แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1474

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๘


อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ ข้อ ๕๒๔ มีข้อความว่า

รูปที่เรียกว่า รสายตนะ นั้น เป็นไฉน

รสใด อาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ ได้แก่ รสรากไม้ รสลำต้น รสเปลือกไม้ รสใบไม้ รสดอกไม้ รสผลไม้ เปรี้ยว หวาน ขม เผ็ด เค็ม ขื่น เฝื่อน ฝาด อร่อย ไม่อร่อย หรือรสแม้อื่นใดซึ่งอาศัยมหาภูตรูป ๔ อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ มีอยู่ สัตว์นี้ลิ้มแล้ว หรือลิ้มอยู่ หรือจักลิ้ม หรือพึงลิ้มซึ่ง รสใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ด้วยชิวหาอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ นี้เรียกว่า รสบ้าง รสายตนะบ้าง รสธาตุบ้าง รูปทั้งนี้เรียกว่า รสายตนะ

อรรถกถารสายตนนิทเทส มีข้อความอธิบายว่า

บทว่า มูลรโส (รสรากไม้) ได้แก่ รสที่อาศัยรากไม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แม้ในรสลำต้น ก็เป็นอย่างนี้แหละ

บางทีก็ใช้รากไม้ทำอาหารต่างๆ บางทีก็ใช้ต้นของไม้นั้น เพราะฉะนั้น รสลำต้นก็โดยนัยนี้

บทว่า อัมพิลัง (เปรี้ยว) ได้แก่ รสเปรียงเป็นต้น

ถ้าเป็นรสที่เราไม่คุ้นเคย เราจะนึกถึงรสที่เราคุ้นเคยแทนรสที่กล่าว ในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถาก็ได้

บทว่า มธุรัง (หวาน) ได้แก่ รสมีเนยใสแห่งโคเป็นต้นโดยส่วนเดียว เพราะน้ำผึ้งผสมกับรสฝาดเก็บไว้นานเข้าก็เป็นรสฝาดไป น้ำอ้อยผสมกับรสขื่นเก็บไว้ นานเข้าก็เป็นรสขื่นไป แต่สัปปิ (เนยใส) นั้นเก็บไว้นาน แม้สีและกลิ่นจะเปลี่ยนไป ก็ไม่ละรส เพราะฉะนั้น เนยใสนั้นนั่นแหละ จึงชื่อว่าหวานโดยส่วนเดียว

บทว่า ติตตกัง (รสขม) ได้แก่ รสใบสะเดา เป็นต้น

บทว่า กฏุกัง (รสเผ็ด) ได้แก่ รสขิงและพริกไท เป็นต้น

บทว่า โลณิกัง (รสเค็ม) ได้แก่ เกลือธรรมชาติ เป็นต้น

บทว่า ขาริกัง (รสขื่น) ได้แก่ รสมะอึกและยอดมะเขือ เป็นต้น

บทว่า ลัมพิลัง (รสเฝื่อน) ได้แก่ รสยางพุทรา มะขามป้อม และมะขวิด เป็นต้น

บทว่า กสาวัง (รสฝาด) ได้แก่ รสมะขามป้อม เป็นต้น

รสแม้ทั้งหมดเหล่านี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจวัตถุ แต่ในนิทเทสนี้พึงทราบว่า รสตรัสไว้โดยชื่อมีเปรี้ยวเป็นต้นแต่วัตถุนั้นๆ

บทว่า สาทุ (รสอร่อย) ได้แก่ รสที่น่าปรารถนา

บทว่า อสาทุ (รสไม่อร่อย) ได้แก่ รสที่ไม่น่าปรารถนา

ด้วยบททั้ง ๒ คือ รสที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนานี้ รสแม้ทั้งหมด เป็นอันทรงกำหนดถือเอาแล้ว ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ รสทั้งหมดที่ไม่ตรัสไว้ในพระบาลี มีรสก้อนดิน รสฝาเรือน และรสผ้าเก่า เป็นต้น พึงทราบว่า รวมเป็นรส ที่ชื่อว่าเยวาปนกรส (คือ รสแม้อื่นใด) รสนี้แม้ต่างกันโดยเป็นรสรากไม้เป็นต้นอย่างนี้ แต่ว่าโดยลักษณะเป็นต้น ก็มิได้แตกต่างกันเลย

คือ รสทั้งหมด ไม่ว่าจะต่างกันเป็นรสรากไม้ รสดอกไม้ รสใดๆ ก็ตาม โดยลักษณะเป็นต้น ไม่ได้แตกต่างกันเลย เพราะว่า

สัพโพ เอโส ชิวหาปฏิหนนลักขโณ รโส รสมีการกระทบเฉพาะลิ้น เป็นลักษณะ

ชิวหาวิญญาณัสสะ วิสยภาวรโส มีความเป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ เป็นรส

ตัสเสว โคจรปัจจุปัฏฐาโน มีความเป็นโคจร (คือ เป็นอารมณ์) ของชิวหาวิญญาณนั้นนั่นแหละเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

นี่คือลักษณะต่างๆ ของรส คือ มีการกระทบลิ้นเป็นลักษณะ และเป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ ถ้าจำแนกรสในโลกนี้แล้วประมวลลง จะได้รสเพียง ๘ รสเท่านั้น คือ เปรี้ยว หวาน ขม เผ็ด เค็ม ขื่น เฝื่อน ฝาด แต่ทำไมมีการปรุงแต่งรสมากมาย เป็นเครื่องดื่มรสต่างๆ เป็นกับแกล้มรสต่างๆ เป็นของว่าง เป็นอาหารคาว อาหารหวาน รสต่างๆ นานาชาติ หาประมาณไม่ได้เลย แสดงให้เห็นว่า ส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อปรุงกันแล้วจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดรส แม้เพียง ๘ รสก็จริง แต่ยังมีสิ่งอื่นซึ่งปรุงรสนั้นให้วิจิตรขึ้น คือ กลิ่น เพราะว่ารสกับกลิ่นคู่กัน

เวลาที่จะบริโภคเครื่องดื่ม หรืออาหารคาวหวานอย่างใดก็ตาม จะเห็นได้ว่า มีกลิ่นปนผสมรวมอยู่ด้วยเวลาที่กระทบกับจมูก ทำให้เพิ่มรสหรือความวิจิตรของรส นั้นขึ้นอีก ทั้งๆ ที่รสโดยพื้นแล้วก็มีเพียง ๘ รสเท่านั้น แต่ทำไมเครื่องดื่มจึงมี หลายชนิด ก็เพราะว่ามีกลิ่นของเครื่องดื่มนั้นแต่ละชนิดรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ก็ย่อมปรุงรสนั้นให้วิจิตรขึ้นอีก

ทดลองได้ พิสูจน์ได้ว่า ถ้าไม่รวมกลิ่น เฉพาะรสจริงๆ จะมีเพียง ๘ รสเท่านั้น และเวลาที่กระทบกับลิ้น ชิวหาวิญญาณจะลิ้มรสเฉพาะที่กระทบลิ้นในขณะนั้นเท่านั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นความรู้สึกของรสใด เพราะว่าส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ย่อมทำให้รสทั้ง ๘ นี้ แตกต่างออกไปตามควรแก่ส่วนผสมนั้นๆ

. รส ๘ รส ฝาดก็ทราบได้ว่าฝาด เช่น มะขามป้อม แต่เฝื่อน คิดว่า คงจะมี มิฉะนั้นพระพุทธองค์คงไม่แสดงไว้

สุ. ได้แก่ รสยางพุทรา กับมะขามป้อม และมะขวิด เป็นต้น คงต้องไปชิมยางพุทรา รสอะไรก็ตามที่แปลกออกไป

. จากฝาด

สุ. ถ้าไม่คิดว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดง อาจจะตอบได้ว่า ยานี่รสเฝื่อนๆ ใช่ไหม บางท่านก็บอกว่า เอาตะไคร้หั่นใส่ลงไปในน้ำผสมเกลือ เป็นยาชนิดหนึ่ง ซึ่งรสแปลกมาก ทนไม่ได้เหมือนกัน รสอย่างนั้น

. อยู่ภาคกลางรับประทานประจำวันเป็นปกติ แต่เวลาเดินทาง ไปต่างจังหวัดมีอาหารประจำภาค เรารับประทานอาหารของเขาไม่ได้ ชื่อว่าติดในรสไหม

สุ. ต้องติดแน่

. จะปฏิบัติอย่างไร

สุ. เจริญสติ

. ถ้าทานไม่ได้จริงๆ จะทำอย่างไร ควรจะเจริญสติอย่างไรดี

สุ. ทานน้ำ ทานข้าวกับน้ำปลา หรือทานอะไรก็ได้

ถ. เท่าที่ทานได้

สุ. เรื่องรส เป็นเรื่องยาก เพราะว่าทุกคนติด ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ใหญ่ วัยไหนทั้งสิ้น อย่างเด็กบางคนชอบลำไย แต่ไม่ชอบลำไยในข้าวเหนียวลำไย แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ อายุไม่มาก ยังมีความติดความพอใจในรสที่ตนสะสมมา เพราะฉะนั้น ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ อาจจะมีความพอใจในรสบางรสจนกระทั่งไม่สามารถลิ้มรสอื่นได้ คือ ไม่สามารถบริโภคอาหารของภาคอื่นที่แปลกออกไปได้

สำหรับเรื่องการติดในรส และการปรุงรสอย่างวิจิตร ซึ่งวิจิตรมากในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ตลอดมาจนกระทั่ง ๒,๕๐๐ กว่าปี ความวิจิตรในเรื่องการปรุงอาหาร ก็ไม่มีวันที่จะลดน้อยเลย

ขอกล่าวถึงข้อความใน อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ประวัติของท่านพระโสณโกฬวิสเถระ ซึ่งท่านเป็นเอตทัคคะในการเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวก ผู้ปรารภความเพียร ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความวิจิตรในการที่มารดาบิดาของท่าน เลี้ยงท่านมา

ข้อความโดยย่อมีว่า

ท่านพระโสณโกฬวิสะเป็นผู้มีรูปงาม มีผิวดังสีทอง มารดาบิดาจึงให้ชื่อท่านว่า โสณะ ท่านเกิดในตระกูลพ่อค้าที่มีทรัพย์สมบัติมาก พร้อมทั้งบริวารยศที่ไม่มี พ่อค้าผู้ใดจะมีสมบัติและยศมากยิ่งกว่านั้น

เรื่องในอดีตโดยย่อของท่านมีว่า

ในสมัยแห่งพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเกิดในตระกูลเศรษฐี มีชื่อว่า สิริวัฑฒกุมาร เมื่อท่านได้ไปเฝ้าฟังพระธรรมที่วิหาร ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งพระภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีความเพียร ท่านก็คิดว่า สังสารวัฏฏ์ คือ การเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เวียนวนอยู่ในสังสาระนี้ไม่มีกำหนด ว่าจะสิ้นสุด ถ้าปรารถนาตำแหน่งสาวกผู้เลิศ จะเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์โดยมีกำหนดเพียงแสนกัปบ้าง อสงไขยกัปบ้าง ตามภูมิของมหาสาวกและอัครสาวก ท่านจึงตั้งความปรารถนาที่จะเป็นสาวกผู้เลิศด้วยความเพียร และได้รับพยากรณ์จาก พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็ได้บำเพ็ญกุศลตลอดมา

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ฟังพระธรรม แต่ละท่านมีความคิดต่างกัน บางคนเห็นพระผู้มีพระภาคทรงแต่งตั้งพระภิกษุผู้เป็นผู้เลิศทางหนึ่งทางใด ก็มีความปรารถนาที่จะเป็นอย่างนั้นบ้าง เพราะว่าสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า มากมายสักเท่าไรในอดีต แม้สังสารวัฏฏ์ข้างหน้า ก็ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ แต่ถ้าปรารถนาความเป็นผู้เลิศ ก็ยังมีกำหนดว่า เมื่อได้บำเพ็ญบารมีแสนกัปจะได้เป็น พระมหาสาวก หรือบำเพ็ญบารมีถึงหนึ่งอสงไขยแสนกัปจะได้พระอัครสาวกเพราะฉะนั้น สำหรับท่านเอง สังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมาแล้ว ยาวนานจนกำหนดไม่ได้ และสังสารวัฏฏ์ข้างหน้า ก็กำหนดไม่ได้ แต่ถ้าจะเทียบกับแสนกัปก็ยังกำหนดได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงตั้งความปรารถนาที่จะเป็นสาวกผู้เลิศด้วยความเพียร ซึ่งท่านก็ได้บำเพ็ญกุศลตลอดมา

ในภัทรกัปนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว และพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ยังไม่ทรงอุบัติ ในกาลนั้น ท่านได้ทำบรรณศาลาและที่จงกรมถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และได้ เอาผ้าห่มราคาหนึ่งแสนปูไว้เป็นเครื่องลาดพื้นที่จะเข้าสู่บรรณศาลา

กาลเวลาล่วงผ่านไป จนถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ทรงอุบัติแล้ว ท่านเกิดเป็นบุตรอุสภเศรษฐี ในกาลจัมปากนคร ตั้งแต่ท่านปฏิสนธิ ในครรภ์มารดา มีผู้นำเครื่องบรรณาการมาให้ท่านเศรษฐีเป็นอันมาก แม้ในวันที่ท่านออกจากครรภ์มารดา ก็มีผู้นำเครื่องบรรณาการมาให้ทั่วพระนคร เศรษฐีผู้มารดาบิดาก็จัดแจงพี่เลี้ยงนางนมให้ปฏิบัติบำเรอท่านให้เจริญขึ้นด้วยความสุขดุจเทพกุมาร

วิธีที่ท่านเศรษฐีจัดแจงอาหารให้แก่ผู้เป็นบุตรนั้น ไม่มีใครเหมือน คือ หว่านข้าวสาลีลงในที่ประมาณได้ ๗ กรีส และเลี้ยงข้าวสาลีด้วยน้ำ ๓ ประการ คือ น้ำปกติ น้ำนมสด และน้ำหอม เหมืองน้ำที่จะเข้านานั้น ท่านเศรษฐีได้ให้เอา ตุ่มใหญ่มีประมาณมากกว่าพันตุ่ม ใส่น้ำนมสดและน้ำหอมให้เต็ม และเอาไปเทลงใน เหมืองน้ำให้ไหลเข้าไปในนา เวลาที่ข้าวสาลีออกรวงพอเป็นน้ำนม ท่านเศรษฐีก็ให้ ตั้งรั้วแวดล้อมโดยรอบ และฝังเสาไว้ในระหว่างๆ นั้น เอาผ้าขาวเนื้อละเอียดลาดปู ปกคลุมลงข้างบน และเอาท่อนไม้เรียงขึ้นไว้ และปกคลุมด้วยเสื่อลำแพน และเอาม่านกั้นไว้รอบนา จัดยามเฝ้าไว้โดยรอบ เพื่อไม่ให้สัตว์และนกเข้ามากัดกินข้าวสาลีเป็นเดนกิน พอข้าวกล้านั้นเป็นรวงแก่แล้ว ท่านเศรษฐีก็จัดแจงฉางใส่ข้าวสาลี ในฉางนั้น เอาของหอม ๔ อย่างปะพรมเรี่ยรายลงไว้บนพื้น และจึงเอาของหอมพิเศษอุดมยิ่งขึ้นไปกว่านั้นปะพรมเรี่ยรายทับข้างบน

เมื่อถึงเวลาเกี่ยวข้าวสาลี ก็ให้คนประมาณมากกว่าพันคน เด็ดเอาแต่รวง ข้าวสาลี ทำให้เป็นกำ เป็นมัด ผูกห้อยตากไว้กับเชือกราว พอแห้งแล้วก็เอาใส่ไว้ ในฉาง โดยให้เอาของหอมปูลาดพื้นลงก่อน เอารวงข้าวสาลีนั้นลำดับไว้ข้างบน และเอาของหอมมาราดปูทับรวงข้าวนั้น และเอารวงข้าวสาลีมาลำดับทับของหอมอีก กระทำรวงข้าวกับของหอมนั้นให้เป็นชั้นๆ จนเต็มฉาง เพื่อที่จะอบให้หอม ปิดประตูอบไว้ถึง ๓ ปี พอครบ ๓ ปีก็เปิดฉาง เวลาที่เปิดฉางนั้น กลิ่นก็หอมตลบไปทั่ว พระนคร

เวลาที่เอาข้าวสาลีนั้นไปตำ ชาวบ้านก็มาอ้อนวอนขอซื้อเอาแกลบไปใช้ต่างจุณ เครื่องหอม แต่รำของข้าวสาลีนั้นได้แก่จุลลปัฏฐาก เวลาที่จะหุงข้าวสาลีก็คัดเลือกเอาแต่เมล็ดไม่แตกหัก เลือกเอาเมล็ดที่แตกหักออก เอาข้าวสารนั้นใส่ลงในกระเช้าทอง ซาวด้วยน้ำ ซาวแล้วซาวเล่า ๗ หน

บางแห่งใช้คำว่า ๑๐๐ หน เนื่องจากคำว่า สัตต กับ สต แต่ก็ไม่เป็นความสำคัญอะไรว่าจะเป็น ๑๐๐ หน หรือ ๗ หน

เมื่อข้าวหมดมลทินแล้ว ก็เอาข้าวสารนั้นลงในน้ำจันทน์หอม ซึ่งตั้งไว้ให้ร้อนเดือดพลุ่งครู่หนึ่ง และเอาขึ้นหุงให้สุก ที่ข้าวมูลขึ้นที่ปากหม้อนั้นปรากฏดัง เทริดพนมฉัตร อันบุคคลกระทำด้วยดอกมะลิ และเอาอาหารนั้นใส่ลงในภาชนะทอง ยกขึ้นตั้งไว้บนภาชนะเงิน ที่เต็มไปด้วยข้าวปายาสที่มีน้ำน้อยที่กำลังร้อน เพื่อที่จะ อบไอให้ร้อนอยู่ และเอาเข้าไปตั้งไว้ข้างหน้าเศรษฐีบุตร ซึ่งเศรษฐีบุตรนั้นก็บริโภคสมควรแก่การที่จะมีชีวิตอยู่ บ้วนปากแล้ว ชำระมือ และเท้าด้วยน้ำอบที่หอมฟุ้ง ชื่นชูใจ

เมื่อเศรษฐีบุตรล้างมือและเท้าเสร็จแล้ว ชาวเครื่องสำอางก็เชิญเครื่องของหอมสำหรับอบมีประการต่างๆ เข้าไปให้ และที่ที่เศรษฐีบุตรจะเหยียบย่างก้าวเดินไป ทุกแห่งในสำนักของตนนั้น ก็มีพนักงานปูพรมเครื่องลาดอาสนะที่วิจิตรด้วยลวดลายวิเศษให้เศรษฐีบุตรนั้นเดินสบายๆ ไม่ให้ขัดเคืองระคายเท้า

เศรษฐีบุตรเป็นผู้มีบุญลักษณะ คือ พื้นมือและเท้ามีสีแดงงามดุจดอกชบาแดง มีสัมผัสที่ละเอียดอ่อนดุจยองใยแห่งสำลีที่บุคคลดีดประชีประมาณได้ ๑๐๐ หน มีเส้นขนเป็นขนแก้วกุณฑลสีแดงงดงามที่พื้นเท้าทั้ง ๒ ข้าง ด้วยเหตุนี้มารดาบิดาจึง รักใคร่ทะนุถนอมเอาใจให้เดินแต่บนเครื่องลาด เวลาที่เศรษฐีบุตรโกรธใครก็จะกล่าวเป็นคำขัดเคืองว่า ฉันจะเหยียบแผ่นดินละ คือ จะไม่เดินไปบนเครื่องลาด ชนทั้งหลายก็กระทำตามใจให้หายโกรธ และให้เดินไปบนเครื่องลาด

เมื่อเศรษฐีบุตรโตขึ้น มารดาบิดาก็ให้กระทำปราสาท ๓ หลังที่สมควรจะอยู่ ใน ๓ ฤดู ให้หญิงฟ้อนทั้งหลายขับฟ้อนบำรุงบำเรอ เศรษฐีบุตรสมบูรณ์ด้วยความสุขราวกับอยู่ในสวรรค์

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้เสด็จไปแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ที่อิสิปตนมฤคทายวัน พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธให้หาเศรษฐีบุตรนั้น และส่งไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคกับชาวบ้านประมาณ ๘๐,๐๐๐ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรขนละเอียดอ่อนที่พื้นเท้าของเศรษฐีบุตร

นี่เป็นการหาวิธีดูขนที่พื้นเท้าของเศรษฐีบุตร เพราะว่าพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระราชา ไม่มีทางที่จะได้ดูพื้นเท้าของเศรษฐีบุตรได้ แต่ถ้าเศรษฐีบุตรไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค และกราบถวายนมัสการพระผู้มีพระภาค ก็จะเป็นโอกาสที่หมู่ชน และพระราชาจะได้เห็นขนที่พื้นเท้าของเศรษฐีบุตร

เปิด  263
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565