แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1485

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๘


ใครจะมีความรู้สึกชอบใจในอารมณ์ใด เกิดความสุขเพราะอารมณ์ใด ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเองเป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นและรู้อารมณ์ ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดที่จิตมีอารมณ์ใด และ เกิดมีความสุขขึ้นให้รู้ว่า ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่กำลังมีอารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดนั้น เป็นความสุขที่เกิดแต่จิตที่เที่ยวไปในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ยากที่จะเห็นทุกข์ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะว่าตามปกติแล้ว จะเห็นทุกข์แต่เฉพาะทุกข์จร หรือว่าทุกข์ที่เป็นการเจ็บ การป่วย การตาย

ถ้าถามว่า วันนี้เห็นทุกข์หรือยัง หรือว่ามีทุกข์หรือยัง ทางตาที่เห็นสิ่งที่ น่าพอใจ ก็คงจะไม่มีความทุกข์อะไรเมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ก็โดยนัยเดียวกัน แต่สำหรับผู้ที่ได้สะสมอบรมมาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเป็นผู้ที่ไม่แสวงหาอารมณ์ เพียงแค่ทางตาที่เกิดขึ้น ยับยั้งไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่จะต้องเห็น ทางหูก็ต้องมีการได้ยินเกิดขึ้น ยับยั้งไม่ได้ เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่จะได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน ท่านผู้ฟังมีความรู้สึกว่าเพียงพอไหม หรือยังต้องขวนขวายแสวงหาอารมณ์ต่างๆ ที่พอใจ

อย่างไรๆ ก็ต้องเห็นแน่ๆ เกิดมาแล้วต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้อง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่บางท่านเมื่อไม่ได้พิจารณาว่า ชีวิตคือชั่วขณะจิตที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ทางตา เป็นเสียงทางหู เป็นกลิ่นทางจมูก ก็ทำให้มีความยึดมั่นในสภาพธรรมนั้น และเมื่อติด เมื่อพอใจ ก็ขวนขวาย โดยลืมว่า แม้ไม่ต้องขวนขวายก็ต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

ในสมัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จะมีท่านที่สะสมอบรมมาที่จะประพฤติโมเนยยปฏิบัติ คือ เป็นผู้ที่มีความพอในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ท่านก็ตัดเรื่องวุ่นวายต่างๆ ได้ โดยไม่คบหาสมาคมกับใคร เพราะการคบหาสมาคมจะต้องมีเรื่องที่เดือดร้อนวุ่นวายทางตาบ้าง ทางหูบ้าง นี่เป็นเรื่องที่แน่นอนที่สุด และเรื่องที่ทำให้วุ่นวายที่สุดคงจะเป็นเรื่องของคำพูด ซึ่งไม่เข้าใจความหมายของผู้พูดบ้าง หรือ เข้าใจผิดบ้าง หรือมิฉะนั้นก็เข้าใจเจตนาผิดบ้าง แม้เป็นคำพูดที่หวังดี แต่ถ้าฟังผิด เข้าใจผิด ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อน

สำหรับท่านพระนาลกเถระ ท่านเป็นหลานของกาฬเทวิลดาบส หรือที่เรียกว่า อสิตดาบส เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกุมารประสูติแล้ว พระเจ้าสิริสุทโธทนะพระบิดา ได้ให้อัญเชิญพระองค์มาเพื่อให้นมัสการพระกาฬเทวิลดาบส แต่ก็น่าอัศจรรย์ที่ พระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะกุมารขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนชฎาของพระฤๅษี เมื่อ พระฤๅษีถวายนมัสการพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะแล้วก็พิจารณารู้ว่า พระองค์จะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน และเห็นว่าตัวท่านเองจะสิ้นชีวิตก่อนการตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ ท่านจึงไปหาน้องสาวของท่าน บอกให้หลานของท่านชื่อนาลกะบวช เพื่อรอการตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ ท่านนาลกะก็รับคำ และบวชโดยที่ไม่อาลัยทรัพย์สมบัติเป็นอันมากเลย ท่านบวชอุทิศต่อพระผู้มีพระภาค ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ

ท่านออกจากเรือนไปสู่ป่าหิมพานต์เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อพระโพธิสัตว์ คือ เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านนาลกะได้ ไปเฝ้า และเมื่อนมัสการแล้วก็ทูลถามถึงโมเนยยปฏิบัติ

โมนัง คือ สงบหรือนิ่งด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความเห็น แก่ตัว เพราะฉะนั้น โมเนยยัง คือ ความเป็นมุนี โมเนยยปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติเกื้อกูลแก่ความเป็นมุนี

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านว่า โมเนยยปฏิบัตินี้ ยากที่บุคคลจะกระทำได้ ยากที่บุคคลจะกระทำให้ตลอดได้ และตรัสเทศนาโมเนยยปฏิบัติแก่ท่านว่า

ภิกขุผู้ปฏิบัติโมเนยยปฏิบัตินั้น พึงกระทำจิตให้เสมอในสัตว์ในบุคคลทั้งปวง อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง บุคคลในโคจรคามที่ท่านเที่ยวไปบิณฑบาตนั้น ใครจะด่าว่า ตัดพ้อ เปรียบเทียบ เสียดแทงท่าน ท่านก็อย่าขึ้งโกรธ อย่าพึงโทมนัสขัดแค้น อย่าเดียดฉันท์ ใครไหว้นบเคารพยำเกรงท่าน ท่านอย่ารัก อย่าใคร่ ท่านจงกระทำไว้ในใจให้เสมอ ท่านพึงรักษาใจให้ปราศจากโทษ อย่าได้มีมานะ จะเที่ยวไปในที่ใด จงกระทำใจให้ปราศจากมานะ อย่ายกย่องพองตน กิริยาที่เย่อหยิ่ง ที่ยกย่องพองตนนั้น จงขจัดให้บำบัดเสียจากขันธสันดาน

แสดงให้เห็นถึงการดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วยโมเนยยปฏิบัติ คือ ดับมานะ ความสำคัญตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

โมเนยยปฏิบัตินี้ ยากที่บุคคลจะกระทำได้ ยากที่บุคคลจะปฏิบัติให้ตลอดได้

เพราะว่าต้องปฏิบัติอย่างนี้ตั้งแต่ยังเป็นปุถุชน จนกว่าจะถึงความเป็น พระอรหันต์ เช่น พึงกระทำจิตให้เสมอในสัตว์ในบุคคลทั้งปวง เริ่มต้นก็ยากแล้ว ใช่ไหม มีมิตรสหายหลายคน แต่ว่า พึงกระทำจิตให้เสมอในสัตว์ในบุคคลทั้งปวง อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง และในที่ที่ไปบิณฑบาตนั้น ใครจะด่าว่า ตัดพ้อ เปรียบเทียบ เสียดแทงท่าน ท่านก็อย่าขึ้งโกรธ อย่าพึงโทมนัสขัดแค้น อย่าเดียดฉันท์

มีท่านผู้ฟังท่านใดที่ใคร่จะรับโมเนยยปฏิบัติไปปฏิบัติบ้างไหม ถ้ากระทำได้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐจริงๆ แต่ก็ยาก ที่จะต้องอบรมตั้งแต่เป็นปุถุชน จนกว่าจะเป็น พระอรหันต์

ใครไหว้นบเคารพยำเกรงท่าน ท่านอย่ารัก อย่าใคร่

ส่วนมากแล้วต้องการให้รัก ใช่ไหม ถ้าไม่รักก็ไม่ชอบใจ แต่ข้อปฏิบัติที่ถูก คือ แม้ว่า ใครไหว้นบเคารพยำเกรงท่าน ท่านก็อย่ารัก อย่าใคร่ ท่านจงกระทำไว้ในใจ ให้เสมอ ท่านพึงรักษาใจให้ปราศจากโทษ อย่าได้มีมานะ

ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ไม่มีมานะ แต่พระอนาคามีบุคคลยังไม่ได้ดับมานะ เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้สึกตัวด้วยสติว่า มีมานะในขณะไหน ทางไหน และเมื่อเห็นโทษแล้วจะได้อบรมขัดเกลามานะนั้นให้ค่อยๆ คลายไป พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

ข้อความต่อไปมีว่า

โมเนยยปฏิบัตินี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปฏิบัติยาก เพราะต้องกระทำใจ ให้ห่างไกลจากกิเลส แม้ตั้งแต่ยังเป็นปุถุชนอยู่เป็นต้นไป

แต่ท่านพระนาลกเถระท่านสะสมมาที่จะเป็นผู้ปฏิบัติโมเนยยปฏิบัติ

ท่านพระนาลกเถระถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็เข้าป่า ปฏิบัติ มักน้อยอย่างอุกฤษฏ์ คือ ไม่คิดโลเลด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ไม่คิดแม้แต่สัก ครั้งหนึ่งว่า จะละวางความเพียรเสียก่อน แล้วจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อได้เห็นพระผู้มีพระภาคสักครั้งหนึ่งก่อน แล้วจะกลับมาเพียรอย่างนั้นต่อไป ไม่คิดแม้สัก ครั้งหนึ่งว่า จะไปฟังพระสัทธรรมสักครั้งหนึ่งก่อน แล้วจะกลับมาเพียรอย่างนั้นต่อไป ไม่คิดว่าจะกลับไปถามโมเนยยปฏิบัติอีกสักครั้งหนึ่งก่อน แล้วจะกลับมาเพียรปฏิบัติอย่างนั้นต่อไป

ท่านมักน้อยที่จะเห็น มักน้อยในที่จะฟัง มักน้อยในที่จะถาม มักน้อยทั้ง ๓ ประการฉะนี้ เมื่อท่านไปสู่ที่เชิงเขาเพื่อปฏิบัติสมณธรรมนั้น ท่านไม่ได้อยู่ในป่า ที่เดียวถึง ๒ วัน ไม่ไปบิณฑบาตที่บ้านเดียว ๒ วัน วันนี้ไปบิณฑบาตที่บ้านหนึ่ง รุ่งขึ้นไปบิณฑบาตอีกบ้านหนึ่ง รุ่งขึ้นไปบิณฑบาตอีกบ้านหนึ่ง วันนี้อยู่ในเขต บ้านหนึ่ง รุ่งขึ้นอยู่ในอีกเขตบ้านหนึ่ง รุ่งขึ้นอยู่ในเขตอีกบ้านหนึ่ง วันนี้อยู่ใต้ต้นไม้ ต้นนี้ รุ่งขึ้นอยู่ใต้ต้นไม้อีกต้นหนึ่ง รุ่งขึ้นอยู่ใต้ต้นไม้อีกต้นหนึ่ง

ท่านปฏิบัติสมควรแก่โมเนยยปฏิบัติจนบรรลุพระอรหัต

สาวกผู้บำเพ็ญโมเนยยปฏิบัตินี้ไม่มีมาก ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง จะมีพระสาวกที่บำเพ็ญโมเนยยปฏิบัติองค์หนึ่งเท่านั้น

สาวกผู้บำเพ็ญโมเนยยปฏิบัตินั้น ถ้าปฏิบัติอย่างยิ่ง คือ อย่างอุกฤษฏ์ ก็จะมีชีวิตอยู่ ๗ เดือน ถ้าปฏิบัติอย่างกลาง คือ อย่างมัชฌิมะ ก็จะมีชีวิตอยู่ ๗ ปี ถ้าปฏิบัติอย่างอ่อน คือ มุทุปฏิบัติ ก็จะมีชีวิตอยู่ ๑๖ ปี

ท่านพระนาลกเถระปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านจึงมีอายุต่อไปอีก ๗ เดือน ในวันที่จะปรินิพพานนั้น เมื่อท่านสรงน้ำ และครองจีวรแล้ว ก็หันหน้ามุ่งเฉพาะต่อพระผู้มีพระภาค ถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยืนประนมมือเฉพาะต่อพระผู้มีพระภาค แล้วปรินิพพาน

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท่านพระนาลกะปรินิพพานแล้ว ก็เสด็จพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปยังที่ที่พระนาลกะปรินิพพาน เมื่อกระทำสรีรกิจและปลงศพท่านแล้ว ก็เก็บพระธาตุของท่านประดิษฐานไว้ในเจดีย์ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ก่อขึ้นไว้ที่นั่น เพื่อพุทธบริษัทจะได้ระลึกถึงคุณของท่านด้วยความเลื่อมใสปีติยินดี

ยากไหม โมเนยยปฏิบัติ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้วแต่อัธยาศัยจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องเหมือนใคร ท่านเป็นผู้ที่มีการปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสจริง แต่ใครบ้างจะทำอย่างท่านได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาตามการสะสมของแต่ละคนจริงๆ

เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ การคบหาสมาคม หรือการประพฤติของท่านพระนาลกะ เพราะว่าการคบหาสมาคมทั้งหลาย ถ้าเพื่อประโยชน์ เพื่อการเจริญกุศลก็ควร

. ถ้าดูเผินๆ แล้ว เหมือนท่านไม่เอาไหนเลย อะไรๆ ก็ไม่เอา

สุ. ตัดความเดือดร้อนยุ่งยากได้หมดไหม

. ทุกอย่างไม่เอา

สุ. ทุกอย่างเลย

. ไม่เอาทั้งนั้น คนมองเผินๆ ก็ว่าท่านไม่เอาไหน ท่านไม่ได้บำเพ็ญ

สุ. แต่ต้องพิจารณาว่า ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ใช่เป็นการไม่คบหาสมาคมกับใครเพราะเห็นแก่ตัว หรือเพราะไม่ต้องการเจริญกุศล ไม่เกื้อกูลในธรรม

การที่จะคบหาสมาคมกับใคร หรือไม่คบหาสมาคมกับใคร ควรที่จะได้พิจารณาถึงประโยชน์ ถ้าเป็นไปเพื่อกุศล การคบหาสมาคมเพื่อประโยชน์ เพื่อการเจริญกุศล ก็ควร แม้การไม่คบหาสมาคม แต่เพื่อประโยชน์ คือ เพื่อกุศล ก็ควร แต่ถ้าไม่คบหาสมาคมเพราะเห็นแก่ตัว หรือเพราะไม่ต้องการเจริญกุศล ไม่เกื้อกูล ในธรรม ก็ไม่ควร

ทุกสิ่งทุกอย่างควรที่จะพิจารณาว่า กุศลอยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่ความประพฤติ ทางกาย ทางวาจาที่เห็นภายนอก ถ้าเห็นใครไม่พูดกับใคร ไม่ทักทายใคร จะบอกว่าเป็นกุศล หรือจะบอกว่าเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้ไหม เพราะตามความเป็นจริง ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาควรจะพิจารณาว่า กุศลอยู่ที่จิตใจ ไม่ใช่อยู่เพียงการกระทำภายนอก แต่ส่วนใหญ่เท่าที่ได้รับฟังคำถาม มักจะคิดแต่เรื่องการกระทำภายนอกว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แทนที่จะคิดถึงสภาพของจิต

อย่างเวลาที่มีการทำบุญเลี้ยงพระ จะรู้ได้ไหมว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล หรือไม่มีอกุศลเลยในขณะที่มีการทำบุญอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าขณะใดที่รู้สึกว่า วุ่นวาย เดือดร้อน ไม่สงบ ขณะนั้นรู้ได้ว่า เป็นอกุศล เพราะว่ากุศลจิตและอกุศลจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก แม้ในขณะที่กำลังกระทำกุศล หรือบำเพ็ญกุศลก็ตาม ขณะใดที่วุ่นวาย ขณะใดที่รู้สึกว่า ขุ่นข้อง ขัดเคือง ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ ทุกครั้งที่บำเพ็ญกุศลและรู้ว่า กุศล คือขณะที่จิตสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นจึงเป็นกุศล ก็จะมีความสงบเพิ่มขึ้นในการกุศลที่ทำ มิฉะนั้นแล้วจะต้องวุ่นวายมากในเรื่องของอาหาร ในเรื่องของไทยธรรม ที่จะถวายในการกุศลนั้นๆ

. เรื่องโมเนยยปฏิบัติที่ท่านพระนาลกะท่านปฏิบัติ ท่านเป็นผู้ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ วันหนึ่งๆ ท่านคงไม่ค่อยพูดคุยกับใคร

สุ. ไม่เลย

. ผมเคยได้ยินว่า ท่านปฏิบัติเหมือนคนใบ้ คือ ไม่พูดไม่จา ใช่ไหม

สุ. บางคนเป็นคนที่พูดน้อย ในชีวิตประจำวัน เกือบจะไม่ได้พูดกับใครเลย ก็มีใช่ไหม หรือถ้าเป็นคนที่ทำงานมากๆ ตื่นขึ้นมาก็เตรียมตัวที่จะทำกิจการงาน และในขณะที่ทำงานก็ไม่ได้พูดคุยอยู่แล้ว ถ้าไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดคุย ทำงานเสร็จ กลับบ้าน ทำธุระ ก็ไม่ค่อยได้พูดคุยอีก เป็นผู้ที่พูดน้อยก็มี โดยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไร ใช่ไหม แต่เป็นผู้สะสมมาที่จะเป็นผู้ที่พูดน้อย

ถ. เมื่อปีก่อนนี้ผมไปต่างจังหวัด ไปเจอพระรูปหนึ่ง ซึ่งญาติผู้ใหญ่ของพระรู้จักกับผมดี ท่านเห็นผม ท่านก็มาสะกิดบอกว่า จะเดินตามรอย ช่วยแนะนำด้วย ผมบอกว่า ไม่ต้องมาเดินตามรอยผม ไว้ค่อยคุยกัน เพราะตอนนั้นกำลังมีงานอยู่ และท่านห่มจีวรผืนเดียวขาดๆ ด้วย สังฆาฏิก็ไม่มี ถามท่านว่า สังฆาฏิไปไหน ท่านบอกว่าไม่มี ไม่ได้เอามาด้วย และท่านชอบเข้าป่า ใครถวายอะไรท่านก็ไม่รับ ผมตั้งใจว่าวันรุ่งขึ้นเขามีทอดบังสุกุล จะซื้อผ้าไตรถวายให้ท่านเป็นคนชักบังสุกุล แต่ตื่นเช้ามาญาติโยมที่นั่นบอกว่า ท่านหายไปไหนไม่รู้ตั้งแต่เที่ยงคืนแล้ว คือ ไม่ยอมรับของที่คนอื่นจะถวาย ผมว่าท่านคงไม่เข้าใจโมเนยยปฏิบัติ ท่านค่อนข้างจะเข้าใจไปในทางอย่างที่คนสมัยนี้เขาเข้าใจกัน คือ อย่างเรื่องธุดงค์นี่ ผู้ที่จะธุดงค์ต้องออกป่าตะบันเลย ต้องเดินๆ เข้าป่าลึกเท่าไรยิ่งดี ไปเจอเสือ เจอช้าง เจอหมี เจอสิงสาราสัตว์ที่ร้ายๆ และกลับออกมาได้ ก็คุยได้ว่า ธุดงค์ยอดเลย เดินๆ เรียกว่าธุดงค์ไปทั่ว คำว่า ธุดงค์ สงสัยได้ยินคำลงท้ายว่า ดง ดง ก็ต้องเดินกันใหญ่เลย สมัยนี้ก็มี แต่อยู่ในลักษณะที่ยังไม่เข้าหลักโมเนยยที่ท่านนาลกะท่านปฏิบัติอยู่ เพราะเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์ว่า คือ จิตของผู้กระทำไม่รู้ว่านึกอย่างไร คิดอย่างไร แต่การกระทำนี่มองเห็นแล้ว ชาวโลกเขาจะต้องสรรเสริญ ซึ่งการทำอะไรที่แปลกๆ รู้สึกว่าชาวโลกเขาจะสรรเสริญยกย่อง นี่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนาบ้างหรือเปล่า

เปิด  207
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566