แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1472

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘


เคยกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปทุมปุปผสูตร แล้ว ครั้งหนึ่ง ที่มีข้อความว่า ภิกษุรูปหนึ่งพำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล เวลากลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันแล้ว ท่านลงสู่สระโบกขรณี และสูดดมดอกปทุม

ข้อความในอรรถกถามีว่า

เมื่อเทวดาผู้สถิตอยู่ในแนวป่านั้น เห็นภิกษุนั้นจับก้านดอกบัวโน้มมาดมก็คิดว่า ภิกษุนั้นควรพิจารณาเอากลิ่นเป็นอารมณ์เพื่อที่จะเจริญปัญญา

ทุกคนได้กลิ่นก็หวั่นไหวไปตามกลิ่น แต่การที่จะให้มีกลิ่นเป็นอารมณ์ ซึ่งทั้งกลิ่นและฆานวิญญาณเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป จึงควรมีคำที่จะเตือน ให้ระลึกพิจารณาสภาพของกลิ่นที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้เทวดาจึง ได้กล่าวเตือนว่า

ท่านสูดดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น

เทวดาคิดว่า ถ้าไม่กล่าวเตือนภิกษุที่กำลังดมกลิ่นในวันนี้ แม้ในวันพรุ่งนี้ แม้ในวันมะรืนนี้ ภิกษุนั้นจะดมกลิ่นดอกบัวนั้นอีก ตัณหาในกลิ่นของภิกษุนั้นก็จะเพิ่มพูนขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งจะยังประโยชน์ในชาตินี้และในชาติหน้าให้พินาศไป

เพราะฉะนั้น เมื่อเทวดานั้นเห็นอยู่อย่างนี้ก็คิดว่า

ภิกษุนั้นอย่าพินาศเลย เราจะเตือนท่าน ดังนี้ จึงได้เข้าไปพูดกับภิกษุนั้น

ข้อความในอรรถกถามีว่า

การเตือนของเทวดา ก็เช่นเดียวกับคำสอนของพระผู้มีพระภาค บุคคลเลว น้อมไปเลว และปฏิบัติผิด ย่อมไม่ได้รับการเตือนนั้น ส่วนบุคคลควรแก่มรรคผล ในอัตภาพนี้ ย่อมได้การเตือนนั้น

แม้จะเป็นคำสั้นๆ แต่คนที่สะสมเหตุปัจจัยมาแล้วสามารถระลึกได้ทันที และ อบรมเจริญปัญญาทันที สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทันทีด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ใส่ใจ แม้เป็นคำที่ควรฟัง แต่บุคคลเลว น้อมไปเลว และปฏิบัติผิด ย่อมไม่ได้รับการเตือนนั้น

ได้ยินว่า ขณะที่เทวดาเตือนภิกษุนั้น มีดาบสคนหนึ่งลงไปขุดเหง้าบัว ภิกษุนั้นเห็นก็ได้กล่าวว่า เราไม่ได้นำไป เราไม่ได้หัก เราดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำห่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะเรียกว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่นด้วยเหตุดังฤๅ ส่วนบุคคลที่ขุดเหง้าบ้าง หักดอกบัวบุณฑริก เป็นผู้มีการงานอันเกลื่อนกล่นอย่างนี้ ไฉนท่านจึงไม่เรียกเขาว่า เป็นขโมย

เทวดาก็ได้แสดงความต่างกันของเพศบรรพชิต ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลสกับ ผู้ที่ยังมีกิเลสหนามาก โดยกล่าวว่า

บุรุษผู้มีบาปหนา แปดเปื้อนด้วยราคาทิกิเลสเป็นเหตุ เราไม่พูดถึงคนนั้น แต่เราจะกล่าวกับท่าน บาปประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏประดุจเท่า ก้อนเมฆในนภากาศแก่บุรุษผู้ไม่มีกิเลส ดังว่าเนิน ผู้มักแสวงหาไตรสิกขาอันสะอาด เป็นนิตย์

ซึ่งข้อความตอนท้ายมีว่า

ลำดับนั้นแล ภิกษุเป็นผู้อันเทวดานั้นให้สลด ถึงซึ่งความสังเวช

นี่เป็นเรื่องของกลิ่นในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่บ่อยเท่ากับทางตา ทางหูก็จริง แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะขาดการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเป็นผู้ที่ติดในกลิ่นมาก และแสวงหากลิ่นมาก ย่อมหลงลืมสติ ยากที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นใดๆ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอม กลิ่นเหม็น ย่อมสามารถให้สติที่เคยเจริญอบรมแล้วเกิดระลึกได้

บางท่านอาจจะสงสัยว่า กลิ่นมีคุณหรือมีโทษอย่างไรบ้าง

กลิ่นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ถ้ากลิ่นดีก็เป็น ยาได้ เหมือนกับเสียงดีก็รักษาโรคได้ สำหรับกลิ่นดีเป็นยาที่เมืองไทยก็มีมาก เช่น ยาหอมต่างๆ ซึ่งย่อมประกอบด้วยมหาภูตรูปที่ละเอียด ที่ได้ส่วนสัด ทำให้รู้สึกสบายเมื่อกระทบกับจมูก ทำให้ได้รับอุตุที่สมควร เหมาะควรแก่การที่จะทำให้ร่างกายในขณะนั้นรู้สึกสบายสดชื่นขึ้น แต่ถ้าเป็นกลิ่นที่เป็นโทษ ก็เป็นอันตราย เช่น กลิ่นก๊าซ ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีพิษ สามารถทำให้เจ็บป่วยเป็นอันตราย ก็เป็นโทษได้

สำหรับฆานวิญญาณ เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่พระผู้มีพระภาคเอง

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถา สูจิโลมสูตร ข้อ ๘๐๗ – ๘๑๐ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนเตียงชนิดมีเท้าตรึงติดกับแม่แคร่ อันเป็นที่ครอบครองของสูจิโลมยักษ์ ในบ้านคยา ฯ

ได้ยินว่า ยักษ์นี้ได้บวชเป็นพระภิกษุในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสป ได้เดินมาแต่ที่ไกล มีเหงื่อไคลท่วมตัว ไม่ปูลาดเตียงของสงฆ์ที่เขาแต่งตั้งไว้ดีแล้ว นอนด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ

ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์นั้น ได้มีการกระทำนั้นเหมือนสีดำที่ผ้าขาว

ผู้มีศีล ปกติก็มักจะเปรียบกับความสะอาด เช่น ผ้าขาว แต่ถ้าหลงลืมสติและเผลอ จะทำกรรมที่ไม่สมควร เช่น นอนบนเตียงของสงฆ์ที่แต่งตั้งไว้ดีแล้วด้วยความ ไม่เอื้อเฟื้อ คือ ไม่ปูลาดผ้าของท่านเอง เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เตียงของสงฆ์ไม่สะอาด

เธอไม่อาจยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ทำกาละแล้วมาเกิดเป็นยักษ์ อยู่ในที่ทิ้งขยะใกล้ประตูบ้านคยา ก็มีขนแหลมแข็งทั่วตัวคล้ายขนวัว จึงมีชื่อว่า สูจิโลมยักษ์

ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของสูจิโลมยักษ์ จึงเสด็จไปสู่ที่ทิ้งขยะ เหม็นด้วยซากศพ ช้าง วัว ม้า มนุษย์ และสุนัข เป็นต้น ประทับนั่งในที่นั้นเหมือนนั่งในพระคันธกุฎีใหญ่

นี่คือพระมหากรุณา เพราะเสด็จไปประทับแม้ในที่ทิ้งขยะ ที่เหม็นด้วยซากศพ ช้าง วัว ม้า มนุษย์ และสุนัข เป็นต้น

ข้อความตอนท้ายของอรรถกถามีว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยสัจธรรม ในที่สุดแห่งเทศนา สูจิโลมยักษ์ ยืนอยู่ในที่นั้นเอง ส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนาแล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

ก็ชื่อว่าพระโสดาบันทั้งหลายย่อมไม่ตั้งอยู่ในอัตภาพที่เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น หัวหูด ขนแหลมอย่างเข็มทั้งปวงที่ร่างกายของสูจิโลมยักษ์ จึงร่วงไปพร้อมกับได้ โสดาปัตติผล

สูจิโลมยักษ์นั้น จึงนุ่งผ้าทิพย์ ห่มผ้าทิพย์ โพกผ้าทิพย์ ทรงเครื่องประดับ ของหอมและมาลัยทิพย์ มีผิวพรรณดังทอง ได้ปกครองภุมมเทวดา

ซึ่งก่อนฟังพระธรรม สูจิโลมยักษ์ได้ล่วงเกินพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาที่ก้าวร้าว ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรู้อัธยาศัยของสูจิโลมยักษ์ และด้วยพระมหากรุณาก็ไม่ได้ทรงคำนึงถึงการมีฆานวิญญาณอกุศลวิบากเกิดขึ้นได้กลิ่นนั้นๆ แต่ประทับนั่งในที่นั้น เหมือนนั่งอยู่ในพระคันธกุฎีใหญ่ ใหญ่ในที่นี้ คือ เป็นพระคันธกุฎีที่วิจิตรด้วยเครื่อง ปูลาดต่างๆ

สำหรับการได้กลิ่น ไม่บ่อยเท่ากับการเห็นทางตาและการได้ยินทางหู แต่ แม้กระนั้นไม่ว่าสภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น ก็เป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ การยึดถือ เพราะบางท่านจะสังเกตได้จริงๆ ว่า นอกจากจะมีความติด ความต้องการในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหูแล้ว ยังมีความต้องการกลิ่นดีๆ อย่างมาก ทั้งนี้ก็แล้วแต่การสะสม

สำหรับฆานวิญญาณนั้น ย่อมเกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิก ๗ ดวง ด้วยปัจจัย ๔ อย่าง ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น คือ

อสัมภินนัตตา ฆานัสสะ เพราะฆานปสาทยังไม่ดับ ๑

อาปาถคตัตตา คันธานัง เพราะกลิ่นมาสู่คลอง คือ กระทบจมูก ๑

วาโยสันนิสสิตัง อาศัยวาโย ๑

มนสิการเหตุกัง มีมนสิการ (คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต) เป็นเหตุ ๑

สำหรับฆานปสาท อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ มีข้อความอธิบายว่า

คันธาภิฆาตารหภูตัปปสาทลักขณัง ฆายิตุกามตานิทานกัมมชสมุฏฐานภูตัปปสาทลักขณัง วา ฆานัง ฆานะมีความใสของภูตรูปอันควรแก่การกระทบของกลิ่นเป็นลักษณะ หรือมีความใสของภูตรูปเกิดแต่กรรมเป็นสมุฏฐานเป็นเหตุของบุคคลผู้ใคร่เพื่อจะดมเป็นลักษณะ

คันเธสุ อาวิญจนรสัง มีการชักวิญญาณมาที่กลิ่นทั้งหลายเป็นกิจ

ฆานวิญญาณัสสะ อาธารภาวปัจจุปัฏฐานัง มีการทรงอยู่ของฆานวิญญาณ เป็นอาการปรากฏ

ฆายิตุกามตานิทานกัมมชภูตปทัฏฐานัง มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมเป็นเหตุของบุคคลเพื่อใคร่จะดมเป็นปทัฏฐาน

ทุกคนมีจมูก คือ ฆานปสาท แต่อาจจะยังไม่เคยพิจารณาว่า รูปนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดมาจากไหน รูปนี้เป็นกัมมชรูป คือ รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน โดยความเป็นผู้ใคร่จะดม ถ้ายังเป็นผู้ใคร่จะดมอยู่ตราบใด จะไม่หมดปัจจัยที่ทำให้เกิด ฆานปสาทรูป เพราะว่ากรรมใดๆ ก็ตามที่ทำเนื่องด้วยกลิ่นยังมี ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ฆานปสาทรูปเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้กระทบกับกลิ่น เพราะฆานปสาทรูปเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบเฉพาะกลิ่น และฆานปสาทรูปก็เกิดขึ้นและดับไปอย่างเร็วมากเช่นเดียวกับกลิ่น เพราะฉะนั้น ขณะที่ฆานปสาทยังไม่ดับ และกลิ่นยังไม่ดับ และกลิ่นนั้นกระทบกับฆานปสาท ก็เป็นปัจจัยให้มีการได้กลิ่นเกิดขึ้นชั่วขณะและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

คงจะไม่มีใครพยายามรู้ลักษณะของฆานปสาทรูปในขณะนี้ ใช่ไหม แม้ว่า มีอยู่ที่ตัว แต่ถ้าไม่ปรากฏ สติก็ไม่ต้องไปพากเพียรที่จะรู้ลักษณะของฆานปสาทรูป เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ต้องรู้เมื่อสติระลึกที่ลักษณะของ สภาพธรรมนั้น

ขณะนี้ ฆานปสาทรูปเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ากรรมเป็นปัจจัย แต่เมื่อไม่มีการได้กลิ่นในขณะนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าขณะนี้มีฆานปสาทรูป แต่ขณะใด ก็ตามที่ได้กลิ่น กลิ่นหนึ่งกลิ่นใด ขณะนั้นสามารถรู้ได้ว่า ที่กลิ่นปรากฏได้เพราะมีฆานปสาทรูปที่ยังไม่ดับเป็นปัจจัยทำให้ฆานวิญญาณเกิดขึ้นรู้กลิ่นในขณะนั้น ซึ่งในขณะนี้ ฆานวิญญาณเมื่อกี้เกิดและดับไปแล้ว แต่เมื่อสติปัฏฐานไม่ระลึก ก็ ไม่สามารถรู้ลักษณะสภาพของฆานปสาทรูปได้

ด้วยเหตุนี้ การที่จะรู้ว่ามีฆานปสาทรูป ก็ต่อเมื่อขณะใดที่มีการได้กลิ่น และ สติระลึกพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ อธิบายคำว่า ฆานะ มีข้อความว่า

ชื่อว่าฆานะ ด้วยอรรถว่า ได้กลิ่น ฆานะที่เป็นปสาทรูปนั้น ตั้งอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังกีบแพะ ภายในช่องสสัมภารฆานะ

สสัมภาระ คือ จมูกที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่เราเรียกว่า จมูก ซึ่งเป็นที่อาศัยของฆานปสาทรูป แต่ฆานปสาทรูปจะไม่อยู่ตามจมูกทั้งหมด แต่อยู่ในช่องสสัมภารฆานะ

ได้รับอุปการะ อุปถัมภ์ อนุบาล และการแวดล้อมด้วยรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอื่นๆ ย่อมให้ความสำเร็จเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิตมีฆานวิญญาณเป็นต้น ตามสมควร

นี่คือลักษณะของฆานปสาทซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ขณะใดที่ไม่มีกรรมที่ทำให้ฆานปสาทรูปเกิด จะไม่มีการได้กลิ่นใดๆ ทั้งสิ้น

. ที่อาจารย์บรรยายว่า กลิ่นไม่ได้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ผมเปรียบเทียบกับทางตาและทางหูแล้ว โอกาสที่กลิ่นจะเกิดก็น้อยกว่า ด้วยเหตุนี้กระมังทำให้ สติระลึกทางจมูก น้อยกว่าทางตา ทางหู

สุ. ถ้าขณะใดกลิ่นไม่ปรากฏ ไม่สามารถระลึกลักษณะของกลิ่นได้

. ทั้งๆ ที่ปรากฏ ก็ไม่ค่อยระลึก เนื่องจากความที่มีน้อย วันหนึ่งๆ ที่จะมีโอกาสกลิ่นบ้าง รสบ้างอย่างนี้ จะน้อยกว่าทางตา ทางหู ผมคิดว่าด้วยเหตุนี้กระมังโอกาสที่จะระลึกทางจมูกกับทางลิ้น น้อยกว่าทางตา ทางหู

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ กำลังปรากฏ สติปัฏฐานย่อมเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ทางตาที่กำลังเห็น ในวันหนึ่งๆ เห็น และผ่านไปโดยที่สติไม่ได้ระลึก ฉันใด เวลาที่กลิ่นปรากฏ ก็เหมือนกับทางตา ทางหู ซึ่งละเลยและสติไม่ระลึก แต่ ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยขึ้น จนกระทั่งมีกำลัง ถึงแม้ว่ากลิ่นจะไม่ปรากฏบ่อย แต่ทันทีที่กลิ่นปรากฏ สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของกลิ่นได้ ฉะนั้น ต้องอาศัยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

กลิ่นเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูก แม้ไม่บ่อย แต่บางคนก็หวั่นไหวมาก ซึ่งจะรู้ได้จากการแสวงหากลิ่นหอมๆ อยู่ตลอดเวลา

สำหรับบางท่านแทบจะกล่าวได้ว่า อยู่ปราศจากกลิ่นหอมไม่ได้ ตื่นเช้าขึ้นมา แต่งตัวจะต้องมีกลิ่นหอม ตอนกลางวันก็จะต้องมีกลิ่นหอมอีก จนกระทั่งถึงตอนเย็น ตอนค่ำ แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่หวั่นไหวมากในกลิ่น

. จริง โอกาสที่จะหวั่นไหวมีมาก แต่ถ้ากลิ่นนั้นยังไม่หมดไป โอกาสที่จะระลึก ซึ่งจะเป็นหลังจากความหวั่นไหวนั้น และกลิ่นยังไม่หมด เราดมๆ อยู่ นี่น้ำหอม สักครู่ต่อไปสติจะระลึก ก็เป็นไปได้ ใช่ไหม

สุ. ขณะไหนก็ได้

. ส่วนมากมีการเตือนที่จมูกเราแล้ว สติจึงจะเกิด โอกาสแรกเลยรู้สึกจะ ไม่ค่อยเกิด เพราะอินทรีย์ยังไม่กล้าแก่

สุ. สำหรับผู้ติดในกลิ่น อาศัยกลิ่นนั่นเองเป็นอารมณ์ให้สติระลึกได้

. กลิ่นนั้นเป็นอารมณ์

สุ. สภาพธรรมใดก็ตามที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เคยฟังเรื่องการเจริญ สติปัฏฐาน และสติไม่เคยระลึกลักษณะของกลิ่น ก็จะเป็นผู้ที่เพลินไปในกลิ่น หลงติดในกลิ่นมาก แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ติดในกลิ่น แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน สติก็ยังอาจที่จะเกิดและก็ระลึกลักษณะสภาของกลิ่นที่กำลังปรากฏได้

. ผมมีความรู้สึกว่า สุภาพสตรีจะละคลายเรื่องกลิ่นยากกว่าสุภาพบุรุษ รู้สึกว่า จะติดมากกว่า เช่น น้ำหอมต่างๆ

สุ. ถ้าไม่จำแนก แล้วแต่การสะสม ดีไหม

. เรื่องกลิ่น ผู้ชายรู้สึกไม่ค่อยสนใจเท่าไร

สุ. แล้วแต่อัธยาศัย กลิ่นสำหรับสุภาพบุรุษก็มีมากมาย

เปิด  236
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566