แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1484

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๘


สุ. ในอรรถกถาไม่ได้กล่าวไว้ แม้แต่ชื่อก็ไม่ได้กล่าวไว้

. ถ้าท่านมีปฏิปทาที่น่าเลื่อมใสอย่างนี้ ท่านน่าจะบรรลุมรรคผล

สุ. ยากที่จะรู้ได้ว่า พระภิกษุรูปใดเป็นพระอรหันต์ เพราะถ้าท่านประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติแล้ว เสมอเหมือนกับเป็นพระอรหันต์ทุกรูปทีเดียว

. แต่ผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หมายความว่าเคร่งครัดในพระธรรมวินัย โอกาสที่ท่านจะบรรลุมรรคผลก็คงมีมากกว่า

สุ. ต้องแล้วแต่การสะสมเหตุปัจจัย แต่อย่างน้อยที่สุดแสดงให้เห็นว่า ท่านละคลายความติดในรส

. แสดงว่า ท่านต้องมีการสะสมมา เพราะว่าอยู่ๆ จะมีการสะสมใน ชาตินั้นได้อย่างสมบูรณ์อย่างนี้ เห็นจะเป็นไปได้ยาก อย่างสามเณรจะต้องมีการสะสมมาหลายๆ ชาติ ท่านถึงได้ละการติดในรสอาหารได้ เพราะว่ารสอาหารละได้ยาก จริงๆ บางทีเรารับประทานอาหารอร่อยๆ ที่เขาทำมาให้ เราก็ขาดความสำรวมในการรับประทานอาหาร แทนที่จะเหลือไว้ให้คนที่เขาทำมาให้เราบ้าง เราก็กินเสียคนเดียว รู้สึกว่าจะเป็นคนเห็นแก่ตัว

สุ. ต้องขออนุโมทนาที่พิจารณาสังเกตการบริโภคอาหารในวันหนึ่งๆ ว่า ควรที่จะละคลายในลักษณะใดบ้าง บางคนเป็นผู้ที่ติดในรสอาหารอย่างมาก ถ้ามีอาหารอร่อย เขาบอกว่า ขอเถอะ ขออย่างอื่นให้หมด นอกจากอาหารจานนั้น ให้ไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าเห็นโทษของอกุศลและรู้ว่า ชาตินี้ยังติดถึงอย่างนี้ ชาติหน้าจะเพิ่มความติดขึ้นอีกสักเท่าไร เพราะฉะนั้น ควรที่จะหัดให้บุคคลอื่นตั้งแต่ในชาตินี้ ยิ่งถ้าเป็นอาหารอร่อย ไม่ควรบริโภคเพียงคนเดียว คนอื่นควรมีส่วนได้บริโภคอาหารนั้นด้วย ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาจิตและคิดจะละคลายความติดในรส และให้เห็นโทษของความติดว่า ถ้าติดมากๆ ก็ยอมสละเงินทองและสิ่งอื่น แต่สิ่งที่สละไม่ได้ คือ อาหารจานนั้น นี่มีจริงๆ

. พระราชารออยู่ตั้ง ๓ ปี จึงได้เสวยเนื้อนกกระทา ผมว่าท่านก็มีขันติ

สุ. เป็นผู้ที่มีศรัทธามาก

, ภัตตภติกะก็เหมือนกัน ต้องรอตั้ง ๓ ปี เป็นผมรอไม่ไหวหรอก ถ้าอยากจะทานก๋วยเตี๋ยวรังสิต วันนี้ไปไม่ได้ ไม่เกิน ๓ อาทิตย์ ต้องไปให้ได้ นี่รอตั้ง ๓ ปี ผมว่าท่านเก่ง

สุ. ต่อไปอาจจะลอง รอไป รอไป เผื่อจะครบ ๓ ปี เป็นการฝึกหัดตน เรื่องของสังสารวัฏฏ์ยังมีอีกยาวนานมาก และการที่จะติดในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็พร้อม อยู่เสมอ ถ้าไม่ฝึกอบรมที่จะเป็นผู้สละ หรือผู้ละวางกิเลสบ้าง

สำหรับผู้ที่หมดกิเลส ต้องต่างกับผู้ที่ยังมีกิเลสมากในทุกทาง แม้ในการบริโภค และผู้ที่หมดกิเลส ย่อมทำสิ่งที่ผู้ที่ยังมีกิเลสทำไม่ได้

ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย เถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต มหากัสสปเถรคาถา ข้อ ๓๙๘ ซึ่งมีข้อความว่า

ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบาก ดังนี้ จึงไม่ชอบใจ หมู่คณะ

คำของพระมหาเถระแต่ละรูปเป็นประโยชน์จริงๆ ถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง แม้แต่คำธรรมดาที่อาจจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน

วันหนึ่งทุกคนๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนมากๆ ในวงการงาน หรือในวงศาคณาญาติ หรือแม้ภายในบ้านที่มีบริวารมาก จะเห็นได้ว่า จิตใจต้องเป็นไปกับแต่ละเรื่องของ แต่ละบุคคล ไม่จบสิ้น บางคนอาจจะไม่สบาย บางคนอาจจะสนุกสนานรื่นเริง บางคนอาจจะต้องไปเยี่ยมเยือนมิตรสหายทำกิจธุระต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่าน พระมหากัสสปะจึงกล่าวคาถาว่า

ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบาก ดังนี้ จึงไม่ชอบใจ หมู่คณะ

ถูกไหม การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบาก แม้แต่การฟังธรรม หรือการแสดงธรรม ผู้ฟังก็มีอัธยาศัยหลายอย่าง ฟังเรื่องนี้ คนนี้ชอบ คนนั้นไม่ชอบ คนนี้อยากให้พูดเรื่องนั้นมากๆ พูดเรื่องนี้น้อยๆ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระไตรปิฎก ก็คิดว่าส่วนนั้นควรจะมากกว่าส่วนนี้ หรืออะไรต่างๆ

นี่เป็นอัธยาศัยจริงๆ ซึ่งเป็นความลำบากจริงๆ ในการสงเคราะห์ชนต่างๆ และบางท่านอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้แสดงธรรม แทนที่จะรับแต่ประโยชน์ คือ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว และเมื่อผู้ใดกล่าวแสดงก็น้อมพิจารณา ในเหตุผลที่ได้ฟัง ก็ย่อมจะได้ประโยชน์จริงๆ

เรื่องจิตใจของแต่ละคนที่วิจิตรต่างๆ อาจจะมีมากกว่าเพียงในเรื่องของการ ฟังธรรม การแสดงธรรม คือ เป็นไปในเรื่องของกุศลอื่นๆ ที่สงเคราะห์ชนอื่นๆ ในลักษณะต่างๆ ด้วย

นักปราชญ์ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลนั้น ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติดรสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้

คนที่มีมิตรสหายมาก จะอยู่เฉยๆ ไหมในวันหนึ่งๆ ก็ย่อมไปสู่ตระกูลของ มิตรสหาย ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มีการนัดหมาย มีการพบปะ มีเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกัน อาจจะในการพบปะสังสรรค์ รวมถึงการร่วมกันบริโภคอาหารด้วย ซึ่งก็มักติดในรสอาหาร เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่มีมิตรสหายมาก มี อาหารบริโภคมาก ส่งกันไปส่งกันมา ก็เป็นเรื่องของการติดในรสอาหาร ซึ่ง ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้

นักปราชญ์ได้กล่าวการกราบไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่า เป็น เปือกตมและเป็นลูกศรที่ละเอียด ถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ ยากยิ่ง

แสดงให้เห็นถึงความเห็นที่ต่างกัน ผู้ที่มีปัญญาไม่ติดในสักการะ แต่ผู้ไม่มีปัญญาขวนขวายเพียงที่จะได้สักการะ ปรารถนาที่จะได้การไหว้ การบูชาของคนอื่น โดยไม่รู้ว่า จะนำความทุกข์มาให้ ตั้งแต่เริ่มที่จะต้องทำสิ่งที่คนอื่นจะได้กราบไหว้บูชา ใช่ไหม ซึ่งเป็นความยากลำบากทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีปัญญาจะไม่ติดแม้ในการกราบไหว้ การบูชาของคนอื่น

เราลงจากเสนาสนะแล้วก็เข้าไปบิณฑบาตยังนคร เราได้เข้าไปหาบุรุษโรคเรื้อนผู้กำลังบริโภคอาหารด้วยความอ่อนน้อม บุรุษโรคเรื้อนนั้นได้น้อมเข้าซึ่งคำข้าวด้วยมือโรคเรื้อน เมื่อเขาใส่คำข้าวลง นิ้วมือของเขาก็ขาดตกลงในบาตรของเรานี้ เราอาศัยชายคาเรือนฉันข้าวนั้นอยู่ ในเวลาที่กำลังฉันและฉันเสร็จแล้ว เรามิได้มีความ เกลียดชังเลย

ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้งสี่ คือ อาหารบิณฑบาตที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ ๑ บังสุกุลจีวร ๑ เสนาสนะคือโคนไม้ ๑ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑ ภิกษุนั้นแล สามารถจะอยู่ในจาตุรทิศได้

ในเวลาแก่ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นเขาย่อมลำบาก แต่พระมหากัสสปะผู้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะแม้ในเวลาแก่ เป็นผู้แข็งแรงด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ย่อมขึ้นไปได้ตามสบาย

พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้วขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่

พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ เป็นผู้ดับไฟ ได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้วขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่

พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ กลับจากบิณฑบาตแล้วขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่

ภูมิภาคอันประกอบด้วยระเบียบแห่งต้นกุ่มทั้งหลาย น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำให้เรายินดี

ภูเขามีสีเขียวดุจเมฆงดงาม มีธารน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษไปด้วยหญ้ามีสีเหมือนแมลงทับทิมทอง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์

ภูเขาอันสูงตระหง่านแทบจดเมฆเขียวชอุ่ม เปรียบปานดังปราสาท กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์นัก ย่อมยังเราให้ยินดี

ภูเขาที่ฝนตกรดแล้ว มีพื้นน่ารื่นรมย์ เป็นที่อาศัยของเหล่าฤๅษี เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์

สถานที่เหล่านั้น เหมาะสำหรับเราผู้ยินดีในการเพ่งฌาน มีใจเด็ดเดี่ยว มีสติ เหมาะสำหรับเราผู้ใคร่ประโยชน์ รักษาตนดีแล้ว ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาความผาสุก มีใจเด็ดเดี่ยว เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาประกอบ ความเพียร มีใจแน่วแน่ ศึกษาอยู่

ภูเขาที่มีสีดังดอกผักตบ ปกคลุมด้วยหมู่เมฆบนท้องฟ้า เกลื่อนกล่นด้วย หมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์

ภูเขาอันไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน มีแต่หมู่เนื้ออาศัย ดารดาษด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์

ภูเขาที่มีน้ำใสสะอาด มีแผ่นหินเป็นแท่งทึบ เกลื่อนกล่นด้วยค่างและมฤคชาติ ดารดาษไปด้วยสาหร่าย ย่อมยังเราให้รื่นรมย์

เราผู้มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ ย่อมไม่มีความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนั้น

ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นคนผู้มิใช่กัลยาณมิตรเสีย ไม่ควรขวนขวายในลาภผล ท่านผู้ปฏิบัติเช่นนี้ย่อมจะต้องขวนขวายและติดในรสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้

ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย เมื่อภิกษุขวนขวายในการงานมาก ก็จะต้องเยียวยาร่างกายลำบาก ผู้มีร่างกายลำบากนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความสงบใจ

ภิกษุไม่รู้สึกตนด้วยเหตุสักว่าการท่องบ่นพุทธวจนะ ย่อมเที่ยวชูคอสำคัญตนประเสริฐกว่าผู้อื่น

ผู้ใดไม่ประเสริฐ เป็นพาล แต่สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญผู้นั้นซึ่งเป็นผู้มีใจกระด้างเลย

ผู้ใดไม่หวั่นไหวเพราะมานะ ๓ อย่าง คือ ว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑ นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นแหละว่า เป็นผู้ มีปัญญา มีวาจาจริง ตั้งมั่นดีแล้วในศีลทั้งหลาย และว่าประกอบด้วยความสงบใจ

ภิกษุใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ ห่างเหินจากพระสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น

ภิกษุเหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้ชอบทุกเมื่อ มีพรหมจรรย์อันงอกงาม ภิกษุเหล่านั้นมีภพใหม่สิ้นแล้ว

ภิกษุผู้ยังมีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก ถึงจะนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ภิกษุนั้นย่อม ไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น เหมือนกับวานรคลุมด้วยหนังราชสีห์ ฉะนั้น

ส่วนภิกษุผู้มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ ย่อมงดงามเพราะผ้าบังสุกุล ดังราชสีห์ในถ้ำ ฉะนั้น

เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์ มีเกียรติยศเป็นอันมากประมาณหมื่น และพรหมทั้งหลาย ได้พากันมายืนประนมอัญชลี นอบน้อมท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฌานใหญ่ มีใจตั้งมั่น เปล่งวาจาว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ท่านย่อมเข้าฌานอยู่ เพราะอาศัยอารมณ์ใด ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ไม่ถึงอารมณ์เหล่านั้นของท่าน

น่าอัศจรรย์จริงหนอ วิสัยของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก ข้าพเจ้าทั้งหลาย ผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ นับว่าเป็นผู้เฉียบแหลมดุจนายขมังธนู ก็ยังรู้ไม่ถึง

แสดงให้เห็นว่า ท่านพระมหากัสสปะก็สรรเสริญในปัญญาของท่าน พระสารีบุตรว่า แม้ว่าพระภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลมดุจนายขมังธนู ก็ยังรู้ไม่ถึงปัญญาของท่านพระสารีบุตร

ความยิ้มแย้มได้ปรากฏมีแก่ท่านพระกัปปินเถระ เพราะได้เห็นท่าน พระสารีบุตรผู้ควรแก่สักการบูชา อันหมู่ทวยเทพบูชาอยู่เช่นนี้ในเวลานั้นตลอด ทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นแต่สมเด็จพระมหามุนีองค์เดียวเท่านั้น เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในทางธุดงค์คุณ ไม่มีใครเทียบเท่าเลย เราเป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา เราทำ คำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว

พระสมณโคดมผู้ทรงพระคุณหาปริมาณมิได้ มีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะ ทรงสลัดภพทั้ง ๓ ออกได้แล้ว ย่อมไม่ทรงติดอยู่ด้วยจีวร บิณฑบาต และเสนาสนะ เปรียบเหมือนบัวไม่ติดด้วยน้ำฉะนั้น พระองค์ทรงเป็นจอมนักปราชญ์ มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์ มีปัญญาเป็นพระเศียร ทรงพระปรีชามาก ทรงดับเสียแล้วซึ่งกิเลสและกองทุกข์ตลอดกาลทุกเมื่อ

ในคาถาที่ท่านพระมหากัสสปเถระกล่าว ท่านเป็นผู้ที่เลิศในทางธุดงค์ เป็นผู้ที่รักษาธุดงค์ครบทั้ง ๑๓ อย่างเลิศ ซึ่งธรรมดาของพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด แต่การสะสมของแต่ละบุคคลนั้นทำให้เป็นเอตทัคคะ คือ เป็น ผู้เลิศในทางต่างๆ กัน สำหรับท่านเอง ท่านทราบว่า ท่านเป็นผู้เลิศในทางธุดงค์คุณ ส่วนท่านพระสารีบุตรก็เป็นผู้เลิศในทางปัญญา และท่านพระมหากัปปินะก็เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้กล่าวสอนภิกษุ

ข้อความที่ท่านกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นจอมนักปราชญ์ ทรงพระปรีชามาก ทรงดับเสียแล้วซึ่งกิเลสและกองทุกข์ตลอดกาลทุกเมื่อ คือ ไม่มีทุกข์เกิดอีกเลย ถ้าไม่รู้ว่ามีกิเลส ย่อมดับกิเลสไม่ได้ในเมื่อไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่ามีทุกข์ หรือ เป็นทุกข์ ย่อมดับทุกข์ไม่ได้

วันนี้ท่านผู้ฟังมีทุกข์บ้างหรือเปล่า บางคนอาจจะรู้สึกสนุกสนานทั้งวัน สบายมาก ทุกข์ยังไม่เกิด แต่แสดงว่า ท่านไม่สามารถที่จะดับทุกข์ได้ เพราะยังไม่เห็นทุกข์ ผู้ที่จะดับทุกข์ได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า แม้ในขณะนี้ก็มีทุกข์

, ท่านพระกัปปินะเป็นผู้เลิศในทางกล่าวสอนธรรม ใช่ไหม

สุ. แก่ภิกษุ

, แล้วท่านปุณณะซึ่งเป็นผู้เลิศในธรรมกถึก ต่างกันอย่างไร

สุ. นี่เฉพาะแก่ภิกษุเท่านั้น

. แก่ภิกษุเท่านั้น แต่ท่านปุณณะนี่ทั่วไป

สุ. ใช่ เพราะว่าการเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เลิศโดยละเอียด บางท่านอาจจะเป็น ผู้เลิศในการแสดงธรรมกับบุคคลทั่วๆ ไป บางท่านเป็นผู้เลิศเฉพาะในกลุ่ม ในหมู่ มิตรสหาย หรือในหมู่ภิกษุบริษัทเท่านั้นก็ได้

การที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ต้องเข้าใจเรื่องของอเหตุกจิตซึ่งเป็นวิบากจิตและกิริยาจิตที่เกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในชีวิตประจำวัน เพราะว่าทุกคนมีจิต แต่ยังไม่ทราบว่าจิตที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ เป็นจิตประเภทไหน แต่เมื่อได้ศึกษาเรื่องของจิตที่เป็นกามาวจรจิต ๕๔ ดวงก็รู้ว่า เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง และเป็นกามโสภณจิต ๒๔ ดวง

สำหรับอเหตุกจิต เป็นชีวิตประจำวัน ทันทีที่ตื่นขึ้นจะมีอเหตุกจิตเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ตราบใดที่ยังเพลิดเพลินไปในอารมณ์ต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ก็อาศัยขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด ความสุขหรือความพอใจก็จะเกิดขึ้นยินดีในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะว่าความสุขย่อมเกิดแต่จิตที่เที่ยวไปในอารมณ์

เปิด  216
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565