แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1490

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๘


อยากจะมีกายปสาท หรือไม่อยาก

คนที่ยังติดอยู่ในการสัมผัส และยังยินดีเพลิดเพลินพอใจ จะต้องมี กายปสาทรูปซึ่งซึมซาบอยู่ในอุปาทินนกรูปทั้งหมด เหมือนยางใยในปุยฝ้าย ไม่ว่าจะกระทบส่วนไหน ลองกระทบดูที่กายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะรู้สึกลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา แม้ภายในร่างกายก็มีกายปสาทซึมซาบอยู่เหมือนยางใยในปุยฝ้าย

ในอุปาทายรูปเหล่านี้ พึงมีผู้สงสัยท้วงว่า ถ้าในกายนี้ชื่อว่าอุปาทินนกรูปมีอยู่เท่าใด กายายตนะซึมซาบอยู่ในอุปาทินนกรูปทั้งหมดเหมือนยางใยในปุยฝ้ายไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ลักษณะก็จะต้องระคนกัน

ถ้าพิจารณาโดยละเอียด รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่ว เพราะฉะนั้น ก็น่าสงสัยว่า ในกลุ่มของรูปกลุ่มอื่นๆ เช่นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน กายปสาทนี่ก็น่าจะซึมซาบไปทั่วหมด

ตอบว่า ไม่ปะปนกัน ไม่ต้องระคนกัน

ถามว่า เพราะเหตุไร

ตอบว่า เพราะกายายตนะอื่นหามีอยู่ในอุปาทินนกรูปอื่นไม่

แล้วแต่กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะกรรมแต่ละกลุ่ม ถ้าเป็นกลุ่มของรูปที่มี จักขุปสาทเกิดร่วมอยู่ด้วย เป็นจักขุทสกะ ก็ไม่มีกายปสาทในกลุ่มนั้น แต่คำถามต่อไปท้วงว่า

ถ้าอย่างนั้น กายายตนะก็ไม่ซึมซาบอยู่ในอุปาทินนกรูปทั้งหมด

ตอบว่า ว่าโดยปรมัตถ์ไม่ซึมซาบอยู่ในอุปาทินนกรูปทั้งหมด แต่เหตุที่จะแยกแยะกายายตนะออกมาต่างหากนั้น ไม่อาจจะกระทำได้ อุปมาเหมือนอย่างรูปและรสเป็นต้น ย่อมกล่าวได้ว่า ซึมซาบอยู่ในกันและกัน เพราะเหตุที่ใครๆ ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ เหมือนอย่างผงทรายอันละเอียด

มีใครแยกรสออกจากรูป น้ำตาล เกลือ หรือว่ารสต่างๆ ได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ รสก็เป็นรูปรส สีก็เป็นรูปสี ไม่ใช่รูปเดียวกัน

แต่ว่าโดยปรมัตถ์ รสก็หามีอยู่ในรูปคือในวัณณะไม่ ถ้าจะพึงมีอยู่ไซร้ ศัพท์ว่า รสก็จะพึงจัดเข้าศัพท์ว่ารูป ข้อนี้ฉันใด แม้กายายตนะก็เหมือนกันฉันนั้น ว่าโดยปรมัตถ์หามีอยู่ในอุปาทินนกรูปทั้งหมดไม่ และจะไม่มีอยู่ในอุปาทินนกรูปทั้งหมด ก็ไม่ใช่ เพราะใครๆ ไม่พึงสามารถจะแยกกายายตนะที่ซึมซาบอยู่ทั่วไปออกได้

นี่คือสิ่งที่ทุกคนยึดถือว่าเป็นตัวเรา ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพของรูปที่เกิดเพราะกรรม ถ้าเป็นกายปสาทก็ซึมซาบอยู่ทั่วไปหมด อย่างที่ตารู้สึกเจ็บ ขณะนั้นไม่ใช่ จักขุปสาท จักขุปสาทจะกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ไม่ได้ ขณะใดที่รู้สึกเจ็บที่ตา ขณะนั้นเพราะโผฏฐัพพารมณ์กระทบกับกายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ เพราะฉะนั้น ต้องแยกรูปแต่ละรูปออก แม้ว่าจะซึมซาบอยู่เหมือนยางใยในปุยฝ้าย แต่ก็เป็นกลุ่มของรูปซึ่งไม่ปะปนกัน

เมื่อกำหนดโดยลักษณะแล้ว อุปาทายรูปเหล่านี้ไม่ระคนกัน อุปมาเงาของ ธง ๕ สีที่เขายกขึ้นไว้ เงาย่อมเป็นเหมือนเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่ธง ๕ ผืนนั้นไม่ระคนกันเลย ฉันใด และเมื่อเอาฝ้าย ๕ สีควั่นเป็นไส้ตามประทีปไว้ เปลวย่อมเหมือนเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่เปลวแสงของฝ้ายนั้นๆ ก็เป็นเฉพาะ แต่ละอย่างๆ ไม่ระคนกันเลย ฉันใด อายตนะทั้ง ๕ นี้ ก็เปรียบเหมือนฉันนั้น แม้จะรวมอยู่ในอัตภาพเดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันเลย และใช่ว่าอายตนะทั้ง ๕ นี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้รูปที่เหลือก็ไม่ระคนเหมือนกัน

ถ้าแบ่งร่างกายนี้ออกเป็น ๓ ส่วน หรือ ๓ ท่อน แบ่งได้ไหม ตั้งแต่ศีรษะ ตลอดเท้า แบ่งได้ไหม ไม่ติดกันเลย มีอากาศธาตุคั่นอยู่ตลอด ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสามารถแยกออกได้จนถึงละเอียดที่สุด แต่ถ้าคิดจะแบ่งกายออกเป็น ๓ ท่อน คือ กายท่อนล่างตั้งแต่สะดือลงไป ก็มีกายทสกกลาป และภาวทสกกลาป สำหรับ กายท่อนกลาง ตั้งแต่สะดือถึงคอ มีกายทสกกลาป ภาวทสกกลาป และหทยทสกกลาป ส่วนกายท่อนบน คือ ตั้งแต่คอขึ้นไป มีหลายอย่าง ใช่ไหม มีกายทสกะ ภาวทสกะ และก็มีจักขุทสกะ โสตทสกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะเพิ่มขึ้น แบ่งได้แล้ว ใช่ไหม ไม่เหมือนกันเลย แม้ว่ากรรมจะเป็นสมุฏฐาน ก็ทำให้รูปแต่ละรูปเกิดต่างกันตามส่วนหรือท่อนที่แบ่งออกแล้วเป็น ๓ ท่อน

แสดงให้เห็นว่า แม้กายแม้เหล่านี้ ย่อมจะเป็นธรรมชาติดุจเนื่องเป็น อันเดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันเลย

กายทั้ง ๓ ท่อน ซึ่งดูเหมือนติดกัน ก็แยกกันตามกลุ่มของรูปที่เกิดขึ้น เหมือนอย่าง เงาภูเขาและเงาต้นไม้ในเวลาเย็น เป็นดุจเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันและกันทีเดียว ฉะนี้แล

ลักษณะของกายปสาท ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย อยู่ที่กาย และขณะใดที่ กระทบโผฏฐัพพะ มีเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งปรากฏ ก็ให้ทราบว่าในขณะนั้น ต้องมีกายปสาทรูปซึ่งกรรมเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้น และในกายปสาทรูปนั้น ก็มีรูปอื่นรวมอยู่ด้วย รวมทั้งหมด ๑๐ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ๘ รูป และมีชีวิตินทริยรูป ๑ รูป กายปสาทรูป ๑ รูป รวมเป็น ๑๐ รูป

ลักษณะของกายปสาท ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

โผฏฐัพพาภิฆาตารหภูตัปปสาทลักขโณ ผุสิตุกามตานิทานกัมมชสมุฏฐานภูตัปปสาทลักขโณ วา กาโย

กายมีความใสของภูตรูปอันควรแก่การกระทบโผฏฐัพพารมณ์เป็นลักษณะ หรือมีความใสของภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งมีความประสงค์จะถูกต้องเป็นเหตุ เป็นลักษณะ

ถ้ายังไม่ใช่พรหมบุคคล ยังต้องมีเหตุที่จะให้เกิดกายปสาท

โผฏฐัพเพสุ อาวิญจนรโส มีการชักมาที่โผฏฐัพพะเป็นกิจ

กายวิญญาณัสสะ อาธารภาวปัจจุปัฏฐาโน มีการเป็นที่เกิดปรากฏของ กายวิญญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

ขณะใดที่มีการรู้โผฏฐัพพะ ขณะนั้นรู้ว่ามีกายปสาท

ผุสิตุกามตานิทานกัมมชภูตปทัฏฐาโน มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมซึ่งใคร่จะกระทบสัมผัสเป็นเหตุเป็นปทัฏฐาน

ธรรมทั้งหลายย่อมมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น บางรูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน บางรูปก็เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ ทุกนิทเทส แสดงลักษณะของโผฏฐัพพะ มีข้อความว่า

รูปที่เรียกว่า โผฏฐัพพายตนะนั้น เป็นไฉน

ไม่น่าจะต้องสงสัย ใช่ไหม แต่อาจจะเข้าใจผิดถ้าไม่ได้ฟังธรรมโดยละเอียด เพราะฉะนั้น ข้อความในอัฏฐสาลินีแสดงว่า สำหรับมหาภูตรูปมี ๔ ก็จริง แต่เฉพาะมหาภูตรูป ๓ เท่านั้นที่เป็นโผฏฐัพพายตนะ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นรูปที่ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท

ข้อความต่อไป

ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ที่แข็ง อ่อน ละเอียด หยาบ มีสัมผัสสบาย มีสัมผัสไม่สบาย หนัก เบา กายปสาทอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ กระทบแล้ว หรือกระทบอยู่ หรือจักกระทบ หรือพึงกระทบที่โผฏฐัพพะใด อันเป็น สิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ นี้เรียกว่า โผฏฐัพพะบ้าง โผฏฐัพพายตนะบ้าง โผฏฐัพพธาตุบ้าง รูปทั้งนี้เรียกว่า โผฏฐัพพายตนะ

บัดนี้ เพื่อทรงแสดงจำแนกรูปทั้ง ๓ ที่กายถูกต้องแล้วพึงรู้ได้เหล่านั้น จึงตรัสว่า รูปที่เรียกว่า โผฏฐัพพายตนะนั้น เป็นไฉน

บรรดาธาตุเหล่านั้น ลักษณะของปฐวีธาตุ คือ

กักขฬัตตลักขณา มีความแข่นแข็ง เป็นลักษณะ

ปติฏฐานรสา มีการเป็นที่ตั้งเป็นรส

สัมปฏิจฉันนปัจจุปัฏฐานา มีการรองรับเป็นปัจจุปัฏฐาน

นี่เป็นลักษณะของปฐวีธาตุ ซึ่งปทัฏฐานเหตุใกล้ที่จะให้เกิด คือ ธาตุที่เหลือ ทั้ง ๓ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปฐวีธาตุ

ลักษณะอาการของปฐวีธาตุ คือ

บทว่า กักขฬัง แปลว่า แข็ง คือ ลักษณะกระด้าง

บทว่า มุทุกัง (อ่อน) คือ ไม่กระด้าง ไม่แข็ง

บทว่า สัณหัง (ละเอียด) คือ เกลี้ยง

บทว่า ผรุสัง (หยาบ) คือ คาย ขรุขระ

บทว่า สุขสัมผัสสัง (มีสัมผัสสบาย) ได้แก่ เป็นปัจจัยแก่สุขเวทนา คือ เป็นโผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา

บทว่า ทุกขสัมผัสสัง (มีสัมผัสไม่สบาย) ได้แก่ เป็นปัจจัยแก่ทุกขเวทนา คือเป็นโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนา

บทว่า ครุกัง (หนัก) คือ เต็มไปด้วยภาระ

บทว่า ลหุกัง (เบา) คือ เบาพร้อมไม่มีภาระหนัก

ดูไม่น่าสงสัยเลย ไม่ว่าโผฏฐัพพะจะมีลักษณะอย่างไร ทุกคนก็รู้ในขณะที่ กายวิญญาณเกิดขึ้น บอกได้ว่า สบายหรือไม่สบาย ถ้ากระทบสัมผัสโผฏฐัพพะที่ ไม่น่าปรารถนาก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนา เพราะว่าทุกขเวทนาเกิดขึ้น

ก็ในบรรดาธาตุเหล่านี้ ปฐวีธาตุเท่านั้นทรงจำแนกด้วยบทว่า แข็ง อ่อน ละเอียด หยาบ หนัก เบา แม้ในพระสูตรว่า เมื่อใดกายนี้ยังประกอบด้วยอายุ ยังประกอบด้วยไออุ่น ยังประกอบด้วยวิญญาณ เมื่อนั้นกายนี้ก็เบากว่า อ่อนกว่า ควรแก่การงานกว่า ตรัสหมายถึงปฐวีธาตุที่เบาและอ่อนเท่านั้น

นี่ลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ได้แก่ ธาตุดินซึ่งเป็นโผฏฐัพพารมณ์

สำหรับธาตุไฟก็เป็นโผฏฐัพพะ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี พรรณนาปัญจกนิทเทส ในรูปวิภัตติ ว่าด้วยเตโชธาตุ มีข้อความว่า

รูปที่เรียกว่า โตโชธาตุนั้น เป็นไฉน

คือ ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม เป็นอุปาทินนกะหรืออนุปาทินนกะก็ตามอันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า เตโชธาตุ

ไม่ว่าจะรู้สึกร้อนในกาย หรือกระทบร้อนข้างนอก ลักษณะสภาพที่ร้อนที่ จะปรากฏได้ ต้องมีกายปสาทรูปที่กำลังกระทบกับลักษณะร้อนนั้น ลักษณะร้อนนั้น จึงจะปรากฏได้

ข้อความต่อไป ข้อ ๙๖๙ อธิบายเตโชธาตุ

คำว่า เตโชคตัง คือ สภาพที่จัดไปในเตโชธาตุทั้งหมด มีความร้อนเป็นลักษณะ ฉะนั้น จึงชื่อว่าเตโชคตัง

คำว่า อุสฺมา ความอุ่น ได้แก่ อาการที่อุ่น

คำว่า อุสุมัง ได้แก่ ความอบอุ่นที่มีกำลัง

ที่ชื่อว่า อุสุมคตัง เพราะเป็นธรรมชาติถึงภาวะที่อบอุ่น คือ อุสุมะ

สำหรับลักษณะ ๔ ของเตโชธาตุ คือ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่ร้อนจัด หรือ เป็นแต่เพียงความอบอุ่นก็ตามซึ่งเป็นลักษณะของเตโชธาตุนั้น

อุณหัตตลักขณา มีความร้อนเป็นลักษณะ

ปริปาจนรสา มีการทำให้สุกหรือย่อยให้ละเอียดเป็นรส

มัททวานุปปาทนปัจจุปัฏฐานา มีการทำให้อ่อนเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดเตโชธาตุ

ถ้าใครอยากจะให้สิ่งที่แข็งละลาย ก็ต้องอาศัยความร้อน หรือเตโชธาตุ เพราะว่านั่นเป็นกิจของเตโชธาตุ คือ มีการทำให้สุก หรือย่อยให้ละเอียด เป็นลักษณะของเตโชธาตุ

อีกธาตุหนึ่งซึ่งเป็นโผฏฐัพพะ คือ วาโยธาตุ ข้อความใน อัฏฐสาลินี ข้อ ๙๗๐ มีว่า

รูปที่เรียกว่า วาโยธาตุนั้น เป็นไฉน

คือ สภาพธรรมที่พัดไปมา เป็นสภาพธรรมที่ค้ำจุนรูป เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม เป็นอุปาทินน หรืออนุปาทินนก็ตามอันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า วาโยธาตุ

แต่ถ้าพูดถึงลักษณะ และไม่คิดถึงชื่อ หรือสมมติบัญญัติ ขณะใดก็ตามที่กายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่ใช้คำว่า ลม ขณะนั้น คือ ลักษณะของวาโยธาตุ

ข้อ ๖๗๐ มีข้อความว่า

ที่ชื่อว่าวาโย ความพัดไปมาเนื่องด้วยธรรมชาติที่พัดไปมา

ที่ชื่อว่าวาโยคตัง สภาพธรรมที่พัดไปมา เพราะเป็นธรรมชาติที่ถึงภาวะที่พัด ไปมา คือ วาโย

คำว่า ถัมภิตัตตัง ได้แก่ ภาวะที่ค้ำจุนไว้ เหมือนอย่างสิ่งที่เต็มด้วยลม เช่น ก้านดอกบัว เป็นต้น

ขณะนี้เกือบจะไม่รู้ลักษณะของวาโยธาตุว่า เป็นสภาพธรรมที่ค้ำจุนทำให้ มีสัณฐานต่างๆ ไม่นอนราบลงไปเป็นเส้นตรง เพราะว่าวาโยธาตุมีลักษณะที่ค้ำจุน และก็พัด และก็ไหวไปมาที่จะทำให้รูปมีสัณฐานต่างๆ ได้ มิฉะนั้นแล้ว เพียงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ร้อนหรือเย็น ไม่สามารถที่จะทำให้รูปนั้นทรงอยู่ หรือมีสัณฐาน ต่างๆ ได้ ก็ต้องนอนราบลงไปเป็นเส้นตรง แต่วาโยธาตุทำให้รูปทรงอยู่ และ มีสัณฐานต่างๆ

ลักษณะของวาโยธาตุ คือ

วิตถัมภนลักขณา มีการตึงเป็นลักษณะ

สมุทีรณรสา มีการไหวเป็นรส

อภินีหารปัจจุปัฏฐานา มีการน้อมนำไปเป็นอาการปรากฏ

มีธาตุที่เหลือทั้ง ๓ เป็นปทัฏฐาน

ที่จะเคลื่อนไหวน้อมนำไปได้ ก็โดยอาศัยวาโยธาตุ ถ้าวาโยธาตุไม่มี มี แต่เพียงปฐวีธาตุ หรือเตโชธาตุ จะไม่มีการน้อมนำรูปนี้ไปในลักษณะอาการ ต่างๆ ได้

แต่ถ้ารูปลักษณะใดไม่ปรากฏ ไม่จำเป็นต้องขวนขวายให้รูปนั้นปรากฏ หรือถ้าลักษณะรูปใดปรากฏ สติก็ระลึกลักษณะของรูปเพื่อจะรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ โดยไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อว่า ตึงในขณะนี้เป็นธาตุลมหรือเปล่า เพราะว่าลักษณะจริงๆ เป็นลักษณะที่ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท

เปิด  235
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566