถเห็นได้เลย เพราะเป็นรูปที่ทำให้เกิดเสียงที่ฐานของเสียง

อธิบายวจีวิญญัตตินิทเทส ข้อ ๖๓๖ มีข้อความว่า

แม้สัตว์เดรัจฉานก็ดี ผู้จะแสดงให้รู้ภาวะของตนด้วยวาจา แม้สัตว์เดรัจฉานย่อมจะรู้ภาวะของคนได้ หรือคนก็ย่อมรู้ภาวะแม้ของสัตว์เดรัจฉานได้ด้วยธรรมชาตินี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงถือเอาโดยทำนองศัพท์ว่า วจี เหตุนั้นธรรมชาตินี้จึงชื่อว่า วิญญัตติ อันเป็นเหตุให้สัตว์เดรัจฉานรู้ภาวะของคน หรือเป็นเหตุให้คนรู้ภาวะของสัตว์เดรัจฉาน

คนที่เลี้ยงสัตว์จะคุ้นเคยกับเสียงสัตว์ และสามารถรู้ความประสงค์ของสัตว์ได้ เช่น สุนัขที่บ้าน มีเสียงหลายอย่าง อาจจะมีเสียงที่แสดงว่าผู้ที่มาเป็นผู้ที่คุ้นเคย หรือเป็นคนแปลกหน้า หรือเสียงที่แสดงความรู้สึกในระหว่างสัตว์ ก็ย่อมเป็นไปได้ แม้ว่าคนไม่สามารถเข้าใจความหมายของสัตว์นั้น แต่ระหว่างสัตว์ด้วยกัน แต่ละประเภทของสัตว์นั้นๆ ก็จะมีวจีวิญญัตติได้ตามสมควร

ข้อความต่อไป เป็นการแสดงความหมายของคำว่า วาจา ข้อความมีว่า

ที่ชื่อว่าวาจา (การพูด) ด้วยอรรถว่า เป็นธรรมชาติอันบุคคลกล่าว

ที่ชื่อว่าคิรา (การเปล่งวาจา) ด้วยอรรถว่า เป็นธรรมชาติอันบุคคลเปล่ง

ถ้าไม่สามารถจะเปล่งเป็นวาจาออกมาได้ จะเจ็บ จะปวด จะหิว ก็ย่อมไม่สามารถบอกได้ แต่เมื่อมีการเปล่งวาจา ก็ทำให้เข้าใจความหมายนั้นได้

คำว่า พยัปปโถ (การเจรจา) ได้แก่ การเปล่งคำพูด แม้ด้วยอรรถว่า คำพูดนั้นเป็นทางของคนผู้ประสงค์จะเข้าใจเนื้อความ และผู้ประสงค์จะให้เข้าใจเนื้อความ ดังนี้ก็มี

ที่ชื่อว่าอุทีรณัง (การกล่าว) ด้วยอรรถว่า เป็นธรรมชาติอันบุคคลกล่าวขึ้นมา

ที่ชื่อว่าโฆโส (การป่าวร้อง) ด้วยอรรถว่า เป็นธรรมชาติอันบุคคลป่าวร้อง

ที่ชื่อว่ากัมมัง ด้วยอรรถว่า อันบุคคลกระทำ กรรม คือ การป่าวร้อง ชื่อว่าโฆสกัมมัง แปลว่า การโฆษณา ความว่า ได้แก่การป่าวร้องที่เขาทำโดยประการต่างๆ

การโฆษณานี่ใช้เสียงมาก ใช่ไหม ในยุคนี้สมัยนี้จะเห็นวิธีการต่างๆ เป็นการป่าวร้องที่เขาทำโดยประการต่างๆ

การเปล่งวาจา ชื่อว่าวจีเภท ก็เพื่อจะให้เข้าใจว่า วจีเภทนั้นไม่ใช่เป็นการทำลาย แต่เป็นวาจาที่ถึงการเปล่งเท่านั้น ดังนี้ จึงได้ตรัสว่า วจี วาจา วจีเภท ดังนี้

พอที่จะพิจารณาสภาพของธรรมในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นบ้างไหม อย่างน้อย ในขณะที่พูด จะได้ทราบถึงจิตของผู้พูดในขณะนั้น ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ นอกจากตนเองว่า พูดด้วยจิตประเภทใด ด้วยโลภมูลจิต ประกอบด้วยมานะ ความสำคัญตน หรือว่าพูดด้วยโทสมูลจิต ซึ่งเป็นการส่อเสียด เป็นผรุสวาจา เป็นการทำให้บุคคลอื่นเกิดความทุกข์เดือดร้อนเพราะคำพูดนั้น

สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ ย่อมมีความสามารถมากกว่าสัตว์ เพราะว่าสัตว์ มีโสตปสาท มีการได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถเข้าใจในอรรถที่วิจิตรของคำนั้นๆ ได้ แต่สำหรับมนุษย์ สามารถเข้าใจความหมายของเสียงโดยละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงมีการใช้ภาษาต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ที่มีโอกาสจะได้ฟัง พระธรรม จะเห็นคุณประโยชน์ของโสตปสาท เพราะถ้าขาดโสตปสาท ไม่มีการได้ยินเสียง ย่อมไม่มีหนทางใดๆ ที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือในอบายภูมิ ไม่มีโอกาสอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง หรือด้วยการศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่การศึกษาพระธรรมสำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ ต้องเป็นการศึกษาโดยละเอียด เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมโดยถูกต้อง เพื่อจุดประสงค์ที่จะเกื้อกูลแก่การรู้แจ้ง อริยสัจธรรม ซึ่งกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด หรือไม่พิจารณาให้ถูกต้องตามพระธรรมที่ทรงแสดงไว้จริงๆ จะทำให้เข้าใจความหมายของพระธรรมผิด เพราะถ้าฟังเพียงเผินๆ อย่างพวกเดียรถีย์จะทำให้ไม่เข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้โดยถูกต้อง

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปริยายสูตร ว่าด้วยปริยายนิวรณ์ ๕ ข้อ ๕๔๗ มีข้อความว่า

ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป

ตามพระวินัย ๓ คน ก็มากรูป ถ้าตามพระสูตร มากรูปต้อง ๓ คนขึ้นไป

ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความดำริว่า เวลานี้เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง ดังนี้ แม้พวกเราก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง

ดูก่อน ผู้มีอายุทั้งหลาย ในการแสดงธรรมของเรานี้ อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์อันยิ่ง อะไรเป็นความต่างกันระหว่างธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรืออนุศาสนีของพวกเรากับอนุศาสนีของ พระสมณโคดม

พวกเดียรถีย์กล่าวเลียนเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัส และยังได้กล่าวกับท่านพระภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเดียรถีย์เองก็กล่าวว่า เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นอุปกิเลสของใจ ทอนกำลังปัญญา แล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง

แม้พระผู้มีพระภาคก็ตรัสอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ก็ถามภิกษุเหล่านั้นว่า มีอะไรที่เป็นความต่างกัน อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นประโยชน์ อันยิ่ง ระหว่างธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม

คนที่จะตอบก็ลำบาก เพราะว่าเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยพระองค์เอง

เปิด  261
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566