แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1473

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘


ถ้าพิจารณาจะเห็นได้ว่า ไม่ควรจะหวั่นไหวในกลิ่น เพราะว่ากลิ่นไม่ได้ปรากฏเป็นเรื่องราวเหมือนกับการกระทำทางกายที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตา และเรื่องราว ต่างๆ ที่ได้ยินเสียงทางหู

วันหนึ่งๆ ทางตาเห็นสีสันวัณณะต่างๆ เป็นการกระทำต่างๆ ของบุคคล ต่างๆ และทางหูก็ได้ยินเสียง ซึ่งทำให้รู้เรื่องราวต่างๆ มีความหวั่นไหวไปในเรื่อง นั้นๆ แต่กลิ่นไม่เหมือนกับทางตาและทางหู เพราะไม่ได้ปรากฏเป็นเรื่องราว เหมือนกับสภาพที่ปรากฏทางตาและเสียงที่ได้ยินทางหู เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะหวั่นไหวมากในเรื่องกลิ่น แต่ที่จะไม่ให้สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัสเลยกับกลิ่นที่กระทบจมูก ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าทุกคนยังมีกิเลสมาก

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ตัวเองว่ามีกิเลสมาก ไม่ยากเลย คือ ไม่ว่าทางตาเห็น ก็หวั่นไหว ทางหูได้ยินเสียงก็หวั่นไหว ทางจมูกได้กลิ่นก็หวั่นไหว ทุกทางหมด เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นผู้ที่สะสมกิเลสมามาก เมื่อไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

สำหรับทางรู้อารมณ์ ซึ่งเป็นทางที่จะให้เกิดความติด หรือความยึดมั่น ความพอใจ มี ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑ การที่จะดับกิเลสต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แต่ก่อนที่จะดับกิเลสได้ เนื่องจากการเป็นพระอริยบุคคลไม่ใช่จะเป็นได้ง่ายในวันสองวัน เดือนสองเดือน ปีสองปี หรือชาติสองชาติ เพราะฉะนั้น ในระหว่างนั้น ถ้าจะพิจารณาว่า แม้ยัง ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่เมื่อเห็นโทษของกิเลสซึ่งเป็นอกุศลธรรมที่มีมากและน่ารังเกียจจริงๆ วันหนึ่งๆ คิดที่จะลดคลายความติดในอารมณ์ที่ปรากฏ ทางหนึ่งทางใดลงบ้างไหม เมื่อเป็นทางที่ไม่จำเป็นเท่าทางอื่น เช่น ทางจมูก ไม่จำเป็นเท่ากับทางตาหรือทางหู ถ้าไม่ติดจะทำให้ไม่แสวงหากลิ่นมาก เป็นการลดคลายความติดในรูปๆ หนึ่งทางทวารหนึ่งลงได้ เพราะว่าอย่างทางตาเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเห็น คงเป็นชีวิตที่ยากลำบากถ้าไม่มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และทางหูถ้าไม่ได้ยินเสียงใดๆ ก็ยากเหมือนกัน

มีผู้ฟังธรรมท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้สูงอายุ ตาท่านบอดทั้งสองข้าง ก็ได้สนทนากับท่านระหว่างที่เดินทางไปตอบปัญหาธรรมที่เชียงใหม่ ท่านบอกว่า ตาของท่านเสีย ท่านไม่เสียใจมาก เพราะหูของท่านยังได้ยินธรรม นี่เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของหู เห็นประโยชน์ของการฟังว่า ถึงแม้จะไม่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่เมื่อมีหู ก็ยังเป็นปัจจัยให้ได้ยินเสียงพระธรรมได้

เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนมีตา เห็น และเกิดกุศล เหมือนกับมีหูสำหรับฟังธรรม ก็ย่อมเป็นประโยชน์ แต่สำหรับทางจมูก ไม่จำเป็นเท่ากับทางตาและทางหู เมื่อไม่จำเป็น ก็ควรละคลายความติดในกลิ่นลงบ้างเท่าที่สามารถพิจารณาเห็นโทษได้ เพราะผู้ที่เห็นโทษจริงๆ เช่น บุคคลที่เกิดเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ ไม่มี ฆานวิญญาณ ไม่มีชิวหาวิญญาณ ไม่มีกายวิญญาณ คือ ไม่มีการได้กลิ่น ไม่ต้องบริโภคอาหาร ไม่มีการลิ้มรส และไม่มีกายวิญญาณที่กระทบสัมผัสกับโผฏฐัพพะ ต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่านมีทวารที่จำเป็นจริงๆ ในการที่จะเจริญกุศลขึ้น คือ จักขุทวารและโสตทวาร มีตา มีหู มีเห็น มีได้ยิน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่สำหรับ ในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยากที่จะทิ้งไปได้

ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ได้แสดงเรื่องของการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะว่าเหมือนกับสมุทร คือ มหาสมุทร กว้างใหญ่มาก จักขุเป็นมหาสมุทร อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีทั้งสีแดง สีเขียว สีฟ้า สีต่างๆ ตลอดตั้งแต่กามภูมิจนจดรูปพรหมภูมิ ไม่สามารถทำให้เต็มได้ เพราะยังมีความต้องการเห็นอยู่เสมอ หูก็เป็นมหาสมุทร เพราะไม่ว่าจะเป็นเสียงใดๆ เสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงต่างๆ ก็ไม่สามารถทำให้มหาสมุทรนั้นเต็มได้

เพราะฉะนั้น ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงเหมือนกับมหาสมุทร ซึ่งยากจะเต็มได้

นี่เป็นชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงซึ่งจะเห็นได้ว่า ตาไม่เคยอิ่มใน สีสันวัณณะทั้งหลาย ทั้งสีสันวัณณะในโลกมนุษย์และในโลกสวรรค์ หูก็ไม่เคยอิ่ม ในเสียง ทั้งเสียงในโลกมนุษย์และในโลกสวรรค์ จมูก ลิ้น กาย โดยนัยเดียวกัน แต่ถ้าผู้ใดละคลายความยินดีพอใจในกามคุณ สามารถอบรมเจริญความสงบของจิตถึงขั้นฌาน เวลาเกิดในรูปพรหมภูมิจะมีเพียงจักขุวิญญาณวิถี โสตวิญญาณวิถี แต่ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้การกระทบโผฏฐัพพะ

ในสุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด กลุ่มที่เล็กที่สุดของรูปที่เกิดร่วมกันเพียง ๘ รูป เป็นอวินิพโภครูป ๘ มีกลิ่นรวมอยู่ด้วย ขณะใดที่กลิ่นใดกระทบจมูก ขณะนั้นกลิ่นนั้นจึงปรากฏ แสดงให้เห็นว่า ไม่เคยขาดกลิ่นเลย ที่ใดที่มี มหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่นั้นต้องมีกลิ่น ส่วนต่างๆ ของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมซึ่งเกิดร่วมกัน ต่างกันโดยสภาพที่เย็นมากบ้าง เย็นน้อยบ้าง ร้อนมากบ้าง ร้อนน้อยบ้าง อ่อนมากบ้าง อ่อนน้อยบ้าง แข็งมากบ้าง แข็งน้อยบ้าง ตึงมากบ้าง ไหวมากบ้าง เหล่านี้ ทำให้เกิดกลิ่นต่างๆ มากมาย

มิฉะนั้นแล้ว ถ้ามีแต่มหาภูตรูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม กลิ่นก็ไม่น่าจะวิจิตรต่างกันมากมาย แต่เพราะส่วนผสมของมหาภูตรูปที่ต่างกันนั่นเอง ทำให้ปรากฏเป็นกลิ่นต่างๆ เกิดกลิ่นต่างๆ ที่ต่างกันมาก เช่น กลิ่นดอกไม้แต่ละชนิด ก็เป็นเพียงรูปที่อาศัยเกิดจากมหาภูตรูป ๔ นั่นเอง แต่เมื่อส่วนผสมของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมต่างกันโดยละเอียดก็ทำให้แม้กลิ่นดอกไม้ก็ต่างกัน กลิ่นผลไม้ก็ต่างกัน และกลิ่นในมหาภูตรูปก็ยังต่างกันออกไปตามการผสม เช่น กลิ่นแกง หรือกลิ่นอาหารต่างๆ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า มหาภูตรูปที่เกิดร่วมกัน มีความต่างกันมาก ในลักษณะที่อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว จึงทำให้แม้สีก็ตาม หรือกลิ่นก็ตาม รสก็ตาม โอชาก็ตาม ซึ่งมีอยู่ในมหาภูตรูปนั้น วิจิตรต่างๆ กัน

สำหรับอเหตุกะ ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง ถ้ากล่าวถึงอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ดูจะยาก หรือดูจะแปลก แต่ความจริง คือ ทุกๆ ขณะ ในชีวิตประจำวัน เป็นอเหตุกจิต ๑๗ ดวง ในอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เพราะฉะนั้น ควร จะพิจารณาเรื่องของอเหตุกจิตให้เข้าใจชัดเจนว่า สภาพที่กล่าวว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในวันหนึ่งๆ นั้น ไม่พ้นจากอเหตุกจิตนี้เลย

สำหรับอเหตุกจิตที่เป็นวิบากมี ๑๕ ดวงนั้น เป็นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ทวิปัญจวิญญาณ ได้แก่

จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา คือ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหู คือ โสตวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจมูก คือ ฆานวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางลิ้น คือ ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

จิตที่เกิดขึ้นรู้โผฎฐัพพะที่กระทบกาย คือ กายวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

รวมเป็นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีสภาพธรรมที่เป็นรูปที่กระทบกับทวารต่างๆ แล้ว จิตต้องเกิดขึ้นเป็นวิบาก รู้รูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยสภาพที่เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วแต่ว่าถ้าเป็นผลของกุศลกรรม อารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวาร ก็เป็นอิฏฐารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ดี ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อารมณ์ที่ปรากฏ ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี

ที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็มีจักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ต่อไปจะขอกล่าวถึงชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ซึ่งเป็นจิตที่ลิ้มรส คือ รู้รสที่กำลังกระทบกับชิวหาปสาท

รส มีอยู่ในมหาภูตรูปจริง แต่ขณะใดที่ไม่กระทบกับชิวหาปสาท ชิวหาวิญญาณจะไม่เกิดขึ้น เมื่อชิวหาวิญญาณไม่เกิด จะไม่มีการลิ้มรสหรือรู้รสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่กำลังลิ้มรส ไม่ว่าจะเป็นรสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว ในขณะนั้นควรที่จะระลึกว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้นลิ้มรสที่กำลังกระทบกับชิวหาปสาทในขณะนั้น

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ แสดงลักษณะชิวหาวิญญาณ มีข้อความว่า

ลักษณะของชิวหาวิญญาณนั้น ย่อมเกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย (คือ เจตสิก ๗ ดวง) เพราะปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ

อสัมภินนัตตา ชิวหายะ เพราะชิวหาประสาทยังไม่แตกดับ

อาปาถคตัตตา รสานัง เพราะรสทั้งหลายมาสู่คลอง

คือ กระทบกับชิวหาปสาท

อาโปสันนิสสิตัง อาศัยอาโป

มนสิการเหตุกัง

มนสิการ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ คือ เป็น วิถีจิตดวงแรกที่ต้องเกิดขึ้นและดับไปก่อน เป็นเหตุใกล้ให้เกิดชิวหาวิญญาณ

บรรดาปัจจัย ๔ เหล่านี้ คำว่า อาศัยอาโป ความว่า ได้อาโปทำให้เปียก ฆานวิญญาณจึงเกิด เว้นอาโป ก็ไม่เกิด เพราะเมื่อบุคคลลิ้นแห้ง แม้วางของเคี้ยวแห้งๆ ไว้ที่ลิ้น ชิวหาวิญญาณย่อมไม่เกิดขึ้น

ขณะนี้ก็มีชิวหาปสาทรูป ซึ่งกรรมเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะใดที่ยังไม่พร้อมด้วยปัจจัย คือ รสทั้งหลายยังไม่กระทบกับชิวหาปสาท หรือในขณะนั้นถ้าลิ้นแห้ง ชิวหาวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นลิ้มรสนั้นได้ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยปัจจัย ๔ อย่าง

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ อธิบายลักษณะของชิวหาปสาท มีข้อความว่า

ชื่อว่าชิวหา ด้วยอรรถว่า ลิ้มรส ชิวหาที่เป็นปสาทรูปนั้น ตั้งอยู่ในประเทศที่มีสัณฐานดังปลายกลีบบัว อยู่บนท่ามกลางสสัมภารชิวหา (คือ ลิ้นที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ)

ชิวหาปสาทไม่ใช่ลิ้นทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะส่วนที่มีสัณฐานดังปลายกลีบบัวตั้งอยู่ท่ามกลางสสัมภารชิวหา

ได้อุปการะ อุปถัมภ์ อนุบาล และแวดล้อมด้วยรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอื่นๆ ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิต มีชิวหาวิญญาณเป็นต้นตามควร

การลิ้มรสในวันหนึ่งๆ มีหลายครั้ง ตอนเช้าเวลาที่บริโภคอาหารเช้าก็มีการ ลิ้มรส ขณะที่บริโภคอาหารกลางวัน หรือจะเป็นอาหารเวลาใดก็ตาม ในขณะนั้น มีชิวหาวิญญาณที่เกิดขึ้นทำกิจลิ้มรสต่างๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติสามารถที่จะระลึกได้

สำหรับลักษณะ ๔ ของชิวหาปสาทรูป ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

รสาภิฆาตารหภูตัปปสาทลักขณา สายิตุกามตานิทานกัมมชสมุฏฐานภูตัปปสาทลักขณา ชิวหา ลิ้นมีความใสของภูตรูปอันควรแก่การกระทบรสเป็นลักษณะ หรือมีความใสของภูตรูปที่เกิดแต่กรรมเป็นสมุฏฐานของบุคคลผู้ใคร่เพื่อจะลิ้มรสเป็นลักษณะ

นี่เป็นรูปแต่ละรูปที่ตัว ซึ่งเป็นปสาท เป็นรูปที่ใส ที่ควรแก่การที่จะกระทบกับรูปภายนอก แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปใด สำหรับรสต่างๆ เป็นรูปที่สามารถกระทบเฉพาะกับชิวหาปสาทเท่านั้น ไม่สามารถกระทบกับกายปสาทได้ รสหวาน ถ้าเอามือจับ จะไม่มีชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นรู้รสนั้น จนกว่าจะกระทบกับชิวหาปสาท ชิวหาวิญญาณจึงจะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นลิ้มรสนั้น ในขณะที่รสนั้นยังไม่ดับ

รเสสุ อาวิญจนรสา มีการชักวิญญาณมาที่รสทั้งหลายเป็นกิจ

ชิวหาวิญญาณัสสะ อาธารภาวปัจจุปัฏฐานา มีการทรงอยู่ของชิวหาวิญญาณ เป็นอาการปรากฏ

สายิตุกามตานิทานกัมมชภูตปทัฏฐานา มีภูตรูปเกิดแต่กรรมเป็นสมุฏฐานของบุคคลผู้ใคร่เพื่อจะลิ้มรสเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

นี่เป็นการแสดงลักษณะของชิวหาปสาทรูปว่า เป็นรูปที่มีความใสจริง แต่ใส ในลักษณะใด ก็คือ ใสในการที่จะกระทบกับรส เพราะฉะนั้น รูปนี้มีกิจหน้าที่เฉพาะ คือ ชักวิญญาณมาที่รส หมายความว่าขณะที่รสกระทบลิ้น ชิวหาปสาททำกิจของ ชิวหาปสาทโดยชักวิญญาณมาที่รส สภาพของนามธรรมจะเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่รสกระทบกับลิ้น จิตอื่นเกิดไม่ได้ นอกจากจิตที่อาศัย ชิวหาปสาทเป็นทวาร ซึ่งจะเกิดขึ้นรู้และลิ้มรสได้

ในขณะที่รสกระทบลิ้น ชิวหาปสาททำกิจของชิวหาปสาท โดยเป็นปัจจัยให้ชิวหาวิญญาณเกิด เหมือนกับการชักวิญญาณมาที่รส คือ ทำให้เกิดชิวหาวิญญาณ ที่ลิ้มรสในขณะนั้นนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ขณะใดรสไม่ปรากฏ ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของชิวหาปสาทได้ แต่ถ้าขณะใดรสปรากฏ ขณะนั้นจึงจะรู้ว่ามีชิวหาปสาท ซึ่งไม่ใช่เป็นแต่เพียงเฉพาะลักษณะที่อ่อนหรือแข็งที่กระทบสัมผัสเวลาที่จับลิ้น แต่ต้องเป็นรูปที่มองไม่เห็น ชิวหาปสาทไม่มีใครสามารถจะมองเห็นได้ เพราะไม่ใช่สีสันวัณณะต่างๆ แต่เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่กระทบกับรส

ลักษณะของชิวหาปสาท คือ สามารถกระทบกับรสได้ ความใสนั้น ใสเฉพาะกระทบกับรส และชิวหาปสาทก็เช่นเดียวกับปสาทรูปอื่นๆ คือ มีมหาภูตรูปที่เกิดแต่กรรมเป็นสมุฏฐานเป็นเหตุใกล้ เพราะว่าอุปาทายรูปทั้งหมดถ้าปราศจากมหาภูตรูปแล้วเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ชิวหาปสาทรูปก็เกิดไม่ได้

มหาภูตรูปมีหลายสมุฏฐาน มหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมก็มี มหาภูตรูปที่เกิดจากจิตก็มี มหาภูตรูปที่เกิดจากอุตุก็มี มหาภูตรูปที่เกิดจากอาหารก็มี แต่สำหรับปสาทรูปทั้งหมด ต้องอาศัยมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ไม่ใช่มหาภูตรูปที่เกิดจากจิตจะทำให้เกิดชิวหาปสาทรูป หรือจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูปได้

ด้วยเหตุนี้ จิตไม่สามารถทำให้ปสาทรูปทั้งหลายเกิดได้ แต่กรรมเป็นปัจจัย ทำให้ปสาทรูปนั้นๆ เกิดได้

เปิด  221
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566