แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1463

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๘


ก็ท่านพระอานนท์เถระได้เพื่อการฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเนืองๆ ด้วยโสตวิญญาณ นี้ชื่อว่าสวนานุตริยะ ชนเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ย่อมได้เพื่ออันฟังซึ่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ นี้ชื่อว่า สวนานุตริยะ ก็บุคคลอื่นผู้เป็นปุถุชนและกัลยาณชนได้แล้วเพื่ออันฟังซึ่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ นี้ชื่อว่าสวนานุตริยะ

ก็บุคคลอื่นผู้เป็นปุถุชนและกัลยาณชนได้แล้วเพื่ออันฟังซึ่งพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ ยังการฟังนั้นให้เจริญแล้ว ย่อมให้ถึง โสตาปัตติมรรค นี่ชื่อว่าสวนะนั่นเทียว ก็สวนะที่เป็นมูล ชื่อว่าสวนานุตริยะ

นี่คือการฟังอันประเสริฐ แต่ถ้าเป็นการได้ยินพระสุรเสียงจริงๆ ต้องเป็น โสตวิญญาณกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ไม่มีโสตวิญญาณกุศลวิบากที่จะได้ยินพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาค แต่ยังมีโสตวิญญาณกุศลวิบากที่ได้ฟังพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว และสำหรับผู้ที่เป็นกัลยาณปุถุชน เมื่อฟังแล้วก็ทำให้กุศลนั้นเจริญขึ้นจนถึงโสตาปัตติมรรค ชื่อว่าสวนะ และสวนะที่เป็นมูล ชื่อว่าสวนานุตริยะ

เพราะฉะนั้น การฟังอย่างอื่นไม่ใช่การฟังที่ยอดเยี่ยม นอกจากการฟังพระธรรม

ท่านพระอานนท์เถระย่อมศรัทธาในพระผู้มีพระภาค นี้ชื่อว่าลาภานุตริยะ ชนเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ได้แล้วซึ่งการได้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาค ย่อมได้ลาภเฉพาะ นี้ชื่อว่าลาภานุตริยะ ก็บุคคลผู้อื่นเป็นปุถุชนและกัลยาณปุถุชนได้แล้ว ซึ่งการได้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ ยังการได้ลาภนั้นให้เจริญแล้วย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าลาภนั่นเทียว แต่การได้อันเป็นมูล ชื่อว่าลาภานุตริยะ

เรื่องของการได้ลาภซึ่งทุกท่านแสวงหา ลาภอื่นได้มาแล้วก็หมดไป นอกจากลาภที่ประเสริฐกว่าลาภอื่นทั้งหมด คือ การได้ศรัทธาในพระศาสนาที่สามารถทำให้บุคคลนั้นอบรมเจริญปัญญาขึ้นจนถึงความเป็นพระอริยบุคคล

ก็ท่านพระอานนท์เถระย่อมศึกษาไตรสิกขาในศาสนาของพระผู้มีพระภาค นี้ชื่อว่าสิกขานุตริยะ ภิกษุแม้อื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ย่อมศึกษาไตรสิกขาในศาสนาของพระผู้มีพระภาคดุจท่านพระอานนท์เถระ แม้นี้ชื่อว่าสิกขานุตริยะ ก็บุคคลอื่น ผู้เป็นปุถุชนและกัลยาณชนศึกษาไตรสิกขาในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเหมือนท่านพระอานนท์เถระ ยังการศึกษาเหล่านั้นให้เจริญแล้ว ย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าสิกขานั่นเทียว แต่สิกขาที่เป็นมูล ชื่อว่าสิกขานุตริยะ

ก็ท่านพระอานนท์เถระย่อมปรนนิบัติพระผู้มีพระภาคเนืองนิตย์ นี่ชื่อว่า ปาริจริยานุตริยะ ภิกษุแม้เหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ย่อมปรนนิบัติ พระผู้มีพระภาคเนืองนิตย์เหมือนท่านพระอานนท์เถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าปาริจริยานุตริยะ ก็บุคคลอื่นอีก มีปุถุชนและกัลยาณชนปรนนิบัติพระผู้มีพระภาคเหมือนท่าน พระอานนท์เถระ ยังการปรนนิบัตินั้นให้เจริญ ย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่า ปาริจริยานุตริยะนั่นเทียว ก็การปรนนิบัติอันเป็นมูล ชื่อว่าปาริจริยานุตริยะ

ก็ท่านพระอานนท์เถระย่อมระลึกถึงพระคุณอันเป็นโลกียะและโลกุตตระของพระผู้มีพระภาค ชื่อว่าอนุสตานุตริยะ ภิกษุแม้เหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ก็เหมือนท่านพระอานนท์เถระ ระลึกถึงพระคุณอันเป็นโลกียะและโลกุตตระของ พระผู้มีพระภาค แม้นี้ก็ชื่อว่าอนุสตานุตริยะ ก็บุคคลอื่นผู้เป็นปุถุชนและกัลยาณชนเหมือนท่านพระอานนท์เถระ ระลึกถึงพระคุณอันโลกียะและโลกุตตระของ พระผู้มีพระภาค ยังอนุสสตินั้นให้เจริญแล้ว ย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าอนุสสติ ก็อนุสสติอันเป็นมูลนั้น ชื่อว่าอนุสตานุตริยะ

มีใครระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอย่างท่านพระอานนท์บ้างไหม คือ ย่อมระลึกถึงพระคุณอันเป็นโลกียะและโลกุตตระของพระผู้มีพระภาค

พระคุณที่เป็นโลกียะ คือ เทศนาญาณ และพระคุณที่เป็นโลกุตตระ คือ ปฏิเวธญาณของพระผู้มีพระภาค ญาณ คือ ปัญญาใดที่ทำให้บุคคลนั้นแทงตลอดสภาพธรรมเพื่อตนเอง ญาณนั้นเป็นปฏิเวธญาณ แต่ญาณใดที่บุคคลนั้นเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่น ญาณนั้นคือเทศนาญาณ เป็นโลกียะ ไม่ใช่โลกุตตระ

ท่านพระอานนท์ท่านเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมมาก เมื่อได้ฟังพระธรรมย่อมเห็น ในพระคุณของพระผู้มีพระภาคมากกว่าบุคคลที่ฟังน้อย เพราะฉะนั้น ท่านก็ระลึกถึงพระคุณที่เป็นโลกียะและโลกุตตระของพระผู้มีพระภาค

สำหรับพุทธบริษัทในสมัยนี้ คิดดูว่า วันหนึ่งๆ ระลึกถึงอะไรได้บ่อยๆ ถ้า วันหนึ่งๆ ระลึกเป็นไปในพระคุณที่เป็นโลกียะและโลกุตตระของพระผู้มีพระภาค ก็เป็นอนุสตานุตริยะถ้าสามารถทำให้เจริญขึ้นถึงความเป็นพระอริยบุคคล ถ้าระลึกถึงเรื่องอื่น ขณะนั้นก็ยากที่ปัญญาจะเจริญ แต่ถ้าระลึกไปในเรื่องของพระธรรม พิจารณาพระธรรมพร้อมกับสติปัฏฐาน และสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แม้ในขณะที่ฟัง ในขณะที่เห็น ในขณะที่คิด ย่อมรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล

. ความต่างกันของปัญญาที่ท่านพระสารีบุตรเป็นเลิศในทางปัญญา กับความเป็นพหูสูตที่ท่านพระอานนท์เลิศ มีความแตกต่างกันอย่างไร

สุ. ท่านพระสารีบุตรสะสมบารมีที่จะเป็นเอตทัคคะในทางปัญญาทุกชาติมาด้วยปัญญาต่างๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นปัญญาร่าเริง ปัญญาแหลมคม ปัญญามั่นคง ปัญญาหนา ในแต่ละชาติของท่าน แล้วแต่ละเหตุการณ์ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาค ยังไม่ปรินิพพานมีข้อความว่า ในขณะไหน ตอนไหนเป็นปัญญาไหนของ ท่านพระสารีบุตร เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นเอตทัคคะทางด้านปัญญา ซึ่งการแสดงธรรมของท่านในที่ใด ย่อมเหมือนกับการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคในที่นั้น ไม่ต่างกันเลย เพราะนอกจากท่านแล้ว คนอื่นไม่สามารถมีปัญญารองจาก พระผู้มีพระภาคได้เลย แม้แต่ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็เป็นผู้เลิศในการแสดงฤทธิ์ ไม่ใช่ในทางปัญญา ซึ่งอัครสาวกมี ๒ ท่าน คือ ผู้เลิศในปัญญาท่านหนึ่ง และผู้เลิศในอิทธิวิธิท่านหนึ่ง สำหรับท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพหูสูต เป็นผู้ฟัง และท่าน แทงตลอดในเหตุในผลของธรรมที่ได้ฟัง แต่ไม่ใช่ปัญญาอย่างท่านพระสารีบุตร

, อนุตริยะ ๖ อย่างที่อาจารย์บรรยาย ต้องเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ บรรลุมรรคผล จึงจะจัดเป็นอนุตริยะ ใช่ไหม

สุ. ใช่ เป็นมูลที่จะให้บรรลุมรรคผล

. อย่างการเห็นพระพุทธองค์ก็ดี การฟังธรรมของพระองค์ก็ดี เหล่านี้ ถ้าไม่เป็นเหตุเป็นมูลที่จะให้ได้บรรลุมรรคผล ก็ไม่ถือว่าเป็นอนุตริยะ

สุ. ไม่ถือว่าเป็นอนุตริยะ อย่างพวกเดียรถีย์ที่เห็นพระผู้มีพระภาค มี จักขุวิญญาณกุศลวิบาก แต่ว่าไม่พอใจ เกิดความโทมนัส ในขณะนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์

. อนุตริยะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเห็นพระพุทธองค์ ก็สามารถ เป็นเหตุเป็นมูลให้ได้บรรลุมรรคผล เพียงอย่างเดียวก็ได้ ใช่ไหม

สุ. ถ้าเห็นแล้วไม่ฟัง เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุมรรคผล เพียงเห็นไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ แต่เมื่อเห็นแล้ว เห็นทำไม เห็นแล้วและได้ฟังพระธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นชั่วคราว เพียงเห็น แต่เห็นเพื่อฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไปเฝ้าเพื่อจะได้เห็นและได้ฟังพระธรรมด้วย

. ไม่ใช่เห็นผ่านไปเฉยๆ

สุ. ต้องเกี่ยวเนื่องกัน เช่น เมื่อเป็นผู้ที่ได้เห็น เป็นผู้ที่ได้ฟัง ก็เป็นผู้ที่ศึกษาในไตรสิกขา ไตรสิกขา คือ การเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

. สมัยนี้ ทัสสนานุตริยะก็ไม่มีโอกาสแล้ว

สุ. สำหรับการเห็นด้วยจักขุวิญญาณ ไม่มีโอกาส

. สวนานุตริยะก็ไม่มี

สุ. ด้วยโสตวิญญาณ ก็ไม่มีโอกาส

. ลาภานุตริยะคืออะไร

สุ. ลาภที่ประเสริฐ คือ ศรัทธา ศรัทธา คือ สภาพจิตที่ผ่องใสด้วยความเลื่อมใสในพระคุณทั้ง ๓ ของพระผู้มีพระภาค

คนที่ไม่เชื่อว่ามีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อว่าพระองค์เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีมาก หรือคิดว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนอย่างคนธรรมดาทั่วๆ ไป คือ สอนให้มีศีลธรรมเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นผู้ที่ได้ลาภ คือ ได้ศรัทธาใน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่รู้ว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คืออย่างไร

. สมัยนี้ที่เรายังมีโอกาส คือ สิกขานุตริยะ ต้องศึกษาเพื่อเป็นเหตุเป็นมูลให้ได้ปัจจัยบรรลุมรรคผล ส่วนปาริจริยานุตริยะก็หมดโอกาส

สุ. ปาริจริยานุตริยะ เป็นการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค เป็นไปไม่ได้ใน สมัยนี้

. ส่วนอนุสตานุตริยะ ข้อสุดท้าย การเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นอนุสตานุตริยะ ได้ไหม

สุ. การระลึกถึงพระคุณ อย่างท่านที่ศึกษาพระธรรม อ่านพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม อรรถกถาต่างๆ และพิจารณาพระธรรม ในขณะนั้น เห็นพระคุณที่เป็นโลกียะ คือ พระเทศนาญาณ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงมี เทศนาญาณ ไม่ทรงแสดงธรรม ไม่มีพระปัญญาที่จะทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ในยุคนี้สมัยนี้คงไม่มีใครสามารถพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ตามความ เป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมเสมอๆ ย่อมจะเห็นพระคุณ

ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีปฏิเวธญาณ ก็ไม่ทรงมีเทศนาญาณ แต่ที่ทรงมีเทศนาญาณ เพราะทรงมีปฏิเวธญาณ การแทงตลอดสภาพธรรมตามความเป็นจริง ประกอบพร้อมทั้งเทศนาญาณที่สามารถอนุเคราะห์สัตว์โลกให้เข้าใจพระธรรม ด้วยการทรงเทศนาอย่างละเอียด อย่างวิจิตร

. คำว่า แทงตลอด แค่โสดาก็ถือว่าแทงตลอด ใช่ไหม

สุ. รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าในขณะที่ฟังแล้วเข้าใจเหตุผล จะใช้คำว่า แทงตลอดในเหตุผลก็ได้ ในอรรถ ในธรรมก็ได้ แต่นั่นเป็นโลกียะ ถ้าเป็นโลกุตตระต้องเป็นปฎิเวธญาณ คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

สำหรับท่านพระอานนท์ นอกจากท่านจะประกอบด้วยอนุตริยะ ๖ แล้ว ท่าน ยังมีอัจฉริยะเป็นพิเศษ ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ตติยอัจฉริยสูตร ข้อ ๑๒๙ ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในท่านพระอานนท์เถระ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้ในพระอานนท์ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อเห็นอานนท์ ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยการเห็น ถ้าอานนท์กล่าวธรรมในบริษัทนั้น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมี ใจยินดีแม้ด้วยคำที่กล่าวนั้น ภิกษุบริษัทนั้นเป็นผู้ไม่อิ่มเลย ถ้าอานนท์เป็นผู้นิ่ง

สำหรับภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทก็โดยนัยเดียวกัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้แล ในพระอานนท์

ข้อความในอรรถกถาแสดงถึงการปราศรัยของท่านพระอานนท์ ที่ทำให้ พุทธบริษัทที่เห็นท่าน มีใจยินดีแม้ด้วยการเห็น แม้ด้วยการฟังธรรมของท่าน เวลาที่ท่านปราศรัยกับภิกษุทั้งหลาย ท่านก็จะปราศรัยว่า

สบายดีหรือ หรือว่าพอยังชีพเป็นไปได้หรือ ยังทำจิตในโยนิโสมนสิการอยู่หรือ ยังบำเพ็ญอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตรอยู่หรือ ดังนี้

คือ ท่านถามความเป็นไปในธรรมของพระภิกษุนั้นๆ เพื่อให้พระภิกษุนั้นๆ ระลึกได้ มีโยนิโสมนสิการ พร้อมกันนั้นก็บำเพ็ญวัตรที่ควรประพฤติต่ออาจารย์และอุปัชฌาย์ สำหรับพระภิกษุณีทั้งหลาย ท่านก็จะปราศรัยว่า

ท่านทั้งหลายยังสมาทานครุธรรม ๘ ประพฤติอยู่หรือ ดังนี้

เป็นการเตือนให้ภิกษุณีประพฤติตามภาวะของภิกษุณี

เวลาที่ท่านปราศรัยกับอุบาสกอุบาสิกา

ท่านจะไม่ทำปฏิสันถารอย่างนี้ ด้วยคำว่า อุบาสกมาดีแล้ว ท่านไม่ปวดศีรษะหรืออวัยวะบ้างหรือ บุตรพี่น้องชายของท่านไม่มีโรคภัยหรือ ดังนี้ แต่ท่านจะทำปฏิสันถารอย่างนี้ว่า อุบาสกเป็นอย่างไร จงรักษาสรณะ ๓ ศีล ๕ จงทำอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้งไว้เถิด จงเลี้ยงดูมารดาบิดา จงบำรุงสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรมเถิด ดังนี้

นี่คือการปราศรัยของท่านพระอานนท์ ซึ่งเป็นการปราศรัยที่มีประโยชน์ ไม่ใช่ถามเรื่องปวดศีรษะ หรือว่าบุตรพี่น้องชายหญิงเป็นอย่างไร

สำหรับการทรงแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่เหมือนกับการแสดงธรรมของสาวก เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มีข้อความว่า

อนึ่ง ที่ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ซ้ำถึง ๒ ครั้ง ก็เพื่อแสดงว่า ไม่มีการรจนาไว้ก่อน

คือ พระผู้มีพระภาคไม่ต้องทรงตระเตรียมคิดเรื่องที่จะพูดไว้ก่อน

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมได้เหมาะแก่อัธยาศัยของบริษัทที่มาประชุมกัน เพราะทรงมีปฏิภาณเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เหตุที่ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะมีปัญหาข้อสงสัยใดๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเทวดา ไม่ว่าจะเป็นพรหมบุคคลก็ตาม พระผู้มีพระภาคพร้อมที่จะทรงแสดงธรรมกับบุคคลนั้น เพราะทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องมีการตระเตรียมก่อนเลย

พระผู้มีพระภาคนั้น ไม่มีกิจรจนาเตรียมไว้ก่อน เปรียบเหมือนทานเป็นต้น พระองค์ทรงแสดงธรรมไปตามเหตุการณ์ ด้วยเหตุนี้ท่านพระอานนท์จึงแสดงคำนี้ไว้ว่า ก็เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ก็แลเรื่องนั้นหาได้ทรงประมวลมาด้วยตรรกะ คิดไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยอำนาจการรจนาไว้ก่อนไม่ โดยที่แท้แล้วพระองค์ตรัสขึ้นมาอย่างฉับพลัน เหมาะสมแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์เลยทีเดียว

อีกอย่างหนึ่ง พระดำรัสไม่มีใครปฏิวัติได้

เป็นความจริง พระดำรัสใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ก็เป็นอันตรัสแล้วทีเดียว ใครๆ ไม่สามารถจะคัดค้านพระดำรัสนั้นได้ เพราะพยัญชนะสมบูรณ์ และอรรถก็สมบูรณ์ด้วย สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สมณะหรือพราหมณ์จะปฏิวัติไม่ได้

ท่านกล่าวไว้อีกข้อหนึ่งว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พึงมากล่าวในที่นี้ว่า ทุกข์ใดที่ พระสมณโคดมบัญญัติไว้ ทุกข์นี้ไม่ใช่อริยสัจ ข้อที่เราตถาคตจักเว้นทุกขอริยสัจนี้ แล้วบัญญัติทุกข์อื่นว่าเป็นอริยสัจ ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ดังนี้ เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ ๒ ครั้ง ก็เพื่อแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ไม่มีใครปฏิวัติได้

ใครสามารถเปลี่ยนทุกข์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ เป็นอย่างอื่นได้ มีไหม ไม่มีเลย ไม่ว่าในกาลไหนๆ

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มิใช่สัพพัญญู ไม่รู้อาสยะคืออัธยาศัยเป็นต้นของบุคคลเหล่าอื่น กล่าวคำใดไม่ถูกเทศะ หรือไม่ถูกกาละ คำนั้นแม้จะเป็นคำจริงก็ไม่ชื่อว่ากล่าวไว้เลย เพราะไม่สามารถในอันให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปใยถึงคำที่ไม่จริงเล่า

นี่คือการพิจารณาคำที่ได้ยินได้ฟัง คือ นอกจากจะพิจารณาว่า คำนั้นจริง หรือเปล่า ถูกต้องหรือเปล่า มีเหตุผลหรือเปล่า สำหรับบางกาลยังต้องพิจารณาว่า เหมาะควรแก่กาลนั้นหรือเปล่าด้วย เพราะถ้าไม่เหมาะควรแก่กาล คำนั้นแม้เป็น คำจริง ก็ไม่ชื่อว่ากล่าวไว้เลย เพราะถ้าคนฟังไม่ตั้งใจฟัง คำจริงนั้นก็เหมือนกับ ไม่ได้กล่าว คือ คนฟังก็ไม่ได้รับฟัง ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ตั้งใจด้วย จึงจำไม่ได้ เพราะฉะนั้น คำที่กล่าวก็เหมือนกับไม่ได้กล่าว เพราะคนฟังไม่เข้าใจ และไม่ได้ประโยชน์จากการฟัง

เพราะฉะนั้น สำหรับคำไม่จริงก็ จะป่วยกล่าวไปใยถึงคำที่ไม่จริง ซึ่งย่อมไม่มีประโยชน์เลย ไม่ว่าจะเป็นในกาลใด หรือว่าในเทศะใด

เปิด  248
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565