แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1478

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘


ท่านพระมหากัจจายนะพิจารณาเห็นอุปนิสัยสมบัติแห่งเศรษฐีธิดา ก็ได้ถาม แม่นมว่า เศรษฐีธิดานั้นอยู่ที่ไหน ทำไมไม่เห็น แม่นมก็กราบเรียนว่า อยู่ในห้อง พระมหากัจจายนะเถระก็ให้เรียกเศรษฐีธิดานั้นมา

ฝ่ายธิดาเศรษฐีธิดานั้น ครั้นแม่นมเรียกด้วยวาจาคำเดียวเท่านั้น นางก็ออกมาจากห้องด้วยความเคารพในพระมหาเถระทั้งหลาย แล้วถวายนมัสการพระมหาเถระทั้งหลายอย่างนอบน้อมด้วยศรัทธายิ่ง บิณฑบาตที่บุคคลตั้งไว้ในเนื้อนาอันดี คือ ทักขิไณยบุคคล ย่อมให้ผลในทิฏฐธรรมทันตาในอัตภาพชาตินี้แท้จริง ด้วยเหตุนั้น ผมของเศรษฐีธิดานั้น ก็ยาวสวยเหมือนเดิม ในขณะที่นางถวายนมัสการ พระมหาเถระทั้งปวงนั่นเอง

ส่วนพระมหาเถระทั้ง ๘ องค์นั้น เมื่อได้รับอาหารบิณฑบาตนั้นแล้ว ในขณะที่เศรษฐีธิดาแลดูอยู่นั่นเอง พระผู้เป็นเจ้าก็พากันเหาะไปสู่กาญจนอุทยานแห่ง พระเจ้าจัณฑปัชโชตในนครอุชเชนี

เมื่อผู้รักษาอุทยานเห็นพระมหากัจจายนเถระก็จำได้ จึงได้เข้าไปกราบทูลพระราชาว่า ท่านพระมหากัจจายนปุโรหิตบวชแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในพระราชอุทยาน พระเจ้าจันฑปัตโชตก็เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน และเมื่อถวายนมัสการพระมหาเถระแล้วก็ตรัสว่า พระผู้มีพระภาคประทับที่ไหน

เพราะว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชตให้พราหมณ์กัจจายนะไปกราบทูลเชิญเสด็จมา

ท่านพระมหากัจจายนะได้ถวายพระพรว่า พระผู้มีพระภาคไม่เสด็จมาด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงส่งท่านให้มาแทน

พระราชาตรัสถามว่า วันนี้พระผู้เป็นเจ้าได้จังหันที่ไหนฉัน

เมื่อท่านพระมหากัจจายนะได้ถวายพระพรเล่าเรื่องที่เศรษฐีธิดากระทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำได้ พระราชาจึงตรัสให้จัดแจงถวายที่พำนักแก่พระมหาเถระ และ ได้อาราธนาพระมหาเถระให้อยู่ที่นั่น แล้วได้เสด็จกลับไปสู่พระราชนิเวศน์ รับสั่งให้ คนไปนำเศรษฐีธิดาผู้นั้นมา และตั้งไว้ในตำแหน่งพระมเหสีผู้เลิศ

สำหรับท่านพระมหากัจจายนะ ท่านได้แสดงธรรมให้ชาวอุชเชนีมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ท่านเป็นเอตทัคคะในการอธิบายขยายความพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ เพราะบางท่านแม้ว่าพระธรรมจะมีอยู่เพียงสั้นๆ แต่เป็นผู้ที่สะสมมาที่จะพิจารณาไตร่ตรองธรรมนั้นโดยละเอียด สุขุม จึงทำให้สามารถเข้าใจในอรรถที่ลึกซึ้งของธรรมนั้น และยังสามารถอธิบายขยายความธรรมนั้น ให้ละเอียด จนกระทั่งผู้อื่นสามารถเข้าใจได้

. คราวที่แล้วได้เรียนถามอาจารย์ว่า ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ รูปนามทั้ง ๖ ทวารจนทั่วแล้ว อาจารย์บอกว่า ก็ยังไม่ได้นามรูปปริจเฉทญาณ การได้นามรูปปริจเฉทญาณ หมายความว่าผู้ที่ได้นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ต้องรู้ รูปทั้ง ๒๘ ครบทุกรูป ใช่ไหม

สุ. ไม่จำเป็น

. ผมจะถามให้ตรง ให้ละเอียดลงไปอีกว่า ในขณะนี้ทางมโนทวารก็ยังรู้ไม่ได้หมด รู้แต่เพียงนึกคิดเท่านั้นเองว่านี่คือสภาพนามธรรมที่นึกคิด แต่จะรู้ทาง มโนทวารถึงขั้นรู้ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ เหล่านั้น ก็ยังรู้ไม่ได้

สุ. นี่เป็นการศึกษาโดยชื่อ แต่ถ้าศึกษาโดยสติขณะนี้ทางตาจะมีปสาทรูปปรากฏไหม

. มี แต่เรายัง ...

สุ. ปรากฏ

. ปัญญายังไม่ถึง

สุ. เวลานี้อะไรปรากฏทางตา

. ก็สิ่งที่ปรากฏทางตา

สุ. รูปารมณ์ ทางธรรมใช้คำว่า รูปารมณ์ หมายความถึงสีสันวัณณะ ต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตา สติระลึกจนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องคิดไปถึงปสาทรูป ๕ หรือว่าสุขุมรูป ๑๖ นั่นชื่อ แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ ขณะที่กำลังเห็น มีรูปปรากฏ และสติต้องระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของรูปที่กำลังปรากฏทางหู ได้ยินเสียง ไม่ต้องนึกถึงปสาทรูปหรือสุขุมรูปเลย เสียงกำลังปรากฏ ทำไม ไปคิดถึงปสาทรูปกับสุขุมรูป

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม คือ ขณะใดที่สภาพธรรมใดปรากฏ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น ส่วนรูปจะมีจำนวน ๒๘ รูป ก็เป็นเรื่องที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงให้เจริญสติระลึกลักษณะของรูปที่ปรากฏ ไม่ใช่พยายามจะไปรู้รูปที่ไม่ปรากฏ

. และเมื่อไรจะรู้รูปที่ไม่ปรากฏนั้นได้

สุ. เมื่อรู้รูปที่ปรากฏแล้ว พอใจไหม

. รูปที่ปรากฏ ก็รู้เฉพาะรูปที่ปรากฏ แต่ปัญญาขั้นไหนจึงจะรู้รูปที่ ...

สุ. ปัญญาขั้นรู้รูปที่ปรากฏก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงปัญญาขั้นอื่นเลย

. ถ้านามรูปปริจเฉทญาณ ขั้นนี้ก็ยังไม่รู้ ใช่ไหม

สุ. แต่ละบุคคลเหมือนกันไหม นามรูปปริจเฉทญาณของท่านพระสารีบุตร ของท่านพระพาหิยทารุจีริยะ หรือของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ของท่านวิสาขา มิคารมาตา จะเหมือนกันไหม

. นามรูปปริจเฉทญาณของแต่ละคนไม่เหมือนกันหรือ

สุ. นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของรูปธรรม ทีละรูป ลักษณะของนามธรรมที่ต่างกับรูปธรรม จึงชื่อว่านามรูปปริจเฉทญาณ แต่ รูปใดจะปรากฏกับใคร เหมือนกันไหม

. ถ้ารูปนั้นปรากฏก็รู้ ใช่ไหม

สุ. แน่นอน ต้องเข้าใจคำว่า ปัจจัตตธรรม หรือปัจจัตตัง คือ ธรรมที่รู้เฉพาะตนจริงๆ

. เฉพาะตนจริงๆ แต่อย่างที่ชัดๆ เวลานี้ที่แน่นอนที่สุด อย่าง ...

สุ. ขอประทานโทษ ท่านไม่ได้แสดงไว้เลยว่า นามรูปปริจเฉทญาณของท่านพระสารีบุตรมีลักษณะของรูปอะไรบ้าง มีลักษณะของนามอะไรบ้างปรากฏ ท่านไม่ได้แสดงไว้เลย เพราะปัจจัตตัง แต่ละคนก็รู้เฉพาะตัว

. ที่ผมถาม หมายความว่า ปัญญาขั้นนั้นรู้ถึงไหม

สุ. รู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมทีละอย่าง โดยสภาพที่ต่างกัน

. อย่างผมเวลานี้ ถ้าพูดถึงรู้สุขุมรูป รู้ไม่ได้แน่ เพราะปัญญายังไม่ถึง แต่ถ้าถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณจะรู้ …

สุ. นามรูปปริจเฉทญาณของท่านพระสารีบุตร กับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะเหมือนกันไหม ในเมื่อเป็นปัจจัตตธรรม เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะตน

. ปัญญาในขั้นนั้น อย่างสมมติว่าได้พระโสดาบันแล้ว พระโสดาบันของแต่ละคนปัญญาก็ไม่เท่ากันด้วย ใช่ไหม

สุ. รู้อริยสัจเหมือนกัน แต่ว่าท่านพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศทางปัญญา

. ปัญญาแต่ละขั้นของแต่ละท่าน ก็ไม่เท่ากันอีก

สุ. เรียนด้วยกัน มีคะแนนต่างกันไหม สอบได้เหมือนกัน

. ใช่ แต่ปัญญาขั้นนั้นน่าจะแทงตลอดในอะไรบ้าง

สุ. ถ้าปัญญาสอบได้เหมือนๆ กัน แต่ความรู้ความสามารถพิเศษต่างกันไหม มีที่ ๑ ที่ ๒ มีที่สุดท้ายบ้างไหม

. คำถามที่ถาม คือ ผู้ที่ได้นามรูปปริจเฉทญาณ ถ้ามีสุขุมรูปปรากฏ เขารู้ใช่ไหม

สุ. ถ้าปรากฏกับใคร คนนั้นก็รู้ ถ้าไม่รู้จะทรงแสดงไว้ได้อย่างไร นามรูปปริจเฉทญาณของท่านพระสารีบุตร ถ้า เพียงคำว่า ถ้า ถ้านามที่ปรากฏ คือ วิตกเจตสิก เป็นไปได้ไหม

. วิตกเจตสิกของท่านพระสารีบุตร

สุ. ผู้เลิศทางปัญญา นามรูปปริจเฉทญาณของท่าน ท่านรู้ลักษณะของวิตกเจตสิกได้ไหม แทนที่จะรู้สภาพที่กำลังเห็น หรือสภาพที่กำลังได้ยินเสียง หรือสภาพที่กำลังคิดนึก เมื่อท่านเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา เพียงฟังธรรมสั้นๆ สามารถแทงตลอดลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาของท่านที่เป็น นามรูปปริจเฉทญาณ จะมีวิตกเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเป็นอารมณ์ที่ปัญญารู้ชัด ในขณะนั้นได้ไหม

. อย่างท่านพระสารีบุตรได้แน่นอน

สุ. คนอื่นได้ไหม

. ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ดีกว่า อย่างผมเวลานี้ ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเห็น สติอาจจะระลึกได้ แต่ไม่ทุกครั้งไป ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ยังไม่ศึกษาธรรม แม้ปรากฏก็ไม่มีทางรู้ได้ แต่ปัญหา คือ คนที่ได้นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ถ้า สุขุมรูปเกิดขึ้น เขารู้ไหม

สุ. ถ้าปรากฏกับใคร คนนั้นรู้

. อย่างผมเวลานี้ สุขุมรูปเกิด ผมก็รู้ไม่ได้ เพราะปัญญาผมไม่ถึง

สุ. ก็สติไม่ได้ระลึก จะไปรู้ได้อย่างไร

. ก็เพราะสติยังอ่อน ปัญญายังไม่ถึง แต่ผู้มีปัญญาถึงนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เขาจะต้องรู้ …

สุ. รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ส่วนจะเป็นนามอะไร รูปอะไร นั่นเป็นปัจจัตตัง แล้วแต่บุคคล เฉพาะแต่ละบุคคล ซึ่งคนอื่นรู้ไม่ได้

. ผมฟังแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจ เพราะว่า …

สุ. เวลานี้นามธรรมต่างกับรูปธรรมไหม

. นามธรรมต่างจากรูปธรรม ถ้าเราศึกษาก็ต่าง แต่คนที่ไม่ได้ศึกษาเขา ไม่รู้ เขาก็ตอบไม่ได้

สุ. ความรู้ที่ว่า นามธรรมต่างจากรูปธรรม ในขณะนี้ ไม่ใช่ นามรูปปริจเฉทญาณ ใช่ไหม

. ไม่ใช่

สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นความสมบูรณ์ของปัญญา โดยสติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งถึงกาลที่สมควรแก่ปัญญาขั้นที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ขณะนั้นจะสามารถประจักษ์จริงๆ ว่า มโนทวารคืออย่างไร เพราะว่ามโนทวารสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เนื่องจากว่าไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมทางทวารใดก็ตาม เมื่อวิถีจิตทางทวารนั้นดับหมดแล้ว ภวังค์เกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องรู้รูปนั้นต่อ ดังนั้น ทางมโนทวารวิถีจึงสามารถรู้ลักษณะของนามและรู้ลักษณะของรูป ซึ่งขณะนั้นผู้นั้นจะรู้ว่า นั่นคือความสมบูรณ์ที่สามารถประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปธรรมใด นามธรรมใด ของแต่ละบุคคล เป็นปัจจัตตัง

ถ้าเหมือนกันหมดทุกคน ไม่มีท่านพระสารีบุตร ไม่มีท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไม่มีท่านพระมหากัสสปะ ไม่มีท่านที่เป็นเอตทัคคะทางหนึ่งทางใดเลย ถ้าเหมือนกันหมดทุกคน

เพราะฉะนั้น จึงมีอัครสาวก พระมหาสาวก และสาวกอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่มหาสาวกและอัครสาวก

ไม่ต้องห่วงเรื่องของรูป ๒๘ รูป รูปอะไรที่กำลังปรากฏ รู้รูปนั้น และเมื่อ สะสมอบรมไปอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยหนึ่งสมัยใด ความคมกล้าของปัญญาขณะที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม อาจจะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปใด นามใดก็ได้ที่มีจริงๆ ในขณะนั้นโดยความเป็นอนัตตา ไม่ได้คิดไว้ก่อนว่า จะประจักษ์รูปนั้น หรือจะประจักษ์นามนั้น ไม่ใช่เตรียมล่วงหน้าว่า เวลาที่วิปัสสนาญาณจะเกิด จะให้ประจักษ์ลักษณะของรูปอะไร หรือนามอะไร แม้แต่ความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็เป็นอนัตตา ขณะนั้นเลือกรูปที่จะปรากฏไม่ได้ เลือกนามที่จะปรากฏทางมโนทวารไม่ได้ แล้วแต่ว่าสภาพของรูปใดจะปรากฏ สภาพของนามใดจะปรากฏ ปัญญาในขณะนั้นก็ประจักษ์ในลักษณะของรูปนั้นนามนั้น

อย่างเรื่องของอานาปานสติ หรือลมหายใจ ซึ่งเป็นที่สนใจมากสำหรับผู้ที่ ใช้คำว่า ปฏิบัติธรรม เพราะว่ามีข้อความนี้ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ท่านคงจะเป็นผู้ที่เคยอบรมอานาปานสติ ในอดีตชาตินานมาก ท่านกล่าวว่า สำหรับท่านเวลาที่ระลึกที่ลมหายใจ จิตเป็น สมาธิรวดเร็ว เพราะฉะนั้น จะเป็นไปได้ไหมที่เป็นสัปปายะสำหรับท่านที่จะให้จิต ตั้งมั่นอย่างนั้นเกิดก่อน และพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าดีกว่าที่จะให้เป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น แต่ละคนมีเหมือนกับนัยอุบายเฉพาะตน คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ก่อนก็จะรู้สึกว่า สติมีเร็วหรือว่ามีมาก หรือเป็นที่ตั้งที่พอใจว่ามีสติแล้ว และจะได้พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

แต่ถ้าศึกษาเหตุผล และเรื่องของการละกิเลส ต้องเข้าใจให้ถูกว่า เรื่องของ การละกิเลสต้องเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะถ้ายังคงมีความติด หรือความพอใจแอบแฝงแม้เพียงเล็กน้อยในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นจะไม่รู้สึกตัวเลยว่า ถูกกั้นไว้แล้ว

เพราะฉะนั้น แทนที่จะพอใจให้มีสติหรือสมาธิเกิดก่อน ซึ่งในขณะนั้นลืมว่า เป็นความพอใจ และลืมด้วยว่า มหาสติปัฏฐานสูตรทั้ง ๔ บรรพ เพื่อละ ไม่ใช่เพื่อ ให้ไปทำ และในขณะนี้ส่วนใหญ่สติไม่ได้ระลึกที่ลมหายใจ เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจว่าต้องให้สงบก่อน หรือต้องให้มีสติก่อน หรือต้องให้มีสมาธิก่อน ก็เริ่มที่จะปฏิบัติโดยกำหนดที่ลมหายใจเพื่อให้จิตตั้งมั่น แต่นี่ไม่ใช่ความมุ่งหมายของอานาปานบรรพ ในมหาสติปัฏฐานเลย เพราะถ้าพิจารณาจริงๆ โดยที่ยึดหลักที่ว่า มหาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ เพื่อละ ไม่ใช่เพื่อยังไม่เกิดก็ไปทำให้มีด้วยความต้องการก่อน

เพราะฉะนั้น คำว่า เพื่อละ ในที่นี้หมายความว่าอะไร

หมายความว่า ถ้าสติของใครจะระลึกที่ลักษณะของลมหายใจ ต้องละ โดยอะไร ต้องละโดยพิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงรูปธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนที่จะอบรมเจริญอานาปานสติที่เป็นอานาปานบรรพ คิดอย่างนี้ หรือเปล่าว่า มหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อละ โดยที่ว่า ถ้าสติระลึกที่ลมขณะไหน เมื่อไร จะต้องละโดยพิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงรูปธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่ายังไม่ทันที่ สติจะเกิด ก็ไปกำหนดตามแบบต่างๆ เพื่อให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิขั้นต่างๆ นั่นไม่ใช่เลย แต่การที่จะละได้ คือ ไม่ว่าขณะใดที่เกิดสมาธิขึ้นแล้วก็ตามโดยสติระลึกที่ลมหายใจ ปัญญา คือ ละ โดยพิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงรูปธรรมอย่างหนึ่ง

และการที่จะสำรวจตัวเองว่าเป็นผู้ที่ละหรือเปล่า คือ ย้ายไปอารมณ์อื่น บ้างไหม หรือยังจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจนั่นเอง ถ้ายังคงจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจอยู่ ไม่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางอื่น เช่น ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ถ้า สติปัฏฐานยังไม่ระลึกทางอื่นเลย หมายความว่า ยังไม่ได้ละ เพราะว่าทางตามี ทำไมไม่ระลึก เมื่อไม่ระลึกแต่ไปตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียว ก็แสดงว่า ยังไม่ได้ มีการรู้ลักษณะของลมหายใจว่าเป็นแต่เพียงรูปอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เพื่อละ เพื่อไม่ติด

เพราะฉะนั้น คนที่ละ คือ ทางตาก็พิจารณา โดยไม่คำนึงว่า เคยสะสมการ ที่สติจะตั้งมั่นที่ลมหายใจมาแล้วในอดีตชาตินานเท่าไร และสติอาจจะระลึกที่ลม ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า เพราะสะสมมาที่สติจะเกิดระลึกที่ลมหายใจ แต่จะต้องละ โดยการรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่ง

เปิด  249
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566