แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1475

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘


เมื่อเศรษฐีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว มีศรัทธาที่จะบวช เมื่อบิดามารดาอนุญาตแล้ว ท่านก็ได้อุปสมบท แต่พวกมิตรสหายพากันนำเครื่องสักการบูชา มาถวาย และสรรเสริญความงามของท่านเป็นประจำ แม้คนที่ไม่ใช่ญาติก็พากัน มาเยี่ยมเยือนเพื่อที่จะดูท่านไม่ขาดเลย ท่านต้องกังวลกับผู้ที่มาพูดจาปราศรัยด้วยเป็นนิตย์ ท่านจึงคิดว่า จะไปเจริญสมณธรรมที่ป่าช้าในสีตวัน ซึ่งเป็นที่ที่ใครก็กลัวและรังเกียจ ไม่กล้าจะไปที่นั่น เมื่อท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและได้ฟังพระธรรม เพื่อเจริญสมณธรรมแล้ว ท่านก็ไปสู่ป่าสีตวัน

ท่านคิดว่า ท่านเป็นผู้ที่มีรูปร่างกายละเอียดอ่อนยิ่งนัก ควรที่จะเพียรด้วยความทุกข์ยาก ท่านจึงเพียรเดินจงกรมจนกระทั่งพื้นเท้าพุพอง มีหนอง ช้ำ แตก เป็นโลหิตไหลติดที่จงกรม ที่จงกรมนั้นแปดเปื้อนด้วยหยาดโลหิต เมื่อเท้าทั้งสองนั้นแตกช้ำ เดินไปไม่ได้ ท่านพระโสณเถระก็ไม่ย่อท้อที่จะกระทำความเพียร อุตส่าห์พยายามจงกรมด้วยเข่าและมือทั้งสอง แต่ท่านก็ไม่อาจบรรลุมรรคผลได้ ท่านคิดว่า คนอื่นที่ได้ชื่อว่าการปรารภความเพียรนั้น ถ้าจะเพียรอย่างบากบั่นมั่นคง ก็จะเท่ากับความเพียรของท่านนั่นเอง แต่เมื่อท่านพากเพียรจนถึงอย่างนี้แล้ว คือ เพียรจนไม่มีใครเสมอเหมือน หรือใครจะเพียรก็คงจะไม่เพียรมากเกินไปกว่าท่าน แต่เมื่อท่าน เพียรอย่างนี้แล้วไม่บรรลุมรรคผล ท่านก็คิดว่า ท่านคงไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล ไม่ใช่วิปัญจิตัญญูบุคคล ไม่ใช่เนยยบุคคล ท่านคงจะเป็นปทปรมบุคคล ซึ่งแม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมเทศนาสักเท่าไรก็ไม่อาจบรรลุมรรคผลได้ ท่านจึงคิดกลับไปเป็นคฤหัสถ์ และบริโภคสมบัติ กระทำบุญกุศลต่างๆ

พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของท่าน ในเวลาเย็นพระองค์เสด็จ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปสู่ที่ที่ท่านพระโสณโกฬวิสเถระเดินจงกรม ทรง พระมหากรุณาตรัสโอวาทที่มีอุปมาด้วยสายพิณ ทรงแสดงทางสายกลางแก่ ท่านพระเถระ และเสด็จกลับสู่เขาคิชฌกูฎ

ท่านพระโสณเถระประพฤติตามพระโอวาท ในเวลาไม่นานนักท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และในกาลต่อมาพระผู้มีพระภาคก็ทรงตั้งท่านพระโสณโกฬวิสะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำความเพียร

. การปฏิบัติธรรมของท่านพระโสณะรู้สึกว่า ไม่น่าจะใช่สัมมาวายามะ ทั้งๆ ที่ท่านได้รับพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ยังมาปฏิบัติโดยการเดินจงกรมอย่างอุกฤษฏ์อย่างนั้น

สุ. ความเพียรของพระภิกษุกับฆราวาสต่างกัน ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์เพียร ฟังธรรม แต่มีกิจมาก มีการงานมาก เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ของคฤหัสถ์ที่จะพากเพียรประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ ต้องน้อยกว่าบรรพชิต เมื่อท่านเป็นบรรพชิตแล้ว กิจอื่นไม่มี ไม่ต้องทำอาหาร ไม่ต้องเลี้ยงชีพ ไม่ต้องทำอะไร เมื่อบิณฑบาต ฉันภัตตาหารแล้ว เวลาที่เหลือทั้งหมดก็เพื่อการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องมีการนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง

ถ้าเป็นผู้ที่บำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ท่านจะนอนน้อยมาก คือ นอนเมื่อจำเป็นจริงๆ และบางท่านก็ไม่นอน แต่นั่งหลับ เพราะว่าเวลาของทุกคนมีน้อยมาก สำหรับภพหนึ่งชาติหนึ่ง ถ้ายังไม่บรรลุอริยสัจธรรมในชาตินี้ ชาติหน้าจะเกิดที่ไหน จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมอีกไหม จะมีโอกาสที่สติจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏอย่างในชาตินี้ไหม ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมจนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่มีการอบรมเจริญปัญญาในชาตินั้น

ทุกท่านไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต มีอุปนิสัยที่สะสมมาต่างกับคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ท่านย่อมพากเพียรมากกว่า แทนที่จะนั่งและอาจจะหลับ หรือว่าเมื่อย ก็มีการเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่าผู้ที่ไม่ได้ทำกิจการงานเลย หรือผู้ที่นั่งมาก สุขภาพไม่ดี การเดินเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย ค่ำ การเดินบิณฑบาตเป็นประโยชน์หลายทาง และหลังจากบิณฑบาตแล้ว ถ้าจะเพียงนั่งก็ต้องเมื่อย ก็ต้องมีการเดิน

เพราะฉะนั้น ท่านเอง เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่เดินบนที่ลาดอยู่เสมอ ในขณะที่ต้องเดินในที่ที่ไม่มีที่ลาด และท่านเป็นผู้มีฝ่าเท้าละเอียดอ่อน เมื่อท่านเดินมาก ก็ต้องมีแผล แต่ก็ไม่ละทิ้งความเพียร ท่านคงจะไม่ไปนอนหลับสบายๆ แต่ท่านเห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญธรรม ถ้าเป็นบุคคลผู้ไม่เลิศทางความเพียร ก็จะไม่ทำอย่างนั้น

. การลงคลานของท่านพระโสณะ ธรรมดาทั่วไปจะมองว่า เป็นสีลัพพตปรามาส

สุ. ท่านผู้ฟังคงจะเคยเห็นคนขยัน คนขยันไม่ได้อยู่ว่างๆ เลย ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็จะทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งคนไม่ขยันก็มองดูว่า จะทำทำไม อยู่เฉยๆ พักผ่อนไปเที่ยวเล่นสบายกว่าแน่ๆ แต่คนขยันจะทนทำอย่างคนไม่ขยันไม่ได้เลย เขาจะทำงานอยู่ตลอดเวลา ฉันใด เวลาที่เป็นบรรพชิตแล้ว และไม่มีกิจอื่นที่จะทำ ก็คงจะอยู่ว่างๆ เฉยๆ ไม่ได้

. ถ้าผมจะลงไปคลานบ้าง หัวเข่ากระทบก็แข็งปรากฏ ลูกเมียเขาคง ไม่ยอม

สุ. ความคิดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ทุกคนคิดไม่เหมือนกัน ถ้าจะพิจารณาความคิดของแต่ละคนจะรู้ว่า ไม่ได้คิดอย่างนี้เพียงชาติเดียวหรือว่าครั้งเดียว ถ้าใครเกิดคิดอะไรขึ้นมา ก็หมายความว่าเคยสะสมการคิดอย่างนั้นมาแล้วในอดีต แม้แต่ท่านพระโสณะก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเห็นพระภิกษุผู้เลิศในความเพียรในอดีต ก่อนท่าน ท่านก็ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นอย่างนั้น

ใครอยากเป็นคนขยันบ้าง ทำงานทั้งวัน คนอื่นนั่งเฉยๆ บางคนก็บอกว่า ขอนั่งเฉยๆ อย่าเป็นคนขยันอย่างนั้น แต่คนที่อยากขยันอย่างนั้น ขอขยัน ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังอาจจะคิดได้ว่า อยากจะทำอย่างท่านพระโสณะ แต่ทำหรือเปล่านั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละท่าน ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ

. การเป็นเอตทัคคะนั้น ต้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้พยากรณ์เท่านั้น ใช่ไหม

สุ. คนอื่นไม่สามารถรู้ได้

. อย่างท่านพระโสณะ เทียบเท้าแตก กับพระจักขุบาลตาแตก ผมว่า ตาแตกน่าจะพากเพียรมากกว่า เจ็บปวดมากกว่า แต่ท่านพระจักขุบาลก็ไม่ได้เอตทัคคะในทางพากเพียร เพราะฉะนั้น ต้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์เท่านั้น

สุ. ต้องศึกษาประวัติของแต่ละท่านด้วยว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงตั้งท่านเป็นเอตทัคคะในแต่ละทาง

. แม้กระทั่งท่านพระอานนท์ ความพากเพียรก็ยังสู้ท่านพระโสณะไม่ได้

สุ. คนละอย่าง ท่านพากเพียรที่จะศึกษาและบำรุงพระผู้มีพระภาค

. ได้รับฝากคำถามมาจากเพื่อนสหายธรรมว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นสยมภู เป็นสัพพัญญุตญาณ รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเป็นผู้รู้ทั้งหมดแล้ว ทำไมยังต้องอาศัยสหัมบดีพรหมมาทูลอาราธนาให้สั่งสอนเวไนยสัตว์ ทำไมต้องอาศัยคนอื่นอีก ในเมื่อพระพุทธเจ้าเองก็รู้ทุกอย่าง

สุ. ตามธรรมเนียมเท่านั้นเอง เพราะตามธรรมดาของการแสดงธรรมจะมี ผู้ที่อาราธนา แต่อย่างไรก็ตาม เวลาที่ทรงตรัสรู้แล้ว เพราะเหตุว่าธรรมลึกซึ้ง จึงเพียงน้อมพระทัยที่ไม่ทรงแสดงเท่านั้นในขณะนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แสดงเลย แต่เพราะธรรมเป็นสภาพที่ลึกซึ้งมาก ในขณะนั้นก็เห็นว่า คนที่จะรู้ตามนี่ยากจริงๆ ทันทีที่ตรึกอย่างนั้น สหัมบดีพรหมรู้ เพราะฉะนั้น ก็มาอาราธนาทันที

. ทำให้พุทธศาสนิกชนคิดว่า สหัมบดีพรหมนี่เหนือกว่าหรืออย่างไร

สุ. ไม่เลย

. ได้ฟังจากสหายธรรม ซึ่งท่านเป็นผู้เข้าใจการปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันตามปกติอย่างนี้ มีความเข้าใจดี และมีความเห็นว่า ผู้ฟังส่วนมากมักจะสนใจในเรื่องการเจริญสมาธิ จะเป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ ก็แล้วแต่ เขามีความเห็นว่า เราไม่ควรไปคัดค้านหรือไปเปลี่ยนแปลงความคิดเห็น เพียงแต่เราแนะนำให้เขาใช้เวลาหรือขณะที่เขาปฏิบัติสมาธินั้น ให้เขามาพิจารณาธรรมธาตุที่ปรากฏทางทวารต่างๆ ดีกว่าที่จะไปคัดค้านเขา หรือไม่เห็นด้วยกับเขา ในการเจริญสมาธิอย่างนั้น อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ ให้เขารู้จุดประสงค์ว่า เขาต้องการอะไร อย่าง บางคนบอกว่า ชีวิตวันหนึ่งๆ วุ่นวายมาก ทำอย่างไรจึงจะสงบ ถ้าเขาพูดอย่างนี้ จะช่วยอย่างไร นอกจากจะถามว่า สงบกับปัญญา ต้องการอย่างไหน

คือ เริ่มให้เขาคิดพิจารณาในเหตุผลก่อนว่า สงบกับปัญญา ต้องการอย่างไหน ต้องคิดจริงๆ พิจารณาจริงๆ เพราะว่าสงบโดยไม่มีปัญญาได้ เวลาที่กุศลจิตเกิด ในขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ไม่มีปัญญาก็ได้ ซึ่งถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่สามารถดับกิเลสได้

ถ้าผู้ที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญญาย่อมดีกว่า เพราะว่าขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นสงบด้วย ไม่ใช่มีแต่ปัญญาโดยที่ไม่มีความสงบ และปัญญานั้นเองเมื่ออบรมเจริญเพิ่มขึ้น ก็สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าเพียงสงบ กิเลสไม่กลัว แม้ผู้ที่ได้บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ยังดับกิเลสไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของปัญญา และอบรมเจริญปัญญาเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่ง เป็นปัญญาที่มีกำลัง ก็สามารถละคลายและดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ต้องให้พิจารณาว่า ต้องการความสงบ หรือว่าต้องการปัญญา

ถ้าต้องการปัญญา มีวิธีไหนที่จะปฏิบัติแล้วให้เกิดปัญญา ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อน ไม่ใช่ว่ามีวิธีปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย

แม้แต่ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว และคิดว่าประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ของรูปนั่ง ก็ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ถ้าเข้าใจในสภาพของปรมัตถธรรมที่ได้ศึกษาโดยถ่องแท้จริงๆ จะไม่เข้าใจผิดอย่างนั้น เพราะเพียงข้อความที่ว่า จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่ง ขณะ ขณะเดียว และจิตต้องอาศัยปัจจัยจึงจะเกิดขึ้น โดยปัจจัยต่างๆ เช่น ความสำคัญของอารัมมณปัจจัย อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตเกิดขึ้นรู้ ถ้าอารมณ์ไม่มี ไม่เกิดขึ้น จิตจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้เลย เช่น เสียงเมื่อกี้ ทุกคนได้ยิน ให้คิดถึงลักษณะที่ทุพพลภาพที่ไม่มีกำลังของจิต แม้จะเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ก็จริง แต่ จิตเกิดขึ้นเองไม่ได้ จิตต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และอารมณ์ เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตเกิด แล้วแต่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์อะไร

เหมือนกับคนแก่ที่ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะต้องลุกขึ้น ก็ต้องอาศัยไม้เท้า หรือเชือกสำหรับยึดเหนี่ยวตัวขึ้น ฉันใด จิตแต่ละขณะ แต่ละชนิดที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอารมณ์ที่ปรากฏ เช่น เวลาที่เสียงเกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาทรูป เป็นปัจจัยให้จิต ได้ยินเกิดขึ้น จิตได้ยินไม่สามารถมีกำลังที่จะเกิดขึ้นมาเองได้ ต้องแล้วแต่อารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ทางตาในขณะที่กำลังเห็น จิตเห็นไม่มีกำลังที่จะเกิดขึ้นมาเองได้ถ้ารูปารมณ์ไม่กระทบกับจักขุปสาท นี่คือทางตา ทางหู เสียงก็ต้องเกิดกระทบกับโสตปสาท ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

เพราะฉะนั้น จะมีรูปนั่ง เป็นท่าทางที่เกิดดับได้อย่างไร ในเมื่อจิตเกิดขึ้น ครั้งหนึ่งจะรู้เฉพาะอารมณ์อย่างเดียว อย่างเดียวเท่านั้น เช่น ในขณะที่จิตได้ยินเกิดขึ้น สิ่งอื่นทั้งหมดจะปรากฏไม่ได้เลย

เมื่อกล่าวว่า จิตเกิดขึ้นทีละขณะ และรู้อารมณ์ทีละอย่าง รูปนั่งมีไม่ได้ ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูมีเสียง ทางจมูกมีกลิ่น ทางลิ้นมีรส ทางกายมีสิ่งที่กระทบสัมผัส คิดดูว่า จะมีรูปนั่งได้ไหม ที่จะเกิดขึ้นและดับไปให้เป็นอุทยัพพยญาณ

เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงอุทยัพพยญาณต้องรู้ว่า เพียงแค่ทางตาที่เห็นทุกๆ วัน ความไม่รู้มีมากแค่ไหน เพราะเหตุใด เพราะเป็นเรื่องเป็นราวทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ไม่ได้เป็นแต่สภาพของปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งที่เพียงปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทรูปเท่านั้น

ทุกคนพิจารณาถึงชีวิตประจำวัน เห็น เป็นเรื่องหมด ใช่ไหม เป็นคนนั้น เป็นสิ่งนี้ เป็นอาหาร เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมากมายสักแค่ไหน

ต้องเอาเรื่องทั้งหมดออก ไม่มีเรื่อง เพราะว่าปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏ โดยไม่ต้องใช้ชื่อเรียกว่าอะไรเลย นั่นคือความหมายของธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ทางตา เคยเป็นเรื่องมากมายหลายเรื่องตั้งแต่เด็กจนโต แต่เมื่อไรปัญญาเจริญขึ้นจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ยังไม่เป็นคน ใส่เสื้อสีขาว สีเขียว สีแดง นั่งที่นั่น ทำที่นี่ ลุกขึ้นเดินไปเดินมา ต้องเป็นแต่เพียงสภาพธรรมจริงๆ เท่านั้น และทำอย่างไรจึงจะประจักษ์ความจริงอย่างนี้

ถ้าไม่เคยฟังมาก่อน สติย่อมไม่มีการที่จะระลึกได้ และแม้ว่าจะได้ฟัง สักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าสติไม่น้อมระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ว่า สภาพที่ปรากฏทางตา เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ไม่ต้องเรียกอะไรเลย และน้อมระลึกถึงลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ที่เพียงเห็น ในขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏ นี่เป็นการตั้งต้นที่ยัง ไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ

และการที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้นั้น ต้องพิจารณาจนกระทั่งประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมแต่ละทางที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ด้วยวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นตามลำดับจริงๆ และขณะที่สภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดกำลังปรากฏ สภาพธรรมอย่างอื่นไม่เกิดปรากฏร่วมด้วยในที่นั้นเลย รูปนั่งก็ไม่มี ตั้งแต่เบื้องต้นจนตลอด เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ

. เขาเคยเล่าว่า เขาเคยเห็นรูปเดิน ขณะที่เขาเดินไปและพิจารณา สภาพธรรม เขาเห็นตัวเขาแกว่งไปทางซ้าย ทางขวา เขาเห็นเป็นธรรมชาติจริงๆ เขามั่นใจ ซึ่งนานๆ เขาจะเห็นสภาพธรรมอย่างนี้สักทีหนึ่ง

สุ. และทางตาที่เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางหูที่เป็นสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามปกติ เมื่อไรจะรู้ ถ้ายังไม่รู้ จะไม่ถึงอุทยัพพยญาณ จะไม่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565