แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1482

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๘


. แสดงว่าอันนภารบุรุษเป็นคนมีปัญญาแน่ๆ เพราะว่าท่านให้ทาน ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว เศรษฐีขอซื้อ ไม่ยอมขาย เพราะ ถ้าท่านขาย ท่านก็ต้องเป็นคนมีโลภะ เศรษฐีมีโลภะแน่ๆ คือ อยากได้บุญจาก อันนภาระ จะเอาเป็นของตัวเลย เพราะฉะนั้น อันนภาระต้องเป็นคนมีปัญญาว่า บุญนี่ขายกันไม่ได้ เมื่อเศรษฐีขอส่วนบุญด้วย ขอมีส่วนร่วม ขออนุโมทนาส่วนบุญด้วย อันนภาระไม่ได้ตอบว่าจะให้หรือไม่ให้ ต้องไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าก่อน พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปมาให้ฟัง เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์เล่าว่า การให้ส่วนบุญนั้นไม่หมด เหมือนกับมีตะเกียงหลายๆ ดวง จุดจากคนที่เป็นต้นตะเกียง จุดไปเท่าไรๆ ก็สว่างไสวไปเท่านั้น แสดงว่า อันนภาระต้องเป็นคนมีปัญญาอย่างแน่นอน

สุ. ถ้าพิจารณาเรื่องนี้แต่ละบุคคล จะเห็นได้ว่า ท่านเศรษฐีท่านต้องการส่วนบุญ ที่ว่าท่านขอซื้อ คือ ให้ทรัพย์กับอันนภาระและขอให้บิณฑบาตนั้นเป็น ของท่าน จิตนี่วิจิตรจริงๆ เพราะฉะนั้น คิดถึงใจของคนหนึ่งซึ่งเห็นอีกคนหนึ่งทำกุศล และเทวดาอนุโมทนา แสดงว่าต้องเป็นกุศลพิเศษจริงๆ ซึ่งท่านเองไม่มีโอกาสจะได้กระทำ เพราะฉะนั้น จึงอยากได้

การที่ศึกษาหรือฟังอดีตชาติของพระภิกษุทั้งหลาย เพื่อจะได้เทียบเคียงแม้ กุศลจิตของท่านเอง อย่าได้เป็นผู้ที่อยากได้กุศล แต่ควรเห็นอานิสงส์ของกุศลว่า เพราะอกุศลมีมาก เพราะฉะนั้น ควรที่จะเจริญกุศล กุศลอะไรก็ได้ ถ้าคนอื่นทำกุศลเราอนุโมทนาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อกุศลนั้นมาเป็นของเรา ในขณะที่เกิดปีติอนุโมทนาด้วย นั่นก็เป็นกุศลแล้ว

เพราะฉะนั้น ในชีวิตของแต่ละคน จะทำกุศลอย่างไรได้ทั้งนั้น จะเพียงถวายอาหารบิณฑบาตก็เป็นกุศลมาก ถ้าขณะนั้นมีเจตนาที่ผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือ ก่อน ที่จะให้ กำลังให้ และหลังจากที่ให้แล้วก็ไม่เสียดาย หรือว่าไม่ได้เกิดอกุศลอื่นๆ เกิดแทรกคั่น

สำหรับผู้ที่ใคร่จะทำบุญกุศล ไม่ใช่แต่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้เทวดาก็ใคร่ที่จะกระทำกุศลด้วย ซึ่งใน ขุททกนิกาย อุทาน มหากัสสปสูตร ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปนั่งเข้าสมาธิอยู่ โดยบัลลังก์เดียว ที่ถ้ำปิปผลิคูหาสิ้น ๗ วัน ครั้นพอล่วง ๗ วันนั้นไป ท่าน พระมหากัสสปก็ออกจากสมาบัตินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสปออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ได้มีความคิดว่า ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์เถิด

ก็สมัยนั้น เทวดาประมาณ ๕๐๐ ถึงความขวนขวาย เพื่อจะให้ท่าน พระมหากัสสปได้บิณฑบาต ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น แล้วนุ่งห่มผ้าอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ ฯ

ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงพระประสงค์จะถวายบิณฑบาตแก่ท่านพระมหากัสสป จึงทรงนิรมิตเพศเป็นนายช่างหูกทอหูกอยู่ นางอสุรกัญญา ชื่อว่าสุชาดา กรอด้ายหลอดอยู่

ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ตามลำดับตรอก เข้าไปถึงนิเวศน์ของท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเห็นท่านพระมหากัสสปมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จออกจากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับบาตรจากมือ เสด็จเข้าไปสู่เรือน ทรงคดข้าวออกจากหม้อใส่เต็มบาตร แล้วทรงถวายแด่ท่านพระมหากัสสป บิณฑบาตนั้นมีสูปะและพยัญชนะ (คือ กับข้าว) เป็นอันมาก

ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปคิดว่า ผู้นี้เป็นใครหนอมีอิทธานุภาพเห็นปานนี้ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมีความคิดว่า ท้าวสักกะจอมเทพหรือหนอแล ท่านพระมหากัสสปทราบดังนี้แล้ว ได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทพว่า

ดูกร ท้าวโกสีย์ มหาบพิตรทำกรรมนี้แล้วแล มหาบพิตรอย่าได้ทำกรรมเห็นปานนี้แม้อีก

ท้าวสักกะจอมเทพตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้า ก็ต้องการบุญ แม้ข้าพเจ้าก็พึงทำบุญ

ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพทรงอภิวาทท่านพระมหากัสสป ทรงทำประทักษิณแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ เปล่งอุทาน ๓ ครั้งในอากาศว่า

โอ ทานเป็นทานอย่างยิ่ง เราตั้งไว้ดีแล้วในพระมหากัสสป

พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับอุทานของท้าวสักกะจอมเทพด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน มิใช่เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่ สงบแล้ว มีสติทุกเมื่อ ฯ

. ท่านพระมหากัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติ ขณะที่ท่านเที่ยวบิณฑบาต ท่านคงไม่ได้เข้าฌาน หรือฌานจิตคงจะไม่เกิด เพราะถ้าเกิด หรืออภิญญาเกิด ท่านต้องรู้ว่าพระอินทร์แปลงมาแน่ๆ ตอนหลังท่านรู้เนื่องจากท่านได้กลิ่นอาหารนั้นเป็นทิพย์ โดยนัยนี้แสดงว่า พระอรหันต์ก็ไม่ใช่ว่าจะมีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือมี เจโตปริยญาณอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ท่านก็ได้ญาณเหล่านั้นแล้ว ใช่ไหม

สุ. แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ไม่ได้ทรงเข้าสมาบัติอยู่ตลอดเวลา ต้อง มีอเหตุกจิต หรือกามาวจรจิตตามควร คือ มีจักขุวิญญาณทำกิจเห็น มีโสตวิญญาณ มีฆานวิญญาณ มีชิวหาวิญญาณ มีกายวิญญาณตามปกติ เพียงแต่ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าดับหมดแล้ว

. ขณะที่ท่านพระมหากัสสปะไปบิณฑบาต ท่านก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า เป็นคนเข็ญใจแน่ๆ สองผัวเมียทุกข์ยากแน่ๆ ท่านจึงไปโปรด

สุ. ความกรุณาของพระอรหันต์ โดยท่านรู้ว่า ผู้ใดก็ตามที่ถวายอาหารบิณฑบาตแล้วย่อมจะได้รับผล ถ้าผู้นั้นมีศรัทธา ทำให้ท่านคิดที่จะสงเคราะห์ คนเข็ญใจ มากกว่าที่จะสงเคราะห์เทวดา หรือผู้ที่มีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์แล้ว แม้แต่ทุกท่านเองในที่นี้ก็คงเหมือนกัน คือ ถ้าเห็นผู้ที่ยากไร้เข็ญใจ ท่านก็คงคิดที่จะสงเคราะห์ ถ้าจะทำให้บุคคลผู้นั้นพ้นจากความทุกข์ยากได้

แต่อย่างพระอินทร์เป็นถึงจอมเทพ และเป็นพระโสดาบันด้วย สบายมากๆ ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิแน่นอน เพราะฉะนั้น ก็มีกุศลหลายอย่างที่พระอินทร์จะกระทำได้ เช่น อนุโมทนาในกุศลของคนอื่น แม้แต่การให้ บางท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องให้เอง แต่อาจจะหาวัตถุเพื่อให้บุคคลอื่นได้กระทำทาน เพื่อเขาจะได้ผลของกุศลนั้นก็ได้ เป็นความเมตตาที่ต้องการจะอนุเคราะห์บุคคลอื่น ฉันใด ท่านพระมหากัสสปะหรือบรรดาผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ เมื่อท่านออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ท่านก็จะพิจารณาว่า ควรที่จะไปสงเคราะห์คนเข็ญใจคนใด มากกว่าที่จะไปสงเคราะห์เทวดาหรือว่า พระอินทร์

. กรณีพระอินทร์แปลงร่าง จะถือว่าท่านมาหลอกลวงได้หรือเปล่า

สุ. ท่านได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า แม้ท่านเองก็ต้องการกุศล ใช่ไหม

. ท่านเองก็เป็นคนจน อย่างนั้นใช่ไหม

สุ. แม้ท่านเองก็เป็นผู้ที่จะกระทำกุศลด้วย

. หลังจากที่ท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระมหากัสสปะแล้ว ท่านได้รับผลในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างไรหรือเปล่า

สุ. ถ้าไม่ใช่มนุษย์จะไม่เห็นอย่างนั้น เพราะทรัพย์สมบัติของเทวดาก็มีมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ของนิโรธสมาบัติจะสงเคราะห์บุคคลเข็ญใจ ซึ่งภูมิมนุษย์เป็นภูมิที่ยากไร้ มีความลำบากมาก แต่พระอินทร์เองที่ทำอย่างนั้น ก็กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า แม้ข้าพเจ้าก็พึงทำบุญ

. กรณีที่บุคคลหนึ่งทำกุศลแล้วอุทิศกุศลให้อีกบุคคลหนึ่งอนุโมทนา กับกรณีที่บุคคลหนึ่งทำกุศล และอีกบุคคลหนึ่งรู้ก็อนุโมทนา ผลของ ๒ กรณีนี้ จะต่างกันหรือไม่

สุ. สำหรับคนที่อนุโมทนาเอง ก็ได้อนุโมทนามัย คือ บุญที่สำเร็จเพราะอนุโมทนา และสำหรับบุคคลที่บอกคนอื่น แผ่กุศลให้คนอื่นได้อนุโมทนาด้วย คนนั้น ก็ได้กุศลนอกจากทานมัยแล้ว ก็ได้ปัตติทานมัยด้วย

. ได้เพิ่ม แต่สำหรับผู้อนุโมทนา ผลของกุศลก็ไม่ต่างกัน ใช่ไหม

สุ. ไม่ต่าง

. เขาจะอุทิศให้เรา หรือไม่อุทิศให้เรา เมื่อเรารู้และอนุโมทนา ก็ได้กุศลเท่ากัน

­สุ. ใช่

. ขอบคุณ

­สุ. ถ้าอันนภารบุรุษไม่แบ่งส่วนบุญให้ สุมนเศรษฐีอนุโมทนาเองก็ได้

. เปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ในเมื่อเขาก็รู้ว่า การอนุโมทนา ก็ทำให้เกิดผล

สุ. แต่เขาไม่อนุโมทนา

. เขาต้องคอย

สุ. จนกว่าจะอุทิศให้เขา

. ส่วนใหญ่เปรตทำไมต้องรอ เทวดาเขาเห็น เขาก็อนุโมทนา

สุ. เขาไม่อนุโมทนา จะบอกเขาว่า ต้องอนุโมทนา ได้ไหม

. แสดงว่า เปรตต้องรอให้เราอุทิศให้ก่อน

สุ. แม้ยังไม่ใช่เปรตในชาตินี้ ถ้าใครทำบุญกุศล ไม่อนุโมทนา มีไหม

. มี

สุ. มี นี่ยังไม่ได้เป็นเปรต คนอื่นทำบุญกุศลแล้ว ไม่อนุโมทนาก็ยังได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเปรต แต่ถ้าเขาเจาะจงอุทิศให้ จะเกิดความรู้สึกว่า ญาติของเราได้กระทำบุญกุศลและอุทิศให้ เราเองก็ไม่ใช่ว่าจะอนุโมทนาทุกครั้งไป ใช่ไหม ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ จะสังเกตจิตใจของตนเองได้

. การอนุโมทนา จะต้องอนุโมทนาในขณะนั้นเลยไหม ยกตัวอย่างเช่นเห็นเขาทำบุญ ขณะนั้นเราสติยังไม่มี กุศลจิตยังไม่เกิด ยังเฉยๆ อยู่ กลับไปบ้าน แล้วหรือรุ่งขึ้นอีกวัน ก็คิดได้ว่า เราน่าจะอนุโมทนากับเขานี่ ...

สุ. ทำไม น่าจะ อนุโมทนาเลยไม่ได้หรือ ต้องไปคิดก่อน จึงจะคิดว่า น่าจะอนุโมทนา

. ไม่ใช่เอาไปคิด แต่เพราะยังไม่ได้เหตุได้ปัจจัยที่จะอนุโมทนา อีกระยะหนึ่งจึงได้เหตุได้ปัจจัยแล้วจึงอนุโมทนา นี่ต่างกันไหม

สุ. เรื่องของกุศลจิต คือ ขณะใดมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นกุศล กุศลนั้นจะเป็นประการหนึ่งประการใดในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ จะเป็นทานก็ได้ หรือจะเป็นปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำแล้วให้บุคคลอื่นอนุโมทนาก็ได้ หรือจะเป็นอนุโมทนามัย คือ รู้สึกยินดีด้วยกับกุศลกรรมของบุคคลอื่นก็ได้ และไม่ใช่จำกัดเจาะจงว่า จะต้องเวลานั้นเวลานี้ แล้วแต่ว่ากุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด ก็จะเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุหนึ่งใน ๑๐ ประการนี้

. อาจารย์พูดถึงเรื่องอนุโมทนาขึ้นมา ก็เกิดเป็นเราว่า เมื่อกี้ลืมอนุโมทนา

สุ. มีลืม ใช่ไหม

. คือ ไม่ได้เหตุไม่ได้ปัจจัย

สุ. ไม่เกิด ก็ไม่เกิด จะเกิดตอนนี้ หรือจะเกิดตอนไหนก็ได้ คืนนี้อาจจะเกิดคิดได้ว่า บุคคลนั้นทำดีก็ได้ ใช่ไหม อนุโมทนาด้วย เมื่อไรก็ได้

. มาได้ตอนหลังนี่ เพราะว่าเพิ่งมาได้ปัจจัย

สุ. ดูเหมือนเป็นกฎเป็นเกณฑ์ว่า เวลาใครทำบุญกุศลแล้วก็จะต้องอนุโมทนาเพื่อจะได้บุญกุศล แต่ควรจะรู้ว่า ถ้ากุศลเกิดขึ้นแล้ว กุศลนั้นเป็นกุศลอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แล้วแต่ว่าจะเป็นในบุญข้อใด

. บางคนชอบทำอะไรสักอย่างหนึ่งในลักษณะเรียกว่ากุศล แต่ทำแล้ว ไม่ปรารถนาจะเอาอะไร คือ ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากเป็นอะไร ต้องการแต่ความสบายมากๆ ไม่ให้มีอะไรมามัวหมองในด้านจิตใจ

สุ. นั่นไม่ใช่อยากหรือ

, ไม่ใช่ไม่อยาก คือ กุศลก็ไม่ปรารถนา อยากสบายๆ

สุ. แล้วความสบายใจนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คิดดูว่า วันหนึ่งๆ ซึ่ง แต่ละคนจะสบายใจนั้น ความสบายใจนั้นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องละเอียดอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องรู้ว่า ความสบายใจนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะบางทีอาจจะไม่ทราบ

. ไม่ทราบ แต่ที่ทำนั้นไม่ต้องการอะไร กุศลก็ไม่ต้องการ

สุ. ทำเพราะไม่ได้หวังผลของกุศล

. เป็นอย่างไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

สุ. ก็เป็นกุศลที่ทำเพราะไม่หวังผลของกุศล

. แล้วจะเป็นอย่างไร

สุ. ก็เป็นกุศลที่ทำโดยไม่หวังผลของกุศล

. ผู้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระปัจเจกพุทธเจ้า หลังจากนิโรธสมาบัติ ผู้ที่จะไปโปรด ถึงแม้จะยากจนก็ตาม แสดงว่าต้องสั่งสมบุญบารมีมาแล้ว

สุ. ใช่ คือ ต้องพิจารณาทั้งศรัทธาของบุคคลนั้น และกรรมที่เขาทำมาแล้วที่จะได้ผลอย่างนั้นด้วย เป็นปัจจัยเป็นโอกาสพร้อมที่จะให้ผลนั้นเกิดขึ้น

. เพราะคนยากจนมีมากจริงๆ ผู้ที่จะไปโปรดแสดงว่าต้องสั่งสมบารมีมา

สุ. และพิจารณาว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีศรัทธาหรือไม่ด้วย ถ้าไม่มีศรัทธา ต้องผ่านไปถึงบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ที่มีศรัทธา

. เรื่องเปรตที่ไปขอส่วนบุญจากพระเจ้าพิมพิสาร เปรตทำไมอนุโมทนาบุญของพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทำบุญแล้ว

สุ. ไม่ใช่อนุโมทนาไม่ได้ แต่ไม่อนุโมทนา ทุกวันๆ ที่มีคนทำบุญกุศล อนุโมทนาทุกครั้งหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เปรต

. ศึกษาแล้ว ก็น้อมอนุโมทนามากขึ้น

สุ. ทุกครั้งหรือเปล่า

. ก็แล้วแต่

สุ. ก็แล้วแต่ ฉันใด การที่ใครจะเกิดไม่อนุโมทนาก็ย่อมเป็นได้

. ผมคิดว่า ผมไม่ได้ไปรอส่วนบุญจากใครก็เลยไม่อนุโมทนา แต่เปรต เขาอยู่ในฐานะที่ลำบาก เขาถึงมารอส่วนบุญจากพระเจ้าพิมพิสาร เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า น่าจะอนุโมทนาได้

สุ. สำหรับเปรต ต้องมีผู้อุทิศส่วนกุศลให้ มิฉะนั้นจะไม่อนุโมทนา

. ต้องอาศัยผู้ที่อุทิศให้เท่านั้น ใช่ไหม

สุ. ต้องมีผู้อุทิศให้

การรู้ถึงจิตใจของบุคคลในภูมิอื่น รู้ยาก กำลังทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัส และสำหรับผู้ที่เป็นเปรตนั้นจะมีโอกาสได้รับส่วนบุญเมื่อมีผู้กระทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้ ทำให้เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้ ถ้าเห็นคนอื่นเขาให้คนอื่น ทั้งๆ ที่เราเองก็กำลังลำบาก จะอนุโมทนาด้วยไหม

. ทำไมเทวดาไม่ต้องให้บุคคลอื่นอุทิศให้

สุ. มนุษย์ก็ไม่ต้อง

. ทำไมเฉพาะต้องเป็นเปรตเท่านั้น

สุ. ภพภูมิต่างกัน ความลำบาก ความทุกข์ยาก ความทรมาน และการที่จะเกิดกุศลจิตจริงๆ จะเป็นไปในลักษณะที่ต่างกับมนุษย์ไหม เพราะเกิดในอบายภูมิ ผู้ที่เป็นมนุษย์ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยปัญญา ก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี และคิดถึงผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่ไม่ประกอบ ด้วยปัญญาว่าเขาจะอนุโมทนาไหม ผู้ที่เป็นเปรต ไม่ได้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก แต่ปฏิสนธิเป็นอเหตุกอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น จะมีสติปัญญาพอที่จะอนุโมทนา เหมือนอย่างผู้ที่เป็นมนุษย์ไหม

. ก็คงเป็นเพราะอกุศลวิบาก จึงอนุโมทนาไม่ได้

เปิด  218
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565