แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1481

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๘


ข้อความต่อไป เรื่องท่านพระสุขเถระ มีว่า

เมื่อท่านมีอายุได้ ๗ ขวบ ท่านขออนุญาตมารดาบวช ซึ่งเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว มารดาของท่านก็ได้ถวายโภชนะมีรส ๗ ประการแก่พระภิกษุสงฆ์ มี พระผู้มีพระภาคเป็นประธาน ภายในพระวิหารสิ้นประมาณ ๗ วัน

ในตอนเย็นวันที่ ๗ มารดาบิดาก็กลับไป วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ ๘ เมื่อ พระภิกษุสงฆ์เข้าไปในเขตบ้านเพื่อที่จะบิณฑบาต ท่านพระสารีบุตรก็ได้กระทำกิจ ในวิหารเสร็จแล้วได้ให้สุขสามเณรถือบาตรและจีวรตามไปบิณฑบาต ในระหว่าง ทางนั้นสุขสามเณรเห็นเหมืองทดน้ำ ก็ได้กราบเรียนถามท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่าน ได้แสดงธรรมเรื่องการอบรมจิตอุปมาเหมือนกับการทดน้ำ ทำให้สุขสามเณรเมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่ได้คิดที่จะไปบิณฑบาตต่อไป ขอให้ท่านพระสารีบุตรรับบาตรและจีวรไป ส่วนท่านเองจะกลับไปสู่สำนักเพื่อเจริญสมณธรรม

เมื่อท่านพระสารีบุตรรับบาตรและจีวรไปแล้ว สุขสามเณรได้ขอให้ท่าน พระสารีบุตรนำโภชนาหารมีรส ๗ ประการมาให้ด้วย

ถึงแม้ไม่ติดตามไป ก็ได้ขอให้ท่านพระสารีบุตรนำอาหารที่มีรส ๗ ประการนั้นมาให้

ท่านพระสารีบุตรได้ไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของท่าน เพื่อนำอาหารมีรส ๗ ประการนั้นไปให้สามเณร แต่อุปัฏฐากนั้นได้ขอฟังธรรมก่อน เมื่อท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมแล้ว ตระกูลอุปัฏฐากก็ได้นำโภชนะมีรส ๗ ประการมาถวายท่าน ท่านก็รีบที่จะนำไปให้สุขสามเณร แต่ตระกูลอุปัฏฐากนั้นได้ขอให้ท่านฉันภัตตาหารนั้น แล้วจะได้ถวายใหม่ให้เต็มบาตรเพื่อจะได้นำกลับไป

เมื่อท่านพระสารีบุตรกลับไป ท่านก็คิดว่า สุขสามเณรคงจะต้องหิวมากจนแสบท้อง ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาว่า วันนี้สุขสามเณรให้บาตรและจีวรแก่พระอุปัชฌาย์และกลับไปสู่สำนักเพื่อเจริญสมณธรรม พระองค์ทรงพิจารณาว่า กิจของสามเณรสำเร็จแล้วหรือไม่ ก็ได้ทรงเห็นภาวะที่สามเณรนั้นบรรลุมรรคผลถึงขั้นพระอนาคามีบุคคล พระองค์จึงทรงพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า สามเณรนี้อาจเพื่อจะบรรลุพระอรหันต์ในวันนี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านพระสารีบุตรนำอาหารมาให้สามเณรโดยเร็ว สามเณรยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ในวันนี้ก็จะเป็นอันตราย เพราะฉะนั้น ควรที่ พระผู้มีพระภาคจะไปรักษาความบรรลุมรรคผลของสามเณรนี้อยู่ที่ซุ้มประตู

ธรรมดาของคนหิวมากๆ ถ้าบริโภคจะสิ้นชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่บริโภค จะทำให้สามารถบรรลุอรหันต์ได้ในชาตินั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดำริอย่างนี้แล้ว ได้เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ไปประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูนั้น เมื่อท่านพระสารีบุตรนำจังหันมาถึง พระผู้มีพระภาคก็ทรงถามปัญหาท่านพระสารีบุตร ๔ ข้อ เมื่อจบปัญหาวิสัชนาของท่านพระสารีบุตรแล้ว ขณะนั้นสุขสามเณรได้บรรลุพระอรหันต์

พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ท่านพระสารีบุตรให้จังหันแก่สามเณร

และเมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ก็ปรากฏว่า สุขสามเณรฉันภัตตาหารล่วงเวลา ด้วยเหตุนี้พระภิกษุทั้งหลายได้กล่าวติเตียนว่า เวลาล่วงเลยแล้ว สามเณรยังกระทำภัตตกิจ และสงสัยว่า ทำไมในวันนั้นตอนเที่ยงถึงได้ยาวมาก และตอนบ่ายก็น้อยลง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ได้ตรัสถึงการบรรลุคุณธรรมของสุขสามเณร และ ตรัสพระสัทธรรมเทศนาเป็นบาทพระคาถาว่า

ชนผู้ขุดเหมืองทั้งหลาย ย่อมให้น้ำไหลเข้าไปสู่นา ช่างปืนทั้งหลายก็ดัด ไม้ลูกปืนให้ตรง ชนช่างถากไม้ทั้งหลายก็ย่อมถากไม้ที่คด ดัดให้ตรงตามชอบอัธยาศัย ชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยปัญญารับโอวาทคำสั่งสอนแล้ว ก็ย่อมฝึกสอนทรมานตน ให้พ้นจากทุกข์ได้

มีท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องที่ท่านคันธเศรษฐีได้ให้เงินกับภัตตภติกบุรุษ เพื่อจะได้มีส่วนในภัตตาหารที่ภัตตภติกบุรุษถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านคิดว่า คล้ายๆ กับเป็นการซื้อบุญ

เรื่องของภัตตภติกบุรุษและคันธเศรษฐีแสดงให้เห็นว่า ท่านคันธเศรษฐีมีเจตนาที่เป็นกุศล ที่ต้องการมีส่วนในการถวายภัตตาหารของภัตตภติกบุรุษ แต่สำหรับเรื่องการดูเหมือนกับซื้อบุญ มีเรื่องในอดีตชาติของท่านพระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ ซึ่งนอกจากเวลาฉันภัตตาหารและเวลาอื่นบ้างแล้ว ท่านย่อมพิจารณาดูหมู่สัตว์ทั้งปวงด้วยทิพยจักษุเป็นนิจกาล ทั้งกลางวันและกลางคืน

เรื่องในอดีตชาติของท่านพระอนุรุทธเถระมีว่า

ในระหว่างสมัยของพระผู้มีพระภาคกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน และพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านเกิดเป็นคนเข็ญใจ ชื่ออันนภาระ เป็นคนหาบหญ้า อาศัยท่านสุมนเศรษฐีเลี้ยงชีวิตอยู่ ท่านสุมนเศรษฐีให้ทานแก่ คนยากจน คนกำพร้า คนเดินทางที่ประตูบ้านทุกวัน ไม่ได้ขาดเลย

วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเข้านิโรธสมาบัติ ครบกำหนด ๗ วันก็ ออกจากนิโรธสมาบัติ พิจารณาว่าควรจะอนุเคราะห์คนเข็ญใจคนไหน เพราะว่าธรรมดาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมอนุเคราะห์คนเข็ญใจ เมื่อเห็นว่าควรจะอนุเคราะห์อันนภาระ ท่านก็เหาะไปที่บ้านอันนภาระขณะที่เขากลับจากราวป่า อันนภาระเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีบาตรเปล่า ก็นิมนต์ให้รออยู่ และได้รีบเข้าไปในบ้านถามภรรยาว่า อาหารส่วนของท่านมีไหม เมื่อทราบว่ามี ก็รีบออกไปรับบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้ามาใส่อาหาร และได้กล่าวกับภรรยาว่า ชาติก่อนๆ ไม่ได้ทำบุญกุศลไว้ชาตินี้จึงต้องยากจน แล้วเวลาที่เราทั้งสองปรารถนาจะให้ทาน ไทยธรรมที่จะให้ก็ไม่มี เวลาไทยธรรมมีก็ไม่พบปฏิคาหก วันนี้ได้พบ พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ให้ภรรยาเอาภัตตาหารส่วนของท่านใส่บาตรด้วย ภรรยาของท่านเป็นคนฉลาด เห็นสามีสละภัตตาหารส่วนของตนได้ ก็ปรารถนามีส่วนร่วมในทานนั้นบ้าง จึงเอาภัตตาหารส่วนของตนใส่ลงในบาตรด้วย

เมื่อท่านรับบาตรไปถวายกับพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้พ้นจากการเลี้ยงชีวิตโดยยากเห็นปานนี้เถิด ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าก็อนุโมทนาให้ความปรารถนานั้นสำเร็จ อันนภาระก็เอาผ้าสาฎกของตนปูลาดที่พื้น และอาราธนาให้พระปัจเจกพุทธเจ้านั่งกระทำภัตตกิจ เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว อันนภาระก็ถวายน้ำล้างบาตร พระปัจเจกพุทธเจ้าก็กล่าวภัตตานุโมทนา แล้วดำเนินจากไป

เทวดาที่สถิตอยู่ที่ฉัตรของสุมนเศรษฐีกล่าวคำสาธุการอนุโมทนาอันนภาระ ๓ ครั้งว่า ทานที่อันนภาระได้ถวายแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้านี้ เป็นทาน อุดมอย่างยิ่ง

เมื่อท่านสุมนเศรษฐีได้ฟังเสียงสาธุการของเทวดา ก็ถามเทวดาว่า ท่านเองให้ทานอยู่นานมาแล้วเทวดาไม่เห็นหรือ เทวดาก็กล่าวตอบว่า ที่เทวดาให้สาธุการนั้น เพราะเลื่อมใสในบิณฑบาตทานของอันนภาระที่ถวายแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า

ท่านสุมนเศรษฐีอัศจรรย์ใจที่ท่านได้ให้ทานตลอดมานานแล้ว เทวดาก็ไม่ได้ให้สาธุการ แต่อันนภาระถวายบิณฑบาตทานครั้งเดียวเท่านั้นเทวดาก็ให้สาธุการ เพราะอันนภาระได้ปฏิคาหก คือ ผู้รับที่สมควร

ท่านเศรษฐีคิดจะให้ทรัพย์แก่อันนภาระ เพื่อให้บิณฑบาตทานนั้นเป็นของ ท่านเอง

ข้อนี้ไม่เหมือนกับคันธเศรษฐี ซึ่งได้ให้กหาปนะแก่ภัตตภติกบุรุษ เพื่อมีส่วนแห่งทานนั้น แต่สำหรับท่านสุมนเศรษฐีคิดจะให้ทรัพย์แก่อันนภาระ เพื่อให้ บิณฑบาตทานนั้นเป็นของท่านเอง

ท่านเรียกอันนภาระมาสอบถาม และบอกอันนภาระว่า ท่านจงรับกหาปนะ และจงให้บิณฑบาตทานนั้นแก่เราเถิด แต่อันนภาระก็ไม่ให้ เศรษฐีก็ทวีเงินขึ้นไปจนถึงพันกหาปนะ อันนภาระก็ยังยืนคำว่า ไม่ให้

ในที่สุดท่านเศรษฐีก็พูดว่า เมื่อท่านไม่ยอมให้บิณฑบาตทานของท่านไซร้ ท่านจงถือเอาทรัพย์พันกหาปนะนี้ และจงให้ส่วนบุญแก่เราบ้าง

อันนภาระก็ตอบว่า การให้ส่วนบุญนั้นควรหรือไม่ควรอย่างไรก็ไม่ทราบ จะต้องไปถามพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าท่านดูก่อน เมื่อเห็นว่าควรให้ก็จะให้ เมื่อไม่เห็นควรว่าจะให้ก็ไม่ให้

ว่าแล้วอันนภาระก็ติดตามพระปัจเจกพุทธเจ้าไป เมื่อทันพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ได้กราบเรียนถามว่า

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บัดนี้ท่านสุมนเศรษฐีจะให้ทรัพย์ข้าพเจ้า ๑,๐๐๐ กหาปนะ แล้วจะถือเอาซึ่งส่วนบุญในบิณฑบาตที่ข้าพเจ้าได้ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้านั้น ข้าพเจ้าจะให้ได้หรือให้ไม่ได้ด้วยประการใด

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ตอบด้วยอุปมาว่า ตะเกียงที่จุดไว้ในบ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเอาตะเกียงของตนใส่น้ำมัน แล้วจุดไฟจากตะเกียงในบ้านนั้น แล้วพากันถือตะเกียงของตนกลับไป แสงไฟของตะเกียงดวงแรกยังมีอยู่หรือ หรือจะหมดไปเสีย เป็นประการใด

อันนภาระกล่าวตอบว่า แสงสว่างนั้นจะรุ่งเรืองมากขึ้นเพราะเพิ่มแสงตะเกียงขึ้นอีกหลายดวง

พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า อันนี้แลมีอุปมาอันใด ส่วนบุญในบิณฑบาตทานของตน แม้ข้าวยาคูกระบวยหนึ่งหรือข้าวสวยทัพพีหนึ่งก็ดี เมื่อได้ให้ส่วนบุญบิณฑบาตแก่ผู้อื่นมีประมาณเท่าใด บุญย่อมเพิ่มขึ้นมีประมาณเท่านั้น เมื่อท่านได้ให้บิณฑบาตทานครั้งหนึ่งแล้ว และให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐีแล้ว บิณฑบาตทานนั้นก็เพิ่มเป็นสอง ส่วนหนึ่งคงเป็นส่วนของท่านอย่างเดิม อีกส่วนหนึ่งเป็นของสุมนเศรษฐี อุปมัยดุจตะเกียงที่จุดสว่างอยู่อันหนึ่ง และมีผู้มาจุดต่อๆ ออกไปจากตะเกียงดวงเดิม

เมื่ออันนภาระได้ฟังแล้วก็ถวายอภิวาทพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วกลับไปยังสำนักของท่านมหาเศรษฐี และกล่าววาจาให้ส่วนบุญ

ท่านเศรษฐีก็ตอบว่า ผิฉะนั้น ท่านจงรับทรัพย์พันกหาปนะนี้เถิด

อันนภาระกล่าวว่า ข้าพเจ้าหาขายบิณฑบาตทานของข้าพเจ้าไม่ ข้าพเจ้าให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา

เศรษฐีกล่าวว่า ท่านให้ส่วนบุญแก่เราด้วยศรัทธาก็ตามเถอะ แต่ที่เราให้ทรัพย์แก่ท่านพันกหาปนะนี้ เราบูชาคุณของท่านต่างหาก ท่านจงรับเอาเถิด

คือ คุณที่ได้ถวายบิณฑบาต และคุณที่ได้ให้ส่วนบุญ

เมื่อท่านเศรษฐีให้ทรัพย์เพื่อบูชาคุณ อันนภาระจึงรับทรัพย์พันกหาปนะนั้น และท่านเศรษฐีก็กล่าวต่อไปว่า

ท่านได้ทรัพย์พันกหาปนะนี้ไปแล้ว ก็ไม่ต้องทำการงานอะไรอีก จงไปอยู่ ในเรือนแทบประตูข้างถนน (คือ ตรงที่ที่ท่านเศรษฐีให้ทานเป็นประจำ) เมื่อต้องการวัตถุสิ่งใดก็ถือเอาวัตถุสิ่งนั้นๆ ตามชอบใจเถิด

ชื่อว่าบิณฑบาตทาน อันบุคคลได้ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ออกจาก นิโรธสมาบัตินั้น ย่อมให้ผลเป็นทิฏฐธัมมเวทนียะ คือ ให้ผลในชาตินั้นอย่างช้าไม่เกิน ๗ วัน

ในวันนั้นเอง ท่านสุมนเศรษฐีได้พาอันนภารบุรุษไปยังพระราชวังด้วย พระราชาไม่ได้ทอดพระเนตรแลดูท่านสุมนเศรษฐีเลย ทอดพระเนตรดูแต่อันนภารบุรุษคนเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะบุญของอันนภารบุรุษเป็นเหตุอันจะนำมาซึ่งผลนั่นเอง

ท่านเศรษฐีกราบทูลถามพระราชาว่า เหตุใดจึงได้ทรงทอดพระเนตรแลดูบุรุษ ผู้นี้ยิ่งนัก

พระราชาตรัสว่า ที่แลดูบุรุษนี้ยิ่งนัก ก็เพราะในวันอื่นๆ ไม่เคยเห็นเลย

ท่านเศรษฐีก็กราบทูลว่า บุรุษนี้สมควรแล้วที่พระองค์จะพึงทอดพระเนตร

และเมื่อพระราชาตรัสถามว่า เขามีคุณประการใดที่สมควรที่พระองค์จะทรงแลดู ท่านเศรษฐีก็ได้ทูลเรื่องที่อันนภารบุรุษได้ถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ให้พระราชาทรงทราบ

พระราชาตรัสว่า บุรุษนี้ควรจะได้ทรัพย์จากมือเราบ้าง เพราะเหตุว่าได้จากมือของท่านแล้ว ถึงเราก็จะกระทำสักการบูชาแก่บุรุษผู้นี้บ้าง

พระราชาทรงบัญชาให้ราชบุรุษจัดสร้างบ้านให้อันนภาระ เมื่อพวกราชบุรุษ ขุดถางพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน ก็เห็นขุมทรัพย์เป็นอันมากในที่ที่จอบและเสียมขุดลงไป พวกราชบุรุษจึงได้พากันมากราบทูลพระราชา พระราชาก็รับสั่งให้ขุดทรัพย์นั้นขึ้นมา แต่พอพวกราชบุรุษทั้งหลายไปขุดตามกระแสพระบรมราชโองการ ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นก็ทรุดจมลงไป ราชบุรุษทั้งหลายก็กลับมากราบทูลพระราชาอีก พระราชาก็ตรัสให้ ราชบุรุษขุดตามคำสั่งของอันนภาระ เมื่อพวกราชบุรุษขุดตามคำของอันนภาระ ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นก็ผุดขึ้นมาในที่ที่พวกราชบุรุษขุดด้วยจอบราวกับดอกเห็ดศีรษะงู อันตูมฉะนั้น

พวกราชบุรุษเหล่านั้น ก็เอาทรัพย์นั้นมากองหน้าพระที่นั่ง พระราชาตรัสให้พวกอำมาตย์ราชเสวก ข้าราชการน้อยใหญ่มาประชุมพร้อมกันแล้วตรัสถามว่า ในพระนครนี้ ทรัพย์ของใครจะมีมากเท่านี้บ้าง

อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ทรัพย์ของผู้หนึ่งผู้ใดจะมีมากเท่านี้หามิได้

พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น อันนภารบุรุษนี้จงมีตำแหน่งเศรษฐี ชื่อว่า มหาเศรษฐีในพระนครนี้เถิด

อันนภารบุรุษได้รับพระราชทานฉัตรสำหรับตำแหน่งเศรษฐีในวันนั้นเอง

และในชาติสุดท้ายนี้ ท่านได้เกิดเป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนศากยราช ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาคในกรุงกบิลพัสดุ์

แต่ในชาติหนึ่งท่านได้เกิดเป็นคนหาบหญ้า ซึ่งต้องเลี้ยงชีวิตด้วยความยากลำบาก แสดงให้เห็นกรรมในสังสารวัฏฏ์ว่ามีมากมายเหลือเกิน แม้ก่อนที่ท่านจะเป็นคนหาบหญ้า ท่านได้ทำกุศลและได้เกิดในสวรรค์เป็นเวลานาน แต่หลังจากนั้น ก็ยังมีกรรมที่ให้ผลทำให้ท่านต้องเกิดเป็นคนที่ลำบาก ต้องเป็นผู้ที่อาศัยสุมนเศรษฐีเลี้ยงชีวิต

เปิด  249
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565