แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1480
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๘
วันนั้นก็เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เต็มดวง มหาชนตีฆ้องร้องป่าวให้ ชาวพระนครพาราณสีไปดูลีลาบริโภคภัตตาหารของคันธเศรษฐี สหายชาวพระนครก็ได้ถามสหายชาวชนบทว่า เคยเห็นลีลาบริโภคภัตตาหารของท่านคันธเศรษฐีบ้างไหม สหายชาวชนบทก็บอกว่า ไม่เคยเห็นเลย สหายชาวพระนครก็ชวนให้สหายชาวชนบทไปดู
พอไปถึงเขาก็เห็นมหาชนทั้งหลายนั่งบนเตียงน้อยเตียงใหญ่ แล้วกลิ่นภัตตาหารก็หอมฟุ้งตลบ สหายชาวชนบทก็บอกสหายชาวพระนครว่า อยากบริโภคอาหารในถาดของท่านเศรษฐีเหลือเกิน ทำอย่างไรถึงจะได้บริโภคบ้างแม้เพียงสักคำ ก็ยังดี สหายชาวพระนครก็บอกว่า อย่าเลย ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ สหายชนบท ก็บอกว่า ถ้าไม่ได้บริโภคอาหารของท่านคันธเศรษฐีแล้วต้องตายแน่ๆ
นี่คือการติดในรส ที่เพียงได้กลิ่นก็มีความอยากที่จะบริโภคอาหารนั้น แม้เพียงคำเดียว ซึ่งถ้าไม่ได้บริโภคก็ต้องตายแน่ๆ
สหายชาวพระนครนั้น จะห้ามสหายชาวชนบทสักเท่าไรก็ห้ามไม่ได้ และถึงแม้ว่าเขาจะนั่งอยู่ท้ายสุดของบริษัท เขาก็ต้องร้องตะโกนออกมา ๓ ครั้งว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐีเจ้าข้า ข้าพเจ้าไหว้เจ้าข้า
เศรษฐีก็ถามว่า นั่นใคร ชื่ออะไร
เขาก็กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเจ้าข้า
เศรษฐีก็ถามว่า มีเรื่องอะไรรึ
เขาก็กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ชาวชนบทคนหนึ่งอยากบริโภคภัตตาหารในถาดของท่านสักคำหนึ่ง ท่านจงกรุณาให้ทานสักคำหนึ่งเถิดเจ้าข้า
คันธเศรษฐีกล่าวว่า เราให้ไม่ได้
สหายชาวพระนครก็กล่าวกับสหายชาวชนบทว่า ท่านได้ยินถ้อยคำของ ท่านมหาเศรษฐีแล้วไหมล่ะ สหายชาวชนบทก็กล่าวว่า ได้ยินแล้ว แต่ถ้าไม่ได้บริโภคอาหารนั้นจะต้องตายแน่ๆ ถ้าได้บริโภคถึงจะมีชีวิตอยู่ได้
สหายชาวพระนครก็ร้องขึ้นไปใหม่ว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ได้ยินว่า สหายของข้าพเจ้าคนนี้ถ้าไม่ได้ก็จะตายเสียแล้ว ท่านจงให้ทานชีวิตแก่สหายของข้าพเจ้าเถอะ
เศรษฐีก็กล่าวว่า
ชื่อว่าคำข้าวของเราคำหนึ่งนั้น ราคา ๑๐๐ กหาปนะบ้าง ๒๐๐ กหาปนะบ้าง ถ้าใครๆ ขอก็ให้ แล้วเราจะบริโภคอะไรล่ะ
สหายชาวพระนครก็กล่าวว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี แต่สหายของข้าพเจ้านี้ ถ้าไม่ได้บริโภคอาหารของท่าน ก็คงจะตายเป็นแน่แท้ ท่านจงให้ทานชีวิตแก่สหายของข้าพเจ้าเถอะ
คันธเศรษฐีก็กล่าวตอบว่า
เราไม่อาจจะให้เปล่าๆ แต่ถ้าเขามาทำงานบ้านเราได้ ๓ ปี เราจะให้ข้าว ในถาดของเราสำรับหนึ่งแก่เขา
เมื่อบุรุษชาวชนบทได้ฟังอย่างนั้นก็บอกกับสหายว่า เป็นอย่างไรก็เป็นเถอะ แล้วเขาก็รับทำงานในบ้านท่านเศรษฐี แล้วก็จากบุตรภรรยาเข้าไปทำงานในบ้าน ท่านเศรษฐีด้วยความอุตสาหะ ไม่เกียจคร้าน การงานในบ้านไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนเขาก็ทำหมด จนมีชื่อปรากฏไปทั่วพระนคร คนทั้งปวงเรียกเขาว่า ภัตตภติกบุรุษลูกจ้าง ด้วยเหตุที่เป็นลูกจ้างเพราะอยากจะบริโภคภัตตาหารของท่านเศรษฐี
ในวันครบกำหนด ๓ ปี ผู้เป็นไวยาวัจกรใช้สอยของท่านเศรษฐี ก็ได้บอกกับท่านเศรษฐีว่า
ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ครบกำหนด ๓ ปีที่ภัตตภติกบุรุษลูกจ้างผู้นี้ทำการงานแล้ว และการงานที่ลูกจ้างผู้นี้ได้กระทำมาตลอด ๓ ปีนั้น ก็ยากที่ผู้อื่นจะทำได้ เพราะเขาเป็นคนที่ภักดี ไม่เกียจคร้านเลย
ลำดับนั้น เศรษฐีนั้นก็ได้ให้ทรัพย์ ๓,๐๐๐ แก่ภัตตภติกบุรุษ แล้วก็อนุญาตให้ใช้สอยทรัพย์นั้น แล้วก็มอบสมบัติทั้งปวงให้ภัตตภติกบุรุษนั้นเฉพาะในวันนั้น และให้คนในบ้านเป็นบริวารของภัตตภติกบุรุษ ยกเว้นภรรยาอันเป็นที่รักของท่านคนหนึ่งซึ่งชื่อว่าจินดามณี ส่วนภัตตภติกบุรุษก็นั่งเหนือแผ่นกระดานในซุ้มอาบน้ำของท่านเศรษฐี อาบน้ำชำระกายเสร็จแล้วก็นุ่งผ้าสาฎกของท่านเศรษฐี แล้วขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์ของท่านเศรษฐี แล้วให้ตีกลองร้องป่าวไปทั่วพระนครว่า
ภัตตภติกบุรุษ ลูกจ้างของคันธเศรษฐีกระทำการรับจ้างในเรือนครบ ๓ ปี บัดนี้ได้ถาดภัตตาหารแล้ว ท่านทั้งหลายจงมาดูซึ่งการบริโภคภัตตาหารของบุรุษลูกจ้างนั้นเถิด
มหาชนทั้งหลายก็ผูกเตียงน้อยเตียงใหญ่ แล้วก็พากันมาดูการบริโภคภัตตาหารของภัตตภติกบุรุษ
เมื่อภัตตภติกบุรุษแลดูไปในทิศทั้ง ๔ นั้นก็ตื่นเต้น หวั่นไหวอย่างยิ่ง หญิงบำเรอทั้งหลายก็นั่งแวดล้อมเขาโดยรอบ เจ้าหน้าที่อาหารก็ตักอาหารใส่ถาดทองตั้งไว้ข้างหน้าเขา แต่ในขณะที่ภัตตภติกบุรุษล้างมือเพื่อจะบริโภคภัตตาหารนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งอยู่ที่เขาคันธมาศออกจากนิโรธสมาบัติในวันที่ครบ ๗ และพิจารณาดูว่า จะไปบิณฑบาตที่ไหนเพื่ออนุเคราะห์บุคคลใด ท่านก็เห็น ภัตตภติกบุรุษนั้น ซึ่งทำการงานถึง ๓ ปีเพื่อที่จะได้ถาดภัตตาหารของท่านเศรษฐี เมื่อท่านพิจารณาศรัทธาของภัตตภติกบุรุษก็รู้ว่าเขามีศรัทธา และเมื่อภัตตภติกบุรุษถวายภัตตาหารแก่ท่านแล้ว เขาจะได้สมบัติเป็นอันมาก พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงเหาะไปปรากฏอยู่ตรงหน้าภัตตภติกบุรุษ
เมื่อภัตตภติกบุรุษเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงคิดว่า เพราะแต่ก่อนไม่ได้ทำทานไว้ จึงต้องรับจ้างอยู่ในเรือนผู้อื่นถึง ๓ ปี เพื่อจะได้บริโภคภัตตาหารถาดเดียวเท่านี้แหละ ภัตตาหารของเรานี้ก็เพียงรักษาชีวิตไว้ได้ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเราถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมจะรักษาเราไปได้มากกว่าพันโกฏิกัปป์ อย่ากระนั้นเลย เราจะถวายภัตตาหารนี้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
ทำงานมา ๓ ปี และอาหารตั้งอยู่ตรงหน้า ก็ไม่ได้บริโภคสักคำเดียว ทั้งๆ ที่ตอนแรกขอบริโภคเพียงคำเดียวก็พอ แต่ด้วยศรัทธาและเป็นผู้ที่มีปัญญาสะสมมา จึงเห็นว่า ถ้าได้ถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และได้เจริญบุญกุศลอื่นๆ สังสารวัฏฏ์ย่อมจะหมดสิ้นลงได้ในวันหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้าบริโภคอาหารนี้จะรักษาชีวิตไว้ได้เพียงชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าได้ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ย่อมจะทำให้เจริญกุศลอื่น จนกระทั่งรักษาท่านได้มากกว่าพันโกฏิกัปป์
แท้จริงบุรุษผู้นั้นกระทำการรับจ้างอยู่ถึง ๓ ปีจึงได้ภัตตาหารนี้ แล้วยังไม่ได้วางลงในปากแม้เพียงสักว่าคำหนึ่งเลย ก็สู้บรรเทาความอยากเสียได้ ยกถาดภัตตาหารขึ้นด้วยตนเองไปยังพระปัจเจกพุทธเจ้า กราบถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วถือเอาถาดทองด้วยมือข้างซ้าย เรี่ยรายภัตตาหารลงในบาตรด้วยมือข้างขวา เวลาที่ภัตตาหารยังเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ยกหัตถ์ปิดบาตรเสีย ภัตตภติกบุรุษก็ได้กราบเรียนว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ภัตตาหารส่วนเดียวเท่านี้ ข้าพเจ้ามิอาจเพื่อจะกระทำให้เป็น ๒ ส่วนได้ พระผู้เป็นเจ้าอย่าได้กระทำสงเคราะห์แก่ข้าพเจ้าในโลกนี้เลย จงกระทำสงเคราะห์แก่ข้าพเจ้าในปรโลกเถิด จงอย่าได้กระทำภัตตาหารให้เหลืออยู่เลย ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายให้สิ้นไม่ให้เหลือเศษ
แท้จริงทานใดของตนมีอยู่น้อยและถวายให้สิ้นไม่ให้เหลือเศษ ทานนั้นย่อมมีผลมาก
เมื่อภัตตภติกบุรุษถวายภัตตาหารหมดสิ้นแล้ว ก็ถวายนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า และตั้งความปรารถนาว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าอาศัยภัตตาหารประมาณเท่านี้ จึง สู้อุตส่าห์กระทำการรับจ้างอยู่ในเรือนผู้อื่นถึง ๓ ปี ได้ความทุกขเวทนายิ่งนักหนา ในกาลบัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีแต่ความสุขในที่อันข้าพเจ้าบังเกิด อนึ่ง ขอให้ข้าพเจ้าเป็นบุคคลมีส่วนแห่งธรรมที่พระผู้เป็นเจ้าเห็นนั้นเถิด
พระปัจเจกพุทธเจ้ากระทำอนุโมทนาว่า
จงสำเร็จดังท่านปรารถนานั้นเถิด ประดุจดังแก้วมณีจินดาให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง ความปรารถนาจงบริบูรณ์ดุจพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญเถิด
เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าได้กระทำอนุโมทนาแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าก็อธิษฐานให้บรรดามหาชนทั้งหลายแลดูท่านตามไปจนถึงภูเขาคันธมาศ ซึ่งท่านก็ได้เหาะไปสู่ภูเขาคันธมาศ และได้เอาจังหันบิณฑบาตนั้นแจกจ่ายถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ องค์นั้น ก็ได้บริโภคจังหันบิณฑบาตของภัตตภติกบุรุษนั้นครบทุกองค์
เมื่อมหาชนทั้งปวงได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแจกจ่ายจังหันบิณฑบาตนั้น ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงแล้ว ก็ได้เปล่งเสียงสาธุการดังสนั่นดุจเสียงฟ้าผ่า
เมื่อคันธเศรษฐีได้ฟังเสียงสาธุการสนั่นดังนั้นก็คิดว่า บุรุษลูกจ้างคงไม่อาจรับสมบัติที่เราให้นั้นไว้ คนทั้งหลายคงจะเยาะเย้ยบุรุษลูกจ้างเสียงสนั่นหวั่นไหวแน่ๆ
คันธเศรษฐีก็ส่งคนไปดูเหตุการณ์ เมื่อได้ทราบเหตุการณ์นั้น ก็เกิดปีติอย่างยิ่ง และคิดเปรียบเทียบกับตัวเองว่า บุรุษลูกจ้างผู้นี้ทำสิ่งที่ยากที่จะกระทำได้ เพราะว่าตัวท่านเองนั้นได้ครอบครองสมบัติเห็นปานนี้มาเป็นเวลาช้านาน ก็ยังไม่อาจกระทำทานสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ท่านเศรษฐีจึงได้เรียกภัตตภติกบุรุษมาสอบถาม แล้วขอให้ ภัตตภติกบุรุษรับเอาทรัพย์พันหนึ่ง แล้วให้ส่วนบุญในทานแก่ท่าน
เมื่อภัตตภติกบุรุษได้ให้ส่วนบุญแก่ท่านเศรษฐีแล้ว ท่านเศรษฐีก็ได้แบ่งทรัพย์สมบัติทั้งหมดของท่านออกเป็น ๒ ส่วน แล้วก็ให้ภัตตภติกบุรุษนั้นส่วนหนึ่ง
การที่ทานทั้งหลายจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ต้องเป็นทานที่บริบูรณ์พร้อมด้วยสัมปทา ๔ ประการ คือ วัตถุสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งวัตถุ ๑ ปัจจัยสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งปัจจัย ๑ เจตนาสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งเจตนา ๑ คุณาติเรกสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งคุณาดิเรก ๑
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมภัตตภติกบุรุษจึงได้รับสมบัติมากอย่างรวดเร็ว ก็เพราะเหตุว่าการให้ทานของท่านนั้น บริบูรณ์ด้วยสัมปทาทั้ง ๔
สัมปทาทั้ง ๔ คือ
วัตถุสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งวัตถุ ได้แก่ พระอรหันต์ก็ดี พระอนาคามีก็ดี ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลผู้สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ เป็นวัตถุ คือ ผู้รับที่สมบูรณ์ยิ่งของทาน
ปัจจัยสัมปทา คือ การเกิดขึ้นของปัจจัยทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นโดยชอบ ชื่อว่าปัจจัยสัมปทา
ถ้าใครที่ต้องการจะทำบุญให้ทานถวายภัตตาหารก็ตาม ก็จะต้องแสวงหาปัจจัยโดยชอบ จึงชื่อว่าปัจจัยสัมปทา
เจตนาสัมปทา คือ ความบริบูรณ์แห่งเจตนา หมายถึงในขณะที่ให้ประกอบด้วยความรู้สึกปีติโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นเป็นความบริบูรณ์แห่งเจตนา
คุณาติเรกสัมปทา คือ ภาวะแห่งทักขิไณยบุคคลซึ่งออกจากสมาบัติในวันนั้น ชื่อว่าคุณาติเรกสัมปทา บริบูรณ์แห่งคุณาดิเรก ผู้ยิ่งด้วยคุณ
เพราะฉะนั้น วัตถุสัมปทา คือ ผู้นั้นเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ ผู้สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ เพราะแม้พระโสดาบันหรือพระสกทาคามีก็ไม่สามารถ เข้านิโรธสมาบัติได้ นอกจากนั้น วัตถุที่ถวาย คือ ปัจจัยธรรม ต้องเป็นปัจจัยสัมปทา บริบูรณ์ด้วยปัจจัยที่ได้มาโดยชอบ และยังต้องประกอบพร้อมด้วยเจตนาสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งเจตนา คือ ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับความรู้สึกปีติโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา นอกจากนั้นแล้วที่จะให้ผลภายใน ๗ วันเป็นอย่างช้า คือ คุณาติเรกสัมปทา ความบริบูรณ์แห่งคุณาดิเรก คือ ได้ถวายปัจจัยนั้นแก่ ทักขิไณยบุคคล ได้แก่ พระอนาคามีหรือพระอรหันต์ซึ่งออกจากสมาบัติในวันนั้น
สำหรับภัตตภติกบุรุษ ก็พร้อมด้วยความบริบูรณ์ทั้ง ๔ จึงได้เหตุแห่งความเป็นเศรษฐีภายในวันนั้น
นี่ยังไม่ถึงเรื่องของท่านพระสุขเถระ เป็นแต่เพียงอดีตชาติของท่านชาติหนึ่งเท่านั้น แต่ในชาติสุดท้าย ถ้าท่านฉันภัตตาหารก่อน ท่านจะไม่ได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงอดีตชาติของท่าน ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสละอาหาร
ถ. การติดในรสของภัตตภติกบุรุษเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลย ใช่ไหม
สุ. ประโยชน์อย่างไร ต้องไปทำงานถึง ๓ ปี
ถ. แต่ได้ผลคุ้มค่า
สุ. ถ้าไม่พบพระปัจเจกพุทธเจ้า
ถ. สรุปแล้วการติดในรสของภัตตภติกบุรุษเป็นประโยชน์ ซึ่งตรงกันข้ามกับปุถุชนอย่างเราทั้งหลายที่ติดในรส
สุ. จะเรียกว่า ติดในรส หรือว่าสามารถสละรสที่ติดได้
ถ. ตอนแรกมาจากติดก่อน ถ้าไม่ติดก็สละไม่ได้ ติดแล้วจึงได้สละ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ต้องติดให้แน่นก่อน
สุ. การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมถึงอดีตชาติของพระสาวกทั้งหลาย เป็นการแสดงให้เห็นว่าควรจะกระทำสิ่งใด ถ้าเป็นคันธเศรษฐีก็คิดที่จะใช้เงินให้หมด แต่ภายหลังเมื่อได้เห็นศรัทธาของภัตตภติกบุรุษ จึงเกิดความเลื่อมใส ใคร่จะได้ทำทานอย่างนั้นบ้าง เพราะถึงแม้ท่านจะเป็นเศรษฐีมาช้านาน ท่านก็ยังไม่สามารถสละได้
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม หรืออดีตชาติของแต่ละบุคคล ควรจะ น้อมนำมาพิจารณา แต่ถ้าพิจารณาในทางที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะสละ ก็อาจจะคอยให้ติดมากๆ อย่างภัตตภติกะ ไปทำงานถึง ๓ ปี และก็หาพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งไม่มี ก็ได้ เพราะฉะนั้น อย่าได้เหมือนใครในเรื่องการกระทำ แต่ควรพิจารณาว่า อกุศลทั้งหลายยากที่จะละได้ ถ้าได้สะสมการเจริญกุศลและละอกุศลเสียในปัจจุบันก็ยังสามารถจะละได้ เพราะถ้าภัตตภติกบุรุษไม่เคยกระทำการสละอาหารมาในอดีต ก็คงจะอยากชิมอาหารนั้นสักคำหนึ่ง แต่ก็ยังสามารถสละได้
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องของภัตตภติกบุรุษนั้น ก็ได้รับสั่งให้ ภัตตภติกบุรุษมาเฝ้า และได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเพื่อส่วนบุญนั้น
ทุกคนปรารถนาจะมีส่วนในทานของภัตตภติกบุรุษ แม้พระราชาเองก็ได้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเพื่อส่วนบุญนั้น
และเมื่อทรงอนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว ก็ทรงโสมนัส พระราชทานทรัพย์ให้ ภัตตภติกบุรุษเป็นอันมาก และพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้ภัตตภติกบุรุษ ภัตตภติกบุรุษนั้นก็ปรากฏชื่อว่าภัตตภติกเศรษฐี ได้เป็นสหายกับคันธเศรษฐี บริโภคสมบัติด้วยกัน ด้วยความสนิทสนมอย่างยิ่ง
ครั้นเมื่อภัตตภติกบุรุษสิ้นชีวิตแล้ว ได้เกิดในสวรรค์ประมาณชั่วพุทธันดรหนึ่ง
ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตรในพระนครสาวัตถี ตั้งแต่ท่านเกิดมา ในครรภ์ ในเรือนของท่านนั้น คนในบ้านไม่มีความทุกข์ใดๆ เลย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ชื่อว่าสุขกุมาร