แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1468
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๘
อย่างท่านผู้หนึ่ง เมื่อกี้ก็สนทนากัน ท่านบอกว่า เรื่องของการปฏิบัติต่างคนก็ต่างเชื่อว่า ข้อปฏิบัติของตนถูก ก็เป็นความจริง ถ้าไม่เชื่อว่าถูกก็คงไม่ยึดถือใน ข้อปฏิบัตินั้น แต่การที่จะพิจารณาให้เห็นว่าเป็นข้อปฏิบัติถูกหรือผิด ต้องพิจารณาว่าเป็นข้อปฏิบัติที่สามารถพิสูจน์ได้ในขณะนี้หรือเปล่า ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูก
ถ้าเป็นเรื่องของการเห็น การได้ยิน ที่พิสูจน์ได้ในขณะนี้ ซึ่งเป็นของจริง ต้องเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ถ้าสามารถทำให้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของเห็น ของได้ยิน ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู เป็นต้นในขณะนี้ นั่นเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก
และถามว่า ท่านผู้อื่นเห็นด้วยหรือเปล่า ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงและ กำลังปรากฏ ถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ โดยดับกิเลสด้วย ถ้ายังไม่ได้ดับกิเลส ก็หมายความว่า ความเห็นถูกเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่พอ เพียงแต่ทราบว่าจักขุวิญญาณคืออะไร ขณะไหน แต่โลภะยังมี ความสำคัญยึดถือในความเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ทางตายังมี ก็แสดงว่า ความเห็นถูกนั้นยังไม่พอ จะต้องอบรมเจริญต่อไป แต่เป็นธรรมที่พิสูจน์ได้ อบรมได้ เจริญได้ เพราะว่าขณะนี้ก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน
ท่านผู้นั้นก็บอก แต่บางท่านที่ปฏิบัติแบบอื่น เขาสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า ดิฉันก็ได้เรียนให้ทราบว่า ไม่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ข้างหน้ายัง ไม่เกิดขึ้น ยังไม่มาถึง แต่ถ้าไม่สามารถรู้กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ หรือสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้ ข้อปฏิบัตินั้นจะชื่อว่าถูกได้อย่างไร
ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ปัญญาต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่รู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่ไม่รู้เห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร
เพราะฉะนั้น แต่ละคนสะสมมาที่จะมีอัธยาศัยต่างๆ กัน เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นปรมัตถธรรม เป็น อกุศลเจตสิก ซึ่งมีปัจจัยที่จะเกิดตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แม้ พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดด้วยประการต่างๆ แต่คนที่สะสมมาที่จะเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิด ก็ย่อมจะต้องเข้าใจผิด เห็นผิด และปฏิบัติผิดตามการสะสมของบุคคลนั้นๆ
ถ. ความจริงการศึกษาปริยัติจนกระทั่งเป็นขุนคลัง น่าจะมีประโยชน์
สุ. การศึกษาของพระอรหันต์เท่านั้นที่จะเป็นขุนคลัง คนที่ยังไม่เป็น พระอรหันต์ การศึกษาเพื่อเป็นที่พึ่ง นิสสรณัตถปริยัติ คือ เพื่อจะได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามโดยถูกต้องจนกว่าจะดับกิเลสได้ นั่นคือมีปริยัติเป็นที่พึ่ง เป็นประโยชน์ เป็นนิสสรณัตถะ
ถ. การศึกษาข้อที่ ๑ อลคัททูปมปริยัติ เป็นการศึกษาเพื่อนำไปโต้แย้งกัน
สุ. เพื่อโต้แย้ง และเพื่อจะให้เห็นว่า ตนเองเป็นฝ่ายถูก
ถ. ข้อที่ ๒ นิสสรณัตถะ ศึกษาเพื่อเป็นที่พึ่ง ข้อที่ ๓ ภัณฑาคาริกปริยัติ สำหรับพระอรหันต์
สุ. นิสสรณัตถะ ศึกษาเพื่อให้พระธรรมเป็นที่พึ่ง ภัณฑาคาริกปริยัติ สำหรับพระอรหันต์ เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง เพราะถ้าท่านไม่ศึกษา ไม่มีการสืบๆ ต่อๆ กันมา พระธรรมต้องสูญไป
ถ. นอกจากเสียงจะปรากฏทางโสตทวารได้แล้ว เสียงยังมีโอกาสสืบต่อปรากฏทางมโนทวารได้ ถ้ามโนทวารวิถีขณะนั้นชวนะเป็นมหากุศล สติที่เกิดขึ้น ในขณะนั้นจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่เป็นเสียงได้ไหม
สุ. แน่นอน เพราะว่าไม่มีอารมณ์ใดๆ ที่ทางมโนทวารวิถีจะไม่รู้
ถ. อีกกรณีหนึ่ง ถ้าเสียงปรากฏกับมโนทวารโดยตรงไม่ผ่านทางปัญจทวาร เช่น ในฝัน ถ้าสติเกิด จะรู้ลักษณะของรูปธรรมได้เหมือนกัน ใช่ไหม
สุ. ในขณะฝัน เสียงไม่ได้กระทบกับโสตปสาท เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เสียงที่เป็นอารมณ์ของมโนทวารวิถีในขณะที่ฝัน แต่เป็นการคิดนึกด้วยสัญญา ความจำ
ทุกท่าน แม้ในขณะนี้ ก็มีภวังคจิตคั่นระหว่างวาระหนึ่งๆ ทางโสตทวารวิถีกับมโนทวารวิถี หรือจักขุทวารวิถีกับมโนทวารวิถีก็มีภวังค์คั่น แต่ในขณะที่ฝัน ภวังค์ คั่นมาก และมีจิตทางมโนทวารวิถีเกิดขึ้นด้วยสัญญา ความจำ ทำให้วิตกเจตสิก ตรึกถึงเรื่อง
ในฝันนี่เต็มไปด้วยเรื่อง เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีตรึกถึงเรื่อง ถ้าได้ยินเสียงเฉยๆ และไม่คิดถึงความหมายของคำใดๆ ทั้งสิ้น จะไม่รู้เรื่องเลย ใช่ไหม ฟังเฉยๆ ไม่นึกถึงความหมาย จะไม่มีเรื่องราวใดๆ เลยทั้งสิ้น ฉันใด เวลาที่นึกถึงเรื่องราว ต่างๆ ขณะนั้นเป็นเพราะสัญญา ความจำ ในขณะที่กำลังฝัน มโนทวารวิถีจิตมี วิตกเจตสิกที่ตรึกถึงเรื่องโดยสัญญา ความจำในเสียง เหมือนในขณะนี้ทุกอย่าง
ขณะนี้ท่านผู้ฟังจะคิดอะไรก็ได้ คิด เป็นสัญญา ความจำของเสียง แต่ไม่ใช่ว่ามีเสียงกระทบกับโสตปสาทจริงๆ ในขณะที่เงียบ ไม่มีเสียงกระทบกับโสตปสาทเลย แต่คิดเรื่องต่างๆ เรื่องต่างๆ ทั้งหมด เป็นเพราะสัญญา ความจำในเสียงที่เป็นเรื่อง เพราะฉะนั้น เวลาที่มีเรื่องราวต่างๆ ก็คือสัญญา ความจำในเสียงซึ่งเป็นเรื่อง ในขณะที่ฝัน ไม่ใช่เสียงกระทบกับโสตปสาท แต่เป็นทางมโนทวารวิถีเท่านั้น
ถ. ผมเคยอ่านพบ สัททารมณ์สามารถเป็นอารมณ์ของมโนทวารวิถีได้ รู้สึกว่ามี ๒ กรณี คือ รับสัททารมณ์ต่อจากโสตทวารวิถี กับรับโดยตรง คือ ตรึกขึ้นมาเอง เป็นวิตกเจตสิกกับสัญญาเจตสิกที่มีสัททารมณ์เป็นอารมณ์ในขณะนั้น ผมสงสัยว่า เวลาที่เรานึกด้วยวิตกเจตสิกหรือสัญญาเจตสิก สภาพที่เป็นอารมณ์ของจิตน่าจะเป็นนามธรรม ทำไมใช้คำว่า สัททารมณ์
สุ. ถ้าไม่มีโสตปสาท จะมีการได้ยินไหม คิดถึงปัจจัยของโสตวิญญาณ คือจิตที่ได้ยินเสียงก่อนว่า ถ้าไม่มีโสตปสาทจะมีการได้ยินไหม
ถ. ก็คงไม่มี
สุ. ไม่มี เพราะฉะนั้น เวลาที่โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้เสียงที่กระทบกับ โสตปสาทที่ยังไม่ดับ จิตที่รู้เสียงที่ยังไม่ดับทุกดวงเป็นโสตทวารวิถีจิต คือ เกิดขึ้นโดยอาศัยหูหรือโสตะเป็นทวารทำให้รู้เสียงนั้น เมื่อเสียงนั้นดับไปแล้วก็จริง ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อคั่นแล้วก็จริง การได้ยินเสียงทางโสตทวารวิถีที่ดับไปเป็นปัจจัยให้ มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรับรู้เสียงที่เพิ่งดับนั่นเองเป็นอารมณ์ต่อ นี่เป็นการเป็นไปอย่างรวดเร็วของจิตซึ่งไม่มีใครสามารถจะยับยั้งได้เลย ถ้าหยดน้ำลงไปที่กระดาษที่บางที่สุดที่ซ้อนกัน ๒ แผ่น ทันทีที่น้ำหยดลงไปที่กระดาษแผ่นที่ ๑ ก็จะถึงกระดาษแผ่นที่ ๒ นั่นเป็นลักษณะของรูปธรรมซึ่งหยาบกว่าลักษณะของนามธรรม หรือจะอุปมาว่า เหมือนเวลาที่นกบินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะกิ่งไม้ เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดินพร้อมๆ กัน นั่นคือการเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมากของทางปัญจทวารวิถีกับ ทางมโนทวารวิถี แม้ว่ามีภวังคจิตเกิดดับสลับคั่นอยู่
เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญ คือ ตามปกติธรรมดาของจักขุปสาท หรือโสตปสาท ย่อมเป็นปัจจัยตามควรแก่สภาพของจักขุปสาทและโสตปสาทนั้นๆ และ มโนทวารวิถีจิตก็รับต่อเป็นปกติ และแม้ในกรณีพิเศษ เช่น จักขุทิพย์หรือโสตทิพย์ ก็ตาม ถ้าบุคคลนั้นไม่มีจักขุปสาทหรือโสตปสาท ย่อมไม่สามารถมีจักขุทิพย์หรือ โสตทิพย์ได้
แสดงให้เห็นว่า แม้ในขณะที่กำลังรู้อารมณ์ทางมโนทวารเพราะอภิญญาจิต ซึ่งทำให้เกิดจักขุทิพย์หรือโสตทิพย์ ก็ยังต้องอาศัยปัจจัย คือ ต้องมีโสตปสาทและ จักขุปสาทด้วย จะเกิดมีการได้ยินขึ้นลอยๆ ไม่ได้ แต่นั่นเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้ที่ สามารถอบรมความสงบของจิตจนกระทั่งกระทำอิทธิปาฏิหาริย์หรือมีจักขุทิพย์ โสตทิพย์ได้ แต่ถ้าตามปกติธรรมดาก็สามารถรู้ได้ว่า ถ้าเสียงไม่กระทบกับโสตปสาทจริงๆ จะให้เกิดมีการได้ยินขึ้นทางมโนทวาร ก็เป็นการนึกเท่านั้น
และที่ทางมโนทวารรับอารมณ์ต่อจากทางโสตทวารได้ เป็นเพราะความรวดเร็วของจิตที่แม้ว่าอารมณ์นั้นจะดับไป ตามปกติธรรมดาจะมีเสียงบางเสียงที่แสดงให้เห็นว่าเกิดดับสืบต่ออยู่ แต่ถึงแม้ว่าเสียงนั้นจะดับโดยไม่มีการสืบต่อ แต่เมื่อเป็นการกระทบกับโสตปสาทแล้ว โสตทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดสืบต่อรับรู้อารมณ์นั้นทุกครั้ง
ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในยามตื่นหรือยามหลับก็ตาม ถ้าพิจารณา จะเห็นลักษณะที่เป็นอนัตตาของทุกๆ ขณะ เช่น ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ อาจจะได้ยินเสียงซึ่งไม่คิดว่าจะได้ยิน ไม่ได้มีความต้องการใดๆ ที่จะได้ยิน แต่เมื่อมีปัจจัย คือ เสียงนั้นเกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาท จึงมีการได้ยินเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่น แสดงความเป็นอนัตตาของ สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ การคิดนึกบังคับบัญชาไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าเมื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความคิดนึกของแต่ละคนจะต่างกันอย่างไรก็เพราะการสะสมสืบต่อที่เคยคิดอย่างนั้นในสิ่งนั้นๆ ต่อไปจนกระทั่งถึงเวลาหลับ ก็ไม่ได้ตั้งใจหรือคิดที่จะฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้เลย แต่การสะสมเรื่องราวต่างๆ ทางตาที่เห็น และทางหูที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือ วิถีจิตต่างๆ เกิดขึ้นสลับกับภวังคจิต
สำหรับขณะที่ฝัน ก็เป็นขณะที่ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อเป็นระยะยาวนานกว่าเวลาที่ตื่น ขณะที่ตื่นความจริงก็ไม่ต่างอะไรกับขณะที่หลับ เพียงแต่ภวังคจิตสั้น น้อยกว่า เพราะว่ามีอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกระทบกับตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตาในขณะที่ไม่หลับ และวิถีจิตทางจักขุทวารดับหมด ภวังคจิตเกิดไม่นาน มโนทวารวิถีจิตก็เกิดสืบต่อ ทางหูที่ได้ยินเสียง เมื่อโสตทวารวิถีดับไปหมด ภวังคจิตคั่นไม่นาน มโนทวารวิถีจิต ก็รับรู้เรื่องเสียงนั้นต่อ
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ตื่น ก็คือ มีอารมณ์ต่างๆ ทางปัญจทวารกระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กายจริงๆ และทางมโนทวารวิถีก็รับต่อแต่ละวาระ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่เหมือนกับในขณะที่หลับ เพราะในขณะที่หลับนั้น ภวังคจิตเกิดมาก และไม่ได้รับรู้อารมณ์ทางตาจริงๆ ทางหูจริงๆ
แต่ในวันหนึ่งๆ ที่เคยเห็นตลอดเวลามาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงคืนนั้น หรือรวมถึงในสังสารวัฏฏ์มาด้วย ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ การสะสมสืบต่อ ความ ทรงจำต่างๆ ทำให้จิตเกิดคิดนึกแทรกสลับกับภวังคจิต ทำให้ปรากฏเป็นความฝัน แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นแต่เพียงสัญญา ความจำ พร้อมกับวิตกเจตสิกซึ่งตรึกถึงเรื่องราวต่างๆ ด้วยความจำในสิ่งที่เคยเห็นทางตา และในเรื่องที่เคยได้ยิน คือ ความจำ ในเสียงและเรื่องราวต่างๆ ทางหู
เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณา ทั้งหลับทั้งตื่นก็คือสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา แล้วแต่ว่าแต่ละคนสะสมมาที่จะมีกุศลวิตกมาก หรืออกุศลวิตกมาก ถ้ามีอกุศลวิตกมาก ความฝันย่อมเต็มไปด้วยเรื่องของอกุศลทั้งนั้น โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล แต่บางครั้งบางคราวในฝันนั้น ก็เป็นกุศลจิตที่ฝันเป็นไปในเรื่องของกุศลได้ ซึ่งทุกท่าน จะได้พิจารณารู้จักตนเองตามความเป็นจริง พิสูจน์ได้แม้จากความฝันว่า กุศลจิตเกิดมาก หรืออกุศลจิตเกิดมาก
ถ. เท่าที่ศึกษาเล่าเรียนมา อานาปานสติ จะเป็นอานาปานสติสมาธิก็ได้ หรือเป็นสติปัฏฐานก็ได้ มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวกับ พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่งคืออานาปานสติสมาธิแล เมื่อทำให้เกิดขึ้น ทำให้มากขึ้น จะทำให้สติปัฏฐาน ๔ เต็มบริบูรณ์ ข้อความนี้ทำให้คิดว่า ต้องเจริญอานาปานสติสมาธิก่อน จึงจะทำให้สติปัฏฐาน ๔ เต็มบริบูรณ์ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย อานาปานสติสมาธิในที่นี้
สุ. อานาปานสติสมาธิในที่นี้ ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ
ถ. ต้องเป็นสัมมาสมาธิแน่นอน
สุ. ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ในขณะนั้น สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอานาปานสติสมาธิก็ได้ รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง
ถ. อานาปานสติสมาธิ ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
สุ. ใช่ แต่ต้องเป็นสัมมาสมาธิ
ข้อสำคัญที่จะพิจารณาเรื่องของสมาธิ คือ มีมิจฉาสมาธิด้วย ไม่ใช่มีแต่สัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสัมมาสมาธิ คือ ผู้ที่รู้ว่ามิจฉาสมาธิคืออย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่ไม่สนใจในเรื่องของมิจฉาสมาธิ เพียงแต่ได้ยินคำว่า สมาธิ และอยากจะทำ จะไม่รู้เลยว่า ที่กำลังทำนั้นเป็นมิจฉาสมาธิหรือเป็นสัมมาสมาธิ
การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่กระทำไปด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะว่าสมถภาวนา คือ การอบรมจิตให้สงบขึ้น ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา สติสัมปชัญญะจะ ไม่สามารถระลึกได้ว่า จิตในขณะนั้นที่เป็นกุศลต่างกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างไร ถ้า ไม่มีความเข้าใจถูก ย่อมไม่สามารถให้จิตสงบยิ่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะนั้นสมาธิที่ทำก็เป็นมิจฉาสมาธิได้
ผู้ที่จะเป็นสัมมาสมาธิ คือ ผู้ที่รู้ว่ามิจฉาสมาธิต่างกับสัมมาสมาธิอย่างไร ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยเลย เพียงแต่ต้องการให้จิตตั้งมั่น จดจ่อที่หนึ่งที่ใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความต้องการและมีความตั้งมั่นขึ้น ขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะว่าไม่รู้สภาพของจิตที่สงบที่เป็นกุศล ซึ่งจะสงบยิ่งขึ้นได้ ด้วยปัญญาที่พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ทำให้จิตสงบขึ้นๆ ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด