แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1483

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๘


สุ. เทียบดูกับมนุษย์ผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคล ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญา ก็ต่างกับผู้ที่ปฏิสนธิจิตไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ยิ่งปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก เกิดเป็นเปรต ก็ต้องยิ่งต่างไป เพียงแต่ว่าภูมิเปรตนั้น สามารถรู้ในกุศลที่บุคคลอื่นอุทิศให้ ถ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก แต่ไม่สามารถรู้ในกุศลที่บุคคลอื่นอุทิศให้ ที่จะไปอุทิศส่วนกุศลให้สัตว์ดิรัจฉานก็เป็นไปไม่ได้ สำหรับเปรต ถึงแม้ว่าจะเป็นอกุศลวิบากที่ปฏิสนธิในอบายภูมิ ก็ยังสามารถอนุโมทนาในกุศลที่บุคคลอื่นอุทิศให้

แต่ประโยชน์ที่สุด คือ การพิจารณาจิตของตนเอง แม้ในกุศลแต่ละครั้งที่เกิด เพื่อขจัดอกุศลออกไป เพราะว่าอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดแทรกได้ไม่ขณะหนึ่งก็ขณะใด อาจจะก่อนกระทำกุศล หรือเมื่อทำกุศลแล้วอาจจะเกิดความสำคัญตน หรือความ ดีใจที่จะได้รับวิบากต่างๆ ที่ดี ก็ลืมอีกแล้วใช่ไหมว่า ขณะใดที่หลงลืมไม่เป็นไป ในกุศล ขณะนั้นก็เป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าได้เข้าใจลักษณะของอกุศลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เกิดกับตนเอง ก็เป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่า ขณะที่ทำกุศลนั้นสั้น และขณะที่เป็นอกุศลนั้นจะติดตามมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของอกุศล

เรื่องของการติดในรสอาหารมีมาก ส่วนการเห็นโทษและพยายามคลายความติดในรส ก็สามารถรู้ได้ว่า ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ เริ่มเห็นโทษและพอที่จะคลายบ้างไหม สักมื้อ สองมื้อ สักวันสองวัน ก็ยังดีกว่าที่จะติดอยู่มากๆ ทุกมื้อ ทุกวัน

การที่จะรู้ว่าเป็นผู้ที่เริ่มละคลายความติดในรสลงบ้างไหม ข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค รถสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมากด้วยความสุขโสมนัสในปัจจุบัน และย่อมเป็นอันภิกษุนั้นปรารถนาเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑

คือ สติเกิด พิจารณาระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะตัดความเดือดร้อนไปได้มากสำหรับ ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑

รู้ประมาณในโภชนะ ๑

ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑

ซึ่งในอรรถกถาอุปมาผู้ที่ไม่คุ้มครองทวารว่า

เหมือนกับคนขับรถเทียมม้าที่ไม่ได้ฝึกไปตามถนนขรุขระ ล้อย่อมแตก เพลาและกีบม้าย่อมย่อยยับ ไม่สามารถแล่นไปตามทางที่ต้องการได้ ฉันใด ผู้ที่ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ๖ ก็ฉันนั้น ไม่สามารถยินดีในความสงบตามที่ต้องการได้

สำหรับการรู้ประมาณในโภชนะนั้น ข้อความในอรรถกถามีว่า

ในบทว่า รู้จักประมาณนั้น ประมาณ มี ๒ อย่าง คือ ประมาณในการรับและประมาณในการบริโภค

ประมาณในการรับ คือ โดยสามารถของทายก ๑ โดยสามารถของไทยธรรม ๑ โดยกำลังของตน ๑

นี่สำหรับผู้ที่เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นผู้รับ ก็เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ แสดงว่า เป็นผู้ที่คลายความติดในรส

และสำหรับในการบริโภค คือ เป็นผู้ที่บริโภคโภชนะที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสำหรับคฤหัสถ์เองจะพิจารณาได้ว่า ขณะบริโภคอาหาร ถ้ามีโภชนะใดอยู่ในขณะที่จะบริโภค ก็บริโภคได้ ย่อมแสดงว่า ละคลายการติดในรส แต่ถ้ามีโภชนะใดในขณะที่กำลังจะบริโภค และบริโภคไม่ได้ โภชนะชนิดนี้ไม่ได้แน่ๆ ขณะนั้นทราบได้ว่า ยังเป็นผู้ไม่ ละคลายความติดในรส

สำหรับภิกษุที่รู้ประมาณในการรับ คือ

ถ้าไทยธรรมมีมาก ทายกประสงค์จะให้น้อย ก็ย่อมรับแต่น้อย ถ้าไทยธรรม มีน้อย ทายกประสงค์จะให้มาก ก็รับแต่น้อยด้วยอำนาจของไทยธรรม ทั้งไทยธรรมก็มีมาก ทั้งทายกก็ประสงค์จะให้มาก ย่อมรู้กำลังของตน คือ รับโดยประมาณ

นี่จึงจะเป็นผู้รู้ประมาณในการรับ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น

ภิกษุนั้นย่อมทำลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้มั่นคง เพราะความที่เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ ดังสามเณรผู้มีอายุ ๗ ขวบในรัชสมัย แห่งพระเจ้าติสสมหาราชผู้ทรงธรรม

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งในครั้งนั้น ซึ่งหลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว แต่ ยังไม่ถึงสมัยนี้

สมัยนั้น ราชบุรุษทั้งหลายได้ขนงบน้ำอ้อยมา ๕๐๐ เล่มเกวียนถวายแด่พระราชา พระราชาทรงดำริว่า เครื่องบรรณาการน่าชอบใจ ไม่ถวายพระผู้เป็นเจ้าก่อน เราจักไม่กิน

มีพระราชาหลายพระองค์ที่มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าไม่ได้ถวายภัตตาหาร ก่อนแล้ว จะไม่เสวย

พระองค์จึงส่งเกวียน ๒๕๐ เล่มไปยังมหาวิหาร และเมื่อพระองค์เสวย พระกระยาหารเช้าแล้ว ก็เสด็จไปสู่มหาวิหาร เมื่อเขาตีกลองแล้ว ภิกษุ ๑๒,๐๐๐ รูปก็มาประชุมกัน

พระราชาประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง รับสั่งคนวัดให้ถวายทานแก่ภิกษุ ให้เต็มบาตรทุกรูป ภิกษุรูปใดรับรับพอประมาณหรือไม่รับ ก็ให้บอกพระองค์

ครั้งนั้น มีพระมหาเถระรูปหนึ่งมาจากเจติยบรรพต (คือ ที่มหินทะเลในสมัยนี้ที่ศรีลังกา) ประสงค์จะไหว้ต้นพระมหาโพธิ์และพระมหาเจดีย์ ท่านได้ไปยังมหาวิหาร เห็นพวกภิกษุถืองบอ้อยที่มณฑปใหญ่ จึงกล่าวกะสามเณรผู้ที่ตามมาข้างหลังว่า ต้องการงบน้ำอ้อยบ้างไหม สามเณรตอบว่า กระผมไม่ต้องการ

แต่พระเถระกล่าวว่า พวกเราเดินทางมาลำบาก ต้องการอาหารเพียงผลมะขวิดสักผลหนึ่ง (คือ ปริมาณไม่มาก) ก็พอ

สามเณรจึงนำภาชนะออกมา แล้วได้วางเรียงไว้ตามลำดับพรรษาของพระเถระ คนวัดก็จะบรรจุให้เต็มบาตร แต่สามเณรก็แสดงอาการไม่รับอีก

คนวัดกล่าวว่า ในทานของราชสกุลกำหนดถวายเต็มภาชนะทั้งนั้น โปรดรับภาชนะที่เต็มเถิด

สามเณรกล่าวว่า เป็นอย่างนั้น อุบาสก ธรรมดาพระราชาทั้งหลายมี พระราชอัธยาศัยใหญ่ แต่ว่าพระอุปัชฌาย์ของพวกอาตมา ต้องการเพียงเท่านี้แหละ

เมื่อพระราชาทรงทราบก็ทรงพระดำริว่า สามเณรนี้มีอายุ ๗ ขวบ แม้แต่ปากของเธอก็ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เธอยังไม่กล่าวว่า เราจะรับเอาเต็มหม้อหรือตุ่ม แล้ว จักฉันทั้งในวันนี้ ทั้งในวันพรุ่งนี้ เราเลื่อมใสสามเณรจริงๆ แล้วได้ตรัสให้ราชบุรุษ นำเกวียนบรรทุกน้ำอ้อยมาถวายแก่สงฆ์อีก ๒๕๐ เล่ม

อยู่มาวันหนึ่งพระราชาทรงประสงค์จะเสวยเนื้อนกกระทาปิ้ง จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจะบอกคนอื่นว่า เราอยากกินเนื้อนกกระทาปิ้งไฟ คนทั้งหลายก็จักฆ่านกกระทา ในที่รอบๆ โยชน์หนึ่ง

พระองค์เป็นผู้ที่มีศีล และไม่ทรงประสงค์ให้มีใครฆ่านกกระทา

ก็พยายามอดกลั้นความอยากเสวยเนื้อนกกระทาปิ้งถึง ๓ ปี

แม้จะเกิดอยากขึ้นมาครั้งใด ก็ทรงอดกลั้นเสีย

ต่อมาพระราชานั้นเกิดเป็นน้ำหนวก ไม่อาจที่จะอดกลั้นความอยากเสวยเนื้อนกกระทาปิ้งได้ ก็ได้ตรัสถามว่า มีอุบาสกผู้อุปัฏฐากเราที่เป็นคนรักษาศีลบ้างไหม

ราชบุรุษทูลว่า มีบุตรอำมาตย์คนหนึ่งชื่อติสสะ เป็นอุบาสกที่รักษาศีลไม่ขาด

พระราชาทรงประสงค์จะทดลองอุบาสกนั้น ก็รับสั่งให้เอาไก่ไปให้ติสสะ ตัวหนึ่ง แล้วให้ติสสะปิ้งไก่มาถวายพระองค์

ติสสอุบาสกกล่าวว่า ถ้าเป็นไก่ตาย เขาจะปิ้งถวายพระราชา แต่เมื่อเป็น ไก่เป็น เขาไม่ทำปาณาติบาต

ราชบุรุษได้ไปทูลแด่พระราชา พระราชาส่งราชบุรุษกลับไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้บอกติสสะว่า ขึ้นชื่อว่าการปรนนิบัติพระราชาเป็นภาระหนัก ท่านอย่าทำอย่างนี้ ศีลท่านสามารถจะสมาทานได้อีก จงปิ้งไก่นั้นเถิด

ติสสะได้กล่าวกับบุรุษนั้นว่า ธรรมดาว่า ในอัตภาพหนึ่งความตายมีครั้งเดียวแน่นอน เราจะไม่ทำปาณาติบาต

ราชบุรุษนั้นได้กลับไปกราบทูลพระราชาอีกครั้งหนึ่ง พระราชาก็ส่งราชบุรุษ ไปเป็นครั้งที่ ๓ แล้วรับสั่งให้เรียกอุบาสกมาตรัสถามด้วยพระองค์เอง

อุบาสกก็ถวายคำตอบแม้แก่พระราชาเหมือนอย่างนั้น

พระราชาตรัสให้ราชบุรุษทั้งหลายเอาติสสะไปไว้ในซองสำหรับฆ่าคน แล้วให้ตัดศีรษะ แต่ก็ได้ประทานสัญญาในที่ลับแก่ราชบุรุษเหล่านั้นว่า เมื่อขู่อุบาสกนี้และเอาศีรษะของเขาไว้ในซองสำหรับฆ่าคนแล้ว ให้กลับมา บอกพระองค์

ราชบุรุษเหล่านั้นก็ให้อุบาสกนั้นนอนในซองสำหรับฆ่าคน แล้วเอาไก่วางไว้ ในมือของเขา

อุบาสกนั้นเอาไก่วางไว้ตรงหัวใจแล้วพูดว่า

ข้าให้ชีวิตของข้าแทนเจ้า ข้าจะคงชีวิตของเจ้าไว้ เจ้าจงปลอดภัย ไปเถิด ดังนี้แล้วก็ปล่อยไก่ไป ไก่ก็ปรบปีก แล้วบินไปแอบอยู่ที่ต้นไทรย้อย สถานที่ที่อุบาสกให้อภัยแก่ไก่นั้น ชื่อว่ากุกกุฏคีรี

เมื่อพระราชาทรงทราบ ก็รับสั่งให้เรียกติสสะมา แล้วตรัสว่า

เราทดลองเจ้าเพื่อประโยชน์นี้เอง เมื่อเราประสงค์จะกินเนื้อนกกระทาล่วง ไปถึง ๓ ปี เจ้าจักอาจกระทำเนื้อให้บริสุทธิ์โดย ๓ ส่วน แล้วปรนนิบัติเราได้หรือไม่

ติสสะทูลรับว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เขาย่อมทำได้

แล้วเขาก็ออกไปยืนที่ระหว่างประตู เห็นชายคนหนึ่งถือนกกระทา ๓ ตัวเข้าไปแต่เช้าตรู่ เขาก็ขอซื้อนกกระทา ๓ ตัวนั้นด้วยทรัพย์ ๒ กหาปณะ เขาล้างนก ให้สะอาด แล้วอบด้วยผักชีเป็นต้น ปิ้งให้สุกดีที่ถ่านไฟ แล้วถวายแก่พระราชา

พระราชาอยากเสวยมาถึง ๓ ปี ประทับนั่งบนราชอาสน์ ตัดเนื้อนกกระทาหน่อยหนึ่งแล้วใส่ในพระโอษฐ์ ทันใดนั้นเอง เนื้อนกกระทาได้แผ่ซ่านตลอดประสาทเครื่องรับรสของพระราชา ทันใดนั้นเองพระราชาทรงระลึกถึงภิกษุสงฆ์ ทรงพระดำริว่า ราชาผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเช่นเรา ประสงค์จะกินเนื้อนกกระทา ยังไม่ได้กินถึง ๓ ปี ภิกษุสงฆ์ผู้ไม่ประมาท จักได้ฉันแต่ที่ไหน เมื่อทรงดำริอย่างนั้น ก็ทรงคายเนื้อชิ้นที่ ใส่เข้าในพระโอษฐ์ลงที่พื้น

ติสสะคุกเข่าเอาปากรับ

พระราชาตรัสว่า เรารู้ว่าท่านไม่มีความผิด ท่านจงเก็บเนื้อนกกระทาที่เหลือไว้

วันรุ่งขึ้น พระเถระผู้เป็นราชกุลุปกะ (คือ พระเถระประจำราชสกุล) ได้เข้าไปบิณฑบาต ติสสะเห็นท่านก็รับบาตร ให้เข้าไปในพระราชวัง แต่มีภิกษุรูปหนึ่ง บวชเมื่อแก่ติดตามเข้าไปด้วย เหมือนปัจฉาสมณะของพระเถระ

ซึ่งพระเถระสำคัญผิดคิดว่า เป็นภิกษุที่พระราชารับสั่งให้เฝ้า และติสสะเอง ก็สำคัญผิดคิดว่า ภิกษุแก่รูปนั้นเป็นอุปัฏฐากของพระเถระ

เมื่อพวกเจ้าหน้าที่ให้พระภิกษุท่านนั่งแล้ว ก็ได้ถวายข้าวยาคูแก่ท่านทั้งสองนั้น เมื่อท่านดื่มข้าวยาคูแล้ว พระราชาได้น้อมนกกระทาเข้าไปถวาย พระเถระประจำ ราชสกุลก็รับไว้ตัวหนึ่ง ภิกษุแก่รูปนั้นก็รับไว้ตัวหนึ่ง ยังเหลือตัวที่พระราชาตัดชิ้นเนื้อออกไปหน่อยหนึ่งตัวหนึ่ง

พระราชาทรงพระดำริว่า ยังมีส่วนน้อยอยู่ส่วนหนึ่ง การไม่บอกเล่าเสียก่อนแล้วเคี้ยวกิน ไม่สมควร ดังนี้ จึงได้บอกเล่าพระเถระ

พระเถระประจำสกุลก็หดมือ (คือ ไม่รับ) แต่พระภิกษุแก่ยื่นมือรับ พระราชาไม่ทรงพอพระทัย เวลาที่รับบาตรตามส่งพระเถระผู้เสร็จภัตตกิจแล้ว ก็ได้ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ การที่ท่านมาสู่เรือนตระกูล พาภิกษุแม้ผู้ศึกษาวัตรมาแล้ว จึงควร

ขณะนั้นพระเถระก็รู้ว่า ภิกษุแก่รูปนั้นไม่ใช่ผู้ที่พระราชารับสั่งให้เฝ้า

ในวันรุ่งขึ้น พระเถระประจำราชสกุลนั้นก็ได้พาสามเณรผู้อุปัฏฐากเข้าไป ในพระราชวัง

เมื่อท่านดื่มยาคูแล้ว พระราชาก็น้อมนกกระทาเข้าไปถวายพระเถระ พระเถระรับส่วนหนึ่ง แต่สามเณรให้ตัดครึ่ง แล้วรับไว้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น พระราชาก็น้อมส่วนนั้นเข้าไปถวายพระเถระอีก แต่พระเถระก็ไม่รับ และสามเณรก็ ไม่รับ

พระราชาประทับนั่ง ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเสวย แล้วตรัสว่า เราอาศัยภิกษุผู้ศึกษาวัตรมาแล้ว จึงได้กินนกกระทาหนึ่งส่วนครึ่ง

พอเสวยเนื้อนกกระทานั้นเท่านั้น น้ำหนวกก็ไหลออกจากพระกรรณทั้งสองข้าง แต่นั้นพระองค์ก็บ้วนพระโอษฐ์แล้วเข้าไปหาสามเณร ตรัสว่า พระองค์เลื่อมใสสามเณรจริงๆ แล้วขอถวายภัตตาหารประจำทั้ง ๘ อย่างแก่สามเณร

สามเณรทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายแด่พระอุปัชฌาย์

พระราชาตรัสว่า โยมจะถวายภัตอีก ๘

สามเณรทูลอีกว่า อาตมภาพจะถวายภัตเหล่านั้นแด่พระเถระปูนอุปัชฌาย์ พระราชาตรัสว่า จะถวายอีก ๘

สามเณรทูลว่า อาตมภาพจะถวายแด่ภิกษุสงฆ์

พระราชาตรัสว่า จะถวายอีก ๘

สามเณรจึงรับ

แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่คลายความติดในรส ย่อมรับแต่พอประมาณ ทั้งไทยธรรม คือ สิ่งที่ผู้ถวายต้องการจะถวาย และทั้งกำลังของตนเองซึ่งสามารถ จะบริโภคได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ภิกษุเมื่อรู้จักประมาณในการรับอย่างนี้ จึงทำลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้มั่นคง ชื่อว่าประมาณในการรับ

. ผมไม่เคยกินเนื้อนกกระทา เพิ่งจะทราบวันนี้ว่า นกกระทาเป็นยาสำหรับแก้น้ำหนวกได้ จะเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ตามเรื่องนี้ พระราชาเป็นน้ำหนวกมาตั้ง ๓ ปี เสวยเนื้อนกกระทาแล้ว ก็หายจากน้ำหนวก

สุ. คงจะเป็นยาไทยโบราณประเภทหนึ่ง

. คงเป็นยาอย่างแน่นอน แต่ใครอย่าไปหามากินก็แล้วกัน ถ้าไม่เจอที่ตายแล้ว เรื่องพระที่ท่านแอบแฝงเข้าไปกับพระเถระนั้น แสดงว่าพระรูปนั้นไม่มีความสำรวมในสิกขาบทวินัย และเข้าไปโดยที่ทุกคนก็นึกว่า พระราชาคงจะนิมนต์ไป ฝ่ายพระราชาก็เข้าใจว่า เป็นพระที่ติดตามพระเถระไป ต่างฝ่ายต่างเข้าใจผิด พระแก่จึงได้ไปฉันเนื้อนกกระทากับพระเถระได้ จะเห็นได้ว่า พระที่ไม่มีความสำรวมในการ ฉันอาหาร จะทำให้ศรัทธาของเขาตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านขาดความเลื่อมใส อย่างสามเณรที่ติดตามพระเถระเข้าไป ผมเข้าใจว่า คงจะไม่ใช่สามเณรปุถุชน คงจะเป็นสามเณรที่ท่านได้บรรลุมรรคผลแล้วหรือเปล่า

เปิด  411
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565