แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1461
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๘
ถ. ที่พระอานนท์ท่านได้รับเอตทัคคะ ๕ อย่าง คือ ๑. เป็นพหูสูต ๒. เป็น ผู้มีสติ ๓. เป็นผู้มีคติ ๔. เป็นผู้มีฐิติ และ ๕. เป็นพุทธอุปัฏฐาก คำว่า คติกับฐิติหมายถึงอะไร
สุ. ฐิติ คือ ความเพียรในการศึกษา ในการอุปัฏฐากทั้งหมด คติ คือ การไปด้วยการรับพระธรรมแม้บทเดียว ท่านก็สามารถพิจารณาแทงตลอดไปถึง บทอื่นๆ ด้วย อย่างถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดได้ฟังคำเดียว ก็รับไว้เพียงคำเดียว แต่ท่านพระอานนท์เมื่อรับคำเดียวนั้น ก็ยังพิจารณาไปถึงคำอื่นต่อไปได้อีกมาก
ถ. คติ ก็หมายถึงการที่ท่านสามารถแทงตลอดในคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายๆ อย่าง ส่วนฐิติเป็นความเพียรในการศึกษา ในการอุปัฏฐาก
สุ. ขอกล่าวถึงข้อความตามที่ถามเมื่อกี้เรื่องของสติและคติอีกครั้งหนึ่ง
อนึ่ง พระเถระนี้ (คือ ท่านพระอานนท์) เป็นผู้มีสติเล่าเรียนพระพุทธพจน์แล้วทรงจำไว้ มีกำลังมากกว่าพระเถระเหล่าอื่น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีสติ
สติเป็นโสภณธรรม สติเกิดกับโสภณจิต สติเกิดกับกุศลจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟัง เสียงหนึ่งเสียงใดดังเกิดขึ้น ขณะนั้นชวนจิตจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าขณะใดเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับท่านพระอานนท์ที่กล่าวว่า ท่านพระอานนท์เป็นผู้มีสติเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ก็หมายความว่า กุศลจิตของท่านในขณะที่กำลังฟังพระธรรมนั้น เกิดดับสืบต่อเป็นชวนะที่ประกอบด้วยสติ เป็นกุศลจิตมากกว่าบุคคลอื่นซึ่งพอมีเสียงอื่นเกิดขึ้น การที่จะมีสติเล่าเรียน พระพุทธพจน์ ก็อาจจะเป็นอกุศลจิตเกิดแทรกคั่นได้
ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอานนท์ เป็นผู้มีสติเล่าเรียนพระพุทธพจน์แล้วทรงจำไว้ มีกำลังกว่าพระเถระเหล่าอื่น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีสติ
พิสูจน์กับทุกท่านได้ในขณะที่กำลังฟัง เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดผ่านไป ขณะนั้นอาจจะเผลอไปแล้ว ไม่เหมือนกับมีกุศลจิตมั่นคงจริงๆ ฟังด้วยกุศลจิต
และท่านพระอานนท์นี้แหละ เมื่อตั้งอยู่ในบทหนึ่งได้ ก็เรียนรู้บทได้อีก ๖๐,๐๐๐ บท ย่อมรับรู้บททั้งหมดโดยครบถ้วนตามทำนองที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีคติ
ฟังด้วยกัน เรื่องจิต หรือว่าเรื่องเจตสิกหนึ่งเจตสิกใด หรือเป็นพระสูตรหนึ่งพระสูตรใดก็ตาม แต่ในขณะที่ฟังนั้น ท่านพระอานนท์เรียนรู้บทได้อีก ๖๐,๐๐๐ บท จากการที่ได้ฟังโดยครบถ้วนตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนั่นแหละ เพราะเหตุนั้นท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีคติ
คตินี่ไม่ใช่คติเรื่องอื่นเลย แต่เป็นคติในการรับพระธรรมที่ได้ฟัง และสามารถเพิ่มความรู้ความเข้าใจจากพระธรรมที่ได้ฟังด้วย
ความพากเพียรในการเล่าเรียน ความเพียรในการสาธยาย ความเพียรในการทรงจำพระพุทธพจน์ และความพากเพียรในการถวายการอุปัฏฐากบำรุง พระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์เถระนั้น ไม่เหมือนกับความพากเพียรของพระภิกษุเหล่าอื่น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีฐิติ คือ ความเพียร
ความเพียรของท่าน เพียรไปในเรื่องของกุศลทั้งหมด บางคนอาจจะบอกว่า อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคจนไม่มีเวลาที่จะศึกษาเล่าเรียน อาจจะคิดอย่างนั้น สำหรับบางคน แต่สำหรับความเพียรของท่านพระอานนท์ พากเพียรในการเล่าเรียน พากเพียรในการสาธยาย พากเพียรในการทรงจำ บางท่านอาจจะต้องอาศัยเครื่องช่วยความจำหลายอย่าง ในสมัยนี้ก็ทั้งจดด้วย ทั้งอะไรๆ ด้วย แต่ในสมัยโน้น ท่านพระอานนท์พากเพียรในการทรงจำพระพุทธพจน์ และพากเพียรในการถวายการอุปัฏฐากบำรุงพระศาสดา เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์เป็นผู้ที่กุศลจิตเกิดมาก สักแค่ไหนที่จะเป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน
ซึ่งในสมัย ๒๐ ปีในปฐมโพธิกาล คือ เมื่อทรงตรัสรู้แล้วนั้น พระผู้มีพระภาค ไม่มีอุปัฏฐากประจำพระองค์มาตลอด ๒๐ พรรษา ในระหว่าง ๒๐ พรรษานั้น ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นท่านพระนาคสมาละ หรือท่านพระอุปวานะ ท่านพระจุนทะ ท่านพระสาคตะ บางคราวก็เป็นท่านพระเมฆิยะ บางคราวก็เป็นท่านพระราธะ ต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันอุปัฏฐากตลอด ๒๐ พรรษาในปฐมโพธิกาล
หลังจากนั้นแล้ว
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่บุคคลจัดแจงปูลาดแล้ว ในบริเวณพระคันธกุฎีนั้น พระภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้แก่แล้ว ภิกษุบางพวกกล่าวว่า เราจะไปโดยทางนี้ แล้วก็แยกทางไป ภิกษุบางพวกก็วางบาตรและจีวรของเราบนพื้นดิน พวกเธอจงคัดเลือกภิกษุมาเป็นอุปัฏฐากประจำของเรา
ธรรมสังเวชได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระภิกษุทั้งหลาย ในขณะนั้นท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาพระองค์เท่านั้น สร้างบารมีมาตลอด ๑ อสงไขยแสนกัป ผู้มีปัญญามากเช่นข้าพระองค์ ย่อมควรชื่อว่า เป็นผู้อุปัฏฐาก มิใช่หรือ ข้าพระองค์จะขอรับอุปัฏฐาก พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกร สารีบุตร อย่าเลย เธออยู่ในทิศใด ทิศนั้นย่อมไม่เสียไปเปล่าเทียว โอวาทคำสั่งสอนของเธอ เหมือนกับโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กิจที่เธอ จะอุปัฏฐาก ย่อมไม่มีแก่เรา
พระมหาสาวก ๘๐ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น ต่างก็พากัน ลุกขึ้นโดยอุบายนี้นั่นเทียว
พระผู้มีพระภาคทรงห้ามพระมหาสาวกทั้งหมด ส่วนท่านพระอานนท์เถระ นั่งนิ่งอยู่นั่นเทียว
ลำดับนั้น พวกพระภิกษุกล่าวว่า
ดูก่อน อาวุโสอานนท์ พระภิกษุสงฆ์ทูลขอตำแหน่งอุปัฏฐากแล้ว แม้ท่าน ก็จงขอบ้างเถิด
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ดูก่อน ท่านผู้มีอายุ ขึ้นชื่อว่าตำแหน่งที่ได้มาเพราะขอจะเป็นประโยชน์อะไร พระศาสดามิได้ทอดพระเนตรเห็นเราหรือไร หากว่าพระศาสดาจะทรง พอพระราชหฤทัยไซร้ พระองค์ก็จะตรัสบอกเองว่า อานนท์จงอุปัฏฐากเรา ดังนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไม่พึงเป็นผู้อันคนอื่นต้องให้เกิดความพยายาม ตัวเธอเองจักรู้ และอุปัฏฐากเรา
ลำดับนั้น พระภิกษุทั้งหลายกล่าวพร้อมกันแล้วว่า
อานนท์ เธอจงลุกขึ้น เธอจงขอตำแหน่งพระอุปัฏฐากกับพระศาสดาเถิด
ท่านพระอานนท์เถระลุกขึ้น แล้วทูลขอพร ๘ ประการ คือ พรอันเป็นข้อห้าม ๔ ข้อ พรอันเป็นข้อขอร้อง ๔ ข้อ พระเถระกราบทูลว่า
พรชื่อว่าเป็นข้อห้าม ๔ ข้อ คือ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
๑. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคได้รับจีวรอันประณีตด้วยพระองค์แล้วไซร้ พระองค์อย่าประทานจีวรอันประณีตนั้นแก่ข้าพระองค์
๒. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคได้รับบิณฑบาตอันประณีตด้วยพระองค์แล้วไซร้ พระองค์อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตนั้นแก่ข้าพระองค์
๓. ขอพระผู้มีพระภาคอย่าประทานให้ข้าพระองค์อยู่ร่วมในพระคันธกุฎีเดียวกัน
๔. ขอพระผู้มีพระภาคอย่าพาข้าพระองค์ร่วมไปในที่นิมนต์
ในเมื่อเป็นไปได้อย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร อานนท์ ก็เธอเห็นโทษอะไรในคำขอนี้หรือ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าข้าพระองค์จักได้วัตถุเหล่านี้ไซร้ จักมีบุคคลผู้พูดว่า ท่านพระอานนท์ได้ใช้สอยจีวรประณีตกับพระทศพล ได้ฉันบิณฑบาตอันมี รสประณีตกับพระทศพล ได้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระทศพล ได้ไปสู่ที่นิมนต์ร่วมกับพระทศพล ได้ลาภนี้อยู่จึงอุปัฏฐากพระตถาคต ใครๆ ก็รับเป็นภาระอุปัฏฐากอย่างนี้ได้
เพราะเหตุนี้ ท่านพระอานนท์จึงทูลขอพรอันเป็นข้อห้าม ๔ ข้อเหล่านี้
นี่เป็นสิ่งที่ยากที่ใครจะคิด แต่เป็นสิ่งที่มีเหตุผลมาก ถ้าท่านพระอานนท์ไม่ได้ทูลขออย่างนี้ จะมีคำติเตียนมากมายจากผู้ที่ชังท่านก็ได้ ที่จะกล่าวคำที่ไม่เหมาะสม เพราะถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้ใช้สอยจีวรที่ประณีต ได้ฉันอาหารบิณฑบาตที่ประณีต ได้อยู่ในพระคันธกุฎีกับพระผู้มีพระภาค หรือได้ไปสู่ที่นิมนต์ร่วมกับพระผู้มีพระภาค ใครๆ ก็ย่อมอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคได้ เพราะว่าได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๔ อย่างนี้ แต่เพื่อที่จะไม่ให้เป็นที่ติเตียน ท่านพระอานนท์จึงทูลขอพรอันเป็นข้อห้าม ๔ ข้อเหล่านี้
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พรชื่อว่าเป็นข้อขอร้อง ๔ ข้อ คือ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
๑. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคจักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้ไซร้
๒. ถ้าว่าข้าพระองค์จักได้พาบริษัทผู้มาจากแว่นแคว้นภายนอก ชนบทบ้านนอกเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคในขณะที่มาถึงแล้วนั่นแหละไซร้
๓. ความสงสัยเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์เมื่อใด ขอให้ข้าพระองค์ได้เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคเมื่อนั้นนั่นเทียว
๔. เมื่อข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมใด เมื่อกลับมาแล้ว พระผู้มีพระภาคจักแสดงธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์เหมือนอย่างนั้น
เมื่อเป็นไปได้อย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร อานนท์ ก็เธอเห็นอานิสงส์อย่างไรในคำขอนี้หรือ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรผู้มีศรัทธาในพระศาสนานี้ ไม่ได้โอกาสเพื่อ พระผู้มีพระภาค ก็จะมากล่าวกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ในวันพรุ่งนี้ขอนิมนต์ท่านพร้อมกับพระผู้มีพระภาค รับภิกษาในบ้านของพวกข้าพเจ้า ขอรับ ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคจักไม่เสด็จไปในที่นิมนต์นี้ไซร้ ข้าพระองค์ก็จักไม่ได้โอกาสแสดงกะบริษัทในขณะที่เขาปรารถนา และไม่ได้โอกาสเพื่อบรรเทาความสงสัยกับบริษัท จักมีบุคคลผู้พูดว่า พระอานนท์จักอุปัฏฐากพระทศพลเพื่อประโยชน์อะไร แม้เพียงเท่านี้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้ทรงอนุเคราะห์แก่ท่าน
และเมื่ออยู่ลับหลังพระผู้มีพระภาค กุลบุตรทั้งหลายก็จะถามข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ พระคาถานี้ พระสูตรนี้ และชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วที่ไหน ถ้าว่าข้าพระองค์ไม่ได้ตระเตรียมรับรู้ไว้ไซร้ ก็จะมีบุคคลผู้กล่าวว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ ท่านมิได้ห่างพระผู้มีพระภาค เป็นเหมือนดังเงาฉะนั้น เที่ยวไปอยู่ตลอดกาลนาน แม้เรื่องเพียงเท่านี้ท่านก็หาทราบไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงปรารถนาการแสดงซ้ำซึ่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เมื่อข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย
เพราะเหตุนี้ ท่านพระอานนท์จึงทูลขอพรอันเป็นข้อขอร้อง ๔ ข้อเหล่านี้
แม้พระผู้มีพระภาคได้ประทานแล้ว ท่านพระอานนท์เถระรับพร ๘ ข้อแล้ว ได้เป็นพุทธอุปัฏฐาก ด้วยประการฉะนี้
สำหรับท่านพระอานนท์
เมื่อได้รับเป็นพระพุทธอุปัฏฐากแล้ว ท่านพระอานนท์เถระผู้ปรารถนาฐานันดรนั้นแหละ บรรลุผลของบารมีทั้งหลายที่ตนบำเพ็ญมาแล้วตลอดเวลา ๑ แสนกัป
กว่าจะได้เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก ไม่ใช่ว่าจะเป็นวันนี้พรุ่งนี้ได้ แต่ต้องสะสม บุญบารมีพอที่จะได้เป็นพระพุทธอุปัฏฐากถึงแสนกัป
นับแต่วันที่ได้ตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากแล้ว ท่านพระอานนท์เถระนั้นคอยเอาใจใส่อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคอยู่ด้วยกิจมีอย่างนี้เป็นต้น คือ ด้วยการถวายน้ำ ๒ อย่าง ด้วยการถวายไม้สีพระทนต์ ๓ เวลา ด้วยการถวายการนวดพระหัตถ์และพระบาท ด้วยการถวายการนวดพระปฤษฎางค์ และด้วยการปัดกวาดบริเวณพระคันธกุฎี
ท่านกำหนดว่า ในเวลาอย่างนี้ พระศาสดาย่อมสมควรได้รับการเอาใจใส่อุปัฏฐากอย่างนี้ๆ ในระหว่างราตรี ท่านก็ถือคบเพลิง เดินไปรอบบริเวณพระคันธกุฎี ๙ ครั้งในราตรีหนึ่งๆ ก็ความดำริได้มีแก่ท่านพระอานนท์เถระนั้นอย่างนี้ว่า
ถ้าว่าเราหยั่งลงสู่ความเป็นผู้มีจิตหดหู่และเคลิบเคลิ้มแล้วไซร้ ก็ไม่พึงอาจถวายคำตอบรับพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงถือ คบเพลิงด้วยมืออยู่ตลอดราตรี
ในกาลภายหลัง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ตรัสสรรเสริญคุณของท่านพระอานนท์เถระผู้เป็นคลังแห่งพระธรรมโดยปริยายเป็นอเนก แล้วจึงทรงแต่งตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้มีสติ ผู้มีคติ ผู้มีความเพียร และผู้เป็นอุปัฏฐากในพระศาสนานี้ ดังนี้แล
ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงหนักแน่นที่จะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมอย่างมาก และทรงจำไว้ เป็นพหูสูต เพราะฉะนั้น ท่านต้องเป็นผู้ที่ขยัน มีความเพียรอย่างมาก และความเพียรในการที่จะอุปัฏฐากนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความหนักแน่นมั่นคงจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว คงจะท้อถอย เพราะว่าไหนจะต้องอุปัฏฐาก ไหนจะต้องฟังพระธรรม และทรงจำพระธรรมด้วย
สำหรับข้อความที่แสดงลักษณะของความเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ฟังมาก ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อรรถกถา ทุติยอุรุเวลสูตรที่ ๒ แสดงลักษณะของภิกษุผู้ทรงสุตะและผู้สั่งสมสุตะว่า ไม่ใช่ใครๆ เพียงฟังเล็กๆ น้อยๆ จำได้นิดๆ หน่อยๆ ก็จะชื่อว่าเป็นพหูสูต หรือเป็นผู้ที่สั่งสมสุตะ ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี มีว่า
บทว่า พหุสสุโต โหติ ความว่า ภิกษุนั้นมีสุตะมาก อธิบายว่า นวังคสัตถุศาสน์เป็นอันภิกษุนั้นเรียนแล้ว ด้วยสามารถเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งบาลีและอนุสนธิ
อนุสนธิ คือ ข้อความต่อจากพระบาลี เช่น อรรถกถา ฎีกาต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่มีสุตะมาก ต้องเรียนแล้ว ด้วยสามารถเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งบาลีและอนุสนธิ คือ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา