แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1466

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๘


. เวลาเกิดมหากุศลจิต ในมหากุศลจิตนั้นก็มีอนุสัยกิเลสอยู่ด้วย ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง ใครที่มีกุศลจิตและไม่มีอนุสัยกิเลส คนนั้นจะไม่มีอกุศลจิตเกิดอีกเลย เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละดวงเดียว จะเอาอนุสัยกิเลสไปฝากไว้ที่ไหนระหว่างที่กุศลจิตเกิด ถ้ากุศลจิตนั้นไม่มีอนุสัยกิเลส

. ความเข้าใจเดิมของผมก็เชื่ออย่างนั้น คือ ในขณะที่จิตเป็นกุศลนั้น มีอนุสัยแน่ๆ แต่อนุสัยนั้นไม่เกิด เพราะขณะนั้นจิตเป็นกุศลอยู่

สุ. กิเลสมีอย่างละเอียด อย่างกลาง และอย่างหยาบ

. อนุสัยดับได้ด้วยอริยมรรค แต่เท่าที่ได้ฟังมา บางแห่งพูดว่า ในขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นวิบาก หรือเป็นกิริยาซึ่งเป็นอัพยากตธรรม ที่แปลว่าเป็นธรรมที่ไม่เป็นบุญเป็นบาป ในขณะนั้นอนุสัยไม่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เขาพูดว่าอย่างนี้

สุ. ขณะที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นไม่เป็นอนุสัย แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไม่มีอนุสัย

. ขณะที่เป็นกุศลจิต ไม่เป็นอนุสัย

สุ. เพราะว่าเป็นฝ่ายกุศล อย่างโลภมูลจิตเกิดขณะหนึ่งและดับไป จะสะสมเป็นอนุสัยสืบต่อเพิ่มขึ้นอีก แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด เช่น ทานกุศล ศีลกุศล หรือการฟังธรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ธรรมที่เป็นอกุศลที่จะนอนเนื่องเป็นอนุสัย

. ในฝ่ายกุศล เรียกว่าเป็นบารมี ใช่ไหม

สุ. ถ้าเป็นกุศลที่ทำให้ถึงฝั่งคือนิพพาน เพราะว่าบางคนไม่รู้จักนิพพาน ไม่ต้องการนิพพาน

การฟังธรรม ต้องพิจารณาว่า ฟังทำไม ฟังเพื่ออะไร หรือแม้แต่การ ปฏิบัติธรรมก็ต้องรู้ว่าเพื่ออะไร ถ้ายังพอใจในกิเลส ชอบกิเลส ซึ่งทุกคนยังชอบ โลภะนี่ชอบมากๆ แต่ในขณะเดียวกันต้องมีความเห็นถูกว่า ต้องการที่จะละด้วย แม้ว่ายังชอบอยู่ คือ ยังละไม่ได้ แต่ก็ต้องการที่จะดับ จะดับเมื่อไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นผู้ที่เห็นโทษของกิเลส

เพราะฉะนั้น ในขณะที่ศึกษาธรรมเพื่อวันหนึ่งจะดับกิเลสทั้งๆ ที่ยังชอบ แต่ต้องการที่จะให้ดับได้ในวันหนึ่ง แต่บางคนชอบและไม่ต้องการดับเลยก็มี ใช่ไหม

ถ. อย่างนั้นไม่เป็นบารมี

สุ. จะทำกุศลใดๆ ก็ไม่เป็นบารมี เพราะว่าไม่ต้องการที่จะดับกิเลสเพราะฉะนั้น มีอัธยาศัยมากมายในโลกนี้ ที่แต่ละคนสะสมมา สะสมมาที่จะพอใจ ในกิเลสทั้งหลาย แม้แต่โลภะก็ชอบให้มีมากๆ หรือโทสะบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ควร เป็นสิ่งที่ถูก เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะฉะนั้น ก็ยังหวงแหน ยังคิดว่า ควรจะมี

เป็นการแสดงให้เห็นว่า บางท่านแม้มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ก็ยังอยากจะมีต่อไป บางท่านแม้รู้ตัวเองว่ายังมี แต่ต้องการที่จะดับ แม้ยังดับไม่ได้ แต่ก็ศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้ถึงการดับได้ ท่านเหล่านี้จะศึกษาธรรมอย่างเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะจะเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมที่ตน และเห็นอกุศลธรรมตามความเป็นจริง และ มีความเพียรที่จะขัดเกลาให้เบาบาง ด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เพราะฉะนั้น แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างๆ กันในการฟังธรรม แม้แต่ท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีและสหายของท่านซึ่งเป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์ ๕๐๐ ก็ฟังธรรมและมีความเห็นต่างกัน ทั้งๆ ที่ได้ฟังและได้เห็นพระผู้มีพระภาคด้วยตนเอง ก็ยังเลื่อมใสในลัทธิอื่น ความเห็นอื่นได้

สำหรับความคิดของผู้ที่เป็นปุถุชน ความคิดของผู้ที่ดับกิเลส และความคิดของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมต่างกัน ซึ่งคงจะมีคนสงสัยว่า วันหนึ่งๆ พระผู้มีพระภาคคิดเรื่องอะไรบ้าง เพราะผู้ที่ยังเป็นปุถุชนวันหนึ่งๆ ก็คิดไปในเรื่องของมิตรสหาย เพื่อนฝูง ลาภ ยศ ทรัพย์สมบัติต่างๆ แต่พระผู้มีพระภาคก็ต้องคิด ไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และไม่คิด แต่การคิดของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นไปในเรื่องของวิตก ๒ ประการ คือ ในเขมวิตก ๑ และในวิเวกวิตก ๑

เขมวิตก คือ การตรึกในความไม่เบียดเบียน ด้วยพระมหากรุณาที่ทำให้ ทรงแสดงธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทำให้ความตรึกนั้นเป็นความตรึกซึ่งเป็นที่มาของความยินดี คือ เขมะ ความสบายใจ ไม่มีความเดือดร้อนเลย ถ้าคิดถึงเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส เรื่องทรัพย์สมบัติแล้ว พิจารณาดูว่า ความคิดนั้นต้องเดือดร้อนมาก ไม่เหมือนกับความคิดที่เป็นไปกับความกรุณาและ การไม่เบียดเบียน การเกื้อกูล การอนุเคราะห์

อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาวิตักกสูตร มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคทรงตั้งปณิธานไว้ ที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อความมีว่า

เราบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ประโยชน์อะไรด้วยเราผู้เป็นบุรุษ มีกำลังใจจะข้ามไปผู้เดียว จักยังมนุษย์พร้อมทั้งเทวดาให้ข้ามบ้าง

เราบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว เป็นบุรุษมีกำลังใจด้วยกุศลของเรานี้ จะให้ชนเป็นอันมากข้ามบ้าง

เราตัดกระแสสงสารได้แล้ว กำจัดภพ ๓ ได้แล้ว ขึ้นสู่เรือคือพระธรรมได้แล้ว จักให้มนุษย์พร้อมด้วยเทวดาข้ามบ้าง

เราบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ประโยชน์อะไรด้วยเราผู้ทำให้แจ้ง พระธรรมด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก เราจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้กับทั้งเทวโลก ดังนี้

แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาที่ทรงอบรมพระบารมี ที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากจะทรงดับกิเลสด้วยพระองค์เองแล้ว ยังถึงพร้อมด้วยพระญาณ ที่จะทำให้สัตว์โลกทั้งหลายได้ฟังพระธรรมตามอัธยาศัย จนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นโลกนาถ ไม่ทรงกล่าวให้ผิดมหาปฏิญญานั้น อัน เป็นเหตุแห่งการค้นคว้าพิจารณาและสมาทาน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้าแม้ทั้งสิ้น เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๓๐ ถ้วน มีทานบารมี เป็นต้นโดยครบบริบูรณ์เป็นลำดับด้วยความเคารพ ตลอดสี่อสงไขยกับแสนมหากัป ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ มีบริจาคอวัยวะเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนอธิฏฐาน ๔ มีสัจจาธิฏฐานเป็นต้น ทรงสั่งสมบุญสมภารและญาณสมภาร ทรงยังความเพียร ในเบื้องต้น ประพฤติธรรมในเบื้องต้น ทรงบอกธรรม และทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติเป็นต้นให้ดียิ่งขึ้น ทรงบรรลุพุทธจริยาอันเป็นที่สุดอย่างยิ่ง แล้วจึงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ฉะนั้น มหาปฏิญญานั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงจริงแท้ ไม่เป็นอย่างอื่น ความไม่จริงแท้แม้เพียงปลายขนทราย ย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาค

แต่ผู้ที่ไม่ได้สะสมมาที่จะเข้าใจถูก ก็ยังเห็นผิดได้ แม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงพระธรรมที่บุคคลอื่นไม่สามารถกระทำได้อย่างพระองค์ คือ

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูวิธีที่ควรแสดงอย่างนั้นๆ แห่งธรรม เหล่านั้นๆ และอัธยาศัย กิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน และความพอใจในความประพฤติของสัตว์เหล่านั้นๆ ไม่ทรงละความเป็นธรรม ไม่ทรงเร่งรีบให้เป็นไปเพียงโวหาร ทรงประกาศความเป็นธรรม ทรงพร่ำสอนตามความผิด ตามอัธยาศัย และตามความเป็นธรรม ทรงแนะนำแล้วให้เวไนยสัตว์บรรลุถึงอริยภูมิ

การฟังพระธรรมไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องรีบจบ เพราะว่าพระธรรมศึกษาเท่าไรก็ ไม่จบ ตลอดชีวิต ทุกชาติๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงเร่งรีบให้เป็นไปเพียงโวหาร ถ้าจะกล่าวถึงธรรมอย่างเร่งรีบให้จบ แต่ไม่เข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์ อย่างเรื่องเสียง โสตวิญญาณที่กำลังได้ยิน ซ้ำไปซ้ำมาเพื่อให้ระลึกได้ว่า ในขณะนี้เองเรื่องเสียงก็สำคัญ สำคัญเพราะทำให้จิตใจหวั่นไหว ซึ่งบางคนหวั่นไหวถึงกับกระทำทุจริตกรรมก็ได้ เพราะว่าต้องการลาภ หรือต้องการยศ หรือต้องการสรรเสริญ ต้องการความสุขต่างๆ ที่จะให้ได้มาแม้ในทางทุจริต ก็เป็นเพราะเสียงได้

การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคต่างกับบุคคลอื่นในขณะที่ทรงแสดงธรรม

ข้อความต่อไปมีว่า

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดกาลโดยส่วนเบื้องต้นในขณะที่บริษัทให้สาธุการ หรือตรองธรรมแล้ว ทรงเข้าพลสมาบัติในขณะหายใจเข้าหายใจออก

อนึ่ง เมื่อหมดเสียงซ้องสาธุการ ทรงออกจากสมาบัติ ในที่สุดการตรองธรรมของพุทธบริษัทที่กำลังฟังในขณะนั้น จึงทรงแสดงธรรมเริ่มตั้งแต่ตอนที่ทรงพักไว้

จริงอยู่ ภวังคจิตของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายสั้น เร็ว คือ น้อยนั่นเอง

อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณี นิทานกถา ว่าด้วยการเปรียบกับสาคร มีข้อความที่แสดงว่า ภวังคจิตของพระผู้มีพระภาคเร็ว คือ สั้นและน้อยมาก

ข้อความมีว่า

เพราะริมพระโอษฐ์เรียบสนิทดี พระชิวหาอ่อนคล่องพระโอษฐ์ พระสุรเสียงไพเราะ พระวาจาเปล่งได้เร็ว เพราะฉะนั้น แม้พระธรรมอันพระองค์ทรงแสดงแล้วเพียงครู่หนึ่งนั้น จึงได้มีประมาณเท่านี้

คือ เทียบกาลที่เพียงในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาภัตของพุทธบริษัท และต่อไปจากนั้นอีกเพียงเล็กน้อย จะทรงแสดงพระธรรมได้ทั้งทีฆนิกายและ มัชฌิมนิกาย เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วตลอด ๓ เดือนที่ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงประมาณไม่ได้เลย

สำหรับท่านพระอานนท์ ท่านเป็นผู้ที่สามารถรับฟังได้เร็วมาก ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี มีว่า

จริงอยู่ ท่านพระอานนท์เถระเป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎก ยืนอยู่แล้ว โดยท่าที่ยืนนั่นแหละ ย่อมเรียน ย่อมบอก ย่อมแสดงคาถา ๑๕,๐๐๐ คาถา บทธรรม ๖๐,๐๐๐ บท เหมือนชนผู้ดึงดอกไม้ทั้งกิ่ง ธรรมมีประมาณเท่านี้ ชื่อว่า เป็นอุทเทสมรรคของท่านพระเถระ เพราะว่าบุคคลอื่นเมื่อให้อุทเทสตามลำดับบท แก่ท่านพระเถระ ย่อมไม่อาจเพื่อจะให้ (คือ บอกให้ไม่ทัน) พระผู้มีพระภาคเท่านั้น พึงให้สมบูรณ์

บางท่านบอกว่าเร็วไป ฟังแล้วรับไว้ไม่ได้ทั้งหมด หรือไม่เข้าใจ แต่การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคแม้ว่าจะเร็วเท่าไหร่ ท่านพระอานนท์ก็สามารถรับไว้ได้

ข้อความใน อรรถกถาโลภสูตร มีว่า

ท่านพระอานนท์มีกายปโยคะและวจีปโยคะบริสุทธิ์ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะไม่มีวิปฏิสาร (คือ ความเดือดร้อนใจ) จึงเป็นผู้แกล้วกล้าในปริยัติ ถ้อยคำของท่าน พระอานนท์ผู้มีปโยคะและอาสยะบริสุทธิ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยอาคมและอธิคมดังว่ามานี้ สมควรที่จะเป็นคำนำแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค เหมือนอรุณขึ้นควรมีก่อน พระอาทิตย์ขึ้น และโยนิโสมนสิการก่อนกุศลธรรม

เป็นเรื่องของการฟังทั้งนั้นว่า การฟังของแต่ละบุคคลต่างกันตามการสะสม นอกจากเรื่องการฟัง ก็เป็นเรื่องของการพูด เพราะถ้าไม่มีการพูด การฟังก็ไม่มี บางคนพูดเรื่องไม่จริงเหมือนเรื่องจริง และบางคนก็พูดเรื่องจริงเหมือนเรื่องไม่จริง

แสดงให้เห็นว่า การพูดมีหลายอย่างจริงๆ ตามอัธยาศัยที่สะสมมา เพราะฉะนั้น เพียงเสียงกระทบหู และมีการได้ยินเรื่องราวต่างๆ ย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้มากน้อยตามแต่การที่แต่ละท่านจะพิจารณาในแต่ละวัน ซึ่งถ้าขาดการพิจารณาจะไม่ทราบเลยว่า จิตหวั่นไหวไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมมากขึ้น ก็จะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากขึ้น และในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์น้อยลง

ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มีว่า

ก็บทว่า มุนี ความว่า มุนีมีหลายอย่าง คือ อาคาริยมุนี ๑ อนาคาริยมุนี ๑ เสกขมุนี ๑ อเสกขมุนี ๑ ปัจเจกมุนี ๑ มุนิมุนี ๑

ในมุนีเหล่านั้น คฤหัสถ์ผู้บรรลุผล ผู้รู้แจ้งคำสอน ชื่อว่าอาคาริยมุนี

คือ พระอริยบุคคลที่ไม่ใช่บรรพชิต ชื่อว่าอาคาริยมุนี

บรรพชิตเช่นเดียวกันนั้น คือ ผู้ที่รู้แจ้งคำสอน ชื่อว่าอนาคาริยมุนี พระเสกขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสกขมุนี พระอรหันต์ชื่อว่าอเสกขมุนี พระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าปัจเจกมุนี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่ามุนิมุนี

ทุกคนอยากจะให้คนอื่นๆ และตัวท่านเองพูดน้อยลงบ้างไหม หรือพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น และลดการพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ลง เริ่มตั้งแต่การเป็น พระโสดาบันด้วยการไม่พูดมุสาวาทเลย คำที่ไม่จริงพระอริยบุคคลไม่พูด

ขอกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาเทวทัตตสูตร มีว่า

เมื่อท่านพระเทวทัตตกอเวจีมหานรกแล้ว ภิกษุผู้เป็นพวกของพระเทวทัตและพวกอัญญเดียรดีย์ทั้งหลายได้พากันโพนทะนาว่า พระเทวทัตถูกพระสมณโคดมสาปแช่งจึงถูกแผ่นดินสูบ คนทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว พวกไม่เลื่อมใสในพระศาสนาเกิดความสงสัยขึ้นว่า ข้อนี้จะพึงเป็นเหมือนที่คนทั้งหลายพูดหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพฤติการณ์นั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นนั้นพระผู้มีพระภาค เมื่อจะตรัสปฏิเสธความเข้าใจผิดของคนเหล่านั้นว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ให้การสาปแช่งแก่ใครๆ เพราะฉะนั้น พระเทวทัตจึงไม่ใช่ถูกเราตถาคตสาปแช่ง พระเทวทัตตกนรกโดยกรรมของตน นั่นแหละ ดังนี้

จึงตรัสพระสูตรนี้โดยเป็นเหตุเกิดเรื่องนี้

ถ้าเป็นในสมัยนี้ จะเห็นได้ว่า ความเห็นในพระศาสนามีต่างๆ มากมาย และไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะในสมัยนี้ แต่มีตั้งแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ยังมีผู้ที่โพนทะนาว่า ท่านพระเทวทัตถูกพระผู้มีพระภาคสาปแช่งจึงถูกแผ่นดินสูบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่พวกท่านพระเทวทัตและพวกอัญญเดียรถีย์มีความเข้าใจอย่างนั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

พระเทวทัตนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่รู้ประมาณของตน ถึงความประมาท โดยแต่งตั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เสมอกับตนว่า ถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นศากยบุตร แม้เราก็เป็นศากยบุตร ถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นพระสมณะ แม้เราก็เป็นพระสมณะ ถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้มีฤทธิ์ แม้เราก็เป็นผู้มีฤทธิ์ ถึงพระพุทธเจ้าจะมีทิพจักษุ แม้เราก็มีทิพจักษุ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะมีทิพโสต แม้เราก็มีทิพโสต ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะได้ เจโตปริยญาณ แม้เราก็ได้เจโตปริยญาณ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะรู้ธรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน แม้เราก็รู้ธรรมเหล่านั้น ดังนี้ กระทบกระทั่ง เบียดเบียน พระผู้มีพระภาค เพราะถูกมารดลใจ (ให้ฮึกเหิม) ว่า บัดนี้เราจักเป็นพระพุทธเจ้า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์

อาศัยความประมาท ท่านจึงเสื่อมคลายจากฌานและอภิญญา พร้อมกับ จิตตุปบาทที่วางตนคู่กัน (ตีเสมอ) กับพระผู้มีพระภาคทีเดียว

เปิด  256
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565